Sun, 2010-11-07 19:12
ทีมข่าวการเมือง
คลิปฉาวที่เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญถูกปล่อยออกมา 2 ระลอกต่อเนื่องกัน คลิปแรกนั้นพุ่งประเด็นไปที่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และคลิประลอกที่สอง เป็นประเด็นที่อ้างว่าเกี่ยวพันกับการทุจริตสอบเข้ารับราชการในศาลรัฐ ธรรมนูญ
การโต้ตอบจากฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีการออกมายืนยันความบริสุทธิ์ และระบุว่าจะฟ้องร้องผู้เผยแพร่คลิป ขณะเดียวกันมีการขานรับจากรัฐบาลที่จะดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปจำนวน 8 คลิปดังกล่าว
พร้อมกันนั้น ในบรรดาผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตและผู้สื่อข่าวก็อาจเกิดคำถาม กับตัวเองว่า ในฐานะผู้เผยแพร่ต่อๆ ไป อาจจะต้องมีความผิดอย่างใดหรือไม่
ประชาไท คุยกับอาจารย์
โดยเธอแบ่งประเด็นพิจารณาฐานความผิดไว้ 3 ประเด็นหลักๆ คือ
ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 423 และกฎหมายอาญามาตรา 326-328
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
ค่อยๆ เปิดตำราเรียนกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับคลิปฉาวดังกล่าวไปพร้อมๆ กับเธอ
000
1 คลิปเผยแพร่ได้หรือไม่ ผิดไหม
ประเด็น คือ คลิปวีดีโอนั้นถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทหนึ่ง เมื่อเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทหนึ่งแล้ว คำถามว่าเผยแพร่ได้หรือไม่ ถ้าดูกันที่เรื่อง “เนื้อหา” (ไม่ใช่ปัญหาในทางเทคนิค) ของ สิ่งที่เผยแพร่ ก็ต้องถามกลับไปที่หลักทั่วไปที่เกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น บทหลักในการคุ้มครองเรื่องนี้อยู่ที่ไหน คำตอบก็คือ อยู่ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 45 [1] เหมือนกับทุกๆ สื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์อื่น ๆ โทรทัศน์ หรือว่าออนไลน์
มาตรา 45 เป็น บทหลัก แต่ดังที่กล่าวถึงไปหลาย ๆ ที่แล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้เฉพาะสิทธิ แต่กำหนดหน้าที่ด้วย ดังนั้นในมาตรานี้เอง สิทธิดังกล่าวจึงอาจถูกจำกัดได้ เนื้อหาประเภทไหนที่อาจถูกจำกัด หรือสิทธิในเรื่องนี้อาจถูกยกเว้นด้วยเหตุผลใดบ้าง มีอยู่ 4 เรื่อง ด้วยกัน คือ หนึ่ง เพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ สอง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือว่าสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สาม เพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และสี่ ป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
ประเด็น ที่สำคัญมาก ๆ ในการจำกัดสิทธิ หรือยกเว้นสิทธิ ก็คือ ข้อยกเว้นทั้งสี่ข้อนี้จู่ ๆ รัฐจะลุกขึ้นมาจำกัดลอยๆ ไม่ได้ รัฐต้องออกกฎหมายกำหนดให้ชัดเจนก่อน พูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องมีกฎหมายเฉพาะออกมาให้อำนาจก่อน รัฐจึงจะใช้อำนาจจำกัดสิทธิได้ ดังนั้น ประเด็นต่อมาเราจึงต้องมาดูว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยมีกฎหมายอะไรที่มาเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่เนื้อหา หรือในกรณีนี้เผยแพร่คลิปบ้าง
เมื่อ มาดูคลิป จะเห็นว่ามีอยู่สองระลอก คือ ระลอกแรกเป็นเรื่องที่อาจเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดียุบพรรค ระลอกสองเป็นเรื่องที่ออกไปทางการกระทำส่วนตัวก็คือ คลิปเกี่ยวกับการทุจริตการสอบเข้ารับราชการ
เมื่อ ตรวจสอบตัวกฎหมายดูแล้ว จะพบว่าปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิในเรื่องการเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสาร และที่สำคัญน่าจะเกี่ยวข้องกับกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว ตัวแรก คือกฎหมายอาญามาตรา 198 ว่าด้วยเรื่องการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา
สอง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับประมวลกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
สาม คือ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
000
2 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา: ไม่ผิด
มาตรา 198 กฎหมายอาญาเขียนว่า
ผู้ ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณา หรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ กฎหมายข้อนี้ ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือ กฎหมายคุ้มครองอะไร กฎหมายใช้คำว่า ศาลหรือผู้พิพากษา ดังนั้นจึงคุ้มครองสองสิ่ง นั่นคือ ห้ามดูหมิ่นศาล หรือดูหมิ่นตัวองค์กรหรือสถาบัน ในขณะเดียวกันก็ห้ามดูหมิ่นตัวผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในศาลด้วย และคำว่า ศาลในที่นี้ใช้กับทุก ๆ ศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา มาตรา 198 ใช้ คำว่า “ดูหมิ่น” ไม่ใช่ “หมิ่นประมาท” สองคำนี้ไม่เหมือนกัน คำว่าดูหมิ่นนั้น คือการที่ ผู้พูดหรือผู้ทำการดูหมิ่นได้แสดงพฤติกรรม เขียน หรือใช้วาจาบางอย่างที่เป็นการดูหมิ่นตรง ๆ เป้าหมายคือ เพื่อลดเกียรติยศ ลดศักดิ์ศรีของคน ๆ นั้น หรือองค์กรนั้นลง เช่น ใช้คำหยาบคายด่าทอ หรือถ้าเป็นกรณีนี้ที่ทำต่อศาลหรือผู้พิพากษาก็เช่น ถ้อยคำต่อว่าลอย ๆ ทำนองตัดสินไม่ดี ไม่สุจริต รับเงิน เข้าข้างอีกฝ่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับความผิดฐาน “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ที่ทำต่อบุคคลธรรมดามมาตรา 393 ประมวลกฎหมายอาญา เพียงแต่ต่างกันตรงที่ กรณีการดูหมิ่นศาลนี้ ไม่จำเป็นต้องกระทำซึ่งหน้า หมายความว่า อาจจะด่าในขณะพิจารณาในศาล หรือไปด่าลับหลังศาล ก็เป็นความผิดฐานดูหมิ่นศาลได้
