สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

องค์กรตุลาการกับประชาธิปไตย

องค์กรตุลาการกับประชาธิปไตย*

(ขอขอบคุณ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล)

รัฐ ใดที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะยอมรับบทบาทขององค์กรตุลาการ ในฐานะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่าย บริหารไม่ให้เป็นไปตามอำเภอใจ การควบคุมฝ่ายบริหาร ก็ได้แก่ การควบคุมการความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง ในขณะที่การควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ได้แก่ การควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา

องค์กรตุลาการ ในนิติรัฐสมัยใหม่จึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่บทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธกิจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจ โดยมิชอบของรัฐ และการปกปักรักษาประชาธิปไตยอีกด้วย

อย่าง ไรก็ตาม ด้วยบทบาทอันกว้างขวางขององค์กรตุลาการเช่นนี้ นำมาซึ่งความขัดแย้งกันเองกับคำว่าประชาธิปไตย กล่าวคือ ด้านหนึ่ง นิติรัฐ-ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ก็เรียกร้องให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน และควบคุมไม่ให้เกิดการปกครองที่เสียงข้างมากใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เมื่อองค์กรตุลาการเข้าไปควบคุมการใช้อำนาจรัฐเข้า ก็เกิดการเผชิญหน้ากันกับองค์กรที่มีฐานความชอบธรรมทางการเมืองอย่างรัฐสภา และรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่องค์กรตุลาการปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองเช่นว่า

ความขัดแย้งดังกล่าว จะมีวิธีการประสานกันอย่างไร?

แน่ นอนที่สุด หากเราตัดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการออกไป นิติรัฐนั้นก็กลายเป็นนิติรัฐที่ไม่สมประกอบ เพราะปราศจากซึ่งองค์กรที่เป็นกลางและอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่นกัน หากแก้ไขให้องค์กรตุลาการมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คงไม่เหมาะสมเป็นแน่ เพราะ จะทำให้องค์กรตุลาการสูญสิ้นความอิสระไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของ องค์กรตุลาการต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมตลอดเวลา วิธีเหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง

วิธี ที่จะพอแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ คือ การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรตุลาการและการดำรงตนขององค์กรตุลาการให้ สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย

ในรายละเอียด ผู้เขียนขอแบ่งเป็น ๖ ประการ ดังนี้

ประการแรก ความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

โดย ทั่วไป รัฐธรรมนูญในรัฐเสรีประชาธิปไตยต่างรับรองความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการเอา ไว้ เช่น การจัดตั้งศาลต้องทำโดยกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา การจัดตั้งศาลเฉพาะเพื่อคดีใดคดีหนึ่งไม่อาจกระทำได้ การโยกย้ายผู้พิพาษาต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษานั้นด้วย การแต่งตั้งและโยกย้ายตลอดจนการดำเนินการทางวินัยเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ตุลาการ การบริหารงบประมาณของศาลเป็นไปอย่างอิสระ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาสูงกว่าอาชีพอื่นๆ เป็นต้น

อาจ สงสัยกันว่าความเป็นอิสระของผู้พิพากษานี้ปราศจากความรับผิดชอบใดๆเลยหรือ? แน่นอน ในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่มีองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐใดที่ใช้อำนาจโดยปราศจาก ความรับผิดชอบ แต่ความรับผิดชอบขององค์กรตุลาการนั้นแตกต่างจากองค์กรนิติบัญญัติและบริหาร ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองโดยแท้ กล่าวคือ องค์กรตุลาการไม่อาจถูกฝ่ายการเมืองแต่งตั้งโยกย้ายหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ และตำแหน่งผู้พิพากษาไม่ได้มาโดยการเลือกตั้งของประชาชน ตรงกันข้าม องค์กรตุลาการ รับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองโดยผ่านเหตุผลประกอบคำพิพากษานั่นเอง ด้วยการให้สังคมได้มีโอกาสวิจารณ์คำพิพากษาอย่างเต็มที่

