สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ธเนศวร์ เจริญเมือง : หม่อนกับเหลน

หม่อนกับเหลน
ธเนศวร์ เจริญเมือง

1.
เรื่องราวของคนสูงอายุกับเด็กเป็นประเด็นสำคัญในสังคม ไม่ว่าสังคมไหน โดยเฉพาะในสังคมที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น ชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น (single family) คือ มีเพียงพ่อแม่ และลูก 1-2 คนอาศัยด้วยกัน แต่มิใช่เป็นครอบครัวขยาย (extended family) แบบในอดีต ซึ่งมีคนหลายวัยและกระทั่งหลายครอบครัวอยู่ด้วย กัน เช่น มีปู่ย่าหรือตายาย มีพ่อแม่ ลูกและหลาน และบางครอบครัวมีผู้สูงอายุระดับทวด ปู่ทวด ย่าทวด ซึ่งย่อมต้องมีเหลน และโหลน (ภาษาล้านนาบางแห่งเรียกว่าหลิน) และบางครอบครัวอาจมีสมาชิกนอก เหนือไปจากนั้น เช่น มีพี่น้องที่แต่งงานแล้วยังไม่แยกออกไป ส่งผลให้ครอบครัวขยายดังกล่าวมี 2-3 ครอบครัวอยู่ในเรือนเดียวกัน และอาจมีพี่น้องบางคนที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือเป็นหม้าย จึงมีลุง ป้า น้า อา อยู่ด้วย ฯลฯ

สังคมล้านนาในอดีตประกอบด้วยครอบครัวขยายเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ มีคนอย่างน้อย 3 วัยอยู่ด้วยกัน ได้แก่ ปู่ย่า หรือตายาย พ่อแม่ และลูกๆ และบางเรือนอาจมีคนถึง 5 วัย คือ รวมเอาทวดและเหลนเข้าไป นอกจากนั้น พี่น้องส่วนใหญ่แต่งงานแล้วก็ไปตั้งบ้านเรือนไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่ของตน กระทั่งอาจสร้างบ้านในอาณาบริเวณเดียวกันหรือห่างออกไปไม่กี่หรือหลัง ส่งผลให้สมาชิกในแต่ละครอบครัวมีมากมายและหลากวัย แต่ละคนช่วยกันทำงาน หาอาหารได้มาก็แบ่งกันกิน ซื้ออะไรได้มาก็เอามาให้กัน ผู้สูงอายุที่แข็งแรงก็ยังออกไปทำนา และประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนทำงานในบ้าน ผู้สูงอายุที่เหลือก็ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลาน ขณะที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ฯลฯ

สายใยที่ร้อยรัดครอบครัวเช่นนี้ถักทอเหนียวแน่น สร้างรากฐานมั่นคงให้แก่ครอบครัวและทอดยาวไปถึงชุมชนและสังคมโดยรวม เช่น หากผัวเมียหรือพี่น้องทะเลาะกัน หรือลูกหลานกลับบ้านดึกดื่น หลานสาวหลานหนุ่มใจแตกมีแฟนหรือคิดมีแฟนตั้งแต่อายุยังน้อย หรือไม่ตั้งใจเรียน งานบ้านก็ไม่ช่วย เอาแต่นั่งตาลอยหรือหายออกจากบ้านจนดึกดื่น หรือเอาแต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมีสมาชิกบางคนในครอบครัวขี้เกียจ ไม่ทำงาน หรือไม่สู้งานหนัก เอาแต่ดื่มเหล้าหรือมีปัญหาชีวิต ไม่พูดจากับใคร คิดทำลายชีวิตตนเอง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ เมื่ออยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องในบ้านเดียวกัน ก็จะมีการช่วยกันหาทางแก้ไข หรือตัดไฟต้นลม เรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นยังเป็นอุทาหรณ์สอนใจสมาชิกระดับลูกหลานในครอบครัว ใหญ่

