Mon, 2010-08-23 01:56
ใบตองแห้ง
22 ส.ค.53
ช่วงวันหยุดยาวที่แล้ว ผมพาลูกไปเที่ยวเมืองกาญจน์กับวงศาคณาญาติ เมืองกาญจน์มีอะไรน่าเที่ยวเยอะเลย เช่น ได้ไปดูสะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งล้อมรอบไปด้วยตลาดขายพลอยและของกินของฝาก แบบว่าพื้นที่สะพานจริงๆ เหลือราว 10% อีก 90% เป็นแผงขายของ ฮิฮิ นี่แหละการท่องเที่ยวแบบไทยๆ
เนื่องจากมีเด็กๆ ไปหลายคน ก็เลยต้องพาไปดูกองถ่ายหนังพระนเรศวร ซึ่งกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนเมืองกาญจน์ไปแล้ว จำได้ว่าหลายปีก่อนเคยสัมภาษณ์พี่เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แกยืนยันว่าพระนเรศวรไม่ได้ทำยุทธหัตถีที่ดอนเจดีย์ แต่เป็นที่เมืองกาญจน์ต่างหาก ตอนนี้คงไม่ต้องเถียงกัน พระนเรศวรอยู่เมืองกาญจน์แหงๆ
ค่าตั๋วผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท เอาก็เอาวะ เพื่อปลูกฝังเลือดรักชาติ (ได้ข่าวว่าภาค 3 จะมีเรื่องพระยาละแวกด้วย เขากำลังสร้างฉากวังพระยาละแวกอยู่) น่าเสียดาย งบ 100 ล้านที่จะได้จากกระทรวงวัฒนธรรม ถูกตัดไปเกินครึ่ง ไกด์นำชมกองถ่ายบอกว่าฉากที่จะใช้ในหนังภาค 3 ภาค 4 เราจะใช้ปูนจริงๆ แล้วนะ ไม่ใช่โฟม
ถึงตอนนั้นอาจจะขึ้นค่าตั๋วเข้าชมได้ เพราะ 100 บาทเนี่ยยังเป็นแค่ค่าชมโฟม
ทำไมหนอ อภิชาติพงศ์ไม่ขายตั๋วเข้าชมกองถ่าย “ลุงบุญมีระลึกชาติ” มั่ง นั่นหนังรางวัลเมืองคานส์เชียวนะ รางวัลสูงสุดที่หนังไทยเคยได้รับ
ขากลับจากกองถ่าย รถเลี้ยวผิดไปผ่านกองพล 9 ถนนยาวเหยียดผ่านกรมผ่านกองพันอะไรมั่งก็ไม่รู้ โห ใหญ่โตมโหฬารจริงๆ เขตทหาร แต่ละกองพันมีตึก 3-4 หลัง เนื้อที่หลายร้อยไร่ อดคิดไม่ได้ว่า ผบ.กรมยศพันเอก ผบ.พันยศพันโท แต่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดบังคับบัญชาทหารหลายร้อยคน มีอาวุธพรั่งพร้อม มีวัสดุอุปกรณ์ ยุทธบริการ งบประมาณไม่อั้น ข้าราชการอื่นที่อายุราชการเท่ากันเทียบไม่ติด
ถ้าเทียบกับตำรวจที่เรียนเตรียมทหารมาด้วยกัน พ.ต.ท.เนี่ยกิ๊กก๊อกมากนะครับ ต้อง พ.ต.อ.ถึงได้เป็นผู้กำกับคุมเขตหรืออำเภอ แล้ว สน.หรือ สภ.ก็มักจะโทรมๆ เทียบไม่ได้กับกองพันที่ใหญ่โตกว้างขวางมีบ้านพักพรั่งพร้อมลงไปถึงนายสิบ
