Thu, 2010-11-18 17:50
สลอร์กตัดหน้ามาร์ค! ชิงปล่อยอองซานซูจี ขณะที่อภิสิทธิ์เพิ่งสร้างภาพให้กองทุนยุติธรรมประกันตัวมวลชนเสื้อแดงออกมาได้…ตั้ง 2 คน
โถ อ้างว่าจะช่วย 40-50 คนที่ไม่ได้รับการเหลียวแล เมริงจับเขาคุมขังมา 6 เดือน เพิ่งรู้หรือว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม (DSI ยังสรุปผลการสอบสวนแบบไม่ผิดความคาดหมาย คือเสื้อแดงฆ่าทหาร แต่ไม่รู้ใครฆ่าเสื้อแดง พูดแค่ 6 ศพวัดปทุม ที่ตายเกลื่อนไม่นับ)
เมื่อเผด็จการทหารพม่าสร้างเซอร์ไพรส์ เผด็จการไทยก็งงเป็นไก่ตาแตก เรื่องขำๆ คือทั้งรัฐบาล ทั้งสื่อ ทั้งนักสิทธิมนุษยชนไทย ยังไม่ทันจะได้โหนกระแสซูจี ก็โดนทักษิณตัดหน้า เลยต้องหันมารวมหัวด่าทักษิณ ว่าทักษิณไม่ใช่ซูจี ประณามเกาะชายผ้าถุง
ซึ่งก็ไม่ผิดหรอก แต่ไอ้พวกเกาะชายโสร่งสลอร์ก ไม่ยักตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูตัวมั่ง
พม่าปล่อยซูจีแล้ว ต่อไปนักสิทธิมนุษยชนไทยจะทำมาหากินอะไร เพราะอาชีพหลักที่ผ่านมาคือ หนึ่ง รณรงค์ให้ปล่อยซูจี สอง เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดภาคใต้ กับสาม สนับสนุนให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ
วันนี้ซูจีออกมาพูดเองได้แล้ว เคลื่อนไหวเอง ต่อสายตรงไปโลกตะวันตก ไม่ต้องผ่านสถานี relay ที่กรุงเทพฯ พวกแอมเนสตี้หอมลออจึงตกงานไปหนึ่งอย่าง ขณะที่ทางภาคใต้ก็ไม่เห็นจะกล้าแตะทหาร (ซึ่งเพิ่งซื้อกริพเพนอีก 1.6 หมื่นล้าน) ฉะนั้น คงเหลือแต่กลับมาช่วยกันด่าทักษิณ เรียกร้องให้ยอมติดคุกเหมือนซูจีดีกว่ามั้ง
ครั้นจะหันไปด่าทหารพม่าว่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม ก็ด่าไม่ออก เพราะพม่าทำเหมือน ตั้งแต่ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตัดสิทธิฝ่ายค้าน ตั้งพรรคร่างทรง คงโควต้าอำนาจกองทัพ แม้อาจจะไม่เนียนเท่า (เพราะไม่มีตุลาการภิวัตน์ช่วย)
สื่อ นักสิทธิมนุษยชนไทย เลยเชียร์ซูจีไม่ได้เต็มปาก แต่ต้องชมว่าบางท่านก็กล้าดี เช่น “ท่านขุนน้อย” เขียนในไทยโพสต์ว่า “ประชาธิปไตยตะวันตก” ไม่ใช่คำตอบของพม่า (และของไทย?) ก็ดีไปอย่าง แสดงจุดยืนชัดเจนดี ไม่เป็นอีแอบ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังฉวยโอกาสอ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย กลบพฤติกรรมในประเทศที่เป็นกระบอกเสียงระบอบอภิสิทธิ์ชน
คอยดูสิ หยุ่นต้องหาทางไปสัมภาษณ์ซูจี สร้างภาพเป็นนักประชาธิปไตยจ๋า
หันมาดูประชาธิปไตยในประเทศมีแต่เรื่องจริตจะก้านมารยา เช่น บีบให้รัฐมนตรีลาออกก่อนลงเลือกตั้งซ่อม กฎเหล็กกฎแหลอะไร มันก็แค่ดูดีในเชิงนามธรรม แต่ความจริงคือดัดจริตลวงตาคนชั้นกลาง ดูง่ายๆ ว่าฝ่ายค้านที่จะลงสนามสู้กันเขายังไม่เรียกร้องให้ลาออก กลับเป็นรัฐบาลด้วยกันเรียกร้อง
ถึงเวลาลงสนามจริงๆ ต่อให้ไม่เป็นรัฐมนตรี แต่มีนายกฯ ค้ำประกันว่า ชนะกลับมาเมื่อไหร่ตั้งใหม่ทันที ดูซิว่านายอำเภอจักราชจะกล้าหืออีกไหม
อันที่จริงเรื่องมันไร้สาระตั้งแต่ตีความให้ ส.ส.พ้นตำแหน่งเพียงเพราะไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีสัมปทานรัฐ ซึ่งเปิดขายอยู่ในตลาดหุ้น ชาวบ้านร้านช่องเขาซื้อกันทั่วไป เช่นหุ้น ปตท.มีมากมายมหาศาล ซื้อกี่พันกี่หมื่นหุ้นก็ไม่มีสิทธิครอบงำกิจการ แต่มาร่าง รธน.และตีความให้เถรตรงไปซะงั้น (แก้เกี้ยวทำกับข้าวตกเก้าอี้นายกฯ)
