Wed, 2010-08-11 01:36
Archiculture Cross Section
สัปปายะสภาสถาน – สถาปัตยกรรมราชาชาตินิยมร่วมสมัย
1. รูปตัดอาคารรัฐสภาแบบชนะเลิศการประกวด, ออกแบบ พ.ศ. 2552
2.
“ ธรรมราชาเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางการเมืองและพระราชอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์หรือบารมีมาแต่โบราณ เป็นอุดมคติดั้งเดิมของสังคมการเมืองพุทธเถรวาทที่ถือว่าพระราชาผู้ทรงทศพิธ ราชธรรมย่อมสั่งสมพระราชอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือบารมี อันจะส่งผลโดยปริยายให้ระเบียบโลก(สังคม)ของชาวพุทธอยู่เย็นเป็นสุข ธรรมราชาตามทฤษฎีกษัตริย์นิยมประชาธิปไตย อยู่บนพื้นฐานปรัชญาการเมืองของพุทธเถรวาทดังกล่าว แต่ปรับแปรให้สอดคล้องกับยุคสมัย ออกมาเป็นโครงการและพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งเน้นการเอาใจใส่ทุกข์สุขของมหาชน แต่พระราชกรณียกิจทั้งหลายกลับมิได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทาง ”การเมือง” ตามที่เข้าใจกันทั่วไป เพราะพระองค์ทรงอยู่”เหนือการเมือง”เพราะ”การเมือง”ในความเข้าใจทั่วๆไปหมาย ถึง การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา ธรรมราชายุคประชาธิปไตยหรือกษัตริย์นิยมประชาธิปไตยอยู่เหนือการเมืองในความ หมายแคบเช่นนี้
แต่หาก”การเมือง”หมายถึง สัมพันธภาพทางอำนาจ(power relation)ระหว่างกลุ่มฝ่ายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐ สถานะ”เหนือการเมือง”ย่อมจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบ การเมืองของไทย กล่าวคือมีปริมณฑล”การเมือง” (การต่อสู้เพื่อเข้าครอบครองรัฐบาลและรัฐสภา) อยู่ข้างล่าง และมีปริมณฑล”เหนือการเมือง”อยู่ข้างบนในระบบเดียวกัน ภายใต้ระบบเดียวกันนี้ ธรรมราชาเหนือการเมืองย่อมทรงพระบารมีวิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับนักการเมือง ซึ่งทำได้อย่างเก่งก็แค่มีอำนาจอันสกปรกฉ้อฉล”
จากบทความ ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, ธงชัย วินิจจะกูล, ปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2548, หน้า 13
รูปตัดแบบอาคารรัฐสภาใหม่ (1.) นี้ถูกผลิตขึ้นหลังข้อเขียน (2.) ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี แต่ดูราวกับว่าทั้งสองจะกลมกลืนอยู่ร่วมกันเป็นดังภาพประกอบและคำอธิบายแนว ความคิดในการออกแบบได้อย่างพอดี? ความย้อนแย้งของมันก็คือ ผู้ออกแบบเองก็คงไม่ประสงค์จะลอกแนวความคิดของบทความนี้บรรจุลงไปเป็นแนว ความคิดหลักในการออกแบบแน่ๆ ด้วยเหตุว่ามันเป็นบทความที่เคยถูกเซนเซอร์ในปี พ"ศ.2548[i] ด้วยเหตุผลของ”ความไม่เหมาะสม” ซึ่งน่าจะแสดงถึงความไม่เป็นที่พึงปรารถนา หรือการไม่ยอมรับทัศนะวิจารณ์ในบทความนี้ ณปีพศ.นั้น ไม่ว่าจะด้วยเชื่อว่าบทความนี้วิเคราะห์ผิดพลาด หรือวิเคราะห์ตรงไปตรงมาเสียจนไม่คิดว่าสังคมไทยจะยอมรับความจริงแบบนั้นได้ ก็ตาม แล้วเหตุไฉนเลยสถาปัตยกรรมระดับชาติในปี พ.