Mon, 2010-10-11 23:31
ใบตองแห้ง
เรียน อาจารย์ใจ
ขอบคุณที่อาจารย์ช่วยวิจารณ์ข้อเขียน ของผม ซึ่งถือเป็นเกียรติ คำวิจารณ์ของอาจารย์ช่วยให้แยกแยะทำความเข้าใจเรื่องพันธมิตรกับความคิด สังคมนิยมได้ชัดเจนขึ้น
ต้องเรียนว่าผมเป็นคอลัมนิสต์ ไม่ใคร่จะใช้ศัพท์วิชาการได้รัดกุมนัก สมัยอยู่ในขบวนการนักศึกษาหรืออยู่ป่า ผมก็เป็นพวกขี้เกียจอ่านตำรา ใช้แค่ครูพักลักจำ ผสมผสานกับการปฏิบัติ จะบอกว่าเป็นมาร์กซิสต์หรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ เพราะผมไม่เคยอ่าน Capitalism จบซักที ศึกษาวัตถุนิยมวิภาษ ก็กังขาอยู่ว่าทำไม้ เวลายกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณสู่คุณภาพ ตำราทุกเล่มก็ยกตัวอย่างเรื่องน้ำเดือดเหมือนกันหมด นี่พูดเฉพาะตำราลัทธิมาร์กซ์สายสตาลิน-เหมา สายอื่นยิ่งหูไม่กระดิก ทร็อตสกี้ผมก็เคยดูแต่ในหนัง ที่อเลน เดอลอง เอาขวานจามหัวริชาร์ด เบอร์ตัน (แถมยังมัวแต่ดูโรมี ชไนเดอร์ อีกต่างหาก) ในด้านชีวทัศน์หรือ ผมก็ค่อนไปทางซ้ายเสเพล ถูกวิจารณ์ว่าเสรี จนหัวเราะคิกคักกับเพื่อนๆ ว่าโชคดีนะที่ พคท.แพ้ ถ้าปฏิวัติสำเร็จเราคงโดนส่งไปอยู่เกาะตะรุเตาแหงๆ
อาจารย์ชี้ได้ถูกต้องว่า “สังคมนิยม” ที่ผมพูดถึงคือเผด็จการสตาลิน-เหมา (เลนินโชคดีที่ตายก่อน เลยไม่ทันทำอะไรผิดพลาด) ถ้าจะว่าเหมารวมก็ขออภัย ที่ผมไม่ได้แยกแยะจากสังคมนิยมมาร์กซิสต์สายอื่น ตรงนี้อาจารย์ช่วยทำให้ชัดเจนขึ้น ขอจำกัดความใหม่ว่า “สังคมนิยม” ที่ผมพูดถึงคือแนวคิดสังคมนิยมที่เอาชนะโดยยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธและใช้ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพมาจัดระเบียบสังคม แบบรัสเซีย จีน หรือเวียดนาม (ซึ่งความจริงการที่ต้องยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธของประเทศเหล่านี้ก็มี เงื่อนไขของเขา เช่น จีนและเวียดนามเป็นสงครามประชาชาติ ต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านฝรั่งเศส เป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชไปพร้อมๆ กับปฏิวัติสังคมนิยม ส่วนรัสเซียก็มาจากความทารุณโหดร้ายของระบอบพระเจ้าซาร์ รวมทั้งวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามโลก)
สิ่งที่ผมนำเสนอคือ จากการพูดคุยกับเพื่อนพ้อง “ซ้าย เสื้อเหลือง” ผมพบว่าพวกเขายังไม่ตื่นจากแนวคิด “ปฏิวัติสังคมนิยม” เพียงแต่เปลี่ยนอุดมการณ์จากสังคมนิยมแบบจีนรัสเซียที่พังทลายไปแล้ว มาเป็น “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ชุมชนนิยม ชาตินิยม เกลียดทุนนิยม ต่อต้านทุนโลกาภิวัตน์ กลายเป็นหัวเอียงซ้ายท้ายเอียงขวา เอาสองอย่างนี้มาผสมกัน กระทั่งสนับสนุนรัฐประหารและเผด็จการแฝงของขั้วอำนาจจารีตนิยม โดยเชื่อว่าจะจัดระเบียบให้เกิดการปฏิรูปสังคมในระดับหนึ่ง และยับยั้งการกลืนกินของทุนโลกาภิวัตน์ได้ระยะหนึ่ง
