Fri, 2010-10-08 16:03
นักปรัชญาชายขอบ
คุณหมอประเวศ วะสี เขียนและพูดเรื่อง “ปฏิวัติจิตสำนึก” และการแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” มานานกว่าทศวรรษแล้ว ล่าสุดเขียนเรื่องปฏิรูปจิตสำนึกลงมติชน (9 ต.ค.53) อีก อ้างคำพูดของไอสไตน์ที่ว่า “ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง” อ้างลาสโล โกรฟ และรัสเซลล์ที่ว่า “มีทางเดียวเท่านั้นที่โลกจะหลุดพ้นจากวิกฤตคือปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution)”
และคุณหมอก็พูดถึง “จิตเล็ก” แคบมองอะไรแบบแยกส่วน เป็นเขา เป็นเรา ทำให้เห็นแก่ตัว มีอคติ ไม่เห็นความจริงทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุของวิกฤตในชีวิตและโลก ทางแก้จึงต้องปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ให้มี “จิตใหญ่” ที่มองเห็นองค์รวม ไม่แยกส่วน เห็นสัจธรรมตามธรรมชาติที่ว่าหนึ่งเดียวคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว จะทำให้เราลดความเห็นแก่ตัว รักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติ และแก้วิกฤตต่างๆได้ ซึ่งเป็นการพูดซ้ำๆ กับที่ผ่านๆ มา
ผม เห็นว่าข้อเสนอของคุณหมอประเวศนั้นสวยงาม และเมื่อนำมาโยงกับข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยิ่งน่าสนใจ แต่ในเรื่องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างผมติดใจอยู่ตรงที่ว่า ในช่วงต่อสู้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 คุณหมอสามารถผลักดันได้สำเร็จ เนื่องจากตอนนั้นคุณหมออยู่ฝ่ายประชาชนที่ปฏิเสธรัฐประหาร และรับไม่ได้กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในนาม “ปฏิรูปประเทศ” ในปีนี้ คุณหมอพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมไทย แต่ภาพของคุณหมอกลับอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนผู้เสียเปรียบทั้งด้านอำนาจ ต่อรองทางการเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ฉะนั้น ต้นทุนทางสังคมของคุณหมอที่มีอยู่บวกกับต้นทุนทางสังคมของ คุณอานันท์ ปันยารชุน นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และปัญญาชนอื่นๆแล้วก็แทบจะไม่มีพลังโน้มน้าวมโนธรรมของสังคมให้คล้อยตาม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตอนที่สู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 2540
ส่วนประเด็น “ปฏิวัติจิตสำนึกใหม่” มันไม่มีทางเป็นไปได้หรอกครับ ถ้าเราไม่ “ปฏิวัติเสรีภาพในการพูดความจริง” ต่อให้คนมี “จิตใหญ่” เห็นความจริงทั้งหมด แต่ว่าพูดความจริงทั้งหมดไม่ได้แล้วมันจะมีความหมายอะไรครับ เช่น เราเห็นความจริงทั้งหมดว่าปัญหาวิกฤต 4-5 ปีมานี้มันเกิดจากอำนาจในระบบ อำนาจนอกระบบ แต่เราก็พูดถึงอำนาจนอกระบบได้แค่เลียบๆเคียงๆ หรือพูดถึงได้แค่เพียงผิวเผินไม่สามารถพูดได้ตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่เหมือน ที่พูดถึงอำนาจในระบบ อย่างนี้ต่อให้ปัจเจกบุคคลมี “จิตใหญ่” กันทั้งประเทศมันจะแก้ปัญหาได้อย่างไรครับ
คือ ถ้าคุณหมอประเวศเสนอเรื่องปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ควบคู่ไปกับการเรียกร้อง เสรีภาพในการพูดความจริง เช่น เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ให้ใครก็ได้เอามาใช้ทำลายกัน ทางการเมือง หรือที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เป็นต้น ผมว่าข้อเสนอของคุณหมอจะมีน้ำหนักน่ารับฟัง
ที่ผมแปลกใจมากอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องปฏิวัติจิตสำนึกหรือ “จิตใหญ่” ของคุณหมอนี่ เห็นพูดถึงแต่เรื่องเห็นความจริงทั้งหมด แยกส่วน ไม่แยกส่วน เป็นต้น แต่ไม่เห็นพูดถึง “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” เลย เวลาพูดเรื่องเสรีภาพคุณหมอออกจะมองในเชิงลบด้วยซ้ำ เช่นที่วิจารณ์บ่อยๆว่า ปัจจุบันผู้คนบูชาลัทธิปัจเจกชนนิยมเสรี ที่ชอบมีเสรีภาพแบบเห็นแก่ตัว ตามอำเภอใจ ตามใจกิเลส อะไรทำนองนั้น
ซึ่งผมก็ยิ่งแปลกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคุณหมอชอบอ้างพุทธศาสนาอยู่เสมอๆเลย แต่ให้คุณค่าน้อยกับ “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” เพราะตามความเข้าใจของผมหลักกาลามสูตรคือสิ่งที่แสดงว่าพุทธศาสนาให้ความ สำคัญสูงสุดในจิตสำนึกรักเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และเสรีภาพทางศีลธรรม คือให้เรามีเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวนี้โดยไม่สยบยอมต่ออำนาจใดๆ
