สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รายงาน: ทุกข์ของคนข้างหลังของ 2 ว่าที่เจ้าบ่าว (ทหาร VS ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ)

นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ กำลังดูการ์ดแต่งงานของลูกชาย ฮัมดี แวสะมะแอ ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตหลังจากใช้ปืนยิงร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีเสียชีวิตก่อนถึงวันงานเพียง 10 วัน



Sun, 2010-07-04 16:02

มูฮำหมัด ดือราแม

เรื่องราวของคนข้างหลังคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายในชายแดนใต้ ฮัมดี แวสะมะแอ กับ ร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ สองว่าที่เจ้าบ่าวที่ตายในบ้านหลังเดียวกันจากการยิงปะทะกัน ก่อนวันคืนแห่งความชื่นมื่นจะมาถึงไม่กี่วัน กลายเป็นความโศกเศร้าเสียใจ หนึ่งปีที่ผ่านการเยียวยาและผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับกับความลำบากที่คนที่ เหลืออยู่ต้องประสบพบเจอ


นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ กับหลานที่พ่อของเขาถูกคุมขังในเรื่องจำเนื่องจากเป็นจำเลยคดีความมั่นคง


ฮาตีนี อูมา ภรรยาของฮัมดีที่ได้อยู่กินกับเพียงเดือนเดียวกำลังอุ้มลูกสาววัย 2 เดือน โดยมีหลานของเธอกำลังเล่นอยู่ใกล้ๆ

แน่นอนว่า การช่วยเหลือเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดน ภาคใต้จากกลไกภาครัฐที่ผ่านมา ไม่ได้พูดถึงครอบครัวหรือญาติๆ ของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเลย ในขณะที่มีการตั้งสมมุติฐานว่า พวกเขาอาจไม่รู้เรื่องมาก่อนแม้แต่น้อยว่า คนที่อาศัยอยู่ด้วยกันได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งแยกดินแดน

ดังที่มีการยืนยัน จากหลายส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นญาติของผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจาก การต่อสู้ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือไม่ก็มีหลักฐานจับได้คาหนังคาเขา

สมมุติฐานดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นจริง สำหรับบางคนหรือบางครอบครัวแล้ว ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ภาครัฐน่าจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาอะไรบางอย่าง เพื่อลดหรือคลายความบาดหมาง หวาดระแวงและเกลียดที่อาจถูกขยายความให้กลายเป็นความแตกแยกได้ในที่สุด อย่างที่เคยปรากฏเป็นตัวอย่างมาแล้วในหลายกรณี

ด้วยเพราะความสูญ เสียที่เกิดขึ้น ย่อมนำความยากลำบากให้กับคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องตามมามากมาย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จึงจำเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกชีวิตที่เหลืออยู่ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างเข้มแข็งได้

การช่วยเหลือเยียว ยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในส่วนที่อยู่ในภาครัฐหรือชาวบ้านทั่วไป บางราย ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนักในด้านร่างกายหรือแม้แต่ในด้านจิตใจ เพราะภาครัฐมีมาตรการและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องเงิน

แต่ยังมีฝ่ายที่ รัฐไม่อยากเยียวอยู่ด้วย หมายถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นญาติพี่น้องของคนในขบวนการที่จับอาวุธ ขึ้นต่อสู้กับรัฐไทย พวกเขาอยู่กันอย่างไรท่ามกลางการสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยที่ตัวเองอาจไม่ได้ รับรู้รับทราบมาก่อน

ความตายของสอง เจ้าบ่าว

ครอบครัวของฮัมดี แวสะมะแอ คือครอบครัวหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในลักษณะดังกล่าว เพราะฮัมดีคือผู้ที่ยิงเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตระหว่างต่อสู้ปะทะกัน ในพื้นที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และฮัมดีเองก็ถูกทหารยิงเสียชีวิตเช่นกัน

เหตุการณ์เกิดขึ้น ในตอนเย็นวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 ขณะที่ฮัมดีหนุ่มวัย 25 ปี ชาวบ้านคลองช้าง หลบเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งในซอยเยื้องๆ กับมัสยิดประจำหมู่บ้านพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน เนื่องจากเห็นทหารกลุ่มหนึ่งกำลังเข้ามาตรวจค้น โดยฮัมดีถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบในพื้นที่หลายครั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นขณะที่ฮัมดีกำลังแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานของตัวเองที่จะมีขึ้นใน อีก 10 วันข้างหน้า คือวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552

