Fri, 2010-11-19 22:36
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘สื่อทางเลือก’ หรือ ‘นิวมีเดีย’ มี รูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย ขณะ เดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำ หน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการ เมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป
|
ท่าม กลางกระแสขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่เพียงระอุอยู่ในอณูอากาศของประเทศนี้ หากแต่การปิดกั้นสื่อของรัฐที่กระทำต่อสื่อของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม นำมาซึ่งการหันไปฉวยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ที่เคยเป็นพื้นที่เล่นเกม หาเพื่อน และสนทนาวิสาสะให้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองไปด้วย
เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มีตัวเลขผู้ใช้งานเติบโตขึ้น ซึ่งแม้จะไม่อาจเคลมได้ว่าทั้งหมดเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง หากแต่ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่ย้ายชัยภูมิทางการ เมืองมาตั้งค่ายรบทางความคิดอยู่ในพื้นที่ออนไลน์เหล่านี้
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และคอลัมนิสต์ที่คนติดตามอ่านมีความหลากหลายทางอาชีพและสถานะทางสังคม มองว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวในโลกโลกออฟไลน์นั่นเอง ฉะนั้นแล้ว แม้ปรากฏความไร้ระเบียบในการถกเถียงแลกเปลี่ยน ก็เป็นสิ่งที่มันต้องเกิดขึ้นตามปกติ แต่คำถามคือ การศึกษาของไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเหตุผล และข้อมูลเพียงพอหรือไม่ และปัญหาของความไร้ระเบียบเหล่านี้ มิใช่เรื่องที่สื่อใหม่จึงควรรับผิดโดยลำพังทั้งในประเด็นความแตกแยกทางการ เมือง ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน และความปั่นป่วนสับสนนานา
ใน อีกด้านหนึ่ง นักวิชาการผู้นี้เห็นว่าไม่ควรไปตั้งความหวังอย่างใจร้อนว่าสื่อใหม่จะนำพา มาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการรับรู้ข่าวสารที่เปิดกว้าง แต่ถึงอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมมาถึงอย่างไม่อาจยับยั้งได้ ซึ่งผู้มีอำนาจต้องเผชิญคำถามที่ท้าทายว่า พร้อมจะเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หรือไม่
1: สื่อใหม่และการท้าทายอำนาจ
อาจารย์เคยเขียนบทความว่าสื่อใหม่ทำให้การไหลเวียนข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวาง สภาพแบบนี้เป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า
เป็น หลักประกันนั้นแน่นอน แต่ตัวสภาพน่ะมันยังไม่ใช่หลักประกัน ผมอยากจะเลยตัวคำถามนี้ไปนิดหนึ่ง จริงๆ แล้ว การสื่อทางอินเตอร์เน็ต ไม่ว่ารูปแบบของการทำเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ มันเป็นสิ่งใหม่ที่สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้ แต่ขณะเดียวกันก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ด้วย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะอินเตอร์เน็ตอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นในทุกมิติ เศรษฐกิจ การเมือง ถามว่าประเทศไทยสำนึกตัวเองว่าเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์กี่ปีแล้ว ผมว่าซัก 30 ปีแล้วมั้งที่มีคนพูดเรื่องโลกาภวัตน์ เรื่องว่าคุณไม่สามารถควบคุมอะไรต่างๆ นานาได้ ผ่านมาถึงวันนี้ ถามว่าคุณมีการเตรียมพร้อมในการเผชิญกับมันไหม
อินเตอร์ เน็ตก็เหมือนกัน มันนำมาซึ่งสื่อสารมวลชนประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าแบบเก่า มันดีกว่าในบางเรื่อง แต่มันแย่กว่าในบางเรื่อง แล้วคุณไม่สามารถจะไปบอกมันว่า เราจะไปคุมมันได้เหมือนที่มีกฎหมายการพิมพ์ คนละเรื่องแล้ว ไม่ได้เลย
แต่ เนื้อหาที่ปรากฏในออนไลน์ก็ไม่ได้โลกาภิวัตน์เสมอไป คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงนี้ คือชนชั้นกลาง และเว็บไซต์ที่เพิ่มจำนวนมากคือเว็บที่โจมตีคนเสื้อแดง นามสกุลที่ถูกใช้มากที่สุดในเฟซบุ๊กคือนามสกุลรักพ่อ รักในหลวง และพยายามบอกว่าคนเสื้อแดงหมิ่นเจ้า ต้องปกป้องสถาบันกษัตริย์จากคนเสื้อแดง อาจารย์มองอย่างไร
