โดย "นิติเกิน" (จากเว็บไซต์ "นิติราษฎร์" 3 ธันวาคม 2553)
ด้วย ความเคารพอย่างสูงต่อท่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่าน คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการที่ท่านได้อ่านไปในคดียุบไม่พรรคประชาธิปัต ย์นั้น ทำให้ผู้น้อยเกิดความสงสัยหลายประการ อยากให้ท่านช่วยอธิบายให้กระจ่างชัดด้วย
1. วิธีการอ่านคำวินิจฉัยที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร
เคย เข้าใจมาตลอดว่า ศาลไทยและต่างประเทศมีวิธีปฏิบัติเหมือนกันคือ เขียนคำพิพากษาให้เสร็จ ตรวจทานแล้วจึงให้ตุลาการทุกท่านที่เป็นองค์คณะลงนามกำกับไว้ ท่านใดมีความเห็นแย้ง หรือมีเหตุผลเป็นอย่างอื่นก็จะแนบเข้าไปกับตัวคำพิพากษา จากนั้น จึงนำมาอ่านต่อหน้าคู่ความ
หาก เทียบกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะต้องแล้วเสร็จพร้อมอ่านต่อหน้าผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตน แม้ไม่มีสภาพบังคับในทางกฎหมาย แต่ก็น่าจะเปิดเผยไปพร้อมกันด้วย
แต่คดีนี้ ปรากฎว่า คำวินิจฉัยของศาลยังไม่เสร็จ เปิดดูเว็ป ก็มีแต่คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ
จริง ๆ แล้ว ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไรครับ
2. ตกลงคดีนี้ ถือว่าได้วินิจฉัยในเนื้อคดีแล้วหรือยังครับ
เท่าที่อ่านข่าว คดีนี้ศาลลงมติ 4 ต่อ 2 คือ 4 เสียง ยกคำร้อง อีก 2 เสียง ไม่ยกคำร้องและวินิจฉัยในเนื้อคดี
เข้า ใจเอาเองว่า ถ้าศาลยกคำร้องด้วยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์หรืออำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้อง เช่นนี้ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อคดี ดังนั้น มาฟ้อง มาร้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย (ป.วิ.พ. ม. 148; ป.วิ.อ. ม. 39 (4) และ ม. 185; ระเบียบฯ วิธีพิจารณาคดีปกครอง ข้อ 97)
ปัญหา แรก ก็คือ ข้อกำหนดศาลว่าด้วยวิธีพิจารณา ไม่ได้เขียนเรื่องห้ามฟ้องซ้ำไว้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาเข้าใจว่ายังไม่ผ่านสภา จะถือตามหลักเกณฑ์ใดดี จะอ้างอิง วิ.แพ่ง วิ. อาญา หรือระเบียบศาลปกครอง มาใช้ได้มั้ย
ใน ปัญหาที่สอง ด้านหนึ่ง ถ้าดูคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งผูกพันทุกองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า (เข้าใจว่าคงไม่แตกต่างจากที่เผยแพร่ทางเว็ปมากนัก – เพราะถ้าต่างเยอะล่ะก็ ยุ่งแน่!) ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อคดีเลย
แต่ อีกด้านหนึ่ง ความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคน ซึ่งไม่มีผลผูกพันใครในทางกฎหมาย ตามข่าวว่า ได้วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นรายประเด็นไปแล้ว อย่างนี้ ถือว่าลงเนื้อคดีแล้วแน่ ๆ
ตกลง จะถืออย่างไรดีครับ
3. บรรทัดฐานที่องค์กรของรัฐอื่นควรยึดถือปฏิบัติคืออะไร
เรื่อง นี้สำคัญจริง ๆ นะครับ เพราะมีกฎหมายอีกหลายสิบฉบับเขียนเนื้อความในทำนองเดียวกันกับกฎหมายพรรคการ เมืองมาตรา 93 เลย ก็คือ “เมื่อความปรากฎต่อ A ว่า... ให้ A โดยความเห็นชอบของ B ดำเนินการ...”
