สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อติเทพ ไชยสิทธิ์ :ว่าด้วยข้อเสนอการนิยามความหมายเกี่ยวกับ ‘การปฏิวัติ’ และ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง ‘หลังการปฏิวัติ’

Tue, 2010-11-16 20:10

อติเทพ ไชยสิทธิ์

ในการอภิปรายหัวข้อเกี่ยวกับ สังคมหลังการปฏิวัติผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับการนิยามความหมายของการปฏิวัติเองเสียก่อน เป็นอันดับแรก เมื่อเรา รู้จักการปฏิวัติ เราย่อมทราบว่าขณะนี้ พวกเรากำลังอยู่ ณ จุดใด ในลำดับเวลาของเหตุการณ์ ระหว่างช่วง ก่อน ท่ามกลาง บั้นปลาย หรือ หลังการปฏิวัติ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาไปถึงที่สุดแล้ว พวกเราก็อาจจะมีคำถามอีกคำถามเกิดขึ้น ว่าแท้จริงแล้วคำว่า หลังการปฏิวัติมีอยู่จริงหรือไม่? และมันดำรงอยู่อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอแบ่งประเด็นในการอภิปรายของตนเองออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.)การนิยามความหมายของการปฏิวัติ และหลังการปฏิวัติ

2.)กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง หลังการปฏิวัติ

และประเด็นทั้งสองส่วนนี้ มักจะถูกยกตัวอย่างเปรียบเทียบ หรืออ้างถึงเป็นการเฉพาะ เกี่ยวกับกรณีศึกษา

ในฝรั่งเศส และไทยเป็นหลัก เนื่องจากความคล้ายคลึงกันบางประการซึ่งจะกล่าวถึงภายหลัง

1. การนิยามความหมายของการปฏิวัติ และหลังการปฏิวัติ

"...การปฏิวัติไม่เคยถูกสร้างขึ้นเพียงครึ่งหนึ่ง; มันต้องเป็นไปทั้งหมด หรือไม่ก็ล้มเหลว. การปฏิวัติทั้งหมดในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำ และเช่นกันกับสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายกำลังพยายามทำในยุคนี้หากแต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องเพราะประชาชนต้องการกฎหมายชนิดใหม่ แต่ใช้ธรรมเนียมอย่างเก่า และปกครองสถาบันแบบใหม่ด้วยคนแบบเก่า... "การปฏิวัติ" หมายถึง ทั้งมวลของรูปแบบและกฎเกณฑ์; "การปฏิวัติ" หมายถึงการยืนยัน, เสริมสร้างความเข้มแข็ง, และทำลายอุปสรรคทั้งมวลที่จะกีดขวางกระบวนการอันนี้..."

คำอภิปรายเนื่องในวาระการประชุมสามัญของคณะกรรมการซอง-กูล็อต
โดย มาราต์-เมย์จ์ ประธานและกรรมาธิการคณะกรรมการบริหารเมือง ณ ที่ว่าการเมืองเมิร์ธ ปี 1789

คำว่า ‘Revolution’ มีความหมายตามรากศัพท์ว่าการหมุนกลับรอบแกนอ้างอิงเหตุใดความหมายนี้ จึงแตกต่างจากความหมายกว้างๆ ที่คนทั่วไปเข้าใจ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและทำลายโครงสร้างในสังคมแบบเก่าลงอย่างรุนแรง เพื่อสถาปนาโครงสร้างของสังคมแบบใหม่ผ่านกลไกต่างๆ ในทางสังคม-วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ เหตุผลที่ในที่นี้ ไม่ได้ใช้คำว่าเปลี่ยนแปลงและทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเพราะมันยังคงมีส่วนประกอบของสังคมแบบเก่าในสังคมแบบใหม่ นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะบางสิ่งบางอย่าง - หากมองในมุมองของมาร์กซิสม์ ก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต

สำหรับคำถามที่ว่าด้วย การหมุนวนกลับรอบแกนอ้างอิงในบริบทแบบตะวันตก ย่อมเชื่อมโยงกับการกำเนิดความหมายในทางการเมืองเป็นครั้งแรก คือ ‘The Glorious Revolution’ ซึ่งคาดว่าถูกใช้เพื่ออธิบายการกลับมาของนิกายโปรเตสแตนท์ในอังกฤษ ภายหลังการปลดกษัตริย์คาธอลิค คือ เจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และแทนที่ด้วยกษัตริย์โปรเตสแตนท์ คือ วิลเลียมส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ - หลังจากนั้น คำประกาศว่าด้วยสิทธิ’ (Bill of Rights) ก็ได้จำกัดสิทธิมิให้บุคคลที่เป็นคาธอลิคขึ้นสู่ราชบัลลังค์ และไม่อนุญาตให้กษัตริย์สมรสกับสตรีผู้เป็นคาธอลิคอีกด้วย

ภายหลังเมื่อมีการปฏิวัติฝรั่งเศส คำว่า ‘Revolution’ ก็หมายถึงการหมุนวนกลับไปสู่ยุคกรีก หรือ สภาวะของมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติเดิมแท้ ด้วยเหตุนี้ การดำรงอยู่ของกษัตริย์จึงเป็นสิ่งแปลกปลอม และการนำพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สู่ลานกิโยติน จึงเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคของพลเมือง เช่นเดียวกันกับความเป็นพ่อและความเป็นชาย ที่ถูกลดทอนลงในสัญลักษณ์ช่วงแรกของการปฏิวัติ เราสามารถเข้าใจความนึกคิดที่ว่านี้ ของกลุ่มผู้มีการศึกษาชาวฝรั่งเศสในรายงานบันทึกการเปิดการแข่งขันหนังสือ เรียนพื้นฐานสำหรับการศึกษาชั้นต้นเล่มแรก โดยเจ้าหน้าที่นามว่าเกรกรัว ในปี 1794 ที่ว่า “…ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้มาไกลเกินกว่าผู้คนในที่แห่ง อื่น. อย่างไรก็ตาม, ระบอบอันน่ารังเกียจซึ่งพวกเราเพิ่งกำจัดออกไป ได้นำเราไกลห่างจากธรรมชาติ. นี่คือช่องว่างอันมโหราฬระหว่างสิ่งที่เราเป็น อยู่กับสิ่งที่เราสามารถจะเป็นได้. ขอพวกเราจงเร่งกันอุดช่องว่างนี้; ขอพวกเราจงคืนธรรมชาติของมนุษย์ด้วยตราประทับอันใหม่…” ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นความหมายในบริบทแบบตะวันตก เหตุใดคำว่า ‘Revolution’ จึงถูกแปลเป็นไทยว่าการปฏิวัติ’?

คำว่า การปฏิวัติถูกบัญญัติโดย หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และมีความหมายโดยรากศัพท์แล้ว คล้ายคลึงกับคำว่า ‘Revolution’ ซึ่งก็คือการหมุนวนกลับทางแต่ในเมื่อสังคมไทยไม่มีบริบททางประวัติศาสตร์ของคำเช่นเดียวกับที่มีใน ตะวันตก การ เลือกใช้คำดังกล่าวของของหม่อมเจ้าวรรณฯ จึงสมควรที่จะมีเหตุผลเบื้องหลัง

ในส่วนนี้ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการปฏิวัติในความหมายของหม่อมเจ้าวรรณฯ นั้น ก็คือการเปลี่ยนหลักมูลฐานของการปกครองบ้านเมือง โดยย้อนกลับเอาหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เคยใช้ก่อนสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ มาใช้ใหม่ โดยวิถีทางใหม่และกลไกการปกครองแบบใหม่หลักการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ว่าก็คือ หลักเอนกชนนิกรสโมรสรสมมติ’ - คำอธิบายในส่วนนี้น่าสนใจยิ่ง และจะถูกกล่าวถึงอีกครั้งในหัวข้อที่ 2 ของการอภิปราย

เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่าการปฏิวัติโดยกว้างแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นการอภิปรายเพื่อนิยามความหมายของการปฏิวัติในลักษณะที่จำเพาะ มากขึ้น นั่นคือการปฏิวัติ ไม่ใช่การกระทำ คือไม่ใช่ทั้ง ‘action’ และ ‘actions’ แต่เป็นกระบวนการ หรือลำดับของการกระทำที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของพื้นที่ทางสังคม-การเมืองให้ ต่างออกไปจากที่เคยเป็นมา ด้วยกลไกภายในของสังคม-การเมืองเอง

