สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิสัชนาเปิดผนึกถึงภัควดี ไม่มีนามสกุล


Thu, 2010-08-26 23:42

พระไพศาล วิสาโล
26 สิงหาคม 2553

ที่มา: http://www.visalo.org/article/letterToPakawadee.htm

คุณภัควดี ไม่มีนามสกุล เขียนบทความชื่อว่า ปุจฉาเปิดผนึกถึงพระไพศาล วิสาโลเพื่อแสดงความเห็นตอบโต้บทสัมภาษณ์ของอาตมา ซึ่งตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม โดยมีการพาดหัวบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า "พระไพศาล วิสาโล: ปฏิรูปอัตตาธิปไตย – 'อภิสิทธิ์'ต้องกล้านำความเปลี่ยนแปลง" ซึ่งต่อมาได้มีการโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไท


ในบทความดังกล่าว คุณภัควดีมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาตมาหลายประการ ควรที่จะได้รับการชี้แจงในบทความนี้ ควบคู่ไปกับการอธิบายเพิ่มเติมของอาตมาเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่คุณภัควดี ได้เอ่ยถึง


คุณภัควดีได้ออกตัวก่อนที่จะแสดงความเห็นตอบโต้อาตมาว่าผู้เขียนมีข้อผูกมัดในทางสังคมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่พึงให้ความเคารพ ต่อพระไพศาลในฐานะผู้อาวุโสกว่าและในฐานะมนุษย์ ซึ่งผู้เขียนก็จะให้ความเคารพตามข้อผูกมัดนี้ ไม่น้อยกว่านี้และไม่มากไปกว่านี้อาตมาคิดว่าเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยไม่จำเป็นต้องเอาความเป็นพระภิกษุของอาตมามาเป็นเครื่องกีดขวางการวิ จารณ์ แต่จะว่าไปแล้วแม้จะมองว่าอาตมาเป็นพระภิกษุ (นอกเหนือจากการเป็นผู้อาวุโสและมนุษย์) คุณภัควดีหรือใครก็ตามย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อาตมาได้ อยู่ดี เพราะพระภิกษุนั้นไม่ควรอยู่เหนือคำวิจารณ์ และสมควรถูกวิจารณ์ด้วยหากคิด พูด หรือทำไม่ถูกต้อง (ในสังคมไทยสมัยก่อน เป็นเรื่องธรรมดามากที่พระจะตกเป็นหัวข้อของการนินทาและวิจารณ์ประชดประชัน อย่างเผ็ดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ นิทานตาเถรยายชี โดยชาวบ้านที่นับถือพระศาสนา) ดังนั้นอาตมาจึงเห็นด้วยกับคุณภัควดีว่าหากจะมีผู้อ่านท่านใดมาวิพากษ์วิจารณ์ด่าว่าผู้เขียน โดยยกเอาบาปกรรมนรกมายัดเยียดให้ ย่อมเป็นเรื่องไร้สาระ

คุณภัควดีได้เริ่มต้นการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของอาตมาในบทสัมภาษณ์ดัง กล่าว โดยกล่าวว่า การเน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก โดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผินแต่ขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงนั้น เป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดในบทสัมภาษณ์ของพระไพศาลคุณภัควดีพูดต่อไปว่าเริ่มต้นมาท่านก็กล่าวไว้ชัดเจนเลยว่า ความขัดแย้งทั้งหมดมีทักษิณเป็นศูนย์กลาง (ซึ่งท่านไม่ได้ขยายความว่า คำว่า "ศูนย์กลาง" นี้หมายถึง "สาเหตุ" "ต้นตอ" "ตัวการ" กินความมากน้อยแค่ไหน)


ข้อความดังกล่าวชวนให้เข้าใจผิดว่า อาตมามองความขัดแย้งทั้งหมดในเมืองไทยขณะนี้ว่ามีคุณทักษิณอยู่เบื้องหลัง ที่จริงอาตมาพูดถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น คือเป็นเรื่องที่มีสาเหตุในเชิงโครงสร้าง ดังอาตมาได้กล่าวว่าแม้ปรากฏการณ์ที่มีอยู่นี้จะเป็นความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) แต่ว่าสาเหตุรากเหง้าไม่ได้อยู่ที่คุณทักษิณอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างของสังคมไทยในหลายมิติที่กำลังเปลี่ยนแปลง เช่น ประชาชนมีความสำนึกทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นคนชั้นล่าง คนยากจน หรือ คนชั้นกลางระดับล่าง คนเหล่านี้เมื่อก่อนเขาอาจจะยอมรับความไม่เป็นธรรมในสังคมได้ ยอมรับในความเป็นสองมาตรฐาน ในความเหลื่อมล้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้เขายอมรับได้ยากแล้ว และเป็นอย่างนี้ในหลายวงการ


