ที่ ชัดเจนคือ กระแสข่าวหลายกระแสตรงกันว่ามีการเจรจากับทักษิณ เพื่อให้ทักษิณถอย ซึ่งดูจากท่าทีที่ออกมา ดูท่าว่าทักษิณจะถอยจริง ข้อนี้มีด้านดีมากกว่า เพราะทักษิณไม่ถอยขบวนประชาธิปไตยก็ต้องไล่ทักษิณไปอยู่ท้ายแถวอยู่แล้ว ทักษิณนำการต่อสู้แล้วแพ้ทุกที และมวลชนส่วนที่มีคุณภาพก็ “ก้าวข้าม” ทักษิณแล้ว
โดย ใบตองแห้ง
ที่มา ประชาไท
และแล้ว “วันแดงเดือด” ก็ผ่านไปอย่างสงบ มีแค่แฟนหงส์แดงดีใจเก้อ กระโดดโลดเต้นจนผับถล่มทับพิธีกรสาวหัวแตกคอเคล็ด
มวล ชนเสื้อแดงออกมาแสดงพลังต่อต้านอำนาจรัฐประหารอย่างสันติ มีพลัง พร้อมเพรียง และมากมายกว่าที่ถูกปรามาสไว้ว่าจะมีแค่หลักพัน โดยเฉพาะที่ “ราชประสงค์” ซึ่งแม้แต่ฝ่ายผู้จัดเองก็คงไม่คาดคิดว่าจะมีคนมาขนาดนี้
สื่อ ที่เตรียมจะเย้ยหยันปรามาสยังต้องกลับไปเปลี่ยนพาดหัวข่าวใหม่ เช่นหันไปเย้ยว่า “พับเพียบชุมนุม” คงขัดใจที่ม็อบไม่ “ถ่อย” อย่างตัวเองเตรียมประณามไว้
การรวมพลังครั้งนี้แสดงจุดยืนของมวลชน เสื้อแดงที่พร้อมต่อสู้ถึงที่สุด แม้อยู่ในบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวย กระแสต่ำ อำนาจจารีตนิยมครอบงำแทบทุกปริมณฑล ข้อกล่าวหาร้ายแรงว่อนสะพัด
การ รวมพลังครั้งนี้แสดงจุดยืนของมวลชนเสื้อแดงที่พร้อมต่อสู้อย่างเป็น ตัวของตัวเอง ไม่แยแสว่าจะมีการ “ปรองดอง” กันอย่างไร ทักษิณจะถอยหนีไปไหน หรือพรรคเพื่อไทยจะเละตุ้มเป๊ะอย่างไร
มวลชนเสื้อแดงออกมาโดยไม่ต้อง มีศูนย์การนำที่ชัดเจน ไม่ต้องมีแกนนำ นปช. ไม่ต้องมีทักษิณ จตุพรโผล่ไปร่วมที่เชียงใหม่ แต่ก็เป็นแค่หนึ่งในผู้คนหลากหลาย คนที่จุดประกายการนัดหมาย อย่าง บก.ลายจุด หรือสมยศ พฤกษาเกษมสุข คือคนที่ไม่ยอมขึ้นเวทีราชประสงค์ร่วมกับแกนนำ นปช.ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา
แน่ นอนเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มวลชนบางส่วนอาจเสียขวัญกำลังใจ ทดท้อ แนวร่วมหนีหาย ภายหลังการประโคมข้อหาก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ผิดพลาดของแกนนำ แต่ในสภาพที่ “กระแสต่ำ” เช่นนี้ ต่ำจนเกือบถึงขีดสุด และฝ่ายตรงข้ามก็กำลังอยู่ในกระแสสูงจนถึงขีดสุด การที่ยังมีมวลชนเหนียวแน่น “ของจริง” เป็นหมื่นๆ คนกล้าออกมาแสดงพลัง รวมทั้งการที่มีนักกิจกรรม นักวิชาการ นิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวอย่างหลากหลาย ก็แสดงว่าพลังประชาธิปไตยยังมีรากฐานที่เข้มแข็ง และพร้อมจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ที่เหลือตอนนี้ก็เพียงแต่ต้องปรับทัพจัดขบวนใหม่ ทั้งในแง่ของการนำและความคิด
อุดมการณ์สูงสุด
หลาย วันก่อนผมมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนพ้อง เขาพูดได้ถูกต้องและถูกใจว่า ขบวนคนเสื้อแดงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จะเอาชนะ แม้แต่ภาพของ “ชัยชนะ” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไร
การกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีจะต้องมาจากอุดมการณ์ของการต่อสู้ ว่าอะไรคืออุดมการณ์อันสูงสุด สมมติเช่นคุณจะปฏิวัติสังคมนิยม ยึดกิจการทุนนิยมเป็นของรัฐ จะโค่นล้มนั่นโค่นล้มนี่ คุณก็จะมีศัตรูเยอะ มีแรงต้านเยอะ ฉะนั้น คุณก็ต้องต่อสู้เอาชนะด้วยกำลังอาวุธ เพราะถ้าไม่ยึดอำนาจรัฐเด็ดขาด คุณก็ไม่สามารถทำตามอุดมการณ์ของคุณได้
และหลังจากยึดอำนาจรัฐแล้ว คุณก็ต้องใช้อำนาจเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ เพื่อกำราบปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการปฏิวัติสังคมนิยม แต่การปฏิวัติประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรกก็เช่นกัน
การปฏิวัติฝรั่งเศส ตามมาด้วยการนองเลือด วุ่นวาย สับสน คดเคี้ยวยาวนาน ไม่ใช่ว่าทลายคุกบาสตีลล์แล้วฟ้าสีทองผ่องอำไพ การปฏิวัติประชาธิปไตยในอังกฤษ โค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ก็เปลี่ยนไปสู่ยุคเผด็จการโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากครอมเวลตาย จึงเกิดการประนีประนอมสร้างสมดุลแห่งอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบ รัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ที่แตกต่างจากเรา)
หรือแม้แต่การปฏิวัติ 2475 ความจำเป็นที่ต้องสู้รบกับ “อำนาจเก่า” โดยเฉพาะกบฎบวรเดชในปี 2476 ทำให้ต้องสร้าง “กองกำลังพิทักษ์สาธารณรัฐ” จนใหญ่โตเข้มแข็ง แล้วก็กลับมากลืนกินตัวเองกลายเป็นเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย กระทั่งถูก “อำนาจเก่า” กลับมาครอบงำภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งคือ 2490 และ 2500
บท เรียนเหล่านี้บอกอะไร บอกว่าถ้าคุณจะปฏิวัติประชาธิปไตยด้วยความรุนแรง ด้วยกำลังอาวุธ คุณก็จะกลายเป็นเผด็จการ ไม่ได้บรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริง
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้โทษ บรรพชนฝ่ายประชาธิปไตยในอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือคณะราษฎร แต่การปฏิวัติเหล่านั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความจำเป็นที่ระบอบเก่าเสื่อมโทรม ล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพ ใกล้จะนำประเทศไปสู่หายนะ หรือกดขี่ประชาชนอย่างร้ายแรง (เช่นในฝรั่งเศส) จนเกิดการลุกฮือ ขณะที่ในยุคสมัยของเราเป็นยุคที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เราไม่จำเป็นจะต้องต่อสู้ถึงขั้นปฏิวัติโค่นล้มระบอบที่เป็นอยู่ แต่เราต้องการ “ปฏิรูประบอบ” เพื่อไปสู่การเคารพกติกา ยึดหลักนิติรัฐ ขจัดการแทรกแซงโดยอำนาจแฝง กองทัพ ตุลาการ และเพิ่มพื้นที่ให้อำนาจประชาชน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปรัฐราชการ และปฏิรูปองค์กรสถาบันสำคัญทั้งหมด ไม่ให้เข้ามาก้ำเกินล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของประชาชน
พูดให้ถึงที่สุด อุดมการณ์อันสูงสุดของเรา ไม่ได้มีอะไรวิเศษเลิศเลอไปกว่าความเป็น “ประชาธิปไตยปกติ” ดังที่เขาใช้กันอยู่ทั่วโลก เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนทุกองค์กรสถาบันอยู่ร่วมกันได้ อย่างสงบ สันติ มีสิทธิเสียง และแสดงความเห็นต่างได้อย่างเท่าเทียม ต่างคนต่างมีอำนาจ ไม่จำเป็นต้องไปโค่นล้มทำลายใคร แต่ต้องมี “สมดุลแห่งอำนาจ” ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบ ต้องตรวจสอบได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ตามกติกาประชาธิปไตย มิใช่ใช้อำนาจแฝงแทรกแซงการเมืองการปกครองแล้วลอยตัว
อุดมการณ์ อันสูงสุดของเรา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดอำนาจแล้วจับสนธิ ลิ้ม มาแขวนคอใต้ต้นมะขาม จับบิ๊กบัง เปรม สุรยุทธ์ อนุพงษ์ ประยุทธ์ ฯลฯ ยัดคุก แล้วไล่อภิสิทธิ์ไปอยู่นิวคาสเซิล เพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องการความเป็นนิติรัฐ ความยุติธรรม ไม่สองมาตรฐาน รวมทั้งต้องการไปสู่ความสงบ สันติ อยู่ร่วมกัน แน่นอนที่วันหนึ่งเราจะต้องเรียกร้องให้มีการชำระสะสางผู้กระทำความผิด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา มาจนถึงพฤษภาอำมหิต แต่ถ้าเราดูตัวอย่างเกาหลีใต้ คนเกาหลีไม่เคยลืมเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู 16 ปีผ่านไป พวกเขาจับชุนดูฮวาน โรห์แตวู ขึ้นศาล พิพากษาประหารชีวิตและจำคุก หลังจากนั้นจึงนิรโทษกรรม นี่คือการ “ปรองดอง” ที่แท้จริง โดยไม่ลูบหน้าปะจมูก คนผิดต้องรับโทษ แต่นิรโทษได้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนทั้งสองฝ่ายในสังคม
อุดมการณ์อัน สูงสุดของเรา จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับได้ของคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้แต่นายทุนใหญ่เล็กหรือคนชั้นกลางที่อยู่ในวิถีชีวิตทุนนิยม ถ้าไม่ใช่เพราะการบิดเบือนปลูกฝังความคิดเกลียดชังนักการเมืองจนพาลเกลียด “ประชาธิปไตยตะวันตก” และหันไปพึ่งอำนาจนอกระบบที่เชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
นั่นคืออุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อขั้วอำนาจจารีตนิยมได้หน้ากากหล่อๆ ถูกจริตคนชั้นกลางผู้นิยมความฉาบฉวยอย่างอภิสิทธิ์บนโพเดียม
ตรงไหนคือชัยชนะ
จะ เห็นได้ว่าเป้าหมายทางอุดมการณ์ของเรา ที่ต้องการสังคมประชาธิปไตยเต็มใบ มีความเป็นธรรม ยุติธรรม เปิดพื้นที่ให้ต่อสู้ความคิดกันอย่างสันติ ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับการใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังอาวุธ ซึงมีแต่จะถูกต่อต้านในสังคมปัจจุบันที่ “รักสงบ” ไม่ว่าจะรักสงบแบบประชาธิปไตย หรือรักสงบแบบสามานย์ (เอาอะไรก็ได้ขอให้สงบ ไม่ยุติธรรมไม่เป็นธรรมก็ขอให้สงบ แบบ “จ่าแฉ่ง” หรือซูม ไทยรัฐ) แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องปะทะเป็นศัตรูกับ “กระแสรักสงบ” ที่ชนชั้นนำเอามาบังหน้า
