Tue, 2010-09-07 17:37
หมายเหตุ: วันนี้ (7 ก.ย. 53) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้เขียนบทความลงในเว็บบล็อกของเขาเองเรื่อง "การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง" โดยมีรายละเอียดดังนี้
000
การปรองดอง: แก้วิกฤต - ขัดแย้ง
7 กันยายน 2553
การปรองดองเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ถ้าทำได้ดีจะช่วยป้องกันไม่ให้ถลำลึกสู่ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งกว่าที่เป็น อยู่ได้ และถ้าเราหาทางออกจากวิกฤตด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นตอของวิกฤตไปพร้อมกับการมี กระบวนการปรองดอง บ้านเมืองก็ยังสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้
ต้นตอของวิกฤตคือ การไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดด้วยวิธีการในระบบ แต่ใช้การเคลื่อนไหวนอกระบบที่นำไปสู่การรัฐประหาร ทำให้ประเทศเป็นเผด็จการสมบูรณ์แบบ แยบยลและซับซ้อนกว่าครั้งใดๆที่ผ่านมา ทางออกคือ ต้องทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม และทำให้มีวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันได้ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกต่างทางความคิดได้โดยสันติวิธี ภายใต้ระบบ กติกา ที่เป็นธรรม
แต่ไม่ว่าคนในประเทศหนึ่งๆ จะขัดแย้งกันด้วยเรื่องอะไร เช่น เรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา หรือการเมืองก็ตาม เมื่อขัดแย้งกันมากๆ กระบวนการปรองดองก็สามารถมีประโยชน์ได้ ทำให้คนยุติการรบราฆ่าฟันกัน หันมาเจรจาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในต่างประเทศมีบทเรียน ประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่าประเทศไทยอย่างมาก สังคมไทยเราจึงควรเรียนรู้จากประเทศต่างๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับปัญหาของประเทศไทยเราอย่างเหมาะสม
ความจริงในประเทศไทยเราก็มีการพูดเรื่องปรองดอง สมานฉันท์ กันนานพอสมควร สำหรับในเรื่องวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้น่ายินดีที่ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างก็พูดถึงเรื่องนี้ ไปในทิศทางที่คล้ายกัน และยังมีเสียงประสานจากหลายฝ่ายที่เห็นว่าการปรองดองควรคืบหน้าต่อไป
ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองคือ ความไม่เป็นเอกภาพในแต่ละฝ่าย คือต่างก็มีคนเห็นไม่ตรงกันและแสดงความเห็นที่ต่างกันในฝ่ายของตนเอง ในเรื่องนี้ถ้าจะแก้กันจริงๆ ก็น่าจะทำได้ไม่ยาก หากผู้นำของแต่ละฝ่าย หารือทำความเข้าใจภายในฝ่ายของตนเองให้มากขึ้น และกำหนดคนที่เหมาะสมให้มีหน้าที่ในการร่วมเจรจาหารือ รวมทั้งทำหน้าที่ชี้แจงแถลงข่าวที่เข้าใจประเด็น ก็จะทำให้การปรองดองคืบหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ที่เป็นปัญหาอย่างมากคือ การตั้งเงื่อนไขมากเกินไปหรือนำเอาข้อสรุปหรือผลของการเจรจาที่ฝ่ายตนอยาก ได้ มาเป็นเงื่อนไขของการเจรจา ท่าทีอย่างนี้เสนออกมาเหมือนไม่เข้าใจกระบวนการปรองดอง หรือก็ไม่อยากให้มีการปรองดองนั่นเอง ถ้าต่างฝ่ายต่างตั้งเงื่อนไขว่า อีกฝ่ายต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจตนเองเสียก่อนค่อยเจรจา การปรองดองคงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเริ่มจากความตั้งใจที่จะมีการเจรจาหารือ แล้วค่อยหยิบยกปัญหา หรือข้อเสนอมาพูดจากัน การเจรจาก็จะเริ่มขึ้นได้และอาจประสบความสำเร็จได้ หรือแม้ไม่สำเร็จมากนักในขั้นต้น ก็ยังพยายามกันต่อไปได้ ดีกว่าไม่มีการเจรจากันเลย
ประเทศไทยเสียโอกาสไปมากแล้ว หากปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลายต่อไปจะยิ่งเป็นผลเสียต่อทุกฝ่าย ความพยายามที่จะให้มีการปรองดองจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุนให้ เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการ “นิรโทษ”ทุกฝ่ายนั้น ผมขอเสนอว่าในการเจรจาหารือถ้าหากจะมีขึ้น ไม่ควรนำเรื่องการคืนสิทธิ์แก่นักการเมือง 111 มาเป็นประเด็น เพราะจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรองดองเสียเปล่าๆ ส่วนการนิรโทษกรรมคดีที่มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่ผ่านมาประเทศไทยมักใช้วิธีนิรโทษทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความ รุนแรง ทุกฝ่ายเจ๊ากันไป ซึ่งก็มีข้อดีคือไม่ต้องจองล้างจองผลาญ หรือเอาแพ้เอาชนะกันต่อไป แต่ก็มีข้อเสียคือ ไม่เกิดความยุติธรรมขึ้นและทำให้มีการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งการรัฐประหาร และการเข่นฆ่าประชาชน
สำหรับในปัจจุบันนี้ ผมยังเห็นว่าสังคมไทยควรเดินหน้าให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสีย ก่อน เมื่อได้ข้อยุติว่าใครผิดใครถูกอย่างไร แล้วจะคิดเรื่องนิรโทษก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ไม่ควรนิรโทษไปก่อนเลย เพราะจะทำให้มีการทำผิดซ้ำๆเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากคนก็จะเห็นว่าทำอะไรก็ได้ เมื่อทำผิดกันมากๆจนลงโทษกันไม่ไหวแล้วก็จะได้นิรโทษเองในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น