ที่สำคัญที่สุดคือ ครอบครัวขยายเป็นเสมือนชุมชนเล็กๆ ที่ปู่ย่าตายายมีเวลาได้เลี้ยงดูหลานๆ ได้ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ศิลปะ ประเพณี และค่านิยมของคนรุ่นเก่าให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบสานต่อไป

ศิลปวัฒนธรรมของครอบครัวและท้องถิ่นไม่เพียงแต่ไม่สูญหาย หากยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นก่อนได้ใช้ความรู้ความสามารถ และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีความสุข ความอบอุ่นทางใจเพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกหลาน ส่วนลูกหลานก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวิธีประพฤติปฏิบัติตนจากผู้ใหญ่หลาย ระดับในชุม​ชนเล็กๆนั้น และทั้งได้ความสุขและเป็นที่พึ่งพิงทางใจ ได้แรงบันดาลใจและได้เรียนรู้แบบอย่างการทำงานและการใช้ชีวิต ฯลฯ

เมื่อครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง สมาชิกมีความสุขและรักใคร่ปรองดองกัน เคารพนับถือกัน มีจิตใจเอื้อเฟื้ออ่อนโยนต่อกัน ศิลปวัฒนธรรมได้รับการส่งเสริมและสืบทอด ก็เป็นฐานที่มั่นคงสำหรับชุมชน และเมื่อชุมชนเข้มแข็ง มีความรักความสามัคคี ความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมก็เกิดขึ้น และนำไปสู่ฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศโดยรวม

สังคมเกษตรกรรมดูเหมือนจะมีปัจจัยสำคัญสร้างครอบครัวขยายได้มาก ขณะที่สังคมที่เน้นอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำที่สลับ ซับซ้อน มีการแข่งขันมากขึ้น ผู้คนต้องไปทำงานในหลายท้องที่ ต้องพบกับระบบโยกย้ายสับเปลี่ยนกำลังคนและต้องการคนที่เหมาะกับงาน การพลัดพรากจากกันจึงเกิดขึ้น ครอบครัวเดี่ยวจึงเกิดขึ้นมากมาย ครอบครัวผู้ปกครองคนเดียว (single parent family) ก็ตามมา พ่อแม่มีเวลาเลี้ยงดูลูกน้อยลง ต้องส่งลูกไปอยู่กับพี่เลี้ยงตั้งแต่ 1-2 ขวบ ไปอยู่โรงเรียนตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ หรือส่งไปอยู่ที่โรงเรียนประจำ บ้านจึงไม่มีใครอยู่ ปู่ย่าตายายก็อยู่กันตามลำพัง ไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ๆ ลูกหลานก็ไม่รู้จักคนสูงอายุหรือนานๆ ก็ไปเยี่ยมกันสักครั้ง

สภาพตีนถีบปากกัดในหลายๆครอบครัว อิทธิพลของการโฆษณา ค่านิยมใหม่ๆในสังคมที่เน้นความเป็นปัจเจก รวมทั้งวัฒนธรรมบริโภคนิยมสมัยใหม่ ทำให้เพศสัมพันธ์เปลี่ยนไปจากอดีต สตรีหันไปทำแท้ง บางคนนำลูกไปวางไว้ที่ข้างถังขยะหรือหน้าโรงพยาบาล บางคนคิดอะไรไม่ออกต้องฆ่าทารกแล้วทิ้งลงส้วม ฯลฯ ส่วนชายกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

