Sat, 2010-09-25 18:40
หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 6 ฉบับที่ 277 ประจำวัน จันทร์ ที่ 20 กันยายน 2010
สัมภาษณ์โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข
“ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นัก วิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองหนึ่งในนักวิชาการที่กล้าพูด กล้าวิจารณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่กลายเป็นหลุมดำที่ฉุดให้บ้านเมืองต้องดำดิ่งสู่เหวนรก พร้อมๆกับเหตุการณ์นองเลือด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่ยากจะเกิดการปรองดองสมานฉันท์ แต่จะรอวันแตกหักและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง
4 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
ถ้ามองย้อนกลับไป 4 ปี การรัฐประหารล้มรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) (หรือชื่อเดิมยาวเหยียดว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ต้อง พูดว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “น่าเสียใจ” และ “น่าเสียดาย” มากที่เกิดขึ้นและเมื่อเกิดขึ้นกลับมีความเสียหาย มากกว่าเป็นผลดีกับประเทศชาติ
ผมคิดว่ามันน่าเสียดายที่เราไม่สามารถใช้กลไกของประชาธิปไตยกับของกฎหมายจัดการกับปัญหา
แต่ ไทยเรา (โดยเฉพาะคนชั้นสูง) ใช้กำลังอาวุธ ใช้กองทหารมาจัดการกับปัญหาทางการเมือง อันนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่ามันน่าเสียดายและเสียใจ
เรา มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ชนะอย่างถล่มทลายของ “พรรคไทยรักไทย” นำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นก็มาเกิดวิกฤตอย่างที่เห็น เป็นวิกฤตตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดขบวนการโค่นล้มพ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขบวนการ “ม็อบเสื้อเหลือง”
เกิดขบวนการ “อ้างและอิง” สถาบันพระมหากษัตริย์ในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อสังคมไทย
อันนี้ผมคิดว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญมาก แล้วก็จบลงด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
แปลว่า พัฒนาทางการเมืองของไทย ซึ่งมันก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเป็นเวลาตั้ง 100 ปีแล้ว มันก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ต่อไป ไม่จบสิ้น แล้วดูเหมือนกับในด้านหนึ่งมัน ถอยหลังและในอีกด้านหนึ่งมันก็จมดิ่งลงไปอยู่ใน “หลุมดำ” ผมมองว่า มันเป็น “หลุมดำทางการเมือง” เป็นสิ่งที่ผมมองจากประวัติศาสตร์ช่วงยาวๆของสังคมของการเมืองไทยประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา มีทั้งที่ถอยหลังและตกต่ำลงลึกไปพร้อมๆกัน
ประเด็นต่อมาผมมองว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. ปี 2549 เป็น รัฐประหารที่อาจเรียกได้ว่า “ล้มเหลวมากที่สุด” ก็อาจเป็นไปได้ เพราะทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยก เกิดความขัดแย้งอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทย ผมมองว่าที่ล้มเหลวที่สุด คือ เมื่อยึดอำนาจได้ในปี 2549 แล้วเราก็มีรัฐบาลชั่วคราวของกลุ่ม “ขิงแก่” ซึ่งก็พูดได้ว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างที่คาดหวังกันที่ว่า ถ้าได้ “คนดี-คนอาวุโส” เข้ามาแล้ว จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ปรากฏว่าก็ “ไม่ใช่”
