สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เผยงานวิจัย "ใครคือคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดง"


ราชดำเนินเสวนา จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมืองผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เปิดงานวิจัย "ใครคือคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดง" เผยคนชนบทคับแค้นถูกหยามเหตุเข้าร่วมเสื้อแดง

ที่มาภาพ: www.tja.or.th

วันนี้ (18 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 10/2553 เรื่อง จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมืองมีนายวิลาส สุวี รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ , ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานมูลนิธิสวัสดี และศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสวนา

นายวิลาส กล่าวว่า ตั้งแต่ ปี 2533 ประชากรในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทำให้โครงสร้างของครัวเรือน ปรับเปลี่ยนมีครัวเรือนขยายเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเภทอยู่คนเดียวหรือไม่ใช่ญาติ และเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งคนในชนบทย้ายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น

ผลสำรวจความเดือดร้อนของประชากร ระหว่างวันที่ 18-24 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศ พบว่า 14.5 % คิดว่าเป็นคนจน ซึ่งสาเหตุของความจนนั้น นอกเขตเทศบาล คิดว่า คือ ไม่มีทุนการประกอบอาชีพ และในกรุงเทพมหานคร คิดว่าขาดโอกาส การเรียนน้อย เกิดมาจน ขี้เกียจไม่ขวนขวาย ตามลำดับ

นายวิลาส กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ผลการสำรวจรายได้รายจ่าย พบว่า มีความห่างกันมากขึ้น ระหว่างชุมชนเมือง กับชุมชนชนบท เนื่องจาก โครงสร้างชนบทอยู่ในภาคเกษตร แต่จุดเด่นของสังคมเมืองคือ การบริการ ซึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ คนในเมืองมองว่า ความขัดแย้งทางเมืองเป็นปัญหา 72 % ในขณะที่คนชนบทคิดเป็นปัญหาเพียง 58 %

ผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวว่า จากผลวิจัยที่ได้สำรวจในเบื้องต้น เรื่อง ใครคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง พบว่า ในด้านอาชีพ เสื้อแดง มีแนวโน้มเป็นเกษตรกร แรงงาน รับจ้างนอกระบบ ส่วนคนเสื้อเหลือง มีอาชีพ รับราชการ รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย ส่วนการศึกษา คนเสื้อเหลืองจะสูงกว่าคนเสื้อแดง อยู่ในระดับอนุปริญญาตรีขึ้นไป และสำหรับรายได้ คนเสื้อเหลือง มีรายได้สูงกว่า แต่หากเทียบเส้นความยากจน ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไม่จัดว่าไม่มีคนกลุ่มใดเป็นคนจน แต่มีเพียงเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเสื้อแดงคิดว่ามีรายได้น้อยเพียง 18 % แต่คนเสื้อเหลืองบอกว่ายากจนกถึง 23 % ถือเป็นความเหลื่อมล้ำรุนแรงที่คนเสื้อเหลืองรู้สึกว่าห่างมากจนรับไม่ได้ มากกว่าเสื้อแดง ที่บอกว่า ห่างมากแต่พอรับได้

ผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวต่อว่า คนเสื้อแดงได้ประโยชน์จากประชานิยมอย่างชัดเจน จากโครงการ 30 บาท และกองทุนหมู่บ้าน เพราะอยู่นอกระบบประกันสังคม รายได้ผันผวนตามราคาพืชผล ไม่มีความมั่นคงทางด้านรายได้ โครงการต่างๆจึงสอดคล้องกับความต้องการ กลุ่มคนเหล่านี้จึงตอบรับนโยบายของพรรคไทยรักไทย ส่วนสาเหตุการประท้วง คือ ต่อต้านการเมืองจากการแทรกแซงจากทหาร ปัญหาสองมาตรฐานและความยุติธรรม การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนไม่มีคนใดเลือกเป็นเหตุผลจากการ ต่อสู้

สรุปได้ 4 ประเด็นว่า ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เป็นสาเหตุของความคับข้องใจของคนเสื้อแดง 2.ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นที่มาของคนเสื้อแดง 3.ฐานะเศรษฐกิจเสื้อแดงน้อยกว่าเสื้อเหลือง นโยบายประชานิยม จึงตอบโจทย์มากกว่า 4.หากปฏิรูปประเทศเน้นที่ความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้เพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจว่าจะแก้ได้ นอกจากนั้นความรู้สึกโดนเหยียดหยาม ว่าเป็นคนอีสาน เป็นสีแดง ความรู้น้อย รู้สึกว่าสังคมมีการแบ่งชนชั้น ไม่ยุติธรรม เพราะคนเสื้อแดงทำอะไรก็ผิด รู้สึกต้องต่อสู้ ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ขอสิทธิคืน

ดร.ยุกติ กล่าวว่า อยากให้ทำความเข้าใจชนบทในภาพใหม่ว่า ปัจจุบันชนบทเป็นตัวแบบชนชั้นกลางรุ่นใหม่และเป็นพลเมืองที่กำลังตื่นตัว เพราะจากการเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เกิดเป็นการเมืองของชนชั้นกลางเก่า คือ เสื้อเหลือง กับชนชั้นกลางใหม่ เป็นกลุ่มเสื้อแดง เกิดขึ้นคู่ขนาน เป็นปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนไป

โดยกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ อาจจะประชดตนว่า เป็น ไพร่ เพื่อชี้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ มาจากชุมชนท้องถิ่น จากเครือข่ายทางการเมืองแบบใหม่ ก้าวพ้นชุมชนแบบเก่า มีแนวความคิดที่ถูกปลูกฝังจากวิทยุชุมชน ปัญญาชนท้องถิ่น ต่อยอดกับคนที่เป็นปัญญาชนในกรุงเทพที่เข้าไปให้ข้อมูลข่าวสารสู่ชนบทในการ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิ่งที่ควรจะได้รับมากขึ้น มากกว่าการรอคอยไม่มีปากเสียงเช่นเดิม และมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีสิทธิเรียกร้อง

นายอภิชาต กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของชนบท แต่เป็นเพราะ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ ครัวเรือนเปิดกว้าง ร่วมสมัย และผลจากการเมือง โครงสร้างการเมืองเปลี่ยนไปที่คอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล และการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนแนวประชานิยมที่ไม่มุ่งสร้างเงื่อนไขการ สร้างสังคมสวัสดิการอย่างถาวรทำให้เกิดการผลิตซ้ำของระบบอุปถัมภ์ใหม่

ขณะนี้ชาวนากำลังออกจากอาชีพดั้งเดิม เป็นปัญหาที่ต้องรอให้จัดการสะสาง สร้างทัศนคติขึ้นใหม่ จากที่ชนบท ถูกกดทับจากพาณิชย์ จากนักการเมืองท้องถิ่นที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไข สร้างเกิดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพได้ยาก

ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเกิดขึ้นกว่า 15 ปี หากดูสังคมโดยรวม มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่น มีสิทธิ์เลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งส่งผลกับวิถีชีวิต ทัศนคติ สำคัญ คือ ได้เรียนรู้ ว่าเป็นช่องทางนำมาซึ่งงบประมาณต่างๆ ที่สามารถเรียกร้อง ให้มีบทบาทตัดสินใจนโยบายต่างๆ ในกระบวนการโหวตและสามารถจะปรับปรุงชีวิตได้ดีขึ้น

ปรากฏการณ์ทักษิณจึงทำให้เกิดความมุ่งหวังของชาวบ้าน ว่าไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะรัฐบาลยุคนั้นได้ทำทุกอย่างที่ได้สัญญาไว้ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้รับรู้ และสัมผัสได้จริง จุดประกายอะไรที่ทำให้เกิดกระบวนการขึ้น ซึ่งต่อไป การต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องของการไม่มีทางออกเมื่อผู้นำจากไป นำไปสู่ความต้องการกลับไปสู่การเมืองก่อนปี 2516 ”

เปิดผลวิจัย "ใครคือคนเสื้อเหลือง/เสื้อแดง"

โดย...อภิชาติ สถิตนิรามัย และคณะ

ทีมวิจัยเรื่องจุดเปลี่ยนชนบทไทย ซึ่งนำโดยอาจารย์ อภิชาติ สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะ ได้จัดทำผลวิจัย เรื่อง จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมือง ?” ผ่านรายการ ราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ ๑o / ๒๕๕๓ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่าน โดยคณะวิจัยเห็นว่า ผลจากการสนทนากลุ่มในทุกพื้นที่ การวิจัยเชิงมานุษยวิทยา และข้อมูลจากแบบสอบถามสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บางคลองโยง จังหวัดนครปฐม

ชาวบ้านคลองโยงเป็นผู้อพยพมาจากพื้นที่ เจริญซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน มีผู้คนจับจองที่ดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์มาเก่าแก่บริเวณลุ่มน้ำนครชัยศรี เพื่อมาหักร้างถางพง หรือบุกเบิกที่ดินแห่งใหม่เพื่อทำนาที่ห่างไกลจากชายแม่น้ำและมีผู้คนจับ จองอยู่น้อย ดังครอบครัวของ ลุงต๊าบ (นามสมมติ) วัย 83 ปี ที่อพยพมาจาก ต.ท่ากระชับ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่และย่า

แต่ก่อนมันเป็นเฟือย ต้นเฟือย ต้นพง ก็ไม่มีที่ทำกิน ก็ตรงนี้มันเป็นที่น้ำคลึง น้ำไม่แห้ง แต่ก่อนปู่ย่าตายายก็มาถางกันจับจองที่ริมคลอง ใครมีแรงมากก็ถางได้มากหน่อย ใครมีแรงน้อยก็ถางได้น้อยหน่อย แล้วก็ขุดโคก ขุดถมโคกแล้วก็ปลูกบ้านกระต๊อบอยู่กันลุงต๊าบ กล่าว

การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวบ้านคลองโยงส่วนใหญ่จึงอยู่บริเวณริมคลอง ส่วนที่ทำกินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นาจะอยู่ถัดขึ้นไปจากหลังบ้านเรือน การครอบครองที่ดินทำกินจะแตกต่างไปตามความสามารถในการบุกเบิกจับจอง ดังเช่น ครอบครัวประธานสหกรณ์คลองโยงคนปัจจุบัน(พ.ศ. 2553) เคยมีการบุกเบิกจับจองเอาไว้ถึง 80 ไร่ ความเปลี่ยนแปลงในด้านการถือครองที่ดินเกิดขึ้นหลังการพัฒนาคูคลองในเขตที่ ราบลุ่มภาคกลางช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 คลองใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายคลอง เช่น คลองชัยขันธ์หรือคลองเจ๊ก คลองกำนันขาว ฯลฯ ความเปลี่ยนแปลงด้านการถือครองที่ดินสำคัญในช่วงที่มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ ในปี 2400 ซึ่งขุดขึ้นในรัชกาลที่ 4 และมีการจับจองที่ดินโดยพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ชาวบ้านคลองโยงต้องกลายเป็นผู้เช่านาทั้งหมด

ที่นี้นายอำเภอนครชัยศรี เค้ามาเยี่ยมราษฎร ถามว่าทำไมตรงนี้มีบ้านคนเยอะแยะหมด อยู่ตรงโน้นหลังนี่หลัง อยู่ไม่เป็นหมู่ ใครอยากอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น เค้าก็ว่านี่ที่มันเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่จริงๆไม่ใช่ ที่มันเตียนหมดแล้ว คนทำหมดแล้ว ไม่ได้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าอย่างที่เค้าว่า ก็เลยไปจ้างเจ๊กมาขุดคลอง ขุดเสร็จแล้วเค้ายิงข้างละกิโลเลย ข้างละ 25 เส้น ข้างนี้ 25 เส้น ที่หักร้างถางพงไว้ เราต้องมาเช่าเขาทำ เขาเอา แต่ก่อนคนเราไม่รู้กฎหมาย เจ้าขุนมูลนายว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามกัน เค้าจะให้เช่าก็เช่า เราหักร้างถางพงกันแทบตาย เรามาถางเอง แต่ก่อนเป็นป่าทั้งนั้นครั้งแรกที่หลวงเก็บหลังจากขุดคลองใหม่ๆ เค้าเอา ไร่ละ 50 สตางค์ก็เยอะแล้วนะ น้ำแข็งถ้วยนึงแล้ว ก๋วยเตี๋ยวชามนึง เค้าเก็บค่าเช่าเป็นเงินไร่ละ 50 ตังค์ ต่อปีลุงต๊าบ กล่าว

คลองชัยขันธ์หรือคลองเจ๊กเป็นคลองที่อยู่ในพื้นที่การพัฒนาคูคลอง ที่เรียกว่าคลองเจ๊กเพราะใช้แรงงานจีนขุด ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เจ๊กเมื่อขุดคลองแล้วแรงงานจีนเหล่านี้ก็จับจองที่ดินบริเวณปากคลอง ปักหลักทำมาอาชีพค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือก และขายปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวนาในพื้นที่คลองโยง ต่อมา กลายเป็นผู้มีฐานะดีที่สุดในหมู่บ้าน กลายเป็นเถ้าแก่ให้กู้เงินหรือตกเขียวแก่ชาวนาแถบนี้ซึ่งมักจะต้องขายข้าว ให้กับพ่อค้าเหล่านี้ เนื่องจากต้องเอาปัจจัยการผลิตและเงินไปลงทุนก่อน และมี 2 ครอบครัวที่พัฒนาจนกลายเป็นเจ้าของโรงสีขนาดใหญ่

บ้านคลองโยงจึงเกิดและมีพัฒนาการอยู่ภายใต้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจการปลูก ข้าวเพื่อส่งออกของที่ราบลุ่มภาคกลาง ในพื้นที่การพัฒนาระบบชลประทาน ระบบคูคลอง และการจับจองที่ดินโดยพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการพัฒนาคลองรังสิต ในที่ราบลุ่มด้านตะวันออกของเมืองหลวง ปัจจุบันยังมีสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ชาวบ้านยังมีอาชีพหลักคือ การทำนาและพืชการเกษตรที่เป็นต้องการของตลาดในเมือง