บาง ครั้งอาจมีกรณีตอบโต้การใช้อำนาจระหว่างองค์กรนิติบัญญัติกับองค์กรตุลาการ หรือองค์กรบริหารกับองค์กรตุลาการ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติอาจตรากฎหมายที่มีผลเป็นการ ลบหลักการที่คำพิพากษาของศาลได้วางบรรทัดฐานเอาไว้ หรือในฝรั่งเศส สมัยวิกฤติแอลจีเรีย ประธานาธิบดีเดอโกลล์และรัฐบาลเร่งผลักดันรัฐบัญญัติจัดตั้งศาลทหารพิเศษใน ดินแดนแอลจีเรียเป็นการเฉพาะ ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้เพิกถอนรัฐกำหนดจัดตั้งศาลทหารพิเศษเพียง ไม่นาน (โปรดดูบทความของผู้เขียน, ฝ่ายการเมืองปะทะฝ่ายตุลาการ : ประสบการณ์จากฝรั่งเศส, เผยแพร่ครั้งแรกในประชาชาติธุรกิจ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ หรือดูได้ใน (http://www.onopen.com/2006/01/822)

ใน เรื่องความประพฤติส่วนตัวหรือการทุจริต ก็มีคณะกรรมการตุลาการเป็นผู้ดูแลและมีจริยธรรมวิชาชีพกำกับไว้ หรืออาจมีกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งได้

ประการที่สอง ความเป็นกลางขององค์กรตุลาการและความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษา

องค์กรตุลาการ ต้องดำรงตนอย่างเป็นกลางและปราศจากอคติ ในกระบวนพิจารณาคดี ต้องให้โอกาสคู่ความทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ในกรณีที่ผู้พิพากษามีส่วนได้เสียกับประเด็นแห่งคดีที่ตนจะพิจารณา ผู้พิพากษานั้นต้องถอนตัวออกจากการพิจารณาคดี ดังสุภาษิตในภาษาละตินที่ว่า ไม่มีใครสามารถตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับตนเอง (Nemo judex in re sua) ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นกันว่าผู้พิพากษาทั้งหลายไม่ควรเข้าไป เล่นการเมืองด้วยการไปดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ไปร่างรัฐธรรมนูญ ไปร่างกฎหมาย หากเข้าไปแล้วก็ไม่ควรกลับมาเป็นผู้พิพากษาใหม่ เพราะในวันข้างหน้าเป็นไปได้ว่า อาจมีประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับเรื่องที่ตนเคยเข้าไปเกี่ยวข้อง

ความ เป็นกลางของผู้พิพากษาจะสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษา เหตุผลประกอบคำพิพากษาเกิดจากการพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมาย มิใช่นำรสนิยมทางการเมืองส่วนตัว ความเชื่อทางศาสนา ความนิยมชมชอบส่วนตัวเข้ามาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสิน คำพิพากษาต้องไม่เกิดจากการตั้งธงคำตอบไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงค่อยหาเหตุผลเพื่อนำไปสู่ธงคำตอบนั้น ความเป็นภาววิสัยของคำพิพากษาย่อมทำให้บุคคลซึ่งแม้ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เหตุผลของคำพิพากษา หรือผลของคำพิพากษา แต่บุคคลนั้นก็ยังคงยอมรับนับถือคำพิพากษาอยู่ดี

คำพิพากษาต้องผ่านการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างลึกซึ้งของผู้พิพากษา โดยใช้เหตุผลทางกฎหมายประกอบ คำพิพากษาต้องสนับสนุนความชอบด้วยกฎหมายและความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายไปพร้อมๆกัน ที่ ว่าต้องสนับสนุนความชอบด้วยกฎหมาย ก็เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลทางกฎหมายและการเคารพกฎหมายตามแนวทางกฎหมายเป็น ใหญ่ของหลักนิติรัฐ ส่วนที่ว่าต้องสนับสนุนความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมาย ก็เพื่อสร้างความเชื่อไว้วางใจต่อระบบกฎหมาย ความสม่ำเสมอต่อเนื่องของกฎเกณฑ์ และบุคคลสามารถคาดการณ์ได้ว่าการกระทำของตนและผู้อื่นจะชอบด้วยกฎหมายหรือ ไม่

บางกรณีทั้งสอง เรื่องนี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจนทำให้การหาจุดสมดุลของสองเรื่องนี้ เป็นไปโดยยากและอาจต้องเอียงไปในทางใดทางหนึ่งมากกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่ต้องใช้เหตุผลมาอธิบายให้ได้ว่าเหตุใดจึง ตัดสินใจรักษาความชอบด้วยกฎหมายมากกว่า และมีวิธีการเยียวยาความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายอย่างไร หรือเหตุใดจึงตัดสินใจรักษาความมั่นคงแน่นอนและชัดเจนของกฎหมายมากกว่า และมีวิธีเยียวยาความชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ด้วยเหตุผลดังกล่าว คำพิพากษาที่ให้ใช้กฎหมายย้อนหลังอันเป็นผลร้ายแก่บุคคลโดยไม่ได้มีการ อธิบายเหตุผลทางกฎหมายเพียงพอ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไร้มาตรฐานและไม่สมเหตุสมผล

