Fri, 2010-10-08 18:32
วรางคณา (วณิชาชีวะ) โกศลวิทยานันต์
3 ตุลาคม 2553
ชื่อบทความเดิม: ‘วิจารณ์ซ้อนวิจารณ์’ ข้อกังขาว่าด้วย ‘วิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ หรือวิจารณ์เพื่อทำลาย’
“เป็นบทความใฝ่ต่ำของประชาไท”
เป็นประโยคที่ผู้อ่านท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานความคิดเห็นในบท ความเรื่อง “ความเห็นในห้องน้ำ” ซึ่งลงประชาไทออนไลน์ในวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม นี้เอง ดิฉันเปิดเข้าไปอ่านเรื่องนี้ด้วยความสนใจในเบื้องต้น คือการพาดหัวที่ดึงความสนใจ และเมื่อได้อ่านทุกตัวอักษรแล้วยิ่งชอบทั้งภาษาที่ใช้ และประเด็นที่สำเสนอ
ผู้เขียนบทความมีกลวิธีนำเสนอสาระที่กลมกลืมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ ผอ.ประชาไทถูกจับได้เป็นอย่างดี
ผู้เขียนบทความดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อเสียงเรียงนามชัดเจน ประเด็นที่จับได้สำหรับบทความที่โดนใจคือ สภาวการณ์การเมืองไทยเราตอนนี้เรา (ประชาชนทั่วไป) ไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงความคิด ไม่มีเสรีภาพในการแสดงคิดเห็นอีกแล้ว จึงได้พากันเขียนความอัดอั้นตันใจต่างๆ ในส้วมสาธารณะ
Theme หลักในบทความ “ความเห็นในห้องน้ำ” ที่ดิฉันพอจะจับได้ คือ การเปรียบเทียบเชิงคู่ขนานกันประเด็นที่ ผอ.เว็บประชาไทถูกจับที่สุวรรณภูมิ พร้อมข้อกล่าวหามากมายตั้งแต่ ม.112 (ข้อหาหมิ่นฯ) เป็นการเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์ว่า เสรีภาพในการคิดการเขียนมันหมดไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อออนไลน์อย่างประชาไท ผู้คนถึงต้องมาระบายความอัดอั้นตันใจด้วยการเขียนข้อความในส้วม สาธารณะ แล้วอย่างนี้เจ้าของส้วมสาธารณะจะถูกตำรวจจับฐานเป็นตัวกลางเผยแพร่ ข้อมูล (ลับๆ ระหว่างปลดทุกข์) หรือเปล่านี้ เป็นการล้อเลียนและเทียบเคียงที่สมูธมาก
ดิฉันอ่าน comment ที่มีต่อบทความดังกล่าว (ที่ว่าบทความใฝ่ต่ำของประชาไท) แล้วถึงกลับส่ายหน้าเจือกับความฉงนสนเท่ห์ และออกจะตกใจในการใช้คำว่า “ใฝ่ต่ำ” ของผู้วิจารณ์ท่านนี้
การใช้คำพูดลักษณะนี้พบเห็นบ่อยมากเท่าที่ติดตามประชาไทมา แต่ในมุมมองของดิฉันนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้เป็นการประเมินงานผู้อื่นด้วยอีโก้และอารมณ์ล้วนๆ ไม่มีทางออกที่สร้างสรรค์ ไม่พูดแม้กระทั่งข้อดีหรือสิ่งที่ควรปรับปรุงเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน หรือเพื่อ “วิทยาทาน” ยังดีเสียกว่า
ในมุมมองของดิฉัน ข่าวและบทความที่ลงในประชาไทนั้นน่าสนใจและมีความหลากหลายในทางความคิดมาก ดิฉันจึงติดตามอ่านเรื่อยมา เพราะเป็นสื่อทางเลือกที่กล้าหาญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดบทความจากประชาชนทั่วไปที่ส่งเรื่องเข้ามาแล้ว พิจารณาโดยไม่สนว่าคุณจะเป็นคนสังกัดใด สีไหน ถ้าประเด็นดีก็ได้ลง
