Mon, 2010-08-16 02:33
บุญยืน วงศ์สงวน NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท ผู้ประสานงาน กป.อพช.และเจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ ความต่างของทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองของ NGO ในซีรี่ส์ “NGO เป็นไงในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โดยกลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย
ตอน 15 บุญยืน วงศ์สงวน NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท
"ในฐานะของคนทำงานนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน คือมองว่าเป็นประชาชนธรรมดาทั่วๆ ไปมากกว่า คือคนไม่มีสังกัด ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ แต่เป็นภาคประชาชนที่เป็นคนทำมาหากิน คือเป็นคน... อาจเรียกว่าคนรากหญ้า หรือว่าคนที่เป็นชาวบ้าน คิดว่าตัวเองให้นำหนักตรงนี้มากกว่า คำว่าภาคประชาชนในความหมายของตนเอง นี่มองจากพื้นฐานการทำงานในแง่ของตัวเอง"
"ช่วงแรกๆ ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ก็รู้สึกว่าบทบาทนักพัฒนาคืออาจลงไปศึกษาข้อมูล ไปขยายแนวคิด ไปแลกเปลี่ยน ไปหาประสบการณ์ พัฒนาตัวเองด้วย พัฒนาเขา เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในยุคหลังคิดว่าในช่วงสถานการณ์ของข้อมูลข่าวสาร กระแสโลกาภิวัตน์ คิดว่าบทบาทของนักพัฒนาเปลี่ยนไป อาจต้องมีข้อมูล ทำงานในลักษณะงานวิชาการมากขึ้น หรือการเชื่อมต่อระหว่างงานในระดับพื้นที่กับความเป็นวิชาการ ความเป็นกระแสโลกาภิวัตน์จากข้างนอก เป็นตัวเชื่อมต่อตรงนี้มากขึ้น
“ในแง่หนึ่งภาคประชาชนเองก็มีการยกระดับพัฒนาการทำงาน เพราะว่ามีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ไม่ว่ารัฐหรือภาคประชาสังคมอื่นๆ ลงไปทำงานกับภาคประชาชนมากขึ้น ดังนั้นคิดว่าในส่วนบทบาทของนักพัฒนาที่ลงไปทำงานแบบเก่าน่าจะมีการปรับ เปลี่ยน" บุญยืน วงศ์สงวน NGO โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท ผู้ประสานงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.)
000
ตอน 16 เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ
"ผมคิดว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย เขาก็เป็นภาคประชาชน บางกลุ่มไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรคเพื่อไทย บางกลุ่มอาศัยที่ตัวเองรักประชาธิปไตยก็มาร่วมเคลื่อนไหวให้มีการยุบสภาหรือ เรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นการการคำว่าภาคประชาชนควรต้องมาทบทวนกันใหม่ และไม่สามารถผูกขาดโดยคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเฉพาะเอ็นจีโอได้ฝ่ายเดียว"
"ภาคประชาชนของเอ็นจีโอนี้ การเคลื่อนไหว 4-5 ปีที่ผ่านมาก่อนรัฐประหาร 19 กันยา ถึงปัจจุบันนี้ก็ว่าได้ โดยกระแสใหญ่ก็คือเป็นวิธีคิดแบบอำมาตยาธิปไตย เป็นวิธีคิดที่ไม่เคารพ ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน คือยังไม่นิยมเรื่องระบบหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง ยังมองว่าชาวบ้านโง่อยู่ โดยตรรกะมันเป็นอย่างนั้น และบางทีก็เตลิดถึงขั้นไปนิยมความคลั่งชาติ ตรงนี้ผมมองว่าเป็นความล้าหลังของภาคประชาชนในนามของเอ็นจีโอโดยภาพรวมของ เอ็นจีโอ โดยกระแสหลักคือไม่เอาประชาธิปไตยไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน นี่คือสิ่งที่สำคัญ"
"เราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ถามว่าเอ็นจีโอส่วนใหญ่ 91 ศพคุณคิดอย่างไร ทำไมคุณถึงเข้าไปปฏิรูปกับสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอำมหิตของรัฐบาล... เท่ากับว่าถ้าอย่างนั้นคุณมีอำมหิตอยู่ในใจหรือเปล่า ผมอยากจะถามเหมือนกัน คุณมีใบอนุญาตสั่งฆ่ากับเขาด้วยหรือเปล่า เพราะคุณไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจน ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องราวเหล่านี้เลย
"การทบทวนบทบาทภาคประชาชน หนึ่งเอ็นจีโอต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ว่าวิธีคิดในการพัฒนาประเทศไทย มันไม่ได้มีวิธีคิดแบบวัฒนธรรมชุมชนอย่างเดียว เพราะวิธีคิดแบบวัฒนธรรมชุมชนมันก้ำกึ่งหรือคล้ายกับระบบอาวุฒโส หรือระบบอำมาตย์ เวลาพูดถึงวัฒนธรรมชุมชนเหมือนกับว่าสมัยก่อนไม่มีไพร่เลย ซึ่งมันไม่จริง มันมีไพร่โดนสักเหล็ก โดนเอาเปรียบอะไรต่างๆ มากมาย โดยขูดรีด เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมชุมชนมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง"
"มีชาวบ้านเพียงกระหยิบเดียวเท่านั้นเองที่เอ็นจีโอใช้วิธีครอบงำผ่าน ระบบอุปถัมภ์ แต่ถามว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่ได้เชื่อเอ็นจีโอ เขาชอบระบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเพราะเขาต่อรองกับพรรคการเมืองได้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจน ไม่เชื่อลองไปสำรวจดูนะครับ เพราะฉะนั้นเราอาจหลงตัวเอง เพียงเพราะมีสื่อ มีนักวิชาการบางส่วนที่ทำให้ภาพของภาคประชาชนเท่ากับเอ็นจีโอซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ แม้แต่คนที่ทำงานกับเอ็นจีโอก็ไม่ได้เอาเอ็นจีโอเวลาพูดถึงเรื่องการเมือง นอกจากเรื่องที่เขาได้ประโยชน์เท่านั้นเอง" เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ อดีต NGO ภาคเหนือ
.....................................................
หมายเหตุ: กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch: TSMW) เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคม นักพัฒนา อดีตนักพัฒนา นักศึกษา และนักวิชาการ ซึ่งมีความเกี่ยวข้อง สนใจ และห่วงใยในสภาวการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไทยภายใต้สถานการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น