Tue, 2010-11-09 05:16
ผม มีความสนใจและครุ่นคิดเกี่ยวกับการนำบทเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ไปร้องบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ซึ่งแสดงตัวตนแจ่มชัดว่าเป็นพวก “ศักดินานิยม”) มานานแล้วว่าขัดแย้งและขัดข้องหัวใจเป็นที่สุด ทว่าหามุมที่จะอธิบายเหตุผลอย่างวิชาการไม่ได้ จนเมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของ คุณ
กล่าวอย่างถึงที่สุดคือ มีกระบวนการกีดกันความเป็นคอมมิวนิสต์ออกจาก จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ซึ่งแท้จริงแล้วมุ่งปฏิวัติโค่นล้มทั้ง “ทุนนิยม” และ “ศักดินา” ตามประเด็นที่วิทยานิพนธ์พยายามนำเสนอภาพโค่นล้ม โดยเฉพาะ “ศักดินา” ดังกล่าว หากหายไปเสียจากจิตร ภูมิศักดิ์ได้ บทเพลงของจิตร (ซึ่งถูกคัดมาบางเพลง) ก็ย่อมได้รับการร้องรับขับขานบนเวทีพันธมิตรฯเสมือนหนึ่งเป็นพวกเดียวกันได้ และดูจะเป็นการเพิ่มศรัทธาให้องค์กรของตนเป็นอย่างมากที่มี “แสงดาวแห่งศรัทธา” อย่างจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ร่วมกับเสื้อเหลืองข้างเดียวกับพวกเขา หรือกระทั่งทำให้วีรชนของประชาชนเป็นวีรชนของศักดินาไปในที่สุด ขอยกตอนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ดังนี้
“วิกฤตศรัทธา การล่มสลายของ พคท.และทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” นี้ ทำให้นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนมาก “ลดบทบาท” ของตนเองลงและต่างพากันหลบหน้าหลบตาผู้คนไปเยียวยาตัวเองในรูปแบบต่างๆ
ผลก็คือ มันได้เปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับบรรดาปัญญาชนนักคิดนักเขียนอีกกลุ่มที่ไม่ เคยได้เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท.ในทางตรงข้าม พวกเขาโน้มเอียงไปในทางที่ “ไม่ชอบ”, “เกลียด” หรือไม่ก็ “ต่อต้าน” พคท.และคอมมิวนิสต์ทุกชนิดด้วยซ้ำ และพวกเขานี่เองที่มีบทบาทสำคัญในการพูดและเขียนถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ท่ามกลาง “ความเงียบ” ของบรรดานักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้าย การที่บรรดาผู้ที่มีบทบาทในการพูดถึงจิตรส่วนใหญ่ในยุคนี้ เกลียดคอมมิวนิสต์ แต่ก็ยกย่องชื่นชมในความเป็นอัจฉริยะของจิตรไปพร้อมๆกัน นี่เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อ
ผลก็คือ พวกเขาพยายาม “กีดกัน” ความเป็น “คอมมิวนิสต์” ออกไปจากจิตรเสีย โดยใช้วิธี “เลือก” ที่จะชมเชยยกย่องเฉพาะในด้านที่เป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรม, นิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของเขา หรือไม่ก็หันไปพูดถึงเฉพาะชีวิตในช่วงวัยเด็กของจิตรแทน และจงใจที่จะไม่พูดถึงประวัติช่วงที่เป็นคอมมิวนิสต์ของเขา”
ควรเพิ่มเติมตรงนี้ว่า นักศึกษาปัญญาชนที่เคยเข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่ง ณ ปัจจุบันก็เข้าร่วมกระบวนการ “กีดกัน” ดังกล่าวด้วย แต่ความพยายามกีดกันเมื่อกระทำไปบนพื้นฐานแห่งการบิดเบือนความจริงมันจึงทำ ให้ดูไม่เนียนและไม่กลมกลืนฝืดฝืน และทั้งพวกเขาก็ร่วมมือกับศักดินาโดยเปิดเผย ขณะเดียวกันก็ต่อต้าน “ทุนนิยม” เฉพาะคนชื่อทักษิณกับพวกอย่างหน้ามืดตามัวโดยตั้งใจละเลย “ทุนนิยม” และการคดโกง คอรัปชั่นที่กระทำโดยพวกเดียวกันเอง ไปดูวิทยานิพนธ์อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า