ในสังคมที่รัฐไม่ค่อยสนใจพัฒนาภาคเกษตรกรรมและชนบท ท้องถิ่นห่างไกลมีงบประมาณจำกัด การจ้างงานมีน้อย ประชาชนขาดรายได้ การพัฒนา, การลงทุน, การงาน และรายได้กระจุกอยู่ในเขตเมือง หลายคนจึงต้องจากชนบทเข้าไปหางานทำในเมือง นำลูกไปฝากให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงในชนบท หนุ่มสาวก็เข้าไปทำงานในเมือง ลูกหลานก็เข้าไปเรียนในตัวจังหวัด ชนบทจึงกลายเป็นชุมชนของคนแก่และเด็กๆ ส่วนบ้านจำนวนมากในเมืองกลับไม่มีใครอยู่เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน ให้พ่อทำงานคนเดียว รายได้ก็ไม่พอ ลูกๆก็ไปโรงเรียน และแน่นอน ในสังคมที่คิดถึงตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่เลี้ยงลูก 7-8 คนได้ แต่ลูกๆ 7-8 คนเลี้ยงพ่อแม่ 2 คนไม่ได้ เกี่ยงกันไปๆมาๆ จนในที่สุด ปู่ย่าตายายหลายคนก็ต้องไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา วันๆ ไม่มีอะไรทำ ได้แต่นั่งมองดูต้นไม้ ผืนฟ้า น้ำตาไหล คิดถึงลูกหลาน ไม่รู้ว่าอนาคตจะจบลงเมื่อไหร่ อีกนานแค่ไหนกว่าจะมีใครมาเยี่ยม ฯลฯ

ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้เอง เมื่อเสียงเพลง “อุ๊ยคำ” ดังขึ้นในปี พ.ศ. 2520 ชนชั้นกลางในสังคมพาณิชย์-อุตสาหกรรมที่ว้าเหว่แห่งเมืองหลวงจึงต้อนรับเพลง นี้อย่างอบอุ่น เมื่อเหว่ว้าฝันหาบรรยากาศของครอบครัวขยาย แต่ไม่อาจทำได้ดั่งฝัน ชนชั้นกลางคนแล้วคนเล่าจึงหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินเพลง" อุ๊ยคำ "

ว่ากันว่าเมื่อจรัล มโนเพ็ชร ขับขานเพลงนี้ครั้งแรกๆในเมืองเชียงใหม่ เพลงนี้ไม่เป็นที่ต้อนรับมากเหมือนเพลงอื่นๆ ซึ่งเป็นเพลงสนุกสนาน เช่น เพลงพี่สาวครับ สาวมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ แน่นอน เมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นยังเป็นเมืองแบบชนบทไม่น้อย ครอบครัวขยายยังมีมาก แม้จะมีหลายครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านของปู่ย่าตายาย สามารถไปมาหาสู่กันได้ง่าย บริบททางสังคมของเมืองเชียงใหม่เป็นเช่นนั้น แต่สังคมเมืองหลวงเหว่ว้าอาดูรนักแล้ว จึงนิ่งงันดังต้องมนต์เมื่อได้รับรู้ชีวิตของอุ๊ยคำ ได้ยินความหม่นเศร้าของท่วงทำนองและสะเทือนใจในถ้อยคำ โดยเฉพาะเสียงระฆังจากวัด ยามเมื่อ “หมู่ผักบุ้งยอดซมเซาซบบ่ไหว เป๋นจะใดไปแล้ว อุ๊ยคำ ฟ้ามืดมัวหม่น เมฆฝนครึ้มดำ เสียงพระอ่านธรรม ขออุ๊ยคำไปดี......”

สำหรับสมาชิกชนชั้นกลางที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนในเมืองใหญ่ ปีละครั้งจึงจะได้ไปพบปู่ย่าตายาย-ทวด หรือเหลืออยู่เพียงคน 2 คนแล้วในต่างจังหวัด อุ๊ยคำที่ต้องอยู่ “ตั๋วเดียวเปลี่ยวดาย ตุ๊กใจตุ๊กกายปี้น้องบ่มี” และเก็บผักบุ้ง “ส่งขาประจำ เลี้ยงตั๋วสืบมา...” จึงสะเทือนใจพวกเขาอย่างรุนแรง พวกเขาที่ต้องจากปู่ย่าตายายมา หรือกระทั่งฝากหลานให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง และชีวิตอันอ้างว้างของพวกเขาในป่าคอนกรีตเหมือนชีวิตของอุ๊ยคำที่ต้องเก็บ ผักบุ้งเด​ียวดายกลางหนองทุกค่ำ แน่นอน ชนชั้นกลางไม่ได้มีใจรักให้เฉพาะคนแก่ หากยังเป็นห่วงเป็นใยเด็กๆ ผู้จะเป็นกำลังสำคัญแห่งอนาคต เพลง “ตากับหลาน” ของจรัลซึ่งสะท้อนภาพอันเจ็บปวดกลางถนนหลวงเป็นตัวอย่างรูปธรรมอีกอันหนึ่ง ที่สอนให้​ผู้คนตระหนักในความสำคัญของปัญหาเด็ก ปัญหาคนชรา และปัญหาจราจรซึ่งคร่าชีวิตของคนไทยจำนวนมากทุกๆปี