แม้สภาพบ้านคลองโยงในสายตาคนนอกอาจไม่แตกต่างไปจากสภาพหมู่บ้านในชนบทภาค กลางอื่นๆ กล่าวคือ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนกระจัดกระจาย และล้อมรอบด้วยนาข้าว นาบัว แปลงผัก และสวนผลไม้ยืนต้น มีแนวมะพร้าวและกล้วยแบ่งผืนนาออกเป็นแปลงขนาดใหญ่ภายใต้ระบบชลประทานสมัย ใหม่ ซึ่งสามารถปลูกข้าวได้ถึง 5 รุ่นใน 2 ปี ดูเผินๆ แล้ว พื้นที่นี้คือ ภาพแทนตนของสังคมชาวนาชนบท ซึ่งเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีต ยกเว้นถนนหนทางที่เข้าถึงเกือบทุกตัวบ้าน แต่เอาเข้าจริงแล้ว กายภาพของหมู่บ้านกลับหุ้มห่อ-บดบังเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ไว้ ดังจะพิจารณาในส่วนต่อไป

ภาพชีวิตและวิถีการทำมาหากิน

ข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 73 ชุดในวันที่ 2 และ 4 พฤษภาคม 2553 ณ หมู่ 1 และหมู่ 8 ในบ้านคลองโยง ซึ่งมีครัวเรือนทั้งสิ้นประมาณ 190 หลังคาเรือน(หมู่ 1 จำนวนครัวเรือน 80 ครัวเรือน คน หมู่ 8 จำนวน 111 ครัวเรือน) สะท้อนให้เห็นว่า สภาพทางเศรษฐกิจของพื้นที่เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรม เนื่องจากตัวอย่างถึง 53 รายมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร และมีรายได้จากนอกภาคการเกษตรไม่มากนัก มีครัวเรือนเพียง 19 หลังคาเท่านั้นที่มีรายได้นอกภาคการเกษตรมากกว่า 60% ของรายได้ทั้งหมด หรือมีเพียง 10 ครอบครัวเท่านั้นที่ไม่มีรายได้จากภาคเกษตรเลย ส่วนใหญ่ของเกษตรกรเหล่านี้เป็นวัยกลางคนมีอายุระหว่าง 31-60 ปี (49 คน) โดยมีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี 21 คน ในขณะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีมีเพียง 3 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วจึงเป็นคนวัยกลางคน และส่วนข้างมากมีการศึกษาไม่เกินระดับประถม ภาพนี้จึงไม่แตกต่างไปจากความรับรู้ทั่วไปว่า เกษตรกรเป็นคนมีอายุและมีระดับการศึกษาต่ำ

ไม่ได้มีนัยยะว่า ชาวนาเหล่านี้ต้องเป็นคนจน ในทางตรงข้าม ส่วนใหญ่ของคนคลองโยงคือ ชาวนาชั้นกลางไม่ใช่รากหญ้า แต่มีลักษณะยอดหญ้าเมื่อพิจารณาจาก งบดุลของครัวเรือนต่อไปนี้คือ หนึ่ง มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนถึง 6,278 บาท ซึ่งสูงกว่าเส้นความยากจนของไทยมาก สอง มีสินทรัพย์มาก กล่าวคือ ชาวนายอดหญ้าเหล่านี้เป็นเจ้าของที่ดินโดยเฉลี่ย 14.35 ไร่ และทุกครอบครัวจะมีรถปิกอัพ 1.5 คัน และมีรถยนต์ 1.1 คัน การมีรถยนต์และรถปิกอัพถือเป็นเครื่องมือการผลิตที่สำคัญ เพราะชีวิตการทำมาหากินของคนคลองโยงไม่ได้มีลักษณะเป็นชาวนาอิสระรายย่อยที่ ผลิตข้าวแต่เพียงอย่างเดียว มีลักษณะอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำนาบัว และการผลิตพืชผัก ที่ต้องใช้รถในการขนส่งเข้าสู่ตลาด สภาพชีวิตเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านคลองโยงได้สัมพันธ์กับชีวิตในเมืองตลอดเวลา

ส่วนในด้านหนี้สิน พบว่า ชาวบ้านคลองโยงมีหนี้สินสูง กล่าวคือมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 94,375 บาท และจำนวน 50 ครอบครัวที่มีหนี้สินมากกว่าเงินออม และโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครอบครัวจะมีหนี้สินสุทธิ 49,771 บาท เมื่อพิจารณาจากงบดุลข้างต้น จึงอาจจัดได้ว่า ชาวนาคลองโยง ซึ่งมีวิถีการผลิตแบบสมัยใหม่-มุ่งตลาด (modern and market oriented) และเป็นผู้ประกอบการเกษตรขนาดเล็ก-กลาง (small-medium size entrepreneur) สภาพเช่นนี้เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การจัดตั้งสหกรณ์คลองโยงเป็นต้น มา

ช่วงหลังการจัดตั้งสหกรณ์คลองโยง ปี 2524

หลังจากการจัดสรรแปลงที่ดินทำกิน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบชลประทาน และสร้างถนนในคลองโยง ประกอบกับเทคโนโลยีในการผลิตที่มีความซับซ้อนสูงขึ้นกว่าในยุคแรก ทำให้วิถีการผลิตและวิถีชีวิตของคนคลองโยงเปลี่ยนแปลงไปมาก การทำนาในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากการทำนาในยุค ดั้งเดิม

การจัดตั้งเป็นนิคมสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยงเกิดขึ้นสมบูรณ์ในปี 2524 การจัดตั้งสหกรณ์ทำให้เกิดการจัดสรรที่ดินเป็นแปลงชัดเจน สมาชิกสหกรณ์จะได้รับที่ดินที่ถูกจัดสรรให้ครัวเรือนละ 20 ไร่ ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตไปจากเดิมมาก นาเส้นได้ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นผืนนาแบบทั่วไปแบบภาคกลางคือมีลักษณะเป็นสี่ เหลี่ยมผืนผ้า เนื่องจากสหกรณ์ ฯ ได้เข้ามาจัดสรรที่ดินในพื้นที่คลองโยงเสียใหม่ เพื่อการแบ่งที่นาให้ชาวบ้านเป็นผู้เช่ารายละประมาณ 20 ไร่ ทำให้ลักษณะของที่นาอำนวยความสะดวกในการขนย้ายปัจจัยการผลิต เอื้ออำนวยการทดน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรมากขึ้น อีกทั้งประมาณ 2 ปีหลังจากการจัดสรรที่ดินที่เสียใหม่ของสหกรณ์ ได้มีการตัดถนนเข้ามายังชุมชน ทำให้เส้นทางถนนช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับชาวนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการจัดระบบชลประทาน ทำให้วิธีการทำนาแบบนาดำถูกเปลี่ยนเป็นนาหว่าน ด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้ระบบการผลิตมีความเข้มข้นขึ้น จากการทำนาปีละหนึ่งครั้ง เป็นปีละ 2-3 ครั้ง