สำหรับ ประเด็นที่ต่างจากการหมิ่นประมาทนั้นคือ ดูหมิ่นเป็นการที่คนดูหมิ่นแสดงการดูหมิ่นด้วยตัวเองโดยตรง คนถูกดูหมิ่นรู้สึกว่าโดนหมิ่นก็ผิดได้แล้ว ในขณะ ที่การหมิ่นประมาทนั้น อาจไม่ใช่การพูดจาดูหมิ่นตรงๆ แต่เป็นการพูดข้อเท็จจริงใด ๆ หรือพฤติกรรมใด ๆ ที่อาจไม่ได้หยาบคาย หรือด่าทอ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้คนอื่นที่ได้รู้ข้อเท็จจริงนั้นรู้สึกดูหมิ่นผู้ถูก หมิ่นประมาท เรื่องนี้จึงไม่เหมือนกันจึงต้องแยกแยะให้ดี ๆ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่สุดของ มาตรา 198 ก็ คือ จะผิดมาตรานี้ได้ต้องเป็นการดูหมิ่นในเรื่องที่เกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ใน การพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งด้วย มิใช่การดูหมิ่นกันในเรื่องส่วนตัว หรือความประพฤติส่วนตัวของผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใด เพราะกฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา และการพิจารณาตัดสินคดี
เมื่อเป็นเช่นนี้ พอย้อนกลับมาดูคลิปสองระลอก ก็จะพบว่า คลิประลอกสอง ฟันธงได้เลยว่า ไม่ใช่เรื่องดูหมิ่นศาลมาตรา 198 ประมวล กฎหมายอาญา แน่นอน เพราะคลิประลอกสองไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเลย ไม่ใช่การกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้พิพากษา แต่เป็นพฤติกรรม หรือการกระทำส่วนบุคคล เพียงแต่บุคคลนั้นประกอบอาชีพหรือมีตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาเท่านั้นเอง
ดัง นั้น เรื่องที่จะต้องพิจารณากันมากหน่อย ก็คือ คลิประลอกแรก ซึ่งบางคนอาจมองว่ามีประเด็นที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีอยู่ เพราะมีบางคลิปในชุดนั้นนำเอาการพิจารณาในที่ประชุมออกมาเผยแพร่ แต่เงื่อนไขแค่นี้ยังไม่พอ เพราะดังกล่าวไปแล้วว่า ต้องมีการแสดงพฤติกรรมดูหมิ่นโดยตรงด้วย ดังนั้น คำถามก็คือ ในคลิปต่าง ๆ มีการใช้ถ้อยคำทำนองดูหมิ่นหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีก็จะบอกว่ามีความผิดตามมาตรา 198 ไม่ได้ ขอ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหน่อย เคยมีคำพิพากษาฎีกาหนึ่งตัดสินให้คนพูดมีความผิดฐานดูหมิ่นศาล เพราะเขาไปพูดนอกศาลว่า “ไอ้ผู้พิพากษานี้ปรับกู กูจะเตะมึง” กรณีนี้คือการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ลักษณะเหยียดหยามผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีของตน จึงถือเป็นการดูหมิ่น หรือการพูดในทำนองว่าศาลตัดสินคดีไม่ยุติธรรม ลำเอียงเข้าข้างบุคคลอื่น ไม่สุจริต ก็เคยมีฎีกาตัดสินให้ผิดมาแล้วเช่นกัน คราวนี้ กลับมาที่คลิป ดู สิว่ามีถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวบ้างไหม คำตอบคือ ไม่มีนะคะ ชัดเจนเลยว่าไม่มีคำลักษณะหยาบคาย หมิ่นหยาม หรือลดศักดิ์ศรีทั้รรเท็จจริง เหตุการณ์ หรือพฤติกรรมบางอย่างของบางคนที่อาจเกี่ยวพันกับการพิจารณาคดีมาเผยแพร่เท่า นั้น ซึ่งจะจริงหรือไม่นี่อีกเรื่อง ต้องพิจารณากันอีกที เป้าหมายของการเผยแพร่ก็อาจเพื่อให้คนที่ได้เห็นคลิปรู้สึกดูหมิ่นศาล หรือที่เค้าใช้คำว่าดิสเครดิตศาล นั่นแหละ แต่เรื่องนี้ก็ไม่่ใช่ความหมายของการดูหมิ่น อย่างที่พูดไปแล้วตอนต้น ถูกไหมคะ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาทั้งจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งถ้อยคำในตัวบทกฎหมาย แม้คลิประลอกแรกเอง ก็ไม่น่าจะผิดตามมาตรา 198 ส่วน ที่มีข่าวว่ามีการไปกล่าวโทษกันแล้วโดยใช้มาตรานี้ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะถ้าถามโดยส่วนตัว มันตีความไปไม่ถึงค่ะ และคลิปเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเอาไปเกี่ยวพันกับเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล” ใน ชั้นกระบวนพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ด้วย ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งแยกจากเรื่อง “ดูหมิ่นศาล” ที่เรากำลังพูดกันอยู่ แต่ครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องละเมิดอำนาจศาล เพราะนอกจากคลิปทั้งหมดที่ออกมาจะไม่ชัดเจน หรือไม่มีส่วนใดที่น่าจะส่งผล หรือมีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษา หรือเหนือการตัดสินคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะศาลเองก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ศาลในคลิปตกลงกันเอง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเอง ยังไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจกับศาลไว้โดยตรงในเรื่องที่ว่า ด้วยการละเมิดอำนาจศาล
ถ้าให้ฟันธงก็ต้องบอกว่า ทั้งคลิปชุดแรกและสอง ไม่เป็นความผิดในฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ตามมาตรา 198 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
000
3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท: อาจผิด แต่มีข้อยกเว้นความผิด และข้อยกเว้นโทษ
กฎหมายเรื่องที่ 2 คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา สาเหตุที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย ก็เพราะว่าผู้พิพากษาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นกฎหมายย่อมต้องให้ความคุ้มครองเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ของเขาเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ในฐานะที่เป็นประชาชนในรัฐ ในเรื่องนี้ แม้ในที่สุดมันจะไม่กระทบต่อตัวองค์กร ตัวสถาบัน หรือไม่กระทบต่อผู้พิพากษาในฐานะที่ปฏิบัติภาระหน้าที่จนเป็นความผิดตาม มาตรา 198 ได้ แต่ถ้ามีการเผยแพร่คลิปที่มีเนื้อหาบางอย่างไปกระทบเกียรติยศ หรือเรื่องในทางส่วนตัวของเขาผู้กระทำก็อาจต้องรับผิด