ผม ไม่แน่ใจนะ คงต้องมาเถียงกันว่าคนชั้นกลางคืออะไร ขอนิยามอย่างกว้างก่อนแล้วกัน ตอนเสื้อแดงชุมนุม ผมพบคนที่ผมเรียกว่า “ชาวบ้าน” เป็นแม่ค้าบ้าง อะไรบ้างเข้าอินเตอร์เน็ตแยะเลย ในต่างจังหวัดในช่วงเดือนสุดท้ายของการชุมนุม คนต่างจังหวัดสามารถรู้ข่าวสารการชุมนุมของเสื้อแดงได้ได้จากการที่วิทยุ ชุมชนถ่ายต่อจากอินเตอร์เน็ต หลังจากที่มันออกแบบปกติไม่ได้แล้ว เป็นต้น ฉะนั้น อินเตอร์เน็ตมันไมได้เพิ่มพลังกับคนชั้นกลางอย่างเดียว ถ้าคุณปล่อยมันโดยเสรี มันจะเพิ่มพลังให้กับคนอีกเยอะแยะ ตามแต่เงื่อนไขของแต่ละฝ่าย คนต่างจังหวัดอาจไม่ได้มีคอมพิวเตอร์ทุกบ้านแต่เขาก็จะได้ติดตาม ข่าวสารอย่างใกล้ชิด
2: ความรับผิดชอบ-ข้ออ้างของการดำรงสถานะ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มักมีคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความรับผิดชอบ มันเป็นคำถามที่ใช้ได้อยู่หรือเชยไปแล้ว
เชย เพราะมึงก็ไม่เห็นจะรับผิดชอบ ไอ้ที่เป็นสื่อกระแสหลักทุกวันนี้รับผิดชอบอะไรนักหนา ทีวีโกหกคุณทุกวัน คุณก็รู้อยู่ หนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน เอาเรื่องไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย รถชนกันตายกี่ศพ ห้าฉบับยังไม่ตรงกันซักฉบับ
แปลว่าการถามหาความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีแล้ว
ไม่ ใช่ อย่าไปนึกว่าความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ลอยอยู่เฉยๆ ทุกคนมีความรับผิดชอบตรงกัน คุณมองจากมุมหนึ่งคุณอาจเห็นว่ารับผิดชอบแล้ว แต่จริงๆ คุณไม่ได้รับผิดชอบ เอาง่ายๆ สื่อกระแสหลักทั้งโลกนี้เลยก็ได้ เคยสนใจความเดือดร้อน ปัญหา ความฝันของคนเล็กๆ บ้างไหม แล้วคุณมาพูดได้ยังไงว่าเป็นปากเสียงของประชาชนได้ไง หนึ่งในข้อดีของสื่ออินเตอร์เน็ตก็คือทำให้ความเห็นของคนเล็กๆ ทั้งหลายได้ปรากฏในที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะความเดือดร้อนอย่างเดียว ความเห็นเรื่องจะแก้ปัญหาจราจรของกรุงเทพยังไงก็มีคนพูดเยอะไปหมด จะดึงออกมามากกว่านั้นก็ยังได้อีก แท็กซี่บางคนเสนอว่าให้ยกเลิกไฟเขียวไฟแดงด้วยซ้ำ ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันว่าแกกำลังคิดอะไรอยู่
มันไม่มีสูตรสำเร็จที่เราจะเชื่ออีกแล้วหรือ
เมื่อไหร่มีสูตรสำเร็จปุ๊บ คือการที่คุณกำลังยกอำนาจให้แก่คนบางกลุ่ม...เสมอ
นอก จากการเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนแล้ว บางคนยังบอกว่าโลกอินเตอร์เน็ตมันละลายความอาวุโส กล้าวิพากษ์วิจารณ์นักวิชการ พระ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มากับสื่อออนไลน์หรือเปล่า
ผม ไม่แน่ใจว่าอินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์เป็นตัวทำให้ระเบียบทางสังคมเสีย เพราะคุณจะคิดกลับกันก็ได้ว่าระเบียบทางสังคมได้ถูกทำลายไปแล้ว ไอ้สื่อออนไลน์มันอาจเป็นแค่ตัวสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ออกมาก็ได้ การ ตัดสินว่าอันไหนเป็นเหตุอันไหนเป็นผลตัดสินทันทีไม่ได้ โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าสังคมมันไร้ระเบียบ ไม่ว่าจะมีสื่อออนไลน์หรือไม่ มันหมดแล้ว ไอ้ระเบียบที่คุณเคยเชื่อถือ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคนมีอำนาจต้องทบทวน หาทางปรับตัวกับสังคมที่ช่วงชั้นของคนเริ่มเบลอหายไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีอินเตอร์เน็ต ผมเห็นครูบ่นตั้งแต่สมัยผมยังทำงานเป็นครูว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีสัมมาคารวะ ช่วงขั้นระหว่างครูกับศิษย์มันเบลอแล้วมันก็เลยไม่มีสัมมาคาราวะแบบสมัยเรา ยังเด็ก แล้วการทำลายช่วงชั้นทางสังคมมันเกิดมาตั้งนานแล้ว และไอ้ตัวสื่อนี้มันสะท้อนมาชัด เพราะคุณสามารถปิดบังตัวตนของคุณได้ คุณสามารถด่าได้ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัว นักวิชาการ ดารงดารา
ไม่ได้มองว่าการโพสต์วิจารณ์แบบไม่เปิดเผยตัวนั้นคือการไม่รับผิดชอบ
