Sat, 2010-12-04 23:29
สุรพศ ทวีศักดิ์
คนจนนำแผ่นซีดีเก่าสิบ-ยี่สิบแผ่นมาวางขายหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ ถูกจับและเรียกปรับเป็นแสน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยช่างเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเหลือเกิน
คนจนนำแผ่นซีดีเก่าสิบ-ยี่สิบแผ่นมาวางขายหาเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ ถูกจับและเรียกปรับเป็นแสน ทำให้ดูเหมือนว่ารัฐไทยช่างเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเหลือเกิน และเมื่อปรากฏภาพข่าวนายตำรวจขวัญใจประชาชนควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าปรับแทนคน จน เราต่างตื้นตันใจว่าสังคมนี้ช่างมีตำรวจที่เปี่ยมเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยาก ไร้หาเช้ากินค่ำเหลือเกิน แต่เป็นภาพที่ขัดแย้งกับภาพตำรวจตามด่านตรวจบางแห่ง ที่ก้มลงหยิบเศษเงินข้างๆ เท้าของคนขับรถบรรทุก
ภาพที่ขัดแย้งกันสองภาพดังกล่าว ภาพแรกเป็นภาพจงใจถ่ายทำ แต่ภาพหลังเป็นภาพแอบถ่าย หรือภาพแรกเป็นภาพจงใจนำเสนอเพื่อต้องการบอกสังคมว่า ตำรวจไทยเอาจริงเอาจังและเที่ยงตรงกับการบังคับใช้กฎหมาย และตำรวจไทยก็มีเมตตาธรรมต่อประชาชนผู้ยากไร้ ส่วนภาพหลังเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้จงใจนำเสนอ แต่เป็นข้อเท็จจริงของวิถีชีวิตประชาชนที่หาเช้ากินค่ำถูกรีดไถจนชาชิน
คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่ภาพที่จงใจนำเสนอ แต่ภาพที่จงใจนำเสนอคือภาพการฟ้องร้องสื่อและมือที่มองไม่เห็นที่เผยแพร่คลิ ป เป็นความจงใจนำเสนอว่าข้อเท็จจริงในคลิปจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือคนเผยแพร่คลิปและสื่อที่นำเสนอข่าวจะต้องรับผิดทางกฎหมาย เพราะจงใจทำลาย “ความน่าเชื่อถือ” ของศาลรัฐธรรมนูญ
(ภายในประเทศนี้ ความน่าเชื่อถือของสถาบันใดๆ ช่างเปราะบางและถูทำลายได้ง่ายดายเหลือเกิน โดยบุคคลอื่น หรือขบวนการของผู้ไม่หวังดี ฉะนั้น เราต้องปกป้องความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันด้วยการใช้อำนาจ ด้วยกองทัพ พยายามปิดกั้นการตรวจสอบ การใช้เสรีภาพในการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผู้ “เป็นนายตัวจริง” ของเรา [แต่ไม่มีอำนาจจริง] ให้มากที่สุด)
และอีกภาพที่ศาลรัฐธรรมนูญจงใจนำเสนอคือ ภาพการตัดสิน “ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์” ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เพราะ “กระบวนการยื่นค้ำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในประเด็นอื่นๆ อีกต่อไป จึงให้ยกคำร้อง”
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ของ “การจงใจนำเสนอ” ในกรณีดังกล่าวนี้คือ การนำเสนอว่า ตามข้อเท็จจริงพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำผิดหรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่ากับความต้อง การท้าทายสังคมว่า “ก็เห็นว่าคดีหมดอายุความแล้ว แต่รับไว้พิจารณาเพื่อจะตัดสินแบบนี้ใครจะทำไม?”