ความพยายามในการปราบปรามยาบ้าและการจัดระเบียบสังคมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ ผลพวงของความห่วงใยของคนไทยจำนวนมากว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพสังคมให้สูงขึ้น ไม่ใช่ว่าสักแต่พูดเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่เต็มไปด้วยปัญหาความชั่วช้ามาสามานย์จนเป็นที่อับอายขายหน้าทั่วโลก สังคมไทยจะต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาเหล่านี้ มิใช่เพราะเรื่องอับอายชาวโลก แต่เราควรจะทำเพื่อคนของเราและเพื่อชุมชนของเราเอง....

2.
ในงานส่งสการคุณแม่จันทร์นวล กาญจนกามล เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ที่อำเภอเมืองลำพูน ผมได้รับหนังสือรำลึก 1 เล่มจากงานนี้ คุณแม่จันทร์นวลเกิดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2453 อันเป็นปีสุดท้ายของการครองราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 คุณแม่จันทร์นวลเป็นสาวคนเมือง พ่อแม่ชื่อนายอ้าย – นางคำมูล สิริ ซึ่งค้าขายผ้า ข้าวสาร และต่อมาได้ตั้งโรงงานทอผ้าด้วยกี่ มีคนงานทอกี่มากกว่า 20 กี่

จากบันทึกประวัติของนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2455-2535) (ลายคราม. 2527) การค้าขายในเมืองเชียงใหม่เริ่มคึกคักมากขึ้นที่บริเวณริมฝั่งน้ำปิงโดย เฉพาะที่ท่าว​ัดเกต ส่วนใหญ่คือพ่อค้าชาวจีนที่ขนสินค้าไปมาทางน้ำระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ที่ผู้นำสยามยอมให้เปิดการค้าเสรีกับตะวันตกในปี พ.ศ. 2398 และมีพ่อค้าไม้สักชาวอังกฤษเดินทางเข้ามามากขึ้นจากพม่า การเดินทางมาเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายเพรสไบทีเรียนของเดเนียล แม็คกิลวารีในเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2410 และการเข้ามาประจำการเป็นครั้งแรกของนายทหารจากกรุงเทพฯในเมืองเชียงใหม่ จำนวน 70 นายเริ่มในปี พ.ศ. 2416 และหลังจากนั้น ก็เริ่มมีระบบเจ้าภาษีนายอากรโดยชาวจีนในเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นการเติบโตของการค้าขายในแถบนี้ (จนนำไปสู่กบฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2432-33) ชาวจีนหลบหนีจากฝั่งวัดเกตมายังฝั่งตะวันตกและก่อตั้งตลาดวโรรสขึ้นในปี พ.ศ. 2453 และหลวงอนุสารสุนทร (คุณตาของนายไกรศรี) ได้ก่อตั้งห้างชัวย่งเส็ง บนถนนวิชยานนท์ในปี พ.ศ. 2460 และจัดรถโดยสารเชียงใหม่-ลำพูน จำนวน 2 คัน (ด้านหน้าเก็บคนละ 1 บาทด้านหลังคนละ 1 รูปี) ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็คือภาพรวมของเศรษฐกิจการค้าขายในเขตเมืองเชียงใหม่-ลำพูน