แล้วทีคอลัมนิสต์ใช้นามปากกาเยอะแยะ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ
แล้วสื่อเก่าสะท้อนความไร้ระเบียบนี้ด้วยไหม
ถ้าอ่านสื่อทางเลือกที่เป็นสิ่งพิมพ์ คุณก็เห็นว่ามันมีการท้าทายอำนาจต่างๆ แยะมากเลย
แต่มันก็ไม่ปรากฏในสื่อหลัก
พวกสื่อใหญ่ๆ พวกนี้จะไม่มีวันเสี่ยง หรือเดินนำสังคม เพราะเขาต้องการทำกำไรกับสินค้าของเขา
แปลว่าสื่อออนไลน์เป็นแพะของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
เป็นแพะ เพราะมันตัวเล็กไง ถ้าบทความในประชาไทไปลงไทยรัฐ เขาไม่กล้าฟ้องหรอก แต่ประชาไทมันแมลง จะดีดมันออกเมื่อไหร่ก็ได้
สื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบหรือ
ไม่ ใช่ไม่มีความรับผิดชอบ อย่างน้อยมนุษย์ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อตัวเองถูกไหม ไม่ควรเขียนสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ แต่ถามว่าสิ่งที่คุณเขียนออกมาต้องถูกต้องดีงามตลอดรึป่าว ก็แล้วแต่มาตรฐานใครวัด ผมว่าระหว่างสื่อหลักกับสื่อออนไลน์ความรับผิดชอบมันก็พอๆ กันนั่นแหละ เวลาที่สื่อหลักบอกว่าตัวเองรับผิดชอบ ถามว่าคุณรับผิดชอบต่อผู้อ่านหรือนายคุณ เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับนึง เจ้าของหนังสือพิมพ์ให้เงินกู้ไปทำหนังด้วย คุณไม่สามารถเขียนวิจารณ์หนังเรื่องนั้นในทางไม่ดีได้ ถ้าคุณเป็นคนซื้อสัตย์ที่สุดก็แค่ไม่เขียนแม่งเลย แค่นั้นเอง
ฉะนั้น ความรับผิดชอบมันจึงไม่ง่าย แค่ว่ารายงานเท็จเรียกว่าไม่รับผิดชอบ ผมว่ามันถึงยุคที่เราทุกคนต้องระวังตัวเองแล้ว สื่อในปัจจุบันนี้ไม่ว่าสื่ออะไรก็แล้วแต่มันถูกแฉให้เห็นว่ามีอะไรเบื้อง หลังกว่าสิ่งที่มันเสนอทั้งสิ้น ไม่ว่าออนไลน์หรือกระแสหลัก ต้องอ่านมันด้วยความระมัดระวัง และเราต้องสอนให้ลูกหลานรู้จักใช้วิจารณญาณ ระมัดระวังในการรับสื่อทุกชนิดไม่ว่าออนไลน์หรือไม่ออนไลน์
คำ ว่าความรับผิดชอบ ถูกเอามาใช้เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกสั่นคลอนของสื่อหลักหรือเปล่า พูดอีกอย่างคือ อาจารย์มองว่าการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ไปสั่นคลอนการมีอยู่หรือคุณค่าของสื่อ เดิมหรือเปล่า
ไม่ เฉพาะสื่อหลัก เมื่อไหร่ที่คุณพูดถึงความรับผิดชอบมันเป็นเกราะป้องกันสถานะของทุกฝ่ายใน สังคม ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไรก็แล้ว เพื่อยืนยันปกป้องสถานะที่คุณมีอยู่ทั้งนั้นแหละ
3: สื่อใหม่กับคุณภาพของการถกเถียง คำถามคือ “ระบบการศึกษาเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน”
แล้วเราจะจัดการกับคนที่ถูกป้ายสีในเว็บบอร์ดยังไง เช่น มีคนมาด่าอาจารย์เสียๆ หายๆ อาจารย์ควรรู้สึกอย่างไร
ก็เฉยๆ
ทุกคนควรจะเฉยๆ ใช่ไหม
คุณ มีวิธีตอบโต้เยอะแยะ ตอบโต้เขาไปถ้าได้ผล ฟ้องศาลก็ได้ถ้าคิดว่าคุ้มกับการปกป้องคุณ ก็เท่านั้นเอง แต่ประเด็นที่ผมต้องการพูดถึงที่สำคัญกว่าเรื่องการปกป้องตนเองคือ ถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมาสิบยี่สิบปีแล้ว แล้วเราได้ปรับตัว ระบบการศึกษาเพื่อเตรียมคนของเราในการมีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน ผมว่าเท่าเก่า แสดงให้เห็นว่าสังคมเรามันปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วเราก็หยุดความเปลี่ยนแปลงนั้นไมได้เหมือนกัน ดังนั้น เราเราเป็นคนที่น่าสงสาร เป็นคนอ่อนแอที่เมื่อเผชิญสื่อใหม่ ก็ตีกันเอง ร้อยแปดพันประการ
ตัวสื่อออนไลน์เองจะเป็นกระบวนการให้คนเรียนรู้ในการเท่าทันไหม
ตัว สื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อโบราณสมัยพระเจ้าเหาก็ได้ ถ้าเราอยู่ในโลกปัจจุบัน คุณควรอ่านพระลอ ทวาทศมาส อะไรก็แล้วแต่ ด้วยวิจารณญาณมากกว่าเก่า ไม่ใช่ชื่นชมแต่ว่ามันใช้คำไพเราะ อันนั้นก็โอเค แต่ขณะเดียวกันต้องมีวิจารณญาณในด้านอื่นมากกว่านั้นด้วย ฉะนั้น ไม่ใช่เฉพาะสื่อออนไลน์จะมีประโยชน์ในการฝึก แต่มันอยู่ที่คุณฝึกคนให้มีวิจารณญาณ ละเอียดรอบคอบมากขึ้นกับทุกอย่าง จะสื่ออะไรก็ได้แล้วแต่