เหตุผลข้อแรก (ตุลาการ 3 ท่าน) บอกว่า ต้องมีทั้งความเห็นชอบของ A และ B จึงจะดำเนินการได้
เหตุผลข้อสอง (ตุลาการ 1 ท่าน) บอกว่า A ไม่สำคัญ จะมีหรือไม่ก็ได้ ขอเพียง B เห็นชอบก็พอแล้ว
ทั้ง สองเหตุผล ปรากฎในคำวินิจฉัยศาลทั้งคู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรคห้า รับรองสถานะคำวินิจฉัยไว้สูงยิ่งขนาดนั้น ผูกพันทั้งหมด แต่พอเหตุผลขัดกันเอง ก็ไม่รู้ว่า จะเชื่อและทำตามเหตุผลข้อไหนดี
4. ตกลงระยะเวลา 15 วันเริ่มนับแล้วหรือไม่
ตุลาการ 3 ท่านอธิบายว่า การยื่นคำร้องไม่ถูกต้อง เพราะขาดความเห็นชอบของนายทะเบียนพรรคการเมือง ผิดขั้นตอนของกฎหมายในสาระสำคัญ ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง
เข้า ใจเอาเองว่า ถ้าเงื่อนไขการใช้อำนาจยังไม่ครบถ้วน ระยะเวลาก็ยังไม่เริ่มนับ เพราะ “ความยังไม่ปรากฎต่อนายทะเบียน” เช่นนี้ ถูกหรือไม่
แต่ ก็ยิ่งสงสัยหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อตุลาการอีกหนึ่งท่าน บอกว่า ระยะเวลาเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2552 จึงเกิน 15 วันมานานแล้ว งงครับงง
5. ตกลงนายทะเบียนต้องเห็นชอบก่อน กกต. หรือไม่
เคย เข้าใจมาตลอดว่า กรณีที่กฎหมายเขียนให้องค์กรสององค์กร เจ้าหน้าที่สองเจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจร่วมกัน อย่างเช่น นายทะเบียนกับ กกต. นี้ แม้การวินิจฉัยตัดสินใจของสององค์กร จะสลับที่ ผิดคิว กันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ตรงที่ ต้องมีความเห็นชอบทั้งสององค์กร สองเจ้าหน้าที่ จึงจะมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้
แต่ ในเหตุผลข้อแรก กลับบอกว่า นายทะเบียนต้องมีความเห็นก่อน จากนั้น ก็ กกต. มีความเห็นตกลงว่า ถ้านายทะเบียนยังไม่ทำความเห็น ส่งเรื่องเข้า กกต. ซึ่งเห็นชอบแล้ว ต่อมาส่งเรื่องกลับมาที่นายทะเบียน ซึ่งก็เห็นชอบด้วย และได้ยื่นคำร้องต่อศาล เช่นนี้ ผิดขั้นตอนหรือไม่ครับ
เมื่อไปอ่านกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ยิ่งสงสัยหนัก เพราะหลักในมาตรา 41 บอกไว้ว่า
“คำ สั่งทางปกครองที่ออกโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ไม่เป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองนั้นไม่สมบูรณ์... (4) คำสั่งทางปกครองที่ต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน ถ้าเจ้าหน้าที่นั้นได้ให้ความเห็นชอบในภายหลัง”
แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ลำดับก่อนหลัง – ไม่ใช่สาระสำคัญ ถูกต้องมั้ยครับ
แม้ แต่ “คำสั่งทางปกครอง” ซึ่งมีผลกระทบสิทธิสร้างภาระหน้าที่ให้แก่บุคคลแล้ว ยังไม่ถือเรื่องลำดับขั้นตอนก่อนหลังให้เป็นสาระสำคัญเลย แล้วเหตุไฉน การดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการออกคำวินิจฉัยของศาลให้กระทบสิทธิ เสรีภาพเป็นอันดับถัด ๆ ไป จึงถือลำดับขั้นตอนเคร่งครัดกันนัก