ความพยายามผูกเงื่อนมัดคอนักการเมืองเนี่ยไม่เคยสรุปบทเรียนกันซักทีว่า “เมืองบุรีรัมย์ไม่เคยสิ้นคนดี” นักการเมืองเขี้ยวลาก วางกฎเกณฑ์อย่างไรมันก็หนีได้หมด สุดท้ายจับได้แต่คนที่หนีไม่ทัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายเลือกตั้งกำหนดให้ต้องส่งบัญชีค่าใช้จ่าย คนที่โดนตัดสิทธิคนแรกเพราะไม่ส่งบัญชีคือลุงแคล้ว นรปติ นักการเมืองน้ำดีที่สุดในประเทศไทย กฎหมายเลือกตั้งห้ามสัญญาว่าจะให้ คนที่โดนรายแรกคือ ดร.
รัฐธรรมนูญ 50 ร่างด้วยความพยายามกำจัดทักษิณ ยกทักษิณเป็นแม่แบบ เห็นว่าเป็นปัญหาตรงไหนก็ร่างสกัดตรงนั้น โดยไม่แยกแยะว่าอะไรคือพัฒนาการของประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริง ถ้าทักษิณกลับมาเกิดใหม่ หรือมีทักษิณคนใหม่ ไอ้กฎเกณฑ์หยุมหยิมพวกนี้ มันก็หาช่องลอดได้แบบแมวเก้าชีวิตลอดบ่วง ในทางตรงข้าม รัฐธรรมนูญ 50 กลับสร้างผลเสียลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทย ริบอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ปล้นอำนาจไปให้ตุลาการภิวัตน์และองค์กรอิสระ ที่เป็นเครื่องมือของอำมาตย์ คอยสกัดกั้น บงการ หรือเตะถ่วงอำนาจบริหาร
กระทั่งรัฐบาลมาร์คที่รับของโจรมา ก็ยังอยู่ไม่ได้ต้องขวนขวายแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 190 ซึ่งรัฐบาลจะออกแถลงการณ์ระหว่างประเทศซักฉบับก็อาจต้องเอาเข้าสภา ทั้งที่จุดเริ่มต้นมาจากเรื่อง FTA ซึ่งควรทำแบบอารยะประเทศ อย่างอเมริกา ที่เขาต้องขออนุมัติสภาก่อนเจรจา แต่รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้ยุ่งเข้าไว้ โดยเขียนว่ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่เจรจาทำสัญญาระหว่างประเทศ แต่มีข้อยกเว้นดังนี้ 1-2-3-4-5 ถึงอินฟินิตี้..... คือข้อยกเว้นกว้างเป็นทะเลจนไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นข้อไม่ยกเว้นที่ควรจะเป็น สาระหลัก
อันที่จริงตัวมาตราก็ยังไม่เท่าไหร่ ถ้ารีบออกกฎหมายลูกมากำหนดเสียให้ชัดว่าอะไรบ้างต้องเอาเข้าสภา แต่พอดี๊ เกิดกรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร เข้าศาลปกครองโกเอนก้า และศาลรัฐธรรมนูญคลิปๆ แล้วมีการตีความขยายข้อยกเว้นเป็นมหาสมุทร คือตีความว่า “อาจจะ” เสียดินแดน แค่ “อาจจะ” ก็ต้องเอาเข้าสภา พอไม่เอาเข้าสภา ออหมักกับออเหล่เลยโดนคดีอาญา
“อาจจะ” ใครจะไปตรัสรู้ละครับ การมองปัญหา การตีความกฎหมาย เป็นเรื่องที่มองต่างกันได้ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ทีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ยังเห็นต่างกันได้ ไม่ต้องติดคุก แต่ทำไมรัฐบาลเห็นต่างกับศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญกลับจะเอาเข้าคุก
ฉะนั้น ปชป.ก็เสียวเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณพ่อพันธมิตรออกมาฮึ่มๆ เรื่อง MOU ปี 43 เรื่องการเจรจาปักปันเขตแดน ไว้ใจไม่ได้ เพราะคุณพ่อเล่นตั้งกล่องบริจาค 2 กล่อง เอเอสทีวีกล่องหนึ่ง วีระ-ไชยวัฒน์ อีกกล่องหนึ่ง หยอดผิดกล่องเดี๋ยวเป็นเรื่อง