ดังนั้นข่าวและบทความในประชาไทจึงมีจุดเด่น ขณะเดียวกันก็เป็น “เป้า” ให้ฝ่ายเผด็จการจ้องจะทำลายล้างเพราะอยู่ในฝ่ายที่ก้าวหน้ากว่า
ประชาไทจึงเป็นเสมือนเวทีสาธารณะแห่งความคิดเห็นที่หลากมุมมอง หลายประเด็น โดยเปิดโอกาสให้คนที่เข้าไปอ่านสามารถแสดงความคิดเห็นในส่วนท้ายของบทความ นั้นๆ ได้
การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีรีแอคชั่นเป็นสื่อที่มีความก้าวหน้ามาก เป็นการเคารพในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในโลกประชาธิปไตยเขาก็มีสื่อในลักษณะนี้กันทั้งนั้น
ทั้งนี้ความคิดเห็นต่างที่ว่า พึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของความคิดเห็นที่แตกต่าง ใครจะไปละเมิดผู้อื่นก็ไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยก็ระบุชัดทุกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญปี40 หรือปี 50 เองก็เถอะ ส่วนภาคปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าจะกระทำเช่นไร
ด้วยความที่อยากแลกเปลี่ยนมุมมอง และอยากรู้ว่าผู้อื่นจะมีความคิดเห็นไปในทางใดได้บ้าง ดังนั้นพื้นที่ให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็น(comment ) ต่อจากบทความนั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันชอบอ่านและวิเคราะห์เป็นที่สุด เพราะเป็นเวทีให้ถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แม้จะไม่ถึงตัวเท่าการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือการสื่อสารสองทางก็ตาม (two way communication)แต่มีเว็บประชาไทเป็นสื่อกลาง ของความคิดเห็นต่างๆ ที่ผู้อ่านสามารถเข้าไป และเสนอความคิดเห็นในกรณีที่เห็นในแง่มุมบางประการที่ต่างออกไปและโต้ตอบกัน อย่างปัญญาชน
บางความคิดเห็นพออ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติม ได้แง่มุมใหม่ๆ ในประเด็นเดิมได้ดีทีเดียว เช่นในข้อกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหมิ่น พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันสนใจ แต่ยังรู้น้อยมาก
บางคนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ในหลักการ หลักทฤษฎีที่น่าเชื่อถือเพื่อถกหาทางออกให้กับปัญหาบ้านเมือง บางความเห็นอิงหลักศาสนา ก็เป็นอีกเรื่องที่ดิฉันสนใจ
แต่หลายครั้งในบทคอมเมนต์บนกระดานความคิดบนเว็บ มักปรากฏถ้อยคำหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยามความเห็นของผู้อื่นโดยอิงตัวตน (Ego) ที่ใหญ่โตมหาศาล ในบางบทวิจารณ์ก็ใส่สีตีไข่ ใส่อารมณ์เก็บกดชิงชังต่างๆ มากมาย
หลายคนอาจมองเป็นเรื่องปกติวิสัยของสื่อประเภทออนไลน์ แต่ดิฉันกลับไม่คิดอย่างนั้น และไม่อยากจะให้ปล่อยเลยตามเลย กลับเกิดความกังขา และอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับความเห็นซ้อนความเห็นขึ้นมา
เริ่มจากดิฉันมักสะดุดกับข้อความที่ comment ด้วยตัวตนแรงๆ (Ego) หรือ วิจารณ์โดยพื้นฐานที่ผ่านการจัดตั้งทางความคิดมาเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บทความหรือความเห็นไหนคิดต่างก็ใส่สีให้บ้าง เหน็บแนมด้วยผรุสวาทก็มี (ดิฉันไม่ขอยกตัวอย่าง เพราะผู้อ่านที่เข้ามาอ่านในประชาไทออนไลน์คงจะเคยเห็นอยู่แล้ว)