ในส่วนนี้จำเป็นต้องกล่าวถึงความสับสนอันมากของคนทั่วไป ก็คือ การปฏิวัติ (Revolution) กับ การรัฐประหาร (Coup d’état) แตกต่างกัน โดยการการรัฐประหาร คือการได้มาซึ่งอำนาจรัฐเพียงเท่านั้น แต่การปฏิวัติในความหมายทั่วไป เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน, ระหว่างที่ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ และหลังจากนั้น และมันคือกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หลักการ คุณค่า แบบแผน พูดอย่างง่ายว่า แทบทุกอย่างในชีวิตของคน และของรัฐ

การรัฐประหารอาจนำไปสู่การปฏิวัติทางการเมือง (Political Revolution) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแต่ความสัมพันธ์ทางการผลิตยังคงไม่ถูกเปลี่ยน แปลง และการรัฐประหารอาจเป็นส่วนเริ่มต้น (ไม่ใช่ จุดเริ่มต้น’) ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติทางสังคม (Social Revolution) ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีรัฐประหารแล้วจะเป็นเช่นนั้น โดยส่วนตัว ผมคิดว่าประเทศไทยมีการปฏิวัติ (ในความหมายทั่วไป) ถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก คือ พ.ศ. 2475 และครั้งที่สองคือการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 แน่นอนว่าถ้าเรามุ่งเน้นพิจารณาความหมายของการปฏิวัติเป็นเฉพาะในส่วนของการ เปลี่ยนแปลงความคิด ค่านิยม หลักการ - การปฏิวัติในปี พ.ศ. 2475 ก็คือการพยายามสถาปนาความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ ในขณะที่การปฏิวัติในปี พ.ศ. 2490 ก็คือการพยายามสถาปนาความคิดเรื่องกษัตริย์ที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และในขณะนี้ ผลพวงของการปฏิวัติทั้งสองครั้งก็กำลังขับเคี่ยวกันอยู่

ทั้งหมดนี่ เป็นความพยายามทำให้ความสับสนที่มีอยู่ในคนทั่วไปกระจ่าง พร้อมๆ กับมีข้อเสนอบางประการผ่านการนิยามความหมายของการปฏิวัติในแบบทั่วไป ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ส่วนที่เป็นการกำหนดนิยามความหมายของการปฏิวัติอีก ครั้ง

ควรจะทิ้งท้ายไว้ในที่นี้ ว่าถึงที่สุด ความคิดเรื่อง การปฏิวัติทางสังคม หรือการปฏิวัติทางการเมือง เป็นผลผลิตของความคิดแบบมาร์กซิสม์ และทรอตสกีก็ได้ใช้ความคิดนี้ ในการอภิปรายการปฏิวัติรัสเซียและสังคมโซเวียตไว้ในหนังสือเรื่อง ‘The Revolution Betrayed’ หรือ การปฏิวัติที่ถูกทรยศของเขา ซึ่งทรอตสกีเรียกสังคมโซเวียตหลัง การปฏิวัติทางการเมืองในขณะนั้นว่า รัฐชนชั้นเจ้าสมบัติ ที่ปราศจากเจ้าสมบัติ’ (A bourgeois state without a bourgeoisie) - นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งของความคิดแบบแอนติ-มาร์กซิสม์ ในการอภิปรายเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่น่าสนใจ ซึ่งมาร์กซิสต์มองว่าการปฏิวัติทางสังคมจะนำไปสู่ผลสืบเนื่องทางการเมือง - ข้อโต้แย้งทั้งหลายได้รับอิทธิพลมาจากบทความเรื่อง ‘Non-Capitalist Wealth and the Origins of the French Revolution’ ของ George V. Taylor ซึ่งเขาได้สรุปไว้ว่ามันมีความจำเป็นที่การปฏิวัติทางการเมืองจะนำไปสู่ผล สืบเนื่องทางสังคม ไม่ใช่การปฏิวัติทางสังคมที่จะนำไปสู่ผลสืบเนื่องทางการเมือง

ผมขอกลับมาสู่การกำหนดความหมายของการปฏิวัติอย่างจำเพาะอีกครั้ง เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการปฏิวัติไม่ใช่การกระทำเพียงครั้งเดียว หรือการกระทำหลายครั้ง แต่เป็นกระบวนการ หรือลำดับของการกระทำ ซึ่งทำให้เราได้ข้อสรุปใหม่อีกประการหนึ่ง นั่นคือการปฏิวัติย่อมมีการ จัด วางแบบแผนใหม่ไปในเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลง ของโครงสร้าง ดังนั้น แม้การปฏิวัติทางสังคม และการปฏิวัติทางการเมืองจะเป็นคนละเรื่อง แต่เราไม่อาจจำกัดการปฏิวัติทางสังคมเป็นเพียงผลสืบเนื่องทางสังคมได้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับสามารถจำกัดการปฏิวัติทางการเมืองเป็นผลสืบเนื่องของการจัดวางแบบแผน ใหม่ในเวลาเดียวกันกับที่มีการปฏิวัติทางสังคม นั่นคืออาจมีการปฏิวัติทางการเมืองหลายครั้ง ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยจัดรูปให้สังคมมีแนวโน้มที่จะไปสู่รูปแบบจำเพาะหนึ่งๆ ซึ่งเหมาะต่อความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นๆ

สำหรับแบบแผนและการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง หากพูดให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ เราไม่ได้กำลังเปลี่ยนแปลงแค่โครงสร้างของบ้าน (บ้าน ซึ่งมีส่วนฐานเป็นความสัมพันธ์เศรษฐกิจ และส่วนบนเป็นความสัมพันธ์ทางอุดมการณ์-การเมือง) แต่เรากำลังจัดวางเฟอร์นิเจอร์ภายในส่วนต่างๆ เสียใหม่ เฟอร์นิเจอร์ในที่นี้ คือหลักการ คุณค่า แบบแผนของกลไกต่างๆ ภายในสังคมนั้นเอง เช่น ในสังคมแบบศักดินาเราอาจมีกลไกของรัฐในการผลิตอุดมการณ์เพียงอย่างเดียวนั่น คือ โบสถ์ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นสังคมทุนนิยม รัฐมีกลไกการผลิตอุดมการณ์เพิ่มมากขึ้น นั่นคือการศึกษาในโรงเรียน ในขณะที่โบสถ์ก็ค่อยๆ หมดบทบาทลงไป ที่กล่าวมานี้คือแบบแผนของการสร้างคุณค่าในสังคม หากกลับมาพูดง่ายๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบ้านหลังนี้ ส่งผลต่อการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไปพร้อมๆ กัน ในขณะเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์ก็ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางโครงสร้างของบ้าน

สำหรับตัวอย่างที่อาจจะชัดกว่านั้นก็คือ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่จะต้องรวบอำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง ไม่สามารถทำได้สำเร็จ คนที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองในระดับท้องถิ่นล้วนเป็นคนที่เคยมีบทบาทใน ยุคก่อนการปฏิวัติแทบจะทั้งสิ้น ศูนย์อำนาจเคลื่อนย้ายจากสภาแห่งชาติของสาธารณรัฐที่ 1 ไปสู่กองทัพ และนำไปสู่เถลิงอำนาจของนโปเลออง จากนโปเลอองไปสู่ยุครื้อฟื้นอำนาจกษัตริย์ และนำไปสู่สาธารณรัฐที่ 2 อีกครั้ง ความเป็นรัฐสมัยใหม่ในฝรั่งเศส ถูกสร้างขึ้นด้วยการปฏิวัติทางการเมืองหลายครั้ง เพื่อจัดแบบแผนของสังคมในหลายด้านให้พร้อมกับการเป็นรัฐข้าราชการ ที่เปิดรับคนจำนวนมากเข้ามาขับเคลื่อนการทำงานของรัฐ