รัฐบาลมาร์คอยากแก้ ม.190 มานานแล้ว ถึงสะกิดให้ตั้งกรรมาธิการชุดดิเรก ถึงฝั่ง แต่ไปเอาสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ มาก็ยังไม่ถึงฝั่งซะที จนต้องทำน่าเกลียดแบบเสนอมา 5 ประเด็นแก้แค่ 2 ประเด็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตัว (อ้างว่าไม่แก้เรื่องยุบพรรคเพราะคดียุบ ปชป.อยู่ในศาล แต่มันคนละเรื่องกันเลยกับแก้มาตรา 237)
ที่ผมกังขาก็คือ เมื่อเสนอมา 5 ประเด็นแล้วรัฐบาลแก้แค่ 2 ประเด็น แถมยังเอาไปยำในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์แบบนี้แล้ว 19 อรหันต์ชุดสมบัติ ธำ’ ยังแบกหน้าอยู่บนคอได้อย่างไร
คือการที่ใน 19 อรหันต์มีอดีต สสร.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 อยู่ แล้วมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างมากับมือ ทั้งที่ตอนลงประชามติก็ดีเบตกันคอเป็นเอ็น มาตอนนี้ไม่ยักมีเหตุผลชี้แจงสาธารณชน ว่าทำไมถึงเปลี่ยนใจ มันก็แบกหน้าร้อนผ่าวได้ยากอยู่แล้ว
’จารย์สมคิดครับ ทำไมตอนนั้น ’จารย์เห็นด้วยกับเขตใหญ่ ตอนนี้ไหงเห็นด้วยเขตเดียวเบอร์เดียว ทำไมตอนนั้นให้ปาร์ตี้ลิสต์แบ่งเขต ตอนนี้ปาร์ตี้ลิสต์เขตรวม แบบนี้ต่อไป นศ.ที่เรียนกฎหมายกับ’จารย์ จะรู้ได้ไงว่าอันไหนที่’จารย์สอนไว้มันถูกหรือผิด
เปล่า ไม่ใช่แค่รายสองรายด้วยนะ เพราะสิบกว่ารายใน 19 ก็ปกป้องเป็นกองเชียร์ รธน.50 มาทั้งนั้น
อ้าว ซ้ำร้ายร่างมาแล้ว ปชป.ยังสะบัดก้นเย็นเฉียบ กระทั่งมาร์คยังไปพูดในพรรคว่าผิดหวัง นึกว่าสมบัติมีแนวทางเดียวกัน โห ศักดิ์ศรีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองของนักวิชาการหายไปไหนหมดครับ
ผมสิกลับชอบใจคำพูดบัญญัติ ที่พูดได้ตรงไปตรงมาดีว่ากรรมการปฏิรูปชุดอานันท์-ประเวศ ไม่ได้ทำอะไรเลย (แต่ได้งบไป 600 ล้าน แล้วพอร่างมา 50 ข้อ รัฐบาลก็คงเอาแค่ 20 ข้ออีกนั่นแหละ)
เข็มมุ่ง: ป่วนแม่มเลย
ในสถานการณ์ที่ระบอบอภิสิทธิ์กำลังกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ ถามว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือรวมทั้งฝ่ายตรงข้ามระบอบอภิสิทธิ์ควรจะมีท่าที อย่างไร จะเอาแบบพรรคเพื่อไทย ไม่ยุ่ง ไม่แก้ ไม่เอาด้วย ยังงั้นหรือ
ในเบื้องต้น ในแง่เนื้อหา เราต้องยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญกลับมาเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว เป็นสิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ไม่ว่ามันจะทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
เช่นเดียวกับการกลับไปเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมทั้งประเทศ ซึ่งดีกว่าการแบ่งเป็น 8 เขตโดยไม่มีคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องเอาสระบุรีไปรวมกับชุมพร โดยที่คนในแต่ละจังหวัดแทบไม่มีจุดร่วมกันทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และเป็นการให้อำนาจ 5 อรหันต์ กกต.จัดแบ่งโดยอาจจะเข้าทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เพียงแต่อาจจะต้องมาดีเบทกันอีกว่า ที่จะลด ส.ส.เขตลงเหลือ 300 นั่นมันเหมาะสมจริงหรือไม่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 สมควรหรือไม่
นั่นมองในแง่เนื้อหา ซึ่งรวมมาตรา 190 ด้วยก็ยิ่งน่าแก้
