Wed, 2010-12-15 15:16
ใบตองแห้ง
ผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมบอกอะไร “ทักษิณสิ้นมนต์” อย่างที่สื่อพาดหัวซ้ำเติมหรือ โธ่เอ๋ย พวกเมริงดีใจที่ “ภูมิใจห้อย” ชนะ “เพื่อแม้ว” ไหนล่ะ จุดยืนของสื่อ ที่อ้างว่าต้องการเห็นการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ใช้กลโกงหรืออำนาจรัฐ
แต่วันนี้ สื่อกลับตีปีกดีอกดีใจกับชัยชนะของ “ยี้ห้อยร้อยสี่ยิบ” ฉายาที่สื่อตั้งไว้เอง สื่อก็น่าจะรู้ว่าชนะมาอย่างไร
การพาดหัวข่าวแบบนี้จึงไม่ต่างจากการเอา teen จุ่มน้ำลายลูบหน้าตัวเองแล้วยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้ โดยไม่อายรอย teen ที่สองแก้ม
แน่นอน ไม่อาจปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณ “แพ้” แต่สื่อและรัฐบาลจงใจตีปี๊บให้เกินเลยเพื่อสร้างกระแสทางจิตวิทยา วิทยุ จส.100 รายงานข่าวหน้าตาเฉยว่าพรรคเพื่อไทยเสียที่นั่ง (คงเทียบว่าปี 50 พรรคพลังประชาชนได้ 3 ที่นั่ง) ปชป.คุยฟุ้งว่าขอนแก่นได้คะแนนตั้ง 3.6 หมื่น เป็น 5 เท่าของเดิมที่ได้ 7 พัน มันคงเห็นคนฟังเป็นฟาย ก็รัฐบาลส่งลงพรรคเดียว ภูมิใจไทย ชาติไทย ไม่ส่งสมัครก็เปิดทางให้หาเสียงเต็มที่สิครับ
ขนาดนั้น ร.ท.
เขตที่ดวลกันจริงๆ ระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทยและกล่าวได้ว่าเพื่อไทย “แพ้” ก็คือ สุรินทร์ เขต 3 ซึ่งพรรคเพื่อแผ่นดินเจ้าของพื้นที่เดิมไม่ลง ศุภรักษ์ ควรหา พรรคภูมิใจไทยได้ 103,968 คะแนน ปทิดา ตันติรัตนานนท์ พรรคเพื่อไทย ได้ 75,048 คะแนน กระนั้นถ้าเทียบกับการเลือกตั้ง 50 พบว่าปทิดายังได้คะแนนมากกว่า ส.ส.พรรคพลังประชาชน 3 คน ซึ่งได้ 74,850 68,909 และ 63,534 ตามลำดับ เพียงแต่นายศุภรักษ์ได้คะแนนเพิ่มร่วม 4 หมื่นจากปี 50 ที่ลงพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ 60,655 คะแนน
เขตนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 179,016 คน คิดเป็น 54.47% และคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเกือบ 2 หมื่นคะแนนก็เป็นของภูมิใจไทยเกือบหมด
เขต 6 โคราช บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ได้ไป 82,978 คะแนน อภิชา เลิศพชรกมล พรรคเพื่อไทย 63,487 คะแนน การเลือกตั้งปี 50 บุญจงซึ่งลงพรรคพลังประชาชนได้ 59,596 คะแนน เป็นที่สาม (ตอนนั้นอภิชาลงพรรคเพื่อแผ่นดินชนะบุญจงแต่โดนใบเหลืองต้องเลือกใหม่)
กล่าว ได้ว่า อภิชา เพื่อไทย ได้คะแนนมากกว่าบุญจง ณ พลังประชาชน แต่อาจเป็นเพราะคะแนนส่วนตัวหรือเพื่อแผ่นดินแอบช่วย ขณะที่บุญจงได้คะแนนเพิ่มอีก 2.4 หมื่น
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับอดีตรัฐมนตรีและว่าที่รัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวพัวพันการย้ายนายอำเภอในพื้นที่มาหมาดๆ