การเปลี่ยนแปลงการผลิตจากแบบดั้งเดิมเป็นแบบเกษตรกรรมในแบบที่เข้มข้น ขึ้น ในยุคนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงการก้าวเข้าสู่การผลิตสมัยใหม่ที่ชัดเจน เนื่องจากมีการใช้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมในการผลิตอย่างเต็มที่ และมีการนำใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงศัตรูพืช และเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและปรับปรุงผลผลิตให้มี ประสิทธิภาพมากกว่าในยุคแรก มีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ทันกับการปลูกในแต่ละครั้ง จากเดิมใช้พันธุ์ข้าวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ครั้งเดียวต่อปี เมื่อระยะการทำนาเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละสามครั้งชาวนาก็ต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ที่มีการระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่เร็วขึ้นตามไปด้วย

หลังจากมีการพัฒนาระบบคลองส่งน้ำในคลองโยง ทำให้เกษตรกรทำนาได้มากขึ้น จึงต้องมีเทคโนโลยีในการตอบสนองการทำนาที่มีความเข้มข้น เทคโนโลยีที่เข้ามาในท้องถิ่นในช่วงนี้ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำเพื่อใช้สูบน้ำเข้านา เป็นต้น และที่สำคัญการเข้ามาของเครื่องจักรที่ใช้ในการทำการเกษตร ทำให้แรงงานในการทำนาในยุคนี้มีเริ่มบทบาทลดลงบ้าง เนื่องจากการใช้รถไถแทนแรงงานควาย และหันมาใช้ลูกทุบหรือ ลูกขลุกส่วนแรงงานในการดำนายังคงใช้แรงงานผ่านระบบการเอาแรง (ลงแขก)

การมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นสะดวกขึ้นและใช้เวลาน้อยลงมาก พัฒนาการของเครื่องจักรที่เข้ามายังคลองโยงทำให้การใช้แรงงานจากควายหมดไป และในช่วงปี พ.ศ. 2522 การเข้ามาของเครื่องนวดข้าวยุคแรกที่เรียกว่ารถนวดยัดทำให้ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการนวดข้าวสามารถลดจำนวนแรงงานลงจากการใช้รถ นวด แต่ยังต้องใช้คนเกี่ยวและคนหอบข้าวเข้ามาใส่ในรถนวดข้าว กระบวนการดังกล่าวสามารถลดทั้งระยะเวลาและแรงงานในการผลิตมากกว่าการระบบการ ทำนาแบบดั้งเดิม ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีการทำนาของพวกเขาว่า

ไฟมาประมาณ ปี 26 เปลี่ยนจากนาดำ นาหว่านประมาณปี 30 เริ่มทำบัวถึงจะเริ่มทำนาหว่าน เหลือนาบ้านลุงต๊าบ (นามสมมติ) ควายบ้านเราหมดก่อน ปี 25 ลงล็อคปี 19 เริ่มเปลี่ยนแปลง เรา(ช่างยิ้ม--นามสมมติ) อายุ 15 ไม่มีควายแล้ว พ.ศ. 10 ต้นๆ ก็ไม่มีควายแล้ว จากช่วงควายหมดก็เป็นช่วงนาดำ หว่านจะไวกว่า ใช้ลูกทุบใช้รถไถ รถไถเดินตาม ถ้าหว่านบางบ้านหว่านกันสองสามคนวันเดียวก็เสร็จแล้ว รถตีดินเกิดมาประมาณ 5 ปี เครื่องนวด มีก่อนเครื่องเกี่ยว คือ ประมาณ ปี 2522 เครื่องนวดยัด ( ช่างนวยอายุ 27 ปีมีเครื่องนวด ตอนนี้อายุ 55 ) เครื่องเกี่ยว เข้ามาประมาณปี 2530 กว่า เปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่านประมาณปี 30 ก่อนนาดำ ลงแขกดำ ใช้มือดำ เครื่องนวดและรถนวดตัวเดียวกัน รถเกี่ยวสมัยบรรหาร เริ่มใช้ปุ๋ยตอนอายุประมาณ พ.ศ. 2520- 22 แต่ก่อนทำนาครั้งเดียว เริ่มทำสองครั้งประมาณ พ.ศ.2519 ตอนลงแปลงสหกรณ์ ปี 2524 เป็นนาดำก็ทำสองครั้ง ถ้าทีแรกเป็นเส้นๆทำสองครั้งไม่ได้ ใช้เครื่องจักรหลังปี 2526 ใช้ปุ๋ยปีแรกประมาณ ปี 30” ช่างยิ้ม (นามสมมติ)กล่าว

(ข้อมูลจากการเสวนากลุ่ม, วันที่ 3 พฤษภาคม 2553)

รถนวดข้าวแบบนวดยัดได้ช่วยย่นระยะเวลาในการทำนาได้มากกว่าการใช้แรงงาน ควายในการนวดข้าวหลายเท่าตัว กล่าวคือ จากใช้ระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนราวครึ่งเดือน การใช้เวลานวดข้าวจะเหลือเพียง 2- 3 วันต่อที่นา 20 ไร่ อย่างไรก็ดี รถนวดข้าวยุคแรกยังต้องใช้แรงจำนวนมากในขั้นตอนการเกี่ยวข้าว และขนหรือหอบข้าวที่แห้งบนซังข้าวมาใส่รถเกี่ยว รวมทั้ง ต้องใช้แรงงานแบกกระสอบข้าวจากนามายังรถขนข้าว (หรือเรือในช่วงแรกๆ ที่ถนนยังไม่ได้ตัดเข้ามาในหมู่บ้าน) เนื้อที่นาข้าว 20 ไร่จำเป็นต้องมีแรงงานในการนวดข้าว(ด้วยรถนวด) 15-20 คน เพราะการใช้รถเกี่ยวแบบนี้ยังต้องใช้แรงงานในการขนฟางเข้ามาใส่ในรถเกี่ยว คนยัดฟาง คนถือกระสอบ และคนมัดฟาง ต่างจากการเกี่ยวข้าวในปัจจุบันที่ไม่ใช้แรงงาน เพราะเป็นภาระของเจ้าของรถทั้งหมดและสามารถเกี่ยวข้าวจำนวน 20 ไร่ ให้เสร็จและขนไปยังโรงสีได้ภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง

การใช้รถนวดข้าวแบบเดิมได้เลิกไปในช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2530 หลังจากนั้นได้มีการนำรถเกี่ยวข้าวเข้ามาใช้แทน ซึ่งหากเปรียบเทียบการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถนวดแบบเดิมกับรถเกี่ยวแล้ว จะเห็นได้ว่าปริมาณแรงงานที่ต้องใช้กับรถนวดข้าวมีมากกว่า นอกจากนี้ การใช้รถเกี่ยวแบบใหม่ยังสามารถลดขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวมาเหลือเพียงขั้น ตอนเดียว เพราะรถเกี่ยวสามารถลงไปเกี่ยวข้าวในนาได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นข้าวเปลือกได้ใน ขั้นตอนเดียว โดยใช้คนขับคนเดียวในการเก็บเกี่ยว ดังนั้น จึงสามารถลดจำนวนแรงงาน ระยะเวลาและความยุ่งยากในการเก็บเกี่ยวได้มาก