ศ.2553 นี้เอง ที่กลับประกาศตัวสวมปรัชญาการออกแบบ ที่มีเนื้อหาเดียวกับบทความที่ถูกเซนเซอร์จากสังคมเมื่อ5ปีก่อน และกลับได้รับการยอมรับจากกรรมการตัดสินจนเป็นแบบที่ชนะเลิศการประกวด? เมื่อได้ย้อนกลับมาอ่านบทความฉบับเต็ม ผู้เขียนพบว่ามันกลับสามารถอธิบาย”ที่มา”ความคิดงานออกแบบชิ้นนี้, ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองแบบไทยๆ และสาระแห่ง”ความเป็นไทย” ในการเมืองร่วมสมัยได้ (อาจจะ) ชัดเจนตรงไปตรงมาเสียยิ่งกว่าข้อแถลงของทีมออกแบบเองเสียอีก[ii] อย่างนี้แล้วสิ่งที่ไม่ยอมรับในปี 2548 คืออะไร? สิ่งที่ยอมรับในปี 2553 มันเป็นสิ่งเดียวกันที่มีความต่างกันตรงไหน?
สิ่งที่ต่างคือ ”ท่าที” ในการมองข้อเท็จจริงสังคม-การเมืองไทย... บนสิ่งที่ถูกเห็นสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งมองด้วยการวิเคราะห์วิจารณ์ ส่วนอีกคนหนึ่งนำเอาเนื้อหาเดียวกันมาชื่นชมเชิดชู...[iii] มันคงไม่ได้เกิดจากแผนการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมแต่อย่างใด ผู้เขียนเชื่อว่ามันออกมาอย่างจริงใจจาก intuition ของปัจเจกที่ถูกก่อรูปมานับสิบปี มันคือรสนิยมทางการเมืองกระแสหลักของคนไทยร่วมสมัย ที่ถูกทำให้เป็นสิ่งสูงสุด ถูกต้องที่สุด ไม่ได้เป็นรสนิยมทางการเมืองที่ชาวไทยมีสิทธิเลือกหรือไม่ แต่ถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวทางการเมืองที่กดทับรสนิยมทางการเมืองแบบ อื่นๆ ...ถ้าคุณเป็นคนไทย...คุณต้องเชื่อแบบนี้ ไม่อย่างนั้น....คุณก็”ไม่ไทย” แล้วในวิกฤติทางการเมือง3-5ปีที่ผ่านมาที่ทัศนะนี้กำลังถูกเขย่า การประกาศ ยืนยันคุณค่าในทัศนะคติทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมของผู้ออกแบบนี้ต่างหาก ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญให้แบบชนะใจกรรมการและทำให้สัปปายะสภาสถานได้รับชัยชนะ มิใช่การทำงานของแนวความคิดทางสถาปัตยกรรม หรือพูดอีกอย่างได้ว่า การประกวดแบบรัฐสภาใหม่เป็นการประกาศย้ำmanifestoทางการเมืองให้ถูกรับรอง อย่างเป็นทางการผ่านงานสถาปัตยกรรมเพื่อสยบการท้าทายที่กำลังก่อตัว และกลายเป็นบทหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมไม่ว่าผู้ออกแบบจะประสงค์หรือไม่ก็ ตาม
องค์ประกอบทางศิลปะลัทธิราชาชาตินิยม
ถ้าย้อนไปดูอดีต วิกฤติเอกลักษณ์ไทย หรืออาการหมกมุ่นค้นหาระบุความเป็นไทยนั้นมักมาคู่กับกระแสชาตินิยม มันจะเร่งร้อนผลิตพฤติกรรมแสดงค่านิยมแปลกๆพิลึกๆฉาบฉวยๆออกมาบังคับใช้ เช่นแฟชั่นภาคบังคับสมัยจอมพล ป. หรือการยืนตรงเคารพธงชาติ ในสมัยรัฐบาลหอย นาย
ชาติหรือ”ไทย”นั้นนับอายุได้ไม่ถึง 200 ปี หากเราเริ่มนับตั้งแต่กระแสล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือภาวะที่ไทยเริ่มต้องระบุความเป็นชาติแก่อิทธิพลภายนอก ก่อนหน้านั้นที่ยังเป็นสยาม มีบันทึกรณรงค์เอกลัษณ์แห่งสยามหรือไม่? หรือหากมี เหตุใดรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชนิยมโปรดให้สร้างวัดราชโอรสอันเป็นวัดประจำรัชกาลให้มีกลิ่นอาย จีนได้? ผู้เขียนจะปล่อยให้มันเป็นคำถามต่อผู้เสพประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบทางการ อันเต็มไปด้วยจริง-ลวงที่เกินความสามารถผู้เขียนไปมาก
แล้วเอกลักษณ์ไทยที่ราชาชาตินิยมร่วมสมัยหรือผู้ออกแบบต้องการหาได้จากที่ใด? ผู้เขียน google เข้าไปดื้อๆ แล้วพบเวบเพจนี้...
สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยก่อตั้งในปี 2521 โดยมีที่มาและนโยบายดังนี้
“เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๑ ในสมัยรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พบว่ามีข้อมูลข่าวสารทั้งเปิดเผย และลับออกมาโจมตีสถาบันสูงสุดของชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในบรรดาเยาวชน และประชาชนคนไทย นอกจากนั้นการที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์สำหรับคนไทย เช่น การนิยมวัตถุและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ ความฟุ่มเฟือย การลดคุณค่าทางด้านจิตใจ ละเลยแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณี คุณธรรม และจริยธรรมทางสังคม ขาดความเข้าใจในคุณค่าของมรดกของชาติ มีการพัฒนาประเทศโดยขาดการพิจารณาทบทวนถึงคุณค่าของเอกลักษณ์และภูมิปัญญา ไทย ความเป็นอยู่ชีวิตประจำวันที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทยนับวันจะหายากขึ้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
และในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติตามลำดับ โดยปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ๔ สถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในพุทธศักราช ๒๕๒๓ ได้มีพระราชกฤษฎีกา ตั้งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นหน่วยงานระดับกอง สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ และปฏิบัติงานเลขานุการของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และได้รับการยกฐานะเป็นหน่วยงานระดับสำนัก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙
ปัจจุบันสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของ ชาติ สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๕ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันที่สำคัญ ๔ สถาบัน คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “[v]
.
...ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสถาบันที่ 4 ชื่อว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”...องค์ประกอบของความเป็นไทยในสัปปายะสภาสถาน [vi] หรือเสาหลักแห่งราชาชาตินิยมนั้นเรียบง่ายและไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร เมื่อกระแสชาตินิยมครอบคลุมสังคมจะเต็มไปด้วย propaganda ที่บรรจุคำตัดสินดีชั่วถูกผิดไว้ให้กับเกือบทุกสิ่ง สิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นกลไกและองค์ประกอบที่กำลังทำงานเพื่อปลุกเร้าชื่นชม สถาปนาความดีงาม ด้วยเทคนิควิธีชี้นำที่ต่างออกไปจากอดีต ที่เป็นผลมาจากส่วนผสมที่ ”ร่วมสมัย” เป็นการเมืองวัฒนธรรมแบบร่วมสมัยที่อาจฝังตัวเป็นจารีตหรือเป็นแค่ตลกร้าย รายวันเมื่ออำนาจพลิกผัน