อาจารย์ มีข้อสังเกตเรื่องคุณภาพของความเห็นของประชากรในโลกออนไลน์ไหม เช่น นักวิชาการหลายคนเตรียมตัวมาอย่างดี แต่พอเสนอในสื่อออนไลนัปั๊บ ความเห็นที่มากลับเป็นอะไรไม่รู้ บางทีถึงขั้นไปพูดเรื่องส่วนตัวของเรา
ใน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสังคมไทย เพราะเราไม่เตรียมตัวคนของเราให้ดีพอ ผลคือ ไม่ว่าในสื่อกระแสหลัก ในสื่อออนไลน์ มันก็ไม่ต่างกันนะ คุณคิดว่าที่เขาเถียงกันในสื่อหลักเขาไม่งัดเรื่องส่วนตัว เรื่องนอกประเด็นขึ้นมาเถียงกันหรอกหรือ ทำอยู่ตลอดเวลา สะท้อนกลับไปดูในห้องเรียน ครูกับเด็กที่เห็นขัดแย้งกันเถียงกันเรื่องอะไร ก็อย่างนี้อีก นักวิชาการก็เหมือนกัน สภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ปรากฏความเสื่อมโทรมเฉพาะในออนไลน์ มันปรากฏทั้งสังคม แต่ออนไลน์มันชัด คนเลยโจมตีออนไลน์
จะมองว่ามันเป็นด้านดีให้คนที่ถูกกดทับได้แสดงออกทั้งเหตุผลและอารมณ์ได้ไหม
อัน นี้แน่นอนว่าคุณเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีพื้นที่ในทางสาธารณะ แต่ขณะเดียวกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ลุกมาด่าแม่คนอื่น พื้นที่สาธารณะที่เปิดขึ้นมันน่าจะเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์กว่านี้ แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่อยากพูดว่าคนพวกนี้มันแย่ เพราะพื้นที่อื่นๆ ที่คนมีอำนาจ คนดัง คนเด่นอะไรก็ตาก็ใช้พื้นที่ได้อีลุ่ยฉุยแฉกเหมือนกัน มันทั้งสังคม พอๆ กัน
ดัง นั้น การบอกว่าคนใช้ออนไลน์เพื่อด่ากันได้เพราะไม่ยอมเปิดเผยตัวเอง มันก็จริงส่วนหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคํญเท่ากับว่า เราจะสามารถแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ เรื่องส่วนตัว คำหยาบได้ไหม ปัญหาคือ เราต้องการแลกเปลี่ยนหรือต้องการสั่งคนอื่น บางคนเก่งหน่อยก็ไม่ใช้คำด่า บางคนไม่ค่อยเก่งก็ด่าเลย เราต้องการให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ หรือให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นแต่เราคิดว่าเขาผิดและต้องการแลกเปลี่ยน และเปลี่ยนความคิดเขาด้วยเหตุผลและข้อมูล
สภาพไร้ระเบียบแบบนี้ จะนำไปสู่อะไรในอนาคต
ถ้าเอาเหนือจากพื้นที่ออนไลน์ ก็คือ ตีกันแบบนี้
แปลว่ามันไม่ดี
ไม่ ดี แต่การที่จะทำให้สิ่งไม่ดีเหล่านี้ดีขึ้น ไม่ใช่ไปปิดกั้นเขา การเรียนรู้การใช้เสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ผมว่าเงื่อนไขอันแรกคือคุณ
แปลว่าให้ตีกันไปก่อน
ไม่ ใช่ให้ตีกันไปก่อน เมื่อไหร่ที่คุณตีกันเองไม่ถึงขนาดเลือดตกยางออก ก็ต้องปล่อย เพราะการที่คุณไปเที่ยวห้ามว่าเดี๋ยวเลือดตกยางออก อย่างโน้นอย่างนี้อย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นอันว่าไม่มีโอกาสเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ต้องปรับตัวเองก็ไม่เรียนรู้ความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเอง
อย่างนั้นกระบวนการล่าแม่มดที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำความเข้าใจ
ไม่ใช่ๆ การล่าแม่มดไม่ได้กระทำบนพื้นที่ออนไลน์อย่างเดียว มันทำทั้งสังคม พื้นที่ออนไลน์เป็นแต่เพียงสะท้อนจิตใจ สะท้อนอารมณ์ของการล่าแม่มดออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง
4: “ออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย”
เมื่อกี๊ที่อาจารย์พูดเรื่องปิดหน้าวิจารณ์ อาจารย์ต้องการให้เปิดหน้าในการถกเถียงใช่ไหม
ผม กำลังชี้ถึงประเด็นที่สำคัญกว่าไม่ว่าจะเปิดไม่เปิดหน้า เราเผชิญความขัดแย้งโดยไม่หันเข้าหาข้อมูลและเหตุผล มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราเอง เมื่อสังคมเปลี่ยนโลกเปลี่ยน เราไม่ยอมเปลี่ยนตาม
แล้วที่บอกว่าเราต้องยอมให้ตีกันก่อน มันโยงทั้งในโลกจริงและออนไลน์ไหม ตอนนี้การพูดเรื่องสันติวิธี การพูดเรื่องปรองดองมันเร็วไปไหม
ไม่ เร็ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ใครพูด คนพูดคือคนที่ทำร้ายคนอื่นแล้วให้ปรองดอง ใครเขาจะฟังคุณ เรื่องปรองดองก่อนจะเกิดนาทีนั้น หรือหลังนาทีนั้นทันทีก็พูดเถอะ มันถูกต้องเสมอ ถูกทุกที แต่ใครพูด ไม่ใช่คุณ คนที่ไปฆ่าเขาตายแล้วบอกให้ปรองดองมันเป็นไปไม่ได้ เข้าใจไหม