สำหรับข้อความที่ว่า ความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณ” (ขอให้สังเกตว่า อาตมาใช้คำว่า ความขัดแย้งเฉย ๆ ไม่ได้ใช้คำว่า ความขัดแย้งทั้งหมดอย่างที่คุณภัควดีเขียน) อาตมาไม่ได้หมายความว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทั้งหมดในเมือง ไทย แต่หมายความว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับแต่ปี 48 ล้วนล้อมรอบประเด็นเกี่ยวกับคุณทักษิณเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่คุณ ทักษิณในปี 48-49 ตามมาด้วยการชุมนุมเรือนหมื่นของผู้สนับสนุนคุณทักษิณในภาคอีสานและภาคเหนือ และที่สวนจตุจักร จนเกิดความหวั่นกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ม็อบชนม็อบอย่างนองเลือด การรัฐประหารปี 49 เกิดขึ้นก็เพราะต้องการโค่นล้มคุณทักษิณ หลังจากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งก็เพื่อสกัดกั้นคุณทักษิณ (และพวกพ้อง) จากวงการเมือง จนเกิดคดียุบพรรค ใช่แต่เท่านั้นพอถึงปี 51 พันธมิตร ฯ ก็ประท้วงยืดเยื้อจนถึงกับยึดทำเนียบและสนามบิน ทั้งนี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลสมัครและสมชายซึ่งถูกมองว่าเป็นนอมินีของทักษิณ และเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกลัวกันว่าจะเป็นการเปิดทางให้คุณ ทักษิณพ้นผิดหรือกลับสู่วงการเมืองอีก จนกระทั่งมีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคุณทักษิณ(และพวกพ้อง) ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนหนึ่งก็ต่อต้านคนเสื้อแดงเพราะเชื่อว่าคนเสื้อแดงทำ เพื่อคุณทักษิณ ในที่สุดคนเสื้อแดงก็ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลและกองทัพซึ่งมีผู้นำเป็นปฏิปักษ์ กับคุณทักษิณ


ปรากฏการณ์ทั้งหมดที่พูดมาอย่างย่อ ๆ หากไม่เรียกว่าเป็นความขัดแย้งที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล เช่นคุณทักษิณอาตมาก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรถึงจะถูกต้องและกระชับกว่านี้ อย่างไรก็ตามอาตมาได้พูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็นแค่ ปรากฏการณ์ดังได้พูดต่อจากนั้นว่า สาเหตุรากเหง้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง (ดังอาตมาจะชี้แจงต่อไปข้างหน้า)


เป็นความจริงที่ว่าอาตมาได้ ยกบุคคลดัง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศแต่บุคคลเหล่านั้นอาตมาไม่ได้ยกเหมามากองต่อท้ายข้อความในย่อหน้าที่ แล้วอย่างที่คุณภัควดีเขียนชวนให้เข้าใจเช่นนั้น อาตมาพูดถึงแต่ละคน (หรือแต่ละคู่) ในบริบทที่ต่างกัน


คุณภัควดีต้องไม่ลืมว่าอาตมาแสดงความเห็นดังกล่าวในฐานะบทสัมภาษณ์ ซึ่งถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง เงื่อนไขอย่างหนึ่งคือคำถามของผู้สัมภาษณ์ อาตมาจะพูดอะไรก็ขึ้นอยู่กับคำถามเป็นสำคัญ อาตมาพูดถึงแมนเดลาและเดอเคลิร์กก็เพราะผู้สัมภาษณ์ถามอาตมาถึงเรื่องการ เจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งไม่ประสบผล ผู้สัมภาษณ์ถามว่าจำเป็นต้องมีตัวเชื่อมไหมอาตมาตอบว่า จำเป็น แต่ถึงที่สุดต้องเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสพูดคุยกับเหมือนแมนเดลากับ เดอเคลิร์ก


ถัดมาผู้สัมภาษณ์ถามว่า ปัญหาของไทยตอนนี้คือแต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยึดตัวกูเอาไว้?” อาตมาก็ตอบว่า ต้องมีการ break the ice ซึ่งเป็นหน้าที่ของตัวกลางจากนั้นอาตมาจึงพูดถึงคาร์เตอร์ ว่าเป็นตัวอย่างของการ break the ice ระหว่าง เบกินกับซาดัต


คุณภัควดีย่อมทราบดีว่าการเจรจานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้นำสอง ฝ่าย(หรือหลายฝ่ายสุดแท้แต่กรณี) จะเอาประชาชนของสองฝ่ายมาเจรจากันย่อมเป็นไปไม่ได้ การที่อาตมาพูดถึงการเจรจาระหว่างผู้นำ ก็ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธบทบาทของประชาชนของสองฝ่าย จะว่าไปแล้วไม่มีตอนไหนที่อาตมาปฏิเสธบทบาทของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม หรือบ้านเมืองเลย มีตอนเดียวที่ใกล้เคียงคือพูดถึงรัชกาลที่ 5 และพลเอกเปรม ที่พูดเช่นนั้นก็เพื่อบอกว่าสมัยก่อน(การแก้ปัญหาประเทศ)ขึ้นอยู่กับผู้นำมากแต่อาตมาได้พูดถึงยุคปัจจุบันว่า ผู้นำอย่างเดียวไม่พอ สังคมต้องช่วยด้วยคุณภัควดีถามว่า ผู้เขียนอ่านแล้วสงสัยว่า แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน?” อาตมาก็ขอตอบว่า ประชาชนอยู่ในบทสัมภาษณ์ของอาตมาแล้ว เพราะสังคมที่อาตมาพูดถึงนั้นหมายถึงประชาชน