แม้ในท้ายของบทความจะเป็นโอกาสให้ ผู้แสดงความคิดเห็นจะสามารถเขียนอะไรได้มากมายกว่าการพูดต่อหน้าสาธารณะก็ ตาม แต่ดิฉันกลับรู้สึกว่า บางความเห็นนั้นหยาบคาย หยาบโลนในคำที่ใช้ อวดรู้ในการแสดงความคิดเห็นต่างที่ออกจะเป็นการข่มเจ้าของบทความหรือดูถูก ความคิดเห็นในบทความนั้นๆ อย่างออกนอกหน้า
ที่ร้ายแรงที่สุดเห็นจะเป็นการด่าทอที่ตัวบุคคลด้วยคำพูดที่คนมีการศึกษา แล้วเขาไม่น่าทำกัน เหมือนเก็บกดกับอะไรมาสักอย่าง แล้วเข้ามาละเลงอารมณ์ตัวเองผ่านงานหรือความคิดเห็นผู้อื่นโดยขาดซึ่งความ ความรับผิดชอบต่อขอบเขตสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นอย่างร้ายกาจ
สำหรับคอมเมนต์ที่ว่า “เป็นบทความใฝ่ต่ำของประชาไท” เป็นความหยาบคายอย่างร้ายแรงสำหรับดิฉัน เพราะเป็นการประเมินที่เอาอีโก้ตัวเองมาทำลายงาน ทำลายสื่อที่เลือกลง เป็นการดิสเครดิตกันอย่างไม่เกรงใจ ดูถูกคนอื่น แสดงความสะใจประเภทซาดิสต์ ซึ่งดิฉันตีความว่าน่าจะเป็นการทำงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือผ่านการจัดตั้งทางความคิดชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแน่
ดิฉันก็พอจะวิเคราะห์และเดาคร่าวๆ ได้ว่าเจ้าของความเห็นมีบุคลิกภาพเช่นไร หรืออยู่ในวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างใด แม้ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน
ช่องโหว่ของสื่อออนไลน์คือ เราไม่เห็นตัวผู้ที่เราสนทนา ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น และนี่เองคือที่มาแห่งความก้าวร้าวทางความคิดที่แสดงตนผ่านสันดาน “ดิบ” และ “เถื่อน” เช่นนี้
ดิฉันขบคิดอยู่นานมากเป็นปีๆ สำหรับประเด็นการเขียนคอมเมนต์ในลักษณะนี้ และถึงเวลาที่ต้องพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาเสียที แม้ใครๆ จะอ้างเรื่อง “สิทธิในการแสดงความคิดเห็น” ก็ตามเถอะ มันต้องมีลิมิทคะ ถูกคะที่เรามีสิทธินั้น ตราบใดที่การพูดการเขียนของเราไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นในที่สาธารณะ (ในที่นี้คือสื่อออนไลน์) หรือทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียเกียรติ เสื่อมเสียชื่อเสียง
อาจ...เป็นเพราะในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริงเรามองไม่เห็นหน้ากันและ กัน ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากไหน การแสดงความคิดเห็นจึงออกมาในรูปแบบที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของใคร ไม่ว่าจะด้วยการขุดภาษาสมัยพ่อขุนรามคำแหง มาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่ต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของกันและกัน
ความสะใจ หรือการทำให้ได้อายชนิดขุดรากถอนโคนกันไปข้างหนึ่ง ด้วยคำพูดที่ไร้วัฒนธรรมเช่นนี้มันออกจะเผด็จการทางความคิดโดยใช้อาวุธที่ แสบคัน เผ็ดร้อนทางภาษาที่หยาบกระด้าง
