Sat, 2010-10-02 20:06
นักปรัชญาชายขอบ
ในที่สุด ผบ.ทบ.คนใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขึ้นกิน (ไม่ใช่ “เสวย”) อำนาจแล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลา 53 นี่ก็คืออีกหนึ่งกรณีของความสำเร็จของรัฐประหาร 19 กันยา 49 ความสำเร็จของรัฐประหาร ไม่ใช่ทำตามข้ออ้าง 4-5 ข้อได้สำเร็จ ข้ออ้างมีความหมายเป็นแค่ข้ออ้าง แต่ความสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐประหารคือ “การกระชับอำนาจรัฐ” ไว้มือ “กลุ่มชนชั้นนำ” ที่คิดว่าตนเองเป็น “เจ้าของรัฐ”
แกนนำเสื้อแดงย่อมรู้ดีว่า กลไกในการกระชับอำนาจของเจ้าของรัฐคือ “กองทัพ” ดังในการชุมนุมช่วงมีนา-พฤษภา 53 ข้อเรียกเรียกร้องที่จะให้รัฐบาลอภิสิทธิชนยุบสภาทันที เหตุผลหนึ่งคือ ไม่ต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิชนตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ.เพื่อเป็นกลไกสืบทอดอำนาจรัฐประหารต่อไป แต่นอกจากข้อเรียกร้องนั้นจะไม่สำเร็จแล้ว การเสียชีวิตขิงประชาชน “91 ศพ” ยังไม่อาจทำลาย “ความชอบธรรม” ในการกระชับอำนาจรัฐไว้ในมือของเจ้าของรัฐเลยแม้แต่น้อย
ว่าที่จริงหากมองในมุมของกองทัพและเจ้าของรัฐ ความสำเร็จของรัฐประหารเป็นเรื่องที่ “น่าตื่นตาตื่นใจ” อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐประหารมีมวลชนผู้มีการศึกษาและตื่นตัวทางการเมือง สูงสนับสนุนนับแสน มีบรรดาอธิการบดีมหาวิทยาลัยตบเท้าเข้ารายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร มีเนติบริกรมือหนึ่งของประเทศคอยให้บริการคณะรัฐประหาร มีนักวิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ แห่เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลยมาถึงจนกระทั่งการกระชับอำนาจครั้งล่าสุด 91 ศพ แล้วก็มีราษฎรอาวุโส ปัญญาชนแถวหน้า พระสงฆ์ ฯลฯ น้อมรับการแต่งตั้งของรัฐบาลมือเปื้อนเลือดให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ไทย
อาจเพราะผู้รับเป็นคณะกรรมการปฏิรูปฯ ล้วนแต่ตระหนักในสัจธรรมที่ว่า “ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป” ฉะนั้น เรามาปฏิรูปประเทศกันต่อดีกว่า มองอนาคตดีกว่า (แต่... เราไม่สนหรอกว่ารัฐประหารจะตั้งอยู่ ไม่ดับไป เพราะรัฐประหารมันคือผลที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน เช่น ประชาชนโง่ นักการเมืองคอร์รัปชัน ทุนโลกาภิวัตน์ ฯลฯ)
จะว่าไปแล้วพวกที่ก่อรัฐประหารอาจจับ “จริต” คนชั้นกลางในเมืองได้ถูกว่า คนพวกนี้คือพวกจงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ฉะนั้น ข้ออ้างเรื่องล้มเจ้าจึงเป็นข้ออ้างที่ยังไงก็สำเร็จกับการใช้ทำรัฐประหาร และใช้ปราบประชาชน ส่วนเรื่องคอร์รัปชันก็เป็นสิ่งที่คนชั้นกลางในเมืองรังเกียจ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นคอร์รัปชันของใคร หรือฝ่ายใด
เช่น เมื่อช่วงก่อนวันที่ 19 กันยา ที่ผ่านมา คุณประพันธ์ คูณมี ไปออกรายการตอบโจทย์ทางทีวีไทยกับ คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตอนหนึ่งคุณประพันธ์กล่าว (ประมาณ) ว่า “ตอนนี้เสื้อแดงไม่ควรจะมองว่าพันธมิตรเป็นศัตรู เพราะพันธมิตรไม่ได้เป็นศัตรูกับคนเสื้อแดง แต่เป็นศัตรูกับทักษิณ เป็นศัตรูกับรัฐบาลคอร์รัปชัน ตอนนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คอร์รัปชันอาจจะมากกว่าสมัยทักษิณด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เสื้อแดงกับพันธมิตรน่าจะมาร่วมกันต้านคอร์รัปชันจะดีกว่า”
ผมฟังแล้วได้แต่นึกในใจว่า ถ้า “มาตรฐาน” ของพันธมิตรคือ “ต้านรัฐบาลคอร์รัปชัน” แล้วคุณบอกว่า “ตอนนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คอร์รัปชันอาจจะมากกว่าสมัยทักษิณด้วยซ้ำ” ทำไมพวกคุณถึงไม่ออกมาต้าน (วะ) หรือว่าพวกคุณเลือกต้านคอร์รัปชันเป็นบางคนบางกลุ่ม!
