Tue, 2010-11-02 07:04
บาหยัน อิ่มสำราญ
หมายเหตุ: บทความวิชาการเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ ชิ้นนี้ ถูกนำเสนอในการสัมมนา 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ประชาไทขออนุญาตจากผู้เขียนนำมาเผยแพร่ต่อ
ณ เบื้องหน้าของเราบัดนี้คือหิ้งแห่งขุมทอง
แห่งวรรณคดีของโลก จงทอดสายตาไปยังขุมทองแห่งนี้
และหยุดอยู่ในช่วงระยะครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เถิด
แล้วเราจะพบว่าเพชรน้ำหนึ่งของวรรณคดีจำนวนไม่กี่เล่ม
ของยุคนั้นคือ “โคทาน” มหากาพย์แห่งชีวิตชาวนาเบงกอล...
”โคทาน” คือมหากาพย์ใหม่ของชาวเบงกลี มันเป็นของชาวเบงกลี
ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ซึ่งแปลว่า โคพลีกรรม ไปจนถึงตัวอักษรสุดท้าย.
ศรีนาคร (จิตร ภูมิศักดิ์)
ความนำ
จิตร ภูมิศักดิ์เป็นปัญญาชน นักคิด นักเขียนและนักปฏิวัติคนสำคัญของไทย ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักนั้นส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ บทกวีและบทเพลง ส่วนที่เป็นผลงานแปลประเภทนวนิยายนั้นไม่ค่อยมีผู้กล่าวถึงมากนัก จิตรแปลนวนิยายไว้ทั้งหมด ๓ เรื่อง ได้แก่ โคทาน แปลจากเรื่อง Godaan ของ เปรมจันท์ [1] คนขี่เสือ แปลจากเรื่อง He who rides tiger ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ และ แม่ แปลจาก Mother ของ แมกซิม กอร์กี้ บทความนี้จะนำเรื่องโคทาน มาศึกษา โดยมีสมมุติฐานอยู่ว่า ไม่ว่าจิตร ภูมิศักดิ์จะสร้างสรรค์งานเขียนประเภทใด เขามีเป้าหมายทางสังคมที่แจ่มชัด แม้แต่เรื่องโคทาน อันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีผู้อ่านคนไทยกล่าวถึงเท่าใดนักก็ตาม
เปรมจันท์ จิตร ภูมิศักดิ์และโคทาน
เปรมจันท์ มีนามจริงว่า ธนปัต ราย ศรีวัสตาวะ (Dhanpat Rai Srivastava) เป็นชาวฮินดู เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๒๓ (ค.ศ.1880) ที่ มันธวา ลัมหิ อันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชานเมืองพาราณสี แคว้นอุตรประเทศ บิดาเป็นเสมียนในกรมไปรษณีย์ มารดาเสียชีวิตตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ บิดาแต่งงานใหม่ และเสียชีวิตเมื่อเขาอายุประมาณ ๑๖ ปี เปรมจันทร์ต้องอยู่กับมารดาเลี้ยงและน้องต่างมารดา เปรมจันท์เริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ในมัสยิดประจำหมู่บ้าน ซึ่งสอนด้วยภาษาอุรดู [2] เขาจึงใช้ภาษาอูรดูและภาษาเปอร์เซียได้ก่อนภาษาฮินดี
เปรมจันท์แต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๕ ปี โดยมารดาเลี้ยงเป็นผู้จัดการให้เนื่องจากต้องการสินสอด เปรมจันท์ต้องรับภาระเลี้ยงดูภรรยา มารดาเลี้ยง และน้องต่างมารดา พร้อมทั้งเรียนหนังสือไปด้วยหลังจากบิดาเสียชีวิต ด้วยการรับจ้างสอนพิเศษ ความเป็นอยู่ที่ยากแค้นทำให้เขาไม่อาจเข้าศึกษาในสาขาอักษรศาสตร์และ นิติศาสตร์เพื่อสมัครเป็นทนายความตามความใฝ่ฝันของตนเอง แต่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดครู และบรรจุให้รับราชการในโรงเรียนประจำตำบลเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ต่อมาหย่าขาดกับภรรยา เนื่องจากเข้ากันไม่ได้ทั้งกับตนเองและมารดาเลี้ยง เมื่อมารดาเลี้ยงรบเร้าให้แต่งงานใหม่ เปรมจันท์ฝืนประเพณีโดยแต่งงานกับหญิงหม้ายชื่อ ศิวรานี เทวี และหญิงผู้นี้เป็นคู่ชีวิตที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเปรมจันท์ ตลอดมา
เปรมจันท์เกลียดชังระบอบอาณานิคม ขณะที่รับราชการเป็นครู ได้ใช้ความสามารถทางการเขียน เขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ระบอบนี้ โดยใช้นามปากกาว่า “นา วับราย” เป็นเหตุให้หนังสือชื่อ Soz-e-Watan ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นมีเนื้อหากระตุ้นให้เกิดความรักชาติ ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งเก็บมาเผา ตัวเขาถูกตักเตือน พร้อมทั้งขอตรวจผลงานทุกชิ้นก่อนเผยแพร่ เขาจึงเปลี่ยนนามปากกาใหม่ เป็น “เปรมจันท์” ซึ่งหมายถึง ความพึงพอใจในความรัก และในที่สุดเขาก็ลาออกจากราชการ (พ.ศ.๒๔๖๔) เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวของมหาตมะคานธีเร่งเร้าให้ข้าราชการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การบริหารทั้งหมดหยุดชะงัก ตามวิธีการขัดขืนทางพลเรือน (civil disobedience) และใช้วิธีการเขียนหนังสือเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นอาชีพ เพียงอย่างเดียว
เปรมจันท์เป็นคนมั่นคงในความคิด เมื่อเซอร์ วิลเลียม มาริส ผู้ว่าราชการรัฐอุตรประเทศเสนอมอบบรรดาศักดิ์ให้ เขากลับปฏิเสธโดยกล่าวกับภรรยาว่า หากยอมรับจะกลายเป็นข้าทาสของรัฐบาลอังกฤษ สิ้นสภาพของประชาชนไปทันที เช่นเดียวกับมหาราชาแห่งอัลวาส่งตัวแทนมาเจรจาขอว่าจ้างเปรมจันท์ในตำแหน่ง ราชเลขานุการด้วยเงินเดือนสูง พร้อมบ้านและรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่เปรมจันท์ปฏิเสธทั้งๆ อยู่ในสภาพที่ขัดสนเพราะออกจากข้าราชการครู เปรมจันทร์อธิบายกับภรรยาว่า “คนผู้ถนัดทางเทิดพระเกียรติเท่านั้น จึงเหมาะที่จะถวายตัวต่อราชาและมหาราชา ไม่มีใครหรอกจะสนใจคนที่เคารพตนเอง” (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๔๒)