ควรกล่าวด้วยว่าการสัมภาษณ์ครั้งนั้น(วันที่ 17 สิงหาคม) ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม มีเนื้อความหลายตอนถูกตัดไป เช่น อาตมาได้พูดถึงการปฏิรูปประเทศว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงเราอย่าไปหวังรัฐบาล ต้องเสนอต่อสังคมให้ขับเคลื่อน ซึ่งคุณอานันท์ (ปันยารชุน ประธานกรรมการปฏิรูป) บอกเราจะเสนอข้อเสนอต่อประชาชน แต่สำเนาถึงรัฐบาล


คุณภัควดีเขียนว่า อาตมาใช้วาทกรรมที่มุ่งเป้าเกี่ยวกับตัวบุคคลเป็นหลัก เช่น ความรัก ความเข้าใจ การไว้วางใจกัน การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตัวกูของกู อัตตาธิปไตย ฯลฯคำกล่าวนี้ก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ขอให้ดูคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ถามอาตมาก่อนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หากกลับไปอ่านดูก็น่าจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดอาตมาจึงพูดถึงประเด็นดังกล่าว ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาตมาไม่ได้พูดแต่เรื่องตัวบุคคลอย่าง เดียว หากยังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองที่นำไปสู่ ปัญหาในปัจจุบัน ดังอาตมาให้สัมภาษณ์ (แต่ถูกตัดออกไป) ว่าต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือความขัดแย้งเชิงบุคคล แต่มันเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การดูถูกเหยียดหยาม เพราะยากจนเพราะเป็นคนบ้านนอก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง


สิ่งที่ไม่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ ไม่ได้แปลว่าอาตมาไม่ได้พูดในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้น มีคำให้สัมภาษณ์ของอาตมาหลายประเด็นที่ถูกตัดออกไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน (รวมทั้งเรื่องที่พูดถึงกรอบการทำงานคณะกรรมการปฏิรูปว่า มุ่งสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ ด้านที่ดินและทรัพยากร ด้านโอกาส ด้านสิทธิ และด้านอำนาจต่อรอง) นอกจากเป็นเพราะข้อจำกัดทางเนื้อที่แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพราะกองบรรณาธิการเห็นว่ามีบางประเด็นที่ ล่อแหลม


เป็นธรรมดาของการให้สัมภาษณ์ที่ใครก็ตามย่อมไม่สามารถพูดทุกเรื่องได้ และหลายเรื่องที่พูดก็ไม่สามารถอธิบายแจกแจงให้ละเอียดได้ ไม่เหมือนบทความหรืองานวิชาการที่เราสามารถเขียนแจกแจงประเด็นใดประเด็น หนึ่งเป็นหน้า ๆ หรือหลายหน้าได้ อาตมายอมรับว่าพูดเรื่องกระจายอำนาจน้อย (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์ว่าจะใช้หลักธรรมะข้อไหนมาช่วยเยียวยา”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาตมาไม่เห็นความสำคัญ ประเด็นเหล่านี้อาตมาได้เขียนไว้ในที่อื่นแล้ว ล่าสุดได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง สร้างสังคมไทยให้เป็นมิตรกับความดีดังมีข้อเสนอตอนหนึ่งว่ากระจายอำนาจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตั้งแต่ระดับ ชุมชนไปถึงระดับชาติ รวมถึงการดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่น มีกลไกที่สามารถป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หลักประกันทางสิทธิเสรีภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีกลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นต้นhttp://www.visalo.org/article/budTumKwamdee999.htm


ในประเด็นเรื่องกระจายอำนาจ คุณภัควดีอ้างว่า อาตมายังตั้งเงื่อนไขแฝงไว้หลายอย่าง เช่น ไม่ควรใช้แนวทางประชานิยมไม่มีตอนไหนที่อาตมาพูดเช่นนั้นเลย ที่จริงอาตมากล่าวว่า การยื่นเงินไปให้ ให้แค่ประชานิยม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงคนที่อ่านอย่างตั้งใจย่อมเข้าใจได้เองว่า อาตมากำลังพูดว่า ลำพังประชานิยมอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ


สำหรับประเด็นเรื่อง กระจายความรักซึ่งคุณภัควดีดูจะไม่พอใจกับแนวความคิดนี้เอามาก ๆ ถ้าอ่านให้ดีจะพบว่า สำนวนนี้ไม่ใช่เป็นของอาตมา แต่เป็นของอดัม คาเฮน (นักสันติวิธีที่มาบรรยายเมื่อวันที่ 16 และ 17 สิงหาคม ดังเป็นข่าวในสื่อมวลชนหลายแห่ง) โดยอาตมาได้กล่าวถึงเขาว่า อดัม คาเฮน พูดเมื่อสองสามวันก่อนว่า การกระจายความรักไปให้คนอื่นมากขึ้น จะช่วยลดความขัดแย้งได้