เขต 1 อยุธยา เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีตรัฐมนตรีและว่าที่รัฐมนตรีพรรคชาติไทยพัฒนาได้ 84,518 คะแนน องอาจ วชิรพงศ์ พรรคเพื่อไทย 78,497 คะแนน ต่ำกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งพรรคพลังประชาชนได้ที่ 1 และ 2 ได้ 82,841 และ 81,578 คะแนน ขณะที่เกื้อกูลครั้งที่แล้วได้ 71,702 คะแนน แต่ไม่น่าแปลกใจที่เกื้อกูลได้คะแนนเพิ่มเพราะอันดับ 4 ครั้งที่แล้วคือ กุมพล สภาวสุ ประชาธิปัตย์ 67,478 คะแนน
เมื่อดูคะแนนเปรียบเทียบทั้งหมด ถามว่าพรรคเพื่อไทยแพ้หรือไม่ ก็แพ้ แต่ไม่ใช่ “สิ้นมนต์” เพราะคะแนนของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยยังไล่เรี่ยกับปี 50 (ยกเว้น กทม.ที่จะกล่าวต่อไป) ผมยังรู้สึกผิดคาดด้วยซ้ำที่คะแนนลดลงน้อย เพราะเป็นการเลือกตั้งในสภาพที่เสียเปรียบแทบทุกด้าน ทั้งรัฐราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าฯ ทั้งเป็นที่รู้กัน “นายใหญ่” ไม่แจกกระสุน ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามยิงถล่มครึกโครม ขณะที่กระแสโจมตีโหมกระหน่ำ “ล้มเจ้า” “เผาบ้านเผาเมือง” ฐานของพรรคยังเข้มแข็งได้ขนาดนี้
คะแนน บางส่วนที่พรรครัฐบาลได้เพิ่ม มาจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งลงขัดขากันเอง ซึ่งเมื่อถึงการเลือกตั้งทั่วไป พรรคร่วมคงไม่สามารถฮั้วกันได้ทุกพื้นที่ ฉะนั้นในขณะที่ประโคมข่าว “ชนะ” เพื่อผลทางจิตวิทยา จริงๆ แล้ววอร์รูมของรัฐบาลคงประเมินผลกันคร่ำเครียด ว่าจะยุบสภาเร็วดีหรือไม่
แต่ กล่าวโดยสรุป ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าคงออกมาตามที่ผมคาดไว้ คือพรรคร่วมรัฐบาลชนะ และจะจับมือกันเป็นรัฐบาลต่อไป โดยพรรคเพื่อไทยอาจเสียที่นั่งไปบางส่วน จะมีการงัดแทคติคกลเม็ดเคล็ดลับมาสู้กันสุดฤทธิ์ เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด และ 2 มาตรฐานมัดมือชกอย่างร้ายกาจที่สุด
ไม่มีทางออก
มี ข้อสังเกตว่าแทบทุกพื้นที่ พรรคเพื่อไทยแพ้ลุ่ยในเขตเทศบาล ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเป็น ปชป. ชาติไทย หรือภูมิใจห้อย อนุมานได้ว่านี่คือผลต่อเนื่องของ “สงครามชนชั้น” ชนชั้นกลาง ลูกจีนรักชาติในตลาด ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เกลียดกลัวทักษิณและเสื้อแดง มีคนบอกว่าเป็นเพราะพวกเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ไปช่วยหาเสียงแล้วสำเนียงภาษา กิริยามารยาทขัดหูขัดตาชนชั้นกลางผู้เกลียด “ไพร่” เขาฝากเตือนคนเสื้อแดงว่าต้องรู้จักทำแนวร่วม
แต่ผมเห็นต่าง คือต้องปรับท่าที แต่อย่าหวังดึงคะแนนคนชั้นกลาง ปล่อยเขาไปเถอะ ให้เขาเลือก “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” ตามที่สื่อชักนำ ผมเชื่อว่ามีคนชั้นกลางจำนวนมากเลยที่เกลียดเนวิน แต่ต้องเลือกภูมิใจไทยให้เอาชนะพรรคเพื่อไทย หลายคนก็ไม่ชอบ ปชป.แต่เลือกเพราะเกลียดทักษิณ คนเหล่านี้ไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง มีแต่จะผิดหวังซ้ำซาก แล้วก็จะเคว้งคว้างไม่ต่างจาก พธม.และพรรคการเมืองใหม่