สิ่งที่ตามมาในปี 2550 ก็คือ มีรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นฉบับที่ 18 แล้วก็เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งผมมองว่า เอื้ออำนวยต่อการรักษาอำนาจของกลุ่มคนที่เป็น “อนุรักษ์นิยม” กับกลุ่มคนที่เป็น “ชนชั้นสูง” ของบ้านเมือง เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และน้อยกว่าฉบับปี 2517 อาจเรียกว่ามีการ “หมกเม็ด” ก็ว่าได้ คือ แอบๆ ซ่อนๆ อะไรๆไว้เยอะ
และตัวที่ผมคิดว่า น่าเกลียดน่าชังมากๆ คือ ส.ว. สรรหา ผมคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของประชาธิปไตย
ถือเป็นความน่าละอายของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แอบใส่เอาไว้
เป็น การ “หมกเม็ด” เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองที่จะได้รับการสรรหา ซึ่งก็แปลว่า “แต่งตั้ง” ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เป็นจุดที่เลวร้ายมากๆในแง่ของรัฐธรรมนูญปี 2550
ผมมองว่า ปี 2549 เป็นการถอยหลังเป็นการตกต่ำจมลงดิ่ง ในปี 2550 ทั้งรัฐบาล “ขิงแก่” ก็ดี ทั้งรัฐธรรมนูญก็ดี ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้วเราก็ตามมาด้วยมีการเลือกตั้งและการมีรัฐบาลตาม ลำดับที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
สองรัฐบาลนี้ พูดง่ายๆว่า ถึงแม้จะร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อกำจัดอำนาจของฝ่ายของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่สำเร็จ
เพราะ ฉะนั้น ก็ใช้ “ม็อบเสื้อเหลือง” ดำเนินการต่อ จุดนี้เป็นจุดที่สร้างสิ่งที่เราเรียกว่า “อนาธิปไตย” ขึ้นมามันไม่ใช่ประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น “คปค.-คมช.” จะอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อะไรก็ตามหรือทางฝ่าย “ม็อบเสื้อเหลือง” เรียกตัวเองว่าเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย อะไรก็ตาม
นี่ ตรงกับสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ พูดเอาไว้ก็คือ ทำให้เกิดสภาพที่เป็น “อนาธิปไตย” เมื่อเกิดสภาพนี้แล้วก็เกิดการยึดอำนาจ “รัฐประหาร” ที่ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งฝ่าย คมช.และม็อบเสื้อเหลือง
เมื่อ เป็นอย่างนี้แล้วมันก็มีผลร้ายนำไปสู่การผลักดันให้ “เกิด” กระบวนต่อเนื่องที่เรียกกันว่า “ตุลาการธิปไตย” ขึ้นมาที่นักวิชาการบางคนพยายามเรียกให้เป็นบวกว่า “ตุลาการภิวัตน์” คือ เอากระบวนการตุลาการและกฎหมายมาแก้ปัญหาของสังคมและการเมือง
แต่ผมคิดว่า ศัพท์ที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ตุลาการธิปไตย” เสียมากกว่าศัพท์คำนี้มาจากฝ่ายนักวิชาการทวนกระแสที่ไม่รับใช้อำนาจรัฐ
คือ มีความหมายว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ หรืออยู่ที่ฝ่ายกฎหมายที่จะใช้ขจัดฝ่ายตรงข้ามหรือรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ (อย่างนายสมัครและนายสมชาย) ออกไป
เราก็มาถึงจุดนี้ของการที่มีรัฐบาลชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผล ของมันก็คือทำให้ “ม็อบเสื้อแดง” เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ นำมาซึ่งวิกฤตการณ์และความปั่นป่วนของบ้านเมืองต่อเนื่องอย่างที่เราเห็น ทั้งในเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” ปี 2552 หรือทั้งเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ปี 2553
ฉะนั้น แปลว่า ในปี 2549 ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ในปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับ “หมกเม็ด” ต่อมาในปี 2551 มีการเลือกตั้งตามมาด้วยสภาพ “อนาธิปไตย” ในปี 2552 เกิด “สงกรานต์เลือด” และในปี 2553 เกิด “เมษา-พฤษภาอำมหิต” เป็นกระบวนการยาวเหยียด
