โดยเพ็ญ ภัคตะณ วันที่ 14 ธันวาคม 2010 เวลา 18:31 น.
สัมภาษณ์โดย "กานต์กับแก้ว" ในมติชนสุดสัปดาห์ ปี ๒๕๔๘
รถเมล์สายเชียงใหม่-ลำพูนคันเล็กๆ ป้อมๆ วิ่งออกจากเชียงใหม่พา “กานต์กับแก้ว”เดินทางไปลำพูน เป้าหมายของเราอยู่ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย” เพื่อพบกับ"กวิณี” หนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่หลีกเร้นเมืองหลวงอันวุ่นวายไปทำงานเป็น “ภัณฑารักษ์” อยู่ที่นั่น เธอคือ “เพ็ญ ภัคตะ”
สาวสวยแห่งวงการกวี ซึ่งนานแล้วที่ผลงานของเธอไม่ค่อยมีเผยแพร่ออกมาตามนิตยสารต่างๆ เว้นไว้แต่บทกวีเล่มล่าสุด “เหนือฝั่งมหานที”เท่า นั้นที่ยังพอจะหาซื้อได้ตามแผง กับอีกสองคอลัมน์ประจำใน “ไฮ-คลาส” ที่เธอเขียนมานานถึง 6 ปีแล้ว เธอจะเป็นอย่างไรบ้างหนอต่อชีวิตหลังจากที่เรียนจบปริญญาเอกมาจากประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และจะมีทัศนะต่อวงการกวีในปัจจุบันอย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่ “กานต์กับแก้ว” อยากรู้
เราลงรถผิดเป้าหมายไป หน่อยหนึ่งจึงต้องเดินเท้า ด้วยความชำนาญจนกระทั่งถึงพิพิธภัณฑ์ ความตื่นเต้นที่จะได้เจอ “เพื่อน” คนหนึ่งในวงการวรรณกรรมก่อตัวอยู่เงียบๆ ภายใน หลังจากถามหาอยู่ไม่นานเราก็ได้เจอกวิณี เธอดูสุขุมสงบมากขึ้นตามประสาคนที่เดินทางไกลมาเกือบ 40 ฤดูหนาว แต่รอยยิ้มยังหวานแจ๋วและดวงตาทั้งคู่ยังแสดงความเป็นมิตรไม่เสื่อมคลาย
ข้าว ซอยร้านอร่อยที่อยู่ใกล้กับวัดพระธาตุหริภุญไชย ลงไปอยู่ในท้องของเราเรียบร้อยด้วยความเอื้อเฟื้อของเจ้าถิ่น เธอพาเราชมพิพิธภัณฑ์และบรรยายให้ฟังด้วยความเชี่ยวชาญก่อนที่จะมานั่งสนทนา กันอย่างเป็นงานเป็นการ
“ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เขียนบทกวีแล้วหรือ” เราตั้งคำถาม ตามวิสัยคนที่มาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
“น่า จะเป็นเวลาของการทำงานด้านวิชาการบ้าง งานเขียนตอนนี้ยังมีสม่ำเสมอแต่เป็นสารคดีด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และบทวิพากษ์สังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้านบทกวีอาจซาลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีความตั้งใจที่จะรวมเล่มบทกวีอยู่เสมอเมื่อความพร้อมมาถึง”
เธอกล่าวพร้อมกับเอาผลงานโคลงสี่ที่เธอถนัดชิ้นล่าสุดชื่อ “ลูกอ่อน”มาอ่านให้เราฟัง 4 บท
นอนเอนในโอบอ้อม อิงแขน
แนบอกมารดาแสน อุ่นเอื้อ
เปลสวรรค์มิอาจแทน อ้อมกอด แม่นา
ลูกอุ่นเนื้อแนบเนื้อ แม่นี้อนันตกาล
แม่จ๋าโปรดอุ้มลูก กอดรัด
ตาซื่อรอสัมผัส ตัดพ้อ