ศาสนา- อัตตลักษณ์ทางศีลธรรม- แฟชั่นและเทคนิคการไต่เต้าทางศีลธรรมแบบร่วมสมัย
ศาสนาเป็นองค์ประกอบที่คลี่คลายตัวให้ร่วมสมัยได้อย่างน่าทึ่งนับแต่ วิกฤติเศรษฐกิจปี2540 หนังสือธรรมะนั้นติดอันดับขายดีติดต่อกันมาหลายปี มาคู่กับการใช้vacationยอดนิยมไปกับวัดและการวิปัสสนา พุทธโครงการจึงผุดเพิ่มเข้ามาในสำนักงานให้สถาปนิกออกแบบ ผลงานเข้ารอบสถาปัตยกรรมดีเด่นปี2553ที่จัดแสดงในปีนี้ปีเดียว เป็นโครงการเกี่ยวกับวัดเสีย 3 ราย เทียบกับย้อนกลับไปสัก10-20 ปีก่อนรวมกันมีอยู่สัก2-3ราย[vii] พุทธบริโภคเติบโตมาตามdemandของกลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ชนชั้นกลาง และผู้บริโภคกลุ่มนี้เองที่manipulateมันให้เข้ากับจริตตน
โครงการเช่นวัดป่าเป็น Architecture without architect ที่เดิมเป็นการวางผังกันเองง่ายๆของพระในพื้นที่นั้นๆ เพื่อสะท้อนวิถีเรียบง่ายและการยอมสละตนสู่ความ”ไม่มี” ปัจจุบันมีโครงการเหล่านี้มาว่าจ้างให้สถาปนิกออกแบบ เข้าระบบการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ในอดีตวัดป่ามีหน้าที่ทางสังคมต่างกันกับวัดหลวงที่สถาปนาจากวังหรือ กษัตริย์ วัดหลวงมีไว้ประกอบพิธีเพื่อการสถาปนาอำนาจของกษัตริย์ หรือการเข้าอิงศาสนธรรมเพื่อความชอบธรรมแห่งอำนาจของกษัตริย์ แต่ในปรากฏการณ์ปัจจุบัน แฟชั่นหรือค่านิยมใหม่จูงใจให้ชนชั้นกลางขอยืมวัดป่ามาตกแต่งอัตตลักษณ์ไปจน ถึงช่วยสถาปนาอำนาจทางศีลธรรมในแบบเดียวกันกับที่กษัตริย์ในอดีตเข้าอิงศาสน ธรรม ทั้งจากการเข้าบวชหรือเข้าอุปถัมภ์วัดด้วยพิธีกรรมแบบย่อ คำว่า”บวช”ไม่ต้องหมายถึงโกนหัวเข้าพิธีอีกต่อไป ผู้เขียนจำได้ว่าสักสิบปีก่อนนั้นเองที่เราฟังคำนี้อย่างแปลกใจกับการไปบวช ของเพื่อนสาวเป็นเวลาสิบวัน แล้วก็กลับมาหน้าตาเหมือนเดิมได้โดยหัวไม่ล้าน มันเป็นพิธีกรรมร่วมสมัยของชนชั้นกลางในการเข้ารีตทางพุทธศาสนาโดยไม่ต้อง แปลงเป็นสมณเพศ เราสามารถมีอัตตลักษณ์ทางธรรมได้โดยยังคงทำมาหากินไปได้ตามปกติ มีทรัพย์จับเงิน และมีกิเลสไว้ให้ห้ามได้เมื่อกลับมาบ้าน
ศาสนาพุทธแบบร่วมสมัยจึงดูเหมือนจะเข้ารีตได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องมี พิธีกรรมแบบเดิม และผลิตกรรมวิธีใหม่ในการเข้ารีตได้โดยขึ้นอยู่กับการยอมรับและประนีประนอม ในพิธีกรรมให้เข้ากับจริตของกลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ชนชั้นกลาง