เราก็มาถึง ณ ตรงนี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ในช่วง 4 ปี ก็มีแต่เลวร้ายลงทุกที ไม่ใช่ถอยหลังอย่างเดียว แต่มันดิ่งลงใน “หลุมดำทางการเมือง” ซึ่งหลุมนี้มันจะ “ดูด” ทุกสิ่งทุกอย่างให้จมดิ่งลงไปหมด
และ ก็รวมถึงอีกหนึ่ง “หลุมดำ” ที่มีการปลุกกระแสเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ขึ้นมาอีกด้วยเหมือนกับไปสะกิด “แผลเก่า” ให้หนองแตก เลือดไหลพล่านทั้งๆที่เรื่องนี้ น่าจะจบไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และก็น่าจะจบไปแล้วเมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกปี 2551 (อีกตั้ง 46 ปีต่อมา)
ผม มองอีกว่าในแง่ของการเมืองภายใน ความขัดแย้งระหว่าง “ม็อบเสื้อเหลือง” กับ “ม็อบเสื้อแดง” ความขัดแย้งระหว่างฝ่าย “อำมาตย์” กับฝ่าย “ไพร่” ทำให้เห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกมากๆ
เรา มาถึงจุดตรงนี้ ณ เวลานี้ คำถามก็คือว่า เมื่อมันเลวร้ายอย่างนี้ มันแตกแยกกันอย่างนี้ แล้วเราจะ “ปฏิรูป-ปรองดอง-สมานฉันท์-หรือเกี๊ยเซี๊ย” กัน ได้ไหม
ผมคิดว่ามันยากมากๆ คือ ผมมองว่าในด้านหนึ่งการเมืองที่เราเห็นเป็นการเมืองของ “ตัวแทน” หรือ “นอมินี” (nominees) คนที่ออกมาเล่นมาเต้นให้เราดูนั้น ไม่ใช่ตัวจริง เป็น “ตัวแทน” เกือบทั้งหมด
ดังนั้น เมื่อเป็น “ตัวแทน” ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจอะไรได้ ประเด็นที่ 2 ยังเป็นการเมืองที่เป็น “เกมรอ” (waiting game) ผมคิดว่าเป็นการรอวันที่จะแตกหัก ตอนนี้สถานการณ์มันอึมครึม (พูดไม่ออก บอกไม่ได้)
ผู้คนเกิดวิตกกังวลมากๆ (anxiety) ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของชาวต่างประเทศเขาบอกว่า คนไทยในระดับชนชั้นกลางกับชนชั้นสูง ปัญหาใหญ่คือความวิตกกังวล คือ มันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และก็เป็นความวิตกกังวลทาง “การเมือง” ไม่ใช่ทาง “เศรษฐกิจ”
จริงๆ แล้วก็คือ หวั่นวิตกกับอนาคต มนุษย์เราจะมีปัญหามาก ถ้าไม่รู้หรือพอจะคาดการณ์ได้ว่า “อนาคต” จะเป็นอย่างไรก็จะเกิดความวิตกกังวลผิดปรกติ กลายเป็นปัญหาทางด้านจิตใจและจิตวิทยา
ส่ง ผลต่อไปยังการที่ไม่กล้าเผชิญกับ “ความจริง” และไม่กล้าพูดความจริง ทำให้ต้องพูดเท็จ ต้อง “โฆษณาชวนเชื่อ-ประชาสัมพันธ์” อย่างหนักหน่วงอย่างที่เราเห็นได้ของ “ความเกินพอดี” ทั้งจากสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ หรือป้ายคำขวัญ
ผม คิดว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นหรือเผชิญอยู่ในปัจจุบันมันอาจจะ “ก้าวเลย” ไปแล้วก็ได้ ที่เราพูดถึง “การปฏิรูป-การปรองดอง-สมานฉันท์-เกี๊ยเซี๊ย” ที่เห็นได้จากการใช้งบประมาณหลายร้อยล้านจัดตั้ง กก. ชุดของคุณอานันท์ ปันยารชุน ชุดของนพ.ประเวศ วะสี ชุดของคุณคณิต ณ นคร และชุดของ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์
ผม คิดว่าอาจจะไม่มีผลอะไรเลยในแง่ของการปฏิรูป-ปรองดอง-เกี้ยเซี้ย เอาเข้าจริงแล้ว ผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง “ตัวจริง” ก็ไม่ได้ออกมาเล่น อย่างที่ผมใช้คำว่าเป็น “ตัวแทน” หรือ nominee
แล้ว ในแง่ของผู้ที่ออกมาเล่นที่เราเห็นๆ อยู่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สิ่งที่นักการเมืองเหล่านี้ (ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้งก็ตาม) ขาดก็คือ ขาด “เจตจำนงทางการเมือง” ที่จะปฏิรูป ที่จะปรองดอง เล่นเกมเป็น “ตัวแทน” เสียมากกว่า และที่สำคัญคือเล่น “เกมของการรอเวลา” หรือ waiting game รอการระเบิด และการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่จะต้องมีมาไม่ช้าก็เร็ว
ผมว่ามันเป็นสภาพแบบนี้ทำให้คนแบบเราๆท่านๆก็ “วิตกกังวลและเครียด” กันไปหมด
บทบาททหารหรือกองทัพ