แต่วิธีคิดของปัญญาชนในปัจจุบันก็มีปัญหามาก ลองสังเกตข้อความต่อไปนี้นะครับ เป็นความเห็นของ เสกสรร ประเสริฐกุล ที่ตอบคำถามว่า โลกทัศน์เรื่อง "ประชาธิปไตย" ของคุณทักษิณเป็นอย่างไร
”ผมคิด ว่าคงไม่ต่างจากนักการเมืองในระบบเลือกตั้งมากนัก คือมองประชาธิปไตยเป็นแค่กระบวนการสรรหาผู้กุมอำนาจ แล้วก็ถือว่าเรื่องจบลงแค่ตรงนั้น ก็คือถ้ามีการเลือกตั้ง แล้วมีการแพ้ชนะในการเลือกตั้ง ก็ถือว่า มีประชาธิปไตย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้วในระหว่าง 4 ปี ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ผู้คนในสังคมที่ซับซ้อนอย่างสังคมไทยย่อมมีเรื่องที่อยากจะแสดงความคิด ความเห็น มีเรื่องที่จะต้องโต้แย้งกับรัฐบาล หรือแม้แต่คนที่เลือกรัฐบาลเข้ามาก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลใน ระหว่าง 4 ปีนี้ก็ได้
แต่ดังที่เรารู้ ๆ กัน คุณทักษิณไม่ค่อยชอบให้ใครมาโต้เถียง แล้วก็ถือว่าตัวเองได้รับความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง จึงเที่ยวไปทะเลาะกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือวิจารณ์นายกรัฐมนตรี ดังเราจะเห็นว่าในระยะนั้นคุณทักษิณได้ออกมาโต้กับนักวิชาการแทบจะทุกคน ไม่มีใครเหลือรอด กระทั่งถูกนายกฯว่ากล่าวเสีย ๆ หาย ๆ ตรงจุดนี้ ผมคิดว่าคุณทักษิณพลาด และมันเท่ากับ ไปลดพื้นที่ทางการเมืองของคนอื่นให้ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น แม้เราอาจจะยอมรับว่า คุณทักษิณเป็นนักการเมืองที่เก่ง เป็นนักบริหารธุรกิจที่มีความสามารถ แต่ก็พบว่าคุณทักษิณไม่เข้าใจศาสตร์ของการปกครอง ศาสตร์ของการปกครองนั้นมันลึกซึ้ง และต้องการความเข้าใจมนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจตรง ๆ” (มติชนออนไลน์, 7 ต.ค.53)
ผมไม่ต้องการจะปกป้องคุณทักษิณจากข้อวิจารณ์นี้นะครับ แต่ความจริงมันไม่น่าจะ Extreme ถึง ขนาดว่าเลือกตั้งจบ ชนะเลือกตั้งก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว มันยังมีการนำนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนมาปฏิบัติด้วย และนั่นจึงทำให้มีคนรักทักษิณมาจนทุกวันนี้ ส่วนที่ว่าคุณทักษิณไม่ชอบให้ใครมาโต้เถียงหรือด่าใครต่อใครที่เห็นต่างนั้น มันก็ไม่ถึงกับจับใครต่อใครที่วิพากษ์วิจารณ์หรือด่าคุณทักษิณไปติดคุก ไม่ปิดสื่อ ไม่คุกคามเสรีภาพประชาชนทุกรูปแบบเหมือนทุกวันนี้
และที่บอกว่าคุณทักษิณไป“ลดพื้นที่ทางการเมืองของคนอื่นให้เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ” ถ้าเทียบกับตอนนี้แล้วมันก็ต่างกันมาก แล้วที่ว่า”ศาสตร์ของการปกครองนั้นมันลึกซึ้ง และต้องการความเข้าใจมนุษย์มากกว่าการใช้อำนาจตรง ๆ” นั้น มันก็ไม่มียุคไหนที่การปกครองมันไปทำลายความเป็นมนุษย์ (เสรีภาพ) และใช้อำนาจตรงๆ กับมนุษย์มากเท่ากับยุคนี้ ใช้อำนาจตรงๆถึงขนาดประชาชนตาย 91 ศพ ก็ยังไม่จริงจังกับการทำความจริงให้ปรากฏและแสดงความรับผิดชอบใดๆ
จึง น่าแปลกใจว่า อาจารย์เสกสรรค์มองเห็นปัญหาการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของทักษิณ แต่ทำไมมองไม่เห็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าในยุคนี้ แล้วทำไมเมื่อมองย้อนไปก่อน 19 กันยา 49 จึงมองเห็นแต่ “ทักษิณ” แต่ไม่มองเห็น “ประชาชน” เลย แม้จนบัดนี้ก็ดูจะไม่เชื่อในเรื่อง “การเลือกตั้ง”
คือ ถ้านักวิชาการอย่างคุณหมอประเวศ สายปฏิรูปประเทศ เสื้อเหลือง จะซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เขาควรจะยอมรับตรงๆ ว่า เขาไม่เชื่อถือการตัดสินใจของประชน ไม่ยอมรับเสรีภาพทางศีลธรรมของประชาชน ฉะนั้น เขาจึงควรคิดแทน ตัดสินถูก-ผิด แทน และไม่แคร์กับอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงและผูกขาดการตัดสิน ถูก-ผิดทางศีลธรรมเชิงบรรทัดฐานต่างๆ ของสังคมนี้
แล้วอย่างนี้จะปฏิวัติจิตสำนึกใหม่อย่างไร จะมีจิตใหญ่อย่างไร ในเมื่อไม่ส่งเสริม “จิตสำนึกรักเสรีภาพ” ซ้ำยังมี “สองมาตรฐาน” ในการตัดสินอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น