สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ใบตองแห้งออนไลน์ : สินจรัญเชิญแขก

ใบตองแห้ง

ปชป.ชนะฟาวล์อีกแล้ว แต่คราวนี้แม้จะมีลูกขลุกขลิก ภาพลวงตา แฟนบอลก็เห็นกันทั้งสนาม ยกเว้นกองเชียร์ทีมเจ้าบ้านที่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น

ปชป.ชนะคดีที่อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค จากกรณีรับเงินบริจาคบริษัททีพีไอโพลีน 258 ล้านบาทเป็นนิติกรรมอำพรางผ่านบริษัทเมสไซอะ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 3 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่านายอภิชาติ สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรค การที่ กกต.มีมติด้วยเสียงข้างมาก 4 เสียงให้ยุบพรรค จึงข้ามขั้นตอนของกฎหมายและไม่มีอำนาจ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องให้ยุบพรรคโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฉะนั้น ตุลาการจึงไม่วินิจฉัยต่อว่า เงินบริจาค เด็กอนุบาลเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่

ตุลาการเสียงข้างมาก 4 เสียง ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียงได้แก่ นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี รายเดียวกับที่ออกคำแถลงการณ์ยืนยันว่าท่านวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้าน ด้วยความสุจริตและเป็นกลางนั่นแหละครับ

ในคดีนั้น ท่านอยู่ในเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ที่ให้ยกคำร้อง โดยท่านนี่แหละ เป็นผู้ให้ความเห็นเรื่อง นับวันอันเลื่องลือว่า ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว การยื่นคำร้องจึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด

ฟังแล้วอย่างงว่าทำไมคดีนั้นท่านเป็นเสียงข้างมาก คดีนี้ท่านเป็นเสียงข้างน้อย ความจริงแล้วท่านไม่ได้กลับไปกลับมา ท่านวินิจฉัยตามหลักของท่าน เหมือนกันทั้งสองคดี แต่ปัญหามันไปอยู่ที่การนับคะแนนเสียงต่างหาก

คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ ทั้งสร้างเซอร์ไพรส์และให้ความกระจ่างหลายๆ อย่าง

อภิสิทธิ์บิดตะกูด อ้างว่าคำวินิจฉัยส่วนตนทำให้ประชาชนได้เห็น ตุลาการเสียงข้างมากชี้ว่า ปชป.ไม่ผิด ก็เมริงบิดประเด็นสำคัญกันนี่หว่า สื่อทั้งหลายถ้าตามไม่ทัน ก็แกล้งโง่ นำเสนอข่าวอยู่ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง ชัช ชลวร กับบุญส่ง กุลบุปผา ให้ยุบพรรค สอง ตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า ปชป.ไม่ผิด (ไทยโพสต์สละหน้า 4 ให้ทั้งหน้าเพื่อเปรียบเทียบความเห็นประเด็นนี้)

ไม่มีใครนำเสนอประเด็นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 ต่อ 2 ยกคำร้อง โดยเห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจ และน่าต๊กกะใจ ว่าไหงสิเป็นจังซี้

ยังจำได้ไหมครับ วันที่ 29 พ.ย. ศาลอ่านคำวินิจฉัยยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ คดี 29 ล้าน โดยท่านให้เหตุผลว่า

“....เป็นกรณีที่ต้องยื่นคำร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมาก ในการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติแต่งตั้งนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อผู้ร้องในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองด้วย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยด้วย เสียงข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป

นี่ผมคัดมาจากคำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ที่อยู่ในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นฉบับที่ท่านอ่านในศาล

แต่เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก็เผยแพร่คำวินิจฉัย ฉบับทางการ ซึ่งให้เหตุผลในการยกคำร้องว่า