ดูหรือพูดไม่ชัด ยิ้มฉีก
ปากเล็กส่งเสียงล้อ เล่นลิ้นน้ำลาย
อ้อแอ้เจ้าออดอ้อน จำนรรจ์
แย้มยั่วกับเงาฝัน แม่ซื้อ
พลิกตัวดุกดิกพลัน ร้องเพรียก
ตื่นหลับเฝ้ายุดยื้อ หยอกเย้าเยาวมาลย์
กำ-ดม- อม-หม่ำขี้ จิ้งจก
รอยทุกข์แห่งทารก ห่อนร้าง
ผิด-ชอบ-ชั่-ดี หมก หมมหมด
กรรมเก่า-กรรมใหม่สร้าง แทรกซ้ำผสมผเส
เพ็ญ ภัคตะ มีลูกสาวหน้าตาแป๋วแหววคนหนึ่งชื่อน้องปันปัน (ปันนา ปุษปัญชลี)วัยเกือบสามขวบ เธอกับสามีคือ “มิตร ใจอินทร์” ประติมากรช่วยกันเลี้ยงเองในช่วงสองปีแรก ราวสี่เดือนมานี้จึงได้พี่เลี้ยงวัย 16 มาช่วยดูแล เป็นเด็กสาวชาวปกากญอ โดยเธอส่งเสียเด็กให้เรียนต่อชั้น ม.4 จนเข้ามหาวิทยาลัย
สำหรับ งานในหน้าที่หัวหน้าพิพิธภัณฑ์นั้นมีมากมาย ทั้งนำชมพิพิธภัณฑ์ บริการให้ข้อมูลการศึกษา จัดสัมมนาทางวิชาการ ขับเคลื่อนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้แก่ท้องถิ่น ยังไม่นับการเป็นอาจารย์สอนพิเศษและที่ปรึกษานักศึกษาตามสถาบันต่างๆ อาทิ ม.ช. แม่โจ้ พายัพ ราชภัฏลำปาง ราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน ฯลฯ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารอีกเดือนละ 3-4 ชิ้น ทำให้กวีหญิงของเรามีเวลาเหลือน้อยมากสำหรับการเขียนบทกวี
“ไม่ค่อยได้เขียนแล้วได้อ่านบ้างไหม” เราถามอีก
“เวลา โหยหาจริงๆ จะหวนกลับไปหางานคลาสสิกมาอ่าน เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ลิลิตพระลอ แต่งานกวีร่วมสมัยยอมรับว่าแทบจะขาดการติดต่อ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ค่อยประทับใจด้วย คนละรสนิยม เพราะเป็นคนชอบฉันทลักษณ์แบบละเมียดละไม ซึ่งงานแนวนี้หาให้ถูกใจค่อนข้างยาก บทกวีที่ดีต้องมีเสน่ห์ มีความร่วมสมัย ไม่คร่ำครึ”
บทกวีของเพ็ญ ภัคตะ มีกลิ่นอายของความเป็นมนุษย์สูง เร้าอารมณ์ สะเทือนใจ มีความงามสง่าในการใช้ภาษา เป็นนาย
ในวงการกวี ต่างยอมรับว่าเธอเป็นกวีหญิงเพียงคนเดียวที่โดดเด่น เคียงบ่าเคียงไหล่กับกวีชายร่วมสมัย คือ ไพวรินทร์ ขาวงาม ประกาย ปรัชญา กานติ ณ ศรัทธา เฉินซัน ฯลฯ
เราจึงถามถึงสภาพบทกวีในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไรบ้างในสายตาของเธอ
“อย่าง น้อยก็น่าจะดีกว่าวงการเพลง คือไม่ค่อยตามกระแสธุรกิจหรือเอาใจวัยจ๊าบผิดกับคนทำงานศิลปะในวงการอื่น ทุกวันนี้บทกวีก็ยังมีอยู่สามสายเช่นเดิม สายแรกพวกอนุรักษ์จ๋า ยอมจำนนต่อกรอบกรงของฉันทลักษณ์ สายที่สองมีอิสระทั้งด้านฉันทลักษณ์และความคิด ไม่ติดในกรอบ และสายสุดท้ายคือกลุ่มที่ยังสับสนค้นหาตัวเองไม่พบ พยายามดิ้นรนที่จะหลุดจากกรอบนี้ แต่ในที่สุดก็ยังไปติดในกรอบโน้นจนได้”