ผมเคยบอกเพื่อนพ้องเหล่านี้ว่า ผมขอกลับไปอยู่ในยุคแสวงหา เป็นคนยุคซิกซ์ตี้เสียยังดีกว่า เพราะหลังจากทิ้งความคิด “ยึด อำนาจรัฐ” แล้วผมก็กลับไปที่จุดตั้งต้น คืออยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษ อเมริกา ยุโรป ซึ่งผมอาจใช้คำว่าประชาธิปไตยทุนนิยม หรือเสรีประชาธิปไตย จะถูกไหมก็ไม่ทราบ แต่ต้องการเน้นว่านี่คือ “ทุนนิยม” ถ้าจะให้ดีก็คือ พรรคการเมืองในแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง หรือชนะแล้วก็กลับมาแพ้ (เช่นในสวีเดน ในอิตาลี) ไม่เห็นเป็นไร หรืออาจจะเป็นแบบบราซิล แบบปารากวัย และหลายประเทศในอเมริกาใต้ ที่ขบวนการประชาสังคมก่อตั้งพรรคการเมืองกระทั่งชนะเลือกตั้ง
แต่สิ่งที่พวก “ซ้าย เสื้อเหลือง” แตกต่างจากผมก็คือ พวกเขาไม่เชื่อในประชาธิปไตย “แบบตะวันตก” อีกแล้ว พวกเขากลับคิดว่าประชาธิปไตยตะวันตกมีแต่จะทำให้คนยากคนจนถูกเอารัดเอา เปรียบ ถูกกวาดเข้าไปในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งในด้านหนึ่ง-ถ้ามองแต่ด้านที่เลวร้าย ก็ถูก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่พวกเขาหันไปสนับสนุนให้รัฐจารีตนิยมเข้มแข็งใหญ่โต มันก็ไม่ใช่ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” เหมือนกัน
พวก “ซ้าย เสื้อเหลือง” ยังมองด้วยซ้ำไปว่าประชาธิปไตยเป็นแค่ข้ออ้างของทุนนิยมโลก อย่างเช่น คุณสุรพงษ์ ชัยนาม ผู้เขียนหนังสือ “มาร์กซ์และสังคมนิยม” (หนังสือต้องห้ามหลัง 6 ตุลา) ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขียนเรื่องพม่าไว้ว่า
“...อย่าหลงทาง ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มีในอนาคต สหรัฐอเมริกาเอง อังกฤษเองทุกวันนี้ หรือฝรั่งเศสเองก็มีหลายด้านที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย”
“...ประเทศตะวันตกไม่ต้องการได้รับ ผลกระทบแบบลัทธิคอมมิวนิสต์มาท้าทายทุนนิยม มีระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาท้าทายประชาธิปไตยเสรีนิยม วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีอะไรขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่าทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม ต้องมี “Hegemonic Power” (อำนาจนำ) อยู่ได้นานที่สุด ให้มันมีประชาธิปไตยเสรีนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมเป็น “Washington Consensus” (ฉันทามติวอชิงตัน) หมด นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องอยู่ในกรอบนี้ และวิธีการอันหนึ่งที่ดีที่สุดคือส่งเสริมให้ทุกประเทศมีการเลือกตั้ง ให้มันเนียนก็แล้วกัน แล้วรัฐบาลนั้นยึด “Washington Consensus”……..