ระหว่างที่ทหารได้ เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ฮัมดีได้ใช้ปืนที่พกติดตัวมายิงทหารคนหนึ่งเสียชีวิต ก่อนที่ตัวเองจะถูกทหารยิงเสียชีวิตภายในห้องน้ำ ส่วนเพื่ออีก 2 คนที่หลบอยู่ในห้องอาบน้ำถูกทหารควบคุมตัวไว้ได้

นางเจ๊ะรอกายะ มูดอ อายุ 42 ปี แม่ของฮัมดี เล่าว่า ฮัมดีเป็นคนยิงทหารคนนั้น แต่ไม่รู้ว่าฮัมดีเอาปืนมาจากไหน ส่วนรถจักรยานยนต์ของฮัมดีไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไป โดยในตะกร้ารถก็ยังมีการ์ดเชิญเหลืออยู่อีกหลายใบ

ส่วนทหารที่เสีย ชีวิต คือ สิบตรีสุรชัย ศิลานันท์ อายุ 29 ปี จากหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.)ปัตตานี 24 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่สำคัญสิบตรีสุรชัยก็มีเจ้าสาวที่กำลังรอเข้าสู่พิธีวิวาห์เช่นกัน แต่ทั้งสองคนเสียชีวิตในบ้านหลังเดียวกัน

พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ปัตตานี 24 และเป็นผู้บังคับบัญชาของสิบตรีสุรชัย กล่าวว่า การปิดล้อมดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากมีชาวบ้านแจ้งว่า มีผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบเข้ามาเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน

ก่อนเข้าตรวจค้น บ้านได้เชิญผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามมาพูดคุยให้มีการมอบตัวแล้ว แต่ไม่เป็นผล ซึ่งผมศรัทธาพวกเขามากในความเป็นนักรบของพวกเขา ที่ยอมสู้จนตัวตาย แม้ทั้งทหารและฝ่ายขบวนการจะถือปืนเหมือนกัน แต่คนละอุดมการณ์กัน หากเป็นผมอาจจะยอมมอบตัวแล้วก็ได้

พ.ท.หาญพล กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบทั้ง 3 คน พบว่าสวมเสื้อ 2 ชั้น ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบมักสวมเสื้อ 2 ชั้นเพื่อพรางตัวได้ง่าย

สำหรับนายฮัมดี ก่อนเสียชีวิตฮัมดีเคยถูกดำเนินคดีข้อหา ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และข้อหาอังยี่ซ่องโจร แต่ถูกศาลพิพากษาเฉพาะข้อหาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่และได้ถูกจำคุกจน พ้นโทษตามกำหนดแล้ว แต่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ของอัยการจังหวัดปัตตานี กรณีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องข้อหาอังยี่ซ่องโจร

คดีนี้ฮัมดีถูกจับ กุมดำเนินคดีตัวพร้อมกับน้าชายซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องของนางเจ๊ะรอกายะ ชื่ออับดุลเลาะห์ อายุ 23 ปี

นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี เล่าว่า ฮัมดีถูกขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี 5 เดือน แล้วถูกนำตัวไปขังต่อที่เรือนจำกลางจังหวัดสงขลาอีก 6 เดือน ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกมา โดยต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวถึง 500,000 บาท

หลังศาลมีคำ พิพากษายกฟ้องในข้อหาข้อหาอังยี่ซ่องโจรแล้ว ฮัมดีได้กลับมาอยู่บ้านประมาณ 2 ปี ก่อนจะเสียชีวิตโดยมาช่วยพ่อกับแม่กรีดยางพารา แต่ระหว่างนั้นก็ยังถูกทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ซึ่งตั้งฐานที่ศูนย์ศิลปชีพวัดช้างได้ อำเภอโคกโพธิ์ นำตัวไปสอบสวนหลายครั้ง

ฮัมดีเรียนจบชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2545 จากนั้นได้สมัครเป็นทหารเรือ ประจำอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 2 ปี เมื่อปลดประจำการแล้ว จึงเข้าสมัครเรียนศาสนาต่อที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่สำนักงานคณะกรรมการ อิสลามประจำจังหวัดปัตตานี หรือ มัจลิสปัตตานี ในชั้นซานาวีหรือชั้นมัธยมปลายในระบบโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่เรียนได้ไม่ทันถึงปีก็ถูกจับกุมในข้อหาข้างต้น โดยถูกจับกุมตัวได้ภายในสวนยางพาราใกล้บ้าน

พ.ท.หาญพล ระบุว่า ฮัมดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดหลายครั้งในพื้นที่ เคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาแล้วหลายครั้งตามหมายพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีครั้งหนึ่งที่ทหารเข้าไปค้นบ้านฮัมดีเคยหลบไปอยู่บนขื่อบ้าน ถ้าไม่มีความผิดก็ไม่น่าจะต้องหลบซ่อนตัวขนาดนั้น