ชาวบ้านที่มีฐานะในพื้นที่คลองโยงจะซื้อรถเกี่ยวมาจากภายนอกพื้นที่ ในระยะแรกจะซื้อมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วมารับจ้างเกี่ยว แล้วพอซื้อรถเกี่ยวมาแล้วไม่สะดวก ก็จะนำมาให้ช่างปรับแต่งให้ หลังจากมีรถเกี่ยวเข้ามาในพื้นที่ ช่างซ่อมในพื้นที่ก็ปรับตัวหันมาทำอุปกรณ์เกี่ยวกับรถเกี่ยว ซึ่งในสมัยก่อนการขนรถเกี่ยวมาให้ช่างซ่อมจะขนส่งมาทางเรือผ่านมาทางคลอง เจ๊ก ขึ้นมาซ่อมกันที่โป๊ะท่าน้ำของโรงซ่อม โดยที่ช่างซ่อมอุปกรณ์/ เครื่องจักรทางการเกษตรได้บรรยายถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจของเขาซึ่งมี ความสัมพันธ์อย่างมากกับอาชีพการทำนาว่า

ผมซ่อมเครื่องจักรทางการเกษตร รถไถ เครื่องเกี่ยวข้าวนวดข้าว ถ้าเศรษฐกิจดีพวกนี้จะเยอะ คนก็คุ้มจะซ่อม ซ่อมด้วยซื้อด้วย พอมาตอนหลังมันเกิดกับรถเกี่ยวข้าว วิถีชีวิตมันสัมพันธ์กับวิถีการผลิตด้วย ถ้ายังใช้ควายอยู่ชีวิตพี่ไม่เจริญ เจริญไม่ได้ อย่างตาใจเค้าทำนา ผมเป็นช่าง ถ้าไม่ใช้ควายก็ใช้รถไถ ผมก็ซ่อมอุปกรณ์รถไถ ผมไม่ได้ขาย ซ่อมอย่างเดียว เราอยู่กับรากหญ้า เราเลยรู้ พอรากหญ้ามันเกิดได้ อะไรมันก็เกิดช่างยิ้ม (นามสมมติ ) กล่าว

ยุคชาวนาแบบ part-time ตั้งปี 2540 – ปัจจุบัน

ในช่วงต่อมา การพัฒนาการของระบบการผลิตในพื้นที่คลองโยงที่เปลี่ยนแปลงไป สู่การผลิตโดยเครื่องจักรและการเข้ามาของเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาก ขึ้น ส่งผลให้ชาวนาทำการเกษตรได้อย่างเข้มข้นขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีการผลิตได้ทำให้การทำนาสมัยใหม่มีลักษณะเป็นแบบผู้จัดการนาและเป็นการทำนาแบบ งานไม่ประจำ” (part-time) กล่าวคือ เจ้าของนาใช้เวลาอยู่ในนาเพียงฤดูการทำนาเพียงราว 10-15 วันเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตสูงมาก ในขณะที่ราคาผลผลิตหรือการขายข้าวเปลือกมีความผันแปรเป็นอย่างมาก

โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มีการเข้ามาของเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น เครื่องเกี่ยวข้าวระบบไฮโดรลิค รถไถแทรคเตอร์ขนาดกลาง เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องเกี่ยวข้าวระบบไฮโดรลิค สามารถเกี่ยวข้าวและนวดข้าวได้ในครั้งเดียวกัน ทำให้ลดแรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ชาวนาได้ปรับแปลงนาเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี โดยการล้มหัวคันนาซึ่งเป็นแปลงเล็กๆ แบบเดิมมาสู่แปลงขนาดใหญ่ที่มีคันล้อมที่สูงพอที่จะกั้นน้ำเข้าออก และกว้างพอที่จะใช้เครื่องจักรเข้าไปสู่ผืนนาได้ และพื้นนาจะถูกปรับโดยรถแทรกเตอร์ให้หน้าดินเรียบเสมอเท่ากันเพื่อสะดวกแก่ การใช้เครื่องจักรเดินในผืนนา

พอมีรถเกี่ยวข้าวเข้ามา คิดว่ามันทำให้เกิดการทำนาหลายหนมากขึ้นเหมือนกันนะ เพราะว่ามันมี รถเกี่ยว มันทำให้ย่นระยะเวลาในการทำนา เพราะรถเกี่ยวมันเกี่ยวแล้วนวดออกมาเลย อย่าง ใน 7 วันรถเกี่ยวมันสามารถเกี่ยวได้ 50 ไร่ มันเกี่ยวหมด พอเกี่ยวแล้วก็ไม่ต้องเอาคนไปนวดอีก 7 วันเสร็จเรียบร้อย เข้าวันที่ 8 เราก็รับเงินได้เลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันไม่มีรถเกี่ยวแต่มันมีรถนวด ใช้คนเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็หอบเอามากองไว้ แล้วให้เครื่องนวดมันลากไป จากนั้นก็เอาคนมารอยัดข้าวเข้าไป ยัดเข้าไป มันก็เร็วกว่าใช้ควายนิดหนึ่งเร็วกว่าหลายเท่าตัว 2-3 วันก็นวดหมด 30 ไร่ แต่ก็ใช้คนเยอะเพราะต้องมีคนขนฟางเจ้ามา จากนั้นก็คนยัดฟาง อีกคนถือกระสอบ อีกคนรองกระสอบ คนยัดฟางเข้ามา คนมัดอีก แต่ถ้าเป็นรถเกี่ยวมันจะเร็วกว่านั้นเพราะว่า มีคนเกี่ยวคนเดียวแล้วคนรองกระสอบอีก 4 คน แต่ตอนนี้ก็มีพัฒนาไปอีกมันเกี่ยวคนเดียวเลยเพราะมันเกี่ยวใส่ในฉางของมัน บรรทุกได้สองเกวียน แล้วมันก็ค่อยวิ่งไปชายถนนแล้วก็เอาข้าวเทใส่ไซโลแล้วใส่รถ 10 ล้อมันเลย แล้วมันก็วิ่งไปเกี่ยวใหม่ทำให้เร็ว ช่างยิ้ม กล่าว

ช่างยิ้ม กล่าวว่าตนเองนั้นเป็นคนแรก ๆ ที่บุกเบิกให้มีการนำเครื่องยนต์ไฮโดรลิคเข้ามาใช้ในการทำการเกษตร เนื่องจากช่างอำนวยเป็นช่างคนแรกในคลองโยงซึ่งมีความสามารถที่จะซ่อมเครื่อง ยนต์ในระบบไฮโดรลิคได้ ทำให้การใช้เครื่องเกี่ยวข้าว นวดข้าวแบบไฮโดรลิคได้พัฒนาและนำมาใช้มากขึ้นในการทำการเกษตร