กฎหมายที่ว่าด้วยหมิ่นประมาทมีสองส่วน คือ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายอาญา
โดยกฎหมายอาญา คือ มาตรา 326-328 [2] ส่วนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ มาตรา 423 [3]
กฎหมาย แพ่งเป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทแล้ว ผู้กระทำอาจถูกเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แต่กฎหมายอาญาผู้กระทำจะต้องมีโทษจำคุก หรือปรับ แม้บทลงโทษจะต่างกัน แต่องค์ประกอบการกระทำความผิดหลัก ๆ เหมือนกัน คือ หนึ่ง ต้องมีการใส่ความบุคคลอื่น คือ มีการแสดงข้อเท็จจริง แล้วมีการยืนยันข้อเท็จจริงที่ผู้ฟังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเป็นจริง หรือเป็นเท็จ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นแต่เพียงการพูดลอย ๆ ว่า นาย ก. ซึ่ง เราไม่ชอบหน้าว่า “นาย ก เป็นคนหน้าหมา เป็นคนเลว” อย่างนี้ ถือเป็นแค่เพียงการแสดงความคิดเห็นลอยๆ เท่านั้น ไม่ใช่การแสดงข้อเท็จจริง และเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นความจริง คือ นาย ก คงมีหน้าเหมือนหมาไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องอธิบายหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าเลวอย่างไร หรือเลวเพราะอะไร จึงไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทตามกฎหมาย แต่แน่นอนอาจจะผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้ ถ้าเราไปพูดแบบนี้ต่อหน้านาย ก เพราะใช่ถ้อยคำหยาบคายดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตรงนี้จึงต้องแยกให้ดี ๆ ว่าผิดอะไร ดังนั้น การใส่ความ จึงต้องเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงบางอย่างที่คนที่ได้ฟังไปพิสูจน์ต่อได้ และผู้ใส่ความมีการยืนยันข้อเท็จจริงนั้น ๆ เช่น พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีในทางเพศของนาย ก หรือพฤติกรรมที่ทุจริตคอร์รัปชั่นของ นาย ก ประกอบกับถ้อยคำว่า นาย ก เป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี แบบนี้เป็นต้น
องค์ ประกอบที่สอง คือ การใส่ความนั้นต้องเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม หรือสาธารณชนทั่วไป หากเป็นบุคคลที่สามคนเดียว ก็เป็นความผิดตามาตรา 326 คือ หมิ่นประมาทกับบุคคลที่สาม แต่ถ้าไปพูดต่อสาธารณชนทั่วไป ซึ่งตามกฎหมายแค่เพียงมีมากกว่าหนึ่งคน ก็จะเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 328 มีโทษหนักขึ้น ซึ่งถ้าถามว่า การเอาคลิปไปเผยแพร่ในเว็ปไซต์ควรจะเข้ามาตราไหน เราก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของมาตรา 328 เพราะมีผู้คนจำนวนมากเข้าถึงได้
องค์ ประกอบที่สาม ต้องระบุตัวผู้ถูกใส่ความได้ว่าเป็นใคร ไม่ใช่ว่าพูดลอย ๆ เป็นกลุ่ม ๆ หมายถึงใครก็ไม่รู้ ซึ่งคลิปนี้ก็เห็นชัดเจนว่าพูดถึงใครบ้าง
องค์ ประกอบที่สี่ คือ การใส่ความนั้นน่าจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของผู้ ถูกใส่ความ หรือทำให้เขาต้องถูกคนอื่นเกลียดชัง หรือรู้สึกดูหมิ่น
ถ้าการกระทำครบทั้งสี่องค์ประกอบนี้เมื่อไหร่ ก็ถือเป็นความผิด
มี ข้อสังเกตเพิ่มเติมนิดหนึ่งว่า สิ่งที่แตกต่างกันข้อสำคัญข้อหนึ่ง สำหรับการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง กับทางอาญา ก็คือ ถ้าเป็นคดีแพ่ง หากเรื่องที่นำมาเปิดเผย หรือนำมาใส่ความกันเป็นเรื่องจริง แบบนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพราะกฎหมายแพ่งใช้คำว่า ไขข่าวที่ “ฝ่าฝืนต่อความจริง” แล้วทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่ถ้าเป็นคดีอาญา กฎหมายอาญาคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคล โดยไม่สนใจว่า เรื่องที่ใส่ความนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องเท็จ ผู้ใส่ความเขา หรือเอาเรื่องของเขามาเปิดเผยโดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของเรื่อง ย่อมมีความผิด เช่น แม้ผู้ถูกใส่ความว่าทุจริตจะกระทำการทุจริตจริง ๆ ผู้ใส่ความ หรือเอาเรื่องราวของเขาไปเปิดเผยก็ยังคงมีความผิดอยู่
คำ อธิบายต่อแนวทางของกฎหมายอาญาที่ผู้ใส่ความมีความผิด แม้การใส่ความนั้นจะเป็นเรื่องจริง ซึ่งต่างจากคดีแพ่ง ก็คือ คดีแพ่งเป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน กฎหมายมองว่า ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริง บุคคลนั้นก็ไม่มีอะไรเสียหายที่เป็นรูปธรรม ที่ให้ผู้กระทำต้องจ่ายค่าชดใช้ชดเชยให้ แต่ในทาง กฎหมายอาญา จะมุ่งมองในเรื่องความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นหลัก หากปล่อยให้คนในสังคมเอาเรื่องของคนอื่นมาเปิดเผยได้โดยเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยฝ่าฝืนความยินยอมของเจ้าของเรื่อง แล้วรัฐไม่เข้ามาดูแลจัดการ ก็จะทำให้สังคมวุ่นวายได้ ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. แต่งงานแล้ว แต่มาเป็นชู้กับนางสาว ข. นาย เอ ซึ่งเป็นแค่เพียงแฟนของนางสาว ข. จึงนำเรื่องนี้ไปเปิดเผยกับคนอื่น ๆ แบบ นี้ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา แม้ ก กับ ข จะเป็นชู้กันจริง ๆ ก็ตาม แต่นาย เอ อาจไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้นาย ก และ นางสาว ข ในทางแพ่ง
