Fri, 2010-11-05 15:49
ใบตองแห้ง
ขอยกสองจั๊กกะแร้ชูสนับสนุนคำกล่าวของท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล “ตุลาการ ไม่ใช่โสเภณี” ถูกต้องแล้วคร้าบ! เพราะตุลาการท่านมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีอำนาจ มียศฐาบรรดาศักดิ์ มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งรถประจำตำแหน่ง ท่านคงจะไม่ “ขายตัว” เพื่อแลกกับเงิน
แต่ถ้ามองมุมกลับกัน โสเภณีที่มาจากครอบครัวยากจน ชาวนาชาวไร่ที่ล้มละลาย จนแทบไม่มีกิน ต้องเข้ามา “ขาย ตัว” ในเมืองหลวง หรือพัทยา ภูเก็ต แลกกับเศษเงินเลี้ยงดูพ่อแม่แก่ชรา ก็ใช่ว่าจะเลวทรามต่ำช้าตรงไหน ฉะนั้น ถ้ามีโสเภณีซักคนลุกขึ้นมาบอกว่า “โสเภณีไม่ใช่ตุลาการ” ก็ถูกต้องเหมือนกันใช่ไหมคร้าบ อาจารย์จรัญ
โชคดีนะที่เมืองไทยไม่มีสมาคมผู้ ประกอบวิชาชีพโสเภณี ไม่งั้น โสเภณีคงลุกขึ้นมาสวนว่า อย่าเอาสถาบันโสเภณีไปเปรียบเทียบกับสถาบันตุลาการ
สิ่งที่อาจารย์จรัญพยายามจะพูดจึงผิดประเด็นทั้งเพ เพราะกระบวนการที่สังคมกำลังตรวจสอบศาล ไม่ใช่จะบอกว่า “ตุลาการเป็นโสเภณี” แต่ต้องการบอกว่า ตุลาการก็เป็นมนุษย์ธรรมดา “มนุษย์ขี้เหม็น” เหมือนเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายตะหาก
พูดอย่างนี้ไม่ดูหมิ่นตุลาการที่ไหน เลยนะครับ เพราะถ้าท่านฟ้องผมขึ้นเป็นคดีในศาล ผมก็ต้องท้าพิสูจน์โดยให้ท่านขี้ออกมาให้องค์คณะดมว่าหอมหรือไม่ ฮิฮิ ถ้าท่านสามารถหาพยานหลักฐานมายืนกรานว่าขี้ท่านหอม ก็แล้วไป
แต่ความจริงคือเราทุกคนต่างก็เป็น มนุษย์ขี้เหม็น นี่เป็นวิทยาศาสตร์ เราทุกคนต่างก็ไม่หลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ กิเลส ตัณหา ราคะ นี่เป็นหลักธรรมดาและธรรมชาติของพุทธ เราทุกคนไม่มีใครเป็นเทพเทวา ที่ถูกต้องเสมอ ไม่มีผิดไม่มีพลาด ไม่มีอคติ ไม่มีรักเกลียด โทสะโมหะ ไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือโสเภณี ต่างก็ไม่ใช่นักบุญหรืออรหันต์
นี่คือหลักการประชาธิปไตย ที่ใครมีอำนาจก็ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ใช่ปั้นหน้าเป็นเปาบุ้นจิ้นแล้วจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้
เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็น ไม่ใช่ว่าสวมเสื้อครุยขึ้นนั่งบัลลังก์แล้วจะกลายเป็นโสดาบัน เพื่อนคุณเพื่อนผมที่เรียนมหาลัยด้วยกันมา กินเหล้าสูบบุหรี่ตีปี๊บมาด้วยกัน ใช่ว่าจบนิติสอบเป็นผู้พิพากษาแล้วจะแปลงร่างเป็นผู้ทรงศีล จริงไหม
ตุลาการก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็น เพียงแต่มีข้อห้ามข้อจำกัดในการประพฤติปฏิบัติมากกว่าข้าราชการทั่วไป จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายคนเวลาอยู่ในรั้วตุลาการดูภูมิฐานน่านับถือ แต่พอข้ามรั้วออกนอกกรอบมาเป็นองค์กรอิสระหรือมีอำนาจทางการเมืองแล้ว “ลอก คราบ” ให้เห็นตัวตน บ้างก็ดี บ้างก็เลอะ บ้างก็เอียงกะเท่เร่ บ้างก็เป๋ไปเป๋มา บ้างก็กะเปิ๊บกะป๊าบเป็นเห็ดสด ฯลฯ ไม่ได้สูงส่งดีเด่กว่าผู้ที่มาจากสาขาอาชีพอื่น
แต่ซ้ำร้ายที่พวกท่านมักจะมีโมหะ คิดว่าตนเองสูงส่งกว่าคนอื่น มีความชอบธรรมที่จะตัดสินผู้อื่น กระทั่งก้าวล่วงไปตัดสินประเทศแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชน
กระบวนการที่สังคมกำลังตรวจสอบศาลรัฐ ธรรมนูญ ส่วนหนึ่งอาจเป็นข้อครหาที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ข้อครหาว่าช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ หรือเป็นข้อกล่าวหาที่พิสูจน์ยาก เช่น ข้อกล่าวหาว่าทุจริตข้อสอบ