ถ้าเรานิยามว่าการปฏิวัติทางสังคม คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต ผมเสนอว่าใน ฐานะที่เราอยู่ท่ามกลาง กระบวนการปฏิวัติเราย่อมไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยน แปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต และเราก็ไม่สามารถกำหนดจุดสิ้นสุดของมันได้ในขณะเดียวกัน สิ่งเดียวที่เราอาจจะรู้ได้ ก็คือการมีอยู่ของมัน เรารู้ว่าตนเองกำลัง อยู่ท่ามกลางการปฏิวัติ และจะอธิบายมันได้ ก็ต่อเมื่อมันผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปแล้ว มีแต่การมองการปฏิวัติย้อนกลับไปข้างหลังเท่านั้นที่เกิดขึ้นได้ มันไม่สามารถมองไปข้างหน้าได้ว่าการปฏิวัติจะมีกระบวนการอะไรบ้าง เริ่มต้นเมื่อไร และสิ้นสุดเมื่อไร ถ้าเราพูดถึงกระบวนการปฏิวัติ(Revolutionary process) ที่ประกอบด้วยลำดับของการกระทำจำนวนมาก มันไม่ได้เรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ แต่ว่ามันจะต้องทับซ้อนกัน หากผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพอีกครั้ง ส่วนที่ในอนาคตจะถูกซ้อนกันก็จะเกิดความพร่าเลือน เพราะลำดับของการกระทำเหล่านี้ไม่ใช่แถบสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดา แต่เป็นแถบที่มีการกระจายของเฉดสี เวลาที่แถบสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีการกระจายเกรย์เดียนท์มาซ้อนกัน จุดที่พร่าเลือนเดิมก็จะเกิดการแทรกสอดกลายเป็นสีที่ชัดขึ้นมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะเห็นความชัดเจนนี้ ก็ต่อเมื่อมีการวางลงมาของลำดับการกระทำชุดใหม่แล้ว และเราอยู่ในลำดับของการกระทำชุดนั้น นี่เองก็เป็นสาเหตุให้เราไม่สามารถกำหนดได้แม้แต่ว่า อะไรคือจุดวิกฤติ(critical point) ของการเปลี่ยนแปลงย่อยภายในกระบวนการปฏิวัตินั้น ไม่ต้องพูดถึงช่องว่างระหว่างการปฏิวัติทางสังคมแต่ละครั้งเอง ที่จะต้องถูกถมด้วยลำดับการกระทำเท่าไร ภาพนั้นจึงจะชัดขึ้นมา และคนในภายหลังจึงสามารถอธิบายมันได้ มีเพียงสิ่งเดียวที่เกิดขึ้น ระหว่างกระบวนการปฏิวัติ ก็คือเราสามารถวัดการมีอยู่ของมันได้ผ่านทางอ้อมเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคมในระดับมหึมา ส่วนนี้ทำให้จินตนาการของมนุษย์ถูกจำกัดอยู่ในความสามารถของการรับรู้แบบ เดิม เพราะมนุษย์ในสังคมถูกก่อรูปขึ้นด้วยวัตถุดิบของสังคมแบบเก่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพร่าเลือน มีแต่มนุษย์ที่ถูกก่อรูปขึ้นในสังคมแบบใหม่เท่านั้นที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ ของสังคมแบบใหม่ ผมเห็นด้วยส่วนหนึ่งกับสิ่งที่รุสโซเขียนไว้ในหนังสือคำสารภาพของเขาว่า "ข้าพเจ้ามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการเมืองโดยรากฐาน, และนั่น, ไม่สำคัญว่าใครจะมองมันเช่นไร, ประชาชนไม่อาจเป็นอะไรได้ นอกเสียจาก 'เป็น' สิ่งซึ่งธรรมชาติแห่งรัฐนั้นได้สร้างขึ้น

สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับข้อเสนอที่จะต้องจำแนกการปฏิวัติออกจากความรับรู้ ความเข้าใจของคนทั่วไป เพราะมีคนตั้งคำถามกลับมาว่า เหตุใดในเมื่อเราไม่สามารถรับรู้อนาคตของการปฏิวัติได้ แต่คนในสังคมกลับคิดอยู่เสมอว่าสังคมมีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยใช้การวัดเชิงสัมพัทธ์กับสังคมอื่นๆ ในโลกที่มีสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองมากกว่าประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องแยก การปฏิวัติออกเป็น ‘revolution’, และ ‘Revolutions’ ซึ่ง ‘revolution’ ก็คือ การปฏิวัติทางการเมืองในความเข้าใจของคนทั่วไป หรือช่วงสั้นๆ ของการปฏิวัติทางสังคม ซึ่งอาจจะเป็นแค่เพียงลำดับการกระทำหนึ่งๆ ในกระบวนการปฏิวัติทั้งหมด ในขณะที่ ‘Revolutions’ หมายถึง การปฏิวัติทางสังคมทั้งหมดที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างรากฐาน สิ่งที่เราใช้นำมาวัดกันอย่างสัมพัทธ์นั้น ไม่ใช่ Revolutions แต่เป็น revolutions นั่นคือ การมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการเมืองของสังคมทุนนิยม ก็คือการเปิดโอกาสให้คนที่มีความหลากหลายเข้ามาแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน ของโลกสมัยใหม่ แต่เราไม่สามารถเข้าใจ Revolutions ได้อย่างแน่นอน ไม่มีใครทราบว่าหลังจากนี้สังคมจะเป็นเช่นไร แบบแผนอย่างไรจะถูกนำมาขับเคลื่อนสังคม และจะมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างไร แน่นอนอย่าลืมว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากหน่วยย่อย และความสัมพันธ์ของหน่วยย่อยในสังคมเอง เวลาที่ผมพูดว่า นำมา’ ‘ถูกใช้หรือ เป้าหมายไม่ได้มีความหมายในเชิงเทเลออลอจี (teleology) มันถูกใช้ในฐานะภาษาทั่วไป ซึ่ง ต้องย้ำว่ากระบวนการทั้งหลายเกิดขึ้นจากภายในโดยชนชั้น ระหว่างชนชั้น และโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตเอง

ดังนั้น ผมจึงขอสรุปการนิยามความหมายของการปฏิวัติ ออกเป็นหัวข้อ เพื่อให้ชัดเจนมากขึ้น ดังต่อไปนี้

1.การปฏิวัติ ไม่ใช่การกระทำ คือไม่ใช่ทั้ง ‘action’ และ ‘actions’ แต่เป็นกระบวนการ หรือลำดับของการกระทำที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของพื้นที่ทางสังคม-การเมืองให้ ต่างออกไปจากที่เคยเป็นมา ด้วยกลไกภายในของสังคม-การเมืองเอง

2.การปฏิวัติย่อมมีการจัดวางแบบแผนใหม่ไปในเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลง เชิง โครงสร้าง แต่เราไม่อาจจำกัดการปฏิวัติทางสังคมเป็นเพียงผลสืบเนื่องทางสังคมได้ ในทางตรงกันข้าม เรากลับสามารถจำกัดการปฏิวัติทางการเมืองเป็นผลสืบเนื่องของการจัดวางแบบแผน ใหม่ในเวลาเดียวกันกับที่มีการปฏิวัติทางสังคม

3.ในฐานะที่เราอยู่ท่ามกลาง กระบวนการปฏิวัติเราย่อมไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยน แปลงความสัมพันธ์ทางการผลิต และเราก็ไม่สามารถกำหนดจุดสิ้นสุดของมันได้ในขณะเดียวกัน สิ่งเดียวที่เราอาจจะรู้ได้ก็คือการมีอยู่ของมัน และการปฏิวัติเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

4.เราจำเป็นที่จะต้องแยกการปฏิวัติออกเป็น ‘revolution’, และ ‘Revolutions’ ซึ่ง ‘revolution’ ก็คือ การปฏิวัติทางการเมืองในความเข้าใจของคนทั่วไป หรือช่วงสั้นๆ ของการปฏิวัติทางสังคม ซึ่งอาจจะเป็นแค่เพียงลำดับการกระทำหนึ่งๆ ในกระบวนการปฏิวัติทั้งหมด ในขณะที่ ‘Revolutions’ หมายถึง การปฏิวัติทางสังคมทั้งหมดที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างรากฐาน