อาตมาเห็นด้วยกับความเห็นของคาเฮน แต่ก็พูดเพิ่มเติมว่าแต่การกระจายความรักอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องกระจายอำนาจด้วย ถ้ารักแล้วไม่ทำอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารักแล้วแค่ยื่นเงินไปให้ ให้แค่ประชานิยม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง


อาตมาไม่ได้เรียกร้องให้คนรักกันหรือมีเมตตาอย่างเดียว ในการให้สัมภาษณ์และข้อเขียนหลายชิ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อาตมาได้ย้ำว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านั้น จึงจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ได้ ในบทความเรื่องสังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี” (มติชน 25 ตุลาคม 2552) อาตมาได้ย้ำว่าการเรียกหาความสามัคคีหรือสมานฉันท์ของคนในชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำกันมากมายขนาดนี้ ในทำนองเดียวกันการหวังให้คนมีความเมตตากรุณาหรือมีศีลธรรมต่อกันจะเกิดขึ้น ได้อย่างไรหากสภาพสังคมที่เป็นอยู่มีแนวโน้มที่จะดึงเอาด้านลบของผู้คนออกมา สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากไม่เพียงบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม เท่านั้น หากยังกัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คนด้วย มิพักต้องเอ่ยถึงการบั่นทอนสุขภาพ (การวิจัยของวิลคินสันชี้ว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีอัตราการตายของทารก โรคอ้วน การใช้ยาเสพติด และมีความเครียดสูงตามไปด้วย)http://www.visalo.org/article/matichon255210_2.htm


คุณภัควดี ยังให้ความเห็นอีกว่า การ "กระจายความรัก" แบบนั้นยังมีข้ออันตรายอยู่ในตัวเองด้วย เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น แทนที่จะเรียกร้องให้มีการรับผิด กลับเรียกร้องให้ลืมและให้อภัยกัน นี่ไม่เท่ากับเป็นการให้ท้ายอาชญากรรมหรอกหรือ? หากมีคนมาฆ่าบิดามารดาของท่านตาย ถึงแม้ท่านให้อภัยได้ กระจายความรักได้ แต่ฆาตกรผู้นั้นย่อมต้องมีความผิดตามกฎหมายกระบิลเมืองอยู่ดี (ยกเว้นกฎหมาย กระบิลเมืองไม่มีต่อไปแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกบุคคลจะมาตัดสินเอาตามความพอใจของตน แต่เป็นเรื่องกฎกติกาของสังคมที่ต้องรักษาไว้


ที่จริงอาตมาไม่ได้มีความเห็นแตกต่างจากคุณภัควดีแม้แต่น้อยในประเด็น หลัง เพราะอาตมาเห็นว่า การมีความรักความเมตตาต่อกันและกันนั้น มิได้หมายถึงการ ให้ท้ายอาชญากรรมในบทความเรื่องคนผิดก็มีสิทธิได้รับความเมตตาซึ่งเพิ่งลงมติชนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา อาตมาได้ย้ำว่าเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณนั้นมิได้หมายความว่า ไม่ต้องแยกแยะระหว่างคนถูกกับคนผิด หรือระหว่างความถูกกับความผิด ทั้งคนถูกและคนผิดสมควรได้รับความเมตตาจากเราในฐานะชาวพุทธผู้เจริญรอยตาม บาทพระศาสดาก็จริง แต่หากใครจะได้รับโทษโดยสมควรแก่ความผิดของเขา ก็เป็นเรื่องที่เราพึงวางใจเป็นอุเบกขา ไม่ควรขวางกั้นกระบวนการดังกล่าว แต่หากมีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ในระหว่างที่รับโทษทัณฑ์ก็สมควรทำ ในฐานะเพื่อนมนุษย์


สำนึกในความถูกต้องไม่ควรถูกเบี่ยงเบนโดยเมตตากรุณาที่เจืออคติ (เช่นฉันทาคติ) จนกลายเป็นการช่วยเหลือคนผิดในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ต้องระวังไม่น้อยกว่ากันก็คือความยึดมั่นในความถูกต้องจนขาดเมตตา กรุณา เช่น ยึดติดกับความถูกความผิดจนเห็นคนผิดมิใช่มนุษย์ ดังนั้นจึงไม่สมควรได้รับความเมตตากรุณาจากเราhttp://www.visalo.org/article/matichon255308.html


อาตมาเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าควรนำคนผิดมาลงโทษ เพื่อรักษากฎหมายและหลักเกณฑ์ของสังคม (นี้เป็นความหมายส่วนหนึ่งของคำว่าธรรมาธิปไตยซึ่งไม่ได้หมายถึงระบอบการปกครอง) อันที่จริงอาตมาได้พูดถึงประเด็นนี้หลายครั้งมาก หนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์นองเลือดเดือนพฤษภาคมยุติ อาตมาได้ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า