คุณแม่จันทร์นวลอายุไล่เลี่ยกับนายไกรศรี พ่อแม่ของคุณแม่จันทร์นวลค้าขายผ้าและข้าวสาร จนกระทั่งสามารถตั้งโรงงานทอผ้า ท่านคงจะเป็นพ่อค้าคนเมืองจากลำพูนที่ค้าขายกับเมืองเชียงใหม่ยุคแรกๆในช่วง ปี พ.ศ. 2440-2460 และใช้บริการรถโดยสารของตระกูลนิมมานเหมินท์ ครั้นเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงลำพูนและเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 กิจการค้าขายของตระกูลแม่จันทร์นวลก็น่าจะคึกคักมากขึ้น นี่จะต้องเป็นตระกูลพ่อค้าคนเมืองเพียงไม่กี่ตระกูลที่มากด้วยความสามารถ เมื่อเทียบกับธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในมือของชาวจีน

น่าเสียดายที่ (คง) ไม่มีใครเคยสัมภาษณ์คุณแม่จันทร์นวลเกี่ยวกับธุรกิจการค้าของตระกูลของท่าน ในอดีต (อาจเนื่องจากสามีและลูกๆของท่านรับราชการ จึงทำให้ค่อยๆวางมือด้านการทำธุรกิจและขาดคนสืบสาน)

3.
ในหนังสือรำลึกคุณแม่จันทร์นวล มีบทความขนาด 2 หน้าชื่อ “คุณยายครับ กิ๋นข้าวครับ” (หน้า 17-18) เขียนโดยชายหนุ่มชื่อ “มิก” ผมไม่รู้จักชายหนุ่มคนนี้ รู้แต่ว่า “มิก” เรียกคุณแม่จันทร์นวล ว่า “หม่อน” ดังนั้น มิกจึงเป็นเหลน คุณแม่จันทร์นวลจึงเป็นหม่อน ดูจากเรื่องราวที่เขียน มิก กำลังเป็นบัณฑิต หม่อนจากไปปีนั้นเมื่อท่านอายุได้ 91 ปี เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของหม่อนอายุ 80-90 ปี ส่วนเหลนอายุ 10-20 ปี

ผมไม่เคยได้พบทั้งหม่อนจันทร์นวลหรือเหลนมิก รู้จักแต่ทันตแพทย์อุทัยวรรณ และนายแพทย์วงศ์สว่าง กาญจนกามล ลูกชายที่มีชื่อเสียงของคุณแม่จันทร์นวล แต่ผมก็อยากจะบอกคุณ มิกว่า คุณเขียนบทความนี้ได้สะเทือนใจมาก อายุเท่านี้ เขียนได้ดีขนาดนี้ คุณจะต้องมีอนาคตไกล

ที่ผมเห็นว่ามิกเขียนได้ดี ก็เพราะ 2 สิ่งคือ หนึ่ง เป็นงานเขียนถึงความสัมพันธ์ของคน 2 คนอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา ถ้อยคำกระชับ ตรงประเด็น อ่านแล้วได้บรรยากาศที่จริงใจ ไม่เสแสร้ง และ สอง เป็นงานที่สะท้อนภาพความจริงหลายอย่างของคนบนแผ่นดินล้านนา อ่านแล้วชวนให้คิดถึงคนสูงอายุและลูกหลานอีกมากมาย ตลอดจนอนาคตของแผ่นดินผืนนี้