ดิฉันอยากย้อนถามกลับว่า หากคุณต้องเผชิญหน้ากันโดยตรงกับผู้เขียนบทความคุณจะกล้าใช้คำพูดกักขฬะหยาบ คายหรือไม่ เวลาประชุมในที่ทำงานช่วงที่หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมองค์กรขอความคิดเห็นคุณ แสดงไปเช่นไร นั่งใบ้อยู่ หรือด่าทอออกมาทันทีในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย
ดิฉันฟันธงว่าเป็นทางเลือกแรกคะ เพราะการเห็นหน้าค่าตากันมันแสดงสถานะและวุฒิภาวะทางอามรณ์และสติปัญหา ตลอดจนสามารถสร้างศัตรูที่ชัดเจนโจ่งแจ้งเกินไป คุณไม่กล้าแน่นอนดิฉันมั่นใจ แม้กระทั่งความคิดเห็นดีๆ ที่จะเสนอกับองค์กรคุณก็ยังไม่กล้าพูดในที่สาธารณะเลย เรื่องคับข้องใจคงไม่ต้องพูดถึง คงเก็บกดไว้เช่นเดิม รอเวลาระเบิด
สังคมไทยควรเปิดโอกาสสำหรับการแสดงความคิดเห็นจากแหล่งอันหลากหลายที่ กว้างกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่แสดงต่อคนส่วนมาก เพราะหากเราได้รับความยินยอมให้ทำเช่นนี้บ่อยๆ มันจะกลายเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีสำหรับการวิพากษ์วิจารณ์เลยทีเดียว ความอัดอั้นตันใจก็คงน้อยลง แล้วคงไม่ต้องไปลงอารมณ์แย่ๆ ใส่คนหรืองานเขียนของผู้อื่น คล้ายกับการตีหัวคนอื่นแล้วปิดประตูหนีไปเข้าบ้านไปเสียอย่างนั้น ไร้ซึ่งเหตุผล ไร้ถ้อยความที่จะอธิบาย ไร้ซึ่งความเคารพต่องานเขียนของผู้อื่นชนิดที่ดิฉันไม่สามารถให้อภัยได้อีก ต่อไป
การไม่เห็นหน้าค่าตากันไม่ได้หมายความว่าคุณจะด่าทอเจ้าของบทความหรือ เจ้าของความคิดเห็นที่คุณไม่เห็นด้วยโดยไม่แคร์ความรู้สึกนึกคิด เช่นนี้ แม้กระทั่งความรู้สึกของคนที่เข้าไปอ่านก็ตามที มันก็ต้องกระทบบ้างละ เพราะเหล่านักอ่านกลายเป็นมือที่สองในการรับอารมณ์แย่ๆ ของคุณ
การเขียนหรือวิจารณ์งานผู้อื่นด้วยถ้อยความที่หยาบโลน ด่าทอเจ้าของบทความอย่างเสียๆ หายๆ หรือขุดคุ้ยถึงพ่อแม่โคตรเหง้าศักราช มันแรงและเกินเหตุหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมออนไลน์ต้องคบคิดกันให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เคยส่งบทความเข้ามาแล้วได้ลงประชาไทอยู่บ้าง ดิฉันเข้าใจความรู้สึกและสัมผัสได้คะว่า คนเขียนหนังสือจะรู้สึกเช่นไร บางคนอาจแข็งแกร่งไม่สนใจ แต่สำหรับดิฉันบางครั้งมันทำให้เสียความรู้สึกเอามากๆ กระนั้นก็ตามมันก็กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ดิฉันสร้างงานเขียนชิ้นใหม่ๆ ต่อไป
“สำหรับประชาไท บทความนี้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน กอง บก.ควรใส่ใจ และทำการบ้านมากกว่านี้ บทความโปรเสื้อแดง เชียร์ทักษิณ ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ลุ่มลึกและรักษาคุณภาพกันหน่อย ไม่ใช่ข้อเขียนด้วยอารมณ์หงุดหงิด และหาเรื่องอย่างไร้เหตุผล คล้ายๆ หญิงที่กำลังมีปะจำเดือน อิ อิ (อันนี้เทียบเคียงจากคนใกล้ตัวเลยนะ)ที่” เป็นคอมเมนต์ที่ดิฉันไปสบโดยตรงในงานของตัวเองตอนเขียนเรื่อง “ชาตินิยม” ยุทโธปกรณ์ชั้นเลิศ มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม...หรือเพื่อใคร? (ลงในประชาไทออนไลน์เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2552)