ผลการเลือกตั้งที่น่าสนใจที่สุดคือ กทม.ซึ่งอภิรักษ์ขับรถดับเพลิงเข้าป้ายอย่างสบายๆ 71,072 คะแนน ขณะที่พงษ์พิสุทธิ์ จินตโสภณ พรรคเพื่อไทยได้ 30,506 คะแนน แต่เมื่อเทียบกับคะแนนเลือกตั้งปี 50 พบว่า กรณ์ จาติกวณิช ได้ 126,566 คะแนน อภิรักษ์ได้แค่ 56% ของกรณ์เท่านั้น คะแนนหายไปราว 53,000 กว่าคะแนน พงษ์พิสุทธิ์ลงพลังประชาชนครั้งที่แล้วได้ 63,857 คะแนน คราวนี้ได้แค่ราว 48% ของเดิม หรือหายไปตั้ง 33,000 กว่าคะแนน
บาง คนบอกว่าเป็นวันหยุดยาวคนกรุงออกไปเที่ยวกันมาก แต่ไม่น่าใช่ วันหยุดที่ผ่านมาคนไม่ออกไปเที่ยวมากนัก เพราะรอเที่ยวปีใหม่ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้อยู่แล้วว่าใครชนะใครแพ้ ไม่มีอะไรให้ลุ้น ต่างจากปี 50 กองเชียร์ทั้งสองฝ่ายลุ้นเต็มที่ อย่างน้อยก็ต้องออกไปลงบัตรปาร์ตี้ลิสต์ คนมาลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ และแยกข้างชัดเจน
แต่ครั้งนี้ดูเหมือนคนครึ่งหนึ่งของแต่ละฝ่ายต่างก็ “เซ็ง” เบื่อ จนไม่ไปเลือกตั้ง และคงไม่ใช่แค่รู้ผลแล้ว แต่ผมมองว่าคะแนนนิยมทั้งสองพรรคลดลงด้วย
ปชป.อยู่มา 2 ปีก็ “เสื่อม” ตามสูตรปลัดประเทศไร้ฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดิน หนำซ้ำ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ลดลง กระทั่งประธานหอการค้าที่มาจากฝ่ายอำมาตย์ด้วยกันยังระบุว่ามีการกินหัวคิว 25% และเร่งให้ทำงานได้แล้ว
ปชป.ได้ คะแนนครั้งที่แล้วจากคนชั้นกลางที่เกลียดทักษิณ กลัวทักษิณกลับมา คนจำนวนไม่น้อยไปเลือกตั้งทั้งที่เกิดมาไม่เคยเลือกตั้ง แม้กระทั่งวันนี้ ปชป.ก็อยู่ได้ด้วยความเกลียดและกลัวทักษิณกับเสื้อแดง อยู่ได้ด้วยการปราบเสื้อแดง ถ้าไม่มีเมษา 52 พฤษภา 53 ปชป.อาจจะพังไปแล้วเพราะไม่มีผลงานอะไรเลย คนชั้นกลางในกรุงเทพฯเองก็เบื่อหน่าย หมดศรัทธา กลับไปทำมาหากินดีกว่าเพราะรู้สึกว่าไม่มีทางออก แม้ไม่สวิงเปลี่ยนขั้ว แต่จำนวนไม่น้อยก็จะกลับไปเป็นพลังเงียบ นอนหลับทับสิทธิ
ขณะ เดียวกัน เพื่อไทยกลับ “เสื่อม” เพราะพฤษภาอำมหิต เปล่า ไม่ใช่คนที่เคยเลือกพลังประชาชนเกลียดเสื้อแดง แต่คนกรุงเทพฯ ที่เคยเห็นใจทักษิณและพรรคพลังประชาชน มีความรู้สึกลึกๆ ว่าทักษิณและแกนนำเสื้อแดงไม่ห่วงใยชีวิตมวลชนของตน คิดแต่จะเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการ
หลังพฤษภาอำมหิตใหม่ๆ ผมเคยเจอคนชั้นกลางเสื้อแดงที่เป็นหมอ แดงจริงๆ ไม่ใช่สองไม่เอา เขา hurt มาก กับการสูญเสียที่เกิดขึ้น กระทั่งสาปส่งทักษิณและนักการเมือง ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนที่เคยเป็นกองเชียร์พ้นธมิตร เกลียดทักษิณเข้าไส้ ก็ร่ายยาวด่า ปชป.ให้ฟัง ไม่ใช่เรื่อง MOU ปี 43 แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องไร้ฝีมือในการบริหารซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด
การ เลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าจะไม่เปลี่ยนสภาพไปจากนี้ และจะไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีทางออก นอกจาก ปชป.และพรรคร่วมรัฐบาลจะอวดอ้างว่าคราวนี้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง มาตามระบอบประชาธิปไตย