จริตแบบนี้มันเหมือนกับจริตของบรรดานายทหารผู้ก่อรัฐประหาร เมื่อก่อน 19 กันยา 49 พวกเขามักจะพูดว่า รัฐประหารไม่ใช่ทางแก้ปัญหา มันล้าสมัยไปแล้ว และมันเหมือนกับจริตของ “ตัวพ่อ” ที่บอกว่า “จะหนึ่งคนหรือแสนคนรัฐบาลก็ต้องรับฟัง” หรือ “ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย (สองศพ) แล้วปฏิเสธความรับผิดชอบ”
จะว่าไปแล้วความสำเร็จของรัฐประหารมันอาจไม่ซับซ้อนอย่างที่นักวิชาการ พยายามอธิบาย แต่มันสำเร็จได้เพราะว่ามันฉลาดใช้วิธีการ ใช้คน หรือ “ตัวแสดง” (actors) ต่างๆ ที่มันสอดคล้องกับรสนิยมของ “ดัดจริตชน” (เช่น ปณิธาน วัฒนายากร เสธ.ไก่อู เป็นต้น) มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่น่าเศร้า!
ลองไปดูบทความชื่อ “ปฏิรูปประเทศไทย รายการเรื่องที่ควรปฏิรูป” ของ คุณหมอประเวศ วะสี (ลง มติชนสองตอน 1-2 ต.ค.53) เริ่มตั้งแต่สาเหตุของวิกฤตประเทศคุณหมอบอกว่าเกิดจาก “อวิชชา” หรือ “คนทั้งปวงล้วนตกอยู่ในโมหภูมิ” แล้วก็เสนอการปฏิรูปตามสาเหตุ 12 รายการ มี “ปฏิรูประบบปัญญา” เป็นรายการที่หนึ่ง ส่วน “ปฏิรูปกองทัพ” ไปแทรกอยู่ในเรื่องปฏิรูปตามประเด็นซึ่งใช้คำว่า เช่น เหมือนยกตัวอย่างเรื่องที่ควรปฏิรูป (ซึ่งไม่รู้ว่าต้องปฏิรูปหรือไม่ ปฏิรูปอย่างไร เพราะคุณหมอไม่ได้เขียนรายละเอียดเหมือนหัวข้ออื่นๆ)
ผมจึงรู้สึกว่าเรื่องปฏิรูปประเทศก็เป็นอีกเรื่องของความสำเร็จของรัฐ ประหาร ที่พยายามใช้วิธีการและตัวแสดงให้สอดรับกับรสนิยมของดัดจริตชน จะเห็นได้ว่าในขบวนแห่ปฏิรูปประเทศไม่มีใครตั้งคำถาม “อย่างจริงจัง” กับการกระทำที่ทำลายประชาธิปไตย เช่น การที่เจ้าของรัฐใช้อำนาจกระชับอำนาจรัฐ การละเมิดเสรีภาพของสื่อ ความรับผิดชอบต่อ 91 ศพ เป็นต้น
ที่ทำๆ กันอยู่ แม้แต่อย่างที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ออกมาตั้งคำถามถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของเสื้อแดง ความยุติธรรม หรือกระทั่งตั้งคำถามต่อรัฐประหารที่ถ้าจะเกิดขึ้นอีกมันอาจจะเป็นเหมือนการ ทำ “อัตวินิบาตกรรม” อะไรทำนองนั้น ผมว่านั่นเป็นเพียงบทบาทของ “ตัวแสดง”
คือเป็นตัวแสดงที่ (จะโดยรู้ตัวหรือไม่) ทำให้ดูดีว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง แต่โทษทีคณะกรรมการนี้เชื่อมโยงอยู่กับประชาชน หรือรัฐบาลที่สืบทอดรัฐประหาร 91 ศพ? ฉะนั้น ยิ่งแสดงให้ดูดีมากเท่าไร ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มชนชั้นนำ “ตัวจริง” ที่คุมเกมรัฐประหาร 19 กันยา 49 เขาช่างฉลาดใช้วิธีการ และตัวแสดงได้เยี่ยมยอดจริงๆ ในยุทธศาสตร์การกระชับอำนาจรัฐไว้ในมือ
มันน่าอัศจรรย์ไหม ทั้งกองทัพ รัฐบาล ศาล สื่อมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการ ระบบราชการ รัฐธรรมนูญ 50 ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ “การควบคุมอย่างแยบยล” ของเจ้าของรัฐ นี่มันจึงเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากของรัฐประหาร 19 กันยา 49 แล้วไง ถ้าจำเป็นทำไมจะทำรัฐประหารอีกไม่ได้ ในเมื่อมี “ตัวแสดง” เก่งๆ คอยรับใช้ไม่สิ้นสุด!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น