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียง ข้างมาก (4 ต่อ 2) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีกต่อไป โดยฝ่ายข้างมาก 1 ใน 4 เสียงให้เหตุผลว่า คดีนี้ถือว่าความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ให้ความเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว การยื่นคำร้องตามข้อกล่าวหานี้จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนฝ่ายข้างมาก 3 เสียงใน 4 เสียง ให้เหตุผลว่า ความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูก ร้องตามมาตรา 93 วรรคสอง ทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการ เลือกตั้งแต่อย่างใด สำหรับความเห็นของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการ เลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 มิใช่การทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อ้าว เฮ้ย! ไหงสิเป็นจังซี้ คนละเรื่องเดียวกันเลยครับ สรุปว่าเหตุผลที่อ้างเรื่อง 15 วันให้เถียงกันเป็นวรรคเป็นเวรนั่นน่ะ เป็นแค่ความเห็นของท่านอุดมศักดิ์คนเดียว ส่วนอีก 3 ท่านคือ ท่านจรัญ ท่านนุรักษ์ ท่านสุพจน์ เห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้มีความเห็น

ซึ่งทั้ง 3 ท่านก็ยืนความเห็นต่อมาในคดี 258 ล้าน โดยบวกท่านจรูญ อินทจาร เข้ามาอีกราย ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้มีความเห็น

ขณะที่ท่านอุดมศักดิ์ท่านก็ยืนยันความเห็นของท่านว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นแล้ว ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว เพียงแต่คดี 258 ล้านนี้ไม่มีบทบัญญัติเรื่องระยะเวลาสิบห้าวันเข้ามาเกี่ยวข้อง ท่านจึงเห็นว่าการยื่นคำร้องชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับท่านชัชและท่านบุญส่ง

นี่ถ้าท่านจรูญยังถอนตัว ไม่กลับเข้ามาทำหน้าที่ ก็จะกลายเป็นคะแนนเสียง 3 ต่อ 3 กลายเป็นปัญหาโลกแตกว่าแล้วจะวินิจฉัยกันต่อไปอย่างไร

แต่ถ้าเอามุมมองนี้มองกลับไปในคดี 29 ล้าน เราจะเห็นว่ามีคะแนนเสียง 3 ต่อ 3 อยู่โดยที่ศาลไม่ได้สรุป นั่นคือประเด็นที่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นแล้วหรือไม่ ท่านจรัญ ท่านนุรักษ์ ท่านสุพจน์ เห็นว่ายังไม่มีความเห็น ท่านอุดมศักดิ์ ท่านชัช ท่านบุญส่ง เห็นว่ามีความเห็นแล้ว แต่ ปชป.ลอดช่องแมวไปเพราะท่านอุดมศักดิ์ยกเรื่องสิบห้าวันขึ้นมาแต่ผู้เดียว

ถ้าเราลองลำดับการลงความเห็นใหม่ในคดี 29 ล้านนะครับ
นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุบพรรคแล้วหรือไม่ 3 ต่อ 3 เสมอกัน
ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วหรือไม่ 3 ต่อ 3 เสมอกันอีก
ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 หรือไม่ 5 ต่อ 1 ยังไม่ปรากฏ

แต่ ปชป.รอดไปได้เพราะท่านกลับไปนับรวม 3 กับ 1 เป็นความเห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ให้เหตุผลต่างกันสิ้นเชิง และบางประเด็นก็สวนทางกันด้วย

นี่คือสิ่งที่คุณวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เขียนไว้ว่าเป็นการกำหนดวิธีลงมติที่น่ากังขา (และเป็นที่กังขามาตั้งแต่คดีทักษิณซุกหุ้น)

ที่น่ากังขายิ่งกว่านั้นคือ เหตุใดคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ กับคำวินิจฉัยที่เป็นทางการ จึงให้เหตุผลต่างกัน เห็นคาตาอยู่ในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ จนผมต้องแหกเนตรขยี้เนตรดูมาตรฐานของท่านด้วยความไม่เชื่อสายตาตัวเอง

คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ ที่ท่านอ่านให้ประชาชนทั้งประเทศฟัง ทำไมจึงไม่มีเหตุผลของตุลาการเสียงข้างครึ่ง (3 เสียง) ที่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรค แต่ท่านกลับเอาเหตุผลของตุลาการเสียงข้างน้อย (1 ต่อ 5) มาเขียนในคำวินิจฉัยกลาง อ้างระยะเวลาสิบห้าวัน ให้ชาวบ้านฟังแล้วมึน โต้เถียงกันให้วุ่น