สัปปายะสภาสถานนำพุทธศาสนามา interpret เป็นทั้งแกนทางความคิดรูปแบบผังอาคารและเครื่องมือช่วยสถาปนาความ ศักดิ์สิทธิ์ โดยการอ้างอิงการวางผังอาคารรูปไตรภูมิ คือจงใจที่จะทำให้อาคารกลายเป็นวัด เพื่อสถาปนาอาคารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้นักการเมืองชั่วยำเกรง[viii] รวมไปถึงการใช้เทคนิค metaphor พิธีกรรมทางพุทธด้วยการตั้งชื่อภาษาบาลีให้กับอาคาร โดยผู้ตั้งชื่อที่เป็นสถาปนิกไม่ใช่พระสงฆ์
สัปปายะสภาสถานคือความพยายาม transform อาคารจากรัฐสภาสมัยใหม่ให้กลับมาเป็นวัดหลวงตามคติการเมืองร่วมสมัย คือ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางการเมือง ที่ประกาศว่าอำนาจทางการเมืองจะชอบธรรมได้ก็ด้วยมีอำนาจทางศีลธรรมรองรับ แต่ด้วยว่าทั้งนักการเมืองหรือนัก(ถูก)แต่งตั้งเหล่านี้ไม่มีศักดิ์ศรี ขัตติยะวงศ์แห่งกษัตริย์อย่างในอดีต เขาเหล่านี้จึงต้องอาศัยการไต่เต้าทางศีลธรรมโดยเทิดทูนธรรมราชาเป็นต้นแบบ ค่านิยมการไต่เต้าทางศีลธรรมจึงสร้างระบบคุณค่าไม่เพียงเพิ่มอัตตลักษณ์ต่อ ปัจเจก แต่มันสามารถนำพามาซึ่งสถานะที่สูงส่งกว่าในกลุ่มทางสังคม ไปจนถึงกลายเป็นอำนาจนิยมในทางศีลธรรมที่สามารถใช้ปกครองไปจนถึงกดข่มผู้ที่ ด้อยกว่าเมื่อนำธรรมะในโลกุตระมาใช้เป็นอำนาจในโลกโลกียะ
ศาสนาคือการทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดีงาม โดยสถาปนาชื่อบาลี
ผลที่ได้นอกเหนือไปจากการประกาศรสนิยมทางการเมืองแล้ว คือการยกระดับอาคารให้ดูศักดิ์สิทธิ์ด้วยการมีหน้าตาและชื่อเหมือนวัด สัปปายะสภาสถานเปรียบได้กับชายไทยที่จะได้รับสมญานามบาลีเมื่อเข้ารับการบวช เป็นภิกษุ อันเป็นการกลายร่างกลายภพจากโลกียะไปสู่โลกุตตระ หรือถูกทำพิธีให้เข้าเป็นสมาชิกหนึ่งของศาสนา ด้วยวิธีการเดียวกับที่คนชั้นกลาง Manipulateวัดและพิธีกรรมให้เข้ากับจริตของตน
การบัญญัติชื่อที่เป็นภาษาเฉพาะเช่นบาลี ก็เพื่อความรับรู้ว่าสิ่งนั้นได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับการtransformมนุษย์ให้กลายเป็นภิกษุ เพราะ”บาลีเป็นเช่น เดียวกับภาษาศักดิ์สิทธิ์โบราณอื่นๆที่เป็นระบบสัญญลักษณ์ที่ผลิตเพื่อการ สื่อสารเชื่อมโยงกับระเบียบที่มีอานุภาพเหนือพื้นพิภพ หรืออำนาจที่เหนือมนุษย์เหนือธรรมชาติ เป็นภาษาสัจจธรรมที่รับรู้ได้โดยไม่ขึ้นกับชาติพันธุ์และข้ามประเทศข้าม พรมแดนได้ เป็นภาษาเขียนที่ตายสนิทและห่างไกลจากภาษาพูดยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพื่อหลักการที่ว่าภาษาแบบนี้ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโลกบริสุทธิ์แห่ง สัญญลักษณ์ได้เหมือนกัน และมันดำรงอยู่เป็นเวลาเก่าแก่นานพอที่จะศักดิ์สิทธิ์ดังรูปเคารพ เช่นที่ละตินเป็นภาษาของชาวคริสต์ บาลีเป็นภาษาของชาวพุทธ”
และก็เช่นเดียวกันกับการปลุกเสกฉายา “อภิสิทธัตถะ”ให้แก่นายก โดยคุณไพบูลย์มิได้มีสถานภาพพระสงฆ์แต่ประการใด และนายกก็ไม่ต้องแปลงเป็นสมณเพศแต่อย่างใด
