Wed, 2010-07-21 23:06
แปลโดย ภัควดี ไม่มีนามสกุล (ในฐานะแฟนคลับของจอห์น วิญญู)
แปลจาก ONSIRI PRAVATTIYAGUL, “Building an inquisitive nation: - Interview with John Winyoo,” Bangkok Post: http://m.bangkokpost.com/articlelifedetail.php?channel=5&articleID=186131
Published: 14/07/2010 at 12:00 AM
[img]http://img196.imageshack.us/img196/2894/johntb.jpg[/img]
วิญญู “จอห์น” วงศ์สุรวัฒน์ ไม่ใช่หนุ่มลูกครึ่งหน้าตาคมคายแบบที่คุณเห็นทั่วไป
ภายใต้หน้าตาหล่อคมแบบพิมพ์นิยมขวัญใจวัยรุ่นและพิธีกรรายการทีวีที่สนุก สนานเฮฮา ลึกลงไปภายใต้เปลือกนอกนั้นคือ นายวิญญู นักล้อเลียนเสียดสีการเมืองและสังคม รายการทีวีทางอินเทอร์เน็ตสถานี iHere TV ของเขามีรายการที่หลากหลาย และมีอะไรมากกว่าความจำเจซ้ำซากและเสียงที่ถูกอุดปากไว้ของฟรีทีวี
รายการ “เจาะข่าวตื้น” และ “เก้าอี้เสริม” ซึ่งเป็นผลผลิตจากมันสมองของวิญญู พี่สาวและเพื่อนพ้อง เป็นรายการที่พูดถึงประเด็นปัญหาที่ซีเรียสจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมไปจนถึงปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่กำลังท้าทายสังคมอยู่ในขณะนั้น วิญญูทำหน้าที่พิธีกรด้วยตัวเอง รายการออนไลน์นี้นำเสนอข่าวร้อนที่กำลังฮ็อตในประเทศไทยด้วยการขยายภาพให้ เห็นชัดเจนขึ้น เหมือนเรามองผ่านกล้องส่องทางไกลที่มีแง่มุมของการวิเคราะห์วิจารณ์ แน่นอน ฟังดูอาจไม่ลึกซึ้งเหมือนพวกรายการคุยข่าวประเภทเดียวกันทั้งหลายที่ชอบอ้าง ว่า “เจาะลึกอัดแน่นไปด้วยข้อมูล” แต่เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดแบบฟรีทีวี สถานี iHere TV จึงสามารถแสดงความคิดเห็นที่ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีได้อย่างตรงไปตรงมาสม ราคาคุย
รายการ “เจาะข่าวตื้น” ที่มีสโลแกนหลักว่า “ดูถูกสติปัญญา” ถึงขนาดถูกนำไปเปรียบเทียบกับรายการ The Daily Show ของ Jon Stewart ทั้งยังได้รับคำชมว่าคมกริบแสบสันต์กว่าด้วยซ้ำ รายการนี้จึงมีแฟนคลับติดตามรับชมเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนกีฬาสี ความอีนุงตุงนังของโอ-เน็ท การเก็บภาษี การกระจายรายได้ ข่าวฉาวเกี่ยวกับจีที-200 และพฤติกรรมไร้สาระของตระกูลนักการเมือง วิญญูนำเสนอประเด็นเหล่านี้อย่างเสียดเย้ย อารมณ์ขันเจ็บ ๆ กวน ๆ คมคายและทะลึ่งเล็กน้อยพองาม การหยิบประเด็นของเขาในตอน “เจาะวันกีฬาสีเหลืองแดง” ทั้งกระชับและน่าขัน แต่ก็เต็มไปด้วยข้อคิดให้เก็บไปขบ เขาเป็นคนบัญญัติคำว่า “คนเสื้อแพง” ไว้เรียกกลุ่มคนที่สนใจแต่ความสะดวกสบายของตัวเอง และคำ ๆ นี้ฮิตกระจายเหมือนไฟลามทุ่ง
ล่วงเข้าปีที่สาม ยอดคลิกคนดูของช่อง iHere TV พุ่งพรวดจากหลักพันไปเป็นสี่ล้านคนในเดือนนี้ สไตล์การนำเสนอและการหยอดคำพูดเสียดสีของวิญญูมีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จ อย่างล้มหลามของรายการ “เจาะข่าวตื้น” ทางอินเทอร์เน็ต พิธีกรวัย 25 ปีคนนี้ไม่ได้เสนอความคิดเห็นแบบตรง ๆ ทื่อ ๆ แต่ใช้การแฝงนัยยะอย่างมีศิลปะพร้อม ๆ กับสร้างเสียงหัวเราะงอหาย หากมองอย่างผิวเผิน รายการนี้ก็ดูสนุกเฉย ๆ แต่หากตั้งใจดูอีกนิด ผู้ชมจะตระหนักทันทีว่า มันต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความเข้าใจและมีข้อมูลอย่างดี จึงจะสามารถสื่อสาระที่ซีเรียสออกมาได้ตลกโปกฮาขนาดนี้ วิญญูเป็นคนที่สร้างความสมดุลได้พอดิบพอดีระหว่างความเป็นปัญญาชนและการเข้า ใจได้ง่าย ในขณะเดียวกันก็ติดดินด้วย