เปรมจันท์เคยได้รับการว่าจ้างจากบริษัทสร้างภาพยนตร์ [3] ให้เขียนบทภาพยนตร์จากนวนิยายของเขา และเขาก็มีความคิดที่จะเผยแพร่ความคิดที่จะปฏิรูปสังคมอินเดียผ่านภาพยนตร์ เนื่องจากในอินเดียขณะนั้นประชาชนไม่รู้หนังสือถึงร้อยละ ๘๗ (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๔๓) ภาพยนตร์จึงเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ได้ผลดีกว่าสื่อชนิดอื่น แต่ก็ต้องประสบความผิดหวัง เมื่อพบว่าธุรกิจภาพยนตร์ก็เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่แก่งแย่งแข่งขัน ทำทุกอย่างโดยหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง
เปรมจันท์เป็นนักเขียนที่ถือคติว่า วรรณกรรมนั้นต้องให้ความสว่างบางแง่บางมุมแก่ชีวิต ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบหลักปฏิบัติทางสังคมอย่างเข้มงวดและแข็งขัน ต้องขัดเกลาสัญชาตญาณซึ่งสืบทอดกันมาทางสายเลือดมนุษย์ให้เป็นไปในทางดี กอปรด้วยสัจจะและสุนทรียะ โดยเฉพาะต้องมีส่วนฝึกฝนความใคร่รู้ใคร่เห็นให้ว่องไวฉับพลัน (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘: ๓๗)
ลักษณะงานเขียนของเปรมจันท์ จึงมาจากชีวิตของคนร่วมสมัยผสมกับอุดมคติของตนเอง ความคิดเห็นในเรื่องความรักและการบำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งทัศนคติของเขาต่อชีวิต ลักษณะเด่นของวรรณกรรมก็คือ ความเห็นอกเห็นใจชาวไร่ชาวนาอย่างแท้จริง (กิติมา อมรทัต ๒๕๑๙: ๕) เขาใช้ภาษาพื้นๆ เพื่ออธิบายสภาพปัญหาของชาวนาในชนบท หลีกเลี่ยงศัพท์สูงแบบสันสกฤตฮินดีอย่างที่นักเขียนฮินดีในยุคนั้นนิยมใช้ งานเขียนชิ้นแรกๆ เขียนด้วยภาษาอูรดู แต่ไม่สู้จะได้รับการต้อนรับเพราะผู้ที่ใช้ภาษาอูรดูในขณะนั้นอ่านหนังสือ ได้ไม่มากนัก จึงเปลี่ยนเป็นภาษาฮินดี ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง จนสามารถกล่าวได้ว่า ในกระบวนเรื่องสั้นและนวนิยายที่เขียนด้วยภาษาฮินดี จัดได้ว่าเรื่องของเปรมจันท์นั้นอยู่ในระดับที่ยิ่งใหญ่ และยิ่งใหญ่ไม่แพ้วรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘ :๑๑)
เมื่อบั้นปลายชีวิต เขาได้มีส่วนจัดตั้งสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้า (Indian Progressive Writer’s Association) ขึ้นที่ลัคเนาว์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมคนแรก นักเขียนกลุ่มนี้ได้แก่ เปรมจันท์ กอชิค ประทาปนารายณ์ ศรีวัสตาวะ ผกาวาติ จรัญวรมา สุดาจันทร์ เป็นต้น (กิติมา อมรทัต ๒๕๓๕: คำนำผู้แปล) เปรมจันทร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นจักรพรรดิแห่งนวนิยาย (กรุณา กุศลาสัย ๒๕๕๐: ๒๐๓) เป็นบิดาแห่งแนวอัตถนิยมใหม่ และเป็นแม็กซิม กอร์กี้แห่งอินเดีย (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๙) เขาเขียนเรื่องสั้นประมาณ ๓๐๐ เรื่อง นวนิยายหลายเรื่อง บทความ บทละคร ผลงานจำนวนหนึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย เรื่องโคทานนี้เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายและเขียนด้วยภาษาอูรดู เริ่มต้นเขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ จบเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เสนอสู่สาธารณชนเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ หลังจากนั้นไม่นานก็ถึงแก่กรรมเมื่อ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๙ ในวาระสุดท้ายของชีวิต มีผู้นำแนะนำให้เอ่ยปากขอความเมตตาจากพระเจ้าก่อนสิ้นลม แต่เปรมจันทร์บอกว่า “ไม่อยากรบกวน” (ปรีชา ช่อปทุมมา ๒๕๑๘:๔๘)
ในสังคมไทยนั้น ความสนใจงานเขียนของเปรมจันท์มีมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จิตติน ธรรมชาติ (สุภา ศิริมานนท์) ( ๒๕๑๘: ๙) กล่าวว่า เคยอ่านงานของเปรมจันท์บางเรื่อง [4] โดย ข้อชี้แนะจากบทวิจารณ์หนังสือของนิตยสารอังกฤษในสมัยนั้น ต่อมา จิตร ภูมิศักดิ์มีความสนใจนวนิยายของเปรมจันท์ได้ขอยืมนวนิยายของเปรมจันทร์ไป หลายเล่ม ประมาณปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ และได้แสดงความพอใจเรื่องโคทานเป็นพิเศษ และตั้งใจแปลไว้จนจบ แต่ไม่ทราบว่าต้นฉบับตกอยู่ที่ใด [5]
ในส่วนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็เคยเขียนถึงเปรมจันท์ไว้ในบทความชื่อ “เปรมจันทร์ วิศวกรผู้สร้างวิญญาณมนุษย์แห่งอินเดีย” เผยแพร่ในสายธาร ตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ [6] กล่าวว่า “เปรม จันท์ คือผู้เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน ผู้ริเริ่มวรรณกรรมแผนใหม่อันเป็นวรรณกรรมที่นำมวลมนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้า และก็วรรณกรรมนี้เองที่ทำให้เปรมจันท์กลายเป็นอมตะ, อมฤตภาพของมนุษย์นั้น มิใช่สิ่งที่มีมาโดยกำเนิดแบบวิญญาณของลัทธิที่หันหลังให้วิทยาศาสตร์ หากอมฤตที่แท้จริงคือผลงานที่ได้กระทำไว้เพื่อรับใช้และพัฒนาความดีงามของ ชีวิตมนุษยชาตินั้นเอง” [7]