แต่นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี บอกว่า เพราะฮัมดียังเป็นวัยรุ่นมีความหวาดกลัวอยู่เป็นธรรมดา จึงต้องหลบเวลาทหารมาตรวจค้น ไม่เหมือนผู้ใหญ่อย่างตนที่ไม่ค่อยกลัวอะไรแล้ว และทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เหตุระเบิดที่หน้าสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ ก็จะมีทหารมาปิดล้อมบ้านทุกครั้ง แล้วถามว่าฮัมดีอยู่หรือไม่

ชีวิตและความลำ บากของเจ๊ะรอกายะ มูดอ

นางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี เล่าย้อนไปในวันเกิดเหตุว่า เวลาประมาณ 16.00 น. ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายชุดทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จากนั้นเห็นขบวนรถทหารขับผ่านไปทางต้นเสียง โดยไม่นึกว่าคนที่ถูกยิงคือลูกชายของตนเอง

คืนก่อนหน้านั้น ฮัมดีโทรศัพท์มาบอกว่า จะกลับมาที่บ้านเพื่อแจกการ์ดแต่งงาน แล้ววันรุ่งขึ้นจะเดินทางไปจังหวัดพัทลุงเพื่อแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงาน กับญาติฝ่ายพ่อ เนื่องจากตอนนั้นเขาไปอยู่ที่บ้านภรรยาแล้ว เพราะได้ทำพิธีนิกะห์ หรือ การแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว จนถึงช่วงได้ยินเสียงปืน จึงคิดว่าฮัมดีคงไม่กลับมาบ้านแล้วในวันนั้น

จนกระทั่งเวลา ประมาณ 19.00 น. เศษ มีทหารมาเคาะประตูบ้าน มาบอกว่า ลูกชายของตนเสียชีวิตแล้ว ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็บอกด้วยว่า ทหารเป็นคนยิงเอง

ตอนนั้นตกใจมาก จากนั้นก็ขับรถจักรยานยนต์ไปที่โรงพยาบาลคนเดียว อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 6 – 7 กิโลเมตร แล้วก็โทรศัพท์บอกญาติๆด้วย

เมื่อไปถึงที่โรง พยาบาลเจ้าหน้าที่ให้ดูศพแล้วเพื่อยืนยันว่าเป็นศพของลูกชายจริง จากนั้นทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิฮิลาลอะมัรได้นำศพลูกชายขึ้นรถพาไปส่งที่บ้าน

ตอนดูศพลูกชาย เราไม่ได้ร้องไห้และไม่มีน้ำตาออกมาซักหยด ทหารที่ดูแลอยู่ก็ถามว่า ไม่เสียใจเลยหรือ ยังไม่ทันได้ตอบก็มีเสียงพูดจากทหารอีกคนที่เป็นมุสลิมเหมือนกันว่า ถึงร้องไห้ไปคนตายไปแล้วก็ไม่ฟื้นขึ้นมาหรอก ชาวมุสลิมเขาคิดอย่างนี้

นางเจ๊ะรอกายะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การตายของชาวมุสลิมก็คือการกลับไปหาพระเจ้า ซึ่งทุกคนก็จะต้องไปที่นั่น ซึ่งฮัมดีตายตรงกับวันที่ 3 เดือนซะอ์บาน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1430 ตามปฏิทินอิสลาม

แน่นอนว่า เมื่อมีการตายก็ย่อมต้องมีความเสียใจเป็นธรรมดา แต่นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า การตายของฮัมดีนั้นตนเตรียมใจไว้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้มีเรื่องให้ตกใจกับฮัมดีมาหลายครั้งแล้ว แล้วคิดว่า สุดท้ายก็คงต้องเจออย่างนี้อยู่แล้ว

ดีกว่าเสียอีก ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ แล้วต้องเจอเรื่องแย่ๆ ขึ้นมาอีก ถ้าเราเห็นเขาถูกทำร้าย ก็จะยิ่งสงสารมากขึ้น การที่เขาเจออย่างนี้ได้แล้วก็อัลฮัมดุลิ้ลลาห์ (มวลการสรรเสริญเป็นของอัลเลาะห์ : เป็นคำกล่าวเพื่อแสดงการขอบคุณพระเจ้า)

เธอบอกว่า แม้ว่ายิ่งนานจะยิ่งคิดถึงฮัมดี แต่สุดท้ายเธอก็ยังต้องทำงานปกติ เพราะเราก็คิดว่า เราก็ต้องตายเหมือนกัน เพียงแต่ใครก่อนใครหลังเท่านั้นเอง

