Tue, 2010-10-26 00:15
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ประวิตร: ทำไมคุณจึงคิดว่าอาจมีรัฐประหารอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
พ.อ.ธีรนันท์: เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งทางการ เมืองยังไม่สงบเสียทีเดียว มันเป็นความเชื่อที่ตกค้างมาจากในอดีต และในการทำรัฐประหารครั้งที่แล้ว กองทัพได้เข้ามาใกล้กับการเมืองในระยะใกล้เกินไป ทำให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกของนักการเมือง แทนที่จะเป็นกลไกของรัฐในการทำงานเรื่องความมั่นคง วันนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดรัฐประหาร ผมเองก็ไม่อยากให้เกิด และผมเองก็เชื่อมาตลอดว่ามันจะไม่เกิด แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิด เพราะมันจะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ คือต้องยอมรับว่าช่วงพฤษภาทมิฬ กองทัพได้ห่างจากวงจรอุบาทว์ไปพักหนึ่ง ออกไปยืนในจุดที่ดี แต่อาจเพราะกลุ่มการเมืองดึงเข้ามาหรือผู้นำทหารในยุคหนึ่ง ดึงเข้ามา ทำให้วันนี้กองทัพจะถอยตัวออกไปยืน ก็ไม่ง่าย มันต้องใช้เวลา หากถอยออกมาห่างได้ไม่พอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะกลับเข้ามาสู่วงจรที่เราไม่ชอบกัน ก็คือวงจรอุบาทว์
ถ้ามีรัฐประหาร ประเทศไทยก็จะถอยหลังเข้าใกล้กับโมเดลพม่าเข้าไปทุกทีหรือเปล่า
ผมว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงในพม่ายุคนั้นข้อมูลข่าวสารสื่อสารลำบาก แต่ในปัจจุบันการสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อาจจะมีความพยายามเข้าไปสู่จุดนั้น แต่ผมว่ามันไม่ง่าย เราไม่สามารถปิดกั้นได้ขนาดนั้น
ในฐานะทหารที่มีมุมมองทางประชาธิปไตย บทบาททหารไทยควรจะเป็นอย่างไร
ช่วงใกล้ เป็นช่วงความขัดแย้ง อาจมีความใกล้กับการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเยอะ แต่ในระยะยาว มองถึงความเป็นทหารอาชีพ ที่ยืนอยู่ในจุดที่เหมาะสมของสังคมไทย มีบริบทในการป้องกันประเทศ ส่วนความขัดแย้งภายใน ถ้าไม่จำเป็นในอนาคตควรจะเป็นเรื่องของภาคส่วนอื่นๆ เช่น ตำรวจ ทส. หรือคนอื่นๆ มากกว่าทหาร
แต่ดูเหมือนทหารไทยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่จบสิ้นเสียที จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 2475 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
มันเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาจากอดีตถึงปัจจุบัน คิดว่าทหารเองก็พยายามปรับ และคนในกองทัพหลายคนพูดกันเยอะเรื่องกองทัพอาชีพ และการชนกันของกลุ่มอำนาจทหารกับพลังของประชาชนในช่วง 2535 ทำให้เกิดแรงผลักให้ทหารกลับไปยืนในจุดที่ดี หลัง 35 เราไปยืนในจุดที่ดีมากจนถูกดึงเข้ามาในช่วง 19 กันยาที่ผ่านมา คิดว่าวันนี้ทหารหลายคนก็อยากจะกลับไปยืนที่จุดเดิม เพียงแต่ความพัวพันของสถานการณ์ยังทำให้เราถอยออกไปยืนไม่ได้
คุณคิดว่าทหารต้องมีส่วนรับผิดชอบกับกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ หรือไม่ อย่างไร
วันนี้เราเป็นจำเลยของสังคม ผมเคยพูดในหลายที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สั่งใช้ทหาร เราจะเป็นจำเลยของสังคมทันทีไม่ว่าจะมีการสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะต้องไม่ลืมว่าทหารถูกฝึกมาเพื่อบริหารจัดการความรุนแรงโดยใช้ความ รุนแรง พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราเป็นคนที่ใช้กำลังในการจัดการอริราชศัตรู เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสั่งให้ทหารเข้าปฏิบัติการ ก็อาจมีโอกาสเกิดความสูญเสียขึ้นได้ ผมไม่ได้ป้องกันหรือแก้ตัวให้ใครแต่ผมมองว่าทั้งหลายทั้งมวล คือความรับผิดชอบของผู้สั่งการ เพราะทหารทำตามที่ได้รับคำสั่ง อยากให้เห็นใจผู้ปฏิบัติงาน
