Thu, 2010-07-29 23:50
รศ.ดร.
28 กรกฎาคม 2553
การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย แม้จะยุติลงด้วยการสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดเหี้ยม เป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของฝ่ายประชาธิปไตยก็ตาม แต่ในวันข้างหน้า เมื่อประเทศไทยบรรลุถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ผู้คนก็จะหันกลับมามองและเห็นว่า การต่อสู้ในครั้งนี้มิได้สูญเปล่า หากแต่เป็นก้าวเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของประชาธิปไตยในที่ สุด
ขบวนการประชาธิปไตยได้เรียนรู้จากการเพลี่ยงพล้ำเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 สรุปบทเรียน ศึกษาเรียนรู้ ขยายการรวมกลุ่มจัดตั้ง สามารถฟื้นตัวกลายเป็นพลังทางการเมืองที่เข้มแข็ง การเคลื่อนไหวที่ยืดเยื้อและยากลำบากเมื่อมีนาคม-พฤษภาคม 2553 แสดงให้เห็นว่า ในเวลาเพียงหนึ่งปี มวลชนได้ยกระดับขึ้นอย่างมากทั้งในด้านขวัญกำลังใจ ความรับรู้ ความทุ่มเทเด็ดเดี่ยว เสียสละ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างพลิกแพลง
แต่ในระหว่างนี้ ได้มีข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องในประเด็นแนวทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553 ยิ่งทำให้มีข้อโต้แย้งที่แหลมคมมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาจากผลสำเร็จและจุดอ่อนของการเคลื่อนไหวครั้ง นี้ เพื่อเป็นบทเรียนแก่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในขั้นต่อไป
1. ท่าทีของการวิจารณ์
ในเบื้องแรกต้องขีดเส้นแบ่งระหว่างฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยกับฝ่าย ประชาธิปไตย แกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” เป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีประวัติการต่อสู้ที่เสียสละและเสี่ยงอันตรายมายาวนาน ความผิดพลาดใดที่เกิดขึ้นยังคงเป็นความผิดพลาดของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นความผิดพลาดอันเกิดจากความจำกัดในความรับรู้ ประสบการณ์ ลักษณะเฉพาะบุคคล จากความไม่ชัดเจนของสถานการณ์เฉพาะหน้าและขีดจำกัดของภววิสัย
ท่าทีในการวิพากษ์วิจารณ์จึงควรกระทำอย่างมิตร แลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเพื่อให้ความรับรู้ตรงกัน วิจารณ์จุดอ่อนเพื่อสรุปบทเรียนอย่างถูกต้อง ไม่เอาความขัดแย้งส่วนบุคคลมาปะปน ยิ่งไม่ควรโจมตีกัน โยนความผิดทั้งหมดไปให้แกนนำโดยไม่จำแนก กระทั่งเอาข้อมูลเท็จและข่าวลือมาไส้ไคล้กัน แต่ต้องถือเอาประโยชน์ของขบวนการประชาธิปไตยโดยรวมเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การเคลื่อนไหวได้พัฒนายกระดับ ไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริง
การสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นอาชญากรรมนองเลือดอีกครั้งหนึ่งที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้กระทำต่อ ประชาชนไทย แม้ว่าแกนนำและมวลชนอาจกระทำผิดพลาดทางการเมืองและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีบาง ประการ แต่ประชาชนมาชุมนุมด้วยมือเปล่า อย่างสันติ เพียงเรียกร้องการยุบสภาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่ายเผด็จการไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นในการใช้กำลังรุนแรงเข่นฆ่าประชาชน และไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ของแกนนำ นปช.ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อลบล้างความจริงข้อนี้ได้
2. แนวทาง “สันติวิธี” กับเป้าหมายเฉพาะหน้า “ให้ยุบสภา”
นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ประกาศยึดแนวทาง “สันติอหิงสา” มีเป้าหมายเฉพาะหน้าในการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ “ให้ยุบสภา” ทั้งหมดนี้ได้ถูกบางฝ่ายวิจารณ์ว่า “เป็นแนวทางปฏิรูป” และเสนอแย้งว่า “หนทางที่ถูกต้องคือ ต้องปฏิวัติ เปลี่ยนระบอบ” ข้อวิพากษ์นี้ผิดและสับสน โดยนำเอาลักษณะทั้งหมดของขบวนการประชาธิปไตยโดยรวม มาปะปนกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของขบวนการในแต่ละขั้นตอน เป็นการจับคู่ขัดแย้งแบบผิดฝาผิดตัว เอาสิ่งที่พวกเขาเสนอว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” มาเป็นคู่ขัดแย้งกับแนวทางของ นปช.ที่พวกเขาตีตราว่าเป็น “แนวทางปฏิรูป”
ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มต้นเป็นเพียงขบวนการต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องเอา รัฐธรรมนูญ 2540 กลับคืนมา แต่จากการเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยพัฒนาขยายเติบใหญ่ ยกระดับความรับรู้ถึงขั้นเข้าใจในรากเหง้าอุปสรรคที่แท้จริงของประชาธิปไตย ในประเทศไทย กลายเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งและมีการนำในระดับหนึ่ง มีเป้าหมายที่มุ่งช่วงชิงประชาธิปไตยแท้จริงที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ทำให้การเคลื่อนไหวได้ยกระดับคุณภาพขึ้น จนมี “ลักษณะปฏิวัติประชาธิปไตย”
แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยนั้นมีหนทางยาวไกล ยืดเยื้อยาวนาน และยากลำบาก ต้องผ่านการต่อสู้หลายขั้นตอน แต่ละขั้นมีลักษณะ วิธีการ เป้าหมายเฉพาะหน้าและคำขวัญที่ต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย ในปริบทนี้ “แนวทางสันติ” ของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน เป็นมิติหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และถูกกำหนดจากเงื่อนไขเฉพาะคือ ฝ่ายเผด็จการเข้มแข็งอย่างยิ่ง เพียบพร้อมไปด้วยสรรพกำลังทางกฎหมาย อาวุธ และอุดมการณ์ ควบคุมพื้นที่ทางการเมืองและภูมิศาสตร์ไว้ทั้งหมด โดยยอมเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในทางตรงข้าม ฝ่ายประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กและถูกปิดล้อมทางการเมือง ในสภาพการณ์เช่นนี้ หนทางการพัฒนาและเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ใช้ช่องทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดอยู่ให้เป็นประโยชน์ เดิน “แนวทางสันติ” เคลื่อนไหวตามสภาพและโอกาส เพื่อสะสมกำลังและขยายตัว การเดินหนทางอื่นที่มิใช่สันติในสภาพการณ์เช่นนี้ มีแต่จะสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายประชาธิปไตย
ข้อเรียกร้องเฉพาะหน้าให้ยุบสภาจึงมีความเหมาะสมกับดุลกำลังเปรียบเทียบ ในขณะนั้นที่เผด็จการยึดกุมกลไกรัฐ รัฐบาลและรัฐสภาไว้ได้อย่างเด็ดขาด เป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดที่มิใช่ “แตกหักเผชิญหน้า” ไม่ใช่การขับไล่รัฐบาลหรือให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพียงแต่ให้มีการเลือกตั้งภายในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุผลและมีความชอบธรรม สามารถโน้มน้าวประชาชนจำนวนมากที่แม้จะลังเลแต่ยังมีจิตใจรักความเป็นธรรม ให้หันมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยได้
ผู้วิจารณ์บางคนกล่าวหาว่า แนวทางสันติและให้ยุบสภาเป็น “แนวทางปฏิรูป” คำถามคือ แล้วสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” คืออะไร? คำตอบหนึ่งที่ได้คือ “การเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยมาเป็นระบอบประชาธิปไตย” แต่ปัญหาคือ นิยาม “แนวทางปฏิวัติ” ที่ว่านี้ต่างจากเป้าหมายของ นปช. อย่างไร? นปช.แดงทั้งแผ่นดินมิได้กำลังต่อสู้เพื่อโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยอยู่หรอก หรือ? ถ้าผู้วิจารณ์เหล่านี้ปฏิเสธการเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญหรือนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงใช้ใหม่ โดยกล่าวหาว่า เป็น “แนวทางปฏิรูป” แล้วพวกเขาจะให้ประชาชนต่อสู้อย่างไร?