ด้วยเหตุที่ผมกล่าวมานี้ สังคมหลังการปฏิวัติจึงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถวัด หรืออธิบายได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่ผ่านพ้นลำดับการกระทำทั้งหลายไป ถ้า สังคมในวลีดังกล่าวหมายถึงการเป็นสังคมทุนนิยม ผมก็ยังคิดว่าทุกวันนี้การปฏิวัติของทุนนิยมเองก็ยังไม่จบสิ้น การจัดวางแบบแผนของสังคมยังคงดำรงอยู่แม้ในขณะนี้ และนั่นเป็นสัญญาณที่เราวัดได้ถึงการมีอยู่ของ กระบวนการปฏิวัติการปฏิวัติทุนนิยมจะเสร็จสิ้นภารกิจของมัน ก็ต่อเมื่อ มันถูกทำลายลง เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถอธิบายเรื่อง สังคมหลังการปฏิวัติทุนนิยมได้ มีแต่การปฏิวัติที่เสร็จสิ้นแล้วเท่านั้นที่ถูกทำนายได้ แต่การปฏิวัติที่ยังไม่เสร็จสิ้นคงเป็นพื้นที่ปริศนา

ดังนั้น การอภิปรายในส่วนที่สอง เกี่ยวกับ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองหลังการปฏิวัติจึงจะจำกัดการกล่าวถึง เฉพาะแต่ ‘revolution’ ซึ่งลำดับการกระทำจำนวนมากได้เกิดขึ้นไปแล้ว และสามารถวัดเชิงสัมพัทธ์กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมแห่งอื่นได้ การปฏิวัติที่จะใช้เป็นกรณีศึกษานี้ คือ 1.) การปฏิวัติฝรั่งเศส และ 2.) การปฏิวัติสยาม

2. กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง หลังการปฏิวัติ

"...รูปแบบของพิธีกรรมมีความสำคัญเท่ากับเนื้อหาจำเพาะทางการเมือง สัญลักษณ์ทางการเมืองและพิธีกรรมไม่ใช่เพียงอุปลักษณ์ของอำนาจ หากแต่คือความหมายและรวบยอดของอำนาจโดยตัวของมันเอง..."

Lynn Hunt - Politics, Culture, and Class in the French Revolution

ก่อนที่จะเข้าสู่การอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การ เมือง หลังการปฏิวัติของฝรั่งเศส และไทย มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดขอบเขตให้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกันก่อน ถึงคำว่า การปฏิวัติในการอภิปรายนี้ อย่างที่ทราบว่าโดยปกติเรามักกำหนดให้การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1789 และการปฏิวัติสยามเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2475 การนิยามเช่นนี้ ทำให้ภาพของการปฏิวัติเป็นเพียง การกระทำหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความเป็นจริง การปฏิวัติเป็นกระบวนการ ที่มีลำดับสืบเนื่องของการกระทำจำนวนมากในเวลาเดียวกัน แน่นอนว่าเราสามารถกำหนดส่วนเริ่มต้น เนื่องเพราะเราได้ข้ามพ้นลำดับการกระทำย่อยนี้มาแล้ว นั่นคือการสร้างรัฐชาติแบบข้าราชการ (Bureaucracy state) - ในที่นี้ผมใช้คำว่า ส่วนเริ่มต้นไม่ใช่จุดเริ่มต้น เพราะสิ่งที่เราวัดได้ หรือสัมผัสได้ เป็นเพียงส่วนซ้อนทับความพร่าเลือนระหว่างลำดับการกระทำต่างๆ เท่านั้น

ส่วนเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ควรจะเริ่มขึ้น เมื่อมีการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเข้มข้นในรัชสมัยของพระเจ้าลุยส์ที่ 14 แต่ด้วยความเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์นี่เอง ที่ทำให้มันไม่ได้เปิดโอกาสให้กับคนจำนวนมาก ได้เข้ามาในระบบข้าราชการอย่างแท้จริง การเป็นรัฐสมัยใหม่ในช่วงแรก นอกจากจะมีเขตแดนที่ชัดเจน สิ่งซึ่งขาดไม่ได้ คือการเป็นรัฐระบบข้าราชการขนาดใหญ่ ในส่วนนี้ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ต็อกเกอร์วิลย์ (Tocqueville) เสนอไว้ว่า สาเหตุของการปฏิวัติ (และแนวโน้มของสังคมในยุคศตวรรษที่ 18) เริ่มมาจากการที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ต้องการเพิ่มอำนาจรัฐ การกระทำของเจ้าผู้ปกครองดังกล่าว ได้ทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของเหล่าชนชั้นสูง และทำให้ข้อเรียกร้องของเหล่าอำมาตยาธิปไตยไม่เป็นที่รับได้ในกลุ่มก้อนทาง สังคมอื่นๆ การปฏิวัติจึงเกิดขึ้นเพื่อแข่งขันกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์เดิม ด้วยการสถาปนาอำนาจรัฐแบบใหม่ ที่มีความเข้มแข็งกว่า ดังนั้นผลผลิตสำคัญของการปฏิวัติจึงควรจะเป็นรัฐที่รวมศูนย์มากกว่า และมีความเป็นข้าราชการมากกว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์นั่นเอง

ภายหลังสิ้นรัชสมัยของลุยส์ที่ 14 ผู้สืบราชบัลลังค์ คือพระเจ้าลุยส์ที่ 15 ทั้งรัชกาล อุทิศให้กับการทำสงครามในอเมริกา ความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ที่ไม่สามารถสร้างรัฐข้าราชการสมัยใหม่ได้ ตกอยู่กับรัชสมัยของพระเจ้าลุยส์ที่ 16 ซึ่งอย่างที่ทราบกันดี มันได้นำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐที่ 1 ในที่สุด อย่างไรก็ตามภารกิจดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริงในการบริหารงานของทั้ง สภาแห่งชาติ คณะไดแร็คตัวร์ หรือคณะกงสุล - จากการค้นคว้าของลินน์ ฮันท์ (Lynn Hunt) ในเรื่อง ภูมิศาสตร์ทางการเมืองของการปฏิวัติ’ ( The Political Geography of the Revolution) นอกจากเธอจะได้ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ และเศรษฐกิจของแต่ละเมือง ในแต่ละภูมิภาคแล้ว เธอยังได้ศึกษาเรื่องการเข้ามาสู่การเมืองของกลุ่มคนในชนชั้นและอาชีพต่างๆ (ชนชั้นในที่นี้เป็นความหมายแบบกว้าง ไม่ใช่ในความหมายแบบมาร์กซิสม์) เธอพบว่าในช่วงการบริหารของสภาแห่งชาติ คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาสู่การเมืองเป็นนักกฎหมาย และกลุ่มพ่อค้าไม่เคยมีส่วนเข้าไปในสภาแห่งชาติมากเกินกว่า 14 เปอร์เซนต์เลย จำนวนของกลุ่มพ่อค้าค่อยๆ ลดลงอย่างคงที่ จนเหลือราว 4 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้การบริหารของคณะดิแร็คตัวร์ ในขณะที่การค้นคว้าเกี่ยวกับการเมืองระดับท้องถิ่น ในเมืองใหญ่ๆ 4 แห่ง คือ เอเมียง, บอร์โดซ์, นองซี และตูลูส เธอพบว่า มีสถิติที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1791 - 1799 นั่นคือคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสภาบริหารของเมืองเป็นพ่อค้าคนกลางและช่างฝีมือ จำนวนมาก ในขณะที่นายทุน, ชนชั้นล่าง, หรือว่าผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านอื่นๆ รวมกันก็ยังน้อยกว่าจำนวนของพ่อค้าคนกลางและช่างฝีมือเสียอีก สำหรับกลุ่มอาชีพที่รองลงมาคือนักกฎหมาย ซึ่งกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มต่างมีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ในระบอบเก่า และสำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแต่ละเมือง เธอก็พบว่า จำนวนของนักกฎหมายจะลดลง ในขณะที่กลุ่มพ่อค้าคนกลางและช่างฝีมือจะเพิ่มขึ้น การสถาปนาของสาธารณรัฐ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ชนชั้นนายทุน หรือชนชั้นล่างเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง แต่เป็นการขยายโอกาสให้กับกลุ่มชนชั้นกลางมีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เท่านั้น และถ้าเราตามสถิติเช่นนี้ไปจนตลอด ถึงการสถาปนาสาธารณรัฐที่ 2 เราจะเห็นการขยับขยายตัวเข้ามาของชนชั้น ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปิดรับคนเข้ามารับใช้ระบบราชการได้ในที่สุด