สำหรับคดีการตาย ของฮัมดีนั้น ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดสืบพยานไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา

นางเจ๊ะรอกายะ เล่าต่อว่า ระหว่างที่ไปดูศพลูกชายที่โรงพยาบาลโคกโพธิ์นั้น ตนเห็นเพื่อนของฮัมดีอีก 2 คน ถูกนำตัวมารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย ถ้าไม่สังเกตก็จะจำไม่ได้ว่าเป็นใคร เพราะหน้าตาบูดเบี้ยว มีรอยแผลอยู่ตามหน้าและปาก ผมฟูเหมือนถูกทำร้าย มีทหารคุมอยู่ด้วยหลายนาย

สภาพดังกล่าว ทำให้ญาติของทั้ง 2 คน ได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานให้ความช่วยด้านกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ มนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เข้ามาตรวจสอบว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายหรือไม่

นาวสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการทำร้ายร่างกายจริงทั้งในที่เกิดเหตุและที่โรงพยาบาลบาลโคกโพธิ์ โดยมีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับบอกว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นของทั้ง 2 คน เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

จากนั้นทางมูลนิธิ ผสานวัฒนธรรมได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการผสมพลเรือนตำรวจ ทหาร(พตท.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ พร้อมทั้งให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายดังกล่าว แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเองก็ไม่ได้ติดตามว่ามีการดำเนินการตามที่ร้องเรียน หรือไม่อย่างไร

นาวสาวพรเพ็ญ ยังกล่าวด้วยว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 2 คนดังกล่าว ถูกดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ แต่ตอนหลังพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้เปลี่ยนข้อกล่าวหาเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีโทษ เบากว่า

ครอบครัวผู้ ต้องหาคดีป่วนใต้?

หลังจากฮัมดีตายไป แล้ว ก็ใช่ว่าความยุ่งยากต่างๆ ของครอบครัวนางเจ๊ะรอกายะ มูดอ จะหมดไป เพราะไม่เพียงแต่น้องสุดท้องที่ชื่ออับดุลเลาะห์จะถูกดำเนินคดีความมั่นคง พร้อมกับฮัมดีด้วยแล้ว ยังมีลูกเขยอีกคนหนึ่ง ชื่ออิบรอฮิม ซึ่งเป็นสามีของน้องสาวคนรองจากฮัมดีด้วยอีกคนที่ถูกจับกุมในคดีความมั่นคง โดยปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

กล่าวสำหรับคดีของ อับดุลเลาะห์นั้น หลังจากอัยการจังหวัดปัตตานีได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากก่อนหน้านั้นศาลได้พิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกับฮัมดี ทำให้อับดุลเลาะห์ต้องถูกควบคุมต่ออีกครั้งระหว่างอุทธรณ์ ขณะนี้นางเจ๊ะรอกายะกำลังเตรียมทำเรื่องขอประกันตัวอยู่ ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์สูงถึง 700,000 บาท

ทั้ง 2 คดีศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีรับดูแลเป็นทนายให้

นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า ลูกคนเขยคนนี้เป็นชาวบ้านควนลาแม ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มีนายกูเฮ็ง สะอิ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมในสมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมกราคม 2552 เนื่องจากได้ยิงต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบจนฝ่ายก่อความไม่สงโดนยิงเสีย ชีวิตไป 2 ราย เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งถัดมาอีก 1 เดือน นายกูเฮง คนนี้ได้ถูกลอบวางระเบิดอีกครั้งในพื้นที่บ้านคลองช้างจนได้รับบาดเจ็บ

นางเจ๊ะรอกายะ เล่าต่อว่า อิบรอฮิม ไม่สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านได้ เช่นเดียวกับพี่น้องอีก 2 คน และพ่อซึ่งเป็นโต๊ะอิหม่าม เนื่องจากถูกอัปเปหิออกมาโดยผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่เพื่อนก็มองว่าครอบครัวนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุยิงผู้ใหญ่ บ้านกูเฮ็ง ทั้งๆ ที่แม่ของอิบรอฮิมเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านกูเฮ็ง

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้นางเจ๊ะรอกายะและสามี ต้องดูแลทั้งลูกของตัวเอง ซึ่งเหลืออยู่ 4 คน หลาน 2 คน รวมทั้งลูกของฮัมดีด้วย และยังมีพ่อของสามีอีกหนึ่งคนซึ่งมีอายุ 70 ปีและตาบอด รวมทั้งลูกเขยที่ถูกขังอยู่ด้วย ซึ่งต้องเดินทางไปเยี่ยมสัปดาห์ละครั้งมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่เขาถูกขัง ซึ่งทุกครั้งที่ไปเยี่ยมจะไปกันทั้งบ้านด้วยรถจักรยานยนต์ พร้อมกับนำอาหารจากบ้านไปให้ด้วย