ความ สัมพันธ์ระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกจริง มีส่วนเกี่ยวพันกันไหม เช่น มีคนบอกว่าการปล่อยให้เขาเถียงกันเอาเป็นเอาตาย จะไปลดทอนความรุนแรงในโลกจริงหรือไม่อีกด้านก็อาจเชื่อว่ามันยิ่งเพิ่มเชื้อ ให้ปะทุยิ่งขึ้น
ไม่ ทั้งสอง ผมพยายามจะย้ำตั้งแต่คำถามแรก ผมไม่เชื่อว่าออนไลน์เป็นโลกต่างหาก เอางั้นดีกว่า ผมคิดว่าออนไลน์เป็นภาพสะท้อนโลกจริงในสังคมไทย ถ้าอย่างนั้น ถามว่าเราเลิกอินเตอร์เน็ตเลยทั้งประเทศ แล้วคนไทยจะรักกันมากขึ้นไหม ฉะนั้นเวลาวิเคราะห์อะไรบนออนไลน์ ผมไม่อยากเห็นเราแยกมันออกมาจากสังคม มันก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่เพิ่มความสามารถคุณในการติดต่อกับคุณ ได้ยินได้ฟังได้กว้างขวางกว่าเดิม เป็นวางนินทาหรือวงสนทนาอันใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้คนไทยเลิกนับญาติกัน
ในมุมอาจาย์สองโลกมันล้อกันไปอยู่แล้ว
แน่นอน มันสะท้อนความสัมพันธ์แบบไทยออกมาชัดๆ เท่านั้นเอง
ความหมายถ้าจะนิยาม ออนไลน์คือพื้นที่หนึ่งในการแสดงความเป็นสังคมไทยออกมา
ใช่ แต่เป็นสังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้วนะ
แล้วออนไลน์ในฐานะเป็นสื่ออันใหม่ มันช่วยเสริมให้อะไรขับเคลื่อนไปเร็วขึ้นบ้างไหม
คือ อย่างนี้ สื่อออนไลน์ทั้งหลายมันให้มุมมมองบางอย่างที่สื่อกระแสหลักจะไม่ให้ ถ้าเป็นประเทศที่เปิดเสรีภาพค่อนข้างมากอย่างอเมริกา คือ มันให้มุมมองคนเดินถนน คนทำงานนสพ.มันเป็นคนที่ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจเรียบ ร้อยแล้ว มันก็จะมองทุกเรื่อง โดยไม่ได้ตั้งใจนะ ในสายตาของสถานะนั้น แต่สื่อออนไลน์มันให้โอกาสคนธรรมดาๆ ได้แสดงความเห็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ร้อยแปดพันประการ และถ้าคุณรับทั้งสองสื่อ คุณจะเห็นว่าสิ่งที่คุณรับรู้จากสื่อกระแสหลักมีมุมมองอีกมุม เป็นข้อดีแน่ๆ แต่ถามว่ามันจะช่วยผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้ามากขึ้นไหม ผมว่ามันไม่.. มันก็ช่วยผลักในความหมายที่ว่าทำให้คนเล็กๆ ได้มีโอกาสพูด แต่มันทำให้คนศรัทธาประชาธิปไตยไหม ผมว่าไม่เกี่ยว ไม่น่าจะเกี่ยว
มัน มีความต่างกันอยู่สองปรากฏการณ์ การล่าแม่มดในสื่อออนไลน์มีพลังมากในโลกจริง เทียบกับการล่าชื่อยกเลิกกฎหมายหมิ่นเป็นพันชื่อ กลับไม่มีความหมายเลย แปลว่ารัฐหยิบสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ
ไม่ ใช่ (เน้นเสียง) ผมไม่คิดแบบเดียวกับคุณ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้อยู่ลอยๆ ไม่มีสถาบันทางสังคมใดในโลกนี้อยู่ลอยๆ การที่ดำรงอยู่สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ก็เพราะว่ามันเชื่อมโยงกันกับผลประโยชน์สถานะของคนและสถาบันอื่นๆ ในสังคมล้อมรอบไปหมด เป็นสิ่งธรรมดา ถามว่านักการเมืองที่เป็นรัฐบาลอยากจะรื้ออันนี้ไหม เขาไม่อยากรื้อ เขายังอยากรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์เดิมไว้ จะบอกให้เลิกนู่นเลิกนี้ ถามว่าเลิกแล้วจะสะเทือนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไหม อาจสะเทือนหรือไม่สะเทือนก็ได้ แต่การสนับสนุนให้เลิกกฎหมายหมิ่นฯ ก็เท่ากับบอกว่าเราต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมการเมืองเหล่า นี้กัน อย่างน้อยก็นิดหน่อย ซึ่งทำให้เกิดศัตรูมากกว่าการจับแม่งดีกว่า อย่าลืมว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจับโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร มีคนไปแจ้งความ ตำรวจก็จับคุณ ตำรวจก็ต้องทำเรื่องขึ้นไป ไม่มีใครจะสอบสวนแล้วบอกว่ามันไม่เป็นคดีปล่อยมันกลับบ้านไป เพราะมันเสี่ยงกับตัวเอง ต้องเผชิญกับโครงสร้างที่มันผูกกันอยู่เยอะแยะไปหมด ตำรวจตัวเล็กนิดเดียว แม้สงสารคุณด้วยก็ต้องทำสำนวนส่งฟ้องอัยการ เดี๋ยวอัยการคงปล่อย อัยการดูเสร็จก็ว่าส่งให้ผู้พิพากษาดีกว่าว่ะ เข้าใจไหม ไม่มีใครหวังร้ายกับใครสักคน แต่ทุกคนอ่อนแอเกินว่าจะเผชิญกับโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่โตขนาดนั้น ไม่ใช่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คือความสัมพันธ์ในเชิงสถาบันของทั้งหมด