การ เมืองที่แบ่งข้างเป็นสองขั้วชัดเจน แม้จะมีคนเริ่มเบื่อหน่าย เซ็ง ต้องการหาทางออกใหม่ๆ แต่ก็ไม่มีทางออก ปลดล็อกไม่ได้ ต้องถูกข่มขืนฝืนใจให้อยู่ในสภาพนี้ต่อไป
ถ้า เจาะเวลาหาอดีตมาเปรียบเทียบ มาร์คก็เหมือนชวนปี 40 ที่อยู่ได้ไม่นานก็เสื่อม แล้วคนก็หันไปหาทางเลือกใหม่ คือทักษิณและไทยรักไทย จากเดิมที่มี 2 ขั้วคือ ปชป.กับความหวังใหม่ (แม้ทักษิณจะทั้งดูด ส.ส.และควบกิจการในภายหลัง แต่ตอนเปิดตัว ต้องถือว่าทักษิณเป็นทางเลือกใหม่)
แต่ สถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมแบ่งขั้วขัดแย้งเกลียดชังกันอย่างรุนแรง ไม่สามารถเกิดทางเลือกใหม่ได้ ปชป.อยู่ภายใต้การหนุนหลังของอำมาตย์ที่ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในรัฐราชการ กองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ พยายามจะลากถูข่มขืนใจให้ครองอำนาจต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับ “จุดเปลี่ยน” สำคัญของประเทศ ที่จะมาถึงเมื่อไหร่ไม่ทราบ ขณะที่เพื่อไทยก็หากินกับมรดกของความนิยมทักษิณและความคับแค้นของมวลชนเสื้อ แดง สะสมพลังเพื่อรอวันนั้นจะมาถึงเช่นกัน
สถานการณ์ เช่นนี้ไม่มีที่ว่างให้เกิดทางเลือกใหม่ ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังไม่มีที่ว่างให้เกิดตัวบุคคลใหม่ๆ คนดี คนเก่ง คนมีฝีมือ “ดรีมทีม” นอกจากเงื่อนไขงี่เง่าในรัฐธรรมนูญ 50 ที่ปิดกั้นคนจากภาคธุรกิจแล้ว ถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ใครจะอยากรับเชิญเข้าไปเป็น “ดรีมทีม” พรรคประชาธิปัตย์ ให้คนเสื้อแดงเกลียด ใครจะอยากโดดเข้าไปเป็นทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทักษิณ
นี่ คือการเมืองที่ไม่มีทางออก ปลดล็อกไม่ได้ ตลอดไปกระทั่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า กระนั้นรัฐบาลผสม ปชป.ก็จะอยู่ไม่ครบ 4 ปี เพราะความเสื่อมสะสมถึงขีดสุดก่อน แต่ตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้นมองไม่ออก ยิ่งถ้าจุดระเบิดมาถึงในช่วง “จุดเปลี่ยน” ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน
พรรคกับขบวนการ
แกน นำพรรคเพื่อไทยพูดถูกแล้วที่ว่าพรรคจะหวังรอพึ่งกระแสคนเสื้อแดงอย่างเดียว ไม่ได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่สื่อยุแยงว่าเสื้อแดงทำให้แพ้ เพราะถ้าไม่มีเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยจะเอาคะแนนมาจากไหน
เพียงแต่พรรคกับขบวนการประชาชน จะต้องแยกบทบาทกัน มีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี คนละชุด แม้จะเป็น subset ของกันและกัน เคลื่อนไหวคู่ขนานกันไปคนละด้าน
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แสดงให้เห็นภาพ 2 ด้านที่ขัดแย้งกัน นั่นคือความตกต่ำย่ำแย่ของพรรคเพื่อไทย กับความเข้มแข็งของขบวนเสื้อแดง