อยากบอกอะไรต่อเพื่อน พี่น้องหรือผู้บังคับบัญชาทหารที่ตอนนี้นิยมชมชอบกับการรัฐประหาร เพราะตอนนี้ก็มีคนกลัว ไม่เพียงแต่คุณ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ก็ออกมาพูดว่าอาจจะไม่มีเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้
คงไม่ฝากอะไรถึงใคร เพียงแต่อยากจะบอกว่าทุกคนรู้อยู่แล้วว่า การทำรัฐประหารไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าแต่ทำให้เราถอยหลัง แต่จะทำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจ เพราะฉะนั้นทุกคนด้วยความเป็นทหาร ก็อยู่ในเรื่องของระเบียบวินัย เมื่อสั่งการมาก็ต้องปฏิบัติตาม
ทำไมคนไทยจำนวนมากในสังคมนี้จึงคิดพึ่งทหารบ่อยเหลือเกิน คราวที่แล้วเมื่อ 19 กันยา 49 ก็มีการเอาดอกไม้ไปให้
ต้องโทษสังคมไทย เรามักจะรอพระเอกขี่ม้าขาว มักจะไม่ยอมให้ปัญหามันถึงที่สุดแล้วแก้หรือหาทางเลือกที่ดี แต่เรามักจะเลือกทางแก้ปัญหาอะไรก็ได้ให้มันยุติลง โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ความรู้กับสังคมไทยว่าเราควรจะเลือกที่จะแก้ปัญหาโดย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ ไม่ควรดึงเอากองทัพเข้ามาวุ่นวายด้วย
ในความเห็นของคุณ ทำไมอเมริกาจึงไม่มีรัฐประหาร
แตกต่างกันแน่นอน ในอเมริกา การเกิดขึ้นของประเทศเขา มีรากฐานมาจากการต่อสู้และเขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน และผ่านวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่คือสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นบริบทที่ผมคิดว่าสร้างบทเรียนสำคัญให้กับสหรัฐฯ และที่สำคัญคือโครงสร้างของกองทัพมีบริบทของการเตรียมกำลังและใช้กำลังที่ แยกจากกันอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เตรียมกำลังก็ไม่สามารถสั่งใช้กำลังได้
ถึงแม้จะเป็นกองทัพที่ มีแสนยานุภาพสูงที่สุดในโลก คือถ้ามองในแง่นี้อเมริกาอาจจะทำรัฐประหารได้ง่ายที่สุด เพราะทหารมีอาวุธครบทุกอย่าง
ใช่ครับ แต่อยากให้มองว่าการใช้กองทัพจะมีอยู่หลายภาค หนึ่ง เกณฑ์กำลัง สอง จัดกำลัง สาม ใช้กำลัง สามอันนี้ควรจะมีการแยกส่วน เพราะถ้ารวมอยู่ที่เดียว มันจะเป็น absolute power แต่เราเตรียมโดยคนกลุ่มหนึ่ง สร้างพิมพ์เขียวขึ้นมา แล้วจัดโดยคนกลุ่มหนึ่ง แล้วใช้โดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ความหมายของการจัด เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขึ้นมา ผู้จัดอาจจะเป็นสภาหรือฝ่ายบริหาร แต่ผู้ที่จะใช้กำลัง ต้องได้รับการเลือกสรรโดยผู้มีอำนาจ เพราะฉะนั้น คนที่เตรียมกำลัง เมื่อไม่สามารถใช้กำลังได้ ก็จะไม่สามารถเคลื่อนไหวโดยเอากองทัพไปใช้ในเรื่องส่วนตัวได้
ของไทยเป็นแบบรวมศูนย์หรือ
ของไทยคือการจัดกำลัง เตรียมกำลัง และใช้กำลังเป็นอำนาจของผู้นำเหล่าทัพ เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในสภาพของ absolute power อยู่อย่างนี้ มันจึงมีความแตกต่าง เพราะโครงสร้างที่มีมาแต่อดีต จึงทำให้ไม่เหมือนสหรัฐฯ
