Sat, 2010-10-09 19:13
สุภัตรา ภูมิประภาส
“สำหรับปัญญาชนผู้โหยหาเสรีภาพในประเทศที่ ปกครองโดยเผด็จการนั้น คุกคือจุดเริ่มต้น ตอนนี้ผมกำลังก้าวเข้าสู่จุดเริ่มต้น และเสรีภาพนั้นอยู่แค่เอื้อม”
-หลิว เสี่ยวโป-
หลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของปีนี้ไปตามความคาดหมายและท่ามกลางความโกรธ เกรี้ยวของรัฐบาลจีนที่กำลังควบคุมตัวเขาไว้ในฐานะ “นักโทษ”
แต่ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลฯ แถลงว่า หลิว เสี่ยวโป วัย 54 ปี เป็น “สัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง” ของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน
แวดวงสิทธิมนุษยชนนานาชาติรู้จักและชื่นชม หลิว เสี่ยวโป จากบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ขณะที่แวดวงวรรณกรรมทั้งในประเทศและระดับนานาชาติยกย่องชื่นชมหลิว เสี่ยวโป ในผลงานการเขียนของเขา ทั้งงานเขียนเชิงวิชาการ และงานวรรณกรรม
บทกวีหลายชิ้นของหลิว เสี่ยวโป ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ “One Letter is Enough”, “Longing to Escape”, “A Small Rat in Prison”, และ “Daybreak” เป็นต้น
หลิว เสี่ยวโป เป็นทั้งนักวิชาการ นักวิจารณ์วรรณกรรม นักเขียนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเป็นศาสตราจารย์ประจำที่ Beijing Normal University และในช่วงปี พ.ศ.2546-2550 หลิวดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมนักเขียนอิสระของจีน (The Independent Chinese PEN Center) และเป็นกรรมการบริหารชุดปัจจุบันของสมาคมฯ
ตอนที่เกิดเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินนั้น หลิว เสี่ยวโปมีอายุเพียง 33 ปี กำลังรุ่งเรืองในหน้าที่การงานในฐานะนักวิชาการหนุ่มที่เชี่ยวชาญด้าน วรรณกรรม งานเขียนที่มีชื่อเสียงมากของหลิว เสี่ยวโป คืองานวิจารณ์ปรัชญาของ Li Zehou นักคิดคนสำคัญของประเทศจีน เขาได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ รวมทั้ง มหาวิทยาลัยแห่งออสโล (University of Oslo) มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย (University of Hawaii) และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University)
หลิว เสี่ยวโป เกิดในครอบครัวปัญญาชน ระหว่างปี พ.ศ. 2512 – 2516 ใน ช่วงที่ประเทศจีนมีนโยบายให้เยาวชนออกไปเรียนรู้จากชนบท บิดาของหลิว เสี่ยวโป ได้พาเขาไปเรียนรู้ชีวิตของชาวชนบทในเขตพื้นที่มองโกเลียชั้นใน
เมื่ออายุได้ 19 ปี หลิว เสี่ยวโป ถูกส่งไปทำงานในหมู่บ้านชนบทในจังหวัด Jilin และที่ไซด์งานก่อสร้างในเวลาต่อมา
ปี พ.ศ. 2519 เขาเข้าศึกษาที่ Jilin University เขาได้รับปริญญาตรีสาขาวรรณคดี ในปี 2525 และได้รับปริญญาโทจาก Beijing Normal University ในปี 2527
หลังจบปริญญาโท เขาเข้าสอนที่มหาวิทยาลัยนี้ พร้อมศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และได้รับดุษฎีบัณฑิตจากที่นี่ในปี 2531
“สิทธิมนุษยชน” ที่นักวิชาการหนุ่มอนาคตไกลตัดสินใจเอาอนาคตทางวิชาการและเสรีภาพของตัวเองเข้าแลกโดยไม่ลังเลเลย คือ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ในประเทศจีน
ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ.2532 เมื่อเกิดเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน
หลิว เสี่ยวโป ตัดสินใจทิ้งอนาคตทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเดินทางกลับมากรุงปักกิ่งเพื่อสนับสนุนการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และขบวนการประชาธิปไตย เขาอดอาหารประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อสนับสนุนนักศึกษา และเรียกร้องฝ่ายนักศึกษาให้ใช้สันติวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด มากขึ้น
บทบาทดังกล่าวทำให้เขาต้องถูกจำคุก 2 ปี
และในปี พ.ศ. 2539 เขาถูกลงโทษโดยให้“ทบทวนการศึกษาผ่านการใช้แรง งาน” อีก 3 ปี จากงานเขียนที่เขาตั้งคำถามต่อบทบาทของระบบนำแบบพรรคเดียวและเรียกร้องให้มี การเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนกับองค์ทะไลลามะแห่งทิเบต บทความดังกล่าวนี้เป็นข้อเขียนที่มีการตีพิมพ์ในต่างประเทศ
ปี พ.ศ.2547 หลิวถูกตัดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารโดยไม่ให้มีการ ติดต่อทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้หลังจากที่เขาได้เผยแพร่ข้อเขียนที่ วิพากษ์วิจารณ์การใช้ข้อหา “ล้มล้าง”อำนาจรัฐ ในการปิดปากสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และเขาได้กลายเป็นเป้าหมายขาประจำในการตรวจค้นของตำรวจและการคุกคามนับแต่ นั้น