แต่สาระสำคัญมันก็คือกระบวนการตรวจสอบ พฤติกรรม ความเหมาะสม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง-อย่างที่พวกท่านตุลาการทั้งหลายเคยว่าเขาไว้ ว่านักการเมืองไว้นั่นแหละ
ในขณะที่สังคมกำลังตรวจสอบการตั้ง “กิ๊ก” หรือคนใกล้ชิด พรรคพวก ญาติพี่น้อง มาเป็นที่ปรึกษาหรือนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร “คลิปลับ” คดียุบพรรค ก็เผยความจริงอีกด้านว่า พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ “น้องปอย” (เรียกน้องเพราะคงอายุน้อยกว่าผม และเรียกแบบนี้น่ารักดี) เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีที่มาอันพิสดารคือเป็นนักกายวิภาคจาก ร.พ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยกับงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้รับแต่งตั้งมากินเงินเดือนจากภาษีอากรประชาชน 47,100 บาท
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และตุลาการพยายามโบ้ยความผิดให้ “น้องปอย” เป็นผู้ร้าย วางแผนจัดฉากอัดเทปคลิปลับ โดยชี้ไปทำนองว่าได้ค่าจ้างจากทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย “ตามสูตร”
แต่เราก็ได้รับทราบว่า ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ กระทั่งคนขับรถ โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่าตั้งได้ตามอำเภอใจของท่าน
กระทั่งฝ่ายค้านเอาข้อมูลมาแฉว่า มีตุลาการ 4 ท่านตั้งลูกตั้งหลานตัวเองเป็นเลขาฯ ผู้ช่วยเลขาฯ ผมก็ยังไม่เห็นมีใครปฏิเสธ หรือออกมาชี้แจง ทั้งที่จริง ตุลาการทั้ง 9 ท่านควรจะเปิดแถลงข่าว ชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ท่านตั้งใครเป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ละคนมีความรู้ความสามารถความเหมาะสมอย่างไรบ้าง (และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรเปิดเผยข้อมูลย้อนหลังว่าตุลาการชุดก่อนๆ ตั้งใครบ้างมากินเงินเดือน)
แน่นอนครับ การตั้งลูกตั้งหลานไม่ผิดกฎหมายข้อห้ามที่ไหนหรอก เพราะ ส.ส.มันก็ยังเถียงคอเป็นเอ็นว่าตั้งกิ๊กไม่ผิด แต่เรื่องของจริยธรรมความเหมาะสม ผมคงไม่ต้องสอนตุลาการว่ายน้ำ
เรื่องการทุจริตข้อสอบก็เหมือนกัน ถามหน่อยว่ากรณีลูกสาวทักษิณต้องพิสูจน์กันให้แจ่มแจ้งแดงแจ๋ไหม แค่มีเงื่อนงำไม่ชอบมาพากล สังคมก็ไม่ไว้วางใจแล้ว
ฉะนั้นในกรณีนี้ ตุลาการทุกคนควรทำอย่างอาจารย์จรัญ คือออกมาแถลงให้ทราบว่ามีลูกกี่คนมีหลานกี่คนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบเข้า เป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ (และไม่ได้เป็นเลขา ผู้ช่วยเลขา) ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเปิดเผยว่าผู้ที่สอบได้มี่กี่คน เป็นลูกหลานตุลาการกี่คน แม้จะเป็นลูกหลานตุลาการศาลอื่น แต่ก็มีความเกี่ยวข้องสนิทใกล้ชิดได้ในแวดวงภิวัตน์
คือถ้าตัวเลขลูกหลานตุลาการสอบได้ถึง สิบกว่าคนจริงๆ สังคมก็ต้องกังขาละครับ ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านอาจจะบอกว่าเด็กสอบได้เอง ไม่มีใครบอกข้อสอบ โอเค ไม่มีใครพิสูจน์ได้หรอกว่าทุจริต แต่ถามว่ามันต่างกันตรงไหนกับ “อุ๊งอิ๊งโมเดล”
นี่ยังไม่อยากพูดข้ามไปถึงการที่เรา วิพากษ์วิจารณ์ ส.ส. สว.ใช้งบทัวร์นอก แล้วปรากฏว่าสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีงบดูงานต่างประเทศเหมือนกัน ตั้งแต่เดือน ก.พ.ถึง ก.ย.17 ครั้ง 37.5 ล้านบาท มิบังอาจกล่าวหาว่าใช้งบทัวร์นอก แต่กรณีเช่นนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมควรแจกแจงขึ้นเว็บไซต์ว่าแต่ละคณะมีใครไปบ้าง ไปดูงานกี่วัน ท่องเที่ยวกี่วัน ช็อปกี่วัน
ฟ้อง พรบ.คอม!
แทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำความ กระจ่างเรื่องการแต่งตั้งเลขา ผู้ช่วยเลขา เรื่องการสอบเข้ารับราชการดังกล่าว ว่าไม่มีลูกหลานว่านเครือของท่านเกี่ยวข้อง ท่านกลับไปแจ้งความเอาผิดคนปล่อยคลิป ถามว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของศาลรัฐ ธรรมนูญแล้วหรือครับ
นี่ยังไม่นับตุลาการบางคนที่อยากให้ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นที่สุด มีผลผูกพันทุกองค์กร ไปแอบอยู่ข้างหลังศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง โดยเหตุที่ว่าสองศาลนั้นมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลคุ้มครอง
โจ๊กสุดๆ เลยครับ ศาลที่มีศักดิ์สูงสุดจะยอมลดศักดิ์ลงเพื่อหนีคำวิจารณ์ ทั้งที่การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพร้อมรับคำวิจารณ์เพราะการตัดสินคดี มหาชนไม่ว่าเรื่องใดๆ ต้องมีผลกระทบต่อสาธารณะ ถ้าไม่กล้ารับคำวิจารณ์ก็อย่ามาเป็นสิครับ มีอย่างที่ไหนจะให้ตัดสินแล้วมีแต่คนยกย่องสดุดีแซ่ซ้องสรรเสริญ
คลิปที่ปล่อยออกมาทั้งหมด 8 คลิป นอกเสียจากคลิปแรกที่ผมวิจารณ์ไปแล้วว่าไม่สมควร ทำให้ประเด็นสับสน ถามว่าคลิป 2 ที่พสิษฐ์คุยกับวิรัช ซึ่งส่อความไม่ชอบมาพากล แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างยิ่งของเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทีมทนายคดียุบพรรค ที่ลักลอบมาพบปะหารือกัน
คนปล่อยคลิปเอาพฤติกรรมเช่นนี้ออกมาแฉ มีความผิดด้วยหรือ ใครควรมีความผิดกันแน่ ระหว่างคนในคลิปกับคนปล่อยคลิป
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นที่สุด มีผลผูกพันทุกองค์กร เห็นว่าคนปล่อยคลิปผิด ต่อไป ถ้ามีคนดักถ่ายคลิปหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ หรือผู้พิพากษา ทุจริตรับสินบน คนถ่ายคลิปและคนปล่อยคลิปก็ผิดหมดใช่หรือไม่ (นักข่าวซันเดย์ไทม์ที่หลอกล่อกรรมการฟีฟ่าถ้ามาอยู่เมืองไทยคงติดคุกหัวโต)
คลิป 2 เมื่อเผยแพร่ออกมา ศาลรัฐธรรมนูญทำถูกแล้วที่ปลดพสิษฐ์ออกจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่สังคมทวงถาม ก็คือความรับผิดชอบของผู้เป็น “นาย” โดยตรง ผู้ที่แต่งตั้งพสิษฐ์ ใช้งานพสิษฐ์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดใดเลย
คลิปที่ 3-4-5 ที่บันทึกการหารือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มจะเข้าข่ายความผิด แต่เป็นความผิดฐานใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องตีความกันสนุก สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวโทษ (เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม) ว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157,164,323 สรุปก็คือเป็นเจ้าพนักงานเผยแพร่ความลับทางราชการหรือเปิดเผยความลับให้ผู้ อื่นเสียหาย ต่อมาตำรวจไปตีความว่าผิดมาตรา 198 หมิ่นศาล ขัดขวางการพิจารณาของศาล