ทั้งสัปปายะสภาสถานและอภิสิทธัตถะแตกต่างจากการถูกทำให้เป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ในอดีต ที่ผู้ประกอบพิธีกรรมมิใช่องค์กรหรือสมาชิกในองค์กรทางศาสนา แต่มาโดยสถานภาพ ผู้อาวุโสด้านวิชาชีพ ผู้อาวุโสด้านกิจกรรมทางสังคม หรือมีเครดิตจากตำแหน่งสูงๆทางสังคม, การเมืองที่เคยได้รับ นี่จึงอาจ เป็นวิธีการและความพยายามไต่เต้าสถานภาพทางธรรมแบบร่วมสมัย หรือเพิ่มอำนาจทางศีลธรรมของทั้งผู้พูดและวัตถุที่ถูกปลุกเสกไปพร้อมๆกัน เมื่อ ผู้พูดไม่มีสถานภาพทางธรรมแบบเป็นทางการ สิ่งที่ท่านพยายามสถาปนาด้วยการผสม-สร้างคำบาลีทั้งหลายขึ้นมาเอง มันก็คงจะขึ้นอยู่กับสังคมว่าจะยอมรับลูกความหมายตามแบบนั้นๆหรือไม่ น่าสนใจที่มีความคิดว่าสถานภาพทางธรรมอาจได้มาทางลัด โดยวิธีการทางการโฆษณาแบบเดียวกับการทำงานของ copy writer ในการตั้งชื่อสินค้า...หมวดศีลธรรม
ความหมายของฉายาอภิสิทธัตถะคือ คนดีผู้นำพาการปรองดองมาสู่บ้านเมือง (ทั้งๆ ที่ผลงานยังไม่ปรากฏ?) นายกฯ จึงอาจกลายเป็นได้ทั้งนักรบผู้ขาดความมั่นใจ หรือเป็นผู้นำที่เผชิญหน้าอยู่กับวิกฤติศรัทธา ผู้เข้ามาพึ่งพิงการเพิ่มพลังอำนาจจากการปลุกเสกนั่นเอง ถ้านายกถึงกับต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเองลงมาเป็นวัตถุแห่งการเจิม วัตถุที่ท่านพยายามปลุกเสกอาจทำงานได้มากที่สุด... เป็นอภิสิทธัตถะ – เดวิดรูปงามแห่งราชาชาตินิยม คล้ายๆ กับที่เราจะมีสัปปายะสภาสถาน – วัดราชาชาตินิยม พ.ศ.2553 ที่ชื่อรัฐสภา ที่มีกำหนดวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้
ตราบใดที่คุณค่าของชิ้นงานและอุดมการณ์ของมันยังน่ากังขา เราคงจะได้เห็นกระบวนการ endorsement... ที่ผู้ผลิตและผู้สนับสนุนจะออกมาปรากฏตัวรับรองกันด้วยกลวิธีต่างๆอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
[i] อ่านเพิ่มเติมที่ เวทีวิพากษ์ กรุงเทพธุรกิจจุดประกาย 21 ตุลาคม 2548 “ปาฐกถาของ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ถูกคนจำนวนหนึ่งแปะป้ายเป็นปาฐกถาตุลาชิน แต่ด้วยเนื้อหาที่คัดค้านหนังสือพระราชอำนาจและแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยอ้างอิงพระราชอำนาจ ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าเผยแพร่ปาฐกถาฉบับเต็มของ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ผิดฝาผิดตัวกันไปหมด” http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=print&sid=999
[ii] ดูบทสัมภาษณ์ผู้ชนะเลิศการประกวดแบบรัฐสภาไทย ทีม สงบ๑๐๕๑ วาสารอาษา 04-05:2553 ฉบับ รัฐสภา (ไทย) ใหม่ (หรือไม่) หน้า68-83
[iii] “แบบผู้ชนะการประกวดการออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ขั้นตอนที่ 2 จำนวน 5 ราย” สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ http://www.asa.or.th/?q=node/99415