ที่จริงทุกประเทศก็ยกให้ทหารมี “อภิสิทธิ์” ในฐานะรั้วของชาติ ต้องได้รับการสนับสนุนขั้นสูงสุด ดีสุด สะดวกรวดเร็วที่สุด เพื่อความพร้อมที่จะทำศึกสงครามป้องกันประเทศ แต่ทหารไทยเรามี “อภิสิทธิ์” มากกว่าเขา (เพราะจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์-ฮา) จากการมีอำนาจปกครองยาวนานในยุคเผด็จการ กระทั่งประชาธิปไตยครึ่งใบ แม้จะถูกไล่กลับกรมกองหลังพฤษภา 35 ก็ยังคงอภิสิทธิ์ที่ไม่มีใครกล้าแตะอยู่มากมาย กระทั่งคนชั้นกลางไปเชิญกลับมาใหม่ ทหารยุค 19 กันยา รู้จักปรับตัวให้ดูสุภาพ น่ารัก ตามหน้าเฟซบุคสำหรับคนชั้นกลาง แต่โทษที “อภิสิทธิ์” เนี่ยขอเต็มๆ แบบงบประมาณทหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ทหารมักจะคิดว่าตัวเองต้องมีอภิสิทธิ์มากกว่าประชาชนหรือข้าราชการทั่วไป เพราะรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เสียสละเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มากกว่าคนทั่วไป จึงควรมีบทบาทอำนาจเหนือคนอื่น กระทั่งก้าวล่วงเข้ามายึดอำนาจเพื่อ “ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ” เนื่องจากไม่มีใครแล้วที่จะผูกพันกับ “สถาบันสำคัญของชาติ” เท่ากู ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือประชาชน ยังสำคัญเป็นรอง
อภิสิทธิ์ของทหารจึงผูกพันกันเป็นชั้นๆ ไปจนถึงความผูกพันสูงสุด กลายเป็นระบอบอำนาจที่อยู่เหนือประชาธิปไตย เหนือประชาชน โดยที่ทหารลืมไปแล้วว่า การที่สังคมมอบอภิสิทธิ์และให้เกียรติยศ เพราะคุณมีหน้าที่ “รับจ้างตาย” แทนประชาชน ไม่ใช่เพราะคุณมีความรู้ความสามารถหรือมีจิตใจสูงส่งเหนือชาวบ้าน
ว่างๆ ผมชอบดูข่าวช่อง 5 เพราะตลกดี เวลาที่มีพวกแม่ทัพหรือ ผบ.พล มาให้โอวาทแสดงวิสัยทัศน์ (โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร มีบ่อย) ฟังแล้วขำกลิ้งเลย เพราะมันเป็นการขยายขี้เท่อมากกว่าแสดงวิสัยทัศน์ บางครั้งก็ได้ดูข่าวประเภทท่านผู้การนำกำลังพลปลูกต้นไม้ เรียงแถวกันเป็นร้อยๆ หลุม ท่านผู้การน่ะไม่ต้องปลูกเองหรอก มีลูกน้องสาวๆ ช่วยยกกระถาง ท่านก็เอามือแตะๆ พอเป็นพิธี เสร็จแล้วก็นั่งยิ้มย่องปลื้มปิติบนโซฟา นึกฉากต่อไปได้เลยว่า หลังจากนั้นแม่-ก็คงไม่ทำงานทำการอะไรกันทั้งวัน เพราะไม่ค่อยมีงานทำอยู่แล้ว
ในระบบราชการที่ว่าล้าหลัง คร่ำครึ ที่จริงหลายหน่วยงานก็พยายามปรับตัวให้ทันสมัย บริการประชาชนได้สะดวก รวดเร็ว (หน่วยงานหนึ่งที่ยอดมากส์คือกรมการขนส่งทางบก ซึ่งใช้ระบบไดรฟ์อินเข้าไปต่อทะเบียนรถยนต์ได้แล้ว) น่าจะเหลือทหารนี่แหละ ที่ยังจมปลักอนุรักษ์นิยมยึดจารีตคร่ำครึกว่าเพื่อน