คะแนน เลือกตั้งที่ไม่ได้ลดต่ำลงจากปี 50 ส่วนใหญ่เป็นคะแนนพรรค ซึ่งก็คือฐานมวลชนเสื้อแดง ขี้หมูขี้หมาคิดเสียว่าในแต่ละเขตมีฐานมวลชนเสื้อแดงสักครึ่งหนึ่งของคะแนน เลือกตั้ง ที่เหลือยกให้เป็นคะแนนบุคคล หรือคะแนนที่ได้จากแทคติกกลเม็ดเคล็ดลับ ยกตัวอย่างอยุธยาเขต 1 ก็มีมวลชนเสื้อแดงร่วม 3 หมื่นคน แล้วทั้งจังหวัดล่ะเท่าไหร่ ขอนแก่นเท่าไหร่ สุรินทร์เท่าไหร่ ทั้งประเทศมีกี่ล้าน
นี่ คือขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยมีขบวนการไหนเปรียบเทียบได้ พันธมิตรแม้ยามรุ่งเรืองที่สุดยังชิดซ้าย ขบวนเสื้อแดงมีมวลชนมากกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีตไม่ต่ำกว่า 100 เท่า เพียงแต่ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีที่ชัดเจน เท่านั้นเอง
นี่ คือพลังแห่งความคับแค้นที่พร้อมจะแปรเป็นพลังประชาธิปไตยอันกว้างใหญ่ไพศาล เหมือนอย่างที่เราขึ้นแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คุยกันไม่กี่คำก็รู้หัวอกพี่น้อง อยู่ที่จะรวบรวมพลังพวกเขาขึ้นมาอย่างไร ที่ไม่ใช่เพียงการไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง
มอง ข้ามการเลือกตั้งไปได้เลย หลังจากเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ชัยชนะของประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งอีกแล้ว แต่อยู่ที่การจัดตั้งมวลชน และสร้างขบวนการของมวลชนขึ้นมาต่างหาก
ถ้า คุณมีมวลชนที่เข้มแข็งพร้อมลุกขึ้นสู้สักแค่ 2-3 ล้าน อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหม อย่าว่าฝันไป การชุมนุมเมื่อเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา เคยมีเพื่อนพ้องประเมินว่ามีคนเสื้อแดงหมุนเวียนเข้าร่วมเป็นล้าน ผมบอกว่าเว่อร์ไปหน่อย แต่อย่างน้อยก็หลายแสน ที่เดินทางเข้าออกม็อบจากต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ปริมณฑล
แต่ พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่จะยุให้เอาคนมาเป็นล้าน มาต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงชีวิตมวลชนอีกนะครับ เพราะต้องมียุทธศาสตร์ยุทธวิธี จังหวะก้าวที่จะไปถึงเป้าหมาย โดยยึดสันติวิธีให้ถึงที่สุด
กระนั้น หันไปมองด้านกลับกันก็น่าอนาถ พรรคเพื่อไทยปัจจุบันเป็นเพียง “ซาก” ของพรรคไทยรักไทย ได้แต่กินบุญเก่ามรดกประชานิยมของทักษิณ โดยไม่มีสติปัญญาสร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ พรรคเพื่อไทยอยู่ได้เพียงเพราะความอยุติธรรมและลิดรอนสิทธิประชาธิปไตยของ ฝ่ายอำมาตย์ ลำพังพรรคและบุคลากรของพรรคเอง แม้แต่คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยก็ยังร้องยี้