“ทุก วันนี้มีกวีหน้าใหม่ๆ มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม ปัญหามีอยู่ว่า งานคุณประทับใจคนอ่านไหม ไม่ใช่ว่าเข้าตาบรรณาธิการหรือถูกใจเฉพาะคนในแวดวงกวีกันเองกลุ่มเล็กๆ แต่เข้าไม่ถึงหัวใจมหาชน งานคุณช่วยสะกิดสะเกาบาดแผลสังคมหรือสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่ผู้อ่านบ้าง ไหม บทกวีไม่ใช่เพียงแค่การแข่งขันกันโชว์ฝีมืออันฉกาจฉกรรจ์เท่านั้น มันต้องชำระมลทินบางอย่างของกวีเองและสังคมด้วย”
“บทกวีที่ดีและยิ่งใหญ่จริง ประชาชนไม่น่าจะมองข้ามได้ ยกตัวอย่างเช่น นายผี และ จิตร ภูมิศักดิ์ คิดว่ากวีไม่ควรมานั่งน้อยใจกับการที่มหาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ กวีนิพนธ์ร่วมสมัย อาจเป็นเพราะเขาอ่านแล้วไม่เอิบอิ่ม ไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องนะ ไม่ควรดูแคลนภูมิปัญญาผู้อ่าน โดยเฉลี่ยเชื่อว่ารู้เรื่อง แต่รู้แล้วทำไม อ่านแล้วจิตกระเพื่อมไหม ต้องการสื่ออะไร ตรงประเด็นไหม หรือมัวแต่วกไปเวียนมา หรือว่าเอาขยะอาเจียนอาจมข้างในออกมาสาดรดผู้อ่าน ถ้อยคำมีเสน่ห์ไหม มีความคมชัดลึก เจนจัด มีสปิริต ปลุกเร้าให้มนุษย์รู้จักตัวเองและกล้าเผชิญหน้ากับความจริงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอยากเป็นกวีแล้วก็ขยันเขียน แต่เพราะเขาเป็นกวีเขาจึงเขียน ในโลกปัจจุบันส่วนใหญ่เขาเขียนเพราะเขาอยากเป็นกวี”
เธอมอง ว่าปัญหาใหญ่ของกวีร่วมสมัยในช่วง 5-6 ปีมานี้คือความพยายามที่จะหลีกหนีให้พ้นจากกฎเกณฑ์ฉันทลักษณ์มากเกินไป เพราะลึกๆ แล้วพวกกวีมักหวั่นไหวเกรงว่าจะถูกมองว่าเป็นนักกลอน กวีส่วนใหญ่จึงหมกมุ่นอยู่กับการเพิ่มคำ-ตัดคำ ปรุงเสียง - ฉีกเสียงให้แตกต่างไปจากแบบแผนดั้งเดิม เช่นกล้าลงเสียงจัตวาในคำสุดท้ายของบาทที่ 4 เมื่ออ่านแล้วทำให้ไม่ “ลื่น” และไม่ “รื่น” แถมยังขาด “รส” มีแต่เพียงความแปลก
“เขาพยายามเป็นโพสต์โมเดิร์นหรือเปล่า” เราตั้งข้อสังเกต
“ความเข้าใจคำว่า โพสต์โมเดิร์น แบบผิดๆ นี่แหละ คือฆาตกรที่ฆ่ากวี “ความอยาก” หรือ ”ความพยายาม” ไม่สามารถทำให้ใคร “เป็น” อะไรขึ้นมาได้จริงๆ เพราะมันเป็นของปลอม”
เธอยังพูดด้วยลีลาร้อนแรงตามสไตล์ “พอเห็นว่าไม้หนึ่ง ก. กุนที ประสบความสำเร็จ งานได้ลงพิมพ์บ่อย กวีรุ่นพี่ๆ ที่เคยมีฝีมือระดับเก๋าหลายคนก็หันไปเลียนแบบกันเป็นแถว จะมาอ้างว่าโพสต์โมเดิร์นได้อย่างไร พวกเขาคงคิดว่าโพสต์โมเดิร์นคือการกบฏต่อโมเดิร์น นั่นคือกบฏต่อแบบแผน เลยคิดว่าต้องกบฏต่อฉันทลักษณ์ด้วยกระมัง มุมหนึ่งก็อาจจะใช่ แต่….”