การปฏิรูปกองทัพ จึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่คงต้องอาศัย timing ในอนาคต เกิดอะไรซักอย่างเป็นชนวนให้รื้อระบบกันครั้งใหญ่ ซึ่งคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบ “สภาปฏิรูป” (สภาโจ๊กยุคใหม่) เพราะคงต้องรื้อทุกอย่าง ตั้งแต่ระบบแต่งตั้งโยกย้าย ให้เป็น “ทหารอาชีพ” ไม่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง ไม่มีอำนาจอื่นใดเข้าไปแทรกแซง แยกทหารออกมาจากอำนาจบางอย่างให้เป็น “ทหารของประชาชน ทหารของประชาธิปไตย” ลดเลิกอภิสิทธิ์ ให้สังคมตรวจสอบได้ รวมถึงการปฏิรูปกองทัพให้กะทัดรัด มีประสิทธิภาพ
กองทัพไทยเนี่ยน่าจะเป็นกองทัพที่มีสัดส่วนของพลเอกอัตราจอมพลสูงที่สุด ในโลก มีสัดส่วนของนายพลที่ไม่ได้คุมกำลัง กับนายพลที่คุมกำลังรบจริงๆ สูงที่สุดในโลก และน่าจะมีสัดส่วนของหน่วยงานฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายยุทธบริการ ฝ่ายสัพเพเหระ ฝ่ายเฮโลสาระพา กับกองพลกองพันที่เป็นกำลังรบจริงๆ สูงที่สุดในโลก
แม้แต่งบประมาณก็เช่นกัน เงินเดือนของทหารที่ไม่ได้อยู่หน่วยรบ ปีๆ หนึ่งอาจจะซื้อฝูงบินกริพเพนได้ทั้งฝูง แถมสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยง ค่าน้ำมัน ค่ารักษาพยาบาล จิปาถะ ที่พิเศษกว่าข้าราชการอื่นๆ (รพ.ค่ายทหารทุกแห่งเป็นที่นิยมของข้าราชการ เพราะจ่ายยานอกบัญชียาหลักให้ง่าย ไม่เรื่องมาก แพงกว่า รพ.จังหวัด แต่เบิกได้หมด)
กองทัพเดินได้ด้วยท้อง แต่กองทัพไทยท้องกาง เพราะหนักกำลังพลที่ไม่ได้อยู่หน่วยรบจริงๆ และไม่เคยมีรัฐบาลไหนลดกำลังพลสำเร็จ นายทหารจบ จปร.ทุกคนต้องได้นาย
รัฐบาลชอบบอกว่าสมองไหลออกจากระบบราชการ แต่ทหารไม่เคยสมองไหล ผมก็ไม่ทราบว่าระบบทหารอเมริกันเป็นอย่างไร แต่เท่าที่รู้ พอไปถึงระดับหนึ่งเขาให้ลาออก พันโทพันเอกลาออก โดยให้บำเหน็จบำนาญอย่างจุใจ เพราะถือว่าไปรบเพื่อชาติมา แต่ระบบไทยไม่ใช่อย่างนั้น เพราะการเป็นนายพลมีอภิสิทธิ์มากมาย เช่น นายพลทำผิดวินัยลงโทษได้แค่ว่ากล่าวตักเตือน (จึงเล่นงานเสธแดงไม่ได้) พลเอกเกษียณจะมีพลขับตามรับใช้ตลอดชีวิต ร.พ.ทหารมีห้องวีไอพีสำหรับชั้นนาย
คนดีคนเก่ง?