พรรค เพื่อไทยไม่ใช่พรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยมีอะไร ไม่ใช่แค่นโยบายที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า “ประชาธิปไตยกินได้” แต่พรรคไทยรักไทยยังเป็นพรรคเดียวที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีทีมงาน มีการศึกษาวิจัย อย่างที่เคยคุยว่ามี ดร.อยู่เป็นร้อย นอกจากนี้ พรรคไทยรักไทยยังนำวิธีการบริหารงานแบบองค์กรธุรกิจสมัยใหม่เข้ามาใช้ รัฐบาลทักษิณทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ที่รู้จักกันทั่วประเทศ อย่าง “บูรณาการ” “เวิร์คช็อป” แทนที่จะมีแต่คำว่า “ยังไม่ได้รับรายงาน” ของชวน เชื่องช้า
รัฐบาล ทักษิณในช่วงต้นจึงได้รับความนิยมจากคนทุกชั้น รวมทั้งคนชั้นกลาง ซึ่งต้องการเห็นการบริหารประเทศอย่างฉับไว กล้าคิด กล้าตัดสินใจ นำเสนอแนวคิดใหม่ๆ
ซึ่ง จนบัดนี้ นี่ก็ยังเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปลี่ยนจาก “ยังไม่ได้รับรายงาน” ไปยืนคุยฟุ้งบนโพเดียมแต่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แต่ถามว่าพรรคเพื่อไทยวันนี้จะทำได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไหม จะทำได้สัก 1 ใน 10 ของพรรคไทยรักไทยไหม
ต้อง บันทึกไว้ด้วยว่าการทำงานอย่างเป็นระบบของพรรคไทยรักไทยถูกทำลายไปในยุค ทักษิณเอง เมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กวาดต้อน ส.ส.ได้แล้ว มีคะแนนนิยมล้นหลาม ปลายยุคทักษิณ 1 พรรคไทยรักไทยก็กลายสภาพเป็นพรรคการเมืองเก่าแหล่งรวมนักการเมืองน้ำเน่า สัมภเวสี ไม่ต่างจากพรรคการเมืองในอดีต
พรรค เพื่อไทยจะต้องสืบทอดมรดกของทักษิณ ในแง่ผลงานที่สร้างไว้ ทั้งนโยบายและวิธีบริหาร แต่ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ต้องก้าวข้ามทักษิณ ไม่ใช่แค่กินบุญเก่าทักษิณ และไม่ใช่เป็นแค่พรรคของทักษิณ หรือพรรคของตระกูลชินวัตร (ซึ่งญาติพี่น้องยั้วเยี้ยไม่มีใคร “เป็น” การเมืองสักคน มีแต่หูเบาใจเร็วใช้เงินชี้ขาด) เพราะตราบใดที่เป็นพรรคของทักษิณหรือพรรคของชินวัตร ก็จะไม่มีทางดึงดูดคนใหม่ๆ คนดีมีฝีมือเข้ามาร่วม ก็ต้องอยู่กับพ่อไอ้ปื๊ดหรือยายเจ๊อยู่แค่นี้
ถามว่าทำได้ไหม ที่พรรคเพื่อไทยจะพัฒนาขึ้นไปจากมรดกของทักษิณ แต่ ก้าวพ้นทักษิณ เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ กลุ่มทุนใหม่ นักบริหารสมัยใหม่ โดยวางฐานอยู่บนนโยบายรากหญ้า คงทำได้หรอกนะ แต่ไม่ใช่สมัยนี้ ไม่ใช่ระยะอันใกล้นี้ ไม่ใช่บุคลากรชุดนี้
ฉะนั้น การวางน้ำหนักจึงไม่ใช่อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ที่งานสร้างขบวนมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ยิ่งใหญ่กว่าผีบุญ บวกกบฎเงี้ยว บวกพรรคคอมมิวนิสต์ สร้างความเข้มแข็งเชิงอุดมการณ์ เป้าหมาย นโยบาย มีแกนมวลชนที่มีวินัย พร้อมจะก้าวเดินตามยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี มีความคิดแหลมคม ก้าวพ้นทักษิณ ก้าวข้ามพรรคเพื่อไทย
เป้าหมายนี้ใหญ่กว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งจะเป็นแค่การประลองกำลังครั้งใหญ่กับอำนาจรัฐ อำนาจยี้ และความยุติธรรมสองมาตรฐาน
ใบตองแห้ง
15 ธ.ค.53
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น