ในความเห็นของคุณ ทหารจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีสถานีโทรทัศน์และวิทยุจำนวนมาก ซึ่งในต่างประเทศ มีกองทัพไม่กี่ประเทศที่ทหารมีทีวี ที่ผมเข้าใจเช่น กองทัพอเมริกาที่เกาหลี ที่มีทีวีก็เป็นทีวีเฉพาะให้ทหารของอเมริกันที่ประจำอยู่ต่างประเทศดู แต่ไม่ใช่ทีวีแบบช่อง 5
การเกิดขึ้นของทีวีวิทยุทหารเกิดในช่วงสงครามเย็น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ปัจจุบันมันก็สืบทอดมา แต่ในอนาคตน่าจะเป็นแบบที่หลายคนมองกัน คือมีทีวี 3 รูปแบบ คือทีวีเพื่อธุรกิจ เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งจะมีภาคธุรกิจเข้ามายุ่งน้อย มีโฆษณาน้อย และสุดท้ายคือทีวีท้องถิ่นหรือทีวีชุมชน ถ้าเราจัดโครงสร้างได้แบบนี้ก็จะไม่เป็นแบบในปัจจุบัน แต่หากเรามีแล้ว หากใช้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการไม่มี หมายความว่าในช่วงเกิดภาวะวิกฤต เราก็จะไม่มีอิสระในการใช้ช่วงเวลาได้อย่างที่เราต้องการ
กองทัพไทยกับพม่ามีความแตกต่างกันไหม ในแง่การยึดหลักประชาธิปไตย ไม่ใช่ในแง่แสนยานุภาพหรือศักยภาพ
ผมว่ากองทัพพม่าอยู่ในภาวะที่บาดเจ็บจากประเทศอังกฤษมาห้วงหนึ่ง คือคนพม่ามีความเจ็บช้ำน้ำใจจากการเข้ายึดครองของอังกฤษ เพราะฉะนั้นมันเป็นอะไรที่หลายคนยินยอมไม่ได้ที่จะกลับไปสู่ภาวะแบบเดิมอีก แต่กองทัพไทย ผมว่าหลายคนก็เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย มีความรู้ด้านพลเรือนเป็นอย่างดี เพียงแต่เมื่อมองความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์กับบริบท มันทำให้เราเองก็ยังไปไม่ถึงสภาพของกองทัพมืออาชีพแบบในมุมมองตะวันตก ต้องใช้เวลา มันยังอยู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน
อีกนานไหม
ไม่นาน เพราะทุกอย่างมันเร็ว ความขัดแย้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่พลเรือนคุมและสั่งใช้กองทัพ เพราะฉะนั้นอำนาจก็เริ่มถูกถ่ายไปสู่ฝ่ายการเมืองมากขึ้น
อาจเพราะกองทัพตระหนัก ว่าถ้าเทคโอเวอร์รัฐบาล ก็ไม่สามารถคุมได้อยู่ดี มันก็จะมีปฏิกิริยาออกมารุนแรงกว่า ก็เลยคล้ายๆ กับยืมมือรัฐบาล รัฐบาลก็รู้ว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้กองทัพแบบนี้ กองทัพก็รู้ว่าอยู่ตรงตำแหน่งนี้น่าเหมาะที่สุดหรือเปล่า
ก็มีสิทธิมองได้ แต่ด้านของคนที่ทำงานเป็นทหาร หลายคนมองว่าเขารักประเทศชาติ คือ เขาอาจจะเลือกทางเดินที่ต้องยอมรับการที่มีพลเรือนคุมทหาร กระแสโลกก็ผลัก คือ Security Sector Reform และ Security Sector Governance สองคำนี้เป็นคำที่วันนี้กองทัพถูกท้าทาย คือ ในอดีต หน่วยงานความมั่นคงทำงานในลักษณะ mission-based เป็นกล่องดำ มองไม่เห็นกระบวนการทำงาน แต่ปัจจุบัน อย่างใน พ.ร.บ.ความมั่นคง ต้องเขียนแผนก่อนการปฏิบัติ ก็จะขยับจาก mission-based เป็น process และสุดท้ายก็คือ governance based คือต้องถูกตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดงาน คิดว่าไม่นานหลายคนจะได้เห็น เพราะมันถูกกระแสสังคมผลักมาแล้ว
ทำไมคุณจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์กองทัพหรือบทบาทของทหาร ไม่กลัวถูกลงโทษทางวินัยหรือ
ผมรักกองทัพ ผมรักอาชีพผม แล้วผมก็ยังไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่เสียหาย แต่ผมมองในมุมมองวิชาการและบริสุทธิ์ใจกับสิ่งที่ตัวเองพูด ผมไม่ได้พูดเรื่องปัจจุบันเลย แต่ผมพูดถึงเรื่องอนาคตว่ามันควรจะเป็นอย่างไร
แล้วทำไมคนที่มีความคิดแบบคุณในกองทัพจึงมีจำนวนน้อย
อาจจะมีมากก็ได้ แต่เขาไม่มีช่องทางในการสื่อสาร