นวนิยายเรื่องโคทานนี้จิตรแปล ไว้ตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๑๗ ใช้นามปากกาว่าศรีนาคร ส่วนตอนที่ ๑๘ ถึง ตอนที่ ๓๖ ผู้แปล คือ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ผู้เป็นพี่สาวของจิตร โดยใช้นามปากกาว่าศริติ ภูริปัญญา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑ ในครั้งนั้นพิมพ์แยกเป็น ๒ เล่ม ฉบับสมบูรณ์พิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของ นาง
ทวีป วรดิลก (๒๕๒๑: คำนำ) เคยกล่าวถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ไว้ว่า จิตรเป็นคนที่มีความสามารถทางภาษา เป็นนักศึกษาศิลปะวรรณคดี ควบคู่ไปกับความเป็นกวีที่สามารถถ่ายทอดถ้อยคำออกมาได้อย่างหมดจดและประทับ ใจ และคุณลักษณะสำคัญของจิตรประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือนวนิยาย จิตรจะพยายามใช้ถ้อยคำที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะง่ายได้ โดยเฉพาะถ้อยคำสนทนาของตัวละครในเรื่อง และจะพยายามอธิบายสำนวนหรือถ้อยคำต่างประเทศตลอดจนประเพณีต่างๆ ที่แตกต่างห่างไกลกับประเพณีและวิถีชีวิตของประชาชนไทย
ในเรื่องโคทานนี้ก็เช่นเดียว กัน จิตรใช้ภาษาธรรมดา แต่ความยากลำบากในการเข้าถึงงานชิ้นนี้อยู่ที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณีระหว่างไทยกับอินเดีย ด้วยเหตุนี้จิตรจึงได้แทรกเชิงอรรถแทรกเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเชิงอรรถแปลความ ขยายความ อธิบายความ เพื่อให้ความกระจ่างในเนื้อเรื่อง เชิงอรรถเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นปริวรรณกรรมที่มีคุณค่าในการสร้างความเข้าใจ เนื้อเรื่อง และมีคุณค่าในเชิงความรู้ในฐานะที่เป็นผลงานค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องอินเดีย
การที่นักคิดนักเขียนและนักภาษาคน สำคัญของไทย ถ่ายทอดวรรณกรรมชิ้นเอกของนักคิดนักเขียนชาวอินเดียเป็นภาษาไทยอย่างพิถี พิถันเช่นนี้ จึงก่อเกิดวรรณกรรมแปลชิ้นสำคัญและมีความหมายเรื่องหนึ่งในวงวรรณกรรมไทย นั่นคือ โคทาน
โคทาน เป็นเรื่องของชาวนาผู้ยากจนภายใต้ระบอบอาณานิคม และระบบความเชื่อทางศาสนาอันเคร่งครัด ทำให้เขาต้องผจญกับความทุกข์อย่างสาหัสที่มนุษย์กระทำต่อกัน โดยอ้างพระเจ้าและฐานะอันเป็นที่ยอมรับทางสังคมเป็นเหตุผล ในที่สุดเขาก็ต้องตายเพราะความเชื่อ และความเชื่อก็ยังคงสืบทอดและทำงานของมันต่อไปในสังคมชนบทของอินเดีย
เนื้อเรื่องโคทาน แบ่งออกเป็นสองส่วน เรื่องหลักเป็นเรื่องราวของชาวนาที่ยากจนชื่อโหริและตัวละครแวดล้อม ส่วนเรื่องแทรกนั้นเป็นเรื่องของซามินดาร์หรือเจ้าที่ดินใหญ่ซึ่งปรารถนาจะ ทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในระดับสูงสุด เพื่อนำมาซึ่งอำนาจอันถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุดของชีวิต เนื้อเรื่องทั้งสองตอนมีดังต่อไปนี้
นาฏกรรมของผู้ยากไร้
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อโหริชาวนาผู้ยากจน และมีดวงตาเพียงข้างเดียว ไปได้วัวนมมาตัวหนึ่ง โดยไม่สามารถบอกสาเหตุที่แท้จริงของการได้มาให้ผู้ใดทราบว่า มาจากการรับอาสาหาภรรยาให้แก่ชายชราที่ยังหมกมุ่นในกามารมณ์ น้องของโหริเข้าใจว่ามาจากการยักยอกมรดกที่พ่อให้ไว้เพียงน้อยนิดไปซื้อวัว จึงแค้นใจพี่ชายวางยาวัวนม ลูกชายของโหริคือโคพรก็ฝ่าฝืนจารีตประเพณี ด้วยการลักลอบได้เสียกับแม่หม้ายต่างอนุภาควรรณะจนตั้งครรภ์ แล้วหลบหนีการพิพากษาของสังคมไปทำงานในเมือง โหริและธนิยาผู้เป็นภรรยารับเลี้ยงลูกสะใภ้แม่หม้ายด้วยความมีเมตตาธรรม ในขณะที่สังคมบังคับให้ขับไล่ แม้แต่พ่อของฝ่ายหญิงซึ่งก็คือชายชราที่ให้วัวนมแก่โหริ ก็บังคับโหริให้ขับไล่ เพราะลูกสาวของตนไม่ใช่ลูกแต่เป็นหญิงแพศยา หากรับเลี้ยงจะยึดวัวงานที่มีอยู่คืนแทนวัวนมที่ถูกวางยา โหริไม่ปฏิบัติตามจึงถูกยึดวัว และยังต้องเสียค่าปรับเป็นข้าว และเงิน แก่คณะกรรมการหมู่บ้านโทษฐานที่ทำผิดจารีตประเพณี โหริไม่มีเงิน ต้องจำนำบ้าน
เมื่อไม่มีวัวงาน โหริและครอบครัวก็ทำนาด้วยตนเองไม่ได้ ก็หันไปรับจ้างทำนาให้พราหมณ์ประจำหมู่บ้าน บนที่ดินอันน้อยนิดของตนเอง และปลูกอ้อยขาย พอได้เงินเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงลิบลิ่วก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทวง หนี้ เจ้าหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นกรรมการหมู่บ้าน โหริเป็นคนซื่อเล่นแง่กับเจ้าหนี้ไม่เป็น เพราะเชื่อว่าชีวิตถูกลิขิตโดยพระเจ้า เงินทองที่ได้มาด้วยความเหนื่อยยากก็ตกเป็นของเจ้าหนี้ จะแต่งงานลูกสาวคนโตก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินเป็นค่าสินสอด แต่โชคดีที่ฝ่ายชายไม่เรียกร้อง