ต้องยอมรับว่า ทหารหรือกองทัพยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอดยาวนานประมาณ 100 ปีมาแล้ว มีทหารพยายามที่จะยึดอำนาจและมีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 6 ที่เราเรียกว่า “กบฏ รศ.130” แต่พวกนักวิชาการไทยๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักรัฐศาสตร์) มักมองกลับไปเพียงแค่ “การปฏิวัติ 2475” ในรัชกาลที่ 7
ผมคิดว่า ในแง่ข้อเท็จจริงทาง ปวศ. ต้องกลับไปถึงปี 2454-2455คือก่อนหน้านั้น 20 ปี ที่มีปรากฏการณ์ “กบฏ รศ.130” ในต้นๆสมัยรัชกาลที่ 6
ใน ช่วงแรกๆนั้น อาจพูดได้ว่า ผู้นำรุ่นใหม่ของฝ่ายทหารมีความคิดในแง่ของ “ประชาธิปไตย” สูงมาก ความพยายามของกลุ่ม “ยังเติร์ก” ที่เราเรียกว่า “กบฎรศ.130” นั้น สาระสำคัญอยู่ที่การยึดอำนาจให้เป็นประชาธิปไตย
เปลี่ยนแปลงระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิ์”
ซึ่งแม้จะทำไม่สำเร็ย แต่ก็ส่งต่อมายังกลุ่มทหารบกและทหารเรือที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 คนอย่างพระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงพิบูลยสงคราม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงศุภชลาศัยฯ
คน เหล่านี้ มีความคิดทางการเมืองในแง่ของ “ประชาธิปไตย”และมีส่วนอย่างยิ่งในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและ จำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์
แต่หลังจากนั้นแล้ว มันไม่ใช่ ผมคิดว่าหลังจากรัฐประหารปี 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นต้นมาเรียกว่า “ทหารประชาธิปไตย” หายากมากๆ
ทหารกลายเป็นสถาบัน กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์และต้องการรักษาสถานะเดิมของตัวเองเอาไว้มากกว่าทหารสมัย “กบฏ รศ.130” หรือ “ทหารรุ่นปฏิวิติ 2475”
ผมคิดว่าทหารนับตั้งแต่ปี 2490 มา เป็นกลุ่มที่กลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจในสังคมสูงมากและต้องการรักษาสถานภาพ อันนี้ไว้ เพราะฉะนั้น ทหารพวกนี้จะไม่แฮบปี้กับระบอบประชาธิปไตย ไม่แฮบปี้กับการเลือกตั้ง ไม่แฮบปี้กับนักการเมือง จะเห็นได้ตลอดเวลาว่ามีความพยายามที่จะยึดอำนาจ ถ้ายึดอำนาจสำเร็จก็เรียกว่า “ปฏิวัติหรือปฏิรูป” แต่ถ้าไม่สำเร็จก็กลายเป็น “กบฏ” ไป
มันกลายเป็นอย่างที่เราเห็นก็คือว่า ถ้าดูการเมืองไทยในช่วงเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา เรามีปฏิวัติรัฐประหารที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ 3-4 ปีต่อ 1 ครั้งและเราก็มีรัฐธรรมนูญที่ใช้ 3 - 4 ปีต่อ 1 ฉบับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี “กบฏ-ปฏิวัติ-รัฐประหาร” และมีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก คือ มี 18 ฉบับ
และผมเชื่อว่าฉบับที่ 19 ก็คงจะตามมา ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองยาวๆ มองกลับไปสัก 100 ปี มันเดินมาอย่างนี้มันก็จะต้องเดินไปอย่างนี้ ถ้าเผื่อไม่แก้ปัญหาที่เป็นรากฐานสำคัญแต่ ณ ขณะนี้ เชื่อว่าทหารจะยังไม่ยึดอำนาจอีก (ชั่วคราว)เพราะเขาน่าจะพอใจกับการที่มี “ตัวแทน” อย่างรัฐบาลชุดปัจจุบัน
4 เดือนพฤษภาอำมหิต 2553
เหตุการณ์ความรุนแรง “พฤษภาอำมหิต” ที่ครบรอบ 4 เดือน ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตราบาป และรอยด่างต่อไป ผมคิดว่าเรื่องนี้มันคงไม่จบ และจะอยู่ไปอีกยาวนานมาก มันจะขึ้นอยู่กับการเมืองในระดับข้างบน เป็นอย่างไร
ตอน นี้ ในเมื่อการเมืองระดับข้างบนถูกคุมอยู่ เรื่องนี้ก็ดู “เบลอๆ” แล้วผมว่า คนชั้นสูงและกลาง (ในกรุง) จำนวนไม่น้อยก็หวังว่า ถ้าเวลามันยืดไป คนก็จะลืมไปเองเหมือนๆเหตุการณ์ 14 ตุลา--6 ตุลา--พฤษภา 35
แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ในปัจจุบันนี้ มันจะเป็นเหมือนที่ผ่านมาแล้วหรือไม่ เพราะความแตกแยก ความร้าวฉาน มันลงไปลึกมากๆ
แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะได้เห็นผลการสอบสวนคดี 91 ศพหรือแม้กระทั่งคำขอโทษและการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล
เพราะ เกมของราชการไทย คือ การตั้งคณะกรรมการ เพื่อทำการศึกษาและคณะกรรมการ (กก.) ก็จะตั้งอนุกรรมการ (อนุ กก.) อีกหลายๆชุด เพื่อจะศึกษาต่อ ถ้าผลการศึกษานั้นเค้นเอาออกมาจนได้ ก็จะส่งรายงานนั้นๆ ไปตามลำดับขั้นตอนแล้วก็มักจะจบลงด้วยการเก็บขึ้นหิ้ง (แต่ปัจจุบัน น่าจะจบลงในแผ่นซีดี)
ผม คิดว่าจะไม่มีผล และอันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่ราชการไทยๆ ทำมาเป็นเวลานาน ผมคิดว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” คงไม่เสียชีวิตแบบสูญเปล่า เพียงแต่จะเรียกร้องจากคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งไม่ได้ ต้องไปเรียกร้องที่อื่น
ผม สงสัยอีกว่า คนที่มีอำนาจอยู่ ณ ขณะนี้เชื่อว่าตัวเองทำถูกอย่าง “บริสุทธิ์ใจ” ก็ว่าได้ เรื่องที่จะให้มา “ขอโทษ” หรือแสดงความรับผิดชอบ คงไม่ใช่ ผมเข้าใจว่า สิ่งที่เขา “ทำ” เป็นสิ่งที่เขา “คิด” และ “เชื่อ” ว่าถูกต้องมากๆ
ทำให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะ “ปฏิรูป” ไม่ได้ “ปรองดอง” ไม่ได้ “เกี๊ยเซี๊ย” ไม่ได้
ใน วันข้างหน้า ก็รอวันแตกหัก และเท่าที่ประเมินเหตุการณ์ที่จะแตกหักในอนาคตจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ “พฤษภาอำมหิต” ผมอยากให้กลับไปอ่าน “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” อาจถูกต้องใกล้เคียงที่สุด อาจให้ภาพอะไรได้ดีกว่า มันเกิดอาการ “วิปริต-อาเพศ” ไปหมด จะรุนแรง หรือเรียกได้ว่า “กลียุค” นั่นเอง
สังคมไทยได้บทเรียนอะไร
เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ที่กำลังจะครบรอบ 4 ปี มันให้บทเรียนว่า เรา “ไม่เรียน” จากประวัติศาสตร์
หรือ “ไม่เรียน” อะไรจากความผิดพลาดเลย
ผมคิดว่า เรา “ไม่เคยเรียน” จากความผิดพลาดของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เรา “ไม่เคยเรียน” ความผิดพลาดของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เรา “ไม่เคยเรียน” จากเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 และผมรับรองว่าเรา “จะไม่เรียน” จากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” นี้
เพราะวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาการที่ “ตกต่ำที่สุด” ในประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบไม่มีใครอยากเรียนวิชานี้
ทางออกของวิกฤตการเมือง
1. จะต้องปฏิรูปและปรองดองกับกลุ่มคนทุกชนชั้นทุกระดับ
2. ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประเทศ “สยาม” สำหรับคนทุกคน ไม่หมกเม็ดสำหรับกลุ่มบางกลุ่ม
3. ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบัน “สูงสุด” เป็นสถาบัน “กลาง” ที่เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง “เอาไปอ้างเอาไปอิง” เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง
4. ทำให้สถาบัน “ทหาร-ตำรวจ-ข้าราชการพลเรือนและตุลาการ” เป็น “กลาง” ทางการเมือง ไม่ใช่เข้ามากุมอำนาจเพื่อประโยชน์ของสถาบันของตัวเอง
กล่าวโดยสรุป คือ นอกจากจะมีสถาบัน “ชาติ” – “ศาสนา” – “พระมหากษัตริย์” แล้วต้องมีสถาบัน “ประชาชน” ที่เป็น “ประชาธิปไตย” อีกด้วย
ปรับปรุงจากที่มา : http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=8012
สี่ปีทำให้ประชาชน จนลงอีกมากมาย แต่ก็ทำให้คนไทยตาสว่างขึ้นอีกมากมาย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยฯ
ตอบลบ