ประชาไท: หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการพูดว่า การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาที่ผ่านมา ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองสูงขึ้น และตอนนี้ดูเหมือนว่าการเรียกร้องให้ทหารกลับไปเป็นทหารอาชีพแทบจะไม่มีเลย ทหารกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่
ผมเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่ง แต่ยังไม่เสร็จ โดยแบ่งสภาวะของสังคมไทยเป็นหลายแบบ แบบหนึ่งคือเมื่อไรก็ตามถ้าทหารเข้าไปใกล้กับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผล ประโยชน์ ก็จะทำให้สังคมเสียสมดุล คือผมแบ่งกลุ่มอำนาจเป็นสามกลุ่มคือกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มผู้นำทางทหาร ถ้าสามกลุ่มมีระยะที่ดี ก็จะทำให้สังคมมีความสมดุล แต่หากใกล้กันเกินไป ก็จะทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทำให้สังคมไม่มีความสมดุล
ประชาไท: กองทัพดูเหมือนจะมีอำนาจมากขึ้นในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเรื่อง GT 200 ซึ่งมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าน่าจะมีการทุจริต แต่ก็ไม่เห็นมีใครออกมารับผิดชอบ มองอย่างไร
ผมมองเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ที่เกี่ยวข้อง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ซื้อด้วยภาษีของประชาชน จะทำอย่างไรให้มีความโปร่งใส ผมเคยไปเดินแถวฐานทัพเรือสหรัฐขนาดใหญ่ เดินๆ อยู่เขาก็ลากผมขึ้นไปบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ใช้เวลาเดินอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง เมื่อถามว่าทำไมจึงพามาเดิน เขาก็บอกว่านี่คือภาษีประชาชน เขาต้องเปิดแสดงให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าอาวุธใช้งานได้ และเอามาใช้ทำอะไร เช่นเดียวกัน คำถามหนึ่งของสังคมไทยก็คือ ถ้าเรามีการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยขาดความเคลือบแคลงใจของประชาชนแล้ว ผมคิดว่าไม่ว่ากองทัพอยากได้อะไร ประชาชนก็น่าจะยินดีสนับสนุนมากกว่าการซื้อแบบปิดลับ
ประวิตร: ถ้าให้เลือกตัวอย่างที่ดีของกองทัพในประเทศอื่นเท่าที่คุณรู้จัก คุณชื่นชมกองทัพประเทศไหนมากที่สุด และทำไม
ตอบยาก ผมไม่อยากจะโปรประเทศใดประเทศหนึ่ง ผมชอบความมีวินัยของทหารเยอรมันกับญี่ปุ่น วินัย สำคัญตรงที่ว่าวันนี้ถ้าเราสั่งซ้ายหันขวาหัน เขาก็หัน แต่ว่าถ้าเขาคิดเริ่มมีความคิดเป็นอิสระ จะหันเข้าหากันเอง นี่คือความน่ากลัวของสังคม สำหรับทหารไทย กองทัพก็ดีของมันอยู่แล้ว เปลี่ยนแค่ผู้นำเหล่าทัพ เขาก็จะหันไปตามผู้นำเหล่าทัพ แต่ในอนาคตถ้าเรายิ่งเร่งหรือทำให้กองทัพมีการเมืองเข้ามาปะปน ทุกคนก็จะมีขั้วของตัวเอง และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ขั้วต่างเหล่านี้ก็จะหันปืนเข้าหากัน และจะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง นั่นคือความน่ากลัว
เมื่อเร็วๆ นี้กองทัพสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าพื้นที่ในไซเบอร์สเปซเป็นพื้นที่ที่ต้องปกป้องอธิปไตยพอๆ กับพื้นที่ทางอากาศ อวกาศและบนดิน ซึ่งเป็นครั้งแรกของกองทัพหรือรัฐบาลใดในโลก ที่ประกาศออกมาชัดเจนว่าเรามีพื้นที่ที่ต้องรักษาอธิปไตยอีกที่หนึ่ง นั่นคือโลกในอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่คุณ