ในความเห็นของโฮเวิร์ด จี. บราวน์ (Howard G. Brown) จากหนังสือของเขา เรื่อง สงคราม, การปฏิวัติ, และรัฐข้าราชการ: การเมืองและการบริหารกองทัพในฝรั่งเศส ปี 1791 – 1799’ (War, Revolution, and the Bureaucratic State: Politics and Army Administration in France, 1791-1799) การสร้างรัฐข้าราชการสมัยใหม่ กลับกลายเป็นหน้าที่ของกองทัพที่มีความเป็นเอกภาพ และเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากแทน ความเข้มแข็งของกองทัพและหน่ออ่อนของรัฐข้าราชการสมัยใหม่ เติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กัน กับชัยชนะในสงคราม ณ ขณะนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เพื่ออธิบายให้เห็นว่าการปฏิวัติทางสังคมของฝรั่งเศสเกิดขึ้นท่ามกลางการจัด วางแบบแผนทางการเมือง ซึ่งแสดงออกในการปฏิวัติทางการเมืองหลายครั้ง การโค่นล้มระบอบสมบูรญาสิทธิ์ เป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ จากกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาธารณรัฐ จากสาธารณรัฐเป็นเทอร์เรอร์ จากเทอร์เรอร์ เป็นจักรวรรดิ จากจักวรรดิกลับมาเป็นสมบูรณาญาสิทธิ์ จากสมบูรณาญาสิทธิ์เป็นสาธารณรัฐ จากสาธารณรัฐเป็นจักรวรรดิอีกครั้งหนึ่ง ขอจบการไล่ลำดับแบบแผนทางการเมืองลงเพียงเท่านี้ก่อน กลับไปสู่ข้อสรุปก็คือว่า เราไม่อาจมองการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเพียงแค่การบุกคุกบาสตีย์ และประหารชีวิตพระเจ้าลุยส์ที่ 16 แต่มันเป็นกระบวนการที่ยาวนาน และส่งทอดผ่านแบบแผนทางการเมืองต่างๆ หลายครั้ง การปฏิวัติไม่ใช่กระบวนการของความรุ่งโรจน์ หรือคุณค่าประชาธิปไตยใดๆ การปฏิวัติเป็นเพียงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสังคม ที่ต้องการแบบแผนที่หลากหลายเพื่อจัดวางสังคมให้เหมาะสมกับความสัมพันธ์ทาง การผลิตอย่างจำเพาะ จนถึงบัดนี้ การปฏิวัติฝรั่งเศส ก็ยังคงไม่จบ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในฐานะเครื่องมือของการเปิดโอกาสให้คนที่มีความหลากหลายสามารถเข้ามาสู่การ เมืองเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนยังเป็นสิ่งที่กำลังต่อสู้กันอยู่ การปฏิวัติฝรั่งเศสในความหมายของผมจะจบลงก็ต่อเมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลงความ สัมพันธ์ทางการผลิต แต่เมื่อไรล่ะ เราย่อมไม่อาจกำหนดได้ คาดการณ์ได้ หรือทำนายได้ อย่างแน่นอน คุณค่าหรือหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบัน เป็นเพียงแบบแผนทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ใช้ในการจัดวางสังคม มันอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงเช่นไรในอนาคต ไม่อาจทราบได้

สำหรับส่วนเริ่มต้นของการปฏิวัติสยาม ก็ไม่ควรจะเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2475 แต่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่การพยายามสร้างรัฐชาติ และรัฐข้าราชการสมัยใหม่ของรัชกาลที่ 5 ในด้านความคล้ายคลึงกัน ข้อจำกัดของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ ก็ทำให้ระบบข้าราชการสมัยใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ มันถูกส่งต่อผ่านหลายรัชสมัย มาจนถึงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของโลก และภายในประเทศ ที่ทำให้ความเสื่อมและความไม่ยืดหยุ่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ถึงจุดสิ้นสุดในการรัฐประหารวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎร พยายามสร้างรัฐข้าราชการสมัยใหม่ เนื่องจากไม่มีเวลาค้นคว้าในส่วนนี้ ทำให้ผมไม่สามารถกำหนดได้อย่างแน่นอนว่าความเป็นรัฐข้าราชการของไทยอย่าง สมบูรณ์มันเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงใดหลังจากนั้น หากจะให้คาดการณ์อย่างหยาบ ผมคิดว่าควรจะเป็นในราวปี 2505 หรือ 2506 ซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นตัวรองรับการขยายตัวนี้

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมต้องการแบบแผนทางการ เมืองที่หลากหลาย ถ้าถามว่าในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับอะไร และความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันสะท้อนถึงอะไร หากจะวัดอย่างสัมพัทธ์กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในที่อื่น ความคิดเรื่องความเสมอภาคทางการเมืองในไทย ควรจะเป็นแบบแผนทางการเมืองที่ว่านี้ ตราบใดที่ความเสมอภาคทางการเมืองยังไม่มี รัฐก็ไม่ยืดหยุ่นและรองรับการขยายตัวให้คนที่มีความหลากหลายเข้ามาสู่การ เมืองได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เพราะระบบทุน นิยม ต้องไม่ยอมให้มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือเครือข่ายอุปถัมภ์ ที่มีการคัดเลือกคนเข้าทำงานผ่านระบบสายเลือด หรือว่าความสนิทสนม ในขณะที่สังคมไทยเองถ้าหากนายทุนคนใดต้องการจะรวยอย่างถึงที่สุด ก็จะต้องสวามิภักดิ์กับเครือข่ายอุปถัมภ์ดังกล่าว การบริจาคเงินเป็นกิจกรรมใบผ่านทางที่ประสบความสำเร็จ ในการเบิกทางเศรษฐกิจที่ต้องการการเติบโตมากกว่าด้วยกลไกตลาดปกติ นี่เป็นตัวอย่างของปัจจัยที่ทำให้กลุ่มคนในสังคมต่างๆ เกิดความขัดแย้งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แน่นอนว่าการปฏิวัติสยามก็ยังไม่เสร็จสิ้น และนี่คงถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการจัดวางความสัมพันธ์ของสังคมเสียใหม่

ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คือการกำหนดขอบเขตให้เกิดความเข้าใจด้วยโดยทั่วกัน ถึงลำดับเหตุการณ์ของทั้งในฝรั่งเศส และไทย ต่อไปนี้จะเป็นการอภิปรายเรื่อง กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมือง ซึ่งหมายความว่า เราจะเน้นกระบวนการทางสังคมที่เชื่อมโยงกับการเมืองเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การเปลี่ยนขั้วอำนาจ การแผ่ขยายของอำนาจกลุ่มก้อนทางการเมืองบางกลุ่ม จะถูกกล่าวถึงอย่างจำเพาะกับกระบวนการทางสังคมที่อภิปรายถึงเท่านั้น

เนื่องจากการกำหนดความหมายของการปฏิวัติ ว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราย่อมไม่อาจจำกัดการปฏิวัติลงเป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็คือการปฏิวัติ แบบแผนของการทักทาย มารยาททางสังคม และการปฏิสัมพันธ์ ก็ล้วนเป็นพื้นที่ของการปฏิวัติทางสังคม ซึ่งสำหรับในส่วนนี้ แนวคิดของอัลตูแซร์ในเรื่อง กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ(Ideological State Apparatuses) มีความน่าสนใจ ที่จะถูกนำมาใช้ในการทำความเข้าใจ การปฏิวัติที่เกิดชึ้นตลอดเวลานี้