พูดถึงทหารซะยาว เพราะทหารเป็นแกนหลักของ “รัฐราชการ” ที่จะต้องปฏิรูปและลดอำนาจ กระจายอำนาจให้ประชาชน เป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” มากขึ้นตามทฤษฎีหมอประเวศ (ฮิฮิ)
แต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็คือความพยายามเพิ่มความเข้มแข็งของ “รัฐราชการ” เสริมสร้างอำนาจและความใหญ่โตของระบบราชการ
“ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดีคนเก่ง” ผมเห็นคำขวัญนี้ติดท้ายรถมากขึ้นเรื่อยๆ จนชักจะเกร่อ แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า ตัวคำขวัญน่ะดีหรอก ถ้าถือว่าเป็นการเรียกร้องข้าราชการ แต่ตัวข้าราชการที่เอาคำขวัญนี้มาอวด เขาคิดอย่างไร เผลอๆ จะคิดว่าตัวเองเป็นคนดีคนเก่งเหนือชาวบ้านหรือเปล่า
แล้วก็อดคิดลึกไม่ได้ว่า คำขวัญเดิมๆ ที่ว่าข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ต้องรับใช้ประชาชน เนี่ยยังอยู่ไหม หรือว่าเป็น “ข้าของแผ่นดิน” แล้วโยนคำขวัญยุคประชาธิปไตยทิ้งเหอะ
หรืออีกนัยหนึ่งจะตีความได้ไหมว่าข้าราชการเป็น “ข้าของแผ่นดิน” นะ ไม่ใช่ข้าของนักการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมานะ
จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ คำขวัญนี้สอดคล้องจังกับการปลุกระบบราชการให้กลับขึ้นมาอยู่เหนือ “ราษฎรผู้หลงผิด” ที่กำลังเรียกร้องหาเสรีประชาธิปไตย โดยเน้น “ความดี ความเก่ง”
ซึ่งมติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็ให้ปรับเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ เพื่อให้แข่งขันกับเอกชนได้ (แล้วจะปรับคนใหม่ยังไงถ้าไม่เพิ่มให้คนเก่า ที่สุดก็คือขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ)
บอกก่อนว่าผมก็โตมาในครอบครัวข้าราชการ พ่อแม่เป็นครู พี่สาวเป็นครู น้องเป็นข้าราชการ น้าเป็นข้าราชการ ผมยังคิดว่าข้าราชการส่วนใหญ่ก็เป็นคนดี แต่ระบบราชการสิมีปัญหา ความล้าหลังคร่ำครึ ระบบอุปถัมภ์ วิ่งเต้นเส้นสาย ทำให้คนมีความสามารถ คนที่รักอิสระ ในรุ่นหลังๆ ไม่อยากรับราชการ
รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือรุ่นพี่ผมอาจจะไม่มีทางเลือก แต่คนรุ่นผมเป็นต้นมา (ที่ตอนนี้อายุ 50 กว่า) มีทางเลือกมากขึ้น รักอิสระมากขึ้น จึงเข้ารับราชการน้อยลงๆ เพื่อนร่วมรุ่นผมถ้ายังรับราชการก็มีแต่หมอ กับทหาร พวกที่เรียนอย่างอื่นทำงานเอกชนหรือทำธุรกิจกันหมด มันไม่ใช่แค่ความอยากรวยหรืออยากได้เงินเดือนมากกว่า เพราะเป็นข้าราชการ เงินเดือนเริ่มต้นน้อยกว่าเอกชน 30-40% แต่มั่นคงกว่านะครับ เงินเดือนขึ้นทุกปี มีบำเหน็จบำนาญสวัสดิการรักษาพยาบาลจนวันตาย