กวี เพ็ญบอกว่าโพสต์โมเดิร์นไม่ใช่เรื่องของรูปแบบเท่านั้น แต่มันคือท่าทีที่มีต่อโมเดิร์น ในขณะที่โมเดิร์นปลูกฝังความคิดค่านิยมแบบรวมศูนย์อำนาจ ดี เด่น ดัง ทุกอย่างมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เป็นที่หนึ่ง เป็นที่สุด สวย รวย หยิ่ง หนีโง่ จน เจ็บ
“ฉันทลักษณ์กะรุ่งกะริ่ง ตัดๆ ต่อๆ แบบประดักประเดิดนี่ สามารถช่วยเขย่าโครงสร้างอันคร่ำครึของสังคมที่สั่งสมกันมาแบบผิดๆ ได้หรือไม่ ความห้วนตะกุกตะกักและมักง่ายของบทกวีแปร่งๆ หูสามารถทลายกฎเกณฑ์ค่านิยมผูกขาดที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนด้อย โอกาส คนรากหญ้า คนชายขอบ โสเภณี ได้หรือไม่”
เธอสรุปว่า โพสต์โมเดิร์นคือการมองชีวิตด้วยสายตาที่รอบด้านมากขึ้น ด้วยทัศนคติที่หลากหลาย เป็นการให้คุณค่าแก่มนุษย์เล็กๆ ที่ถูกมองข้ามละเลย ไม่ใช่การปู้ยี่ปู้ยำรูปแบบของบทกวีหรือวรรณกรรมให้กลายเป็นความยุ่งยากน่า รำคาญกว่าเดิม เพราะถึงที่สุดแล้ว เนื้อหา และ อรรถรส ต่าง หากจะเป็นตัวชี้บอกว่าบทกวีชิ้นนั้นมีคุณค่าและเสน่ห์มากน้อยแค่ไหน มีพลานุภาพมากพอที่จะทำลายระบบความคิดแบบโมเดิร์นได้หรือเปล่า มิใช่สักแต่ว่าแค่ฉีกฉันทลักษณ์แล้วจะเป็นโพสต์โมเดิร์นกันได้ทุกคน
เราเปลี่ยนคำถามไปสู่เรื่องที่ว่า คนที่จะเป็นกวีต้องมีจิตใจอย่างไร
คุณ แม่ลูกหนึ่งตอบว่า แน่นอนข้อแรกต้องอ่อนไหว สัญชาติญาณไว ข้อสองหนีไม่พ้นว่าต้องมีใจนักเลงอาจหาญและเปิดกว้าง ข้อสามจิตใจต้องสูง กวีอาจไม่ใช่พ่อพระ นักบุญ หรือปราชญ์ แต่กวีต้องมีจริตเหล่านี้
“อย่างคุณนี่เรียกตัวเองว่า “กวิณี” มีที่มาอย่างไร”
“มี เหตุมาจากกวีใหญ่คนหนึ่ง ไม่ยอมให้ใครเป็นกวีไง เขาบอกว่าตัวเขาเป็นกวีเพียงคนเดียวในเมืองไทย แล้วก็หวงคำว่ากวี นักเขียนคนอื่นๆ ที่มีอยู่เป็นได้แค่นักกลอนไม่ใช่กวี เพ็ญก็เลยคิดฉับพลัน ตกลง งั้นหนูไม่เป็นกวีก็ได้ค่ะ ยกให้ท่านไปเลย ขอเป็นกวิณีก็แล้วกัน ( หมายถึงกวีหญิง) กวีใหญ่ท่านชอบใจ หัวเราะ”
เพ็ญเป็นเลือด เนื้อเชื้อไขของชาวปักษ์ใต้ พ่อแม่ของเธอโยกย้ายครอบครัวจากนครศรีธรรมราชไปตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ เธอจึงถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองหลวง วิ่งเล่นและเติบโตอยู่แถวย่านประตูน้ำ ราชเทวี ราชประสงค์ ปทุมวัน กิ่งเพชร รู้จักลูกเนียง ลูกตอ และแกงพุงปลา แต่ไม่สามารถ “แหลง” ภาษาใต้ได้ เพราะเติบโตขึ้นภายใต้วัฒนธรรมแบบเมืองกรุง จวบจนทุกวันนี้เธอสารภาพว่าตั้งแต่มาอยู่เมืองเหนือก็ยังไม่ชอบน้ำพริกอ่อง ไส้อั่ว แกงฮังเล เท่าใดนัก แต่ทว่ากลับโหยหาปลาโอทอดขมิ้น ข้าวยำน้ำบูดู กับแกงเหลืองรสจัด