[iv] ผู้เขียนเคยต้องไปโรงเรียนสายเพราะติดเพลงชาติในเช้าวันหนึ่งที่คับขัน เพราะพี่ชายที่พาไปส่งโรงเรียนนั้นมิกล้าฝืนกฏใหม่เอี่ยมของรัฐบาลที่เพิ่ง ปล่อยเขาออกมาจากคุก ในความเข้าใจของผู้เขียน เข้าใจว่าในสมัยนั้นการยืนตรงเคารพธงชาติเป็นกฏหมายหากฝ่าฝืนอาจโดนทั้งจำ และปรับ แต่ปัจจุบันนี้มันมิใช่กม.แต่ประการใด ผู้ใดมีความรู้เพิ่มเติมโปรดช่วยขยายความและชี้แนะผู้เขียน
[v] ประวัติความเป็นมาสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ http://www.identity.opm.go.th/identity/content/identity.asp?identity_code=21000001&lang=thai&doc_type=21
[vi] อ้างแล้วใน iii
[vii] ดูรายชื่อผลการประกวดงานออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2553-2545 ใน Asa Journal ที่ http://dnszoo.com/index.php?q=node/94280
ปี 2551- อาคารเรียนพระสงฆ์ (พระปุณณมันตานีบุตร มหาเถระ) ของสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ปี2547- โบสถ์วัดป่าสุนันทวนาราม กาญจนบุรี ผู้ออกแบบ บริษัทสถาปนิก49จำกัด ปี 2549, 2545 – ไม่มี
[viii] “สัปปายะสภาสถานเป็น”มณฑลศักดิ์สิทธิ์” เป็น”สภาแห่งศีลธรรม”ที่จะนำบ้านเมืองไปสู่ภาวะ”บังอบายเบิกฟ้า ฝึกพื้นใจเมือง” และฝ่าวิกฤติศีลธรรม” อ้างแล้วใน iii
[ix] ความเป็นจริงในทางภววิทยาหรือสภาวะเที่ยงแท้ของความเป็นจริงนั้นจะเข้าถึง ได้ก็โดยผ่านระบบสัญญลักษณ์แทนอันทรงสิทธิ์ระบบเดียวเท่านั้น ได้แก่ ภาษาสัจจธรรม อย่างภาษาละตินของคริสตจักร ภาษาอารบิกของกุรอ่าน หรือภาษาจีนในระบบการสอบข้าราชการแมนดาริน และในฐานะที่เป็นภาษาสัจจธรรม ภาษาเหล่านี้ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วย...แรงกระตุ้นสู่การเปลี่ยนรับเข้ารีต... มิใช่ในความหมายของการรับเอาข้อบัญญัติทางศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่าใดนัก แต่หมายถึงการหลอมกลืนแบบเล่นแร่แปรธาตุ...ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนรับ เข้ารีตผ่านภาษาอัยศักดิ์สิทธิ์นี้เอง ที่ทำให้”ชาวอังกฤษ”ผู้หนึ่งสามารถดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาได้ และ”ชาวแมนจู”เป็นโอรสแห่งสวรรค์ได้” จากบทที่2 รากฐานทางวัฒนธรรม – The religious community, Benedict Anderson, ชุมชนจินตกรรม, หน้า 21-27 ( ตัวเน้นในบทความเป็นสิ่งที่ผู้เขียนสรุปย่อเองด้วยความเข้าใจส่วนตัวจากการ พยายามอ่านบทนี้)
[x] แนะนำเลี่ยงถนนสามเสน 12 ส.ค.เสด็จฯวางศิลาฤกษ์รัฐสภาใหม่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280900883
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น