คอลัมน์ : เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง : ต้นทุนของขบวนการ
โดย : กาหลิบ
มี ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่งเตือนสติมาว่า อย่ากระหน่ำซ้ำเติมพวกเราที่เดินพลาดมากนัก อยากให้ให้กำลังใจกันบ้าง มวลชนผู้สนับสนุนจะได้เกิดความฮึกเหิมที่จะสู้ต่อไปเพื่อประชาธิปไตยที่แท้ จริง
นี่คือคำเตือนด้วยความปรารถนาดีที่ผมต้องสดับตรับฟัง
ความ จริงผมเห็นแง่งามในการต่อสู้ของเราตลอดมา เพียงแต่ส่วนวิจารณ์มันอาจจะแหลมคมกว่าส่วนสนับสนุน ทำให้มองเห็นได้ชัดเท่านั้นเอง ก็ถ้าเราต่อสู้ผิดทางมาโดยตลอด ฝ่ายตรงข้ามคงกลบฝังเรามิดชิดไปเสียนานแล้ว แต่พวกเราก็ยังเดินได้ดีอยู่ เพียงแต่เดินเงียบ เดินต่ำ และเดินช้าบ้าง รอเวลาที่จะรวมพลังกันใหม่เพื่อเอาสิทธิธรรมชาติของเราคืนมาอย่างสมบูรณ์ เท่านั้น
เมื่อท่านติงมาด้วยความรัก ผมขอย้อนกลับไปชี้แง่งามของฝ่ายเราอย่างไม่เกินจริง
แรก ที่สุด ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะจารึกยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไร แต่เวทีสนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล ผ่านฟ้า และราชประสงค์ ในห้วงเวลาหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงปฏิบัติการล้อมฆ่าประชาชนในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คือการรวมกลุ่มของมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฝ่าย ประชาธิปไตยในเมืองไทย
ยิ่งใหญ่ด้วยจำนวนและความมุ่งมั่น
ยิ่งใหญ่ด้วยความลุ่มลึกของทัศนะ
ยิ่งใหญ่ด้วยความเป็นครอบครัวเดียวกัน มาจากทั่วสารทิศแต่รักกันเหมือนพี่น้องเพื่อนฝูงที่คลานตามกันมา
ยิ่งใหญ่ด้วยเครือข่ายที่จัดตั้งอย่างสอดรับกันทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก เสมือนชุมนุมอยู่ด้วยกันที่หน้าเวที
ยิ่ง ใหญ่จนมหาอำมาตย์ใหญ่และขี้ข้าม้าครอก ไม่ว่าจะชายหรือหญิง คนหรือสัตว์ หวั่นไหวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเกิดอาการ “เผด็จการแตก” คือใช้อำนาจอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนที่สุดในชีวิต
บาปอันยาวนาน ของเขา จนบัดนี้มวลชนตาสว่าง เขาต้องวิ่งโฆษณาตัวเองชุลมุน ใช้ทุกสื่อ ประโคมมันทุกที่ทุกทาง โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่ามายาอย่างที่เคยช่วยชีวิตของเขาและวงศ์วานญาติเครือจะยังคงอยู่ แต่แล้วมันก็ไม่เกิดผลอย่างเดิม
การชุมนุมจะจบลงอย่างไรไม่สำคัญ เพราะสงครามนี้มีหลายศึก แต่การจัดตั้งรวมตัวของมวลชนอย่างมืออาชีพรอบนี้เป็นต้นทุนอันล้ำค่าสำหรับ การต่อสู้ในศึกต่อๆ ไป ความดีในเรื่องนี้แบ่งกันได้หมด ตั้งแต่มวลชนผู้เสียสละ องค์การนำที่อยู่เบื้องหลัง และแกนนำที่สละตัวเองไปเปิดหน้าอยู่บนเวที อย่างชนิดลืมกันไม่ได้
สูงสุดคือวีรชนผู้สละชีพเป็นพลีแด่ประชาธิปไตย
แง่งามที่สองคือการศึกษาของผู้เป็นใหญ่ในฝ่ายประชาธิปไตยเอง
ผม เชื่อว่าประสบการณ์ที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับในรอบนี้ จะทำให้ความล้าหลังที่ดำรงอยู่ในวิธีคิดของฝ่ายนำบางคนมีความก้าวหน้าขึ้น อย่างน้อยก็ต้องสำนึกในความบกพร่องผิดพลาดและตั้งสติเสียใหม่
อัตตา สูงล้ำของบางคนต้องคานด้วยความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ไม่เรียน เพราะคุ้นชินกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นระวิงจนเผลอคิดว่าพลาดไม่ได้ผิด ไม่เป็น
ขนาดอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ยังพูดว่าท่านผิดพลาดตรงจังหวะชีวิต ขณะที่มีอำนาจ ก็ขาดความจัดเจน พอจัดเจนมีประสบการณ์ขึ้นมาในภายหลัง ก็ไร้สิ้นซึ่งอำนาจเสียแล้ว
มหาตมะ คานธีสู้กับอังกฤษอย่างอหิงสา จนได้รับเอกราช ยิ่งใหญ่ปานขุนเขาออกอย่างนั้น ท่านยอมรับเลยว่าท่านก้าวผิดเรื่องฮินดูกับมุสลิม และประกาศไม่ยอมรับตำแหน่งแห่งหนใดๆ จนกว่าท่านจะแก้ไขปัญหาโลกแตกนี้ได้
เหมือนผู้นำอีกหลายคนที่พุ่งทะลุอัตตาของตัวเองกล่าวยอมรับผิดกับประชาชนและขอโอกาสในการเดินใหม่ด้วยทัศนะที่ถูกต้อง
ความผิดพลาดเป็นคุณอันอเนกอนันต์ หากนอบน้อมพอที่จะเรียนรู้
สองข้อนี่ล่ะครับ คือต้นทุนที่เราทั้งหลายในฝ่ายประชาธิปไตยจะเดินได้อย่างมั่นคง ในห้วงเวลาจากนี้ไป.
--------------------------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย Nangfa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น