Tue, 2010-08-17 02:46
นิธิ เอียวศรีวงศ์
กระแสทรรศน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 ส.ค.2553
น่าแปลกใจที่ในความคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปทั้งหลาย รัฐบาลนี้รวมเอาการปฏิรูปสื่อไว้ด้วย
รัฐมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้สื่อไร้คุณภาพ ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทย แต่ในอีกหลายสังคมทั่วโลก ในเมืองไทยเวลานี้ เสรีภาพของสื่อถูกลิดรอนอย่างร้ายกาจ ด้วย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลคงมองไม่เห็นเป็นธรรมดา แต่สื่อเองเล่า มองเห็นหรือไม่ และถ้ามองเห็น จะร่วมมือกับรัฐบาลชุดที่ลิดรอนเสรีภาพของตนอย่างร้ายกาจนี้ได้ลงคอหรือ
เราน่าจะเริ่มต้นคิดจากปัญหาของสื่อเวลานี้ว่าคืออะไร ใครจะเป็นผู้นำการปฏิรูป และจะปฏิรูปอย่างไร แน่นอนว่าคำตอบของสื่อซึ่งกลายเป็นธุรกิจเต็มตัวแล้ว คงมีหลายอย่างหลายประการ แต่หากจะมองคำถามนี้จากสังคม และให้สังคมเป็นผู้ตอบ ก็คงได้คำตอบที่ต่างกันมาก
ผมจะพยายามมองปัญหาของสื่อปัจจุบันจากสังคม
ในสังคมที่ใหญ่ซับซ้อนอย่างสังคมปัจจุบัน การไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลไม่ได้เปิดกว้างให้แก่ทุกคน อย่างในชุมชนหมู่บ้านโบราณ ในทุกสังคมปัจจุบัน การไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลล้วนมีช่วงชั้น (hierachy) หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง อะไรจะเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าว ถูกกำหนดขึ้นโดยพีระมิดของการไหลเวียนอันหนึ่ง อำนาจในการกำกับไหลเวียนกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อยข้างบน แล้วก็ค่อยๆ ทอนลงมาข้างล่างตามลำดับ จนถึงคนส่วนใหญ่ข้างล่าง แทบไม่มีอำนาจอะไรในการกำหนดการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลเลย
ในเมืองไทย คนจำนวนน้อยที่อยู่สุดยอดพีระมิดนั้นประกอบด้วยใครและอะไรบ้าง
รัฐ ซึ่งใช้ในที่นี้ให้รวมถึงตัวละครทางการเมืองทั้งหมด นักการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งแน่นอน แต่นอกจากนักการเมืองยังมีระบบราชการซึ่งเป็นผู้สร้าง "ข่าว" (หรือญัตติสาธารณะ) ที่ใหญ่มากในเมืองไทย เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในโลก นอกจากนี้ก็มี "นักวิชาการ" ทั้งที่เป็นรายบุคคลและเป็นสถาบัน ก็ได้เปิดพื้นที่ให้ตนเองในการกำหนดการไหลเวียนของข่าวมากขึ้นตามลำดับ และยังรวมถึงสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ กล่าวโดยสรุปก็คือ กลุ่มบุคคลและสถาบันที่รวมกันเป็น "ชนชั้นนำ" ของประเทศนั่นเอง
ทุน ได้เข้ามามีส่วนในการกำกับการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล ทั้งโดยเปิดเผยผ่านองค์กรของตนเอง และโดยลับๆ ผ่านการกดดันสื่อในฐานะผู้ลงโฆษณา หรือผ่านการ "ซื้อตัว" ผู้ทำสื่อ
เมื่อพูดถึงทุนก็ต้องพูดถึงเจ้าของสื่อด้วย เพราะสื่อกระแสหลักในทุกวันนี้เป็นธุรกิจไปหมดแล้ว แม้ว่าสื่อจำนวนมากได้จดทะเบียนธุรกิจของตนในตลาดหลักทรัพย์ แต่หุ้นก็ยังกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ราย ฉะนั้น เจ้าของสื่อจึงมีอำนาจในการควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารในสื่อของตนอย่างมาก นี่คือเหตุผลที่นักการเมืองมักพยายามใกล้ชิดกับเจ้าของสื่อ
นอกจากบุคคลแล้ว กึ๋นของคนทำสื่อก็มีส่วนอย่างมากในการกำกับการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล เช่นนักข่าวไม่มีกึ๋นพอที่จะรายงานความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิด "ปรากฏการณ์" ที่เป็นข่าว ได้แต่รายงานข่าว "ปรากฏการณ์" ไปวันๆ คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่สามารถสร้าง "ปรากฏการณ์" ที่เป็นข่าวได้ จึงถูกตัดออกไปจาก "ข่าว" ที่ผู้รับสื่อจะได้รับเป็นธรรมดา