ส่วนการแต่งงานลูกสาวคนเล็กนั้น โหริไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่างการเสียเกียรติเพราะถูกยึดที่ดินเนื่องจากติดค้างภาษีที่ดินหลายปี กับการให้ลูกสาวแต่งงานกับเศรษฐีหม้ายที่มีอายุคราวพ่อ และถูกสังคมซุบซิบนินทาว่าขายลูกสาว โหริเลือกอย่างหลังเพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินสอดและจัดงานแต่งงานและไม่ ต้องถูกยึดที่ หลังจากนั้นโหริก็ทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน หวังจะได้เงินมาซื้อวัว แต่ไม่ทันจะได้ก็สิ้นชีวิตเสียก่อน ไม่มีวัวสำหรับทำทาน ก่อนตาย เหลือเพียงเงิน ๒๐ อันนาสุดท้ายที่ได้จากการขายเชือกผูกวัวซึ่งภรรยาของเขาวางไว้บนมือต่างโค พลีกรรม
สิ่งที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องการเสนอก็ คือความไม่เป็นธรรมในสังคมอินเดีย ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากหนี้สินและพันธนาการทาง สังคม ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากเงื่อนไขทางสังคมเดียวกันนั้น ทั้งด้านการทำมาหากินและสิทธิ์พิเศษต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการผ่อนปรนกรณีกระทำผิดจารีตประเพณีอีกด้วย
ตัวละครสำคัญในเรื่องคือ โหริ เป็นชาวนายากจนผู้ถูกจองจำให้อยู่ในระบบอย่างคุ้นเคย แม้จะถูกกระทำจากระบบทั้งในระดับนามธรรมและระดับปฏิบัติการ แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่คิดตอบโต้และต่อต้าน จึงดูคล้ายกับเป็นคนซื่อจนโง่ในสายตาของคนอื่น
ในระดับนามธรรมนั้น โหริเชื่อมั่นในพระเจ้า เชื่อว่าความมั่งมีและความยากจนเป็นผลของกรรมที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน โหริมองเจ้าที่ดินด้วยสายตาชื่นชม มักสำคัญผิดคิดว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านเพราะตนใกล้ชิดกับบรรดา เจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ทั้งหลาย เมื่อถูกกระทำจากบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย เขาจึงไม่ต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจาหรือด้วยการกระทำ หากมีให้ก็จะให้ ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือข้าว โดยไม่คิดว่าจะมีเหลือให้ลูกเมียได้กินหรือไม่ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจึงเป็นหน้าที่ของธนิยาภรรยาปากร้ายแต่ เพียงผู้เดียว โหริพยายามที่จะทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในสังคม ด้วยการเป็นเจ้าของวัวนมให้ได้ ในสังคมชาวนาอินเดียนั้นการมีวัวนม หมายถึงความสำเร็จ การมีหน้าตา สามารถใช้โอ้อวดกับเพื่อนบ้านได้ ความเชื่อเช่นนี้นำมาซึ่งปัญหา และในที่สุดก็นำความตายมาสู่ตัวโหริ ก็เพราะการมุมานะทำงานหามรุ่งหามค่ำหาเงินมาซื้อวัว
ในระดับปฏิบัติการ โหริตกอยู่ในสภาพที่สิ้นไร้ไม้ตอก เพราะถูกกระทำจากคนด้วยกัน สร้างระบบขูดรีดให้เป็นกฎหมาย นั่นก็คือคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่าคณะปัญจายัต [8] ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหนี้เงินกู้รายสำคัญ ตัวแทนของเจ้าที่ดิน และพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมของหมูบ้าน ซึ่งเป็นคณะบุคคลคอยตรวจสอบพฤติกรรมของชาวนาในหมู่บ้านว่าผิดจารีตประเพณี หรือไม่ หากไม่ชำระหนี้ หรือกระทำจารีตประเพณี คณะปัญจายัตก็มีวิธีการลงโทษ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการขูดรีดชาวนายากจนแบบโหริจึงเป็นสิ่งชอบธรรม ทั้งในแง่ของหลักการและปฏิบัติการ เพราะเจ้าของหลักการและผู้ปฏิบัติก็คือคนชุดเดียวกัน
นอกจากนั้น เปรมจันทร์ยังสร้างตัวละครอีกชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในสังคมที่เข้มงวด ใช้จารีตประเพณีเป็นกฎหมายนั้น ก็ยังมีคนที่แหวกกฎ การแหวกกฎนั้นแม้จะนำมาซึ่งความทุกข์อีกลักษณะหนึ่ง ก็คือการถูกลงโทษจากสังคม แต่ถ้าอดทนและรู้จักการสร้างตัว ชีวิตก็จะมีทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเดิม อย่างเช่น โคพร และฌุนิยา
โคพร เป็นลูกชายคนเดียวของโหริ เขาเชื่อในตัวเองและไม่ศรัทธาในพระเจ้า และไม่คิดว่าความมั่งมีหรือยากจนเป็นผลมาจากชาติปางก่อน โคพรและฌุนิยาทำผิดกฎของสังคม ลักลอบได้เสียกันจนตั้งครรภ์ โคพรหนีเข้าไปทำงานในเมืองเนื่องจากถูกพ่อและพี่ชายของฌุนิยาตามล่า ส่วนฌุนิยากลายเป็นหญิงแพศยา โคพรกลับมาหมู่บ้านอีกครั้ง พร้อมกับเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานหนัก สถานะของโคพรและฌุนิยาก็เปลี่ยนไป สังคมต่างต้อนรับและลืมความหลังโดยสิ้นเชิง และตัวละครโคพรนี้เองที่เปรมจันทร์ใช้ต่อกรกับเหล่านายทุนเงินกู้และพราหมณ์ ผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งหลาย โดยตรงก็คือการปะทะคารมใช้เหตุผลโต้แย้งกับความเห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ของ บรรดานายทุนเงินกู้ โดยอ้อมก็คือให้โคพรจัดการแสดงละครเพื่อความบันเทิงในเทศกาลโหลิ โดยผูกเรื่องเสียดสีพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของบรรดานายทุนเงินกู้และพราหมณ์ ประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหลายได้มีโอกาสปลดปล่อยและระบายความแค้นเคืองออกมา เพราะโลกแห่งความเป็นจริงในนวนิยายไม่อาจว่ากล่าวคนเหล่านี้ได้