ส่วนหนึ่งของบทความขนาดยาว เรื่อง อุดมการณ์ และ กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ’ (Ideology and Ideological State Apparatuses) ของเขา ได้กล่าวสรุปประเด็นสำคัญของงานชิ้นนี้เอาไว้ว่า “…ในความรู้ ของข้าพเจ้า ไม่มีชนชั้นใดสามารถยึดกุมอำนาจรัฐเป็นเวลายาวนานโดยไม่ได้สถาปนาอำนาจนำ เหนือและในกลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐไปในเวลาเดียวกันความเห็นในส่วนสุด ท้ายนี้ นำเราไปสู่ความเข้าใจที่ว่ากลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatuses) ไม่ใช่เพียงแค่เดิมพัน หากแต่ยังเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางชนชั้น และยังคงเป็นรูปแบบของการต่อสู้ทางชนชั้นที่ยืดเยื้อเข้มข้นอีกด้วย ชนชั้น (และชนชั้นที่เป็นพันธมิตร) ซึ่งอยู่ในอำนาจไม่อาจจัดวางกฎเกณฑ์ลงในกลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐได้อย่าง ง่ายดาย เช่นเดียวกับที่เป็นในกลไกการกดขี่ของรัฐ(Repression State Apparatuses) ไม่ใช่เพียงแค่เพราะชนชั้นปกครองเก่าสามารถดำรงอยู่ในฐานะที่ เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน หากแต่เป็นเพราะชนชั้นที่ถูกกดขี่ สามารถค้นหาวิถีทางหรือโอกาสที่จะแสดงการต่อต้านนั้นได้ ทั้งด้วยเหตุแห่งการใช้ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้ว หรือด้วยการมีชัยชนะในสงคราม(แห่งอุดมการณ์)นี้…”

หากจะกล่าวโดยสรุปอีกครั้ง ถึงแนวคิดของอัลตูแซร์ในเรื่องนี้ ก่อนอื่นใด เราควรจะระลึกไว้เสมอว่า อำนาจรัฐ และกลไกของรัฐ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มันมีความเป็นอิสระสัมพัทธ์ระหว่างกันอยู่ นอกจากนี้แล้วในมุมมองแบบมาร์กซิสม์คลาสสิค กลไกของรัฐดังกล่าว มีแต่กลไกที่ใช้ความรุนแรงในการควบคุมคนในรัฐ ซึ่งมาร์กซ์เรียกมันว่า ‘State Apparatus’ แต่อัลตูแซร์เสนอว่ามันมีกลไกรัฐอย่างอื่นที่จะต้องถูกแยกออกจากกัน เขาจึงเติมคำว่า ‘Repressive’ ที่หมายถึงการกดขี่ไว้ด้านหน้าตลอดทั้งบทความในส่วนที่หมายถึงกลไกที่ใช้ อำนาจทางกายภาพ คือรัฐบาล, ผู้บริหารราชการ, กองทัพ, ตำรวจ, ศาล, และคุก และเขาได้กำหนดนิยามของกลไกรัฐชนิดใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือ กลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ หรือกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatuses) อันประกอบไปด้วย ศาสนา, การศึกษา, ครอบครัว, กฎหมาย, การเมือง, สหภาพแรงงาน, การสื่อสาร, วัฒนธรรม ฯลฯ

อะไรคือข้อแบ่งแยกระหว่างกลไกการกดขี่ของรัฐ(Repressive State Apparatus) กับกลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ (Ideological State Apparatus) หากจะกล่าวโดยง่าย กลไกการกดขี่ของรัฐทำงานผ่าน ความรุนแรงในขณะที่กลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ ทำงานผ่าน อุดมการณ์แต่ในความเป็นจริงกลไกรัฐทั้งสองชนิดต่างก็มีทั้งความรุนแรงและอุดมการณ์ไป พร้อมๆกัน หากทว่าสิ่งที่จะต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกก็คือว่า กลไกที่พิจารณา ทำงานผ่านเครื่องมืออะไรมากที่สุด ความรุนแรง หรือ อุดมการณ์ นี่คือการพิจารณาลำดับก่อนหลังของความสำคัญ (Predominantly, secondarily) ซึ่งจำเป็นต่อการเข้าใจการแบ่งแยกระหว่างกลไกสองส่วนดังกล่าว และสำหรับตัวอย่างที่ชัดเจน อัลตูแซร์ได้ยกตัวอย่างของโรงเรียน และโบสถ์ที่มีการคัดเลือก การแบ่งแยกกลุ่มคน การลงโทษ ฯลฯ แน่นอนว่านี่คือความรุนแรงทางกายภาพอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เด่นกว่าในกลไกรัฐส่วนนี้คือการสร้างและผลิตอุดมการณ์สำหรับครอบ งำคนในระบบการศึกษาไปพร้อมๆ กัน

กลไกอุดมการณ์ของรัฐนี้ คือส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ของการผลิต (The Reproduction of the Relations of Production)ซึ่งทำให้ระบอบทุนนิยมยังคงมีชีวิตดำเนินต่อไปได้โดยอาศัยการ ผลิตซ้ำ และอัลตูแซร์ได้ขยายความ โดยสรุปไว้เป็นหัวข้อ ดังนี้

1.กลไกของรัฐทุกชนิดทำงานทั้งในส่วนของการกดขี่ และทางอุดมการณ์ ความแตกต่างอยู่ที่ว่า กลไกการกดขี่ของรัฐนั้นจะทำงานด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหลัก ในขณะที่กลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ ก็จะใช้อุดมการณ์เป็นส่วนหลัก

2.ในขณะที่กลไกการกดขี่ของรัฐจะควบคุมส่วนต่างๆ ของสังคม โดยอยู่ภายใต้การบัญชาที่มีศูนย์กลาง ซึ่งจะประกอบไปด้วยตัวแทนทางการเมืองของชนชั้นปกครองอันมีอำนาจรัฐ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางชนชั้น แต่กลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐกลับมีความหลากหลาย ในขณะเดียวกันก็แยกออกมาต่างหาก โดยมีอิสระโดยสัมพัทธ์ระหว่างกัน และเกี่ยวข้องกับความสามาถในการรองรับความขัดแย้งที่แสดงออกมา ด้วยการลดทอน หรือทำให้ผลการปะทะนั้นเข้มข้นขึ้น (ลดทอนแรงต่อต้านของชนชั้นใต้ปกครอง แต่เพิ่มความเข้มข้นให้กับชนชั้นปกครอง) ระหว่างการต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นนายทุน และชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

3.ในขณะที่กลไกการกดขี่ของรัฐจะถูกรักษาความเป็นเอกภาพด้วยการรวมศูนย์อยู่ ภายใต้การนำของตัวแทนจากชนชั้นที่อยู่ในอำนาจ แต่เอกภาพของกลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐจะถูกรักษาไว้ด้วยรูปแบบของความขัด แย้ง โดยชนชั้นปกครอง หรืออุดมการณ์ของชนชั้นปกครองนั่นเอง

ดังนั้น ในฐานะที่การปฏิวัติ มีหน้าที่ส่วนหนึ่งคือการเข้ายึดกุมกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐและสถาปนา

อุดมการณ์ใหม่ลงไปในกลไกเดิมของรัฐที่มีอยู่ เพื่อบงการให้รัฐ และการปฏิวัติให้มุ่งไปสู่หนทางของชนชั้นที่ยึดกุมกลไกเหล่านี้ได้ และในฐานะที่การปฏิวัติเกิดขึ้นตลอดเวลา การศึกษาพีธีกรรม และสัญลักษณ์ของสังคมหลังการปฏิวัติ น่าจะทำให้เข้าใจพื้นที่ทางสังคม-การเมือง ในฐานะเป็นสนามการต่อสู้ทางอุดมการณ์ เช่นดังข้อความของลินน์ ฮันท์ในตอนต้นรูปแบบของพิธีกรรมมีความสำคัญเท่ากับเนื้อหาจำเพาะทางการเมือง สัญลักษณ์ทางการเมืองและพิธีกรรมไม่ใช่เพียงอุปลักษณ์ของอำนาจ หากแต่คือความหมายและรวบยอดของอำนาจโดยตัวของมันเอง..."