ประเด็นที่เกิดขึ้นกับคลิปที่เผยแพร่ ดัง กล่าวแล้วว่า ในทางอาญานั้นไม่ต้องสนใจเลยว่า เรื่องในนั้นเป็นจริงหรือเท็จ หากพิจารณาตามองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว เข้าองค์ประกอบ ผู้ทำคลิป แล้วนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็อาจมีความผิดตามมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญาได้ เพราะน่าจะเกิดความเสื่อมเสียมต่อชือเสียง หรือทำให้ผู้พิพากษาที่ปรากฏในคลิปถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
แต่ตรงนี้มีเรื่องต้องพิจารณาต่อ เพราะความรับผิดในทางอาญานั้นจะเกิดขึ้นได้ การกระทำต้องเป็นไปตาม “โครงสร้างความรับผิด” ด้วย คือ 1 การกระทำนั้นครบองค์ประกอบเป็นความผิด 2 การกระทำนั้นไม่มีเหตุยกเว้นความผิด และ 3 การกระทำนั้นไม่มีเหตุยกเว้นโทษให้ผู้กระทำ ดังนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมาสำหรับการเผยแพร่คลิปในครั้งนี้ ก็คือ มาตรา 328 คือ บทหลักของความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ถ้าการแพร่คลิปครบองค์ประกอบตามมาตราดังกล่าว ใช่ เราถือเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว แต่การหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญานี้ ได้เขียนข้อยกเว้นความผิด คือ การกระทำนั้นแม้ครบองค์ประกอบแต่ผู้กระทำไม่มีความผิด ไว้ที่มาตรา 329 ด้วย ในขณะเดียวกันก็มี ข้อยกเว้นโทษ ในที่มาตรา 330 คือ การกระทำครบองค์ประกอบ ผู้กระทำมีความผิด แต่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 329 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า
ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ลอง มาวินิจฉัยดูว่า คลิประลอกหนึ่ง และระลอกสองเข้าข้อยกเว้นนี้ไหม ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาแยกกัน เพราะว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คลิปเหล่านี้ ณ ปัจจุบันมีหลายกลุ่ม คือ
หนึ่ง คือ คนที่ทำคลิป แล้วนำออกเผยแพร่เป็นคนแรก
สอง คือ คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป ที่เห็นคลิปแล้วนำไปเผยแพร่ต่อ
สาม คือ คนที่ถอดความจากคลิป แล้วนำเสนอเป็นข่าว
สำหรับคนที่ทำคลิป แล้วนำมาเผยแพร่เป็นคนแรก นั้น ถ้าให้ตีความ และปรับกฎหมาย คิดว่าไม่น่าจะเข้าข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 ได้เลย พูดอีกอย่างก็คือ หมิ่นเหม่ที่จะต้องรับผิดฐานหมิ่นประมาทได้ อาจมีคนสงสัยว่าเข้าข้อยกเว้น มาตรา 329 (3) ไม่ได้หรือ ?
เรื่องนี้มีปัญหา เพราะตาม (3) นอก จากต้องเป็นกรณีของการ “แสดงความคิดเห็น” คือ ติชมด้วยความเป็นธรรมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในคลิป ซึ่งในตัวคลิปเองไม่ปรากฏเรื่องนี้ แล้ว ยังเคยมีคำพิพากษาฎีกาหนึ่ง ที่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับการเผยแพร่คลิป คือ จำเลย นำเทปบันทึกเสียงของโจทก์ ซึ่งเป็นหญิง ที่พูดว่าตนไปลักลอบได้เสียกับพระภิกษุมา ไปเผยแพร่ให้คณะสงฆ์ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยโทษของพระภิกษุที่ลักลอบได้เสียกับ โจทก์ฟัง ศาลฎีกาคดีนี้ตัดสินว่า การเผยแพร่เสียงนี้เป็นการเผยแพร่พฤติกรรมไม่ดีของโจทก์ กับพระภิกษุต่อบุคคลที่สาม จนน่าจะผิดตามมาตรา 328 ฐาน หมิ่นประมาทโจทก์ก็จริง แต่จำเลยไม่ได้กระทำไปโดยมุ่งประจานโจทก์ เพราะเป็นการนำมาฟังกันในระหว่างบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินโทษ จำเลยจึงทำไปโดยสุจริต เพื่อ ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ถือว่าเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (3) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
หากพิจารณาตามหลักการตีความมาตรา 329 นี้ ย่อมกล่าวได้ว่า คนทำคลิปและนำมาเผยแพร่ ย่อมไม่มีความผิดเลย หากเขานำคลิปนี้ส่งให้คณะกรรมการ ปปช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนที่อยู่ในคลิป เป็นความผิดหรือไม่ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ทำคลิปเอาคลิปมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งคนทั่วไปเห็นได้ หาก มีคดีขึ้นสู่ศาล ผลก็น่าจะออกมาในแนวว่า เป็นการกระทำที่ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิด เพราะไม่ใช่การกระทำโดยสุจริต เนื่องจาก ทำไปโดยมุ่งประจาน ้ ต้องการกลั่นแกล้ง หรือดิสเครดิตบุคคลนั้น ฉะนั้น คนที่ทำและเผยแพร่เป็นคนแรก คงต้องมีความผิดตามมาตรา 328 โดยไม่มีข้อยกเว้นความผิดตามมาตรา 329
แต่ สำหรับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่นำคลิปไปเผยแพร่ต่อ หรือคนที่ทำข่าวหรือถอดความจากคลิปมานำเสนอเป็นข่าวนั้น การกระทำของเขาน่าจะเข้าข้อยกเว้นมาตรา 329 (3) ได้ เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นคนสร้างคลิปขึ้นมา และนำมาเผยแพร่โดยเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคลิปน่าจะเป็นความจริง ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการนำเผยแพร่ต่อนี้ คนเผยแพร่ต่อ ๆ กันมา ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเรื่องในคลิปเป็นจริงหรือเป็นเท็จ เพียงแค่เขาเชื่อโดยสุจริตว่า เป็นเรื่องจริงที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวพันกับองค์กรที่ตัดสินคดีความของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง การนำคลิปมาเผยแพร่ต่อ ๆ กันไป จึงย่อมอยู่ในวิสัยที่ประชาชนอาจทำได้ ดังนั้นกรณีนี้ จึงน่าจะอ้าง 329 (3) เพื่อยกเว้นความผิดได้
