Sun, 2010-09-05 22:42
สุรพศ ทวีศักดิ์
ชาวพุทธไทยดูเหมือนจะเชื่อกันทำนองนี้ว่า “บทบาท และหน้าที่ของพระสงฆ์ในทางการเมืองก็คือ การแนะนำสั่งสอนธรรมเกี่ยวกับการเมือง ...สอนให้นักการเมืองหรือผู้ปกครองเป็นนักการเมืองหรือผู้ปกครองที่ดีมี คุณธรรม ดำเนินกิจการเมืองและปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เมื่อทำหน้าที่นี้ พระสงฆ์เองก็จำเป็นที่ต้องตั้งอยู่ในธรรม คือมีความเป็นกลาง (เน้นโดยผู้เขียน) ... เพื่อผลนี้ จึงมีสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นธรรมของสถาบัน (เน้นโดยผู้เขียน) หรือเป็นทำนองจรรยาบรรณของพระสงฆ์ในด้านการเมืองที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว กับ...ความเป็นฝักฝ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด…” <1>
หลักการที่ว่า “พระสงฆ์ควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง”<2> ดังที่ยกมานี้ แม้จะฟังดูมีเหตุผล แต่ใน “บางบริบท” ของความขัดแย้ง การวางตัวเป็นกลางกลับเผชิญปัญหาศีลยธรรมที่ตอบไม่ได้ เช่น สภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกา เคยออก “รัฐบัญญัติว่าด้วยความเป็นกลาง” (Neutrality Acts)<3> เป็นกฎหมาย“วาง ตัวเป็นกลาง” เพื่อไม่ให้ไม่ตกเป็นคู่ความขัดแย้งกับฝ่ายใดๆ แต่ชนรุ่นหลังเห็นว่าความเป็นกลางเช่นนั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นวิธีคิดที่ไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่าง (ทางศีลธรรม) ระหว่าง “ชาติผู้รุกราน” และ “เหยื่อ” แต่ปฏิบัติต่อทั้งสองประเทศเหมือนกับว่าเป็น "ผู้เข้าร่วมสงคราม" อย่างเสมอภาคกันเท่านั้น ซึ่งในที่สุดจะเป็นการเกื้อหนุนให้แก่ประเทศผู้รุกรานมากกว่า จึงทำให้ต้องถูกยกเลิกไปในปี 1941 ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรป และเอเชีย จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยรัฐบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้สหรัฐฯ
บริบทความขัดแย้งทางการเมือง “เมษา-พฤษภา
ในบริบทดังกล่าว ดูเหมือนพระสงฆ์จะแสดงออก 3 ลักษณะ คือ 1) วางเฉย เสมือนไม่รับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศนี้ 2) วางตัวเป็นกลางและเรียกร้องสันติวิธี และ 3) เลือกฝ่ายเสื้อแดง
ปัญหาคือ ในฐานะพระสงฆ์ผู้สอนศีลธรรมทางพุทธศาสนา จะสามารถ “วาง เฉย” หรือ “เป็นกลาง” ต่อการละเมิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา อย่างเช่น ต่อไปนี้ได้อย่างไร? 1) ต่อการที่รัฐละเมิดศีลข้อ 1 หรือละเมิดสิทธิในชีวิต ด้วยการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเรียกร้อง “การเลือกตั้ง” ตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ที่ทำให้มีคนตายมากถึง 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และ 2) ต่อการที่รัฐละเมิดศีลข้อ 4 ด้วยการผลิตสร้าง “วาทกรรมฉ้อฉล” เช่น ขอคืนพื้นที่ กระชับวงล้อม คืนความสุขให้คนกรุงเทพฯ เป็นต้น ที่โดยสาระแล้วเป็นการให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ทางกายภาพ” เช่น ถนนหนทาง การจราจร ความสะดวกสบายของคนเมือง มากกว่า “พื้นที่ทางเสรีภาพและสิทธิทางการเมือง”<4> และทำให้พื้นที่ทางกายภาพเช่นนั้นสำคัญกว่า “ชีวิต” ของประชาชน
พระสงฆ์ที่ “วาง เฉย” คือ คณะสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ แต่ที่จริง “การวางเฉย” ต่อเหตุการณ์ประชาชนถูกฆ่าต้องถือว่าเป็น “ท่าทีทางศีลธรรม” แบบ “เลือดเย็น” และในฐานะที่สถาบันสงฆ์เป็นสถาบันทางการเมืองแท้ๆ (ในฐานะเป็นตัวแทนสถาบันศาสนา อันเป็นหนึ่งในสามของสถาบันหลัก “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”) ท่าที “วางเฉย” ก็คือ “ท่าทีทางการเมืองที่เลือกข้างรัฐ” ในแง่ของความเป็นสถาบันหลักทางศีลธรรมของสังคม “การวางเฉย” ก็คือ ท่าทีทางศีลธรรมที่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการปกป้องศีลธรรมทางสังคมนั่นเอง
หรือพูดอีกอย่างว่า การวางเฉยของคณะสงฆ์ต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เป็นจุดยืนที่อยู่บน ‘ภา วะหลับใหลทางศีลธรรม’ และโดยสภาวะหลับใหลเช่นนั้น จึงทำให้คณะสงฆ์นอกจากจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความตายของประชาชนแล้ว ยังไม่รู้ตัว (หรือรู้สึกผิดใดๆ) กับการที่กลายเป็นแนวร่วมโดยปริยายของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ และ/หรือ “อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ที่กระทำการอันละเมิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา!