ข่าวสารข้อมูลภายใต้โครงสร้างการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลเช่นนี้ จึงมีลักษณะไหลจากบนลงล่างเสมอ และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
แม้ไม่มีกฎหมายสักฉบับ (รวมทั้ง พ.ร.ก.การบริหารราชการฯด้วย) ที่ลิดรอนเสรีภาพของสื่อ โดยโครงสร้างของการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลดังกล่าว ก็เกิดการเซ็นเซอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเซ็นเซอร์ตามบัญชาของโครงสร้าง และเซ็นเซอร์ตนเอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งของสื่อและคนทำสื่อ
ขอยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น เวลาผ่านไปหลังการสังหารหมู่กลางเมืองไปเกือบสามเดือนแล้ว ในขณะที่การทำข่าวเจาะลึกเหตุการณ์ในหลายมิติได้มีการรายงานในสื่อต่างชาติ มากขึ้น สื่อกระแสหลักไทยยังไม่ได้ขยับที่จะเจาะลึกเรื่องนี้สักชิ้นเดียว พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเดียวอธิบายการละเลยหน้าที่อย่างน่าละอายนี้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลที่อ่อนแอด้านความชอบธรรมเช่นรัฐบาลนี้ ย่อมไม่กล้าพอจะปิดสื่อใดด้วยข้อหาก่อการร้ายอย่างแน่นอน อย่างมากก็ได้แต่ส่งหนังสือเตือนซึ่งจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ แต่เพราะสื่อเป็นธุรกิจ การเจาะข่าวเรื่องนี้ไม่ทำให้เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้มากนัก หรือได้ไม่คุ้มกับความเสี่ยงด้านอื่น นับตั้งแต่การถูกรัฐวิสาหกิจถอนโฆษณา ไม่เป็นที่พอใจของพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่มีและไม่คิดสร้างกึ๋นของนักข่าวให้มากพอจะเจาะลึกได้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลมาจากโครงสร้างของการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลที่ได้กล่าวแล้ว นั่นเอง
โครงสร้างเช่นนี้ ทิ้งใครไว้นอกการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลบ้าง คำตอบคือคนส่วนใหญ่ เช่นประชาชนระดับล่างซึ่งไม่ใช่ลูกค้าทั้งของสื่อและของโฆษณาในสื่อ พวกเขาไม่สามารถสร้าง "ญัตติสาธารณะ" ได้ด้วยตัวเอง ยกเว้นการเดินขบวนยึดท้องถนนในกรุงเทพฯ ในขณะที่ข่าวสารข้อมูลที่ไหลเวียนในสังคมนั้น ไม่ได้รวมเอามุมมองของเขาไว้ด้วยเลย ผู้ปลูกกระเทียมก็อยากต่อรองเหมือนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในการทำเอฟทีเอเช่น กัน แต่เพราะเขาอยู่นอกการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล เขาจึงไม่มีพื้นที่
ความไม่สนใจของสื่อกระแสหลักที่จะทำข่าวเจาะหรือข่าวสืบสวน ทำให้สังคมไม่มีทางเข้าใจความเชื่อมโยงของคนกลุ่มนี้กับนโยบายสาธารณะ หรือ "ปรากฏการณ์" ระดับต่างๆ ที่เป็นข่าวได้
ดังนั้น การไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลในสังคมไทย จึงไม่เคยมีการไหลขึ้นจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบนเลย
ผมคิดว่า นี่คือปัญหาใหญ่ของสื่อกระแสหลักในประเทศไทย หากจะมีการปฏิรูปสื่อโดยไม่เข้าไปจัดการกับปัญหานี้ ก็เท่ากับไม่ได้ทำอะไรเลย และรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่พอที่จะทำอะไรได้มากนัก
ข้อบกพร่องที่เกิดจากโครงสร้างของการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลดังที่ กล่าวข้างต้นนั้น หลายอย่างด้วยกันเป็นเรื่องที่เกิดในสังคมอื่นๆ เช่นเดียวกัน และมีความพยายามหลากหลายรูปแบบในโลก ที่พยายามจะแก้ปัญหานี้ (อันเราอาจเรียนรู้ได้)
ทางออกโดยสรุปก็คือ การสร้างทางไหลขึ้นของวงจรไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล
สิ่งหนึ่งที่ทำกันมาก ทั้งในต่างประเทศและในไทย ก็คือการใช้สื่อทางเลือกที่มีขนาดเล็ก ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการได้ง่าย (จึงเกิดอำนาจในการควบคุมการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลมากขึ้น)
สื่อทางเลือกที่ใช้กันมากคือสื่อ "ออนไลน์" ทั้งหลาย ศักยภาพของสื่อประเภทนี้มีสูงมาก สำนักข่าวอัลจาห์ซีราเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ประสบความสำเร็จในการสร้างสมดุลของข่าว จากที่เคยถูกครอบงำโดยสำนักข่าวตะวันตกเพียงฝ่ายเดียว และความสำเร็จที่สำคัญไม่แพ้กัน คือสามารถเชื่อมโยงกับสื่อกระแสหลักได้ เพราะกลายเป็นแหล่งข่าวที่สื่อกระแสหลักในหลายสังคมต้องรวมไว้ในการรายงาน ข่าวของตนด้วย
ในเมืองไทย เว็บไซต์ เช่น ประชาไท, ไทยอีนิวส์ ฯลฯ สร้างความสมดุลของข่าวได้มากขึ้น และค่อยๆ แพร่หลายมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ข่าวสารข้อมูลถูกปิดกั้น เว็บไซต์เหล่านี้ก็ยิ่งมีผู้นิยมอ่านหรือดูมาก เช่นเดียวกับ ASTV และทีวีของฝ่ายเสื้อแดง
แต่น่าเสียดายที่การเติบโตของสื่อทางเลือกเช่นนี้ในเมืองไทย กลับถูกขวางกั้นด้วย พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (บวกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปัจจุบัน) โอกาสที่จะค้นหาศักยภาพของสื่อทางเลือก เพื่อทำให้วงจรการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลได้มีส่วนไหลจากข้างล่างขึ้นบน จึงเหลือแคบลง (โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าหน้าด้านเกินไปที่จะพูดถึงการปฏิรูปสื่อ ท่ามกลาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
ในทางตรงกันข้าม จนถึงนาทีนี้ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อกระแสหลักมีความสำคัญ เพราะมีผู้รับข่าวสารข้อมูลผ่านสื่อประเภทนี้อยู่มากในเมืองไทย (รวมวิทยุและทีวีด้วย) ฉะนั้น การปฏิรูปสื่อจึงต้องหมายรวมถึงการเชื่อมโยงสื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลัก เข้าหากันได้ด้วย (ดังเช่นความสำเร็จของอัลจาห์ซีรา)
ในเมืองไทย มีความพยายามไปในทิศทางนี้อยู่บ้าง ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจคือการเพาะ "นักข่าวพลเมือง" ของทีวีไทย ซึ่งได้เปิดอบรมการทำข่าวให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ข่าวซึ่งประชาชนทำได้ออกอากาศ
แต่นี่เป็นความพยายามที่ไม่นำไปสู่อะไรได้มากนัก อยู่ที่ว่าจะให้เวลาได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้น ที่น่าจะทำมากกว่าก็คือการทำให้นักข่าวพลเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำข่าว ของสถานี (ไม่ใช่ได้เวลาปิดท้ายข่าว 3 นาที) ทางสำนักข่าวของสถานีต้องมีโจทย์อยู่ในใจ สามารถติดต่อนักข่าวพลเมืองได้ทันที เมื่อต้องการได้ภาพและรายงานข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั่วประเทศไทย สถานีมีหน้าที่เลือกสรรคลิปที่ส่งเข้ามา และรวบรวมจนเป็นประเด็น "ข่าว" ขึ้นมาเอง ยกตัวอย่างเช่นการจัดการน้ำโดยชุมชน สถานีอาจรับคลิปวิดีโอจากนักข่าวพลเมืองทั่วประเทศ แล้วสร้าง "ข่าว" ขึ้นจากคลิปเหล่านี้ แน่นอนต้องรวมถึงจากการบ้านที่สถานีต้องทำ ทั้งผ่านเอกสารและการสัมภาษณ์บุคคล จนเกิดความกระจ่างแจ้งและเป็นความรู้แก่สาธารณชน
หากโจทย์ของการปฏิรูปสื่อคือโครงสร้างการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูล เส้นทางปฏิรูปควรเป็นอย่างไร?
ผมขอพักเรื่องนี้ไปต่อในสัปดาห์หน้า
........................................................................
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 ส.ค.2553
ที่มา: มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น