โดย สรุปในประเด็นข้อยกเว้นความผิด ก็คือ คนทำคลิปและเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของคลิปชุดที่สอง ซึ่งมีภาพและเสียงพฤติกรรมไม่ดีของบุคคลอื่น (คลิปชุดแรกไม่ค่อยมีประเด็นเรื่องหมิ่นประมาท) ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรา 329 ดัง นั้น การกระทำของเขาจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ในขณะที่คนนำคลิปไปเผยแพร่ต่อ หรือทำข่าวตามคลิป อาจได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาม (3) ได้ หากเข้าใจ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าพฤติกรรมของผู้พิพากษา ที่อยู่ในคลิปเป็นเรื่องจริง แล้วนำไปว่ากล่าวติชมกันตามวิสัยของประชาชน ที่กล่าววิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของผู้มีตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง
เรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาต่อจากเหตุยกเว้นความผิดก็คือ เหตุยกเว้นโทษ คือ ผิดแล้วแต่ไม่ต้องรับโทษ ตามมาตรา 330 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
นำ มาปรับใช้กับกรณีเผยแพร่คลิปดู จะเห็นว่า ในที่สุดแล้ว การเผยแพร่คลิป ผู้กระทำอาจผิดฐานหมิ่นประมาทก็จริง แต่คำถาม คือ ตามกฎหมายเขามีโอกาสในการพิสูจน์ความแท้จริง หรือความจริงของเรื่องราวในคลิปได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ และต้องได้ ด้วย
เพราะ แม้เรื่องราวในคลิปอาจเป็นพฤติกรรมการทุจริตส่วนบุคคลก็จริง แต่สาเหตุแห่งการทุจริต มีความเกี่ยวพันกับหลักเกณฑ์และประโยชน์ของบุคคลอื่น และกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม อีกทั้งยังเป็นพฤติกรรมของผู้พิพากษา ผู้ซึ่งเป็นคนในองค์กรที่มีอำนาจในการตัดสินคดีและให้ความยุติธรรมกับคนใน สังคม เป็นองค์กรที่ถูกคาดหวังจริยธรรมมากที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศ ดังนั้น กระบวนการพิสูจน์ว่าเรื่องราวในคลิป เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ย่อมถือเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และหากผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด ในที่นี้ คือ ผู้ทำคลิปและนำมาเผยแพร่เป็นคนแรกพิสูจน์ในชั้นศาลได้ด้วยว่า คลิปนั้นเป็นเรื่องจริง เขาย่อมได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา 330
สรุป ก็คือ แม้ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้ทำคลิปและนำคลิปมาเผยแพร่เป็นคนแรกจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา โดยอ้างเหตุยกเว้นความผิดใด ๆ ไม่ได้ แต่หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล และพวกเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าคลิปที่นำมาเผยแพร่เหล่านั้นเป็นเรื่องจริง ก็จะได้รับยกเว้นโทษ สำหรับผู้นำมาเผยแพร่ต่อ หรือทำข่าวคลิปนั้น ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าได้รับยกเว้นโทษหรือไม่เลย ทั้งนี้เพราะเขาน่าจะได้ หรือย่อมได้รับการ ยกเว้นความผิด ตามที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว
คำ ถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ จึงคงเหลืออยู่ข้อเดียว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบในเร็ว ๆ นี้หรือไม่ ก็คือ ผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่อยู่ในคลิปเอง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ พร้อมที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคดีหมิ่นประมาทในศาลยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความจริงในคลิป หรือไม่ เท่านั้น
000
4 ผู้ปล่อยคลิปผิดอะไรตามพรบ.คอมพิวเตอร์ และรัฐใช้มาตรการปิดกั้นคลิปได้หรือไม่ ?
ช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินข่าวกันค่อนข้างมากว่า มีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เข้า มาเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่คลิปด้วย จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ เจ้าหน้าที่รัฐไทย พอมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปั๊บ นึกอะไรไม่ออกก็ใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ไว้ก่อน แต่คำถามก็คือ ใช้มั่วหรือเปล่า หรือว่าตั้งข้อหาส่ง ๆ ไปก่อน ซึ่งได้ข่าวมาว่า มีความพยายามที่จะใช้ข้อหาตาม มาตรา 14 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (2) การเอาข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน [4]
ถ้า ถามความเห็นส่วนตัวว่าผิดตามมาตราดังกล่าวหรือไม่ คงขอตั้งคำถามกลับไปว่า คลิปที่ถูกเผยแพร่ออกมา ไม่ว่าระลอกไหน ๆ เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐยังไง มี ข้อควรสังเกตว่า แม้จะมีการถกเถียงกันมานานมากแล้วว่าถ้อยคำนี้เป็นถ้อยคำคลุมเครือเกินไป สำหรับการกำหนดโทษทางอาญา และหากจะตีความก็ควรจำกัดให้เหมาะสม แต่ประเทศไทยก็ยังตีความคำว่าความมั่นคงแห่งรัฐ กว้างเป็นทะเลอยู่ดี ที่ผ่านมานอกจากตีความรวมไปถึง ความมั่นคงแห่งรัฐบาลแล้ว กรณีนี้ยังมีความพยายามจะตีความรวมเอา ความมั่นคงของศาล และความมั่นคงของผู้พิพากษา เข้ามาด้วย แต่ที่น่าเสียดายที่สุด คือ ความมั่นคงของประชาชนไม่เคยอยู่ในความหมายนี้เลยสักครั้งเดียว คลิปนี้ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือไม่ ก็ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะหากคลิปนี้จะทำให้ใคร หรือคนกลุ่มใดสักกลุ่มตื่นตระหนก ก็ไม่น่าจะเป็นบุคคลที่ปรากฏอยู่ในคลิปมากกว่าที่จำเป็นประชาชน ดังนั้น ดูแล้วก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะตีความเรื่องนี้ให้เป็นความผิดตามมาตรา 14 (2) ได้ ส่วนจะเปลี่ยนมาตั้งข้อหาตาม มาตรา 14 (1) นำ ข้อมูลปลอมทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นั้น ณ ปัจจุบัน การตีความมาตรานี้ ยังนับว่าน่าสงสัยอยู่มาก ว่าจะใช้หลักการเดียวกันกับการ “ปลอมเอกสาร” ที่มีความสำคัญอยู่ที่ “อำนาจของผู้ทำข้อมูลปลอม” ไม่ใช่ “เนื้อหาที่ถูกปลอม” หรือจะตีความคำว่า “ปลอม” ในความหมายสามัญทั่วไปกันแน่ สุดท้าย เราจึงไม่ค่อยเห็นตำรวจไซเบอร์ หรือไอซีทีใช้มาตรานี้ตั้งข้อหากับใครมากนัก ซึ่งไม่เฉพาะกับเรื่องคลิปนี้แต่หมายถึงกับคดีอื่น ๆ ด้วย