เพื่อนร่วมรุ่น มศ.3 มีรายหนึ่ง ไม่เจอกัน 30 กว่าปี เป็นผู้ว่าฯ ไปแล้ว ดาวรุ่งซะด้วย สมัยก่อนเพื่อนเรียก “ไอ้ลาว” สมัยนี้คงต้องเรียก “ท่านลาว” ไม่ใช่คนเรียนเก่งที่สุด เอนท์ไม่ติดด้วยซ้ำ จบรามฯ แต่จำได้ว่าเป็นคนพูดเก่ง เข้าคนเก่ง และน่าจะเป็นคนทำงานเก่ง เพราะสมัยเรียนด้วยกันก็หนักเอาเบาสู้
ผมกำลังจะบอกว่านั่นคือคุณสมบัติของข้าราชการที่ประสบความสำเร็จ คุณต้องมีทั้งสองอย่าง ทำงานเป็น เข้าคนเป็น ประสานผลประโยชน์เป็น ระบบราชการปัจจุบันอาจจะดีกว่าสมัยก่อน ตรงที่คนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ต้องมีความสามารถด้วย พวกประจบสอพลอวิ่งเต้นเส้นสายหาเงินจ่ายนาย อย่างเดียวอยู่ยากส์ แต่ถ้าคุณมีแค่ความสามารถอย่างเดียว ก็อยู่ได้ แต่แป๊ก
ระบบราชการทุกวันนี้จึงไม่ใช่ระบบของ “คนดี คนเก่ง” (คนดีคนเก่งที่ไหนกระโดดพรวดจากผู้ว่าบุรีรัมย์เป็นปลัดมหาดไทยในเวลาไม่ถึง 2 ปี) แม้จะมีคนดีคนเก่งอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ก็ถูกหมกอยู่ข้างใต้ จนท้อแท้ อ่อนล้า เฉื่อยชา ระบบราชการจริงๆ กลายเป็นระบบอภิสิทธิ์ชนที่มีสวัสดิการดีที่สุดในโลก (รองจากคุณพ่อรัฐวิสาหกิจ) กลายเป็นเกราะพึ่งพิงของคนที่ไม่อยากกระโดดเข้าไปต่อสู้แข่งขันในระบบทุน นิยม ซึ่งถ้าไม่แน่จริง คุณตาย!
ที่มักจะพูดกันว่าระบบราชการยังคงไว้ซึ่งระบบคุณธรรม จริงๆ ก็คือคนที่อยู่ในระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจนี่แหละครับ เป็นคนชั้นกลางที่มีความมั่นคงในชีวิต จนมีเวลาว่างไปบวชชีพราหมณ์ ศึกษาธรรมะ ใฝ่หาความสงบ อย่างไม่ต้องอนาทรร้อนใจต่อดัชนีเศรษฐกิจ (พลังศีลธรรมเสื้อเหลืองจึงได้แรงหนุนจากข้าราชการส่วนใหญ่)
ปชป.เป็นพรรคขุนนาง จึงพยายามเพิ่มความใหญ่โตเทอะทะของระบบราชการ ชูคำขวัญ “คนดี คนเก่ง” เพิ่มคน เพิ่มเงินเดือน ทั้งที่ทิศทางของประเทศต้องลดขนาดของระบบราชการ กระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตัวเอง ในทางธุรกิจก็ปล่อยเอกชนไป โดยรัฐแค่กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเท่านั้น
การเพิ่มเงินเดือนจึงไม่ใช่แรงจูงใจให้คนดีคนเก่งเข้ารับราชการ เป็นแค่เพิ่มอภิสิทธิ์ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่คัดค้านการขึ้นเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ขึ้นทีไรก็กระทบชิ่งทั้งระบบ ขึ้นหมด โดยไม่ดูความเป็นธรรมของระบบอัตราเงินเดือนข้าราชการที่ปัจจุบันลักลั่นกัน ยุ่งเหยิงไปหมด
สิ่งที่รัฐควรทำมากกว่าขึ้นเงินเดือน คือการปฏิรูประบบเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างเงินเดือนข้าราชการตาดำๆ ทำมะดาๆ กับข้าราชการตุลาการ อัยการ องค์กรอิสระ องค์กรมหาชน หรือหน่วยงานพิเศษต่างๆ