“ทั้งหมดเป็นเรื่องของการตั้งคำถาม ในประเทศไทยนี้ เรามักยอมรับหลายสิ่งหลายอย่างโดยไม่ตั้งคำถาม เรามักปล่อยให้เรื่องที่น่าสงสัยหลาย ๆ อย่างกลายเป็นบรรทัดฐาน....เป็นเรื่องที่เรายอม ๆ กันไปอยู่ ๆ กับมันไป เป้าหมายของเราคือการทำให้คนดูตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น” วิญญูกล่าว
ตรงกันข้ามกับการพูดรัวเร็วในช่องทีวีอินเทอร์เน็ต บุคลิกร่าเริงตลกขบขันในรายการทีวีและรายการวิทยุที่ 91.5 Hot FM ที่จัดตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วิญญูตัวจริง ๆ พูดจามีจังหวะจะโคนช้ากว่าและคิดใคร่ครวญก่อนพูดออกมา เขาดูเป็นคนนิ่ง ๆ และเลือกคำพูดอย่างระมัดระวัง พร้อมกับหยอดคำคมอย่างมีอารมณ์ขันเป็นครั้งคราว หน้าตาหล่อ ๆ ของวิญญูยังไม่น่าประทับใจเท่ากับความฉลาดเฉียบคมของเขา โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นเดียวกันที่ทำงานในแวดวงเดียวกัน ถึงเขาจะพูดจาโผงผางบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเขาข่มคนอื่นเหมือนพวกปัญญาชนจอมปลอมที่ ชอบวางมาด
เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ดีพร้อม มีคุณพ่อคุณแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คอยดูแลอย่างใกล้ชิดและอบรมขัดเกลาลูกทั้งสี่คน ทั้งในด้านวิชาการ สติปัญญาและสุนทรียะ วิญญูเป็นลูกคนสุดท้อง
คุณพ่อของวิญญู ดร.โกวิท สอนที่คณะรัฐศาสตร์และเขียนบทความให้สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำหลายแห่ง ส่วนคุณแม่ชาวอเมริกันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นผู้บ่มเพาะความรู้ด้านสุนทรียศาสตร์แก่วิญญูที่บ้าน พี่ของวิญญูสองคนสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และสถาบันเอไอที ส่วนพี่สาวคนโตสุดของวิญญู (จรรยา วงศ์สุรวัฒน์) คือผู้ก่อตั้งบริษัท Cotton Bud (Digital Soundlab) ซึ่งเปรียบเสมือนสปริงบอร์ดให้แก่บริษัท Helipad ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ iHere TV นั่นเอง
คุณพ่อคุณแม่ของวิญญูเลือกส่งเขาให้เรียนและเติบโตในโรงเรียนไทย แต่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักประจำบ้านเสมอ
“ผมดีใจที่ผมได้เรียนในโรงเรียนไทย มันไม่เหมือนสังคมของโรงเรียนนานาชาติที่อู้ฟู่กว่ามาก ผมคิดว่าผมได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างสมดุลดีมาก อย่างที่คนพูดกันว่า ได้รับส่วนที่ดีที่สุดของทั้งสองโลก คุณพ่อเข้มงวดมากในเรื่องการเรียน และคุณพ่อคุณแม่ก็ให้เวลาในการให้ความรู้แก่เราอย่างจริงจัง ทุกปิดเทอมใหญ่ ผมต้องอยู่บ้านเพื่อศึกษารัฐธรรมนูญหรือพระไตรปิฎก ผมเติบโตมาในครอบครัวที่เป็นนักวิชาการมาก และได้รับการส่งเสริมตลอดเวลาในเรื่องของการคิดต่าง การมีความคิดเป็นของตัวเอง” เขาเล่า
แมวมองที่กำลังมองหานายแบบไปเจอวิญญูตอนเขาอยู่ ม.4 เขาเริ่มต้นด้วยการแสดงผาดโผนในหนังโฆษณา (advertising stunts?) แต่คุณพ่อคุณแม่กลับไม่ค่อยดีใจสักเท่าไร คุณพ่อของวิญญูเห็นว่า ลูกชายควรใช้เวลาทบทวนเนื้อหาที่เรียนในโรงเรียนมากกว่า ส่วนคุณแม่ก็ไม่สบายใจและเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกชาย
แต่วิญญูก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การเรียนของเขาไม่ได้รับผลกระทบจากงานนายแบบแต่อย่างใด และเงินรายได้ที่ได้มาก็ใช้ไปกับการดูแลตัวเอง หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย เขาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เอกการแสดงและกำกับการแสดง แต่ระหว่างเรียนชั้นปีที่สอง เขาก็ตัดสินใจลาออกด้วยความรู้สึกอึดอัดและสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงแทน
“ผมเพียงแค่รู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เลย และความที่ผมมีความสนใจทางด้านการเมืองมาตั้งแต่ยังเด็ก ผมอยากรู้เสมอมาว่า คนบางกลุ่มฉวยประโยชน์จากช่องโหว่ [ทางกฎหมาย] และเอาเปรียบสังคมอย่างไร” เขากล่าว
ในไม่ช้า วิญญูก็ค้นพบว่า อาชีพที่เขาถนัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พิธีกรรายการทีวี
เขาทำงานเป็นพิธีกรรายการทีวีหลายรายการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รายการ “Wake Club” และ “IT Centre” ไปจนถึงรายการ “
“ถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังติดภาพของการเป็นพรีเซนเตอร์รายการทีวีวัยรุ่น และนั่นคงเป็นจุดจบของอาชีพในวงการบันเทิงของผม แต่พอดีตอนนั้นเอง พี่สาวของผมตั้งบริษัทผลิตรายการเล็ก ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ พี่รู้สึกว่าบริษัทมีศักยภาพพอที่จะขยายไปในด้านอื่น ๆ ตอนแรกเราคิดว่า เราจะลองผลิตรายการสำหรับฟรีทีวี แต่พอมาคิดดูแล้ว มันต้องใช้เงินลงทุนสูงเกินไป ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เราอยากทำสิ่งที่เราอยากทำโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดมากด้วย
“ดังนั้นจึงมาลงเอยที่รายการทีวีออนไลน์” เขาอธิบาย
หลังจากเปิดตัวเมื่อสามปีก่อน iHere TV ผลิตรายการหลากหลาย นับตั้งแต่รายการทำอาหาร “iCook” ไปจนถึงรายการ “Good English with Momay” อย่างไรก็ตาม รายการเสียดสีและตลกแสบแบบ “เจาะข่าวตื้น” นี่แหละที่เป็นตัวผลักดันสถานี iHere และวิญญูขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
“เราเริ่มต้นอย่างไม่มีทิศทาง มันเป็นการลองผิดลองถูกมากกว่า จนกระทั่งปลายปีที่แล้วนี่แหละที่เรารู้สึกว่าเริ่มจับทางถูกแล้ว ตอนนี้ทุกรายการมีเอกลักษณ์ชัดเจนและเราจับกลุ่มผู้ชมที่เป็นเป้าหมาย ได้.....เรารู้แล้วว่าผู้ชมต้องการอะไรจากเรา” เขากล่าว
“สำหรับเจาะข่าวตื้น เราไม่ได้อยากให้มันตลกขนาดนั้น แต่ผมเดาว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณเสียดสีมาก ๆ มันก็จะกลายเป็นตลกร้าย ผมคิดว่าเสียงหัวเราะ [ที่เราได้รับ] เป็นเหมือนโบนัสพิเศษ เราเริ่มต้นด้วยความอยากจะเสียดสีและจิกกัดประเด็นทางการเมืองและสังคมหลาย ๆ ประเด็นที่ไม่เคยถูกแก้ไขหรือถูกมองข้ามไปในประเทศไทย บางทีอาจเป็นบุคลิกแบบคนไทยที่ยอมอะไรง่าย ๆ แต่เราควรเริ่มต้นตั้งคำถามกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเสียที ทำไมเราต้องทนกับนักการเมืองโกง ๆ? เกิดอะไรขึ้นกับเงินภาษีของเรา? รัฐบาลถลุงใช้เงินที่เราอุตส่าห์หามาอย่างเหนื่อยยากอย่างไร?”