“ชัยชนะ” ของเราอยู่ตรงไหน ในทางอุดมการณ์คือสังคมประชาธิปไตยเต็มใบ อาจไม่จำเป็นต้องได้มาด้วยการยึดอำนาจ (และยิ่งไม่ใช่การที่ทักษิณกลับมายึดอำนาจ) แต่อาจได้มาด้วยการกดดัน ต่อสู้ เจรจา ต่อสู้ ปรองดอง-ทั้งทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ และต่อสู้อีก เป็นลำดับขั้น ด้วยสันติวิธีสลับกับการแสดงพลังหรือการต่อสู้เรียกร้องประเด็นต่างๆ สมมติเช่นในทางยุทธวิธีขั้นนื้คือเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินและปล่อยตัวมวลชนที่ถูกจับกุมแบบเหวี่ยงแห (ไม่ใช่นิรโทษกรรมซึ่งจะนิรโทษคนสั่งฆ่าประชาชนด้วย)
การต่อสู้แบบนี้ต้องแน่วแน่ มั่นคง ถึงที่สุด แต่ไม่จำเป็นต้องรุนแรง
จะ เห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของเสื้อแดงภายใต้การนำของ นปช.และทักษิณที่ผ่านมา สวนทางกันสิ้นเชิง เพราะมุ่งไปสู่เป้าหมายอย่างเดียวคือเอาคนมาชุมนุมมากๆ หวังจะให้เกิดการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลและกลับกลายเป็นพ่ายแพ้ทางการเมือง
ที่พูดเช่นนี้มิใช่จะบอกว่าการลุกฮือระเบิดอารมณ์โกรธแค้นชิงชังของมวลชนเสื้อแดงเป็นสิ่งผิด แต่ความคิดชี้นำผิด ยุทธศาสตร์ผิด
ที่ ไหนมีแรงกดย่อมมีแรงต้าน การใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมสองมาตรฐาน การปล้นอำนาจอธิปไตย รวมถึงการบิดเบือนอย่างเลวร้ายหน้าไม่อายของสื่อกระแสหลักและนักวิชาการ ย่อมทำให้มวลชนผู้รักประชาธิปไตยโกรธแค้น มีอารมณ์รุนแรง ต้องการแสดงออก ซึ่งถ้าไม่แสดงออกบ้าง เอาแต่นั่งพับเพียบ มันก็คงไม่ใช่การต่อสู้
เพียง แต่ประเด็นสำคัญที่ยังแก้ไม่ตกคือจะจัดความสัมพันธ์อย่างไรให้ เหมาะสม ระหว่างยุทธศาสตร์การต่อสู้-เพื่อเอาชนะโดยสันติ กับการแสดงออกทางอารมณ์ ที่เป็นธรรมชาติของการต่อสู้ และเป็นขั้นตอนหนึ่งทางยุทธวิธี
เรา ต้องจัดความสัมพันธ์นี้ให้ได้และให้สอดคล้อง แสดงพลังเพื่อฟ้องให้สังคมได้รับรู้ว่าเราไม่ยอมรับความอยุติธรรม ขณะเดียวกันก็ไม่ข้ามเส้นที่ว่าเราจะเอาชนะโดยสันติ
ที่พูดเช่นนี้ผม ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งอาจเกิดการลุกฮือ หรือวันหนึ่งจะถึงจุดเปลี่ยนแบบแตกหัก แต่ต้องยืนยันว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเลือก หรือจงใจให้เกิด หากจะเกิดมันก็เป็นเพราะชนชั้นนำแข็งขืนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดย “ปฏิรูป” และใช้กำลังรุนแรงต่อต้านความพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ
แต่ ยุทธศาสตร์หลักของขบวนประชาธิปไตย จะต้องตั้งมั่นไปที่การปฏิรูป ซึ่งเมื่อแปรเป็นยุทธวิธี ก็ต้องสร้างรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลาย การจัดตั้งมวลชนเครือข่ายในปริมณฑลต่างๆ ไม่ใช่คิดแต่จะปลุกความโกรธแค้นให้คนมาชุมนุม เอาชนะทีเดียวเบ็ดเสร็จ เหมือนเสื้อแดงที่ผ่านมา