ที่ว่าต้องตีความสนุกเพราะมันมีหลาย มุมครับ เช่นที่ท่านคุยกันในคลิปนั่น ถือเป็นการพิจารณาคดี หรือเป็นแค่การประชุมหารือ ถ้าไม่ใช่การพิจารณาคดีก็ไม่เข้ามาตรา 198 แล้วถ้าใช้มาตรา 157,164 ผู้กระทำผิดก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ศาล แต่ถามว่าใครแอบถ่ายและเผยแพร่กันแน่ ถ้าพสิษฐ์แอบถ่ายและเผยแพร่ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจต้องตีความว่า เลขานุการประธานศาลเป็นเจ้าพนักงานหรือเปล่า (เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ)
อย่างไรก็ดี ให้สังเกตไว้ว่าคำแถลงวันที่ 27 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพยายามเลี่ยงจะเจาะจงถึงคลิป 2 เพียงพูดคลุมๆ ว่า 3 คลิปหลังเป็นความลับทางราชการ
แต่พอคลิปที่ 6-7-8 โผล่ออกมา มีบทสนทนาชัดแจ๋วของ “น้อง ปอย” กับใครไม่รู้ นี่ไม่ใช่ความลับทางราชการแล้วนะครับ ไม่ใช่การประชุมตุลาการ ไม่เข้าข่ายมาตรา 157,164,323 หรือแม้แต่ 198 เพราะถ้าจะเป็นเรื่องเสียหายก็เสียหายเฉพาะตุลาการบางคน ไม่ใช่เรื่องขององค์กร (และเมื่อสงสัยว่าจะมีทุจริต ก็ถือเป็นการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง)
ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยถือเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กร ท่านไปพลิกตำรากฎหมายฉบับไหนมาใช้
ท่านใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ครับ! ท่านแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ “นำข้อความอันเป็นเท็จ” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ผ่านการตัดต่อเสียงและภาพ และถอดเทปคำพูดมาเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) และ (5)
คราวนี้ใช้ทั้งคลิปชุดแรกและชุดที่สองเลยด้วย
ศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ควรจะมีอำนาจหน้าที่ตีความกฎหมายให้ “ภิวัตน์” เปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด กฎหมายใดที่ปิดกั้นสิทธิประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความให้เป็นโมฆะ
แต่คราวนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปใช้กฎหมายเผด็จการอย่าง พรบ.คอมพิวเตอร์มาปกป้องตัวเอง
นักวิชาการท่านใดเก่งกฎหมายลองแปลข่าว นี้ส่งไปให้วงการกฎหมายสากลทราบหน่อยสิครับ พร้อมกับตัวบท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชาวโลกเขารู้ ไม่ต้องต่อเติมเสริมความเห็นใดใดเลย นักกฎหมายทั่วโลกจะเห็นเอง
ถามว่าอะไรคือ “ข้อ ความอันเป็นเท็จ” พิสูจน์กันตรงไหนล่ะ ในเมื่อมันเป็นข้อความที่ทำให้คนเกิดข้อกังขา อาจารย์จรัญฉวยโอกาสที่ข้อความในคลิปพูดถึงตุลาการชื่อ “จรัญ” แล้วบอกว่าไม่ใช่ท่าน เป็นความเท็จ แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีตุลาการอื่นชื่อ “จรัญ” (ผมแน่ใจได้อย่างเดียวว่าไม่ใช่พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย)
ทำไมจึงต้องใช้กฎหมายเผด็จการมาปิดปาก คนละครับ แล้วท่านแน่ใจหรือว่าปิดได้ ถ้ามีคลิปอีก ท่านแน่ใจหรือว่ากั้นอยู่ ทำไมท่านไม่ทำให้ทุกอย่างแจ่มกระจ่างเสีย เช่น ใครที่ถูกสงสัยว่าอยู่ในคลิป ก็ต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นตัวท่านจริงไหม พูดอะไรไว้ และต้องรับผิดชอบคำพูด รับผิดชอบการกระทำ เพื่อปกป้ององค์กรและสถาบัน ซึ่งไม่ใช่แค่สถาบันศาลรัฐธรรมนูญแล้วตอนนี้ แต่มันกระทบไปทั้งสถาบันตุลาการ (น่าแปลกใจที่ตุลาการส่วนอื่นยังเฉยอยู่ได้)