วิญญูรู้สึกผิดหวังกับสื่อมวลชนไทยในปัจจุบันด้วย เขารู้สึกอย่างรุนแรงว่า สิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์ “เจาะลึก” ที่สื่อเสนอนั้น ยังไม่ลึกพอและไม่เคยตั้งคำถามที่ควรถามอย่างจริงจัง
“เวลาที่คุณดูรายการข่าว มันเหมือนพวกเขาทำรายการไปตามวาระซ่อนเร้นของตัวเอง พูดถึงอะไรก็ได้ที่อยากพูด บางทีมันรู้สึกเหมือนโฆษณาชวนเชื่อทางโทรทัศน์มากกว่า”
ถ้าเช่นนั้น เขาคิดอย่างไรกับ “การปฏิรูปสื่อ”? มันเป็นแค่การประโคมข่าวให้หวือหวา? ประเทศไทยจะไปถึงเป้าหมายได้บ้างไหม?
“ตราบเท่าที่สื่อยังไม่เป็นอิสระจากรัฐอย่างแท้จริง แล้วจะปฏิรูปสื่อไปเพื่ออะไร? เพราะคนที่อยู่ในอำนาจก็คนกลุ่มเดิม คนที่สั่งเซนเซอร์ก็คนกลุ่มเดิม มันก็คนหน้าเก่า ๆ เดิม ๆ นั่นแหละ คำว่าเสรีภาพของสื่อ มันก็แค่คำพูดที่มีตัวอักษรหลายตัวแค่นั้นเอง
“แล้วพอคนที่มีอำนาจทะเลาะกันผ่านสื่อ ก็ไม่เห็นมีใครได้ประโยชน์ แล้วก็มีเรื่องเซเลบบางคนไปพัวพันรักสามเส้ากับหนุ่มเกย์ลงเป็นข่าวหน้า หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ที่ไหนสักแห่งในประเทศไทย อาจมีป้าแก่ ๆ คนหนึ่งกำลังจะสูญเสียบ้านเพราะช่องโหว่ทางกฎหมายบางอย่าง อะไรสำคัญกว่ากันล่ะ?”
แฟนขาประจำของรายการ “เจาะข่าวตื้น” กลับได้รับสาระมากกว่า เพราะรายการนี้นำเสนอมากกว่ามุกตลกจำเจ มันกระตุ้นให้คนคิดและแจกแจงประเด็นปัญหาในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ในขณะเดียวกันก็พยายามไม่ทำให้ปัญหานั้นกลายเป็นเรื่องหยาบตื้นเกินไปเหมือน อย่างที่พวกสื่อกระแสหลักชอบทำ และก็ไม่ทำให้มันซับซ้อนเข้าใจยากเกินไปด้วย เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้วิญญูสามารถนำเสนอประเด็นได้อย่างชัดเจนโดยไม่ก้าว ร้าวหรือยกตนข่มคนดู ย่อมเป็นผลมาจากหลักการคุณค่าที่คุณพ่อคุณแม่หัวก้าวหน้าปลูกฝังไว้ในตัวเขา
“จนถึงทุกวันนี้ ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ พวกเราจะกินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน มันเป็นเวลาที่พวกเราทุกคนได้แสดงความคิดเห็น คนอื่นชอบบอกว่าไม่ควรคุยกันเรื่องการเมือง เชื้อชาติหรือศาสนา แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นในครอบครัวของเรา
“ผมเดาว่าพวกเราหัดเรียนรู้ที่จะถกเถียงกันโดยไม่อารมณ์เสียใส่กันมาตั้งแต่ยังเด็ก” เขาเล่า
“ผมคิดว่าผมค่อนข้างโชคดีด้วย ตรงที่ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยและผ่านประสบการณ์หลายอย่างก่อนคนส่วน ใหญ่ในวัยเดียวกัน....ผมก็เลยอยากแบ่งปันความคิดให้พวกเขารู้ว่า โลกมีอะไรมากกว่านั้น
“ผมรู้สึกว่าปัญหาของคนรุ่นใหม่ก็คือ เราบริโภคข่าวสารไม่มากพอ และถึงบริโภคมากพอ ก็ไม่ได้คิดพิจารณาให้มากพอ ดังนั้น ถ้าคุณไม่มีข้อมูลรูปธรรมมากพอ คุณก็จะรู้สึกถูกผลักให้เลือกข้าง เพราะคุณไม่รู้เรื่องราวรอบด้าน
“แล้วทีนี้คุณก็จะมีอารมณ์รุนแรงเกินไปกับปัญหาที่ซีเรียส ทั้ง ๆ ที่ควรใช้เหตุใช้ผลและใช้การคิดวิเคราะห์มากกว่าตอบโต้ด้วยอารมณ์พลุ่ง พล่าน” วิญญูบอก