มิกบอกว่า คุณจันทร์นวลเป็น “หม่อน” ของเขา และเขาก็เรียกว่า “หม่อน” จนเมื่อเขาโตขึ้นจึง “ถือวิสาสะ” เรียกว่า “ยาย” และไม่ได้เรียกหม่อนอีกเลย มิกยังบอกอีกว่า หม่อน “ไม่เคยพูดภาษากลางเลยสักคำ” กับเหลนที่พูดภาษากรุงเทพฯ ทำให้ผมนึกถึงอีกหลายๆครอบครัวที่ได้พบหรือที่เป็นข่าวบนแผ่นดินล้านนา คนเมืองเคยเรียกพ่อแม่ของปู่ย่าตายายว่า “หม่อน” บัดนี้ เหลนจำนวนมากเรียกหม่อนว่าทวด มิกบอกว่าเขาเรียกหม่อนว่ายาย และใช้คำว่า “ถือวิสาสะ” น่าเสียดายที่เขาไม่ได้บอกว่าเพราะอะไร มีผู้ใหญ่คนไหนที่สอนเขาเช่นนั้น หรือว่าเขาคิดเอง เขาเอาคำว่ายายไปแทนคำว่าหม่อนด้วยเหตุผลใดหนอ ทำไมจึงไม่มีผู้ใหญ่คนเมืองในบ้านทักท้วง และหม่อนจันทร์นวลเล่า ท่านไม่ได้ว่าอะไรเลยหรือไร คงเป็นเพราะท่านอายุมากแล้ว จึงไม่มีเวลาสนใจวิธีการเรียกของเหลน

คนเมืองเรียกพ่อแม่ของพ่อและแม่ว่า “อุ๊ย” ไม่ว่าเพศใด หลายปีมานี้ คนสูงวัยในบ้านเราก็สอนให้หลานเรียกว่า ปู่ย่าตายาย มีอุ๊ยจำนวนไม่น้อยนอกจากจะไม่คัดค้าน หากยังเต็มใจเรียกตัวเองตามนั้น อยากเป็นปู่ย่าตายายแบบคนกรุงเทพฯ “มาให้ตาอุ้มหน่อยนะ หลาน” “ขอยายหอมหน่อยจ้ะ” “มา มาทางนี้ ดูสิว่าหน้าเหมือนปู่หรือเปล่า” คนสูงวัยในล้านนาไม่อยากเป็น “อุ๊ย” อีกแล้ว

มิกเขียนว่าเขาพูดภาษาไทยกับหม่อน แต่หม่อนพูดกำเมืองตลอดเวลา ใครสอนให้มิกพูดภาษาไทยกับหม่อน มิกพูดกำเมืองได้ไหม มีผู้ใหญ่คนไหนในบ้านพูดกำเมืองกับมิกไหม ทำไมไม่มีใครสอนให้มิกพูดกำเมืองกับหม่อน เดี๋ยวนี้ มีอุ๊ยจำนวนไม่น้อยและมีพ่อแม่ลุงป้าน้าอาคนเมืองจำนวนมากที่ชอบพูดภาษาไทย กับลูกหลา​น ทั้งๆที่พวกเขาพูดกันเองเป็นภาษากำเมือง พวกเขาปล่อยให้กระทรวงศึกษาและโรงเรียนข่มเหงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการ บังคับให้เ​ด็กพูดภาษากรุงเทพฯ เด็กกลับบ้านแล้ว ยังถูกพ่อแม่ลุงป้าน้าอาคนเมืองข่มเหงให้หลงลืมและดูถูกภาษาของบรรพชนอีก

เดี๋ยวนี้ เยาวชนล้านนาแม้จะมีพ่อแม่เป็นคนเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พูดคุยกันเป็นภาษาไทยทั้งในและนอกห้องเรียน พ่อแม่คนเมืองก็ “ปากไทย” กับลูก พ่อแม่คนยองก็ “ปากไทย” กับลูก พ่อแม่คนลื้อก็ “ปากไทย” กับลูก อุ๊ยๆทั้งหลายก็ “ปากไทย” กับลูกหลาน หากเยาวชนรุ่นนี้ไม่ยอมพูดกำเมืองกันแล้ว แล้วจะมีอะไรหลงเหลือสำหรับศิลปวัฒนธรรมล้านนาเล่า?

มิกเขียนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหม่อนมีปัญหาบ่อยครั้ง เพราะมิกใช้ดาบเลเซอร์ฟันต้นเขียวหมื่นปีของหม่อน กระถางดอกไม้ของหม่อนก็กลายเป็นเป้าให้มิกเตะบอลเป็นประตูบ่อยๆ และจากการกินข้าวเช้าร่วมโต๊ะกันเพียงสองคนในยามที่มิกยังเป็นเด็ก (เพราะผู้ใหญ่คนอื่นออกไปทำงานกันหมดแล้ว) เมื่อมิกโตขึ้น เขาก็ไม่ได้กินข้าวกับหม่อนอีก เหลือเพียงการทักทายเมื่อมิกกลับถึงบ้านและอำลาจะออกจากบ้าน

แต่แล้วมิกก็สะท้อนภาพเมื่อครั้งหม่อนเคยปกป้องเขาไม่ได้เขาถูกใครตี หม่อนสอนให้ร้อยดอกมะลิ เป็นแบบให้มิกถ่ายรูป และให้เงินแก่มิกในหลายๆโอกาส เหนือสิ่งอื่นใด มิกไม่ลืมคำพูดที่หม่อนมีให้เขาทุกครั้งที่เขาจะออกจากบ้าน “ปิ๊กละกา” และ “บุญฮักษาเน่อ”

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วว่ามิกคิดอย่างไรกับหม่อนของเขา หม่อนผู้มีแต่ให้....ให้ลูก หลานและเหลน

เรียงความสั้นๆของมิกสะท้อนความสั่นคลอนระดับรากของความเป็นล้านนา ล้านนาในห้วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ผุกร่อนลงอย่างมาก นโยบายรวมศูนย์อำนาจและกดขี่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทำให้คนท้องถิ่นด้วยกันเอง อ่อนล้า มองไม่เห็นคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง

ครอบครัวของมิกเป็นครอบครัวขยายก็จริง แต่ไม่ใช่อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้น เท่าที่ปรากฏในเรียงความ มิกบอกว่าเขาเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน นอกจากหม่อน เขายังมีย่าและแม่ ต้องเสียน้อง ชายและพ่อไป ส่วนคนอื่นๆในบ้าน มิกไม่ได้พูดถึง แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคนสูงอายุกับหลาน เรื่องนี้ดูจะมีลักษณะสากล ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ช่องว่างระหว่างวัยทำให้สายใยสัมพันธ์หย่อนยานลงไป เพราะขณะที่ฝ่ายหนึ่งอยู่กับบ้าน เห็นโลกมายมาย อีกฝ่ายเปี่ยมไปด้วยพละกำลัง เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ออกสู่โลกกว้างทุกวัน ไปโรงเรียน พบเพื่อนใหม่ ดูหนัง เล่นกีฬา สนใจเพศตรงข้าม ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปเรียนต่อ ฯลฯ และแน่นอน มิกมองฝ่ายที่อยู่บ้านว่า ไม่ทันสมัย พูดแต่เรื่องอดีต

หนังสือต่างประเทศที่โด่งดัง เช่น Chicken Soup กับ สรรสาระ มักเสนอเรื่องราวของเยาวชนที่เสียดายวันเวลาที่ผ่านไป มัวเพลินกับกิจกรรมต่างๆตนอกบ้าน จนลืม “หม่อน” ที่อยู่ที่บ้าน อาจจะเห็น “หม่อน” แต่ไม่ได้ดูแลท่าน ไม่ได้ไปนั่งใกล้ๆ พูดคุยกับท่าน ถามท่านว่าสุขสบายดีหรืออย่างไร ขอความรู้จากท่านหรือเล่าอะไรที่เราได้ไปรับรู้และไปเห็นนอกบ้านให้ท่านฟัง ฯลฯ

ประเด็นหนึ่งจึงอยู่ที่ระบบการศึกษา ครู และผู้ใหญ่จะมองเห็นความสำคัญของปัญหานี้แค่ไหน และหยิบเป็นหัวข้อศึกษาในชั้นเรียนและที่บ้าน เช่น ครูจัดหัวข้อให้มีการศึกษา สนทนา และทำรายงานในชั้นเรียน ส่วนผู้ใหญ่ในแต่ละครอบครัวลงมือปฏิบัติด้วยการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ สมาชิกต่างวั​ยให้อบอุ่น ใกล้ชิด เรียนรู้จากกัน ช่วยเหลือกันและไปมาหาสู่กันบ่อยขึ้น.... ผมอยากให้เยาวชนและพ่อแม่ทั้งหลายได้อ่านงานชิ้นนี้ของมิก