ถ้าหันมามองในแง่การเมือง เราก็ควรสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปีศาจฟันดำ ไม่ว่าจะแก้มากแก้น้อยหรือแก้มาตราไหนก็ตาม เพื่ออะไร เพื่อทำลายความ “ศักดิ์สิทธิ์” ที่อำมาตยาและพันธมิตรพยายามปกป้องว่ามาจากการลงประชามติของประชาชนทั้ง ประเทศ (ที่ถูกบังคับให้เลือกเพื่อพ้นๆ จาก คมช.และรัฐบาลขิงแก่)
การแก้รัฐธรรมนูญ 50 ต่อให้แก้มาตราเดียว ไม่สลักสำคัญอะไร ก็เปรียบเหมือนสว่านเจาะทะลุเขื่อน แล้วแรงดันน้ำก็จะทำให้รูรั่วขยายตัวจนไปสู่การพังทลาย
ฉะนั้น ท่าทีของเรา – เรา ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซูจีหรือฝ่ายทักษิณ แต่อยู่ตรงข้ามระบอบอภิสิทธิ์ ในกรณีนี้จึงต้องเล่นเป็น นั่นคืออาจจะต้องเล่นตีสองหน้า เล่นเป็นช้างสามเศียร หรือเป็นพรหมสี่หน้าไปโน่น
หน้าที่หนึ่งคือจะต้องประณามการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 ประเด็น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นความต้องการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะใช้กระสุนเจาะฐานเสียงพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือภาคอีสาน
หน้าที่สองคือต้องยุยงส่งเสริมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เรื่องนี้เป็นประเด็น เป็นกระแส ให้พันธมิตรออกมาต้าน ให้ FTA Watch ออกมาต้าน ให้มัน “ป่วน” ที่ไม่ได้หมายความถึงป่วนด้วยกำลังหรือด้วยม็อบ แต่ป่วนในทางเนื้อหา ในการต่อสู้ถกเถียงทางความคิด ให้แพร่หลายไปสู่ประชาชนมีส่วนร่วม
พูดง่ายๆ คือต้องไม่ใช่เสนอเข้าสภาแล้วจบเห่ สภาไม่รับ ไม่ได้แก้ซักมาตรา อย่างน้อยก็ต้องให้มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นถกเถียง ถ้าสามารถผลักดันไปสู่การลงประชามติ ยิ่งเป็นเรื่องดี เป็นการ “ป่วน” ที่มีสาระ
นั่นจะนำไปสู่หน้าที่สามคือ ถ้าสามารถปลุกกระแสดีเบตแก้รัฐธรรมนูญ จาก 2 ประเด็นนี้ก่อน ฝ่ายประชาชนก็จะสามารถแทรกเข้ามาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็น ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
ประเด็นนี้บัญญัติ บรรทัดฐาน ดักคอไว้แล้วว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะเข้ามาแทรกให้เกิดวิกฤติ ขอบคุณบัญญัติที่กรุณาชี้แนะ เหลือแต่จะทำอย่างไรให้ปรากฏเป็นจริงได้
นั่นต้องอาศัยการผลักดัน สร้างกระแส โดยเริ่มจากแก้ 2 ประเด็นนี้ก่อน มองยาวอย่ามองสั้น แบบพรรคเพื่อไทยที่คิดแค่ว่าแก้เขตเดียวเบอร์เดียวแล้วจะเสียเปรียบในการ เลือกตั้ง ไม่คิดถึงการทลายเขื่อน พัง “รัฐธรรมนูญโจร” ทั้งฉบับในวันข้างหน้า
ล้มฐานอำมาตย์
ถ้าสามารถสร้างกระแสและแทรกเข้าไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ ต้องปรับแนวความคิดใหม่ มองในเชิงยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่จะเอารวดเดียวหมดทั้งก้อน เอาชนะทางยุทธศาสตร์ในครั้งเดียว
ที่จริงผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์วิชาการยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีหรอก แต่เขาสอนกันว่ายุทธศาสตร์คือกินข้าวให้หมดจาน ยุทธวิธีคือกินข้าวทีละคำ ซึ่งถ้าเอามามองในกรณีนี้ ก็อยากเสนอว่า เรา-ไม่ว่าฝ่ายซูจีหรือฝ่ายทักษิณ ไม่จำเป็นจะต้องไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้เอาปี 40 กลับมาแบบเอาชนะทั้งก้อน แต่ทำอย่างไรให้มีการแก้ไขทีละคำ เอาจุดสำคัญที่แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ทีละจุดๆ