ทำไปทำมามันเกิดเครื่องเกี่ยวข้าวขึ้นมา แต่มันยังมีระบบธรรมดาอยู่ พอเรามีความรู้เรื่องระบบไฮโตรลิก เราก็เอาระบบไฮโดรลิกเข้ามาใส่เอาไว้ให้มันเดินได้ เพราะเรามีความรู้เรื่องนี้จากเรือขุดแร่ที่เราเคยซ่อม เราเอาระบบเรือขุดแร่มาทำใส่รถเกี่ยวข้าวเราเป็นผู้ออกแบบตัวนี้ให้กับ ประเทศไทย เราเราเป็นผู้คิดระบบเดินของเครื่องเกี่ยวข้าวนี้เอง พอเราใส่เข้าไปคนรู้จักก็จริงแต่ก็ซ่อมไม่เป็น เสียก็ต้องมาซ่อมที่เรา คนอื่นรู้จักไหมก็รู้จักแต่เขาไม่เคยซ่อม ทำให้เวลามีรถที่ซื้อมาแล้ว เขาก็ให้เราเอาระบบนี้ใส่เข้าไป ทำให้คนรู้จักเราไปเรื่อย ๆ...

เครื่องจักรช่วยให้ทำการเกษตรได้สะดวกรวดเร็ว อีกทั้งเครื่องดำนายังช่วยให้ชาวนาดำนาได้เสร็จเร็วขึ้น และไม่ต้องใช้วิธีลงแขกในการขอแรงเพื่อนบ้านเพื่อมาช่วยดำนา ส่วนการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงถึงแม้จะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหลายครั้งในการทำนาครั้ง หนึ่งๆ แต่เมื่อมีเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงทำให้ฉีดพ่นยาได้เร็วโดยอาศัยแรงงานคนที่ น้อยลง การที่รถเกี่ยวข้าวแบบเครื่องนวด รวมถึงเครื่องจักรที่ทันสมัยต่างๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จึงมีบทบาทมากในการทำนาของชาวนาในพื้นที่คลองโยง นอกจากจะช่วยให้มีความสะดวกและรวดเร็วในการทำการเกษตรแล้ว ยังทำให้ชาวนาผลิตข้าวมากขึ้น ชาวนาบางรายทำนาปีละ 3 ครั้ง การทำนาจึงไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติอีกต่อไป ชาวนาสามารถกำหนดช่วงเวลาในการไถว่านเพื่อทำนาได้ด้วยตนเอง หรือแม้แต่การแบ่งที่นาเป็นส่วนๆ เพื่อทำการเกษตรอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันก็ยังสามารถทำได้ เมื่อชาวนาในปัจจุบันมีช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำนานานขึ้น ทำให้ชาวนาหันไปประกอบอาชีพอื่นๆได้ด้วยเพื่อเป็นการเสริมรายได้จากการทำนา อย่างเดียว เช่น นาบัว สวนผัก (ผักชีฝรั่ง แตงกวา ถั่วฝักยาว ตระไคร้ ฯลฯ) เลี้ยงปลา สวนผลไม้ (ส้มโอ กล้วยหอม ฝรั่ง ฯลฯ) และการเข้าไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจากบ้านคลองโยงชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรที่นี้มีวิถีการผลิตแบบสมัยใหม่-มุ่งตลาด (modern and market oriented) เป็นผู้ประกอบการเกษตรขนาดเล็ก-กลาง (small-medium size entrepreneur) เขาไม่ใช่เป็นชาวนา (peasant) แบบในอดีต ที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคเองเป็นหลัก และ/หรือใช้เทคนิกแบบเก่าที่ใช้แรงงานเข้มข้น แต่เป็นการผลิตเพื่อตลาด และใช้ทุนเข้มข้น การตัดสินทั้งด้านการผลิตและการตลาดเป็นการตัดสินใจเชิงธุรกิจ ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านราคาขาย ด้านต้นทุนการผลิต แบบเดียวกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอื่นๆ นอกภาคเกษตร ดังนั้น ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมหภาคย่อมส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ คนที่นี่เช่นกัน ในแง่นี้แล้ว ชาวนา-ชาวสวนคลองโยงก็มีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากผู้ประกอบการภาคอื่นในเขตเมือง นอกจากนี้แล้ว แม้ว่าภาคเกษตรจะยังคงมีความสำคัญอยู่มาก แต่ความสำคัญของเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ผู้คนในพื้นที่นี้มีอาชีพที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ ย่อมทำให้การวิเคราะห์แบบแบ่งขั้ว-แยกข้างระหว่างเมืองกับชนบทำไม่สามารถ เข้าใจสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปนี้ได้

แน่นอนว่า คลองโยงมิใช่ตัวแทนของหมู่บ้านชนบททั้งหมด แต่ก็มิใช่กรณียกเว้น แม้ว่าหมู่บ้านคลองโยงมีสภาพแตกต่างกับกับงานวิจัยเศรษฐกิจสังคมหมู่บ้านใน รอบสิบปีที่ผ่านมาอยู่บ้าง เช่น Rigg and Sakunee (2001) ซึ่งศึกษาตำบลทุ่งสโดค” (Thung Sadok) ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และ Rigg (et.al., 2008) ซึ่งวิจัยสองหมู่บ้านในตำบล Khan Haam อำเภออุทัย จังหวัดอยุธยา แต่สิ่งที่คลองโยงเหมือนกับงานทั้งสองชิ้นนี้คือ วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของคลองโยง ซึ่งเป็นการผลิตแบบสมัยใหม่-มุ่งตลาด (modern and market oriented) และมีวิถีชีวิตแบบ ยืนสองขาทั้งในและนอกภาคเกษตรมากขึ้น อันมีรายละเอียดต่อไปนี้

งานของ Rigg and Sakunee (2001) สรุปว่า ในทุ่งสโดค ซึ่งภายนอกเป็นผืนนาชลประทานและที่สวนนั้น วิถีชีวิต (livelihood) แบบยืนสองขาระหว่างเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตร ซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดโลก กลายเป็นแบบวิถีหลัก เอาเข้าจริงแล้ว เศรษฐกิจของพื้นที่นี้ขึ้นกับกิจกรรมนอกภาคเกษตร นับตั้งแต่งานโรงงานในนิคมลำพูน การทำดอกไม้ประดิษฐ์ ทอเสื่อ มากกว่าการเกษตร และแม้แต่ในครอบครัวที่ทำการเกษตรอย่างเดียว ซึ่งมีอยู่น้อยรายมาก เช่นในกรณีของนายอุทิศ เขาเช่าที่นาแปดไร่เพื่อการปลูกข้าวสองรอบ และปลูกหัวหอมอีกหนึ่งรอบในหนึ่งปี การตัดสินใจผลิตก็เป็นการตัตสินใจเชิงธุรกิจล้วนๆ แม้แต่ข้าวนาปีที่ปลูกก็มิได้เก็บไว้กินเองเลย การเอาแรงซึ่งกันและกันแม้ว่ายังคงอยู่ แต่ก็เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ตกค้างจากอดีตเท่านั้น (p.949) ยิ่งไปกว่านั้น 10% ของพื้นที่ปลูกข้าวในตำบลก็เป็นการผลิตแบบพันธะสัญญา ปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่นเพื่อนำไปทำเหล้าสาเก (p.950) ในแง่นี้จึงยากมากที่จะจัดครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งว่า มีวิถีชีวิตแบบเมือง หรือชนบท เพราะว่าในครอบครัวหนึ่งนั้น พ่ออาจจะทำนาในหมู่บ้าน แม่นั่งทำดอกไม้ประดิษฐ์ที่บ้าน ในขณะที่ลูกๆ ทำงานในโรงงานที่ลำพูน ชีวิตในครอบครัวนี้จึงก้าวข้ามทั้งสาขาเศรษฐกิจ (sectoral) และพื้นที่กายภาพ (spatial) แต่ทั้งหมดใช้ชีวิตในหมู่บ้านชนบท