ข้าราชการตุลาการ สมัยประมาณ ชันซื่อ เป็นประธานศาลฎีกา ขอแยกบัญชีเงินเดือน จนเงินเดือนตุลาการสูงลิบลิ่ว โดยอ้างว่าประธานศาลฎีกาควรได้เท่านายกฯ ซึ่งก็น่าจะถูกหลัก แต่พอไล่ลงมาสิครับ ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเงินเดือนมากกว่าผู้ว่าฯ ลิบเลย
อันที่จริงตามหลักการเราถือว่าผู้พิพากษาต้องเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ อื่น เพราะมีข้อห้ามข้อจำกัดเยอะ เช่น ห้ามเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ห้ามมีรายได้อื่นยกเว้นค่าเขียนหนังสือตำรับตำราทางวิชาการ
แต่ที่ขึ้นครั้งนั้นกลายเป็นสูงลิบ อย่าถามว่าทำไมรัฐบาลและรัฐสภาถึงยอม ไปถามจรัญ ภักดีธนากุล ดีกว่าว่าประมาณ ชันซื่อ เป็นใคร
สมัยทักษิณเคยไปพูดที่ศาล บอกว่าเงินเดือนศาลสูงกว่าแพทย์มากมายไม่ถูกต้อง เพราะคนเรียนเก่งที่สุดสอบเข้าแพทย์ โห! ถ้าผมเป็นผู้พิพากษาคงโกรธหน้าเขียวหน้าดำ
เงินเดือนศาลฝ่ายเดียวยังพอทำเนา ถ้าไม่เกิดลูกช่วงมาถึงฝ่ายอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระ พอจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 40 ประธานก็ต้องได้เงินเดือนใกล้เคียงนายกฯ ใกล้เคียงประธานศาลฎีกา แล้วข้าราชการล่ะ ข้าราชการล่างๆ ลงมาก็ได้เงินเดือนและสวัสดิการสูงกว่าข้าราชการตาดำๆ ทำมะดา ต่อมาก็เกิดองค์กรพิเศษ เช่น DSI นิติวิทยาศาสตร์ ปปง.รวมทั้ง สสส.ทั้ง 4 ส.ของหมอประเวศ องค์กรมหาชนทั้งหลาย เอากันเข้าไปใหญ่ ใครเป็นข้าราชการน่าจะรู้ดี ลองเอาบัญชีมาเทียบดูก็ได้ ตั้งองค์กรพวกนี้แต่ละที ข้าราชการวิ่งเต้นขอโอนย้ายอุตลุด
นอกจากนี้ยังมีอัยการ ซึ่งเรียกร้องโวยวายจนได้เงินเดือนใกล้เคียงศาล โดยหลักก็น่าจะถูกอีกนั่นแหละ แต่อย่าลืมว่าข้อห้ามของศาลกับอัยการต่างกัน อัยการหารายได้พิเศษได้ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจได้ คบพ่อค้า พาพวกกินเหล้าเมาเฮฮาตามสวนอาหารจนเลยตีสองก็ยังได้ ขณะที่ผู้พิพากษาเขาทำไม่ได้
ร้ายกว่านั้นอีกนะครับ มันยังกระทบชิ่งมาถึงนิติกร ตามหน่วยงานราชการทั่วไป อ้างว่ากลัวสมองไหล พวกนิติกรจะไปสอบอัยการสอบผู้พิพากษากันหมด ก.พ.เลยกำหนดว่าเป็นวิชาชีพขาดแคลน เพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้
ไอ้บ้าเอ๊ย นิติกรเนี่ยนะวิชาชีพขาดแคลน คนจบนิติปีๆ หนึ่งไม่รู้เท่าไหร่ น้องผมทำราชการ บอกว่านิติกรที่สำนักงานวันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่ดูหนังสือรอสอบอัยการสอบผู้พิพากษา ยังได้เงินเพิ่มอีกต่างหาก
อย่าแปลกใจที่เด็กสอบได้ที่หนึ่งประเทศไทยปีหลังๆ เลือกคณะนิติฯ ถ้าลองไปถามว่าหนูอยากเป็นผู้พิพากษาเพราะเงินเดือนงาม มีอำนาจบารมี มีแต่คนยำเกรง หรือหนูอยากเป็นผู้พิพากษาเพราะอยากมีชีวิตสงบ สมถะ ยึดมั่นในความยุติธรรม
ร้อยทั้งร้อยต้องตอบข้อหลัง!