“การที่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยหันไปสนใจต่อกระแส ลัทธิมาร์กซ์ทั้ง ๔ นี้ แม้ว่าจะทำให้พวกเขามีความขัดแย้งแตกต่างกันทางทฤษฎีอยู่มาก แต่มันก็ทำให้พวกเขามีจุดร่วมเหมือนกันบางอย่าง นั่นคือ พวกเขาเลิกสนใจประเด็น “ศักดินา” และหันไปให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และต่อต้าน “ทุนนิยม” เป็นหลัก พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองเห็นร่วมกันว่า สังคมไทยได้กลายเป็น “ทุนนิยม” แล้ว ไม่ใช่ “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ตามที่ พคท. เสนอ
นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ข้อวิพากษ์ “ศักดินา” อันทรงพลังของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ โฉมหน้าศักดินา ไทย และ ศิลปเพื่อชีวิตศิลปเพื่อประชาชน หมดความสำคัญลงไป อย่างน้อยก็ในสายตาของพวกเขาด้วย
อาจกล่าวได้ด้วยว่า ทั้งปัญญาชนฝ่ายซ้าย และปัญญาชนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ในยุค “หลัง-พคท.” แม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องของทฤษฎี แต่พวกเขามีจุดร่วมกันอันหนึ่งโดยบังเอิญ นั่นคือ เห็นว่าประเด็น “ศักดินา” ไม่สำคัญอีกต่อไป และประเด็นที่ควรครุ่นคิดให้มากคือ “ทุนนิยม” ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นอะไรที่ปัญญาชนยุคหลัง พคท.ที่มุ่งแต่จะวิพากษ์ต่อต้าน “ทุนนิยม” เพียงอย่างเดียว จะต้องปกป้องรักษาความเป็นคอมมิวนิสต์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในแบบที่มุ่งต่อต้านโค่นล้มทั้ง “จักรวรรดินิยมและศักดินา” เอาไว้"
คำว่า “ปัญญาชนฝ่ายซ้าย และปัญญาชนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ยุคหลัง พคท.” หากมีความคิดดังที่กล่าวมา ย่อมเป็นความคิดของปัญญาชนฝั่งเสื้อเหลือง เพราะฝ่ายเสื้อแดงนั้นแม้ชาวบ้านธรรมดาก็ ”ตาสว่าง” มองเห็นอิทธิพลของศักดินาครอบงำสังคมไทยสูงกว่า “กึ่ง” คือเกินครึ่ง เป็นสังคมศักดินาเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องรื้อถอนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบิดเบือนของศักดินากันครั้งใหญ่ เมื่อฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ ฝ่ายเสื้อแดงจึงต้องปกป้องรักษาความเป็นคอมมิวนิสต์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในแบบที่มุ่งต่อต้านโค่นล้มทั้งจักรวรรดินิยมและศักดินาเอาไว้
ผมชื่นชม คุณ
ประเด็นวัฒนธรรมคือ กระบวนการของนักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ยุค 2500 ที่ขับเคลื่อนโดยบุคคลอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์.(ศรีบูรพา) สุภา ศิริมานนท์,อุดม สีสุวรรณ,เปลื้อง วรรณศรี,จิตร ภูมิศักดิ์,อิศรา อมันตกุล,เสนีย์ เสาวพงศ์,สุวัฒน์ วรดิลก,(รพีพร),ทวีปวร,คำสิงห์ ศรีนอก และ ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วก็สู้กับศักดินาด้วยงานศิลปวรรณกรรมทั้งสิ้น ดังผลงานการประพันธ์ต่างๆมากมาย ทว่าพวกเขากลับถูกกลุ่มนิยมศักดินาเสื้อเหลือง นำเอาชื่อเสียงบารมีไปใช้เหมือนจงใจจะบิดเบือนให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มตน โดยมิคำนึงถึงข้อเท็จจริง รางวัลด้านศิลปะวรรณกรรมต่างๆนาๆ ในนามของท่านเหล่านี้ ถูกนำไปใช้เพื่อมอบให้กับนักเขียนและศิลปินที่นิยมศักดินาหรืออยู่ฟากฝั่ง เดียวกับเขา กระทั่งความพยายามผูกขาดการจัดงานพิธีกรรมตามวาระต่างๆของนักคิดนักเขียน เหล่านี้ก็จงใจบิดเบือน ให้หลงลืมว่านักเขียนเหล่านี้คือผู้ต่อต้าน “ทุนนิยม” และ “ศักดินา”