ส่วน Rigg, (et.al., 2008) พบว่า วิถีชีวิตของสองหมู่บ้านในจังหวัดอยุธยานั้น มิใช่สังคมเกษตรกรรมเลย ทั้งๆที่ในทศวรรษ 2503-2513 ทั้งสองแห่งเป็นภาพตัวแทนสังคมชาวนาแบบดั่งเดิม ดูได้จากตัวเลขที่ระบุว่า 98% และเกือบ 100% ของประชากรในสองหมู่บ้านนี้ ถ้าไม่เป็นนักเรียนก็มีอาชีพนอกภาคเกษตร ยิ่งไปกว่าวิถีการผลิต วิถีชีวิตแบบ สมัยใหม่ทั้งในแง่ ความอยากได้ใคร่มี ความหวัง-การคาดฝัน (aspiration) ปทัศสถาน (norm) ความคาดหวัง (expectations) และมุมมอง (outlook) ซึ่งเชื่อมโยงและไม่ต่างจากสังคมเมืองใหญ่ ได้เข้าแทนที่วิถีแบบเก่าโดยสิ้นเชิง ในแง่นี้แล้ว สังคมหมู่บ้าน ในฐานะชุมชนแบบในอดีต จึงระเหดเหยไปหมดแล้ว

จากสภาพของพื้นที่ทั้งสามแห่งข้างต้น สิ่งหนึ่งที่สรุปได้คือ การวิเคราะห์แบบแบ่งขั้ว-แยกข้างระหว่างเมือง-นอกภาคเกษตร กับชนบทเกษตรกรรม ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อสังคมศาสตร์ไทยมาระยะหนึ่ง น่าจะหมดภาระกิจทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ใครคือคนเสื้อเหลือง/แดงแห่งบางคลองโยง

หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว จะเห็นได้ว่าคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองในคลองโยงไม่ได้มีฐานสินทรัพย์ที่ แตกต่างกัน กล่าวคือทั้งสองกลุ่มเป็นเจ้าของที่ดินและยานพาหนะในจำนวนเท่าๆกัน ถึงแม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเสื้อเหลืองจะเป็นเจ้าของรถกระบะมากกว่าเล็กน้อยก็ ตาม คนเสื้อแดงมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินโดยเฉลี่ย 14.93 ไร่ต่อครัวเรือน ส่วนคนเสื้อเหลืองนั้นมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินโดยเฉลี่ย 12.46 ไร่ต่อครัวเรือน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สรุปได้จากการทำแบบสอบถามที่คลองช้างก็คือคนเสื้อแดงโดย เฉลี่ยแล้วจะทำธุรกรรมทางการเงินที่มีขนาดเล็กกว่าคนเสื้อเหลือง แต่มีภาระหนี้ที่หนักกว่า เมื่อกล่าวถึงรายได้ คนเสื้อแดงโดยเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าคนเสื้อเหลืองคือ ประมาณ 5,195 บาทค่อตนต่อเดือนและ 11,849 ต่อคนต่อเดือนตามลำดับ ส่วนในแง่ของเงินกู้ คนเสื้อแดงเป็นหนี้โดยเฉลี่ยน้อยกว่าคนเสื้อเหลืองเช่นกันคือประมาณ 85,200 บาทต่อครัวเรือนและ 135,231 บาทต่อครัวเรือนตามลำดับ แต่ถึงแม้ว่าทั้งรายได้และเงินกู้ของคนเสื้อแดงจะน้อยกว่าก็ตาม สัดส่วนของเงินกู้ต่อรายได้ครัวเรือนของคนเสื้อแดงก็ยังสูงกว่า (5.6 เท่า) ในขณะที่ สัดส่วนเงินกู้ต่อรายได้ของคนเสื้อเหลืองคือ 4.9 เท่า แสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงรับภาระหนี้มากกว่าคนเสื้อเหลือง ในแง่นี้แล้ว สรุปได้ว่า ทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงบ้านนี้ไม่ใช่คนจน แต่คนเสื้อเหลืองจะมีฐานะดีกว่าคนเสื้อแดง ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ แหล่งรายได้ของคนเสื้อเหลืองจากนอกภาคการเกษตรจะมีมากกว่าเสื้อแดงเล็กน้อย พิจารณาได้จากการที่คนเสื้อเหลือง 28% มีสัดส่วนของรายได้เกษตรต่อรายได้รวมน้อยกว่า 40% ในขณะที่คนเสื้อแดงมีเพียง 24%

ผลการสนทนากลุ่มจังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ และอุบลราชธานี

คนเสื้อเหลืองที่เราพูดคุยด้วยในทั้งสามจังหวัด มักเป็นผู้ที่มีรายได้สม่ำเสมอ หรือเป็นเงินเดือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นข้าราชการครู-อาจารย์ (นครปฐม เชียงใหม่ และอุบล) พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน-นักวิชาชีพ (อุบล) นักพัฒนา (NGO เชียงใหม่) แต่เป็นเกษตรกรก็มี (นครปฐม) ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า มักมีฐานะดี เช่นรายหนึ่งเคยเป็นผู้จัดการธนาคาร ปัจจุบันเปิดบริษัทสอบบัญชี และเป็นประธานโรตารี่จังหวัด อีกสองราย แม้เป็นเกษตรก็มีฐานะพอส่งเสียลูกๆ จนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำขอรัฐได้

คนเสื้อแดงที่เข้าร่วมในการสนทนากลุ่มย่อยส่วนใหญ่ทำการผลิตเพื่อตลาด หรือการค้าทั้งในและนอกภาคการเกษตร แต่ขาดความมั่นคงทางรายได้ แม้ว่าหลายคนจะมีกิจการของตนเองก็ตาม เนื่องจากเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน บางครั้งก็ขาดทุน ส่วนน้อยเป็นข้าราชการ หรือมีเงินเดือนประจำ