278 มาตราลวงโลก
ก่อนวันหยุดยาว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติ 103 ต่อ 4 ไม่รับอุทธรณ์คดียึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน (ไม่รู้เป็นไง ตอนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสินก็ก่อนวันหยุดยาว)
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลย ไม่มีใครตื่นเต้น ถ้าผมเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ก็ต้องลงมติไม่รับอุทธรณ์ เพราะมาตรา 278 กำหนดว่าให้ยื่นอุทธรณ์ได้ในกรณีที่มี “หลักฐานใหม่”
ใครมันจะไปหาหลักฐานใหม่ได้ในเวลา 30 วัน เว้นเสียแต่จะมีพจนานุกรมออกใหม่ ยืนยันว่าคำว่า “ไม่สมควร” ไม่ใช่ความผิดที่มีผลตามกฎหมาย
อ.วรเจตน์เคยชี้ไว้นานแล้ว ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ผมเมื่อปีที่แล้ว ว่ามาตรา 278 เป็นกลไกที่ซ่อนปม เพราะไม่ใช่การอุทธรณ์ที่แท้จริง แต่เอาการอุทธรณ์กับการขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ มายำรวมกัน ให้ดูเหมือนว่าเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ ไม่ใช่ศาลเดียวจบนะ
ทั้งที่การอุทธรณ์ที่แท้จริง คือการโต้แย้งคำพิพากษาในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ต่อศาลที่สูงกว่าเพื่อให้วินิจฉัยอีกครั้ง โดยใช้พยานหลักฐานเดิมนั่นแหละ แต่แย้งว่าศาลตีความกฎหมายไม่ถูก หรือแย้งว่าศาลฟังข้อเท็จจริงผิด
แต่กรณีนี้ไม่ใช่เลย เพราะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่สามารถลงไปวินิจฉัยใหม่ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ขณะที่การรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ อย่างเช่น พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 หมายถึงถ้าศาลตัดสินถึงที่สุดแล้ว ถึงฎีกา จำเลยติดคุกไปแล้วเพิ่งพบหลักฐานใหม่ว่า อ้าว ฆาตกรตัวจริงโผล่มา หรือยุคสมัยนี้มีการตรวจ DNA แล้วพบว่าจำเลยไม่ได้ฆ่า ก็นำเสนอหลักฐานใหม่มาขอรื้อฟื้นคดีได้ โดยไม่จำกัดเวลาว่าต้อง 30 วัน จะ 5 ปี 10 ปีก็ได้
มาตรา 278 ไปเอา 2 อย่างนี้มายำรวมกัน เพื่อ “ลวงโลก” ว่านี่ไง เขาให้อุทธรณ์นะ มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพนะ เป็นธรรมนะ ไม่ใช่ศาลเดียวเบ็ดเสร็จนะ แต่ความจริงหาใช่ไม่
ตรงกันข้ามเวลาตีข่าวไปทั่วโลก ถ้าพาดหัวข่าวสั้นๆว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ คดียึดทรัพย์ทักษิณถึงที่สุด คนอ่านไม่ละเอียดก็จะเข้าใจว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาของ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เลย (เหมือนตอนศาลพิจารณาคดีทักษิณใหม่ๆ ข่าวฝรั่งชอบบอกว่าทักษิณต้องขึ้น “ศาลคอรัปชั่น” แต่ต่อมาฝรั่งคงเข้าใจเลยไม่ค่อยใช้คำนี้อีก)
ในระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่ คดีทักษิณคงจบแค่นี้ ไม่มีทางที่จะหา “หลักฐานใหม่” ต่อให้อีก 5 ปี 10 ปี 20 ปี ก็อ้างหลักฐานใหม่มารื้อฟื้นคดีไม่ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งคดีที่ดินรัชดา ทั้งคดียึดทรัพย์ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่พยานหลักฐาน แต่อยู่ที่การตีความข้อกฎหมาย
คดีที่ดินรัชดาคือการตีความมาตรา 100 กฎหมาย ปปช.ให้มีความผิดอาญา ลงโทษจำคุกได้โดยไม่ต้องมีองค์ประกอบของการทุจริตประพฤติมิชอบ (ถ้ามีการทุจริต เช่นทักษิณสั่งให้แบงก์ชาติช่วยเอื้อประโยชน์ ป่านนี้หม่อมอุ๋ยคงติดคุกหัวโต ไม่ได้จัดงานแต่งคุณปลื้ม)
ส่วนคดียึดทรัพย์คือการตีความกฎหมาย ปปช.ว่าด้วยความร่ำรวยผิดปกติ ว่าสามารถยึดทรัพย์ได้โดยไม่ต้องมีความผิดอาญา จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าได้ทรัพย์สินมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบ เพียงวินิจฉัยว่า “ได้มาโดยไม่สมควร” ก็ยึดทรัพย์ได้แล้ว
ถามว่าจะไปโต้แย้งที่ไหน อย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
ที่น่าสนใจคือทักษิณจะทำอย่างไรต่อไปต่างหาก บางคนลือว่าทักษิณถอดใจ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดี สำหรับขบวนประชาธิปไตย แต่ถ้าทักษิณยังคิดจะมานำขบวนการต่อสู้อีก เหมือนที่นำคนเสื้อแดงพ่ายแพ้มา 2 ครั้ง ก็ต้องบอกว่ายังไม่สรุปบทเรียนอีกหรือ ทักษิณควรรู้ตัวและถอยไปอยู่ท้ายแถว ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ร่วมแต่ต้องลดบทบาทไปอยู่ท้ายแถว แล้วสักวันหนึ่งอะไรที่ไม่ได้รับความยุติธรรมค่อยได้คืน
ผมคิดว่าคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือแม้แต่คนเสื้อแดง ก็ลดความต้องการหรือความจำเป็นที่จะต้องมีทักษิณมาเป็นตัวกระตุ้นในเรื่อง ความยุติธรรมหรือความรู้สึก “สองมาตรฐาน” อีกแล้ว เนื่องจากการต่อสู้ที่พัฒนามา ทำให้พวกเขาเจอเอง รู้สึกเอง ถูกกระทำเอง โดยเฉพาะถูกจับกุมคุมขังและถูกลงโทษอย่างรุนแรงหลังพฤษภาอำมหิต... ขณะที่พวกม็อบมีเส้นทำผิดกฎหมายร้ายแรง กลับได้รับ “ความปราณี” อย่างแตกต่างกันสิ้นเชิง
บทบาทของทักษิณจากนี้ไปจึงเป็นแค่ “ตัวพ่วง” (และถ้าเป็นตัวถ่วงก็ต้องปลดทิ้ง) แต่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเดินไปด้วยตัวเอง ต่อให้ทักษิณไม่สู้ เราก็สู้ โดยไม่ต้องสนใจทักษิณ ไม่ต้องใส่ใจกับพรรคเพื่อไทย (ที่ยังไง้ยังไงก็ไม่มีทางชนะเลือกตั้ง)
ผมสนใจปรากฏการณ์ที่ สกอ.ร่อนหนังสือห้ามกิจกรรมนักศึกษา หรืออาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ห้ามนิสิตชูป้ายประท้วงอภิสิทธิ์มากกว่า นี่แหละคือ “บรรยากาศก่อน 14 ตุลา” ของจริง
https://www.suresome.com/proxy/nph-secure/00A/http/www.prachatai3.info
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น