แม้เปรมจันท์จะต่อต้านความเชื่อที่งม งายและระบบที่ไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่ปล่อยตัวละครอย่างโคพรให้มีชีวิตที่ราบรื่นอย่างไม่สมเหตุสมผล เขาชี้ให้เห็นความจริงที่พบเห็นในชีวิตประการหนึ่งว่า การที่คนเราที่มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น แต่ชีวทัศน์กลับคับแคบลง ก็เป็นอันตรายอีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน เช่นเดียวกับโคพร เขาช่วยตัวเองได้มากขึ้นจากประสบการณ์การสู้ชีวิตในเมือง แต่เมื่อกลับสู่ชนบทเขากลับดูหมิ่นและลำเลิกบุญคุณพ่อแม่ เพราะสำคัญว่าตนเองฉลาด เก่ง และดีพร้อม เปรมจันท์ให้บทเรียนตัวละครตัวนี้เพื่อสั่งสอนในเรื่องความอวดดีของผู้ที่ เพิ่งหลุดพ้นจากความไม่รู้ โคพรต้องสูญเสียลูก ต้องทำร้ายจิตใจคนที่รักเขาและบาดเจ็บสาหัสจากการถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นผู้นำ การประท้วงหยุดงาน เมื่อเกิดการปะทะ เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด และเหตุการณ์นั้นทำให้เขาสำนึกได้
นอกจากนั้นเปรมจันท์ ยังต้องการแสดงให้เห็นสังคมที่หน้าไหว้หลังหลอก สร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งปฏิบัติ ส่วนคนคุมกฎกลับละเมิด อย่างเช่น มตทินลูกของพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยากับบุตรสาวของช่างซ่อมรองเท้า ซึ่งอยู่ในวรรณะจัณฑาล แต่ก็สามารถล้างบาปและใช้ชีวิตตามปกติได้ด้วยการเพียงแต่ใช้ขี้ผึ้งและนำมัน จันทร์ทาที่หน้าผาก และท่องคัมภีร์ภควัทคีตา คนในหมู่บ้านก็รู้แต่ไม่มีใครกล้าพูด หรือโนเขราม ซึ่งเป็นกรรมการหมู่บ้าน ลักลอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น ชาวบ้านและสามีของหญิงนั้นก็รู้แต่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์
ความทุกข์ของซามินดาร์ [9]
ราอี สาหิบ อมาปาล สิงห์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ราอี สาหิบ เป็นคนพื้นเมืองอินเดียที่อังกฤษแต่งตั้ง โดยฐานะเป็นซามินดาร์หรือเจ้าที่ดิน อาศัยอยู่ในเมืองลัคเนาว์ เป็นผู้กว้างขวางในหมู่ชนชั้นสูงในเมือง ความปรารถนาของราอี สาหิบนั้น ก็คือการได้รับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องมีเงินและอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคู่แข่งขันร่ำรวยระดับรายาประกาศตนว่าจะขอสู้ไม่ ว่าจะต้องใช้เงินเท่าใดก็ตาม ราอี สาหิบ พยายามทุกวิถีทาง แต่ที่นำความทุกข์มาสู่ครอบครัวมากที่สุดได้แก่ การแต่งงานบุตรสาวกับมหาเศรษฐีพ่อหม้าย ซึ่งมีเบื้องหลังพัวพันกับแหล่งอบายมุขทั้งปวง เพื่อต้องการการสนับสนุนทางการเมืองที่ถูกท้าทายจากคู่แข่งขัน
ราอี สาหิบได้รับเลือกตั้งและยังได้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ครองตำแหน่งแรกของซาร์มินดาร์ และได้เลื่อนเป็นรายา เมื่อมาถึงจุดสูงสุดทางเกียรติยศ เขาจำเป็นจะต้องรักษาอำนาจทางการเมืองให้เป็นปึกแผ่น ราอี สาหิบจึงขอให้บุตรชายของตนแต่งงานกับบุตรสาวของคู่แข่งทางการเมือง แต่บุตรชายกลับปฏิเสธ แม้บิดาจะยื่นคำขาดตัดพ่อตัดลูกหากไม่ปฏิบัติตาม จากนั้นก็เดินทางไปอังกฤษพร้อมคู่รัก ไม่ใยดีที่จะสืบทอดมรดกและอำนาจของราอี สาหิบ ซึ่งได้มาด้วยความยากลำบาก
นอกจากนั้น บุตรสาวของเขาที่แต่งงานกับมหาเศรษฐีหม้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบ ครัว เพราะแม้จะมีเงินทองทรัพย์แต่ก็ถูกทอดทิ้ง เนื่องสามีเป็นคนเสเพล ชอบใช้ชีวิตตามแหล่งอบายมุขต่าง ๆ สุดท้ายก็ต้องหย่าขาดจากกัน ราอี สาหิบ ต้องทนทุกข์กับครอบครัวที่ล้มเหลว เพราะตนเองเป็นผู้บงการ
เนื้อเรื่องในตอนนี้ต้องการจะชี้ให้ เห็นความสุขความทุกข์ของนักการเมือง ความสุขเกิดจากการได้มาซึ่งอำนาจในระดับสูงสุด เป็นที่ยอมรับในสังคม แต่เบื้องหลังคือความทุกข์อย่างมหันต์ จากความเจ้ากี้เจ้าการเข้าไปจัดการชีวิตของลูกๆ ให้เป็นไปดังใจคิด เพื่อสนองตอบความปรารถนาที่จะมีอำนาจและการรักษาอำนาจของตน
เปรมจันท์สร้างเนื้อเรื่องที่เกี่ยว ข้องกับการขึ้นสู่อำนาจของตัวละคร ราอี สาหิบ คู่ขนานกับเรื่องราวของโหริ ชาวนาผู้ยากจน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความทุกข์ของคน ๒ ชนชั้น คือคนมั่งมีกับคนยากไร้ ความทุกข์ของคนมั่งมีคือ ความไม่สมหวังเรื่องอำนาจ และความผิดหวังที่เลี้ยงลูกไม่ได้ดังคิด แต่ความทุกข์ของผู้ยากไร้เป็นความทุกข์จากความอัตคัดขาดแคลนปัจจัยสี่ อันเนื่องมาจากระบบที่ไม่เป็นธรรม ผลตอบแทนจากการทำงานหนักจึง กลายเป็นดอกเบี้ยแก่กลุ่มนายทุนเงินกู้ ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับแคว้น สิ่งที่ช่วยรักษาระบบให้คงอยู่ก็คือ ความเชื่ออันล้าหลังที่แสนเข้มงวดในหมู่คนยากไร้ และผ่อนปรนในหมู่คนที่ได้เปรียบ
ในระหว่างที่เรื่องราวชีวิตทางการ เมืองของราอี สาหิบ ดำเนินไป ตัวละครอื่นๆ ก็ผ่านเข้ามาแสดงบทบาท เพื่อฉายภาพของชนชั้นนำของเมืองลัคเนาว์ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ กลุ่มนายทุน นายหน้าประกันภัย สื่อมวลชน และปัญญาชน
นายทุนนั้นผ่านทางตัวละคร นายขันนา เป็นผู้จัดการธนาคารและเจ้าของโรงงานน้ำตาล เป็นนักลงทุนที่คิดแต่ผลกำไร เมื่ออยากได้สิ่งใดก็ใช้เงินซื้อ แต่ที่สุดเงินก็ซื้อไม่ได้ทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องความรัก
