สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: เหตุผลของคนแพ้ (คดีปราสาทพระวิหาร)

Mon, 2010-08-16 17:24
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่มีการโต้เถียงเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นมา อีกในระยะนี้ และล่วงเลยไปถึง บันทึกความเข้าใจเรื่องการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาที่ทำขึ้นมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ได้ยุติลงไปแล้ว รัฐสภาคงจะได้มีการถกเถียงเรื่องนี้อีกในสัปดาห์นี้ เมื่อมีการพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่ว่าน่าสนใจก็อยู่ตรงที่ว่า มีการหยิบเอาชุดเหตุผลที่เคยถูกตีโต้ตกไปแล้วโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใน การพิพากษาคดีในปี 2505 ขึ้นมากล่าวอีก ราวกับว่ามันเป็นเรื่องใหม่ ที่จะมีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยที่โลกนี้ได้กระทำลงไปแล้วต่อกรณีปราสาทพระ วิหาร

ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อปรากฏว่า รัฐบาลชุดนี้ ก็ยอมรับเอาเหตุผลเหล่านี้ (บางส่วน) มารองรับจุดยืนของตัวเอง ทั้งๆ ที่มันขัดกันอย่างมีนัยสำคัญ และผลจากการยอมรับเหตุผลบางตอนอย่างคัดสรรนี่เอง ทำให้คำอธิบายจุดยืนเรื่องปราสาทพระวิหารและกรณีของบันทึกความเข้าใจ 2543 ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ เวชชาชีวะ มีตรรกะที่ขัดแย้งกันไปมา จนไม่น่าเชื่อว่า เขาเรียนจบจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลก

มูลฐานของการถกเถียงเรื่องปราสาทพระวิหารในยุคสมัยปัจจุบันนี้ มีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือ แผนที่มาตราส่วน 1:200000 ระวางดงรัก ที่จัดทำโดยคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม

ฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิในการทวงคืนพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารและเสนอ ให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ 2543 นั้น อ้างว่า ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าวนั้นเลย เพราะมันชี้เขตแดนระหว่างประเทศสยามกับอินโดจีน (ในเวลานั้น) หรือ ประเทศไทยกับกัมพูชาในเวลานี้ ไม่ตรงกับแนวสันปันน้ำที่ระบุเอาไว้ในสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี ค.ศ.1904 และ 1907 ดังนั้น ในยุคสมัยปัจจุบันก็ไม่ควรที่จะมีเอกสารความตกลงฉบับใดๆ ที่ทำกับกัมพูชาไปให้การยอมรับแผนที่เจ้าปัญหานั้นอีก เพราะเดี๋ยวจะโดนหลักกฎหมายปิดปากหลอกหลอนเอาอีก

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ ก็เชื่อเช่นนั้นด้วยว่า ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนั้นเลยจริงๆ แต่โชคไม่ค่อยเข้าข้างนักในกรณีนี้ ที่บังเอิญ บันทึกความเข้าใจฉบับปี 2543 เซ็นโดยหม่อมราชวงสุขุมพันธ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย ได้ระบุถึงสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และแผนที่เจ้าปัญหาเอาไว้ด้วย หาไม่แล้ว รัฐบาลนี้คงไม่ลังเลที่จะบอกเลิก เหมือนกับที่ได้ทำกับ บันทึกความเข้าใจเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลที่ได้เซ็นโดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในปี 2544 ในสมัยรัฐบาลของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ความอีหลักอีเหลื่อเช่นว่านั้นเองเป็นเหตุให้ตรรกะและการให้เหตุผลสนับสนุน เรื่องสองเรื่องของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทยจึงโอนไปเอียงมา ไม่สมฐานะคนมีการศึกษาสูง จากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก

ข้อที่พิจารณาคือ ประเทศไทย ไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับดังกล่าวจริงๆ หรือ ?

คำตอบคือ ประเทศไทยได้เป็นผู้ร้องขอให้ฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่ฉบับนั้น และได้ให้การยอมรับมาแล้ว รวมทั้งได้ใช้ประโยชน์มาแล้วเป็นเวลา 50 ปีก่อนคดีปราสาทพระวิหาร และหากนับถึงปัจจุบันก็ปาเข้าไปกว่า 100 ปีมาแล้ว