เกือบทั้งหมดของเสื้อแดงนครปฐมที่พูดคุยด้วยทำนาข้าว และ/หรือนาบัว เสริมด้วยการปลูกผักชีฝรั่งด้วยวิถีการเกษตรแผนใหม่ นาข้าวทั้งหมดเป็นนาหว่านในเขตชลประทาน ใช้พันธุ์ข้าวสมัยใหม่ (เลิกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง-นาปีตั้งแต่พ.ศ. 2517-18) ใช้เครื่องจักรในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เตรียมดิน พ่นข้าว ฉีดปุ๋ย ตลอดจนใช้รถเกี่ยวข้าว ขายผลผลิตทุกเมล็ด และซื้อข้าวสารบริโภค ส่วนผู้ทำนาบัวและปลูกผักชีนั้น มีทั้งที่ปลูกขายส่งอย่างเดียว และนำมาขายเองที่ปากคลองตลาด เช่นกรณีของนายสมใจ ส่วนนายอำนวยนั้นเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรการเกษตร เปิดอู่บริการของตนเอง

เมื่อถามว่า ให้จัดลำดับชั้นทางเศรษฐกิจของตนเอง หากให้แบ่งทั้งหมดออกเป็นห้าชั้น โดยชั้นที่หนึ่งจนที่สุด และชั้นห้ารวยที่สุด เกือบทั้งหมดตอบว่าตนอยู่ในชั้นที่สอง ยกเว้นอำนวยคนเดียวที่ยอมรับว่าตนอยู่ชั้นที่สาม ไม่มีใครเลยที่จัดว่าตนอยู่ในชั้นที่หนึ่ง

คนเสื้อแดงอุบลที่พูดคุยด้วยมีความหลากหลายในแง่อาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ กว่านครปฐม แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ไม่มีผู้ใดเลยที่มีรายได้ประจำ หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน นับตั้งแต่เกตุสุรีและนงคราน ซึ่งเป็นเกษตรกร คนแรกปลูกไม้ตัดดอก เลี้ยงวัว เลี้ยงเป็ด และขายก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้าน คนหลังปลูกยาง ดอกไม้ และขายเองในตลาด ส่วนเสาวคนเป็นแม่บ้านขายน้ำข้าวโพดเป็นอาชีพเสริม ในขณะที่นายผลเปิดร้านขายเครื่องไฟฟ้าและจานดาวเทียมในตัวเมืองอุบล ส่วนนายน้อยทำธุรกิจรับเหมา-ประมูลงานภาครัฐ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี

เสื้อแดงเชียงใหม่ มีความแตกต่างมากทั้งด้านอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่เกษตรกร (นา สวน) นักธุรกิจ (โรงแรมและร้านอาหาร รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของบ้านเช่า) นักการเมืองท้องถิ่นในเวียง ช่างทอง (เจ้าของร้านห้องแถว) นักพัฒนาและนักกิจกรรม (NGO, DJ วิทยุชุมชน) ข้าราชการบำนาญ (เจ้าของร้านของชำ) ข้าราชการระดับล่าง (ตำรวจ ทหาร สรรพากร) ลูกจ้างร้านอาหาร หมอนวดแผนโบราณ รับจ้างทั่วไป (รายได้ไม่แน่นอน) คนงานโรงงาน (อดีตพ่อค้าตลาดนัด)

แม้ว่าคนเสื้อแดง-เสื้อเหลืองทั้งหมดที่เราได้พูดคุยด้วยนั้น จะมีความหลากหลาย-แตกต่างทั้งด้านอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่พอสรุปได้มีดังนี้

โดยรวมแล้ว ฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาของคนเสื้อเหลืองจะสูงกว่า และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่นมีเงินเดือนประจำ เป็นนักวิชาชีพ หรือมีธุรกิจที่มั่นคงแล้ว และน่าสนใจว่า ไม่มีตัวอย่างเสื้อเหลืองคนใดเลยที่มีฐานะต่ำกว่าคนชั้นกลาง ในขณะที่ส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดงจะมีกระแสรายได้ที่ผันผวน ขึ้นกับผลผลิต ภาวะการค้า และปริมาณงานที่รับจ้าง ตัวอย่างเช่นอดีตพ่อค้าขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำงานโรงงานก่อนที่จะลาออกมาค้าขาย เคยผ่อนรถกระบะมาทำการค้า แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่ลงจึงขาดทุน รถถูกยึด และต้องกลับไปทำงานโรงงานเช่นเดิม มีเสื้อแดงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเงินเดือนประจำ แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงข้าราชการระดับล่าง หรือเป็นนักพัฒนาซึ่งมีเงินเดือนระดับไม่สูง อย่างไรก็ตามจากการสังเกตุ ไม่มีผู้ใดเป็น คนจนในระดับที่เป็นผู้ยากจนใต้เส้นความยากจนของทางการเลย ตัวอย่างเช่น สามสาวจากจังหวัดเชียงใหม่ผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไปในเขตชานเมือง ซึ่งเป็นคนจนที่สุดในหมู่คนที่เราพูดคุยด้วย และจัดตัวเองอยู่ในชนชั้นที่จนที่สุดของสังคมไทยนั้น ปัจจุบันก็มีรายได้หลายพันบาทต่อเดือน ส่วนในช่วงเศรษฐกิจดีมีรายได้เกือบสองหมื่นบาท หรือในกรณีของหมอนวด (ชาย) ก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่า ไม่มีคนรวยเป็นคนเสื้อแดง จากตัวอย่างทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และอุบล เสื้อแดงหลายรายเป็นนักธุรกิจ ทั้งรับเหมาก่อสร้าง เจ้าของบ้านเช่า เจ้าของโรงแรม

ข้อมูลจากแบบสอบถาม

จากการประมวลผลการตอบแบบสอบถาม 99 ชุดที่ได้สุ่มจากหมู่บ้านคลองโยง (73 ชุด) และพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย (26 ชุด) พบว่า ในแง่ของเศรษฐกิจสังคมเราพบว่า คนเสื้อแดงที่ตอบแบบสอบถามนั้นมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพทางการเกษตร และรับจ้าง(นอกระบบมากกว่า) คนเสื้อเหลือง

จากที่ได้บรรยายข้างต้น ข้อมูลของเราสอดคล้องกับสมมติฐานของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่เสนอว่าฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยคือมวลชนไร้การจัดตั้งจากภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ” (unorganized informal mass) ซึ่งประกอบด้วยสองกลุ่มย่อยคือ แรงงานจากภาคการเกษตรและแรงงานนอกระบบซึ่งคิดรวมเป็น 67% ของประชากรไทยในปี 2547 แต่สิ่งที่เราพบอาจจะแตกต่างตรงที่ว่าไม่ใช่ทั้งหมดของมวลชนไร้การจัดตั้ง กลุ่มนี้จะเป็นเสื้อแดง ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของพวกเขาจะเป็นก็ตาม

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:

ราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ ๑o / ๒๕๕๓ จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมือง ?” (สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 18-7-2553)
http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1980:-o-ooo-oo-&catid=32:rachdmenin-talk&Itemid=25

เปิดผลวิจัย "ใครคือคนเสื้อเหลือง/เสื้อแดง" (อภิชาติ สถิตนิรามัย และคณะ, มติชนออนไลน์, 18-7-2553)
http://matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1279434966&grpid=01&catid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น