มาตราที่น่าสนใจสำหรับกรณีการเผยแพร่คลิป น่าจะเป็น มาตรา 16 แห่งพรบ.คอมพิวเตอร์ มากกว่า เพราะสำหรับคลิปชุดแรก อาจมีประเด็นในเรื่องการตัดต่อภาพ หรือข้อความบางตอน จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ของบุคคลอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด จะเป็นความผิดตามมาตราเหล่านี้หรือไม่ ก็ต้องว่ากันในชั้นศาลเท่านั้น ไม่ใช่มาตะโกนขู่กันอยู่ที่นอกศาล คำถามสุดท้าย จึงเป็นคำถามเดิมว่า ผู้เสียหายตามคลิปเหล่านี้ พร้อมหรือไม่ที่จะให้เกิดการพิสูจน์กัน ถ้าพร้อมก็ส่งเรื่องฟ้องเลย แล้วพิสูจน์กัน ประชาชนจำนวนมากน่าจะรออยู่ด้วยใจระทึก
ประเด็นต่อมา คือ การใช้มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปนั้น ทำได้หรือไม่ ต้องชัดเจนเลยว่า ถ้าพูดถึงเรื่องปิดกั้นได้หรือไม่นี้ ไม่ใช่มาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้ว เพราะมาตราทั้งสองไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้น หรือระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนระบบคอมพิวเตอร์ เป็น แต่เพียงบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดว่าจะจำคุก หรือปรับ หากผิดจริง ส่วนจะปิดกั้นได้หรือไม่ ปัจจุบันมีอยู่มาตราเดียวที่ต้องดู คือ มาตรา 20 ตำรวจ ไซเบอร์ก็ดี ไอซีทีก็ดี หรือนายกรัฐมนตรีก็ดี จะไปใช้กฎหมายอื่น หรือมาตราอื่น ๆ ไม่ได้ และหากจะปิดกั้นก็ต้องขออำนาจศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ไปทำตัวเป็นไอ้โม่ง ส่งหนังสือไปต่างประเทศขอให้ลบคลิป หรือสั่งใครให้ปิดกั้นคลิป ไม่เช่นนั้นรัฐก็กำลังทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 45 เสียเอง
ซึ่ง มาตรา 20 พรบ. คอมพิวเตอร์ ฯ บัญญัติว่า
“ใน กรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่ กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่ หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรค หนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ ได้”
จึงเห็นได้ว่า เนื้อหาที่รัฐจะใช้ มาตรา 20 ปิดกั้นการเผยแพร่ได้มีแค่ 2 เรื่อง เท่านั้น คือ เรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ กับเรื่องขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคลิปที่เผยแพร่ และความผิดที่อาจถูกกล่าวหานั้น ชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายหมวดความมั่นคงตามที่บัญญัติในมาตรา 20 เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นมาตรา 198 ดูหมิ่นศาล ซึ่งดังกล่าวไปแล้วว่าไม่ผิดด้วย หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ล้วนไม่ใช่บทมาตราในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เลย สำหรับกรณีว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เรื่องนี้ยิ่งไม่เกี่ยวเลย เพราะเป็นเรื่องพฤติกรรมของคนในศาล เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการทุจริต เป็นการเผยแพร่ความไม่ชอบมาพากลให้ประชาชนเห็น ฉะนั้นเมื่อไม่ใช่ความผิดในสองหมวดนี้ ไอซีทีคุณ
อาจ จะมีคนตั้งคำถามว่า อ้าว แล้วอย่างนี้ถ้ามี ใครสักคนเอาเราไปใส่ความในอินเทอร์เน็ต เราเสียหาย เราจะขอให้รัฐหรือไอซีทีไปบล็อกยูทูปว์ไม่ได้หรือ ตอบตรง ๆ ตามหลักมาตรา 20 คือ ไม่ได้ ประเด็นก็คือ การใช้มาตรการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อ เป็นมาตรการเร่งด่วน ที่ต้องใช้กับเนื้อหาที่มีผลกระทบรุนแรงจริง ๆ เท่านั้น หากในที่สุด มีการขัดกันขึ้น หรือจำเป็นต้องให้น้ำหนักระหว่างสิทธิของปัจเจกชน กับสิทธิของประชาชนส่วนรวมทั้งหมด ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนส่วนรวมก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ หมายถึงเราโดนหมิ่นประมาท จะมีวิธีเยียวยาแบบอื่นรองรับไว้ได้อยู่แล้ว เช่น การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง การฟ้องให้ลงโทษทางอาญา หรือให้ศาลสั่งลงข่าวแก้ไข หรืออาจใช้่ช่องทางการขอศาลคุ้มครองชั่วคราวให้ปลดคลิปนั้นในระหว่างพิจารณา คดี เป็นต้น แต่ต้องไม่ใช่การใช้อำนาจปิดทันทีโดยอาศัยมาตรา 20 นี้
ที่ ผ่านมากระทรวงไอซีทีเสนอว่าจะบล็อกคลิป คำถามคือ ตกลงคุณใช้อำนาจอะไรในการบล็อก หรือกระทั่งที่เป็นข่าวอยู่ คือ ไอซีทีมีทีท่าว่าจะใช้ พรก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 9 (3) ปิด กั้น ซึ่งตรงนี้ ถ้ามีการใช้จริง ๆ ถือว่า รัฐกำลังใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยกฎหมาย และมั่วซั่วมาก ๆ เพราะเรื่องนี้แท้จริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวพันกับสถานการณ์ฉุกเฉินเลยแม้แต่น้อย สรุปก็คือ ถ้ามีการบล็อกเมื่อไหร่ โดยไม่มีการร้องขอคำสั่งศาล หรือขอคุ้มครองชั่วคราวภายหลังฟัองศาลให้พิสุจน์ความจริงว่าหมิ่นประมาทหรือ ไม่ การบล็อกคลิปโดยเจ้าหน้าที่ต้องถือว่าขัดกับมาตรา 45 และประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ กลายเป็นเรื่องที่ย้อนตีกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกทีหนึ่ง เราคงได้เห็นอะไรสนุก ๆ กัน