ประการที่สาม ความเชื่อถือไว้วางใจของสังคมต่อองค์กรตุลาการ

ความน่าเชื่อถือและความศรัทธาต่อศาล ทั้งในแง่ตัวองค์กรและตัวบุคคล หาได้เกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการ หมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล หรือการอ้างว่าผู้พิพากษาตัดสิน ในพระปรมาภิไธยไม่ ตรงกันข้าม เกิดจากความสมเหตุสมผลในเหตุผลประกอบคำพิพากษา ความเป็นภาววิสัยของเหตุผลประกอบคำพิพากษา ความเป็นอิสระและการดำรงตนอย่างปราศจากอคติของผู้พิพากษา

คำ พิพากษาจะมีคุณค่า นอกจากเพราะกฎหมายกำหนดให้คำพิพากษามีค่าบังคับแล้ว ยังต้องอาศัยความเชื่อถือของประชาชนประกอบด้วย จริงอยู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประชาชนทุกคนเห็นด้วยกับเนื้อหาของคำพิพากษาทั้งหมด แต่อย่างน้อยวิญญูชนพิจารณาดูแล้ว ก็ต้องยอมรับในเหตุผลที่ประกอบคำพิพากษานั้น และเห็นว่าคำพิพากษานั้นมีคุณภาพได้มาตรฐาน

การ สร้างความเชื่อถือไว้วางใจของสังคมต่อผู้พิพากษา ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องทำตนเป็นที่นิยมของประชาชน ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องยอมกระทำการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและ สามัญสำนึกของตนเพียงเพื่อความพอใจของสาธารณชน ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาต้องตัดสินโดยฟังกระแสสังคม นี่เรียกว่า ความนิยม (Popularité) ซึ่งตรงกันข้ามกับ ความเชื่อถือไว้วางใจ (Confiance) ความเชื่อถือไว้วางใจนั้น เป็นความเชื่อถือที่มีต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ความเป็นกลางของผู้พิพากษา ความยุติธรรมของผู้พิพากษา และความเคารพในจริยธรรมวิชาชีพของผู้พิพากษา

นอก จากนี้ ความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้พิพากษา ยังอาจเกิดจากวัตรปฏิบัติของผู้พิพากษาเอง เช่น การรู้ถึงขอบเขตอำนาจและข้อจำกัด การยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ และการอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งทระนงว่าตนยิ่งใหญ่ ไม่อหังการ-มมังการ เพราะ หัวโขนผู้พิพากษา หรือเพราะคำอ้างที่ว่าตนกระทำการในนามกษัตริย์

ประการที่สี่ การตระหนักถึงขอบเขตอำนาจของตนเอง

นิติ รัฐ-ประชาธิปไตยเรียกร้องเรื่องการแบ่งแยกอำนาจให้เกิดดุลยภาพระหว่างอำนาจ รัฐในแขนงต่างๆ องค์กรตุลาการเองก็เช่นกัน ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าตนเองมีอำนาจ เชิงรับศาลไม่อาจควบคุมองค์กรฝ่ายบริหารได้ในทุกกรณี ตรงกันข้าม เรื่องจะขึ้นไปสู่ศาลได้ก็ต่อเมื่อมีการริเริ่มคดีโดยบุคคลที่เกี่ยวข้อง เสียก่อน และศาลไม่อาจลงมาหยิบยกเรื่องใดขึ้นพิจารณาได้ด้วยตนเอง
การ พิพากษาของศาลมิใช่กระทำได้อย่างพร่ำเพรื่อหรือปราศจากกฎเกณฑ์ กว่าที่องค์กรตุลาการจะผลิตคำพิพากษาได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่เงื่อนไขการฟ้องคดี เช่น ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิหรือมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีหรือไม่ การฟ้องทำตามรูปแบบหรือไม่ ฟ้องภายในอายุความหรือไม่ ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาหรือไม่ จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรมอีก ในท้ายที่สุดเมื่อศาลตัดสิน ก็ยังต้องพิจารณาอีกว่าคำพิพากษาของศาลนั้นมีผลเป็นการทั่วไปหรือมีผลผูกพัน เฉพาะคู่ความ มีผลย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคต

เรา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าองค์กรตุลาการเป็นผู้เล่นหลักคนหนึ่งในชีวิตทางการเมือง ของรัฐ (Acteur politique) อย่างไรเสียองค์กรตุลาการก็ต้องมีบทบาทางการเมือง แต่บทบาททางการเมืองเช่นว่านั้น ต้องกระทำผ่านคำพิพากษาและภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผลตามกฎหมายเท่านั้น อนึ่ง แม้องค์กรตุลาการอาจเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยผ่านคำพิพากษาของตน แต่องค์กรตุลาการต้องคำนึงถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจและการรักษาดุลยภาพระหว่าง อำนาจไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องบางเรื่องเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแนวนโยบายของรัฐบาล หรือเรื่องทางการเมืองโดยแท้ องค์กรตุลาการก็จำต้องสงวนท่าทีและควบคุมการใช้อำนาจของตนเองลง เช่น การยุบสภา การประกาศสงคราม การเลือกนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี

ใน บางกรณี รัฐบาลอาจดำเนินนโยบายตามที่รณรงค์หาเสียงกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ได้รับอาณัติจาก ประชาชนในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ประเด็นปัญหานี้ องค์กรตุลาการอาจเข้าไปควบคุมได้แต่เพียงเฉพาะ ความชอบด้วยกฎหมายของมาตรการตามนโยบายเท่านั้น องค์กรตุลาการไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงถึงความเหมาะสมของนโยบาย อีกนัยหนึ่ง คือ องค์กรตุลาการต้องใช้ กฎหมายเป็นมาตรวัดนั่นเอง

แม้ องค์กรตุลาการจะมีอำนาจในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และมีอำนาจในการพิพากษาคดีความให้มีผลเป็นที่สุด (res judicata) แต่องค์กรตุลาการก็ไม่ได้มีอำนาจอย่างปราศจากขอบเขต ด้วยธรรมชาติและลักษณะพิเศษขององค์กรตุลาการที่ต้องการความเป็นอิสระทำให้ ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนและสังคม แต่องค์กรตุลาการกลับมีอำนาจควบคุมการใช้อำนาจรัฐ กฎหมายจึงต้องออกแบบระบบไม่ให้องค์กรตุลาการใช้อำนาจอย่างไร้ขอบเขตด้วยการ วางกลไกวิธีพิจารณาคดี ในขณะเดียวกันองค์กรตุลาการก็ต้องจำกัดการใช้อำนาจของตนเอง ไม่เข้าไปรุกล้ำในเรื่องที่เป็นนโยบายหรือการเมืองโดยแท้

นี่เป็นหลักการพื้นฐานขององค์กรตุลาการในรัฐเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่กระบวนการ ตุลาการภิวัตน์ซึ่งแอบอ้างเพื่อนำไปใช้สนับสนุนการเข้าไป เพ่นพ่านในสนามการเมือง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ การดำรงตำแหน่งในองค์กรเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามศัตรู การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตลอดจนการแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งสำคัญ

ประการที่ห้า คำพิพากษา สาธารณะ

จริง อยู่ ในทางกฎหมาย คำพิพากษาอาจมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความหรืออาจมีผลผูกพันองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งปวง แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำพิพากษามีผลกระทบออกไปในวงกว้าง ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้และตีความกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมให้เกิดผล เป็นรูปธรรม

บท บัญญัติแห่งกฎหมายที่รับรองสิทธิและเสรีภาพหรือวางเงื่อนไขการใช้อำนาจรัฐ มักเขียนด้วยถ้อยคำกว้างๆ เปิดโอกาสให้ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี การใช้และตีความกฎหมายเหล่านี้โดยศาลผ่านทางคำพิพากษาในแต่ละคดีต่างหากที่แปล-ขยายความเหล่านั้นให้มีผลชัดเจนและจับต้องได้ เมื่อศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันซ้ำเข้ามากๆในคดี ก่อนๆ ก็กลายเป็นบรรทัดฐานที่ศาลต้องเดินตามในคดีหลัง นอกเสียจากศาลจะมีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอและรับฟังได้ หรือบริบทแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ศาลก็อาจเปลี่ยนแนวจากคำพิพากษาบรรทัดฐานนั้น ลักษณะดังกล่าวนี้เอง ทำให้สำนักคิดกฎหมายสัจนิยม โดยเฉพาะเซอร์ โอลิเวอร์ เวนเดล โฮล์มส์ ถึงกับประกาศว่า กฎหมายในความเห็นของข้าพเจ้า คือการพยากรณ์ต่อการกระทำของศาลในความเป็นจริง ไม่มีอะไรอื่นเลยนอกจากนี้

