ที่มา – http://www.cfcambodge.org, โปรดคลิ้กที่รูปเพื่อดูภาพขยาย
August 13, 2010
ณ ตอนนี้ ผมกำลังงง ๆ ๆ งวย ๆ ๆ (แกมขำขัน) กับ “ปราสาทเขาพระวิหารมรดกโลก” (ซึ่งกลายเป็นความเมืองระหว่างประเทศหลังจากประชุมที่บราซิเลียของ นรม. และกับ รมต. ของรัฐบาลไทย versus รอง นรม. และ ครม. กัมพูชา Who speaks the truth to each and their own peoples, or none at all? หรือไม่มีใครพูด “ความจริง” ทั้งหมดกับประชาชนเลย)
“ต้นตอ” ของปัญหานี้ ขอสรุปเป็นเบื้องต้นว่า สมัยเมื่อเรายังเป็น “สยาม” กับสมัยที่เปลี่ยนเป็น “ไทย” แล้ว ความคิดความอ่านหรือ “ลัทธิชาตินิยม” และ “ความรักชาติ” ของทั้ง 2 ยุคสมัย-ต่างกันมาก ซึ่งก็จะเลยเถิดไปถึงการ “รับ” หรือ “ไม่รับ” แผนที่ “เจ้าปัญหา” แผ่นนั้น
แผนที่แผ่นนี้ มักเรียกกันด้วยชื่อผิด ๆ และประหลาด ๆ โดยนักวิชาการ-นักการทหาร-และสื่อมวลชนฯ ว่า “แผนที่ 1 ต่อ
ความจริงชื่อที่แท้จริงของมันก็มี คือแผนที่ Dangrek ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่าแผนที่ “ดงรัก” หรือ “ดงเร็ก” นั่นเอง
“แผนที่ดงรัก” ดังกล่าวนี้ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของ ร.5 ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ต้นสกุลดิศกุล) เป็นมหาดไทย กับมีสมเด็จกรมฯเทววงศ์ (ต้นสกุลเทวกุล) เป็นการต่างประเทศ ได้ “รับรอง” แผนที่แผ่นนั้น และนำมาใช้ในประเทศของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เพราะต้องการรักษา “อธิปไตย” ของสยาม (ส่วนใหญ่) เอาไว้)
ไม่รับก็ไม่ได้ เพราะสมัยนั้น คือ gunboat diplomacy/politics และนี่ก็เป็นหลักฐานหรือเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ “ศาลโลก” ที่กรุงเฮก ในปี พ.ศ. 2505 ตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ว่า “ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา”
แล้วลูกระเบิดทางการเมืองสำหรับสังคมไทย ก็ถูกวางไว้ตั้งแต่สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ครั้งกระนั้น
ย้อนกลับไปให้ไกลในประวัติศาสตร์อีก
คือครั้งเมื่อ “รัฐบาลปีกขวา” ของ “คณะราษฎร” นำโดย “พิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ” เปลี่ยน “สยาม” เป็น “ไทย” เปลี่ยน Siam เป็น Thailand นั่นแหละ ก็ได้เริ่มกระบวนการที่จะไม่รับ “แผนที่ดงรัก” แผ่นนั้น (รวมทั้งไม่รับสนธิสัญญาสมัยสยามกับฝรั่งเศส (ร.ศ. 112) อีกด้วย)
นี่ก็นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 หรือสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
สรุป จะเห็นได้ว่าเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว รัฐบาลของรัชกาลที่ 5 ในยุคของ “ลัทธิชาตินิยมสยาม” ได้ยอมรับทั้งสนธิสัญญาและแผนที่กับฝรั่งเศส แต่ต่อมาเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ที่ส่งทอดมายังจอมพลสฤษดิ์) ในยุคของ “ลัทธิชาตินิยมไทย” ไม่ยอมรับ
พอมายุคสมัยนี้ ที่เรา ๆ ท่าน ๆ อาจถูกชี้หน้าถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” สังคมของเราจึงยังย่ำอยู่กับ “ลัทธิชาตินิยมไทย” (ไม่ใช่ “ลัทธิชาตินิยมสยาม”)
ดังนั้น ทั้งรัฐบาลปัจจุบันและพันธมิตรร่วมอุดมการณ์ (รวมทั้งนักวิชาการที่ขังตนเองอยู่ใน “เขตแดนรัฐชาติ” อย่าง ดร.อดุล-อ.ศรีศักร) ก็รับช่วงต่อ ๆ กันมาจาก “ลัทธิผู้นำของพิบูลสงคราม-วิจิตรวาทการ-สฤษดิ์-เสนีย์” (จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) ตกทอดกันมา ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ลัทธิชาตินิยมไทย” ซึ่งถือได้ว่าเป็น “เวอร์ชันแปลง” ของ Thailand มิใช่ “ลัทธิชาตินิยมสยาม” ซึ่งเป็น “เวอร์ชันดั้งเดิม” ของ Siam
บุคคลระดับ “ผู้นำ” เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็น จอมพล-นายกฯ-รมต. นักการเมือง นักการทหาร นักวิชาการ (ที่จำกัดอยู่ในเขตแดนของรัฐ) นักเคลื่อนไหวมวลชน หรือสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาค (ที่อ้างว่าเป็น) ประชาชน ไม่ยอม “รับรู้” หรือ “ประสงค์” ที่จะรับรู้ว่า
“เสด็จพ่อ ร. ๕ กับสมเด็จกรมเทววงศ์ (กต.) และสมเด็จกรมดำรงฯ” (มท.)