ภายหลังการบุกคุกบาสตีย์ของพวกซัง-กูล็อตต์ การต่อสู้ผ่านสัญลักษณ์ระหว่าง ระบอบเก่าและระบอบใหม่ก็เริ่มขึ้น สัญลักษณ์แรกที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพ ก็คือ พู่ของการปฏิวัติ ซึ่งแต่เดิมมีสีเขียว เหมือนใบไม้ เหตุที่เป็นสีเขียว เนื่องเพราะระหว่างที่ปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนจับอาวุธ กามิลย์ เดอมัวแลงส์ ได้หยิบเอาใบไม้ขึ้นมาทาบที่อก และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันติดพู่สีเขียวไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ ภายหลังถูกเปลี่ยนเนื่องเพราะสีเขียวเป็นสีประจำกายของกงต์ เดอ อาร์ตัวส์ (Count Artois) ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าหลุยส์ และสีที่ถูกนำมาแทนที่ก็คือ น้ำเงิน ขาว และ แดง เป็นเรื่องจริงสำหรับข้อสังเกตที่ว่า คุณค่าของการปฏิวัติ หลักการเสรีภาพ เสมอภาค โดยตัวมันเอง ไม่ได้ทำให้มวลชนตื่นตัวได้เท่ากับสิ่งที่ 'สัญลักษณ์' สร้าง ตัวอย่างอันหนึ่งก็คือ ในการเดินขบวนของสตรีชาวบ้านไปยังแวร์ซายในเดือนตุลาคม ปี 1789 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการกระทำนี้คือการสนับสนุนการปฏิวัติ หากแต่ไม่มีการพูดถึงการปฏิวัติใดจะทำได้เท่ากับเรื่องพู่สามสี พวกเธอทั้งหลายเคลื่อนกำลังมาที่นี่ เนื่องจากได้ยินว่าทหารที่แวร์ซายปลดพู่สามสีออก และแทนที่ด้วยพู่สีขาวของราชวงศ์บูร์บอง หรือพู่สีดำของพวกอำมาตย์ซึ่งเป้นสัญลักษณ์ของการโต้การปฏิวัติ สำหรับ หนังสือพิมพ์ในขณะนั้น ก็ได้ตีพิมพ์ภาพวาดทหารในแวร์ซายกำลังปลิดพู่ พร้อมบรรยายถ้อยคำ "สัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของเสรีภาพแห่งฝรั่งเศสถูกปลิดอยู่แทบเท้า และชาติเองก็ถูกดูหมิ่น

หลังจากพู่ของการปฏิวัติถูกประดิษฐ์ขึ้น มันก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้แห่งเสรีภาพ จากสถิติในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1792 มีต้นไม้แห่งเสรีภาพกว่า 60,000 ต้น ถูกปลูกอยู่โดยทั่วฝรั่งเศส ต้นกำเนิดของมันเริ่ม มาจากต้นไม้ต้นแรกที่กลุ่มขบถชาวนาในเมืองเปริงกอร์ด ได้ช่วยกันปลูกขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการโค่นล้มเจ้าที่ดินของพวกเขา ในฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1790 หลังจากกระแสความนิยมของสัญลักษณ์ทั้งสองอย่างเข้มข้นขึ้น หลังวันที่ 5 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1792 เป็นต้นไป ผู้ชายทุกคนถูกกำหนดให้ต้องใส่พู่แห่งการปฏิวัติ สภาร่างกฎหมายได้ขอร้องให้ทุกคอมมูนติดตั้งแท่นบูชาแห่งความรักชาติไว้ สำหรับต้อนรับการเกิดใหม่ของทารก ภาพวาดต้นไม้แห่งเสรีภาพ กลายเป็นรูปที่ต้องมีอยู่ทุกบ้าน โดยเฉพาะคลับจาโกแบง และที่ทำการสถานที่ราชการทุกแห่งทั่วสาธารณรัฐ

ในงานเฉลิมฉลองวันครบรอบการบุกคุกบาสตีย์ วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1790 ซึ่งตอนนี้หินที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคุก ก็กลายเป็นหินสร้างสะพาน และอีกส่วนหนึ่งกลายเป็นพื้นปูลานจัตุรัส เหรียญกษาปณ์ชนิดใหม่ถูกผลิตขึ้น เป็นรูปเทพีแห่งเสรีภาพใส่ชุดแบบกรีก มือข้างหนึ่งถือหอก ปลายหอกมีหมวกของการปฏิวัติ และมืออีกข้างหนึ่งจับมัดไม้เบิร์ชแบบโรมันซึ่งจะมีขวานเสียบอยู่ด้วย สัญลักษณ์หลายอย่างถูกสร้างขึ้น เครื่องมือวัดระดับน้ำของพวกเมสันนารีกลายเป็นสัญลักษณ์คของความเสมอภาค มัดต้นเบิร์ชแบบโรมันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพ มงกุฎช่อมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรม ดวงตาแบบอียิปต์เป็นสัญลักษณ์ของความหยั่งรู้ สตรีสวมชุดแบบกรีกไม่ได้แสดงเพียงแต่เสรีภาพ หากแต่เป็นเหตุผล ธรรมชาติ ชัยชนะ ความรับรู้ และความเมตตา อีกด้วย - เทพีแห่งเสรีภาพได้รับขนามนามว่า มาเรียน’ (Marianne) ซึ่งยังคงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 1793 ผู้บริหารกรุงปารีสกลุ่มเรดิคัล ได้จัดให้มี เทศกาลแห่งเหตุผลเพื่อประกาศชัยชนะแห่งเหตุผลเหนือความงมงายของศาสนา เทศกาลดังกล่าวถูกจัดขึ้นในวิหารนอเตรอะดาม ซึ่งถูกโอนให้กลายเป็นวิหารแห่งเหตุผล - รูปปั้นพระแม่มารีถูกสับเปลี่ยนด้วยเทพีแห่งเสรีภาพ ในคืนวันงาน หญิงสาวในชุดสีขาวสวมมงกุฎช่อมะกอก นั่งรายล้อมภูเขาเทียมที่มีหญิงสาวแต่งกายเป็นเทพีแห่งเสรีภาพนั่งอยู่ คบเพลิงถูกจุดขึ้น และเสียงร้องเพลงสรรเสริญการปฏิวัติก็ดังกระหึ่มทั่วบริเวณ

ในขณะเดียวกันนี้ พระทั่วประเทศฝรั่งเศส ถูกรัฐบาลกลางของสภาแห่งชาติ สั่งให้ต้องเลือกสาบานตนเข้าเป็นพระสงฆ์สายเหตุผล หรือไม่ก็จะต้องถูกปลด ทรมาน หรืออื่นๆ โบสถ์ทุกแห่งถูกโอนเข้าเป็นสมบัติของรัฐ และแห่งที่สำคัญๆ จะถูกโอนเข้าเป็นวิหารแห่งเหตุผล คำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพจะถูกติดไว้ที่หน้าทางเข้าวิหาร

ในเมืองตูลูสซึ่งมีกระแสการปฏิวัติเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่ง รัฐบาลท้องถิ่นได้สั่งเผารูปแกะสลักพระแม่มารีสีดำ ซึ่งชาวบ้านใช้พิธีกรรมขอฝน และเมื่อมีการเปลี่ยนปฏิทินของฝรั่งเศสใหม่ เป็นปฏิทินปฏิวัติ ที่ 1 ปี มี 12 เดือน 1 เดือนมี 30 วัน โดย 30 วันแบ่งออกเป็น 3 รอบสิบ ซึ่งคล้ายสัปดาห์แต่มีทั้งหมด 10 วัน เหตุผลของการเปลี่ยนปฏิทินก็คือเพื่อยกเลิกการอ้างถึงนักบุญต่างๆ ชื่อเดือนทั้งหมดถูกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือ การผลิบานของดอกไม้ หลังจากนั้น คณะกรรมการบริหารเมืองตูลูส ได้พยายามสั่งให้ช่างแก้ไขนาฬิกาประจำเมืองให้เป็นแบบฐานสิบไปด้วย

การแยกรัฐออกจากศาสนาของฝรั่งเศสในยุคสาธารณรัฐ (Laïcité) นอกจากจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแล้ว ยังนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา โดยการศึกษาชั้นต้นถูกเปิดออกสำหรับเด็กทุกคนโดยไม่สนใจภูมิหลังทางสังคม ตำแหน่ง อาจารย์’ (School master) ถูกเปลี่ยนใหม่เป็นผู้สอนซึ่งได้รับค่าจ้างจากรัฐ’ (State-paid instructor) คำสาบานตน แบบสาธารณรัฐและคำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง กลายเป็นบทเรียนอันหนึ่งที่จะต้องใช้ในการเรียนการสอน

ในช่วงท้ายของเทอเรอร์ และหลังจากนั้น พวกซ็อง-กูล็อตต์ เริ่มถูกกีดกันทางการเมือง การแต่งกายถูกกำหนดขึ้นให้มีแบบแผนแสดงถึงความเป็นชาวสาธารณรัฐที่ดี ซึ่งมักหมายถึงแต่งตัวแบบพวกฐานันดรที่สาม การใส่หน้ากากถูกห้าม และการแต่งกายแบบพวกซ็อง-กูล็อตต์กลายเป็นแบบที่ไม่พึงประสงค์