ทำไมบางเรื่องมีแรงกดดัน บางเรื่องไม่มี
เรื่องไหนที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขามองเห็น อยากให้เป็น เขาก็ใช้ อันไหนไม่สอดคล้องเขาก็ไม่ใช่
อีก ประเด็นหนึ่ง สามสิบปีที่แล้ว สื่อทางเลือก เช่น หนังสือเล่มละบาท ทำให้นักศึกษารวมตัว ตอนนี้อินเตอร์เน็ตมีบทบาทแบบนั้นไหม หรือทำให้คนกระจายมากกว่ารวมตัว
เมื่อตอน 14 ตุลา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย เราทั้งหมด ซึ่งหมายถึง นักศึกษา คนชั้นกลางที่เกิดใหม่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีศัตรูอันเดียวกัน ผู้นำกลุ่มเล็กนิดเดียวที่มีอำนาจปืนในมือไม่ยอมปรับเปลี่ยน คุณต้องเปิดพื้นที่ให้คนเกิดใหม่เหล่านี้จะเปิดแค่ไหนอีกเรื่อง แต่ไม่ยอมเปิดเลย ผลก็คือคนเหล่านั้นก็ไม่พอใจ ในกลุ่มผู้มีอำนาจเองก็แตกกันเองด้วย
แสดงว่าสื่อไม่เกี่ยว
เกี่ยว สิ มองสื่อว่าบทบาทของสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน ตอนนั้นมันง่ายเพราะทุกคนสามัคคี ปรองดองกัน ยกเว้นทรราชย์ไม่กี่คน แต่ตอนนี้มันไม่ชัดขนาดนั้นนี่ครับ เพราะว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เราเผชิญเวลานี้ ผมคิดว่าความปรับตัวมันทำได้หลายอย่าง คุณ
5: การขับเคลื่อนทางสังคมภายใต้สื่อใหม่-ลดอำนาจการครอบงำ
สรุปแล้วรัฐปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง
ไม่ ใช่รัฐ แต่หมายถึงคนมีอำนาจทั้งหมดในสังคม อาจรวมผมด้วย หรือทุกคน คนอย่างผมย่อมมีอาญาสิทธิ์บางอย่างทางสังคมอยู่ด้วย ถามว่าผมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีแค่ไหน อาจไม่ดีเท่าไรก็ได้ อาญาสิทธิ์ทั้งหมดมันถูกตั้งคำถามหมด
แล้วคนมีอาญาสิทธิ์ ถ้าฉลาดหน่อยจะปรับอย่างไรให้เข้ากับความไร้ระเบียบอันนี้
ความ ไร้ระเบียบนี้มันเกิดขึ้นในสังคมคุณนะ อาจไม่เกิดในสังคมอเมริกัน สังคมที่มันปรับตัวได้แล้วไม่เป็นไร คุณไปอ่านข้อถกเถียงในเว็บไซต์อเมริกัน มันไม่ได้ด่าอะไรเลย ไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แน่นอน บางคนเขียนสนุกหน่อยก็เขียนแบบล้อเลียน เยาะเย้ยนิดๆ ไม่ถึงกับด่า แค่พออ่านสนุก
แต่เป็นธรรมดาของรัฐที่จะกลัว และป้องกันความเปลี่ยนแปลงอันไม่พึงประสงค์
ผม ว่ารัฐไทยเป็นมากกว่าคนอื่น เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนทั้งสังคม เป็นตัวแทนของคนกลุ่มนิดเดียว ฉะนั้น การต้องการการปรับตัว อาจเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ แต่มึงไม่ใช่รัฐ
คนมีอำนาจปรับตัวไม่ทัน แต่ขณะเดียวกันโครงสร้างทางสังคมก็ทำให้คนในสังคมเกิดความหวาดกลัว
ไม่ ใช่ ในทางตรงข้ามเขาออกมาท้าทาย แต่โครงสร้างมันไม่ยอมปรับ โครงสร้างมันถูกท้าทายแยะมาก เช่น คุณจะอ่านความท้าทายความชอบธรรมของสถาบันได้ไม่รู้กี่แห่ง ไม่ใช่ในสื่อหลัก ยิ่งอ่านภาษาอังกฤษออกยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รวมใบปลิว ซีดี ทั้งหมดเล่านี้ชี้ให้เห็นว่า คุณต้องปรับตัวเอง ไม่ใช่เที่ยวไล่จับ จับยังไงก็ไม่หมด ทำยังไงถึงจะปรับตัวเองได้ เผชิญกับความท้ายทายเหล่านี้ได้ ทุกกลุ่มที่อยู่ในอำนาจไม่ได้คิดว่าวิธีการแบบเก่าที่จะจัดการกับการท้าทาย มันใช้ไม่ได้แล้ว ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันดีกว่านะ อาจโหดร้ายกว่าก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น
ขอยกตัวอย่าง กรณีการจัดงาน “เราไม่ทอดทิ้งกัน” ของศูนย์ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายการชุมนุม “เมษายน-พฤษภาคม 2553” (ศปช.) ซึ่งหลังการจัดงานมีการวิจารณ์กันในเฟซบุ๊กและโต้ตอบกันจนแทบไม่เหลือแนว ร่วม ก็เลยสงสัยว่าสื่อออนไลน์เป็นตัวทำลายความคิดชี้นำสังคมที่จะนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงไหม หรือแม้แต่เรื่องคณะกรรมการปฏิรูปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละเทะ
พูดง่ายๆ ว่าคุณกำลังถามผมว่าสื่อออนไลน์ครอบงำกว่าสื่อกระแสหลักใช่ไหม
มันไร้ระเบียบมากจนหาอะไรไม่ได้เลย