ด้วย อานุภาพของการใช้และตีความกฎหมายของศาลดังกล่าว ทำให้คำพิพากษาไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อคดีนั้นเท่านั้น คำพิพากษาจึงไม่ควรมีขึ้นเพียงเพื่อให้ผู้พิพากษาและผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี อ่าน ตรงกันข้ามคำพิพากษาต้องพยายามสร้างการสื่อสารระหว่างองค์กรตุลาการกับสังคม

ผู้ พิพากษาในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยต้องตระหนักเสมอว่าการเขียนคำ พิพากษานั้น ไม่ได้เขียนอธิบายความและเหตุผลให้แก่คู่ความเท่านั้น แต่เป็นการให้เหตุผลแก่บุคคลทั่วไปด้วย คำพิพากษาที่ดีจึงต้องสามารถให้การศึกษาแก่สังคม นำมาซึ่งการศึกษาค้นคว้า วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งในหมู่นักกฎหมายและบุคคลทั่วไป ในกรณีที่เป็นข้อบกพร่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ เนื้อหาของคำพิพากษาต้องกระตุ้นเตือนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย

คำพิพากษา สาธารณะจึงต้องประกอบไปด้วย ๒ ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก การเข้าถึงคำพิพากษาต้องเป็นไปโดยง่าย ภายหลังอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว คำพิพากษาต้องเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสวิจารณ์ ปัจจัยที่สอง ผู้พิพากษาต้องคิดอยู่เสมอว่าการเขียนคำพิพากษานั้นเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างองค์กรตุลาการกับสังคม ไม่ใช่เขียนเพียงเพื่อตัดสินคดีให้แล้วเสร็จไป

ประการที่หก การยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์

โดย ธรรมชาติขององค์กรตุลาการนั้นเป็นองค์กร ปิดและมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนน้อยกว่าองค์กรของรัฐอื่นทั้งนี้เพื่อประกัน ความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ ลักษณะดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรตุลาการกลายเป็นแดนสนธยาได้ง่ายขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องสร้างระบบการวิจารณ์การทำงานของศาล นั่นก็คือ การวิจารณ์คำพิพากษานั่นเอง

การ ลำพองตนของผู้พิพากษาว่าตนปฏิบัติหน้าที่ในนามของกษัตริย์ ตนมีพระราชดำรัสของกษัตริย์ที่สนับสนุนและให้กำลังใจ เป็นอุปสรรคและไม่ส่งเสริมให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษา และอาจทำให้ผู้พิพากษา หลงอำนาจจนละเลยสังคมและไม่ใส่ใจความเห็นขององคาพยพอื่นๆในสังคม เช่นกัน การสงวน คำพิพากษาไว้ให้เฉพาะผู้พิพากษา ทนายความ หรือคู่ความก็ดี การพยายามสร้างความเชื่อที่ว่า คำพิพากษาเป็นเรื่องกฎหมาย มีแต่นักกฎหมายด้วยกันเท่านั้นที่เข้าใจก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างทัศนคติที่คับแคบในหมู่นักกฎหมายว่าในโลกนี้มีแต่ นักกฎหมายที่เป็นใหญ่ และผูกขาด ความจริงในนามของกฎหมาย

ในทางกลับกัน การ เปิดโอกาสให้บุคคลในวงการกฎหมาย สื่อมวลชน บุคคลทั่วไปได้วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ต่อคำพิพากษานั้น ย่อมทำให้คำพิพากษาและศาลได้การยอมรับนับถือ และสร้างความชอบธรรมทางประชาธิปไตยให้กับคำพิพากษาและผู้พิพากษานั้นด้วย การวิจารณ์คำพิพากษาโดยสาธารณชนยังช่วยสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้เข้ม แข็งและลึกซึ้งขึ้นตามแนวทาง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันและขยายต่อจาก ประชาธิปไตยทางตรง” “ประชาธิปไตยทางผู้แทนและ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ด้วย เหตุนี้ การ ใช้หรือการ ข่มขู่ว่าจะใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษเกี่ยวกับข้อหา หมิ่นศาลหรือ ละเมิดอำนาจศาลต่อคนที่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา จึงล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ

..........................