สำหรับหลานที่อยู่ อาศัยกับนางเจ๊ะรอกายะและสามีขณะนี้มีอายุเพียง 1 ขวบ โดยแม่ของเขาเป็นลูกคนที่ 2 รองจากฮัมดี ซึ่งเป็นคนโต ส่วนลูกอีก 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมและชั้นประถมตามลำดับ ขณะที่ลูกของฮัมดีนั้น ภรรยาของเขาเป็นคนเลี้ยงเอง

โดยรายได้หลักของ ครอบครัวมาจากสวนยางพาราซึ่งมีจำนวน 10 ไร่ ซึ่งนางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 300 – 400 บาท แต่ถ้าวันไหนต้องเดินทางไปเยี่ยมลูกเขยที่อยู่ในคุกก็จะหมดไปประมาณ 1,000 บาท ส่วนลูกสาวคนที่ 2 นอกจากต้องเลี้ยงลูกของตัวเองแล้ว ยังช่วยเปิดร้านขายน้ำแข็งหน้าบ้านด้วย เป็นการหารายได้เสริมเล็กๆ น้อยในขณะที่ไม่สามารถทำงานอื่นได้

นางเจ๊ะรอกายะ บอกว่า หลังการตายของฮัมดี ไม่ต้องถามหรอกว่าจะมีใครมาช่วยเหลือเยียวยาบ้าง เพราะไม่มี มีเพียงญาติๆ และคนรู้จักที่มาเยี่ยมให้กำลังใจเท่านั้น

ด้าน พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ย้ำว่า การที่รัฐจะเข้าไปเยียวยาครอบครัวของฮัมดีด้วยนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าฮัมดีเป็นคนยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต อย่างมากที่สุดก็แค่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือเยียวยาจริงๆ สำหรับกรณีนี้ ก็คือการซ่อมแซมบ้านที่เกิดเหตุให้เท่านั้น

ทายาทที่ฮัมดี ไม่ทันได้เห็นหน้า

แม้ว่าวันเกิดเหตุ ฮัมดีอยู่ระหว่างแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานของตัวเองอยู่ก็ตาม แต่ฮัมดีได้ทำพิธีแต่งงานตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว หรือ ที่เรียกว่านิกะห์ เมื่อก่อนหน้าจะเสียชีวิตมาประมาณ 1 เดือนและได้อยู่อาศัยกับภรรยาแล้วที่บ้านของภรรยาที่บ้านกาเดาะ หมู่ที่ 3 ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ห่างจากบ้านคลองช้างไปประมาณ 15 – 20 กิโลเมตร

ที่สำคัญคือ ภรรยาของฮัมดีได้ตั้งท้องและคลอดลูกออกมาแล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นลูกสาว โดยตั้งชื่อว่า เด็กหญิงนูร์ซาฮีดะห์ แวสะมะแอ

นางสาวฮาตีนี อูมา อายุ 25 ปี ภรรยาของฮัมดี บอกว่า เหตุที่ให้ลูกสาวใช้นามสกุลของฮัมดี ก็เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ฮัมดีทิ้งไว้

แน่นอนว่าฮาตีนี ต้องเป็นคนเลี้ยงลูกสาว แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้นมาจากพ่อของเธอซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน โดยมีน้องสาวกับน้องเขยเป็นลูกน้องของพ่อ ร่วมกับชาวบ้านอีก 2 -3 คน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ฮาตีนียังไม่คลอดลูกก็พอมีรายได้อยู่บ้าง จากเป็นครูสอนในโรงเรียนตาดีกา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาให้กับเด็กเล็กประจำหมู่บ้าน ซึ่งเปิดสอนเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์เท่านั้น โดยมีเด็กนักเรียนประมาณ 80 คนและครู 5 คน

โรงเรียนตาดีกา แห่งนี้ ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเดือนละ 2,000 บาท ทำให้ต้องนำเงินจำนวนนั้นมาหารกับจำนวนครู 5 คน ก็จะได้คนละ 400 บาทต่อเดือน รวมกับเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้วฮาตีนีมีรายได้เพียงวันละ 100 บาท ในจำนวน 8 วันต่อเดือน

เหตุที่ฮาตีนีได้ มาเป็นครูสอนตาดีกา ก็เนื่องจากเรียนศาสนาจบชั้น 10 ที่โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา หรือ ปอเนาะจือแรบาตู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