จะเห็นได้ว่าพวกเขาก็ต่อต้าน “ทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ด้วยเช่นกัน พวกเขาจึงประณามเผด็จการทหารพม่า แต่ร่วมมือสนับสนุนเผด็จการแฝงในประเทศไทย
ตรงนี้อาจารย์พูดได้ตรงกว่าผมว่าผมควรจะไปศึกษา “ขบวน การฟาสซิสต์ทั่วโลก เพราะฟาสซิสต์ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรฯ จะพยายามใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายปนกับความคิดฝ่ายขวา เพื่อดึงคนชั้นกลางที่รู้สึกไม่พอใจกับอำนาจรัฐหรือนายทุนใหญ่เข้ามาเป็น พวก” นี่แหละใช่เลย แนวคิดของอดีตฝ่ายซ้ายในพันธมิตร เพียงแตกต่างจากขบวนการฟาสซิสต์อื่นๆ ตรงที่พวกเขามาจากฝ่ายซ้ายที่เคยถูกปราบโดยอำนาจฟาสซิสต์ (แล้วตอนนี้ก็มายุให้ฟาสซิสต์ “อุ้ม” สมบัติ บุญงามอนงค์) ส่วนที่ว่าอดีตฝ่ายซ้ายในพันธมิตรชื่นชมเผด็จการจีน ในภาพรวมของพันธมิตรอาจไม่ชัดเจนนัก แต่สื่อและนักวิชาการบางส่วนที่สนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ ชูภาพจีนเป็น idol โดยเฉพาะในช่วงงานเอ็กซ์โป ว่าเห็นไหมจีนปราบการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน แล้วนำประเทศมาเจริญรุ่งเรืองได้ขนาดนี้ (สุทธิชัย หยุ่น เขียนให้คนเปรียบเทียบจีนกับอินเดีย ว่าใครพัฒนาไปได้เร็วกว่ากัน)
ความคิดของ “ซ้าย เสื้อเหลือง” ที่ผมพบเห็นอีกอย่างคือ พวกเขาไม่เชื่อว่าจะสถาปนาสังคมประชาธิปไตยที่เป็นระบบได้ ซึ่งน่าจะมาจากความคิดอนาธิปไตยแบบ “นักปฏิวัติ” ผู้เคยพ่ายแพ้ พวกเขาเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่การใช้อำนาจ อยู่ที่การสร้าง Power เช่นที่นำ Power ของพันธมิตรไปช่วยเหลือชาวมาบตาพุด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการพัฒนาทุนนิยม พวกเขามักยกโจทย์แบบนี้มาตอบโต้ว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะช่วยชาวบ้านได้ไหม กว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยไปถึงขั้นที่ชุมชนมีอำนาจตัดสินใจ ชาวบ้านโดนมลพิษตายหมดก่อน เดินทางลัดดีกว่า
พวกเขาไม่ถกกับผมว่า การลงโทษทักษิณ การยุบพรรคไทยรักไทย ฯลฯ เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เพราะพวกเขาไม่เชื่อหลักนิติรัฐอยู่แล้ว (ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชั้นนั้น-ยังคิดกันแบบนี้อยู่) พวกเขาจึงไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ชูมือรับทั้งที่บอกว่าขัดหลักการประชาธิปไตย พวกเขาเชื่อในอำนาจ ใครมีอำนาจก็ทำเพื่อฝ่ายตัวเอง ไม่เห็นแปลกตรงไหน และแทนที่จะทำให้อำนาจนั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงตามหลักการประชาธิปไตย พวกเขากลับเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ และกลับไปโหนอำนาจหรือต่อรองอำนาจใช้อำนาจนั้นให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าเรื่องมาบตาพุด หรือตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เอางบประมาณเข้าเครือข่ายลัทธิประเวศ (เพื่อไปทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามความคิดของเขา)
ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมวิพากษ์ซากเดนความคิด “ปฏิวัติ สังคมนิยม” (แบบสตาลิน-เหมา) ที่ตกค้างอยู่ในฝ่ายซ้ายเสื้อเหลือง โดยผสมพันธ์กับความคิดชุมชนนิยม เศรษฐกิจชาตินิยม (ปกป้องสมบัติชาติ ให้ 3-G เป็นของคนไทย) ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งผมเรียกง่ายๆ ว่า “ลัทธิประเวศ” โดยมี idol เช่น พี่พิภพ ธงไชย, รสนา โตสิตระกูล, หมอพลเดช ปิ่นประทีป, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ อ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ นักวิชาการแรงงานตลอดชีพ
ที่จริงการวิพากษ์อย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์เจาะลึก ผู้เขียนควรจะมีความรู้ทางวิชาการ แต่บังเอิ๊ญไม่ค่อยมีใครเขียน ผมเลยต้องเขียนในฐานะคนเดือนตุลาหางแถว คืออยู่ในเมืองก็เป็นพวกปิดโปสเตอร์ อยู่ในป่าก็เป็นพลทหาร ดัดแปลงตัวเองแทบตายได้เป็นแค่ ย.ไม่ได้เป็น ส. เป็น ทปท.ก็ไม่ใช่นักรบผู้กล้า ลูกตาขาวมากกว่าลูกตาดำ (แถมเคยทำระเบิดลั่นคามือ ดีไม่มีใครตายแบบแฟลตบางบัวทอง) กลับออกมาก็อิเหละเขละขละ จับพลัดจับพลูไปทำหนังสือพิมพ์ แล้วก็ถูกถีบออกมาอยู่ในสมรภูมิด้วยความจำใจ เนื่องจากมีอาชีพเขียนหนังสือแล้วกลืนหลักการที่ตัวเองยึดถือไม่ได้ ลงรูปชามก๋วยเตี๋ยวประชดสื่อเชียร์รัฐประหาร ว่าถ้าสื่อเป็นแบบนี้ไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า ทั้งที่ความจริงผมก็เป็นแค่คนชั้นกลางแถวล่างธรรมดาๆ ที่ไม่พอเพียง พกบัตรเอ็มการ์ดยันเอ็มแคและบาร์บีคิวพลาซ่า พาลูกกินฟาสต์ฟู้ดตามห้างต่างชาติ ทุกวันที่ 1 และ 16 ก็ซื้อหวย สมัยก่อนก็เล่นพนันบอล ครึ่งลูก ครึ่งควบลูก แปะปั่ว ไม่เคยอุทิศตัวเองเพื่อชาวบ้านแบบ NGO ไม่เคยอุทิศตัวเองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ขอแค่เป็นประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ ด่าคนนั้นด่าคนนี้สนุกดี แต่เกลียดที่สุดจนอดรนทนไม่ได้คือพวกที่ยกตนเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้วจะมากำหนด สังคมจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่น (แถมห้ามวิพากษ์วิจารณ์อีกต่างหาก)
ผมกำลังจะบอกว่าผมเป็นเสรีนิยมน่ะครับ และผมคิดว่าในขั้นตอนนี้ของสังคมไทยคือการต่อสู้ระหว่างความคิดเสรีนิยมกับ ความคิดจารีตนิยม ระหว่างความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการแฝงหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่มีการชี้นำ บวกกับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของคนชั้นล่างคนชนบทที่ต้องการมี ส่วนในอำนาจการเมืองการปกครอง เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของเขาเอง
ในการต่อสู้นี้มันมีเนื้อหาสังคมนิยม อยู่บ้าง เช่นรัฐสวัสดิการ แต่ประชาธิปไตยตะวันตก ก็มีรัฐสวัสดิการ จากการผลักดันของพรรคการเมืองสังคมนิยมหรือสังคมนิยมประชาธิปไตยนั่นแหละ อเมริกาก็เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า โอบามากำลังจะทำ Health Care ซึ่งมีส่วนคล้าย 30 บาท ประชาธิปไตยยุโรป ไม่ว่าพรรคฝ่ายขวาแค่ไหนก็ยังต้องมีรัฐสวัสดิการ มีกลไกคุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันการผูกขาด
ผมจึงคิดว่า “เสรี นิยม” มันไม่ใช่เนื้อหาในความหมายเดิม ที่มีแค่มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่นเดียวกับที่อาจารย์บอกว่า “สังคมนิยม” ไม่ใช่เนื้อหาในความหมายเดิม (ผมอาจไม่แม่นเรื่องศัพท์แต่อธิบายตามความเข้าใจ) ข้อสำคัญคือถ้าจะตีความคิดของพวกซ้ายพันธมิตรให้ตก ก็ต้องโต้ในส่วนที่เขาประณาม “ทุนนิยมเสรี” “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เพราะอุดมการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยในทัศนะผม ต้องไปสู่ประชาธิปไตยทุนนิยมแบบยุโรป ที่มีรัฐสวัสดิการ มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และมีกลไกถ่วงดุลการผูกขาด
หรือพูดอีกอย่างคือ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราต้องการรัฐบาลที่มีความสามารถบริหารเศรษฐกิจทุนนิยมโดยสามารถปรับตัวให้ ทันกับโลกาภิวัตน์ พร้อมกับสนองความต้องการของคนชนบทคนชั้นล่างที่เลือกตั้งพวกเขาเข้ามา แบบรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีพลังทางสังคมที่เข้มแข็ง มีกลไกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (ที่ไม่ใช่ตุลาการภิวัตน์) คอยสกัดกั้นถ่วงดุลปกป้องสิทธิประชาชน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไป
เป้าหมายในเชิงอุดมการณ์จึงไม่ใช่ไปสู่ “สังคมนิยม” แม้อาจจะมีเนื้อหาสังคมนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ประเด็นหลักของการเคลื่อนไหว เช่นข้อเรียกร้องของเสื้อแดงเชียงใหม่ ยังไม่ใช่ประเด็นหลักของเสื้อแดงทั้งขบวน (ตรงนี้ผมอาจแกล้งหลับตา เพราะผมเน้นให้เห็นว่าเนื้อหาพวกนี้ไปอยู่ที่ฝ่ายเสื้อเหลือง เช่น ปฏิรูปประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำ ออก พรบ.คุ้มครองผู้ป่วยในรัฐบาลมือเปื้อนเลือด)
ในการต่อสู้อาจมีลักษณะชนชั้น แต่ผมคิดว่าคำว่า “ไพร่” ของคนเสื้อแดง มีความหมายในเชิงความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตยมากกว่าลักษณะทางชนชั้นแบบ มาร์กซิสม์ สิ่งที่มวลชนเสื้อแดงพูดได้จับใจคือเขาไม่ได้เป็นขอทาน ไม่ได้ต้องการความอนุเคราะห์ แต่ต้องการมีอำนาจจัดการเองอย่างที่รัฐบาลทักษิณทำให้เขาตื่นขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คิดว่าเราขัดแย้งกัน เพราะสิ่งที่ผมเขียนคือผมต้องการขีดเส้นให้ชัดว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ต้องการนำไปสู่สังคมนิยมมาร์ก ซิสม์ (แบบสตาลิน-เหมา) แต่เราต้องการไปสู่เป้าหมายร่วมอันดับแรกของคนทุกชนชั้น (ยกเว้นรัฐจารีตนิยม) คือความเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค หลังจากนั้นจะเป็นพรรคการเมืองไหนสลับกันชนะเลือกตั้ง เป็นคอนเซอร์เวทีฟ เป็นลิเบอรัล เป็นพรรคใหม่ต้านทุนนิยม สากลที่สี่ สมัชชาที่ห้า ก็แล้วแต่คนเลือก