นายหน้าประกันภัย ได้แก่ นายตังขะ ที่พร้อมจะเข้าข้างกลุ่มที่เอื้อประโยชน์ และย้ายข้างไปสู่กลุ่มใหม่ที่จะให้ผลประโยชน์มากกว่า
สื่อมวลชน ได้แก่ บัณฑิตโองการนาถ เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ประทีป เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ดูภายนอกเหมือนมีอุดมการณ์ แต่แท้จริงก็อาศัยความเป็นสื่อมวลชนหาประโยชน์ให้ตนเอง
ปัญญาชน ได้แก่ เมหตา และ มาลตี เมหตาเป็นอาจารย์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัย มาลตีเป็นแพทย์หญิง สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ แม้ในตอนต้นตัวละครทั้งสองจะใช้ชีวิตตามอำเภอใจ แต่ภายหลังได้ตระหนักถึงปัญหาสังคม และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตน แม้กระทั่งเรื่องความรักและการแต่งงาน ข้อถกเถียงของคนทั้งสองนำเสนออุดมคติเกี่ยวกับชีวิตที่เสียสละและการสร้าง สังคมที่เป็นธรรม
เปรมจันท์เชื่อมต่อเรื่องในตอนนี้ให้ เข้าเนื้อเรื่องหลักอย่างหลวมๆ ให้ตัวละครของแต่ละตอนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในระดับการพบปะ เช่น ให้โหริถูกเกณฑ์ไปช่วยงานเทศกาลทเศหรา [10] ที่ บ้านราอี สาหิบ ในฐานะผู้เช่าที่ดิน ให้เมหโตและมาลตี เดินทางไปสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากในชนบท และพบกับโหริ ให้โคพรไปเป็นคนงานในโรงงานน้ำตาลของนาย
ภารกิจของภารตนวนิยายแปล “โคทาน”
เมื่อวิเคราะห์นวนิยายเรื่องโคทานทั้ง ส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องและตัวละครสำคัญดังที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่ามีลักษณะสอดคล้องกับบทบาทของศิลปะที่จิตร ภูมิศักดิ์ นำเสนอไว้เมื่อกึ่งพุทธกาล ทั้งในด้านการเป็นศิลปะเพื่อชีวิต และศิลปะเพื่อประชาชน อันได้แก่ การฟอกความคิดเก่า การต่อกรกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม และการสร้างสำนึกอันแจ่มใส [11] บทบาท ดังกล่าวนี้เมื่อประมวลกับผลงานวิชาการด้านวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนไว้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็น โองการแช่งน้ำ บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ตลอดจนผลงานแปลนวนิยายของต่างประเทศ ทำให้มองเห็นภารกิจของภารตนวนิยายแปลเรื่องโคทาน ๒ ประเด็น ได้แก่
๑.โคทานเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน กล่าวได้ว่าการแปลเรื่องโคทานนี้เป็นกิจกรรมทางวิชาการกิจกรรมหนึ่ง ภายใต้กรอบของโครงการ [12] ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ที่จิตรจัดทำขึ้น โดยเริ่มจากการ เขียนบทความ ศิลปเพื่อชีวิต และศิลปเพื่อประชาชนใน รูปแบบของสรรนิพนธ์ เพื่อสร้างและนำเสนอกรอบแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิต และศิลปะเพื่อประชาชน ให้เข้าใจตรงกันเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงคลี่คลายไปสู่ภาคปฏิบัติ ให้รู้ว่าแนวคิดดังกล่าวทำงานได้ เริ่มจากการนำวรรณคดีโบราณมาวิเคราะห์ เช่น ระเด่นลันได นิราศหนองคาย เป็นต้น อันเป็นการอธิบายและขยายความแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตที่มีเป้าหมายหลักคือการ ฟอกความคิดเก่า เพื่อให้แนวคิดนี้ชัดเจนและมีรูปธรรมรองรับ
ในส่วนของแนวคิดเรื่องศิลปะเพื่อ ประชาชน ซึ่งเป้าหมายหลักของแนวคิดนี้ก็คือการสร้างงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าต่อ ประชาชนนั้น จิตรผู้ไม่เคยมีผลงานเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ใช้วิธีการคัดสรรวรรณกรรมจากต่างประเทศมาแปล ไม่ว่าจะเป็นคนขี่เสือ ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ โคทาน ของ เปรมจันทร์ และแม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ มาแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างการสร้างสรรค์งานเพื่อประชาชนว่าเป็นจริงได้ แม้ในระดับสากลก็มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว โดยเฉพาะในประเทศอินเดียที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า ภารตนวนิยายแปลเรื่องโคทาน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นั้น เป็นรูปธรรมรองรับการดำรงอยู่ของแนวคิดศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน ทว่าข้อจำกัดในการเผยแพร่ในสมัยนั้น [13] ทำให้นักวิชาการทางวรรณคดีรุ่นหลังบางท่าน ที่มองผลงานของจิตรแบบแยกส่วน และตั้งข้อสงสัยเชิงโต้แย้งต่อผลงานของจิตร โดยเฉพาะผลงาน ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน เป็นต้นว่า
อาจเป็นเพราะในหนังสือเล่มนี้ “ทีปกร” ต้องการเสนอแนวคิดและทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับศิลปะ มากกว่าที่จะวิเคราะห์เนื้อหาของศิลปะและวรรณคดีที่ปรากฏอยู่ จึงน่าเสียดายที่บางครั้งเขามองอย่างรวบรัด และผิวเผินเกินไป จนบางทีการยกตัวอย่างมีลักษณะคลุมเครือถึงขั้นโมเม (ดวงมน จิตร์จำนง ๒๕๒๘: ๑๙๘)