เธอเรียนจบชั้นมัธยมปลายแบบรวบรัดสอบเทียบ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรี-โท เกียรตินิยมมาตลอดจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากนั้นก็ข้ามฟ้าไปจบปริญญาเอก เกียรตินิยม สาขาประวัติศาสตร์ศิลปสถาปัตย์ จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เริ่ม รับราชการด้วยวัย 20 ตั้งแต่จบปริญญาตรีเป็นเวลา 15 ปีเต็ม ณ สำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมากลางปี 2543 ก็ย้ายมาทำงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เมืองเจ้าแม่จามเทวี จนถึงทุกวันนี้
พบกับ มิตร ใจอินทร์ ผู้เป็นสามี ตั้งแต่เรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว แต่ไม่ยอมพูดกัน ได้แต่มองตาหยั่งเชิง ไม่นานมิตรก็บินไปเรียนยุโรป (กรุงเวียนนา ออสเตรียด้านศิลปะ) นานถึง 8 ปี เขาและเธอไม่ได้พบกันนานถึง 16 ปี จู่ๆ ก็หวนกลับมาพบกัน สร้างความตื่นตระหนกให้คนทั้งแวดวงวรรณกรรมและทัศนศิลป์เมื่อทั้งคู่ประกาศ แต่งงานกัน เพราะเขาและเธอต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของ “ขบถ” และ “มนุษย์สาธารณ์” ที่คนทั้งสองวงการจับตามองอยู่ แต่เพ็ญกลับบอกว่าชีวิตของเธอเปรียบเสมือนสายน้ำที่หวนคืน
เพ็ญ เป็นกวีที่เอาจริงเอาจังคนหนึ่ง ผลงานของเธอลงตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ อย่างต่อเนื่องนับแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยปี2527 เป็นต้นมา และมีบทกวีรวมพิมพ์แล้ว 3 เล่ม คือ ปุษปัญชลี (งานยุคแสวงหา ปี 2532) ด้วยรักใครจักเปลี่ยนแปลงโลก (กวีนิพนธ์คำโคลงขนาดยาว ปี 2534) และ เหนือฝั่งมหานที รวมผลงานในรอบสองทศวรรษ ปี 2544) นอกจากนี้ยังมีนิยายใช้ฉากต่างแดนอีกเล่มคือ ดวงตะวันในควันหมอก (ปี 2540) กับรวมบทความด้านสถาปัตยกรรม 2 เล่มคือ เยี่ยมเรือนเยือนอดีต (2542) กับ ลอดลายกำแพง (2543) เร็วๆ นี้สำนักพิมพ์สารคดีกำลังจะเผยแพร่ผลงานด้านปกิณกะสถาปัตย์อีก 3 เล่มคือ เสน่หาสถาปัตย์ นามาสถาปัตย์ และ อังการ์สถาปัตย์
เราถามถึงสามีว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่ฟังมา ทราบว่าเขาเป็นคนดุดันแกมหวาน และชอบจัดวางสังคม
เพ็ญ บอกว่ามิตรเป็นคนอ่อนไหวและอ่อนหวานมากทั้งอารมณ์และการแสดงออก จริงๆ แล้วเป็นคนค่อนข้างขี้เล่นขี้อำมีอารมณ์ขัน แต่เวลาปะทะกันทางความคิดกับสังคมเขาจะมีความแรงตรงไปตรงมา มีความชัดเจนอยู่ในตัว มีภาวะผู้นำสูง มีปัญญาเป็นเลิศ มีความเที่ยงธรรม เมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับเธอจึงเป็นการส่งเสริมพลังซึ่งกันและกัน เพ็ญยอมรับว่าในโลกนี้คงมีแต่เขาเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถปราบทิฏฐิ และพยศของเธอเสียจนอยู่หมัด