แน่นอน วิญญูก็เช่นเดียวกับคนทำงานสื่อคนอื่นหลาย ๆ คน เขามักถูกถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ายืนอยู่ข้างไหนหรือมีอุดมการณ์ทางการ เมืองอย่างไร นับตั้งแต่เป็นพิธีกรรายการ “เจาะข่าวตื้น” เป็นต้นมา
“จริง มีคนเยอะแยะถามผมอย่างนั้น ผมจะบอกอะไรให้....มีบางช่วงที่ผมโอนเอียงไปหาสีหนึ่ง แล้วก็มีบางช่วงที่ผมเชื่ออีกสีหนึ่งมากกว่า พอเป็นอย่างนั้น ผมก็พยายามหยุดตัวเองและมองย้อนกลับไปทบทวน โดยพื้นฐานแล้ว มันอยู่ที่ผมบริโภคข่าวสารของฝั่งไหนมากกว่าในช่วงเวลานั้น ๆ แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ทั้งสอง [สี] ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย แต่บางครั้งพวกเขาใช้อารมณ์กันมากเกินไป และนั่นนำไปสู่การต่อสู้จนทำลายกันเอง เรื่องมันซับซ้อน” เขาอธิบาย
แน่นอน วิญญูยืนคร่อมอยู่ระหว่างสองโลก ขาข้างหนึ่งของเขาอยู่ในธุรกิจบันเทิงที่หรูหรา ทุกสิ่งทุกอย่างมีสีสันลูกกวาดสดใสในโลกของพิธีกรรายการฟรีทีวี อีเวนต์ รายการวิทยุ ในขณะที่ขาอีกข้างหนึ่งก็หยั่งลึกในดินแดนของอินเทอร์เน็ตที่คาดเดาไม่ได้ ที่ที่เขาเชื่อมั่นว่า จิตใจที่รู้จักค้นคว้าตั้งคำถามจะนำพาประเทศนี้ไปสู่ทางรอด กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับคนในวงการบันเทิงที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นอย่าง ตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่มักเลือกหุบปากเงียบมากกว่า
“รู้ไหม แม้กระทั่งพี่สาวผมเอง ตอนแรกยังบอกผมเลยว่า ผมน่าจะลดความแรงลงสักหน่อย เพราะผมยังทำงานในธุรกิจกระแสหลักอยู่ แต่ผมบอกพี่ว่า ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ผมพูด [ในรายการ] มันแย่หรือหยาบคาย และผมคิดว่ามันเกี่ยวกับสถานะในวงการด้วย แต่ผมก็เข้าใจคนที่ไม่อยากแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะนะ เพราะถึงยังไง นี่ก็เมืองไทย ยังไงคุณก็ต้องเกรงใจคนอื่น
“คนที่ออกมาส่งเสียง [บอกถึงความเชื่อและทัศนะของตน] มักถูกแปะป้ายเป็นพวก ‘หัวรุนแรง’ ผมว่ามันคงโอเคที่จะถ่ายภาพดาราผู้หญิงใส่แค่ชุดชั้นในกางเกงในลงหน้าปก หนังสือ แต่ถ้าเมื่อไรพวกเธอเกิดอยากพูดอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองขึ้นมา คนอื่นก็พร้อมที่จะจิกกัดพวกเธอขึ้นมาทันที ผมไม่รู้ว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงไหน”
สถานี iHere TV กำลังประสบความสำเร็จในตอนนี้ก็จริง แต่วิญญูก็รู้ดีว่า “มือแห่งการควบคุม” อาจเข้ามายุ่มย่ามกับเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตไม่ช้าก็เร็ว วิญญูเคยได้รับข้อเสนอให้ย้ายรายการทีวีออนไลน์มาออกทางฟรีทีวี แต่เขาตัดสินใจไม่รับข้อเสนอ เพราะเกรงว่าสุดท้ายแล้วก็คงถูกจำกัดและเซนเซอร์
“ผมไม่ได้บอกว่าสถานี iHere TV ดีเลิศที่สุด หรือเป็นทางเลือกที่ฉลาดที่สุดที่มีอยู่ตอนนี้ เราแค่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เราแค่นำเสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนมากขึ้นเท่านั้นเอง” วิญญูตบท้าย
*ได้รับการเอื้อเฟื้อต้นฉบับจาก Jumpingfish At Tilopahouse และ Kay Jirawanidchakorn
http/www.prachatai3.info/journal/2010/07/30401
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น