แม้ว่าขณะนี้ ฮาตีนียังหยุดสอนมาตั้งแต่ตอนท้องได้ 8 เดือนแล้ว แต่เธอก็ยืนยันว่า จะไปสอนตาดีกาต่ออีกเพราะเป็นการช่วยเหลือเด็กในหมู่บ้าน แล้วค่อยหางานอื่นทำไปด้วย

ในบ้านที่ตั้งอยู่ ใกล้ถนนสี่เลนตัดใหม่สายปัตตานี ยะลาแห่งนี้ ฮาตีนีอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีสมาชิกที่อยู่อาศัยด้วยกันทั้งหมด 11 คน นอกจากพ่อกับแม่และตนเองซึ่งเป็นลูกคนโตแล้ว ยังมีน้องอีก 4 คน รวมทั้งน้องเขยกับหลานอีก 1 คน เนื่องจากน้องสาวและน้องเขยยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง จึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันไปก่อน

ฮาตีนี เล่าด้วยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ได้อยู่ด้วยกันกับฮัมดี ตอนนั้นฮัมยังไม่ได้ทำงานอะไรเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ก็ช่วยงานในบ้านอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการไถนา เพียงตรงกับช่วงทำนาพอดี พร้อมๆ กับการเดินสายแจกการ์ดเชิญร่วมงานแต่งงานไปด้วย

ส่วนใหญ่ตนไปเดิน ทางไปแจกการ์ดกับฮัมดีตลอด ซึ่งไปกันเกือบทุกแห่งที่มีญาติๆ และเพื่อนอยู่แล้ว ส่วนเหตุที่ได้แต่งงานกับฮัมดีนั้นทางผู้ใหญ่เป็นคนจัดการให้ ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ฮาตีนีจึงไม่ค่อยทราบเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับฮัมดีมาก่อนมากนัก คนในหมู่บ้านกาเดาะก็ยังไม่ค่อยรู้สามีของเธอมากนัก เพราะยังไม่ได้จัดงานเลี้ยงแต่งงาน ซึ่งเหมือนกับการเปิดตัวสามีอย่างเป็นทางการนั่นเอง

ที่ผ่านมาเราไม่ รู้ว่าเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวมาแล้วหลายครั้ง ตอนเขามาอยู่ที่นี่ก็ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวไป ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น รวมทั้งการตายของเขาด้วย

ฮาตีเล่าว่า วันที่ฮัมดีจากไป ฮัมดีออกจากบ้านไปแต่เช้า บอกว่าจะไปแจกการ์ดแต่งงานต่อแล้วก็กลับไปที่บ้านแม่ ส่วนตนเองไปสอนที่โรงเรียนตาดีกาตามปกติ เพราะเป็นวันอาทิตย์

จนกระทั่งเวลา 5 ทุ่มกว่า แม่ของฮัมดีโทรศัพท์มาบอกว่าฮัมดีตายแล้วถูกทหารยิง เมื่อได้ยินดังนั้นก็ตกใจแล้วก็เสียใจด้วย เพราะเพิ่งแต่งงานกัน จากนั้นแม่ฮัมดีก็ส่งรถมารับไปเยี่ยมศพฮัมดีที่บ้านคลองช้าง

ส่วนเพื่อนๆ ที่ทราบเรื่องก็พากันเสียใจ สงสาร แล้วก็เสียดายด้วย เพราะแต่งงานกันได้ไม่กี่วัน ซึ่งก็ได้แต่ให้กำลังใจเท่านั้น เพราะจะช่วยเหลืออย่างอื่นก็ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดาไม่ได้มีฐานะมากนัก

ตอนนี้พอมีเงิน เก็บอยู่บ้างที่เอามาใช้ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานเท่าไหร่ ส่วนแม่ของฮัมดีก็ส่งเงินมาช่วยเป็นประจำ ครั้งละพันสองพันบาท

ก่อนที่ฮัมดีจะตาย ฮัมดีเคยเล่าให้ตนและคนในครอบครัวว่า ฝันว่าได้สร้อยคอทองคำมาสวมที่คอของตน แม่บอกว่า ชาวมุสลิมในพื้นที่มีความเชื่อว่า ถ้าฝันว่าได้ทองอย่างนั้น จะมีลูก ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่า ตั้งท้องแล้วหรือยัง แต่ฮัมดีเองก็ค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะได้ลูกแล้ว