วิธีหนึ่งที่จะเยียวยาความเจ็บปวดและลดทอนความเคียดแค้นก็คือการใช้ กระบวนการยุติธรรม การทำความจริงให้ปรากฏ ในทุกสังคมเวลามีความขัดแย้งจนทำร้ายล้างกันระหว่างกลุ่มชน เราพบว่าความจริงและความยุติธรรมสามารถช่วยได้ มีการสอบสวนหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นใครผิดใครถูก ไม่ใช่ว่าตามข่าวลือ แล้วเอาคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐ นปช. นักธุรกิจ ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ถ้าตกเป็นผู้ต้องหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ตัวเอง ถ้ากระบวนการยุติธรรมเที่ยงธรรม สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้ มันจะช่วยเยียวยาผู้ที่สูญเสีย ผู้ที่เจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นคนสีแดงหรือไม่ก็ตาม เราอย่ามองข้ามกระบวนการยุติธรรม จริงอยู่เมตตาธรรมก็ต้องมี อย่างที่พูดมาข้างต้น คืออย่าโกรธเกลียดตอบโต้กัน แต่ว่าก็ต้องใช้ยุติธรรมเข้ามา เพราะยุติธรรมเป็นธรรมะที่ทำให้ยุติได้ในระดับหนึ่ง อยากให้ใช้กระบวนการนี้ในการเยียวยาความเจ็บปวด ลดทอนความเคียดแค้น


ข้อความข้างต้นได้ตอบคำถามหลายข้อของคุณภัควดีแล้ว โดยเฉพาะที่ถามอาตมาว่า เมื่อความผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีการแก้ไขและมีการรับผิด จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แล้วบอกให้สังคมไทยเดินหน้าโดยยึดมั่นในหลักแห่งศาสนา ผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านเห็นทั้งหมดนี้เป็นเรื่องตลกหรือ?”


คุณภัควดียังถามอาตมาอีกว่า ท่านจะให้คุณพ่อของน้องสมาพันธ์ ศรีเทพ คุณแม่ของคุณกมลเกด อัคฮาด พี่ชายของคุณมงคล เข็มทอง ภรรยาของคุณลุงบุญมี เริ่มสุข และคนอื่น ๆ อีกเกือบร้อยคนมา "กระจายความรัก" ให้ฆาตกรที่ฆ่าบุคคลอันเป็นที่รักของเขา มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ให้อภัยย่อมเป็นไปได้ แต่จะให้ลืมแล้วมากอดกันหน้าชื่น ย่อมสุดวิสัยของมนุษย์


อาตมาขอตอบว่าตอนที่อาตมาพูดถึง กระจายความรักอาตมานึกถึงสังคมไทยที่กำลังแตกแยกอย่างรุนแรง จนพ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน และผู้คนทั้งประเทศต่างบาดหมางกัน ถึงขั้นโกรธเกลียดกัน แบ่งเป็นฝักฝ่าย กล่าวประณามหรือถึงขั้นห้ำหั่นกัน อาตมาเห็นว่าเราจะต้องมีเมตตากรุณากันให้มากกว่านี้ ไม่ต้องถึงขั้นกอดกันหน้าชื่นก็ได้ แต่ขอให้มีเจตนาดีหรือเห็นเจตนาดีของกันและกัน อย่างไรก็ตามอาตมาไม่สามารถเรียกร้องให้บุคคลที่คุณภัควดีกล่าวถึงนั้น ให้อภัยหรือลืมเหตุร้ายได้ นั่นเป็นการเรียกร้องที่มากเกินไป อาตมาไม่เคยแนะนำผู้ที่ทุกข์โศกเพราะสูญเสียคนรักจากเหตุร้ายให้ทำเช่นนั้น (รวมทั้งไม่เคยบอกเขาว่าเป็นเรื่องของกรรมเก่า) เว้นแต่เขาจะมาปรึกษาอาตมาว่าจิตใจเขารุ่มร้อนเพราะความโกรธเกลียด กรณีอย่างนั้นอาตมาจึงจะแนะนำเขาให้อภัย เพราะอาตมาเชื่อว่าการให้อภัยนั้นสามารถเยียวยาจิตใจได้ และเมื่อจะให้อภัย อาตมาก็ไม่เคยแนะนำให้เขาลืมเรื่องนั้นเสีย เพราะอาตมาเชื่อว่า “forgive not forget” นั้นเป็นไปได้