“ตัวเขามีรากและจริตของนักธรรม นักคิด นักปรัชญาสูงมาก เห็นไม่เคยเขียนหนังสืออย่างนี้ แต่แท้จริงแล้วเป็นนักเลงภาษาตัวฉกาจ ใช้ภาษาได้สวย ทั้งไทยและอังกฤษ ทุกวันนี้ที่มีแรงบันดาลใจเขียนบทความได้อาจหาญมากขึ้นก็เพราะได้เขาเป็นกุน ซือ คอยจุดประกายความคิด ปรึกษาได้ทุกเรื่อง ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ศาสนา วรรณกรรม เขาเป็นนักวิเคราะห์ นักวางโครงสร้างที่เฉียบแหลม เป็นนักจับประเด็นชั้นเยี่ยม เชื่อว่าวันหนึ่งเขาน่าจะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทั้งหมดลงมือเขียนหนังสือดีๆ ด้วยตัวเองสักเล่ม”
เพ็ญกับมิตรและลูกน้อยซึ่งกำลังเรียนชั้น อนุบาล 1 พำนักอยู่ที่บ้านพักภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์หริภุญไชย มิตรก็เช่นกันสายน้ำของเขาได้ย้อนคืน เขาหวนกลับมาทำงานศิลปะ ทั้งปั้นและเพนท์ อีกครั้งหลังจากลาร้างพู่กันและผ้าใบไปนานถึง 8 ปี ขณะนี้กำลังลงหลักปักฐานปลูกบ้านดินกับอาศรมปฏิบัติธรรมริมเชิงภูใกล้กับวัด ถ้ำดอยโตน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นนิวาสถานเรือนพักพิงแห่งบั้นปลายชีวิต
ส่วนเพ็ญ ณ วันนี้ เป็นแม่งานรับผิดชอบงานชิ้นโบแดง “มรดกโลกเมืองลำพูน” ซึ่งเธอเป็นคนจุดประกายความคิดนอกกรอบนี้ให้แก่ชาวลำพูนได้ร่วมกันสานฝัน เมื่อทุกฝ่ายเห็นชอบ ผ่านมติ ค.ร.ม. จนได้รับงบจากสภาพัฒน์มาช่วยผลักดันโครงการพัฒนาลำพูนสู่มรดกโลก เธอจึงต้องรับหน้าที่เป็น “แม่งาน” หรือ “เจ้าภาพ” หลักอย่างขมักเขม้น
วันนี้ของกวิณี “เพ็ญ ภัคตะ” จึงไม่เป็นเพียงแค่สายน้ำที่ไหลคืนสู่อ้อมกอดของยอดรัก “มิตร ใจอินทร์” ที่ ต่างพลัดพรากจากกันนานแสนนานเท่านั้น แต่เธอยังเปรียบเสมือนแม่น้ำที่หวนคืนสู่สายธารโบราณคดี ซึ่งอุตส่าห์ร่ำเรียนมาอย่างทะลุปรุโปร่งอีกด้วย ทว่าตลอดช่วงเวลา 15 ปีในวังหลวงเธอมิได้แสดงบทบาทด้านนี้อย่างเต็มภูมิเท่าใดนัก
ถือว่าเธอมีชีวิตที่ลงตัวสงบงาม ขอเป็นกำลังใจให้เธอ “เพ็ญ ภัคตะ”กวิณีผู้หลงใหลมนตร์โคลง …นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้จุดประกายฝัน “มรดกโลก” ให้แก่ชาวลำพูน
http://www.facebook.com/home.php?#!/note.php?note_id=167568073278709&id=100001123906352
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น