นอกจากการกีดกันทางการเมืองผ่านการแต่งกายแล้ว การต่อสู้ผ่านเหรียญกษาปณ์ และรูปปั้นก็เริ่มขึ้น มีการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองของเพศหญิงและเพศชาย, ระหว่างพวก Bourgeoisie กับ พวก Sans-Culottesและระหว่าง"ชาวสาธารณรัฐที่แท้จริง" กับบุคคลแปลกปลอม ซึ่งฝ่ายหนึ่งมีตัวแทนเป็น Marianne หญิงสาวที่ดูอ่อนโยนแต่มีความเข้มแข็งภายใน สวมหมวกสีแดงสัญลักษณ์การปฏิวัติ ถือสัญลักษณ์แห่งความเสมอภาค ความสามัคคีเอาไว้ และอีกฝ่ายหนึ่งมี Hercules ชายกล้ามบึกบึน ถือกระบองสำหรับฟาดฟันศัตรูด้วยท่าทีเข้มแข็ง แต่ดูเหมือนจะใช้กำลังเป็นแต่อย่างเดียว การต่อสู้บนเหรียญกษาปณ์เข้มข้นมาก ภายหลังในยุคสาธารณรัฐที่ 2 และ 3 บทบาทของเฮอร์คิวลิสในเหรียญกษาปณ์ ถูกเปลี่ยนไป เป็นชายที่ดูเคร่งขรึม มีความฉลาดเฉลียวเหมือนปราชญ์ คอยพิทักษ์ เสรีภาพดุจดังผู้เป็นน้องสาว ในมือของทั้งสอง คนหนึ่งถือหอกบนปลายมีหมวกสัญลักษณ์ของการปฏิวัติ และอีกคนหนึ่งถือเครื่องวัดระดับน้ำของเมสันนารี สัญลักษณ์ของความเสมอภาค

ทั้งหมดนี่เป็นตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่ของไทย เนื่องจากเวลาในการค้นคว้าจำกัดเช่นกัน ท่านสามารถศึกษาได้จากงานของ อ. ชาตรี ประกิตนนทการ เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม และสัญลักษณ์ที่ถูกซ่อนเร้น ตัวอย่างเล็กๆ ที่ผมว่าหลายท่านคงรู้จัก ก็คือในขณะที่ฝรั่งเศสมีมาเรียน ของไทยก็มีนางสาวสยาม หลายคนคงคุ้นเคยกับภาพหญิงสาวร่างกายบึกบึนสวมชุดไทย เปลีอยท่อนบน เทอดพานรัฐธรรมนูญไว้เหนือหัว สำหรับเรื่องพิธีกรรม ก็คือการตั้งปะรำพิธีของพานรัฐธรรรมนูญไว้สำหรับให้คนเคารพกราบไหว้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ เป็นตัวอย่างของพิธีกรรมและสัญลักษณ์ที่ถูกใช้สำหรับจัดวางแบบแผนทางสังคม ผ่านกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ อย่างที่อัลตูแซร์เสนอไว้ สำหรับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา สงครามของสัญลักษณ์และพิธีกรรม เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด การสถาปนาอุดมการณ์แบบใหม่จะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการแย่งชิงอุดมการณ์เหนือพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน ในปัจจุบันเราได้เห็นพิธีกรรมอนุรักษ์นิยม ซึ่งเคยถูกยกเลิกไปในสมัยคณะราษฎรกลับมาโลดแล่นอีก สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเรา เราได้เห็นผู้คนแห่กันไปกราบไหว้รูปปั้นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า มีสักกี่คนที่รู้ว่าใกล้ๆ กันนั้น มีหมุดคณะราษฎรฝังอยู่ มีคนในปัจจุบันกี่คนที่รู้ว่าลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์เคยเป็นโรงหนังเฉลิมไทย และมีคนมากแค่ไหนที่รู้ว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่มีสัญลักษณ์ของกษัตริย์ แม้แต่นิดเดียว มีเรื่องทางสัญลักษณ์และพิธีกรรมของไทยอีกมาก ที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ระหว่างการปฏิวัติในความหมายแบบทั่ว ไป ของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และการปฏิวัติ พ.ศ. 2490 – ระหว่างแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย และแนวคิดเรื่องอนุรักษ์นิยม ด้วยสามัญสำนึกจากการเปรียบเทียบอย่างสัมพัทธ์กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในที่ อื่น เราเชื่อกันว่า สังคมแบบอนุรักษ์นิยมในไทย ควรจะหมดหน้าที่ในการจัดวางแบบแผนของสังคมได้เสียทีแล้วใช่หรือไม่ สังคมไทยควรพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้คนที่แตกต่างหลากหลายได้มีส่วนเข้ามา แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นของสังคม

หากมองผ่านความคิดว่าการปฏิวัติทางสังคมคือกระบวนการสืบเนื่องที่ต้อง อาศัยการจัดวางแบบแผนที่แตกต่างออกไป อาจไม่ใช่ความผิดของคณะราษฎรที่ไม่ได้ชัยชนะในอดีต สิ่งที่คณะราษฎรสร้างไว้บางสิ่งยังคงตกทอดถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับในฝรั่งเศส มีสัญลักษณ์ และพิธีกรรมจำนวนมากถูกทิ้งไประหว่างทาง แต่ปัจจุบันคำขวัญ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพยังคงอยู่ ธงไตรรงค์ก็ยังคงอยู่ และท้ายที่สุดมาเรียน หรือเทพีแห่งเสรีภาพก็ยังคงอยู่

ท่ามกลางสนามแห่งการช่วงชิงความหมาย หลักการ คุณค่า และอุดมการณ์นี้ เหมือนที่อัลตูแซร์กล่าวไว้ชนชั้นซึ่งอยู่ในอำนาจไม่อาจจัดวางกฎเกณฑ์ลงในกลไกการผลิตอุดมการณ์ของรัฐ ได้อย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับที่เป็นในกลไกการกดขี่ของรัฐ (Repression State Apparatuses) ไม่ใช่เพียงแค่เพราะชนชั้นปกครองเก่าสามารถดำรงอยู่ในฐานะที่เข้มแข็งมา อย่างยาวนาน หากแต่เป็นเพราะชนชั้นที่ถูกกดขี่ สามารถค้นหาวิถีทางหรือโอกาสที่จะแสดงการต่อต้านนั้นได้ ทั้งด้วยเหตุแห่งการใช้ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้ว หรือด้วยการมีชัยชนะในสงคราม (แห่งอุดมการณ์) นี้

ผมขอทิ้งท้ายอะไรบางอย่างไว้ ท่ามกลางการถกเถียงในปัจจุบัน ถึงเรื่องความจำเป็น และสำคัญในการอภิปรายปัญหาของสถาบันกษัตริย์ ในฐานะที่การต่อสู้ทางความคิด ก็คือเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ทางชนชั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 ในฐานะกลไกการกดขี่ปราบปราม เอาไว้ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นเรื่องต้องห้าม - เรื่องทำนองนี้ และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงคู่มือของศาลศาสนาในยุคกลางที่ชื่อว่า Directorium inquisitorum ซึ่งเอาไว้ใช้ในการล่าแม่มด เขาเขียนชี้แจงถึงการลงโทษแม่มดไว้ว่า "...ด้วยเหตุแห่งการลงโทษนี้ มิใช่เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องและความดีงามของผู้ต้องหาโดยเฉพาะเพียงอย่างใด หากแต่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ในการที่ผู้อื่นจักหวาดกลัว หยุดยั้ง และหลีกหนีจากปีศาจร้ายซึ่งพวกเขาอาจข้องเกี่ยว..." ผมจึงคิดว่ามันมีพื้นที่สำหรับการต่อสู้เพื่ออภิปรายปัญหาเรื่องสถาบัน กษัตริย์ในหลายพื้นที่ อยู่เพียงแต่ว่า เราได้เลือกที่จะสู้ในพื้นที่นั้นอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่

หมายเหตุ:บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในงานอภิปรายงานเสวนาประกายไฟ หัวข้อ สังคมหลังการปฏิวัติ

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น