เอ้า ถ้าอาจารย์จรัญท่านแอ่นอกออกมายืนยันว่าไม่ได้ตั้งลูกตั้งญาติเป็นเลขา ไม่มีวงศ์วานว่านเครือมาสอบเป็นข้าราชการ ไม่ได้อยู่ในคลิปลับ ท่านก็พิสูจน์ตัวเองแล้ว แต่คนอื่นๆล่ะ จะแอบบังหลังอาจารย์จรัญอยู่อย่างนี้หรือ
ข่าวอื้อฉาวในศาลรัฐธรรมนูญยังไม่หยุด แค่นี้ เพราะเท่าที่อ่านบทวิเคราะห์ในมติชนออนไลน์ ยังพาดพิงถึงการต่อรองช่วงชิงตำแหน่ง ว่าอาจเป็นสาเหตุให้มีการบันทึกคลิปไว้ต่อรองกัน
นี่ยังไม่นับวิกฤติศรัทธาที่จะเกิดขึ้นกับคดียุบพรรค ซึ่งคนจำนวนมากไม่เชื่อถืออยู่แล้วตั้งแต่แรก
เอาแค่คดีที่ท่านวินิจฉัยให้ 6 ส.ส.ถือหุ้นพ้นจากตำแหน่งก็พอ ส.ส.ถือหุ้นบริษัทมหาชนที่รับสัมปทานรัฐและเป็นกิจการสื่อ เขาซื้อหุ้นในตลาด ถือครองจำนวนน้อยนิด ไม่มีอำนาจตัดสินใจในบริษัท แต่ท่านตัดสินว่าเขาทำผิดข้อห้ามทางจริยธรรมซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นสภาพ
ถามว่าในขณะที่ท่านต้องข้อครหาว่าตั้ง ลูกหลานมากินเงินเดือนครองตำแหน่ง หรือช่วยเหลือในการสอบ โดยที่ท่านยังไม่สามารถเคลียร์ให้สาธารณชนหายข้องใจ แล้วท่านจะไปตัดสิน “ความผิดทางจริยธรรม” ของนักการเมืองได้อย่างไรละครับ
มันก็ไม่ต่างกับการที่ท่านเปิดพจนานุกรมวินิจฉัยว่าทำกับข้าวออกทีวีเป็น “ลูกจ้าง” แต่ตัวเองไปรับจ็อบบรรยายตามมหาวิทยาลัยไม่ใช่ “รับจ้าง” ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนเหมือนกัน
“ใบตองแห้ง 95”
5 พ.ย.53
...........................................
ป.ล.ขอฝากเรียนอาจารย์จรัญว่า คำว่าผลประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงเงินทองแต่อย่างเดียว หากยังหมายถึงลาภยศสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจ ตำแหน่ง
ตัวอย่างเช่นอาจารย์จรัญ ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้รับทรัพย์สินศฤงคารจากใคร แต่ถามว่าจากปี 49 ที่ท่านออกมาแสดงบทบาทตุลาการภิวัตน์ เรียกร้องให้ กกต.ลาออก (พอไม่ออกเลยติดคุก) จนถึงวันนี้ ท่านได้รับสิ่งตอบแทนหรือไม่
ถ้าไม่เกิดวิกฤติ หรือถ้าไม่ออกมาแสดงบทบาท อาจารย์จรัญก็ยังเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม โดยตำแหน่งสูงสุดไปไม่ถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เพราะท่านเป็นผู้พิพากษาช้า (เป็นอาจารย์มาก่อน) และมีเสียงร่ำลือว่าคนดีๆ อย่างท่านก็เคยโดน “การเมืองในสำนักงาน” เล่นงานจนแป๊กไปช่วงหนึ่ง
แต่หลังรัฐประหาร อาจารย์จรัญที่กระโดดออกมาเป็นแถวหน้าของตุลาการ ได้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งตำแหน่งเงินเดือนศักดิ์ศรีเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา) ตลอดจนเป็นฮีโร่ยี่ห้อ “เปาบุ้นจิ้น” ได้รับเชิญไปบรรยาย ไปปราศรัยตามที่ต่างๆ
สิ่งเหล่านี้คือลาภยศ สรรเสริญ ซึ่งท่านได้มาจากการเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการเข้าร่วมกับขั้วอำนาจรัฐประหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น