แต่แล้วเมื่อรู้ ตั้งท้องแล้วจริงๆ ฮัมดีก็ไม่ได้อยู่ดูหน้าลูกอีกแล้ว

ส่วนพ่อของฮาตีนี ชื่อนายสุไลมาน อูมา แต่ชาวบ้านเรียกว่า แบโซะ อายุ 49 ปี บอกว่า ตอนนี้ตนเองเป็นคนทำงานหารายได้หลักเข้าบ้านคนเดียว จากการรับเหมาสร้างบ้านชาวบ้าน ส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียง

ถ้าเจ้าของบ้าน ให้ค่ารับเหมาแพงก็จะได้กำไรเยอะ แต่ถ้าให้น้อยก็ได้กำไรน้อย ที่สำคัญถ้าได้เงินมาแล้วต้องให้ค่าจ้างลูกน้องก่อนเป็นอันดับแรก บางครั้งหักค้าจ้างลูกน้องกับซื้อวัสดุก่อสร้างแล้ว ไม่เหลือกำไรซักบาทก็มี

ส่วนแม่ชื่อนางยี ยะห์ กาเซ็ง อายุ 46 ปี เป็นแม่บ้านอย่างเดียว ไม่ได้ทำงานหารายได้เสริม เพียงในช่วงฤดูทำนาก็จะช่วยทำนาด้วย

ส่วนนางเจ๊ะรอกายะ แม่ของฮัมดี ซึ่งมีฐานะดีกว่า เพราะเป็นเจ้าของส่วนยาง 10 ไร่ บอกว่า ตอนภรรยาฮัมดีท้องอยู่ ตนก็ต้องส่งเงินช่วยเหลือด้วยครั้งละพันบาท พอคลอดออกมาก็ซื้อสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทให้ แล้วก็ส่งเงินไปให้ครั้งละ 2,000 บาท เพราะต้องมีค่านมผงเพิ่มขึ้นแล้ว

ตอนท้องภรรยาของ ฮัมดีก็ยังมาที่บ้านเราบ่อย แม้ว่าฮัมดีไม่อยู่แล้วก็ตาม แต่ตั้งแต่คลอดลูกออกมา ภรรยาเขายังไม่ได้มาเยี่ยมที่บ้าน เพราะลูกยังเล็กเดินทางไปมาไม่ค่อยสะดวก

ผลตอบแทนร.ท.สุ รชัย ศิลานันท์

พ.ท.หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 153 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ผู้บังคับบัญชาของสิบตรีสุรชัย กล่าวถึงการช่วยเหลือสิบตรีสุรชัย ศิลานันท์ ที่ถูกฮัมดียิงเสียชีวิตว่า เป็นไปอย่างสมเกียรติที่สุดนับแต่วันที่เคลื่อนศพจากจังหวัดปัตตานีไปยัง บ้านเกิดที่จังหวัดสุรินทร์

ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานเพลิงศพ ส.ต. สุรชัย ศิลานันท์ ณ วัดหัวตะพาน ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานยศเป็นร้อยโท (ร.ท.) สุรชัย ศิลานันท์

นอกจากนี้ทางหน่วย เฉพาะกิจปัตตานี 24 ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือครอบครัวศิลานนท์ ผ่านกองทุนวีรบุรุษบ้านคลองช้าง อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยขอรับบริจาคเงินจากหน่วยงานต่างๆ ได้เงินมา 6 แสนบาท และได้มอบให้กับพ่อ แม่ ของ ร.ท.สุรชัยไปแล้ว

พ.ท.หาญพล บอกว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นสุดยอดของการเป็นทหาร นอกจากการได้รับพระราชทานเพลิงศพแล้ว อีกอย่างคือการได้รับเหรียญบางระจัน จากกระทรวงกลาโหม เพราะได้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ด้วยความเสียสละ กล้าหาญอดทน โดยได้รับเหรียญนี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 จากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

พ.ท.หาญพล เล่าด้วยว่า ร.ท.สุรชัย มีความกตัญญูต่อบุพการี และเป็นเสาหลักของครอบครัว โดยเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับไม่ว่าเงินเดือนและเงินเบี้ยเลี้ยงสนาม เขาจะส่งเงินกลับบ้านทั้งหมด เพราะเป็นครอบครัวชาวนาธรรมดาๆ ตนเองเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้ โดยส่งเสียน้องทั้งสองคนเล่าเรียน และจ่ายหนี้ให้ทางบ้าน เหลือไว้ใช้เองเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนการช่วยเหลือ อื่นๆ ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ของรัฐให้การช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติ หน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย เงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีและระเยบกระทรวงการคลัง ผ่านสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 500,000 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของกองทัพบก 180,000 บาทช่วยเหลือ และเงินช่วยเหลือต่างๆอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้กองทัพบก ยังได้บรรจุน้องชายร.ท.สุรชัย ชื่อนายอาทิตย์ ศิลานันท์ เข้ารับราชการเป็นนายสิบโดยใช้สิทธิของร.ท.สุรชัยด้วย