บางคนอ้างถึง “แก้วสามประการ” ว่าเป็น “แนวทางปฏิวัติ” ทฤษฎี “แก้วสามประการ” เป็นบทเรียนที่สรุปมาจากประสบการณ์ในการปฏิวัติของจีน ประกอบด้วยพรรคปฏิวัติ กองกำลังติดอาวุธ และแนวร่วมทางการเมือง ทฤษฎีดังกล่าวเกิดขึ้นในปริบทเฉพาะของประเทศจีนยุค ค.ศ.1930-1949 ที่ตกอยู่ในสงครามกลางเมืองและการรุกรานจากต่างชาติ ผู้ปกครองดำเนินระบอบเผด็จการเต็มรูป ไม่มีช่องว่างทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้ฝ่ายต่อต้านได้เคลื่อนไหว ทั้งดำเนินนโยบายเข่นฆ่าจับกุมคุมขังประชาชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้ที่อ้าง “แก้วสามประการ” ไม่มีความเข้าใจถึงรากฐานที่มาและปริบทดังกล่าว ไม่เข้าใจว่า สภาพการณ์ของประเทศไทยและลักษณะเฉพาะของขบวนการประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
แท้ที่จริง ผู้ที่เสนอทฤษฎี “แก้วสามประการ” กำลังใช้ทฤษฎีดังกล่าวเป็นเครื่องอำพรางความโน้มเอียงในทาง “การทหาร” ของตน ด้วยการประเมินอย่างผิดๆ ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไทยในขั้นปัจจุบัน “สุกงอม” แล้ว มองไม่เห็นความเป็นจริงเฉพาะหน้าที่ดุลกำลังทั้งทางการเมืองและการทหารของ ฝ่ายเผด็จการนั้นเหนือกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีทางเทียบกันได้ ความโน้มเอียงในทางทหารดังกล่าวอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่าง “สุ่มเสี่ยง” เพ้อฝันที่จะใช้ยุทธวิธี “เผชิญหน้าแตกหัก” ในขั้นตอนปัจจุบันไปบรรลุเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีแต่จะก่อความเสียหายให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยเอง
3. ประเมินความโหดร้ายของฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป
แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน มีจุดอ่อนสำคัญคือ ประเมินความโหดร้ายของฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป แม้จะมีสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2553 แล้วว่า ฝ่ายเผด็จการได้ตระเตรียมแผนการและกำลังเพื่อการปราบปรามประชาชน
แกนนำบางส่วนเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่า ฝ่ายเผด็จการจะไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างแน่นอนเนื่องจากได้เรียนรู้ บทเรียนอดีตหลายครั้งแล้วว่า การใช้กำลังรุนแรงมีแต่จะทำให้ประชาชนยิ่งโกรธแค้น การต่อสู้ยิ่งลุกลามขยายออกไป ฉะนั้น หากฝ่ายประชาธิปไตยเคลื่อนไหวกดดันอย่างเหนียวแน่น ฝ่ายเผด็จการก็จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหันมาประนีประนอมอ่อนข้อ (เช่น ด้วยการยุบสภา)
แกนนำอีกส่วนยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายเผด็จการจะใช้กำลังปราบปรามประชาชน แต่พวกเขายังคงยึดติดอยู่กับประสบการณ์จากกรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 โดยเชื่ออย่างลมๆ แล้งๆ ว่า หากฝ่ายเผด็จการลงมือปราบปรามประชาชน ความพยายามดังกล่าวจะล้มเหลว และในเมื่อไม่สามารถเอาชนะฝ่ายประชาชนในทางทหารได้อย่างเด็ดขาด เหตุการณ์ก็จะต้องคลี่คลายไปในรูปของ “พฤษภาคม
ความล้มเหลวของฝ่ายเผด็จการในการใช้กำลังปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กลับยิ่งไปตอกย้ำการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าวทั้งใน หมู่แกนนำและในหมู่มวลชนมากยิ่งขึ้น
กรณี 10 เมษายน 2553 ก่อให้เกิดความโกรธแค้นและมุ่งมั่นในหมู่มวลชนที่จะยืนหยัดต่อสู้ให้ถึงที่ สุด และมีผลทางลบที่สำคัญคือ ทั้งแกนนำและมวลชนจำนวนมากประเมินภัยอันตรายจากฝ่ายเผด็จการต่ำลงไปอย่างมาก เกิดความเชื่อโดยทั่วไปว่า ฝ่ายเผด็จการได้ประสบความพ่ายแพ้ทางทหารและสูญเสียขวัญกำลังใจอย่างมาก จนไม่มีทางที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนได้อีก พวกเขาประเมินดุลกำลังทางการเมืองและการทหารของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างไม่เป็น จริง เกิดกระแส “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ขึ้นสูงทั้งในหมู่แกนนำและมวลชนบางส่วน และเมื่อฝ่ายรัฐบาลรุกกลับทางการเมืองด้วยการเสนอ “แผนปรองดองห้าข้อ” แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ก็ต้องเผชิญกับคู่ความขัดแย้งใหญ่ทางยุทธศาสตร์ที่พวกเขาไม่สามารถแก้ให้ตก ได้คือ ความขัดแย้งระหว่างการยึดแนวทางสันติและให้ยุบสภาในด้านหนึ่ง กับความต้องการของแกนนำบางส่วนและมวลชนที่มุ่งเผชิญหน้ากับเผด็จการโดยตรง และทันทีในอีกด้านหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น