ดิฉันเกิดข้อสงสัยในทันทีว่า “มาตรฐาน” ที่ว่าของ “คุณงานกร่อย”(visitor)เอาอะไรมาวัด แล้วไม้บรรทัดวัดคุณค่าของงานของคุณมันเที่ยงตรงเพียงไร มันคืออะไร ถ้าเป็นอีโก้ เป็นความสะใจที่ได้ด่า ดิฉันว่าเจ้าของความคิดควรกลับไปทบทวนความเป็นมนุษย์ของตัวเองเสียใหม่ การทำลายใครให้เจ็บปวดแล้วรู้สึกชอบใจ สังเกตว่า ตอนท้ายลงด้วยคำว่า (อิ อิ) ดูจะเป็นสิ่งหอมหวานของคุณและกลายเป็นเรื่องปกติชาชินเสียแล้ว
เมื่ออ่านความเห็นนี้ ดิฉันสัมผัสได้ว่าเขาอยู่ข้างไหน ซึ่งไม่แปลก แต่เป็นการดูถูกและเหยียดหยามงานเขียนและตัวผู้เขียนตลอดจนกองบรรณาธิการแบบ ใช้อารมณ์ตัดสิน แต่ไร้ซึ่งเหตุผลหรือติเพื่อสร้างสรรค์ใดๆ คุณประเมินได้อย่างไรว่า สิ่งที่คุณคิดนั้นถูกต้อง หรือเพราะไม่ถูกใจจึงใช้ข้อความเช่นนี้
การนำเสนอผลงานเขียนเป็นสไตล์เฉพาะตัวคะ ขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่าทุกๆ งานดิฉันบรรจงและตั้งใจเขียนด้วยสติครบบริบูรณ์ ไร้ซึ่งอารมณ์ ตลอดจนก็ได้ทำการบ้านมาพอสมควรไม่ว่าจะค้นคว้า หรือปรึกษาผู้รู้ อ่านหนังสือเพิ่มเติม จนถึงขุดความรู้สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยมาทบทวนใหม่
ชิ้นงานหรือผลงานของนักเขียนเปรียบเสมือนภาพสะท้อนตัวตนของเจ้าของเรื่อง ต้องการแสดงทัศนะ ความคิดเห็นต่างๆ แสดงความเป็นอัตลักษณ์ในประเด็นขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยในขณะนี้
สไตล์ใครก็สไตล์มัน ก็อบปี้กันยากคะ ในหัวข้อเดียวกันมุมมองของคนแต่ละคนก็ตีความต่างกันไปตามความรู้ที่มี ตามข้อมูลที่เก็บบันทึก รวมทั้งจากทัศนคติของผู้เขียนต่างๆ ตลอดจนมีวิธีนำเสนอในการสร้างจุดเด่นในงานที่แตกต่างกัน ใครจะวิจารณ์เช่นไรก็แล้วแต่วิจารณญาณหรือจริตแต่ละคน อันนี้ไม่ว่ากัน
ประการสำคัญ สิ่งที่ฉันอยากเห็นในการวิจารณ์ที่สุดคือ การเข้าถึงเนื้อหาสาระที่ผู้เขียนกำลังจะสื่อคะ ไม่ใช่ประเด็นอื่น โดยเฉาะการมุ่งที่ “ตัวบุคล” มากกว่า “สาระ” ที่เขาต้องการสื่อ
ดิฉันอยากให้นักวิจารณ์ทั้งหลายๆ จับให้ได้ถึง “แก่น” ที่นำเสนอระหว่างบรรทัดโดยละเอียดของผู้เขียน อ่านจบแล้วจะคิดเห็นเสนอแนะประการใดก็อิงสาระหรือประเด็นเป็นหลักการและ เหตุผลข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ (มีอารมณ์ของความคิดที่ถูกจัดตั้งมาเบ็ดเสร็จ) ไม่ต้องไปวิจารณ์ถึงพ่อแม่วงศ์ตระกูล เช่นว่าเป็นลูกนักเขียนคนนั้น ต้องเขียนให้ดีเหมือนพ่อซิ หรือเขียนไม่ถูกใจในงานลูก กลับไปด่างานของพ่อ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกัน และมันก็ไม่แฟร์สำหรับผู้ถูกวิจารณ์
ลองอ่านคอมเมนต์จาก visitorที่วิจารณ์คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ในบทคาม “ปากซอยนะ พวกเราขอเลือกสิทธิที่จะไปเองได้ไหม: บทวิพากษ์ถึงวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ด้วยความปรารถนาดี