ก็ อยากจะบอกว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการปกป้องใครทั้งสิ้น แต่ว่ากันตามหลักกฎหมาย ตามหลักของนิติรัฐ หลักที่บอกประชาชนว่า รัฐจะทำอะไรได้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ถ้าเกิดคุณอ้างกฎหมายตัวไหนมาใช้ไม่ได้เลย นั่นคือคุณกำลังทำโดยไม่มีอำนาจ เรื่องการเผยแพร่คลิปหากในที่สุดแล้ว ศาล หรือผู้พิพากษา หรือใครต่อใครที่เกี่ยวข้องคิดว่า การเผยแพร่คลิปนั้นกระทบต่อสิทธิของท่าน ท่านก็ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ทำคลิป ผู้เผยแพร่คลิปได้ เมื่อคิดว่าเป็นความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่แน่นอนต้องได้รับการพิสูจน์กันในชั้นศาล แต่ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในคลิปเอง ก็จำเป็นต้องทำความจริงให้กระจ่าง ชี้แจงกับประชาชนเช่นกัน ว่าจริงไม่จริงอย่างไร ไม่ใช่พยายามออกมาบิดเบือน หรือเบี่ยงประเด็นว่า เป็นคลิปเท็จ คลิปปลอม ดิสเครดิต สร้างความเสื่อมเสียต่อศาล ฯลฯ เพราะคำถามจากประชาชน ก็คือ แล้วมันปลอมยังไง ? หรือมันเท็จอย่างไร ? พิสูจน์สิ
ศาลจะเสื่อมเสียหรือไม่ ไม่ใช่เพราะมีคนเอาคลิปที่มีพฤติกรรมที่น่าเสื่อมเสียของคนในองค์กรออกมาประกาศหรือเผยแพร่ แต่ ศาลจะเสื่อมจะเสียก็เพราะพฤติกรรมที่เสื่อมเสียเองของคนในองค์กรที่ปราก ฎอยู่ในคลิป จะเสื่อมเสียก็เพราะคนที่เกี่ยวข้องขององค์กร นอกจากไม่ชี้แจงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในคลิปเองแล้ว ยังนิ่งเฉยช่วยกันบิดเบือนประเด็นด้วย อย่างนี้แหละจะยิ่งเสื่อมเสีย
000
5 ประชาชนก็ร้อง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญได้
สิ่งที่ควรจะเป็นหลังจากคลิปฉาวดังกล่าวหลุดออกสู่สาธารณะ ก็คือ กระบวนการหาข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะโดยองค์กรศาล หรือ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เพื่อชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจข้อเท็จจริง
แต่ขณะนี้ยังไม่มีคนฟ้องป.ป.ช. ซึ่งจริงๆ ประชาชนทั่วไป หรือใครที่เคยไปสอบเข้ากรณีที่มีประเด็นทุจริตอยู่ในคลิปก็ไปร้องเรียน ป.ป.ช. ได้นะคะ เพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นักกฎหมายจะเงียบไม่ได้เลย แต่ ปรากฏว่า บรรดานักกฎหมายต่างเงียบงันกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักกฎหมายที่สอนหลักวิชาชีพไปทำอะไรอยู่ที่ไหนกันหมด ในระยะหลัง จริง ๆ มันก็นับตั้งแต่มีตุลาการภิวัฒน์ นั่นแหละ ศาล ประชาชน นักกฎหมายสายคุณธรรมทั้งหลาย เรียกร้องศีลธรรมจริยธรรมจากนักการเมือง แต่พอมีประเด็นปัญหา ความสงสัยต่อคุณธรรมจริยธรรมในองค์กรศาลเอง คนที่เคยเรียกร้องเหล่านั้นกลับเงียบงัน หลายคนทำหูทวนลม นักกฎหมายบางคนบอกว่าจนบัดนี้ตัวเองยังไม่ได้ดูคลิปเพราะเห็นเป็นเรื่องไร้ สาระ มันน่าเหลือเชื่อที่สุด เพราะในต่างประเทศ คลิปเจ้าหน้าที่ซ้อมผู้ต้องหาซึ่งถ่ายจากมือถือของประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ คลิ ปการทรมานในคุก หลุดออกมา ยังใช้เป็นพยานหลักฐาน เป็นเบาะแสในการสืบหาข้อเท็จจริงต่อได้ กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก จนผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาทำความกระจ่างให้ปรากฏ เพราะปล่อยไว้ให้เป็นที่สงสัย ก็รังแต่จะเกิดผลเสีย และกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชน แต่นักกฎหมายในประเทศไทยจำนวนมาก กลับเพิกเฉย แล้วกล่าวคำมักง่ายลอย ๆ ว่าคลิปที่หลุดออกมาเป็นของปลอม ไม่ต้องดู และไม่ต้องพิสูจน์
เรื่อง เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือ คุณต้องพิสูจน์ว่า องค์กร สถาบัน ยึดถือคุณธรรมจริยธรรมจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงต้องจัดการกับคนที่ไร้จริยธรรมและไร้คุณธรรมนั้น เพื่อรักษาสถาบัน และองค์กรไว้
เรื่อง ที่สอง คือ เรื่องการดำเนินคดีกับคนที่ทำคลิปมาเผยแพร่ เรื่องนี้ ก็ต้องทำควบคู่กันไป เพราะหากเขาทำจริง ก็อาจจะฟ้องฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน แต่พอฟ้องแล้วก็จะเกิดกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง สอบพยานกันในชั้นศาล ซึ่งประชาชนรอดูอยู่
กรณี ที่กองปราบออกมาให้ข่าวว่าจะไล่ล่าคุณพสิษฐ์ก็เป็นเรื่องของกระบวนการ หากมีการฟ้องร้องกันแล้ว ซึ่งคาดว่าคงฟ้องด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 198 แต่ ต้องมีการแจ้งความก่อน ส่วนที่สุดแล้วจะขอตัวมาจากต่างประเทศเพื่อดำเนินคดีได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นความร่วมมือระหว่างประเทศ
ประเด็น ที่สาม คือเรื่อง ของการเผยแพร่ ต่อๆ ไป คือ ทำได้ตามวิสัยของประชาชนตามปกติ ติชมด้วยความเป็นธรรม โดยความสุจริต และต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำด้วย เช่น การใช้ถ้อยคำว่า เลวจริง ๆ หรือเหยียดหยาม ประณาม ประจาน ก็ควรหลีกเลี่ยง
000
6 ละเมิดอำนาจศาล กับดูหมิ่นศาล ต่างกันอย่างไร ช่วยอธิบายได้ไหม
เอาคร่าว ๆ นะคะ ว่า การละเมิดอำนาจศาล เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31, 32 แล้วมีโทษตาม 33 ส่วน ดูหมิ่นศาล เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 จริง ๆ โดยหลักการแล้ว สองเรื่องนี้มีสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองเหมือนกัน เพียงแต่กว้างแคบต่างกัน คือ คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี และเกียรติของสถาบันตุลาการ รวมทั้งตัวผู้พิพากษาในองค์กรด้วย