อย่างไรก็ตาม “ทีปกร” มิได้แจกแจงและให้ตัวอย่างที่เห็นจริงว่า ความง่ายและแจ่มชัด ซึ่งมีความหมายทางนามธรรมนั้น ควรวัดจากอะไร กวีและศิลปินควรทำอย่างไร ที่จะให้งานศิลปะเป็นสื่อแห่งความคิดและอารมณ์ที่มีพลังจับใจ สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานหลายด้านต่ำกว่าเขา (ดวงมน จิตร์จำนง ๒๕๒๘: ๒๐๘)
แต่สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ “ทีป กร” สามารถยั่วยุให้เกิดการใคร่ครวญ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งปัญหาเกี่ยวกับลักษณะและแนวทางของศิลปะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดี อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นทฤษฎีมากกว่าการเสนอผลของการศึกษาวิเคราะห์ศิลปะ และวรรณคดีที่เป็นมาอย่างถี่ถ้วนก็ตาม (ดวงมน จิตร์จำนง: ๒๑๔-๒๑๕)
หากพิจารณาผลทางวิชาการ ด้านวรรณกรรมของจิตรโดยรวม ควบคู่ไปกับปริบทการสร้างงาน และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สร้างตามควร ก็จะสามารถทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของงานชุดนี้ได้ไม่ยากนัก
๒. โคทานแสดง พัฒนาการของความรู้เรื่องภารตวิทยาในสังคมไทย แต่เดิมนั้นความรู้เรื่องอินเดียในสังคมไทยนั้นมีพัฒนาการ ๒ กระแส กระแสแรก เป็นการรับรู้เรื่องอินเดียแบบประยุกต์และปรับให้เข้ากับโลกทัศน์แบบไทย กระแสนี้มีมาก่อนรัชกาลที่ ๖ กระแสที่สอง เป็นการรับรู้ผ่านการแปลงานสันสกฤต-อังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้ริเริ่มคือรัชกาลที่ ๖ โดยมี น.ม.ส. เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป แสงทอง หรือแม้แต่ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ดำเนินรอยตาม พัฒนาการทั้งสองกระแสนั้น มุ่งไปที่วรรณกรรมอินเดียโบราณ ทั้งที่เป็นมหากาพย์ ปกรณัมนิทาน นิยายต่างๆ
ในส่วนมหากาพย์นั้น มหากาพย์อินเดียสองเรื่อง ได้แก่ รามายณะและมหาภารตะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยมหากาพย์ทั้งสองเรื่องเป็น เรื่องราวสรรเสริญวีรบุรุษซึ่งเป็นตำนานปรัมปราของชาติ ประกอบไปการต่อสู้และอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ในสังคมไทยนั้นรามายณะเป็นที่รู้จักในนามของรามเกียรติ์ และมีความผูกพันกับคนไทยทุกระดับชั้นมายาวนานกว่ามหาภารตะ
จิตร ภูมิศักดิ์ให้ความสำคัญแก่นวนิยายเรื่องโคทานระดับเดียวกับ “มหากาพย์” [14] แต่ เป็น “มหากาพย์แห่งชีวิตชาวนาเบงกอล” หรือ “หรือมหากาพย์ใหม่ของชาวเบงกลี” มิใช่มหากาพย์ตามความหมายดั้งเดิม ซึ่งหมายถึงเฉพาะบทประพันธ์ร้อยกรองที่มีเนื้อหาสาระสดุดีการกระทำอันกล้า หาญของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายๆ คนรวมกัน (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ๒๕๓๔: ๑) แต่มหากาพย์แบบใหม่ของจิตร หมายถึง บทประพันธ์ที่พรรณนาเรื่องราวชีวิตอันขมขื่นของชาวนา ตั้งแต่ชื่อเรื่องจนกระทั่งจบเรื่อง มหากาพย์แบบใหม่นี้ผู้แต่งคือเปรมจันท์ เป็นคนธรรมดาไม่ใช่ฤๅษีที่เชี่ยวชาญคัมภีร์พระเวทแบบวาลมิกิมหาฤษี ผู้แต่งรามายณะ ที่ร่ายโศลกด้วยความเศร้ารันทดเมื่อเห็นนกกระเรียนตัวเมียเสียใจร้องหานกกระ เรียนตัวผู้ที่ถูกพรานยิงตาย
การแปลนวนิยายเรื่องโคทานเป็น ภาษาไทย จึงถือเป็นการทลายกรอบความรู้ด้านภารตวิทยาในสังคมไทย ที่เกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า วีรบุรุษในตำนาน เรื่องเหนือจริง เรื่องลับสมองประลองปัญญาอันเป็นจารีตดั้งเดิมของวรรณคดีสันสกฤตไปสู่เรื่อง ราวของชนชั้นชาวนาอินเดียภายใต้ระบอบวรรณะที่เข้มงวด และระบอบอาณานิคม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อหรือพระเจ้าที่ฝังแน่นในความคิดนั้นคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาวนา อินเดียต้องมีชีวิตที่ทุกข์ยาก ภารตวิทยาแบบใหม่จึงเป็น “ภารตวิทยาปฏิวัติ” เพราะนอกจากจะไม่เชื่อพระเจ้าแล้ว ยังพยายามท้าทาย หักล้าง และขุดโค่นความคิดเก่าอย่างถอนรากถอนโคน
ก่อนหน้าจิตรจะแปลเรื่องโคทาน ก็มีความคิดเช่นนี้อยู่ รูปธรรมที่เห็นชัดก็คือ ผลงานของนาย
บทส่งท้าย
เมื่ออ่านและทำความเข้าใจนวนิยายแปลเรื่องโคทานของ จิตร ภูมิศักดิ์ หลังจากที่ผู้แปลเสียชีวิตไปสี่สิบกว่าปี และสกุลทางศิลปะที่เขานำเสนอเพื่อให้สังคมยอมรับก็มิได้เป็นที่นิยมและเกือบ จะไม่มีผู้ใดนำไปใช้วิเคราะห์วรรณกรรมโดยตรง แต่ก็ทำให้เห็นกระบวนการทำงานที่น่าทึ่งของปัญญาชนนักวิชาการคนหนึ่ง ที่มีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง และพยายามพิสูจน์ความเชื่อนั้นด้วยผลงานวิชาการ โดยที่ไม่ต้องมีแหล่งทุนหรือองค์กรใดรองรับ นอกจากนั้นผลงานของเขายังส่งผลต่อความรู้และความคิดของปัญญาชนไทยในระดับลึก ซึ้งและยาวนาน เชื่อว่าประเด็นเรื่องจิตรนี้คงจะไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ในอนาคตก็คงมีการแลกเปลี่ยนกันต่อไป
.................................................................................................................................