ประเด็นต่อมาที่อาตมาขอขยายความคือ ตอนที่อาตมาพูดถึงคนเสื้อแดงว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องอยู่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า อาตมาไม่แน่ใจข้อความเพียงเท่านี้ไม่มีอะไรที่บ่งบอกเลยว่า อาตมาไม่ยอมรับใน "การกำหนดชะตากรรมตัวเอง" ของประชาชนอย่างที่คุณภัควดีสรุป อาตมาเพียงแต่ต้องการแสดงความเห็นว่า การยุบสภาตามที่คนเสื้อแดงเรียกร้องเมื่อเดือนมี.ค-พ.ค.ที่ผ่านมานั้น อาตมาไม่แน่ใจว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย เพราะแม้จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีหลักประกันว่าบ้านเมืองจะสงบสุข ลดความขัดแย้ง หรือลดความเหลื่อมล้ำ หรือก่อให้เกิดสังคมสองมาตรฐานได้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีรัฐบาลสมัครและสมชายมาแล้ว คุณภัควดีมีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของอาตมาในเรื่องนี้ แต่หากจะสรุปจากความเห็นข้างต้นว่าอาตมาไม่ยอมรับ การกำหนดชะตากรรมตัวเองของประชาชนก็นับว่าเป็นการตีความที่เกินเลยไป


อาตมาไม่เคยคัดค้านการยุบสภา ในการให้สัมภาษณ์สื่อบางแห่ง ก็ยังแสดงความเห็นสนับสนุนการยุบสภาเพื่อให้การชุมนุมของคนเสื้อแดงยุติจะ ได้ไม่มีการปะทะจนนองเลือด ในทำนองเดียวกันอาตมาก็ไม่เคยคัดค้านผลการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกับที่ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหารโค่นล้มคุณทักษิณ เป็นแต่ว่าอาตมาไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตาม มาหลังจากการยุบสภานั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ คุณภัควดีย่อมทราบดีว่าบ่อยครั้งที่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง (ไม่จำเพาะประเทศไทยแต่รวมถึงประเทศต่าง ๆ) ไม่เพียงทำให้บ้านเมืองย่ำอยู่กับที่ หากยังเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงได้หรือถึงกับทำให้บ้านเมืองถอยหลัง เราต้องแยกระหว่างการปฏิเสธผลการเลือกตั้ง (ซึ่งเท่ากับปฏิเสธการกำหนดชะตากรรมของประชาชน) กับการวิจารณ์หรือไม่มี ศรัทธาในผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือคณะหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นคนละ เรื่องกัน คุณภัควดีก็เคยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีบุช แต่หากมีใครบอกว่าการทำเช่นนั้นแสดงว่าคุณภัควดีไม่ยอมรับการกำหนดชะตากรรม ของประชาชนชาวอเมริกัน คุณภัควดีก็คงปฏิเสธหัวชนฝาว่าไม่จริง


คุณภัควดียังได้พูดถึงผู้ที่ตายในเหตุการณ์นองเลือด 91 คนและบาดเจ็บอีกกว่าพันว่า เราไม่ควรปล่อยให้ความเกลียดหรือความไม่เห็นกับคุณทักษิณ เป็นเหตุอันควรให้ลดบรรทัดฐานทางจริยธรรม ของตัวเองจนยอมรับการฆ่าเพื่อนมนุษย์ตายอย่างไร้เหตุผลเช่นนี้อาตมาเห็นด้วยกับข้อความดักล่าวอย่างเต็มที่ การที่อาตมาไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวในบทสัมภาษณ์ ไม่ได้แปลว่าอาตมายอมรับการฆ่าคนเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาตมาได้แสดงความเห็นเรื่องนี้หลายที่ ล่าสุดก็ในมติชนเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาเรื่องคนผิดก็มีสิทธิได้รับความเมตตาดังความตอนหนึ่งอาตมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่คน จำนวนมากขณะนี้ว่า


การมองว่าคนเสื้อแดงทำผิดกฎหมาย รับจ้างมาปกป้องคนผิดที่โกงบ้านโกงเมือง รวมทั้งมีกองกำลังติดอาวุธ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องการล้มเจ้าฯลฯ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมทั้งผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง) พิพากษาในใจว่าคนเสื้อแดงสมควรตาย และดังนั้นจึงไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นทหารใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมจนมีคน ล้มตายกว่า 80 คน ไม่นับบาดเจ็บอีกนับพันคน จริงอยู่มีผู้ชุมนุมบางคนที่ขว้างประทัดและระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สมควรที่ถูกตอบโต้ด้วยอาวุธสงครามจนถึงแก่ความตาย และถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมถูกยิงตายขณะใช้อาวุธปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ความตายของบุคคลเหล่านั้นก็มิใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมญาติมิตรของผู้สูญเสียแล้ว มันยังกัดกร่อนจิตวิญญาณหรือมโนธรรมสำนึกของเราอีกด้วย


ถึงจะทำผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย เขาก็มีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิได้รับความยุติธรรมและการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิได้รับความเมตตาจากเรา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิทำอะไรกับเขาตามอำเภอใจ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็จำต้องถามตัวเองด้วยว่า แน่ใจอย่างไรว่าเราถูกและเขาผิด ผู้ที่รุมฆ่าและทำร้ายนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ล้วนทำไปด้วยความเข้าใจว่าตนกำลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่บัดนี้ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นฆาตกรโหดเหี้ยมที่สร้างความ อัปยศให้แก่ประเทศชาติ ในทางตรงข้ามผู้ที่ถูกทำร้ายเหล่านั้นล้วนเป็นคนบริสุทธิ์ หาใช่ผู้คิดร้ายต่อชาติและราชบัลลังก์ไม่
http://www.visalo.org/article/matichon255308.html


ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ คุณภัควดี ถามว่าเหตุใดพระไพศาลจึงออกมารับรองความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของนายอภิสิทธิ์เวช ชาชีวะอย่างออกหน้าออกตาขนาดนั้น?” อาตมาไม่ได้รับรองความชอบธรรมของเขา อีกทั้งไม่มีอำนาจรับรองด้วย นั่นเป็นอำนาจของรัฐสภาและองค์กรอิสระที่ตรวจสอบนักการเมือง อาตมาเพียงแต่เห็นว่าเขายังมีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ อย่างน้อยเขาก็มีความชอบธรรมในฐานะที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้วได้รับ คะแนนเสียงเกินครึ่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี พูดถึงมาตรฐานขั้นต่ำ เขาย่อมมีความชอบธรรมโดยนิตินัยที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ แต่หากพูดถึงมาตรฐานที่สูงกว่านั้น อันได้แก่ความชอบธรรมทางการเมืองและทางจริยธรรม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันได้


อาตมาเห็นด้วยว่าประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองและ จริยธรรมของคุณอภิสิทธิ์อย่างสำคัญ ก็คือการสั่งให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารในวันที่ 14-19 พฤษภาคม (อาตมายอมรับว่าการไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าว รวมทั้งการมีคนตายนับร้อยเป็นจุดบกพร่องของการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวโดยเฉพาะ เมื่อพูดถึงคุณอภิสิทธิ์) ในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่พ้นที่มี คนตายเป็นจำนวนมาก ส่วนจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่จะออกมา ไม่ว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีหากมีคนตายมากมายเช่นนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อความ ชอบธรรมของเขาอย่างแน่นอน (อย่างน้อยก็ในฐานะผู้มีหน้าที่สร้างความสงบและ สันติสุขในบ้านเมือง) ในทัศนะของคนเสื้อแดงและคนจำนวน กรณีดังกล่าวได้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดน้อยลงจนไม่สามารถปกครองประเทศได้ แล้ว แต่อาตมาเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ทำให้ความชอบธรรมของเขาลดลงมาก แต่ก็ยังเพียงพอที่จะปกครองประเทศต่อไปได้ เว้นเสียแต่ว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงมีผลออกมาอย่างชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์มี ความผิดในการสั่งการดังกล่าวหรือมีผลระบุว่าปฏิบัติการทางทหารครั้งนั้นเป็น การใช้กำลังเกินกว่าเหตุ นั่นหมายความว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ ประเทศนี้อีกแล้ว


คุณภักควดีพูดถึงลูกสาวของตนซึ่งตั้งถามคุณภัควดีว่าทำไมพระไพศาลสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นนี้ได้โดยไม่มีความ ผิด แล้วทำไมเมื่อพระชาวบ้านบางรูปแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือเพียงแค่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำไมพระเหล่านั้นจึงมีความผิด?” คุณภัควดีไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ จึงนำมาถามอาตมาอีกต่อหนึ่ง อาตมาตอบได้แต่เพียงว่าคุณภัควดีถามผิดคน อาตมาไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้เนื่องจากไม่เคยพูดหรือเขียนที่ไหนว่า พระที่แสดงความเห็นทางการเมืองหรือพระที่อยู่ในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงมี ความผิด (เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คนที่น่าจะตอบได้ดีคือคนที่ตัดสินว่าพระเหล่านั้นมีความผิดต่างหาก


ประเด็นสุดท้ายที่อาตมาอยากกล่าวถึงก็คือ ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา อาตมาพยายามชี้ให้คนไทยตระหนักว่า ปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงต่อเนื่องมาหลายปีนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าปัญหาตัว บุคคล คุณทักษิณเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงรากเหง้าทางโครงสร้างที่ลึกกว่า นั้น ดังนั้นเราจึงควรมองให้เลยคุณทักษิณออกไป มีบทความหลายชิ้นที่ตอกย้ำประเด็นนี้โดยเฉพาะในมติชน ดังอาตมาได้พูดในบทความเรื่อง จากดีทรอยท์ถึงเมืองไทยว่า