ประเด็นการเคลื่อนไหวต่อสู้แบบปฏิวัติด้วยการปฏิบัติที่เป็นจริง อธิบายได้ว่าหากไม่เข้าร่วมต่อสู้และลงมือปฏิบัติ อารมณ์ความรู้สึกของท่านจะเป็นอย่างหนึ่ง การออกความเห็นของท่านก็อาจจะใช่เพียงบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำตัวเป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง หรือพวกที่นั่งวิพากษ์วิจารณ์อยู่หลังไมค์ หรือซุ่มซ่อนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในอินเตอร์เน็ต พวกเก่งแต่ปากแต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ เข้าร่วมชุมนุมในม็อบก็แบบขี่ม้าชมดอกไม้ พวกนี้มีอยู่จริง สนับสนุนความรุนแรง เร่งอารมณ์ให้โกรธแค้น ชอบยุยงโดยไม่ออกหน้า คนพวกนี้ไม่เคยพบกับความเจ็บปวดในชีวิตจริง ไม่มีโยนิโสมนสิการ ขาดพรหมวิหาร ไม่มีมนุษยธรรม ใช้ความรู้สึกที่มาจากจินตนาการตัดสินเหตุการณ์และผู้คน การได้เข้าร่วมการต่อสู้ที่เป็นจริงแม้เพียงครั้งหนึ่งจะทำให้เขาพบว่า จินตนาการกับความจริงเป็นคนละเรื่องกัน จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นตัวอย่างของคนที่ลงมือปฏิบัติการต่อสู้ที่เป็นจริง เป็นการยากที่จะบอกว่าจิตรเป็นนักทฤษฎีเมื่อเขาประสานการปฏิบัติตลอดชีวิต ที่เห็น จิตรโดนโยนบก จิตรถูกจับกุมคุมขัง จิตรเข้าป่า จิตรเป็นคอมมิวนิสต์ จิตรสิ้นชีวิตในสภาพทหารป่า ซึ่งนี่คือการดำเนินชีวิต ขณะที่ในอีกส่วนหนึ่งก็ได้ทำงานสร้างสรรค์ทางปัญญาไปพร้อมๆกัน ด้วยงานเขียนประเภทต่างๆมากมาย และผลงานนั้นๆก็ยิ่งยืนยันความเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ที่เป็นคอมมิวนิสต์ผู้ต่อสู้กับ “ทุนนิยม” และ “ศักดินา”อย่างชัดแจ้งเกินกว่าที่ใครต่อใครจะบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พูดเรื่องนี้ไว้ชัดเจน
“การที่ เคร็ก บอกว่า งานเขียนของจิตรไม่เคยรับใช้พรรคนั้นก็ “ผิดข้อเท็จจริง” อีกเช่นกัน เพราะ เคร็ก ลืมไปว่า จิตรแต่งเพลงให้พรรคหลายเพลง เช่น “ภูพานปฏิวัติ”, “วีรชนปฏิวัติ” กับ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” ที่จิตรแต่งเพื่อยกย่องและตอบโต้ต่อการประหารชีวิต รวม วงศ์พันธ์ และเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ซึ่งเป็นสรรเสริญพรรคในเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งการที่จิตร แต่งเพลงมาร์ชประจำ “พลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา” ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๘ ตามคำ “มอบหมาย” ของ ธง แจ่มศรี สมาชิกระดับสูงของพรรค ด้วย”
การตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นเขียนวิทยานิพนธ์ของ ธิกานต์ ศรีนารา ครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีตรงที่คนเริ่มต้นเปิดประเด็นเป็นคนรุ่นใหม่ นำเสนอในเชิงวิชาการ พุ่งเป้าโต้ตอบเรื่องความสับสนของศิลปวัฒนธรรมประชาชน ในท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองแบบแบ่งขั้วเป็นเหลืองกับแดง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวศิลปวัฒนธรรมของประชาชนซึ่งเคยสืบเนื่องเป็นขบวน เดียวกันมาตลอด ได้แตกแยกออกเป็นสองแนวทางแล้วอย่างชัดเจน การหาข้อสรุปเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์อันแท้จริงของจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่เอาศักดินา ไม่เอาทุนนิยม ใครคือทายาทศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน เป็นเรื่องที่คนรุ่นต่อไปต้องศึกษาหาเหตุผลในท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่ผิดๆ มากมายในสังคมไทย ไปดูข้อสรุปสุดท้ายของวิทยานิพนธ์เรื่องนี้