มาตรา 31 คือ กรณีที่เกิดในห้องพิจารณาคดี เช่น คู่ความขัดคำสั่ง หรือโวยวายขึ้นมาในห้องพิจารณาคดี จงใจให้การเท็จ ฯลฯ ส่วนมาตรา 32 เป็นเรื่องของการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งแยกเป็นสองอนุมาตรา โดยอนุมาตรา 1 คือ การนำเสนอข่าวหรือเอาข้อเท็จจริงของคดี หรือกระบวนพิจารณาคดีไปเผยแพร่ ทั้งที่ศาลบอกแล้วว่าเป็นการพิจารณาโดยลับ หรือห้ามไม่ให้เปิดเผยเพราะจะกระทบรูปคดี หรือคู่ความ ส่วนอนุมาตรา 2 คือ เรื่องการเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี โดยมีเป้าหมายที่จะมีอิทธิพลเหนือการพิจารณาคดี เหนือผู้พิพากษาเหนือคู่ความ หรือเหนือพยาน กล่าวคือมุ่งหมายให้มีผลต่อการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ๆ นั่นเอง
ผลบังคับในมาตรา 33 ก็คือ ศาลมีอำนาจลงโทษผู้ละเมิดศาลได้ทันที เช่น ถ้าอยู่ในศาลก็ไล่ออกจากศาล หรือสั่งจำคุก หรือปรับ ตามความเหมาะสม
ประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีบทบัญญัติที่บอกให้เอาหลักของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ได้โดยอนุโลม ซึ่งย่อมหมายรวมถึงบทที่ว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลด้วย และสามารถทำได้ไม่ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพราะ เป็นการนำเอากฎหมายระดับเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติมาปรับใช้ด้วยกัน ดังนั้นศาลยุติธรรม จึงมีบทบัญญัติคุ้มครองเรื่องละเมิดอำนาจศาล และศาลก็มีอำนาจลงโทษ ผู้ละเมิดอำนาจศาลได้ตามกฎหมาย
แต่ ประเด็นตอนนี้ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีเรื่องนี้เขียนไว้ และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าเรื่องการพิจารณาคดีในศาลรัฐ ธรรมนูญ มีเพียงข้อกำหนดฯ ในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกโดยศาลเอง ในขณะที่ เราทราบกันอยู่แล้วว่า กฎหมายที่จะออกมาแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนได้ เช่น มีโทษทางอาญา หรือการลิดรอนสิทธิของประชาชน ต้องออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อกำหนดฯ ของศาลรัฐธรรมนูญ ออกโดยฝ่ายตุลาการ ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ข้อกำหนดนี้ จึงไม่อาจก้าวล่วงไปกำหนดเรื่องอะไร หรือเขียนอนุโลมให้นำเรื่องอะไรที่จะส่งผลกระทบสิทธิของประชาชนมาใช้ไม่ได้ เพราะถ้าหากยอมเช่นนั้น ศาล หรือองค์กรอื่นใด ที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถเขียนระเบียบ หรือข้อกำหนดภายในให้มีผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยอาศัยวิธีดึงเอาบทลงโทษตามกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติมาใช้โดยอนุโลม ดังนั้น สำหรับเรื่องการละเมิดอำนาจศาลนี้ ที่ผ่านมาเราจึงยังไม่เห็นการใช้อำนาจนี้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญเองก็เข้าใจเรื่องนี้ด้วยจึงไม่มีกรณีที่ไล่ออกจาก ศาลทันที หรือจำคุกทันที เพราะไม่มีอำนาจ
ซึ่งจะต่างกับความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ที่ พูดถึงไปตั้งแต่ต้น เพราะ มาตรานี้ ไม่ใช่อำนาจลงโทษโดยตรงของศาลที่ถูกละเมิด แต่เป็นเรื่องที่ศาล หรือผู้พิพากษาสามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอีกทีหนึ่งเพื่อพิจารณาว่า มีการดูหมิ่นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร และมาตรานี้ ก็เขียนไว้ใช้ครอบคลุมศาลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือว่าศาลรัฐธรรมนูญ
หมายเหตุ
[1] มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การ จำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การ ห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง
การ ให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชน รัฐจะกระทำมิได้
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_cons50/cons2550.pdf
[2]
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูก
เกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่น
บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือ
บุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดัง
บัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี
ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษร ที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึก
อักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้อง
ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
http://www.thailaw.com/thailaw2_4.pdf
[3]
มาตรา 423 ผู้ ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสีย หายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำ มาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะ รู้ได้
ผู้ ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนไม่
http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538627946&Ntype=777
[4]
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(๑) นํา เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นํา เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นํา เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ(๔)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น