เช่น ขบวนประชาธิปไตยจะต้อง “ขอคืนพื้นที่” ในปริมณฑลต่างๆ ตั้งแต่พื้นที่ของภาคประชาชน นักวิชาการ นักกิจกรรม ต่อสู้ทำลายล้างพวกเสื้อเหลืองและลัทธิประเวศ ให้คนพวกนี้ “ไม่มีแผ่นดินอยู่” ในเชิงหลักการ
เช่น มวลชนเสื้อแดงจะต้องจัดตั้งกันเป็นเครือข่าย ต่อสู้ในระบบพรรคการเมือง ซึ่งหมายความว่าคุณอาจจะสนับสนุน ส.ส.เพื่อไทยแต่อย่าไว้วางใจจนผูกติดและต้องมีข้อแลกเปลี่ยน หรือไม่ก็ต่อสู้ “ขอคืนพื้นที่” ในการเมืองท้องถิ่น ยึดเก้าอี้ อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แบบรู้กันว่านี่เราเสื้อแดง แต่ไม่จำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณะ แล้วก็ทำงานให้ดี ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน (ถ้า อบต.เป็นเสื้อเหลือง หาเรื่องไล่แม่มเลย-ฮา)
หรือไม่ก็จัดตั้งกลุ่ม องค์กร ประเภทกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มไม่สูบบุหรี่ หลอกของบ สสส.มาเคลื่อนไหวอย่างที่พวกเสื้อเหลืองเขาทำกัน
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ การคิดดัดแปลงให้เข้ากับสภาพ ใช้เทคนิค ใช้แทกติก และบางทีก็ตุกติกได้ไม่ต้องเถนตรงนัก สมมติเช่นคุณอยากเอาชนะ อบต.แต่คะแนนไม่พอ ก็ขนเสื้อแดงย้ายทะเบียนบ้าน ไม่ผิดกติกา (วิธีนี้พวกผมทำมาแล้ว สมัยปี 17 ฝ่ายก้าวหน้าในธรรมศาสตร์อยากยึดชุมนุมดนตรีไทย ก็ขนพรรคพวกไปสมัครเป็นสมาชิก พอถึงวันเลือกตั้งกรรมการ ไอ้พวกเพลงตับเต่าหงายท้องไปเลย นี่คือจุดกำเนิดของวง “ต้นกล้า”)
สู้กับการแยกสลาย
อุปสรรค สำคัญที่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเผชิญในระยะต่อไปคือ ความพยายามแยกสลายและทำให้กระแสการต่อสู้โทรมลงจนต้องยอมจำนน เหลือแต่มวลชนที่ผิดหวังคับแค้นแต่ทำอะไรไม่ได้
ที่ ชัดเจนคือหนึ่ง กระแสข่าวหลายกระแสตรงกันว่ามีการเจรจากับทักษิณ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขาเจรจากันอย่างไรในรายละเอียด เพื่อให้ทักษิณถอย ซึ่งดูจากท่าทีที่ออกมา ดูท่าว่าทักษิณจะถอยจริง แถมยังมีข่าว “ปรองดอง” ไปถึงพวกทหารแตงโม ตท.10
ข้อนี้มีด้านดี มากกว่า เพราะทักษิณไม่ถอยขบวนประชาธิปไตยก็ต้องไล่ทักษิณไปอยู่ท้ายแถวอยู่แล้ว ทักษิณนำการต่อสู้แล้วแพ้ทุกที และมวลชนส่วนที่มีคุณภาพก็ “ก้าวข้าม” ทักษิณแล้ว เพียงแต่มวลชนด้านกว้างอาจรู้สึกสูญเสียผู้นำที่เขายึดเหนี่ยว ซึ่งต้องทำงานความคิดกันพอสมควร
ที่อาจมีผลกระทบอีก ด้านคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าการเจรจา “ปรองดอง” ต้องการบีบให้พรรคเพื่อไทยถอยไปแค่ไหน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยจะทิ้งมวลชนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงและอำนาจต่อรองของตน ก็คงโง่บัดซบ (ไม่แน่เหมือนกัน โง่บัดซบขนาดแห่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งที่มาตรา 237 ยังอยู่) แต่เอาเหอะ ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็หวังพึ่งไม่ได้อยู่แล้ว