ส่วนพระสงฆ์และองค์กรชาวพุทธที่ออกมาเรียกร้องสันติวิธี ที่ยืนยัน “การ ไม่เลือกข้างทางการเมือง” และพยายามเรียกร้องทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุมไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ให้ใช้การเจรจาหรือสันติวิธีในการแก้ปัญหา ดูเหมือนว่าการแสดงบทบาทในแนวทางเช่นนี้จะเป็นที่ยอมรับของสังคมชนชั้นกลาง แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียด การพยายามรักษา “ความเป็นกลาง” ทำให้กลุ่มนี้ทำได้เพียงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้สันติวิธีต่อกันเท่านั้น ไม่สามารถวิจารณ์หรือ “ประท้วง” ต่อรัฐบาล และ/หรือ “อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ที่ละเมิดศีลธรรมทางพุทธศาสนาโดยตรง (ศีลข้อ 1 และ ข้อ 4) ซึ่งทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และฉ้อฉลต่อการใช้เสรีภาพและสิทธิทางการเมืองของประชาชนดังกล่าวแล้ว
ปัญหาสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ฝ่ายเป็นกลาง คือ จะ “เป็นกลางทางศีลธรรม” ได้อย่างไร?
ส่วนกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง หากมองในเชิง “ภาพ พจน์” ที่ดูไม่สำรวม ซื่อๆ แบบชนบท หรือออกทางก้าวร้าวในบางโอกาส ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของสื่อ นักวิชาการ และชนชั้นกลางในเมืองผู้มี “จริตนิยม” เรียกร้องความสมบูรณ์แบบจากคนอื่น แต่ไม่มีนิสัยตรวจสอบตนเอง และหากมองในเชิงหลักการพระธรรมวินัย ก็ดูเสมือนว่าพระเหล่านี้ดูจะไม่ปกป้องความเป็นอิสระของพระธรรมวินัยจากความ เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองเอาเสียเลย
แต่สำหรับผมแล้ว พระสงฆ์ที่ชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง เป็นพระสงฆ์ที่แสดงออกถึงการมี “หัวใจ” ที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อ “ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง” “การละเมิดศีลธรรมพุทธศาสนา” และ “ความตาย” ของประชาชน ย่อมถือว่ามีความรับผิดชอบทางศีลธรรมมากกว่าพระสงฆ์กลุ่มใดๆ
กล่าวคือ เป็นความรับผิดชอบที่สามารถอธิบายบทบาทของตนเองได้ ซึ่งในที่นี้คือบทบาททางศีลธรรมของพระสงฆ์ ต่อการที่รัฐใช้ความรุนแรงปราบรามการชุมนุมของประชาชน ที่สามารถอธิบายต่อสาธารณะได้ว่า ตัวท่านเองที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองกับคนเสื้อแดง (ยัง) มี “หัวใจ” หรือมี “ความรู้สึก” ต่อความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรม (แม้ในความหมายตามที่ท่านเข้าใจยังอาจตั้งคำถามกันได้) รู้ร้อนรู้หนาวต่อความตาย ความสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ และการละเมิดศีลธรรมพุทธศาสนาด้วยการฆ่าประชาชน!
ซึ่งต่างจาก “การ วางเฉย” ของคณะสงฆ์ที่เป็นตัวแทน “สถาบันสงฆ์” ที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลใดๆ ได้ถึงความรับผิดชอบทางศีลธรรมอันเป็นบทบาทที่สถาบันสงฆ์พึงมี ในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญสถาบันหนึ่งที่จำเป็นต้อง “มีความหมาย” ต่อการจรรโลงสันติภาพในสังคม
ส่วนพระสงฆ์ที่แสดง “ความ เป็นกลาง” ท่านจะอธิบาย “ความเป็นกลางทางศีลธรรม” ได้อย่างไร พูดตรงๆ คือท่านจะอธิบายต่อ “มโนธรรม” ของตนเอง และต่อ “มาตรฐานศีลธรรม” ในฐานะศิษย์ตถาคต ได้อย่างไรว่า ท่าน “ควรเป็นกลาง” ในสถานการณ์ “หมาป่ากับลูกแกะ” (ที่ “อาจจะ” นับศพ “เหยื่อ” ยังไม่เสร็จด้วยซ้ำ?!)
เชิงอรรถ
<1> พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก.(กรุงเทพฯ: เปรียญธรรมสมาคม,2531).หน้า 27.
<2> ในพุทธศาสนาไม่มีหลักการว่า “พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เพราะวินัยสงฆ์ไม่ได้ห้ามไว้ แม้หลักการที่ว่า “พระสงฆ์ควรเป็นกลางทางการเมือง” พระสงฆ์ประเทศอื่นๆ ก็ไม่มี พระศรีลังกาสมัคร ส.ส.ได้ พระพม่าเลือกข้างทางการเมืองได้ พระธิเบตปกครองประเทศเสียเอง เป็นต้น
<3> http://th.wikipedia.org/wiki%E0%B8%81% E0%B8%A3% E0%B8%B1% E0%B8%90%E0~B8~9A...1/9/2553.
<4> ข้อสังเกตนี้ผู้เขียนได้รับฟังจาก ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ทาง Voice Tv.
https://www.suresome.com/proxy/nph-secure/00A/http/www.prachatai3.info/journal/2010/09/30966
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น