หลิว เสี่ยวโป ริเริ่มและร่วมร่างกฎบัตร 08 ซึ่งเป็นคำประกาศเรียก ร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และให้ยุติการปกครองโดยพรรคเดียวในประเทศจีน มีผู้ร่วมลงนามในคำประกาศนี้จำนวนหลายร้อยคนจากทั่วประเทศ เขากำหนดที่จะแถลงคำประกาศนี้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ระหว่างที่ร่างคำประกาศฯนี้ หลิว เสี่ยวโป เคยถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในกรุงปักกิ่งจับกุมและตั้งข้อหา “ปลุกปั่นให้ล้มล้างอำนาจรัฐ” ต่อมาคดีนี้ได้ถูกย้ายให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายสอบสวน
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2551 ก่อนถึงกำหนดเวลาที่จะมีการแถลงคำประกาศ กฎบัตร 08 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกมาที่บ้านพักในกรุงปักกิ่งของหลิว และเพื่อนนักวิชาการของเขา ชื่อ จาง จูหัว (Zhang Zuhua) ตำรวจตรวจค้นบ้านของทั้งสองคน และนำตัวพวกเขาไปพร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆไปด้วย การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการจัดรำลึกครบรอบเหตุการณ์ซึ่งมี ความอ่อนไหวทางการเมืองหลายเหตุการณ์ รวมทั้ง วาระครบรอบ 100 ปีของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของจีนและวาระครบรอบ 30 ปีของขบวนการ “กำแพงประชาธิปไตย” แห่งปักกิ่ง (Beijing’s “Democracy Wall” movement)
จาง จูหัว ได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ หลิว เสี่ยวโป ยังถูกควบคุมตัวไว้ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น
จนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม ภรรยาของเขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ และเนื่องในเทศกาลปีใหม่ รัฐบาลอนุญาตให้เขาได้รับประทานอาหารมื้อกลางวันร่วมกับภรรยาพร้อมเจ้า หน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย
หลังหลิว เสี่ยวโป ถูกจับกุม บุคคลเกือบ 300 คนที่ร่วมเซ็นชื่อในกฎบัตร 08 ถูกสอบสวนเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับหลิวและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศจีน
วันที่ 23 ธันวาคม 2552 หลิว เสี่ยวโป ถูกพิจารณาความผิดโดยการไต่สวนฉุกเฉินของศาลประชาชน หลิวต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดตามคำฟ้องที่ระบุว่าเขา “ปลุกปั่นให้ล้มล้างอำนาจรัฐ” ในการพิจารณาคดี ทนายจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงหลักฐาน
วันที่ 25 ธันวาคม หลิว เสี่ยวโป ถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 11 ปี และถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลสูงกรุงปักกิ่งได้พิจารณายกคำอุทธรณ์ของเขา
สมาคมนักเขียนอเมริกัน (PEN American Center) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความยินดีกับ หลิว เสี่ยวโป โดยประธานสมาคม – ศาสตราจารย์ Kwame Anthony Appiah แห่งมหาวิทยาลัยพรินส์ตัน (Princeton University) กล่าวว่า
"เรามีความยินดีเป็นอย่างที่สุดที่ หลิว เสี่ยวโป เพื่อนนักเขียนของเรา และผู้ได้รับการเสนอชื่อซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสมาคมนักเขียนในหลาย ประเทศ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ.. เราหวังว่ารัฐบาลจีนจะยอมรับการตัดสินใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบลเช่นเดียว กับที่โลกยอมรับในฐานะที่เป็นการรับรองอำนาจของพลเมืองในการที่จะชี้นำและ กำหนดอนาคตตัวเองโดยแนวทางสันติวิธี เราขอวอนให้ประชาชนและผู้นำประเทศทุกประเทศร่วมกับเราในการเรียกร้องให้ รัฐบาลจีนให้เกียรติกับเจตนารมณ์ของรางวัลนี้โดยการให้อิสรภาพกับหลิว เสี่ยวโป และเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเขา"
แถลงการณ์ของสมาคมนักเขียนอเมริกันระบุว่า มีนักเขียนจีนจำนวนไม่ต่ำกว่า 45 คนรวมทั้ง หลิว เสี่ยวโป ที่ยังถูกจองจำในประเทศจีนอันเนื่องมาจากงานเขียนของพวกเขา
เรียบเรียงจาก
http://www.pen.org/viewmedia.php/prmMID/5352/prmID/172
http://en.wikipedia.org/wiki/Liu_Xiaobo#Charter_08.2C_arrest_and_trial
หมายเหตุ: บทความแปลและเรียบเรียงชิ้นนี้...มอบแด่ปัญญาชน, นักเขียน, กวีประชาไทผู้ท้าทายอำนาจไม่ชอบธรรม
https://www.suresome.com/proxy/nph-secure/00A/http/www.prachatai3.info/journal/2010/10/31431
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น