[1] ต้นฉบับเดิมของเปรมจันท์เขียนด้วยภาษาอูรดู
[2] เป็นภาษาสันสกฤตผสมเปอร์เซีย
[3] วรรณกรรมของเปรมจันท์ที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่น Sadgati (Salvation) , Shatranj Ke Khiladi (The Chess Players) โดย Satyajit Ray film , Sevasadan (House of Service) โดย M.S. Subbulakshmi เป็นต้น (ข้อมูลจาก wikipedia , the free encyclopedia )
[4] ได้แก่เรื่อง Seva –Sadan (เสวสถาน) (๒๔๕๐) เป็นเรื่องเกี่ยวกับซ่องโสเภณี
Premashran (เปรมะจราญ)(๒๔๖๕) เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้เช่าที่ดินและเจ้าที่ดิน
Nirmala (นิรมล)(๒๔๖๖) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแต่งงานในสังคมอินเดีย
Ranga-bhumi (รังคภูมิ) (๒๔๖๗) เป็นเรื่องโจมตีบรรดานายทุนทั้งหลาย
Karma-bhumi (กรรมภูมิ) (๒๔๖๘) เป็นเรื่องโจมตีระบอบอาณานิคม และ
Godaan (โคทาน) (๒๔๗๙) (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๑๓-๑๕)
[5] ขณะนั้น จิตติน ธรรมชาติ ยังไม่ทราบว่า จิตร แปลโคทานได้เพียง ๑๗ ตอน และต้นฉบับยังมิได้สูญหาย
[6] ข้อมูลจากจิตติน ธรรมชาติ ระบุว่าลงในสายธาร พ.ศ.๒๕๐๐ (จิตติน ธรรมชาติ ๒๕๑๘: ๔) แต่ ในส่วนนำของหนังสือโคทาน ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ได้สรุปความบทความดังกล่าวและบอกแหล่งที่มาว่า มาจากนิตยสารกะดึงทอง กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ซึ่งต้องตรวจสอบที่มาที่ถูกต้องต่อไป
[7] คัดจากตอนหนึ่งของบทสรุปความ “เปรมจันท์วิศวกรผู้สร้างวิญญาณมนุษย์แห่งอินเดีย” ในส่วนนำของ หนังสือโคทาน ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๒๑ ไม่มีเลขหน้า
[8] สภาของหมู่บ้านแบบเก่าที่ชาวบ้านตั้งกันเอง (ศรีนาคร: ๑๘๗)
[9] หมายถึงเจ้าที่ดิน
[10] ทเศหรา คือเทศกาลฉลองวันพระรามชนะทศกัณฐ์ วันเพ็ญเดือนพฤศจิกายน มีการประดับโคมไฟ ทำรูปทศกัณฐ์ด้วยกระดาษ แล้วเผาไฟทิ้ง (ศรีนาคร: ๑๙)
[11] ดูรายละเอียดใน ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ของจิตร ภูมิศักดิ์
[12] จิตร ระบุไว้ในการพิมพ์ครั้งแรกว่า ในการเขียนหนังสือเรื่อง ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน นั้น ได้วางแผนทำงานในลักษณะ “โครงการ” (ทีปกร: คำนำ) และโปรดดูเชิงอรรถที่ ๑๒ ประกอบด้วย
[13] จิตรกล่าวไว้ในคำนำหนังสือศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ฉบับพิมพ์ครั้ง ๑ ถึงความยากลำบากในการเขียนไว้ว่า
“ในการพิมพ์ครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้รื้อแก้ไขใหม่หลายตอน ทั้งนี้เพราะบทความเหล่านี้เขียนเพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่มีเงื่อนไขต่างกัน ข้อความบางอย่างที่ปรารถนาจะกล่าวถึงก็ต้องหลบเลี่ยง ข้อความบางอย่างที่ไม่ปรารถนาจะกล่าวถึงก็จำใจบรรจุลงไป ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละแห่ง มาในคราวนี้แก้ไขเพิ่มเติมตัดตอนเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่อาจเขียนได้ตามใจที่ปรารถนาได้ เนื่องด้วยยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ บีบบังคับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ “เวลา” เพราะเหตุที่เวลาที่มีอยู่ต้องใช้ไปในด้านอื่น จึงทำให้บทความชิ้นท้าย ๆ มิได้รับการแก้ไขแต่งเติมสมดังที่ได้กะไว้ในโครงการ” (ทีปกร ๒๕๑๗: คำนำ)
[14] โปรดดู อารัมภบทของบทความนี้ ซึ่งเป็นข้อเขียนของศรีนาคร (จิตร ภูมิศักดิ์)
[15] เรื่องสั้นและนวนิยายอินเดียที่แปลเป็นไทย ได้แก่ ได้มาด้วยกาลเวลา ของ ปรีชา ช่อปทุมมา (๒๕๑๘) พระแม่เจ้าทองคำ ของ ทวีป วรดิลก(๒๕๑๙) ดวงอาทิตย์สีดำ ของ กิติมา อมรทัต (๒๕๑๙) ข้าวกำมือเดียว ของ ชยะ ศรีกฤษาณ (บรรณาธิการ ๒๕๒๑) คืนเดือนสอง ของ กิติมา อมรทัต และ วีนัส จรูญโรจน์ ณ อยุธยา (๒๕๒๓) เป็นต้น
บรรณานุกรม
กรุณา กุศลาสัย.ภารตวิทยา.กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๕๐.
กิติมา อมรทัต.”งานของเปรมจันทร์”.ใน กองทัพประชาชน. หน้า ๑-๑๙. กรุงเทพฯ: ชมรม
หนังสือบัวแดง, ๒๕๑๙.
จิตติน ธรรมชาติ.”ตามสายตาของผู้อ่านธรรมดาสามัญ” ใน ได้มาด้วยกาลเวลา. หน้า ๑-๑๙.
กรุงเทพฯ: บูรพาสาส์น, ๒๕๑๘.
ดวงมน จิตร์จำนง. “กลับไปอ่านศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ใน หลังม่านวรรณศิลป์.
หน่ ๑๘๕-๒๑๖. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, ๒๕๒๘.
ทวีป วรดิลก. “จิตร ภูมิศักดิ์กับแม่ชองแมกซิม กอร์กี้” ใน แม่. ไม่มีเลขหน้า. กรุงเทพฯ: เกิดใหม่
,๒๔๒๑.
ทีปกร.ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน.กรุงเทพฯ: ชมรมโดม-ทักษิณ, ๒๕๑๗.
“เปรมจันท์ วิศวกรผู้สร้างวิญญานมนุษย์แห่งอินเดีย” ใน โคทาน มหากาพย์แห่งชีวิตและการ
ต่อสู้. ไม่มีเลขหน้า. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, ๒๕๒๑.
ปรีชา ช่อปทุมมา. “เปรมจันท์ ผู้วางแนวนวนิยายอินเดีย” ใน ได้มาด้วยกาลเวลา. หน้า ๒๓-๔๘.
กรุงเทพฯ: บูรพาสาส์น, ๒๕๑๘.
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.วรรณวิทยา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาฯ, ๒๕๓๔.
ศรีนาคร และศริติ ภูริปัญญา (แปล).โคทาน.ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ คุณ
วัดบางขวาง นนทบุรี วันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๓.
สมิทธิ์ ถนอมศาสนะ. “ประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวคิด ศิลปะเพื่อชีวิต (พ.ศ.๒๔๙๒-๒๕๐๑)”
วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๘.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น