หลักฐานอ้างอิงว่าประเทศไทยเคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้มีอยู่อย่างครบถ้วน ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร ปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) คำพิพากษาหาอ่านได้ทั่วไป ทั้งในต้นฉบับภาษาอังกฤษ ที่ http://www.icj-cij.org/docket/files/45/4873.pdf หรือภาษาไทยที่แปลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคนที่เห็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดแปลเวลานั้น ก็คือ คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการคัดค้านเรื่องปราสาทพระวิหารและบันทึกความ เข้าใจในเวลานี้นั่นเอง (จึงเป็นเรื่องประหลาดว่า เขาจะอ่านมันไม่เข้าใจ ทั้งๆที่เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ เว้นเสียแต่ว่าจะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น) แต่ถ้าหาฉบับนั้นไม่พบ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต ก็ได้อนุเคราะห์รวบรวมขึ้นมาอีกครั้งและตีพิมพ์ใหม่ในปี พ.ศ.2551 โดยสำนักพิมพ์มติชน น่าจะยังพอหาอ่านได้

ในคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปีนั้น ได้กล่าวถึง แผนที่เจ้าปัญหานี้เอาไว้อย่างมาก และ โดยละเอียด และใช้มันเป็นหลักฐานสำคัญในการตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้อ้างถึงการทำงานของคณะกรรมการ ผสมฝรั่งเศส-สยาม และในขั้นสุดท้ายของการดำเนินการปักปันเขตแดนนั้นคือ การจัดพิมพ์แผนที่ รัฐบาลสยามซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้เพียงพอ จึงได้ร้องขอเป็นทางการให้พนักงานสำรวจพื้นที่ของฝรั่งเศสจัดทำแผนที่อาณา บริเวณเขตแดนนี้ขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อความวรรคเริ่มต้นของรายงานการประชุมคณะกรรมการผสมชุดแรก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1905 คำร้องขอนี้ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายสยามในคณะกรรมการซึ่งอาจเป็นผู้ให้ความ ดำรินี้ เพราะว่าในหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1908 อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ได้ติดต่อแจ้งผลงานเกี่ยวกับการทำแผนที่ไปยังรัฐบาลของตน มีความตอนหนึ่งอ้างถึง คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม โดยคำขอร้องของกรรมการฝ่ายสยามได้มอบหมายให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ บริเวณเขตแดนส่วนต่างๆ ขึ้น”

กัมพูชาได้นำเอาแผนที่ฉบับนี้ ระวาง ดงรัก แนบเข้าไปเป็นภาคผนวก 1 (Annex I) ในคำฟ้องต่อศาลในคดีพระวิหาร ฝ่ายไทยในเวลานั้นได้โต้แย้งต่อศาลว่า แผนที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นผลงานของคณะกรรมการผสม เพราะว่าคณะกรรมการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงหลายเดือนก่อนที่แผนที่จะได้จัดทำ ขึ้น

ศาลให้เหตุผลว่า สยามเป็นผู้ขอให้จัดทำขึ้นมาเอง และรัฐบาลสยามได้รับเอาแผนที่นั้นมาใช้ โดยมิได้โต้แย้งเรื่องนี้เลย ก็ถือว่ายอมรับไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น แผนที่ชุดนี้ ได้รับการโฆษณา แพร่หลายในวงการวิชาการที่สนใจ โดยส่งไปให้สมาคมภูมิศาสตร์ที่มีชื่อในประเทศสำคัญๆและในวงการอื่นๆที่สนใจ ภูมิภาคนี้ ตลอดจนสถานอัครราชทูตไทย ณ ประเทศอังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งสมาชิกทุกคนในคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-สยาม การแจกจ่ายในชั้นแรกมีจำนวนประมาณ 160 ชุด ชุดละ 11 แผนที่ แผนที่ 50 ชุดส่งไปยังรัฐบาลสยาม

หนังสือจากสถานทูตไทยในปารีส ส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศสยามในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ.1908 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในเรื่องที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมตามคำร้องขอของคณะกรรมการฝ่ายสยามให้ กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสช่วยจัดทำแผนที่เขตแดนต่างๆ ขึ้นนั้น บัดนี้คณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิบัติงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว” อัครราชทูตกล่าวด้วยว่า ได้มีผู้นำแผนที่ชุดหนึ่งมามอบให้เพื่อจัดส่งต่อไปยังเสนาบดีกระทรวงการต่าง ประเทศสยาม อัครราชทูตได้ให้รายชื่อแผนที่ทั้ง 11 แผ่น รวมทั้ง แผนที่บริเวณทิวเขาดงรักด้วยในจำนวนอย่างละ 50 ชุด อัครราชทูตลงท้ายว่า ได้เก็บแผนที่ไว้ที่สถานอัครราชทูตอย่างละ 2 ชุด และได้ส่งแผนที่อย่างละชุดไปยังสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน กรุงเบอร์ลิน เทศรัสเซีย และ สหรัฐอเมริกา

ในเวลาต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงขอบพระทัยอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ สำหรับแผนที่เหล่านั้นและได้ทรงขอแผนที่ต่ออัครราชทูตเพิ่มเติมอีกอย่างละ 15 ชุดเพื่อทรงจัดส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆของสยาม

ข้อโต้แย้งของทนายความฝ่ายไทยว่า มีแต่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเท่านั้นที่ได้เห็นแผนที่จึงฟังไม่ขึ้น ด้วยว่า สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ วโรปกรณ์ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมาชิกคณะกรรมการผสม และ ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแผนที่นั้นด้วยเช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั้น ทรงเชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และ ทรงสนพระทัยเรื่องเขตแดนเป็นอย่างมาก ศาลจึงเห็นว่า ข้ออ้างของทนายฝ่ายไทยฟังไม่ขึ้น

ข้อโต้แย้งของฝ่ายไทยที่ว่า แผนที่นั้นมีความผิดพลาด ด้วยว่ากำหนดเส้นเขตแดนไม่ตรงกันสันปันน้ำที่ระบุเอาไว้ในสนธิสัญญา แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ประเทศไทยไม่เคยได้โต้แย้งความผิดพลาดเช่นว่านั้นเลย ทั้งๆที่มีโอกาสหลายครั้งหลายคราที่จะขอแก้ไขความผิดพลาดนั้น ในปี ค.ศ. 1937 ในการลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อยืนยันเขตแดน ฝ่ายไทยก็ยังคงยืนยันตามแผนที่ ระวางดงรัก ในปี ค.ศ.1947 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งไทยจะต้องคืน พระตะบอง เสียมเรียบ และ จำปาสัก ให้ฝรั่งเศส ก็โอกาสอันดีที่จะแก้ไขเรื่องเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย ก็ปรากฏว่า ประเทศไทยไม่ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก

ในคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศระบุว่า “ข้ออนุมานธรรมดาจากการที่ประเทศไทยมิได้กล่าวถึงพระวิหารในโอกาสนี้อีก จึงมีอยู่ว่า ประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตแดนตรงจุดนี้ดังที่ลากไว้บนแผนที่ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นตรงกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่”

ความข้อนี้ ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุด ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถโต้แย้งอย่างใดได้อีก ที่สำคัญสามารถตีความล่วงเลยไปได้ด้วยซ้ำไปว่า เขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ก็เป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1:200000 ระวางดงรัก นั่นเอง และก็เป็นข้อควรระวัง สำหรับใครก็ตามที่คิดจะเอาเรื่องนี้กลับไปให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ วินิจฉัยความหมายและขอบเขตคำพิพากษา ตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะมีความเสี่ยงอย่างสูงที่ศาลจะวินิจฉัยว่า “อาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้นย่อมจะต้องเป็นไปตามแผนที่ ซึ่งไทยได้เคยให้การยอมรับและใช้งานมาแล้วนั่นเอง” ถึงเวลานั้นแล้ว หมายความว่า ไทยต้องเสียดินแดนจากที่เคยครอบครองอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ศาลได้เคยลงความเห็นไปแล้วว่า ข้อยึดถือที่ว่า เขตแดนบริเวณนั้นเป็นไปตามสันปันน้ำนั้น เป็นอันละทิ้งไปได้ “เพราะตามความเห็นของศาล แผนที่นั้น ไม่ว่าจะถูกต้องตรงกับเส้นสันปันน้ำทุกประการหรือไม่ก็ตาม ได้รับการยอมรับจากคู่กรณีใน ค.ศ.1908 และภายหลังจากนั้นแล้วว่า เป็นผลมาจากการตีความการปักปันเขตแดนตามวัตถุประสงค์สนธิสัญญาโดยรัฐบาลทั้ง สอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่า คู่กรณีขณะนั้นได้รับเอาการตีความข้อตกลงโดยสนธิสัญญา ซึ่งเป็นผลให้เส้นเขตในแผนที่เท่าที่ผิดแผกจากเส้นของสันปันน้ำไปมีความ สำคัญเหนือกว่าข้อบัญญัติของสนธิสัญญาในเรื่องนี้”

เรื่องที่มันชวนสงสัยในยุคปัจจุบันนี้ เหตุใดคณะผู้รักชาติ และนักกฎหมายที่อ้างว่าเคยร่วมคณะทนายความผู้เคยใช้เหตุผลต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อโต้แย้งคดีความในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจนแพ้คดีความมา แล้ว จึงกล้าหยิบเหตุผลชุดเดิมมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกครั้ง โดยมีความหวังว่ารัฐบาลจะเอาเหตุผลชุดนี้ไปโต้แย้งกับกัมพูชาอีก

เพราะขืนเอาไปใช้อีก มันก็จะไม่ได้อะไรขึ้นมา นอกเสียจาก ความพ่ายแพ้ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น