เป็นการท้าทายที่ไม่สนใจว่า สังคมนี้จะคิดอย่างไรกับความเป็นจริงที่ว่าในการดำเนินคดีกับอีกฝ่าย กระบวนการยุติธรรมของรัฐมุ่งไปที่ข้อเท็จจริง หรือการเอาผิดให้ได้โดยแทบไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ถูกต้องทางกฎหมาย เช่น ทำรัฐประหารแล้วเป็นโจทย์เอง ตั้งคณะบุคคลมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนเอง ฟ้องศาลเอง หรือเวลาศาลตัดสินก็อ้างนิยามในพจนานุกรมกรณีทำกับข้าวออกทีวี อ้างการไม่เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมกรณีเซ็นชื่อให้เมียซื้อที่ดิน อ้างงานวิจัยของนักวิชาการกรณีคดียึดทรัพย์ ฯลฯ
หลายๆ กรณีที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้เสมือนดำเนินการโดยยึดหลักเกณฑ์ ว่า “คนชั่วต้องได้รับกรรมชั่ว คนดีต้องได้รับกรรมดี” แต่หลักความยุติธรรมตามกฎหมายต้องยึดตัวบทกฎหมาย กระบวนการดำเนินการที่ชอบธรรม และข้อเท็จจริงของพยานหลักฐาน
ส่วนความเป็นคนดีคนชั่วจะเอามาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ เพราะการเป็นคนดีคนชั่วอาจเป็นเพียงภาพที่ถูกสร้างและขยายจนเกินความเป็น จริง เพราะถ้ายึดเกณฑ์เช่นนี้ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนชั่วไม่ว่าจะทำ อะไรก็ผิด ฝ่ายที่ถูกมอง/ถูกสร้างภาพว่าเป็นคนดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ผิด
ยิ่งบังเอิญว่าประเทศนี้ภาพของคนดี-คนชั่วถูกนำไปผูกโยง “อย่างเหนียวแน่น” กับ “ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี” แต่ความจงรักภักดี-ไม่จงรักภักดี มักเป็น “ภาพที่จงใจสร้างขึ้น” ใครก็ตามที่ประกาศตัวเป็นผู้จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนดีขึ้นมาทันที และใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีก็จะกลายเป็นคนชั่วขึ้นมาทันที
และการกลายเป็นคนดีคนชั่วในทำนองนี้ส่งผลให้ฝ่ายที่มี “ภาพคนดี” ละเมิดหลักการ กติกาประชาธิปไตยได้โดยไม่ผิด เช่น เรียกร้องรัฐประหาร ทำรัฐประหาร ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง สลายการชุมนุมทางการเมืองที่ทำให้คนตายจำนวนมาก ฯลฯ ก็ไม่ผิด
แต่อีกฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตย ถูกล้อมปราบด้วยวิธีรุนแรง กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นขบวนการล้มเจ้า เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังลืม ฯลฯ
แน่นอนว่าในฝ่ายหลังอาจมีคนทำผิดกฎหมาย ใช้วิธีรุนแรงต่างๆ แต่การดำเนินการของรัฐบาลต้องจำเพาะเจาะจงตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดเช่นนั้น ไม่ใช่กวาดล้างแบบเหมาเข่ง เหวี่ยงแห มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายแล้วก็ไม่รับผิดชอบ หรือพยายามสร้างภาพคนเสื้อแดงให้เป็นฝ่ายบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นภัยต่อความสงบสุขของบ้านเมือง
นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ทัศนคติเช่นนั้นได้กลายเป็นทัศนคติของชนชั้น นำไทยตลอดมา และกำลังเป็นทัศนคติที่ทำให้รัฐไทยกลายสภาพเป็น “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” ภาพกระบวนการยุติธรรมไทยแต่ก่อนคนไม่เชื่อถือตำรวจ แต่ขณะนี้ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แทบจะไม่เหลือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป
ต่อให้ดำเนินคดีกับสื่อและมือเผยแพร่คลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญได้ ต่อให้ร้องขอให้สังคมยอมรับคำตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ (ที่จริงสังคมต้องยอมรับอยู่แล้ว) จะบังคับหรือร้องขอให้สังคม “เชื่อถือ” ในความสุจริตยุติธรรมของศาลได้หรือครับ?
ผู้พิพากษาซึ่งมีบทบาทรักษาระบบนิติรัฐ ปกป้องความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน หากสังคมไม่เชื่อถือในเรื่องความสุจริต และการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมแก่ทุกฝ่ายในมาตรฐานเดียวกัน จะมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ต่อไปได้อย่างไร?
และใน “รัฐที่ความยุติธรรมล้มเหลว” และ/หรือ “รัฐที่ความน่าเชื่อถือของทุกสถาบันล่มสลาย” การเล่นละครปฏิรูปประเทศ ปรองดอง จงรักภักดี สมานฉันท์ สามัคคี คือหนทางนำพาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เสรีภาพ ประชาธิปไตยไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สู่สังคมสมดุล มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างที่พยายามกล่าวอ้างกันจริงๆ หรือ?
การพยายามรักษาอำนาจที่ขาดความน่าเชื่อถือ กับยอมคืนอำนาจให้ประชาชนได้แสดงความเชื่อถือในตัวเขาเองผ่านการเลือกตั้ง แล้วเดินหน้าต่อในการฟื้นฟูรัฐให้มีความยุติธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยจริงๆ อย่างไหนที่ผู้ซึ่งยังมี “ความเป็นมนุษย์” พอเพียงที่จะเคารพเหตุผลของประชาชนส่วนใหญ่พึงกระทำ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น