หลายปีมานี้ มีเยาวชนเรียนดีและรู้จักคิดหลายคนที่เสียดายเวลาที่ผ่านไป ระบบการสอบเข้า และการเตรียมตัวสอบเข้าที่บ้าคลั่ง ทำให้เยาวชนและผู้ปกครองจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของระบบนี้ ทั้งพ่อแม่ลูก ทุ่มเททุกอย่างให้กับสิ่งนี้จนละเลยประเด็นอื่นๆในครอบครัว และชุมชนตัวเอง กว่าเขาจะรู้ตัว หลายอย่างก็จากไป ไม่อาจเรียกกลับคืนมา.....

ความเป็นล้านนาที่ถูกละเลยและอ่อนล้าในเวลานี้ก็คือ ท้องถิ่นที่ไม่มีใครใส่ใจ เพราะระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญ หรือดีแต่พูด แต่ไม่เคยใส่ใจจริงจัง ระบบการศึกษาจึงต้องการการปฏิรูปครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและคนจำนวนมากที่มองเห็นปัญหาดังกล่าว แต่ในระหว่างที่เรารอการเปลี่ยนแปลงที่ระบบ ผู้ใหญ่ควรตระหนัก และบอกให้เยาวชนได้รู้จักคิดว่า ชีวิตของเรานั้นไม่ใช่มีแต่นอกบ้าน แต่เรายังมีพระที่บ้าน เราไม่เพียงมีครูที่โรงเรียน แต่เรายังต้องมีครูที่บ้าน เพราะการศึกษานั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ผู้ใหญ่จะหยุดการเรียนรู้ และยัดเยียดภาระการศึกษาให้แก่ครูที่โรงเรียนเท่านั้นไม่ได้ และเราไม่เพียงมีครอบครัวเดี่ยว คือพ่อแม่กับลูกๆ แต่เรายังมีครอบครัวขยายที่สังคมของเรานับวันจะขาดหาย หรือมี แต่ไม่เห็นความสำคัญ

และแน่นอน เราไม่เพียงมีสังคมไทย หากเรายังมีสังคมล้านนา...แผ่นดินของเรา ล้านนาที่ไม่ควรมีเพียงชื่อป้ายห้างร้าน หรือป้ายสถาบันการศึกษา หรือตุงไชยตามสนามบินและโรงแรม แต่เป็นล้านนาที่มีชีวิต ที่แทรกอยู่และสืบสานในสายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว โรงเรียน วัด ตลาด ในภาษา ในอาหาร ในกิจกรรมต่างๆ และทุกอย่างบนแผ่นดินนี้ ทุกวัน ทุกคืน...

ขอบคุณนะ มิก ที่เขียนถึงหม่อน....

ผมรู้ ตราบใดที่ยังมีคนร้องไห้เมื่อฟังเพลงอุ๊ยคำ และยังมีคนรักและอาลัย “หม่อน”........ ตราบนั้น ล้านนาก็ยังคงมีลมหายใจ.

ป.ล. บ่ายวันนี้ ผมได้พบกับมิกโดยบังเอิญ น่ายินดีอย่างยิ่งเพราะเขาพูดภาษากำเมืองได้ชัดถ้อยชัดคำเชียวแหละ.

22 พฤศจิกายน 2544.

อ้างอิง:

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร พลเมืองเหนือ. ฉบับ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
ตีพิมพ์ครั้งที่สองใน เชียงใหม่ปริทัศน์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 43 ตุลาคม และฉบับที่ 44 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
เพิ่งค้นพบต้นฉบับและปรับปรุงแก้ไขเพียงบางถ้อยคำ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 25

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น