ขณะที่ส่วนตัวผมยังเชื่อในประชาธิปไตย ทุนนิยม แบบที่มีรัฐสวัสดิการและการถ่วงดุล ควบคู่ไปกับเสรีนิยมกลไกตลาด เพราะกลไกตลาดและการแข่งขันเท่านั้นที่ทำให้โลกหมุนไปข้างหน้า ทำให้เรามีไมโครซอฟท์ YouTube Twitter Facebook Playboy (เอ๊ะ ไม่เกี่ยวกันนี่หว่า) ขณะที่ฝ่ายถ่วงดุลก็มีหน้าที่ไล่ตามยับยั้งไม่ให้มันผูกขาดกลืนกิน ประชาธิปไตยทุนนิยมอาจจะไม่สามารถทำให้สมบูรณ์ ไม่สามารถเป็นจริง 100% ตามอุดมคติ แต่ก็เป็นระบอบที่ดีที่สุดในขณะนี้
ถ้าไม่เชื่อเช่นนี้ผมก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปโต้แย้งกับพวกพันธมิตร พวกคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน หรือพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ตะพึดตะพือ
ด้วยความเคารพ
ใบตองแห้ง
ป.ล.คำว่าเสรีนิยมบางครั้งผมฟังแล้ว สับสน เช่นที่อาจารย์บอกว่าพรรคเสรีนิยมในไทยคือพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในทางความคิด ผมเห็นว่า ปชป.เป็นอนุรักษ์นิยม คือเป็นปลัดประเทศ ยึดจารีตนิยม ไม่คิดเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ
หมอพลเดชเคยพูดไว้ในการประชุมสมาคมของเขาว่า “ประชาธิปไตย ที่โตเต็มวัยจะประกอบด้วยการมีกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของผล ประโยชน์และกลุ่มชนชั้นความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายอย่างครบถ้วน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ
ก) แนวคิดขวาสุดเป็นแนวความคิดของเสรีนิยมที่เรียกว่า Liberal
ข) แนวคิดตรงกลางไปขวาเป็น แนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เรียกว่า Conservative
ค) แนวคิดตรงกลางไปซ้ายเป็น แนวคิดสังคมนิยมที่เรียกว่า Socialist
ง) แนวคิดซ้ายสุดเป็นแนวคิดคอมมิวนิสม์ (Communism)
แล้วแกก็บอกว่าอเมริกามีพรรครีพับลิกันเป็น Liberal พรรคเดโมแครตเป็น Conservative ส่วนสิงคโปร์มีพรรคเดียวเป็น Liberal ซึ่งตรงข้ามกับสื่ออเมริกันฝ่ายเดโมแครต เขาถือว่าเขาเป็น Liberal ความคิดเสรีนิยม เปิดกว้างให้กับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เสรีภาพในการพูด คิด เขียน แสดงออก โฆษณา สร้างสรรค์งานศิลปะ เสรีภาพทางเพศ หรือกระทั่งเสรีภาพเพศที่สาม เช่น สนับสนุนการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ (ขณะที่พวกรีพับลิกันจะอ้างศาสนาศีลธรรมจรรยามากกว่า)
เข้าใจว่าเสรีนิยมที่อาจารย์ใช้ กับที่หมอพลเดชใช้ ก็คือเสรีทางเศรษฐกิจ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่ในความหมายของผมอาจจะเป็นเสรีนิยมทางความคิดวัฒนธรรม “เสรี นิยม” แบบมีเสรีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ฟอกล้าง “ท้าทาย” ความคิดจารีตนิยมแบบไทยๆ ที่ผูกขาด ห้ามวิจารณ์ พังทลายการเซ็นเซอร์ทางความคิดทั้งหมด
ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะเป็นจุดขัดแย้งระหว่างคนชั้นกลางที่รักเสรีกับอำนาจเก่ารัฐจารีตนิยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น