คนชั้นล่างที่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมนับวันจะมีมาก ขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงปัญหานี้เลย และไม่รับรู้ด้วยว่าคนชั้นล่างมีความคับข้องใจเพียงใดบ้าง เพราะอยู่ในกลุ่มก้อนหรือชนชั้นของตัว ดังนั้นจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนชนบทหรือคนยากจนในเมืองจึงชื่นชมคน อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนโยบาย (และภาพลักษณ์) ที่ใส่ใจคนจนมากกว่าหัวหน้ารัฐบาลคนอื่น ๆ อย่างน้อยพรรคการเมืองของเขาก็ทำให้ชาวบ้านที่เป็นหัวคะแนนได้รับความเกรงใจ จากข้าราชการ ซึ่งเคยอวดเบ่งใส่พวกเขามาตลอด........การที่คนชนบทพร้อมใจหย่อนบัตรเลือก พรรคของพ.ต.ท.ทักษิณ (ไม่ว่าชื่อใดก็ตาม) อย่างล้นหลามหลังรัฐประหารปี 2549 (รวมทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง) มองในแง่หนึ่งก็คือการแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองการบริหารที่มองข้ามคนจน


ข้อเขียนดังกล่าวก็คงจะยืนยันว่าอาตมาไม่ได้เกลียดชังคุณทักษิณ นอกจากนั้นอาตมาไม่เคยคิดว่าปัญหาความขัดแย้งจะต้องแก้ที่จิตใจของผู้คน อย่างเดียว ดังได้เขียนในบทความเรื่อง ปัญหาท้าทายและทางออกของสังคมไทย” (19 เมษายน 2552) ว่า คนไทยจำเป็นต้องมีความเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้าง สามารถมองเห็นถึงเหตุปัจจัยที่อยู่เหนือระดับบุคคล ว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเหตุปัจจัยที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจ (เช่น การยึดติดอัตตา หรือตัณหา มานะ ทิฐิ) ความเข้าใจเช่นนี้จะทำให้เราไม่คิดถึงแต่การเทศนาสั่งสอน ขณะเดียวกันก็จะตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงนั้น อย่างมากก็แก้ปัญหาได้แค่ชั่วคราว แต่สร้างปัญหาในระยะยาว ดังรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นตัวอย่างชัดเจน http://www.peacefuldeath.info/article/?p=173

อาตมาเรียกร้องในข้อเขียนหลายชิ้นว่า จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความรุนแรงไม่รู้จักจบสิ้น ดังเขียนในทางหลุดพ้นจากกับดักแห่งความรุนแรง” (มติชน 16 พฤษภาคม 2553) ตอนหนึ่งว่ากล่าวโดยสรุป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีมานี้ ไม่ว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือส่วนที่เหลือของประเทศ ล้วนมีรากเหง้ามาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมใน สังคมซึ่งแยกไม่ออกจากการใช้อำนาจอย่างล้นเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อสืบสาวไปก็จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับโครงสร้างการเมืองไทยที่ รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งเอื้อให้คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากร โครงสร้างดังกล่าวไม่ว่าใครขึ้นมามีอำนาจก็จะก่อให้เกิดปัญหาและสร้างความ ขัดแย้งในสังคมจนลุกลามเป็นความรุนแรง ใช่หรือไม่ว่านี้แหละคือโครงสร้างแห่งความรุนแรง ที่ครอบสังคมไทยเอาไว้จนไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความรุนแรงได้http://www.visalo.org/article/matichon255305.htm


ที่ยกข้อความมายืดยาวนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าอาตมาไม่ได้ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง หรืออย่างมากก็กล่าวถึงโดยผิวเผินอย่างที่คุณภัควดีว่า ส่วนที่คุณภัควดีพูดว่าอาตมาขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง(เกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง)นั้น อาตมาขอให้คุณอ่านงานเขียนของอาตมาตามที่ได้อ้างอิงมาก่อนแล้วจึงค่อยสรุป (แต่ถึงอย่างไรอาตมาก็ยอมรับว่าอาตมามีความรู้น้อยกว่าคุณภัควดีในเรื่อง นี้)


จริงอยู่อาตมาพูดประเด็นนี้ (ปัญหาเชิงโครงสร้าง) ไม่มากในบทสัมภาษณ์ แต่การที่คุณภัควดีจะสรุปหรือตัดสินความคิดของอาตมาทั้งหมดโดยดูจากบท สัมภาษณ์เพียงชิ้นเดียว ย่อมไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังมีการตีความที่เกินเลยจากอาตมาพูด นอกจากนั้นการสรุปว่า ประเด็นใดก็ตามที่อาตมาไม่ได้พูดในบทสัมภาษณ์นั้น (เช่น การกำหนดชะตากรรมตัวเอง ความยุติธรรม) แสดงว่าอาตมาละเลย ไม่เห็นด้วย ย่อมเป็นการด่วนสรุปเกินไป


ขอบคุณคุณภัควดีที่อ่านมาถึงตรงนี้ อันที่จริงมีอีกหลายประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนกับคุณภัควดี แต่นี่ก็ยืดยาวเกินไปแล้ว จึงขอยุติเพียงเท่านี้


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ปุจฉาเปิดผนึกถึงพระไพศาล วิสาโล: ต้องปฏิรูป อัตตาธิปไตยหรือ ปูชนียะบุคลลาธิปไตย?

พระไพศาล วิสาโล: ปฏิรูปอัตตาธิปไตย – 'อภิสิทธิ์'ต้องกล้านำความเปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น