ถ้าการครอบงำไร้ระเบียบก็แปลว่าครอบงำน้อยลงสิ
แต่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร
ไม่จำเป็น
มันกระจัดกระจายจนไม่สามารถมีความเป็นเอกภาพ
อ้าว คุณอยากได้ความคิดชี้นำเหรอ (หัวเราะ) และผมคิดว่ามันเคลื่อนได้นะ แต่มันไม่ได้เคลื่อนแบบเก่าอีกแล้ว และแบบเก่ามันน่ากลัว เพราะมันเคลื่อนท่ามกลางความครอบงำ เคลื่อนแบบใหม่มันจะลดการครอบงำลงไปแยะ
ถึง ที่สุด กรณีศูนย์คนหาย ตลกมากที่ไม่มีใครสามารถวิจารณ์การทำงานของศูนย์ฯ โดยอ้างคนอื่นได้เลย พูดได้เฉพาะในฐานะปัจเจก นี่มันเป็นประชาธิปไตยสุดๆ แต่มันดูไม่มีทิศทางว่าจะไปอย่างไร
อัน นี้ควรจะอยู่ตลอดไป คือ มนุษย์มีความเห็นแตกแยกแตกต่าง ในที่สุดเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องเคลื่อน เขาจะคำนวณว่าจะลงทุนแค่นี้ เลยกว่านี้ไม่เอา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ ตอน พธม.เสนอมาตรา7 มี คนถอยออกมาไม่รู้เท่าไร เขาตัดสินใจลงทุนแค่นี้ ถ้ามากกว่าเขาไม่เอา ซึ่งก็ดีไม่ใช่เหรอ ผมว่าสังคมสมัยใหม่ก็ควรจะเป็นอย่างนี้มากกว่า เออ มึงไปไหนก็ควรจะไปกันตลอดทาง
ไทยเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ
คุณอาจไม่อยากเป็น แต่คุณหนีความเป็นสังคมสมัยใหม่แล้วหรือ แล้วความเป็นสมัยใหม่คุณหมายถึงอะไร คุณนิยามว่าอะไร
นิยามคือ การใช้ทหารปราบประชาชน ไม่น่าถูกนิยามว่าเป็นรัฐสมัยใหม่
ทหาร ปราบประชาชน ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐโบราณเลยนะ เพราะมันไม่มีทหาร (หัวเราะ) มันปราบเฉพาะคนแข่งอำนาจกับมัน มันแค่ขูดรีดประชาชนอย่างเดียว รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากกว่ารัฐโบราณแยะ และนั่นเป็นเหตุผลที่เราถึงต้องหาทางคุมรัฐสมัยใหม่ให้ได้
มีทฤษฎีอะไรไหมที่จะอธิบายสังคมออนไลน์ หรือมีเรื่อง Chaos อย่างเดียว
ผมไม่เชื่อเรื่อง Chaos นะ และไม่รู้พวกทฤษฎีนัก แต่ดูตัวอย่างในอเมริกา มีการถกเถียงกันมากก่อนยุคออนไลน์ ช่วง ปี 1960 เรื่องสิทธิคนดำ อย่านึกว่ามาติน ลูเธอร์ คิง ไม่ถูกต่อต้านจากคนดำนะ แยะมาก ทั้งก่อนตายและหลังตาย ถึงที่สุดแล้วยี่สิบปีต่อมา แม้แต่คนดำเองก็ยอมรับว่าหนทางแบบสันติวิธีนั่นเหมาะที่สุดแล้ว จนทุกวันนี้ถามว่าคนดำเสมอภาคคนขาวยัง ก็ยัง มีการผลักดันกันให้เสมอภาคมากขึ้นอยู่ตลอด คุณใช้เวลาจำนวนหนึ่ง มาถึงจุดที่เห็นพ้องต้องกันว่า ควรเสมอภาคมากกว่านี้ และสอง เห็นว่าควรรักษาตัวโครงสร้างเอาไว้ ก็ต้องใช้สันติวิธีในการผลักดัน ผมว่าฉันทามติมันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีโอกาส มีเสรีภาพในการถกเถียงกันเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และผมคิดว่าคนที่จะได้ผู้ฟังมากขึ้นคือคนที่ไม่ด่าลูกเดียว
สื่อออนไลน์ทำให้สังคมมีเหตุผลมากขึ้น
ไม่ ใช่ สังคมพร้อมจะเรียนรู้การเอาชนะกันด้วยเหตุผล ถ้าเหตุผลชนะจริง แต่สื่อออนไลน์ค่อนข้างจะพิสูจน์แพ้ชนะชัดเจน เช่น หลายปีต่อมาจะเห็นเองว่าใครสาวกเพิ่มหรือลดแค่ไหน ฉะนั้น ใจเย็นๆ นี่พูดแบบคนแก่ มันอาจไม่เห็นผลทันที ในระยะยาวมันจะเริ่มมีผลขึ้นทีละนิดๆ เช่น ผมว่ามันมีการพูดถึงเรื่องกองทัพแยะมาก จะใช้วิธีคุมกองทัพอย่างไร จนเวลานี้ผมคิดว่าถ้ากองทัพไม่ปรับตัว โอกาสที่กองทัพจะรักษาความได้เปรียบ สิทธิประโยชน์ของตัวเองจะเหลือแคบเข้า หนึ่ง คุณต้องเลือกรัฐบาลแค่บางรัฐบาลที่ไม่อ่อนกับสังคมมากนัก หรือสองคุณต้องก่อรัฐประหารซึ่งยุ่งอีก อยู่ยากขึ้นเพราะมีการถกเถียงเรื่องต่างๆ มากขึ้น เช่น จีทีสองร้อย มันก็เป็นทางเลือกที่ไม่คล่องตัวกับปัจจุบันเท่าไร
แต่งบกองทัพเพิ่มเท่าตัว นักการเมืองแทบทุกพรรคไม่กล้าวิจารณ์ทหาร มันสวนกับที่อาจารย์บอก
ไม่ ใช่ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ทันที ผมบอกว่าถ้ากองทัพคิดว่าจะอยู่รอดให้สบายใจมากขึ้นต้องปรับตัว แต่ถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นการปรับตัวของกองทัพ
วิธีการบริโภคของคนเล่นเฟซบุ๊ก การอ่านอะไรสั้นมีผลต่อการเรียนรู้ไหม