สาวเจ้าที่รอ เก้อกับชีวิตลำบากที่อีสาน

นางสำเรียบ ศิลานันท์ อายุ 53 ปี แม่ของร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ กล่าวว่า แม้ว่าน้องชายจะได้เข้ารับราชการโดยใช้สิทธิ์ของ ร.ท.สุรชัย ที่ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ แต่แม่ของร้องไม่ให้ต้นสังกัดส่งไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชานแดนภาคใต้ เพราะไม่อยากเสียลูกชายไปอีกคน

ส่วนการใช้ชีวิต ปกติก็ยังลำบากอยู่ แม่ทำนาบ้าง เก็บไข่มดแดงขายบ้าง แต่ถ้าได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนจากรัฐก็จะหน่อย ตอนนี้ยังไม่ได้ทั้งๆ ที่ทางรัฐรับปากว่าจะให้

นางสำเรียบ กล่าวถึง ร.ท.สุรชัยด้วยว่า หนึ่งวันก่อนที่ร.ท.สุรชัยจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 เขาบอกว่าจะส่งเงินมาให้ที่บ้าน แต่ถ้าไม่ได้ส่งก็จะพากลับมาให้เอง ซึ่งปกติ ร.ท.สุรชัยจะส่งเงินมาให้เดือนละ 3 ครั้ง ที่เหลือเก็บไว้ใช้เองแค่ 200 – 300 บาทเท่านั้น

ก่อนตาย ร.สรชัยยังโทรศัพท์มาบอกให้แม่ช่วยดูแลควายให้ดีด้วย บอกว่าจะพาไปประกวด เพราะเขาจะห่วงควายมาก มีอยู่ทั้งหมด 8 ตัว ตอนนี้พ่อกับแม่เลี้ยงไม่ไหวก็ขายไป 3 ตัว

นางสำเรียบ เล่าว่า ก่อนที่ร.ท.สุรชัย จะมาเป็นทหาร เคยไปทำงานที่ตะวันออกกลางมาแล้วแต่ไปอยู่แค่ 3 เดือนก็กลับมา เพราะงานหนักมากและอากาศก็ร้อนอยู่ไม่ไหว จึงทำให้ติดหนี้ไปแสนกว่าบาท เพราะใช้เป็นค่าเดินทางจนตอนนี้ก็ยังจ่ายไม่หมดแล้ว เมื่อกลับมาก็สมัครมาเป็นทหาร เป็นพลอาสาสมัครของกองพันจู่โจม รุ่นที่ 11 ประจำการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2543

นางสำเรียบ เล่าต่อว่า จากนั้นในปี 2547 ถูกส่งมาปฏิบัติภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยได้ร่วมในภารกิจที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ด้วยโดยเป็นพลปืนอาร์พีจี แต่ไม่ได้เป็นคนยิงใส่มัสยิดแต่อย่างไร ต่อมาเขาก็ได้ขึ้นศาลเป็นพยานในคดีนี้ด้วย

ส่วนเรื่องที่ ร.ท.สุรชัยจะแต่งงานนั้น นางสำเรียบบอกว่า ช่วงที่สุรชัยยังอยู่ แม่ว่าจะขอสาวให้ เป็นคนบ้านเดียวกัน เพราะเวลาสุรชัยกลับมาบ้านก็จะไปที่บ้านสาวคนนี้ ไปก็ไม่พูดอะไร เพราะสุรชัยเป็นคนซื่อพูดไม่เก่ง วันงานศพสุรชัย สาวคนนั้นก็ยังมาช่วยงานตลอด

ก่อนจะทิ้งท้ายว่าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เลย สาวคนนั้นก็ยังอยู่ อยากให้คนที่จับอาวุธขึ้นมาทำร้ายคนอื่น ขอให้หยุดได้แล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก

เรื่องราวคน ข้างหลังของฮัมดี แวสะมะแอ กับ ร.ท.สุรชัย ศิลานันท์ ดูจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากในความเป็นคนที่ต้องต่อสู้ต่อไป แต่อาจแตกต่างกันบ้างกับสิ่งที่รับมาก แต่สำหรับผู้สูญเสียแล้ว ไว้ว่าฝ่ายไหนความโศกเศร้าเสียใจและความลำบากที่ได้รับคงหนีไม่พ้นอยู่แล้ว เพียงใครจะข้ามพ้นความสูญเสียนั้นไปได้ก่อน แล้วเดินหน้าต่อไปกับชีวิตที่ยังเหลืออยู่ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น