สอง ที่สำคัญกว่าคือความพยายามลดทอนกระแสการต่อสู้ เช่น ข้อเสนอนิรโทษกรรมของเนวิน ซึ่งอย่าคิดว่า ปชป.ไม่เอาด้วย อาจจะปากว่าตาขยิบ สังเกตไหมว่าเสธ.หนั่นไปเยี่ยมณัฐวุฒิทำไม
ผมคิด ว่าเราไม่ควรปฏิเสธการนิรโทษกรรมทั้งหมด เรายอมรับได้กับการนิรโทษกรรมมวลชน หรือพูดให้ถูก ต้องปล่อยตัว เพราะมีการจับเหวี่ยงแห คนที่อยู่ในเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัด ถูกยัดข้อหาวางเพลิง-ก่อการร้ายหมด ถูกจับกุมคุมขังภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน และไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม (พูดก็พูดเหอะ พรรคเพื่อไทยและทักษิณทอดทิ้งมวลชนด้วย ไม่มีการจัดทนายความต่อสู้คดีให้อย่างทั่วถึง เท่าที่ได้ฟังมา มวลชนที่เชียงใหม่โดนคดีฆ่าพ่อแกนนำเสื้อเหลือง ต้องสู้คดีโดยใช้ทนายความอาสาของศาล ที่ได้ค่ากับข้าวจากศาลวันละ 500 บาท เขาผิดจริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง แต่เขาไม่มีโอกาสต่อสู้อย่างถึงที่สุด)
สิ่ง ที่เรายอมรับไม่ได้คือการนิรโทษกรรมเจ้าพนักงานทั้งผู้สั่งการและ ผู้รับคำสั่ง (สไนเปอร์) เรื่องนี้ต้องถีบก้นพันธมิตรออกมาค้าน เพราะพัชรวาทต้องได้นิรโทษกรรมด้วย (อย่าให้น้องโบว์ตายฟรีรีรีรี...)
บท เรียนในประวัติศาสตร์ว่าด้วยการครองอำนาจของชนชั้นนำ คือพวกเขาจะปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่งขึ้นทำลายล้างฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งแต่ทำลาย อ.ปรีดี มาจนกรณี 6 ตุลา 2519 หลังจากนั้นก็บีบบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องต่อสู้ด้วยความรุนแรงแล้วถูก ปราบปราม เช่น อ.ปรีดีกลับมาก่อกบฎวังหลวง นักศึกษาเข้าป่าจับปืน ขณะที่พวกเขาหันไปฉวยกระแส “ไทยนี้รักสงบ” ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่พร้อมสยบยอมต่ออำนาจระบอบอุปถัมภ์ ประโคมโหมเรื่องสันติ ให้อภัย รักกันไว้เถิด โดยใช้ดารานักร้องทุกค่าย ไปจนถึง ว.วชิรเมธี (ดีที่ไม่ทันใช้สำนักสวนสันติธรรมด้วย)
นี่คือ ด้านที่น่ากลัวของ “ไม้นวม” ที่จะต้องต่อสู้อย่างรัดกุมและแยกแยะ ขบวนประชาธิปไตยจะต้องไม่ปฏิเสธข้อเสนอประนีประนอมทั้งหมด แต่ไม่ยอมจำนน เราสามารถยอมรับได้กับการปรองดองทางยุทธวิธี หรือแม้แต่ทางยุทธศาสตร์ เพื่อเปิดพื้นที่ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เคลื่อนไหวต่อสู้ได้มากขึ้น แต่ต้องยืนหยัด
อย่างไรก็ดี สิ่งแตกต่างคือ พลังประชาธิปไตยวันนี้เป็นพลังที่กำลังเติบโต ขณะที่พลังจารีตนิยมอยู่ในช่วงเปล่งแสงครั้งสุดท้าย เราไม่ได้อยู่ในยุค 66/23 ที่คอมมิวนิสต์สากลล่มสลาย เราเป็นเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่สังคมนิยม 66/23 คือการทำสัญญาสงบศึกกับผู้แพ้ แต่วันนี้ขบวนประชาธิปไตยไม่ได้แพ้ มีแต่จะเติบโตขึ้น
ใบตองแห้ง
21 ก.ย.53
*********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น