มัน มีทั้งข้อดีกว่า เสียกว่า เพราะคุณใช้ข้อมูลและเหตุผลในการยืนยันความคิดคุณได้น้อย คุณไม่สามารถอภิปรายความเห็น เหตุผล ข้อมูลได้อย่างตลอดทั้งระบบ หลายอย่างไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ ดังนั้น อย่างที่บอกคนต้องถูกเตรียมให้รู้ว่าคุณต้องตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่าเดิม
การ ทำให้ข้อมูลค่อนข้างสั้น กระชับ ธรรมเนียมการเขียนอะไรให้สั้น และปราศจากข้อมูลเหตุผลเพียงพอมันขยายไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ด้วย มันทำให้คนปัจจุบันนี้ถูกสอนให้รู้มากกว่าคิด รู้ว่าเรื่องนี้มีคนพูดว่าอะไรจบ ไม่ต้องครุ่นคิด นี่เป็นข้อโจมตีอินเตอร์เน็ต ทีนี้ผมไม่ได้ตามอินเตอร์เน็ตมากพอ เหลืออายุไม่มากนักก็อ่านเท่าที่อยากอ่าน ยังอ่านของโบราณเยอะอยู่
ถ้าว่าความสั้นมีปัญหา วิทยุ โทรทัศน์ไม่ยิ่งกว่าหรือ อ่านซ้ำไม่ได้ด้วย
จริง แน่นอน แต่สื่อที่เป็นตัวหนังสือในทัศนะผมมันไม่ใช่สื่อแบบโทรทัศน์ เมื่อไหร่ที่อ่านหนังสือมันเปิดสมองคุณในการโต้เถียงอภิปรายมากกว่าทีวี นักสื่อสารมวลชนถึงบอกว่าสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อร้อน และสื่อเย็นมันเหมาะกับการคิด วิจารณ์ ซึมซับความหมายซ้อน และเวลาเข้าอ่านเว็บไซต์ สันดานของสื่อร้อนมันครอบงำผม ผมเลือกอ่านข้ามๆ พอรู้ แล้วคลิ๊กใหม่ เพราะอะไรผมก็ไม่รู้ สำหรับผมมันร้อนชิบเป๋งเลย มีเว็บไซต์อะไรในโลกนี้ที่เป็นกลอนอย่างเดียว กลอนนี่อ่านทางหน้าจอได้ไหม (ยิ้ม) ถ้าผมอ่านทางเน็ตผมคงเก็บความไม่ได้ เพราะไหมไม่รู้
ข้อ เสียอีกอันที่ฝรั่งเคยพูดถึงมาแล้วคือ อย่างน้อยสื่อกระแสหลักรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเรื่องให้คุณจับได้ ขณะที่เน็ตไม่ค่อยมี มันเป็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันทำให้คนไม่สามารถมองโลกอย่างมีความเข้าใจ มองเป็นจุดๆๆๆ เพราะไม่มีเรื่องข้างหลัง ฝรั่งมีสื่อออนไลน์ที่เป็นเว็บข่าวบอกเหตุการณ์สั้นๆ แยะมาก มันก็เป็นจุดๆๆๆ มันก็จะมองโลกแบบไร้เรื่อง มันก็อาจเกิดสภาวะรู้โดยไม่ได้คิด
ท่ามกลางการวิจารณ์ในโลกออนไลน์ ปรากฏว่าคนที่ผิวบางมากที่สุดคือสื่อและเอ็นจีโอ
เอ็น จีโอ ในทัศนะผม อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงมากๆ เสี่ยงต่ออะไร ผมคิดว่าเสี่ยงต่อความไร้ความหมาย เพราะว่ากันจริงๆ เลย สิ่งที่น่าสนใจมากๆคือ
สื่อ มันคล้ายๆ คุณวิจารณ์อายิโนะโมะโต๊ะ เขาทำธุรกิจน่ะ เขากลัวยอดขายตกมากกว่า เขาขายความน่าเชื่อถือ คุณไปทำลายสิ่งเหล่านั้นเขาแล้วโฆษณาไม่เข้าทำไง มันกระเทือนมากนะ
ยกปรากฏการณ์หนึ่งคือ บก.มติชนออนไลน์ หลังถูกกล่าวหาว่าเริ่มแดง คนอ่านมากขึ้นมาก แต่โฆษณากลับลดลง
ผม ว่าธุรกิจไม่กลัวแดงหรอก ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พบทั่วไปหมด ฝรั่งก็พูดถึงอยู่ว่า นสพ.กระดาษไปไม่รอด พยายามผลักดันออนไลน์ ซึ่งบางฉบับประสบความสำเร็จ แต่โฆษณากลับเข้าไม่ถึง 25% ของสิ่งพิมพ์กระดาษ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ซีรีส์สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 11: โลกอนาคตที่ไม่มีการผูกขาดความจริง
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 10: ความเห็นของประชาชนไม่ใช่ภัยความมั่นคงของชาติ
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 9: ‘เสรีภาพออนไลน์’ สื่อหลักต้องร่วมปกป้อง
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 8: สื่อใหม่อนุญาตให้คนธรรมดาสะสมต้นทุนทางสังคม
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 7: สื่อออนไลน์เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 6: อินเทอร์เน็ตคือป่าออนไลน์ขนาดใหญ่
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 4: กฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องมีเพื่อกำหนดขอบเขตความรับผิด
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอนที่ 3: เฟซบุ๊กจะเติบโต กลืนกินเว็บบอร์ดและบล็อก
ซีรีส์ สื่อใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง ตอน 1: พูดถึงนิวมีเดียคือพูดถึงสิทธิในการสื่อสาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น