ใน รัฐเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่ องค์กรตุลาการมีพันธกิจ ๔ เรื่องหลักๆ ได้แก่ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท การควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย การสร้างกฎเกณฑ์ทางกฎหมายผ่านทางการใช้และตีความกฎหมายในคำพิพากษา และการเป็นผู้เล่นคนหนึ่งในชีวิตทางการเมืองของรัฐ การปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุพันธกิจทั้งสี่นี้ ต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตยอันเป็นคุณค่าพื้น ฐานที่รัฐเสรีประชาธิปไตยยึดถือ

แนว ทางทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นการสนับสนุนองค์กรตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและ หลักประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธบทบาทขององค์กรตุลาการในการตัดสินคดีอย่างก้าวหน้า แต่ การตัดสินอย่างก้าวหน้าควรประกอบด้วยเหตุผลที่มีความเป็นภาววิสัย มีหลักกฎหมายรองรับ และอธิบายให้สังคมยอมรับนับถือได้ เป็นความกล้าปฏิเสธอำนาจนอกระบบและรัฐประหาร เป็นความกล้าตัดสินเพื่อแก้วิกฤติด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบจากจิตสำนึกของผู้พิพากษาและยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นการตัดสินที่ คิดว่าก้าวหน้าเพื่อแก้ วิกฤตเพราะมีใครคนใดคนหนึ่งออกมากระตุ้นให้องค์กรตุลาการต้องตัดสิน หรือ เพราะต้องการปราบปรามศัตรูทางอุดมการณ์ทางการเมือง

จริง อยู่ ในนิติรัฐ หลักการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ และหลักความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ เป็นหลักการสำคัญอันขาดเสียมิได้ แต่หลักการดังกล่าวไม่ได้มีคุณค่าหรือสถานะสูงสุดเหนือกว่าหลักการอื่น จนทำให้องค์กรตุลาการมีอำนาจล้นฟ้าและปราศจาการตรวจสอบถ่วงดุล ตรงกันข้าม หลักการเหล่านี้เป็นหลักการในทางกลไกเพื่อพิทักษ์รักษาหลักการที่มีคุณค่า สูงสุด คือ หลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย กล่าวให้ถึงที่สุด อำนาจ และความอิสระที่นิติรัฐหยิบยื่นให้องค์กรตุลาการนั้น ก็เพื่อให้นำมาใช้ปกป้องนิติรัฐและประชาธิปไตยนั่นเอง หาใช่ให้เพื่อนำมาใช้ทำลายนิติรัฐและประชาธิปไตยไม่

ต้อง ไม่ลืมว่า องค์กรตุลาการไม่ได้อยู่เหนือประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับองค์กรอื่นๆ การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตุลาการให้สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และการสำนึกอยู่เสมอว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในประชาธิปไตยและมีหน้าที่พิทักษ์ ประชาธิปไตย เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมสมัยใหม่ และสร้างความชอบธรรมให้องค์กรตุลาการในการเข้าไปตรวจสอบอำนาจรัฐ

ใน ทางกลับกัน หากองค์กรตุลาการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอคติ ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือยอมพลีตนรับใช้อุดมการณ์บางอย่างด้วยการเป็นกลไกปราบปรามศัตรูแล้ว ความน่าเชื่อถือต่อองค์กรตุลาการย่อมลดน้อยถอยลง จนในท้ายที่สุด อาจไม่เหลือซึ่งการยอมรับคำพิพากษาของศาล

หาก เป็นเช่นนั้น นอกจากองค์กรตุลาการจะไม่บรรลุพันธกิจปกป้องนิติรัฐ-ประชาธิปไตยแล้ว กลับกลายเป็นว่าองค์กรตุลาการนั่นแหละที่เป็นผู้ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เสียเอง


---------------------------------------------------------------

*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ประชาไท และฟ้าเดียวกันออนไลน์ วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑

http://www.go6tv.com/2010/10/blog-post_3957.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น