“จิตรเป็นคอมมิวนิสต์และตายไปอย่างคอมมิวนิสต์ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญญาชนยุคหลังซึ่งที่เกลียดชังคอมมิวนิสต์แต่ก็ชื่นชมในอัจฉริยภาพของ จิตรไปพร้อมๆ กัน ได้ช่วยกัน “กีดกัน” ความเป็นคอมมิวนิสต์ออกไปจากชีวประวัติของจิตรเสียสิ้น หลงเหลือก็แต่เพียงฐานะของการเป็น “นักคิดนักเขียน” ผู้มีอัจฉริยภาพในด้านวรรณกรรม นิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และ “วิชาการ” เท่านั้น แน่นอนที่ว่า ความเป็นคอมมิวนิสต์ที่ถูก “กีดกัน” ออกไปจากจิตรก็คือ คอมมิวนิสต์แบบ พคท.ผู้ยืดถือในทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ที่มีนัยของการต่อต้านทั้ง “ทุนนิยมและศักดินา” ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
โดยการ “กีดกัน” การเป็นผู้ที่ยึดถือใน “หลักการ” ดังกล่าวออกไปจากจิตรเสีย จึงเป็นการ “ง่าย” ที่ปัญญาชนในยุคปัจจุบันผู้ซึ่งเกลียดชังทุนนิยมและ “คืนดีกับศักดินา” ไปแล้ว จะหยิบใช้จิตรสำหรับหนุนเสริมการต่อสู้ของพวกเขาอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องคิดให้ตลอดว่า การอ้างจิตรของพวกเขาจะขัดแย้งต่อความเป็น “คอมมิวนิสต์” หรือขัดแย้งต่อความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแบบ “ถอนรากถอนโคน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่ต้องการต่อต้านโค่นล้มทั้ง “ทุนนิยม” และ “ศักดินา” ของจิตรหรือไม่”
สุดท้าย ธิกานต์ก็ไขข้อสงสัยว่า ผู้ที่กีดกันจิตร ออกจากความเป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการโค่นล้มทุนนิยมและศักดินาคือ “ปัญญาชนในยุคปัจจุบันผู้ซึ่งเกลียดชังทุนนิยมและ “คืนดีกับศักดินา”ไปแล้ว ซึ่งจะหยิบใช้จิตรสำหรับหนุนเสริมการต่อสู้ของพวกเขาอย่างไรก็ได้...” ตรงนี้คือความชัดเจนและโดนใจคนที่เคารพข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์มากที่ สุด
คงไม่ต้องอธิบายว่าคนพวกไหนคือ พวก “คืนดีกับศักดินา” ในวันเวลาที่ชาวบ้าน “ตาสว่าง” แต่ปัญญาชนแกล้ง “ตาบอด” คณะกรรมการปรองดองฯอันมากมีไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุดสะท้อนให้เห็นตัวตนของ ปัญญาชนเหล่านั้นเต็มตาอยู่แล้ว น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่งที่นิสิตปริญญาเอกคนนี้ เรียนคณะเดียวและสถาบันเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ และน่าชื่นชมอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยให้เสรีภาพกับวิทยานิพนธ์ดีๆมีโอกาสได้ นำเสนอและเผยแพร่ ขอแสดงความคารวะในวาทกรรม “ปัญญาชนที่เกลียดชังทุนนิยม และคืนดีกับศักดินา” อันทำให้มองเห็นชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลดังว่าปรากฎชัดขึ้นในมโนภาพ
(5 พฤศจิกายน 2553)
หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊คส่วนตัวของ วิสา คัญทัพ ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น