เขามีหลักการคือระบบการสื่อสารเขาล่มไม่ได้ และสิ่งที่เขาประกาศนั้นไม่น่าแปลกใจเพราะเขามีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น National Security Agency (NSA) ที่มีหน้าที่มอนิเตอร์ทั้งโลก เพียงแต่การประกาศครั้งนี้เหมือนกับการครอบครองพื้นที่ก่อน เพราะสหรัฐฯ มองเรื่องผลประโยชน์ชาติไม่ว่าในการค้าขายหรือทำธุรกิจก็ตาม เป็นตัวตั้งอันดับหนึ่ง แต่คำถามคือมันจะนำไปสู่อะไรบ้าง ก็คงเกิดการเคลื่อนไหวใต้ดินในเน็ต เพราะมันคือความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงของชาติ กับความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งหากมีการทำตรงนี้ก็คือมีการละเมิดสิทธิ์ ก็ต้องเกิดการต่อต้านแน่นอน ส่วนเรื่องการดักฟังก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ทำมาอยู่แล้วเพื่อป้องกันภัยต่อความมั่นคง นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่เป็นบริบทใหม่
การที่สังคมไทยมีการ รายงานข่าวนายพลดังๆ ไม่เพียงแค่ ผบ.ทบ. เยอะมาก ยกตัวอย่างในช่วงหลัง เช่นคุณ
ผมมองว่าเป็นเรื่องงูกินหาง สื่ออยากรู้ก็ไปถาม เมื่อไม่ตอบก็เป็นปัญหา เมื่อตอบก็เป็นข่าว ผมว่าถ้าสื่อไม่เล่นก็ไม่มีเรื่องนี้ออก อาจจะเป็นมุมมองของสื่อหรือความเชื่อของสื่อเองที่มองว่าทหารยังคงเป็นกลุ่ม ที่มีอิทธิพลในสังคมไทย ผมคิดว่าถ้าสื่อไม่ถามก็คงไม่มีคำตอบจากทหาร เพราะทหารคงไม่แสดงความคิดเห็น เท่าที่ผมทราบคนหลายคนอยากพูด แต่สื่อไม่สนใจ ก็ไม่มีข่าวออก แต่คนบางคนแค่กระแอม สื่อได้ยินก็เอาไปออก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าต้องถามสื่อว่าทำไมจึงให้ความสำคัญ ถ้าเราลดความสำคัญ โดยสื่อไปเล่นข่าวด้านอื่น ก็อาจจะทำให้มันหายไปจากสังคมไทยก็ได้
ผมคิดว่าผู้อ่านประชาไท กว่า 90% คงมองว่าทหาร โดยเฉพาะกองทัพบกถ่วงกระบวนการประชาธิปไตยของไทย คุณคิดว่าการมองเช่นนี้คลาดเคลื่อนหรือไม่อย่างไรและอยากจะบอกอะไรกับผู้ อ่านที่อาจมองเช่นนี้
ผมอยากให้มองว่ามันมีภาพหลายภาพซ้อนกัน ภาพที่หนึ่งคือผมหรือหลายๆ คนแต่งเครื่องแบบทหาร แต่ภายใต้เครื่องแบบทหาร ก็ถือบัตรประชาชนคนไทย เพราะฉะนั้น มันแยกกันยาก ด้วยบริบทที่กองทัพเข้ามาใกล้กับการเมือง ทำให้เสียสมดุลทางสังคมอย่างที่กล่าวไปตอนต้น เพราะฉะนั้น ทำให้ถูกมองว่ากองทัพเป็นคนที่เข้ามาทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยช้าลง แต่ผมคิดว่าเราก็คงต้องช่วยกัน เช่น ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งขึ้นเพื่อมาตรวจสอบหรือการสร้างภูมิต้านทานทางสังคม ที่จะไม่เห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจทหารจากฝ่ายการเมือง หรือการที่ฝ่ายการเมืองจะใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์ฐานอำนาจ ของตัวเอง ผมคิดว่าเมื่อไรก็ตามที่เราแยกฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายผลประโยชน์ออกจากกองทัพ ได้ กองทัพก็กลับไปยืนในจุดที่ดี เพราะฉะนั้นถ้าทุกฝ่ายตรวจสอบกองทัพด้วยก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี
…………………………
หมายเหตุ:
-บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 53 http://www.nationmultimedia.com/home/2010/10/17/politics/Army-man-calls-it-as-he-sees-it-30140246.html
-วันที่ 18 ต.ค. 53 เขาทวีตข้อความว่าได้รับคำสั่งย้ายเป็นรองผู้อำนวยการกองการเมือง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
http://www.prachatai.com/journal/2010/10/31623
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น