ซึ่งถ้ามองโดยส่วนตัวผม เห็นว่าประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 50 ที่ต้องแก้ และอยู่ใน timing ที่สามารถจุดชนวนให้แก้ไขได้คือ แก้มาตรา 111-120 ยกเลิก ส.ว. สรรหา
ส.ว. สรรหาชุดนี้จะหมดวาระลงในวันที่ 18 ก.พ.2554 คืออีกไม่ถึง 3 เดือน เป็น timing ที่เหมาะเจาะ หากจะมีการรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. สรรหา 74 คนที่มาจากการลากตั้งโดยที่ประชุมประธานศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งไม่มีที่ใดยึดโยงกับประชาชน
ที่จริง 19 อรหันต์ชุดสมบัติ ธำ’ ก็เสนอแก้ประเด็นนี้ แต่เสนอแก้เนื่องจากประเทศไทยมีจังหวัดบึงกาฬ้เพิ่มขึ้นมาเป็นจังหวัดที่ 77 โดยยังไม่มีวุฒิสมาชิกประจำจังหวัด ต้องลด ส.ว. ลากตั้งลงเหลือ 73 (โจ๊กสุดๆ เพิ่มจังหวัดทีก็แก้รัฐธรรมนูญที)
ไอ้การมีจังหวัดที่ 77 มันก็เลยเป็นเงื่อนให้เกิดปัญหาอยู่แล้วตอนจะลากตั้งกันใหม่ในเดือน ก.พ.ปีหน้า
ตรงนี้น่าจะเป็นประเด็นที่สามารถรณรงค์เคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวาง คือไม่ต้องไปเสนอแก้มาตรา 237 มาตรา 309 ให้บิดเบือนกันอีกว่าแก้เพื่อตัวเอง ถามว่าแก้ให้คนกรุงเทพฯ เลือก ส.ว. ได้ 17-18 คนเหมือนเดิม เมริงจะเอาอะไรมาคัดค้านไม่อยากเลือก แน่จริงมาลงประชามติแข่งกันสิ พวกนักรบศรีวิชัยแถวเมืองคอน สุราษฎร์ ยังอยากมี ส.ว. มากกว่า 1 คนเท่าระนอง มันเรื่องไร มีเหตุผลตรงไหนที่จังหวัดใหญ่มี ส.ว. เท่าจังหวัดเล็ก เราเป็นราชอาณาจักร ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐเหมือนอเมริกา (ใครค้านด่าแม่มเลยว่านิยมชมชอบระบอบประธานาธิบดี ฮิฮิ)
ถ้าสามารถจุดกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. สรรหา ก็จะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง เสื้อมาร์คเสื้อทักษิณ ได้อำนาจคืนไปเท่ากันหมด ถ้าไม่อยากได้ก็แล้วไป ลองดูว่าใครจะค้านมั่ง ประสารรึ คำนูณรึ สมชายรึ จะด่าสภาผัวสภาเมีย ร่างทรงรึ เชิญดูถูกประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามสบาย เพราะการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไม่มีใครเถียงออก นอกจากจะบอกว่า “ประชาชนยังโง่อยู่” จึงต้องพึ่งตุลาการอำมาตย์มาเลือก ส.ว. ให้ เรื่องแบบนี้เอาไปรณรงค์ในทางสากลได้ด้วย เช่น เอาไปลง “สาละวินโพสต์” ขอความช่วยเหลือซูจีเพื่อประชาธิปไตยไทย เพราะไม่แน่ว่าต่อไปเราอาจต้องพึ่งพม่า
3 เดือนนะครับ เป็นช่วงเวลาที่รณรงค์ก่อกระแสได้สบาย ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ ก็เป็นการสร้างกระแสต่อต้าน ส.ว. ลากตั้งชุดใหม่ ตรวจสอบ ไต่สวน การทำหน้าที่ของกรรมการสรรหา คุณจะเอาใครจากไหนมาเป็น มีประวัติอย่างไร มีมาตรฐานหรือไม่ หรือมีหลายมาตรฐาน มีญาติพี่น้อง เลขา ที่ปรึกษา ของใครบ้าง และมีคลิปหรือไม่
รับรองดูไม่จืด เขย่าตรงนี้ก่อน กินทีละคำ แต่คำใหญ่ดี
ใบตองแห้ง 95
18 พ.ย.53
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น