ได้ทรงทำอะไรไว้ ได้ทรงกำหนดเขตแดน-ขอบเขต-และเส้นทางเดินของรัฐ “สยาม” กับประเทศข้างเคียงไว้อย่างไร
ที่ในช่วง “หน้าสิ่วหน้าขวาน” เมื่อประมาณระหว่าง พ.ศ. 2436-2450 (1893-1907) อันเป็นจุดสูงสุดของลัทธิอาณานิคมล่าเมืองขึ้น Height of colonialism หรือ 100 ปีมาแล้วนั้น
ในห้วงเวลาที่ไม่มี “มหามิตร” ที่สยามคิด (ฝัน) ว่าจะพึ่งพาได้เข้ามาช่วย
ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษของพระนางวิกตอเรีย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียของพระเจ้าซาร์ ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง “สันนิบาตชาติ” หรือ “สหประชาชาติ”
หรือ Unesco ฯลฯ ที่จะเข้ามาแทรกแซง) ดังนั้นจึงต้อง “จำยอม” และ “เลยตามเลย”
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึง พ.ศ. 2482 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลใหม่ (ปีกขวาของคณะราษฎร) และ/หรือ “ผู้นำใหม่” อย่าง “พิบูลสงคราม-หลวงวิจิตรวาทการ” ก็เปลี่ยน “สยาม” เป็น “ไทย” เปลี่ยน Siam เป็น Thailand
แล้วก็เปลี่ยนจินตนาการใหม่ และก็เริ่มสร้างปัญหาใหม่ ๆ ส่งทอดต่อ ๆ มา ผ่านนักการทหารบ้าง (อย่างสฤษดิ์) ผ่านนักการเมืองบ้าง (อย่าง ม.ร.ว. เสนีย์) ให้มาเป็นปัญหาอยู่กับเรา ๆ ท่าน ๆ จนถึงทุกวันนี้
และเราประชาชนไม่ว่าจะชนชั้นบน-กลาง-ล่าง ก็ต้องรับมรดกอันเลวร้ายทาง ปวศ. (บาดแผล-บกพร่อง) ที่ถูกนำมา “ปลุกผี” และ “ปัดฝุ่น” ทำให้กลายเป็นปัญหาของ “มรดกโลก” นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2551 จากควีเบ็ก ไปเซวีญา ไปบราซิเลีย และก็จะไปบาห์เรน ในปีหน้า 2554
นี่เป็น “โศกนาฏกรรมระดับชาติ”
ในยุคสมัยที่เราน่าจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเพื่อคนรุ่นใหม่
ไปให้พ้น “อดีตเก่าๆ” ที่ “ล้าหลังและคลุ้มคลั่ง”
ไปให้พ้น “ปวศ.บกพร่อง” – “ปวศ.บาดแผล”
เดินไปข้างหน้า ตั้งฝันไปให้ไกล ไปให้ถึง “โลกาภิวัตน์-โลกไร้พรมแดน-และประชาคมอาเซียน”
เราไม่เพียงจะต้อง “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี” กันกับผู้คนในชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น
แต่ยังต้อง “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี” กับเพื่อนร่วมภูมิภาค และมนุษยชาติร่วมโลกอีกด้วย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ป.ล. รัฐธรรมนูญใหม่ของบ้านนี้เมืองนี้ ถ้าไม่เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม-สยามประเทศ” ก็ “ปฎิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-รักสามัคคี” กันไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น