ผู้วิจารณ์ท่านนี้กล่าวว่าว่า “เคยอ่านงานเขียนของเสกสรรค์ แต่ตอนนี้เลิกอ่านแล้ว ใช้เวลาไปอ่านอะไรที่มันไม่ fake ดีกว่า ตอนนี้มาถึงวรรณสิงห์ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เขียนเหมือนอยากเป็นพระเอก แต่กลับไม่ใช่ เพราะบทที่เขียนนั้นขอโทษทีมันคือผู้ช่วยผู้ร้าย (เล่นบทเดียวกับพ่อเลย)”
แม้ดิฉันจะเห็นต่างทางการเมืองต่อ “วรรณสิงห์” ที่แสดงผ่านสื่อก็ตาม และได้แสดงความเห็นและวิจารณ์ไปด้วยเช่นกัน สาระคือคือแก่นที่เขานำเสนอ และเสนอแนะแนวทางตอบโต้ ไม่ได้ก้าวล้ำด่าทอไปถึงบุพการี ซึ่งก็คือ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกิจ ซึ่งแม้จะเป็นพ่อ แต่มันก็ไม่ใช่บทสรุปว่า ลูกต้องคิดหรือต้องเขียนเหมือนพ่อ เพราะประสบการณ์ของวรรณสิงห์ กับอาจารย์เสกสรรค์มันเป็นประวัติศาสตร์คนละยุคกันเปรียบเทียบกันไม่ได้คะ เพราะคนแต่ละยุคแต่ละสมัยอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและฐานะทางสังคมต่าง กันไป
ทัศนะวรรณสิงห์ก็แค่ความคิดของเขา ทำไมต้องหลอกด่าถึงตัวพ่อด้วย ถ้าคุณไม่ชอบก็พูดถึงเนื้อหาสาระที่อยากให้เป็นไปสิ จะเสนอแนะอะไรก็ว่าไป ดิฉันมองว่าเป็นความเห็นที่บ่งบอกถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์และสติปัญญาที่มี อยู่ของคนที่วิจารณ์นั่นแหละคะว่ามีมากน้อยเพียงไร
การมุ่งโจมตีที่ตัวบุคคลด้วยถ้อยคำที่ควรเซ็นเซอร์ (คงไม่ต้องย้ำอีกครั้งว่าเป็นคำชนิดใดสามัญสำนึกของคนรู้อยู่แล้ว) ทั้งหลายมันไม่ใช่ศิลปะในการวิจารณ์งานเขียนหรืองานศิลปะไม่ว่าจะเป็นในแขนง ใดก็ตาม
ดิฉันอยากเห็นการวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนในสื่อออนไลน์ที่เป็น อารยะกว่าที่เป็นอยู่ (สำหรับบางคอมเมนต์) หรือเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เก็บกด พอมีช่องทางให้ระบายก็ละเลงกันชนิดที่ไม่ไว้หน้าใคร ไร้หลักการ ไร้เหตุผล ไร้ซึ่งความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ซึ่งตามหลักกฎหมายก็บัญญัติไว้ว่ามีเท่ากัน
จรรยาบรรณของสื่อมวลชนกระแสหลักที่ว่าตกต่ำอย่างถึงที่สุดแล้วใน ยุคเผด็จการเรืองอำนาจเช่นเวลานี้ จรรยาบรรณของนักวิจารณ์ประเภทจิตนิยมยิ่งดิ่งลงเหวเสียยิ่งกว่า
การแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมามีเหตุมีผลมีข้อเสนอแนะและเลือกสรรคำพูด ที่เหมาะสมแล้วเท่านั้นคะที่ดิฉันอยากเห็นในกระดานความคิดเห็น ชอบไม่ชอบเอาสาระมานำเสนอ ไม่ใช่ข้อความที่เกลื่อนไปด้วยอคติส่วนตัวอย่างที่นักรบไซเบอร์ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมกระทำอยู่ขณะนี้...มันสุดจะทน และมันห่างไกลของจินตภาพว่าด้วยการวิจารณ์อย่างไม่มีวันมาพบกันหรือปรองดอง กันได้
นี่คือการเริ่มต้นแห่งประชาธิปไตยที่ใกล้ตัวคุณที่สุด อย่าใฝ่ถึงประชาธิปไตยแต่เพียงปาก แต่ตากลับขยิบรับกับกิเลศแห่งเผด็จการ.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น