ถ้าท่านว่าไม่ประหลาด ผมก็คงวิปลาส

นี่หรือคือมาตรฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร คำวินิจฉัยที่อ่านให้ชาวบ้านฟัง กับคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการที่ออกมา 10 วันให้หลัง ไม่เหมือนกัน ให้เหตุผลต่างกัน มันเป็นไปได้ไง ในเมื่อการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการแต่ละท่านจะต้องเตรียมความเห็นของตนในแต่ละประเด็นมาแล้ว ไม่ใช่ลงมติไปก่อนแล้วค่อยทำความเห็นภายหลัง

ที่ถูก ท่านยังต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาให้เรียบร้อย และต้องเผยแพร่พร้อมคำวินิจฉัยกลางที่อ่านในวันนั้น อย่างมากก็ให้เวลา 1-2 วันเพื่อให้เจ้าหน้าที่พิมพ์และตรวจทาน ไม่ใช่อ่านคำวินิจฉัยไปแล้วเป็นสิบวัน คำวินิจฉัยส่วนตนเพิ่งเสร็จ

แล้วก็ไม่เคยมีนะครับ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ผมก็เพิ่งเคยเห็นคดีนี้ ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยที่อ่านในวันนั้นแหละ คือคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ

นี่คือคำถามที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบ นี่คือลูกขลุกขลิกที่ถูกบังตา ท่านจรัญ ท่านนุรักษ์ ท่านสุพจน์ ต้องตอบว่า ใครบ้างเอาลูกมาเป็นเลขาฯเอ๊ย ไม่ใช่ ต้องตอบว่า เหตุใดคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ ที่อ่านอย่างเป็นทางการ จึงไม่ระบุเหตุผลของพวกท่าน แต่กลับไปอ้างเหตุผลท่านอุดมศักดิ์

เพราะถ้าอ้างเหตุผลของพวกท่านที่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความ เห็น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องเถียงกันเป็นวรรคเป็นเวร เนื่องจากท่านคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการ (ที่ น้องปอยพสิษฐ์ บอกให้ ปชป.หามาเยอะๆ) เคยอรรถาธิบายไว้แล้ว

คำถามต่อไปคือ ถ้าเหตุผลในการยกคำร้องของตุลาการเสียงข้างกึ่ง ไม่ใช่เรื่องระยะเวลาสิบห้าวัน แต่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ลงความเห็น ก็แปลว่า คดี 29 ล้านฟ้องใหม่ได้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ หมดอายุความอย่างที่เข้าใจกันตั้งแต่ต้น

เช่นเดียวกับคดีเงินบริจาค 258 ล้าน ก็ยังฟ้องใหม่ได้ ถ้ามีใครไล่ประธาน กกต.เปลี่ยนนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองลงความเห็นให้ชัดเจน (อาจจะแถมไล่อัยการด้วย โทษฐานสั่งไม่ฟ้องลูกชนชั้นนำเพื่อชีวิต แอ๊ด คาราบาว ฉลองประกาศราชกิจจาฯ อัยการเป็นองค์กรอิสระ)

ตุลาการบางท่านอาจจะลงความเห็นในคำวินิจฉัยส่วนตนคดี 29 ล้านไปแล้ว ว่า ปชป.ไม่ผิด แต่ยังไม่มีผลผูกพัน ถ้าท่านถูกไล่ ตาย ลาออก หรือพ้นตำแหน่งไปด้วยอากัปกิริยาใดๆ ปชป.ก็คงยังไม่ปลอดภัยอยู่ดี

อย่างน้อย ที่คนเสื้อแดงจะม็อบวันนี้ ผมก็ได้ยินเสียงจตุพรหัวร่อครึกครื้น สินจรัญช่วยเชิญแขก สร้างบรรยากาศให้ดีจริงๆ

ใบตองแห้ง
10 ธันวาคม 53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น