กรณี นี้ จะขอยืมสุภาษิตการตีความกฎหมาย “ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น” (a fortiori) อย่างเช่นที่ศาลท่านเองก็เคยใช้ในคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย ไปพร้อม ๆ กันทั้งสามพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง มาพิจารณาประกอบได้หรือไม่ครับ
(คดี พรรคมัชฌิมาธิปไตย – คำวินิจฉัยที่ 18/2551 คดีพรรคชาติไทย – ที่ 19/2551 ลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 2 ธันวาคม 2551 เล่ม 126 ตอนที่ 16ก วันที่ 19 มีนาคม 2552 ในหน้า 17 และ หน้า 99 ตามลำดับ ส่วนคดีพรรคพลังประชาชน – ที่ 20/2551 ลงตอนที่ 20ก วันที่ 31 มีนาคม 2552 ในหน้า 24)
6. นายทะเบียนกับประธาน กกต. มีเพียงใจเดียวได้หรือไม่ครับ
ยิ่ง ซับซ้อนเข้าไปใหญ่ ในเมื่อนายทะเบียนกับประธาน กกต. มีชื่อว่า อภิชาต สุขัคคานนท์ คนเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญท่านเองก็เคยเชื่อเช่นนั้น
(คำ วินิจฉัยที่ 52/2548 คดียุบพรรคชาติประชาธิปไตย ลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 13 ก วันวาเลนไทน์ 14 กพ. 2549 ในหน้า 144 – 145 ซึ่งสมัยนั้น เผอิญ คนๆ เดียวกันที่นั่งสองเก้าอี้มีชื่อว่า “วาสนา เพิ่มลาภ” ก็คนที่ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่บางขวาง โดยไม่ได้ประกันตัวอยู่หลายวัน นั่นแหละครับ)
ในเรื่องนี้ มีตัวอย่างสมมุติที่ยังหาคำตอบไม่ได้ อยากเรียนถามท่านสักหน่อย
ระเบียบศาลเขียนว่า “นายทะเบียนพรรคการเมือง และ กกต. ทั้งคู่ ต้องมาศาล จึงจะเปิดประตูรับ”
กรณี แรก ท่านอภิชาต ในป้าย “นายทะเบียน” ไม่มา มีมาแต่ กกต. 4 ท่านคือ ท่านสดศรี ท่านประพันธ์ ท่านสมชัย และท่านวิสุทธิ์ อย่างนี้ ประตูศาลต้องปิด ไม่เปิดรับ ใช่มั้ยครับ
กรณี ที่สอง ท่านอภิชาต ในป้าย “นายทะเบียน” ไม่มา แต่มี กกต. มาครบ ทั้ง 5 ท่านเลย 4 ท่านที่เอ่ยนามข้างต้นยืนหน้าศาล พร้อม ๆ กับท่านอภิชาติ ซึ่งติดป้ายคาดหน้าอกว่า “ประธาน กกต.” อย่างนี้ ประตูศาลจะเปิดรับท่านเหล่านั้นหรือไม่
ถ้าตีความตามหลักลายลักษณ์อักษร (Literal Rule) ไม่เปิดประตูแน่ ๆ เพราะท่านอภิชาตไม่ได้คาดหน้าอกว่า
“ประธาน กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง” จึงไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย
แต่ หากตีความตามหลักมิให้ผลการตีความกฎหมายผิดเพี้ยนเหลวไหล (Golden Rule) ประตูต้องเปิดรับพวกท่านครับ ก็ในเมื่อท่านอภิชาติ มายืนเท่ ๆ อยู่หน้าประตูแล้ว อย่างนี้ หากจะฝืนบอกว่า นายทะเบียนไม่ได้มาด้วย ก็คงขัดสามัญสำนึกการรับรู้ข้อเท็จจริงของมนุษย์อยู่นะครับ
ฉัน ใดก็ฉันนั้น แม้นายทะเบียนไม่ได้ทำความเห็นให้แจ้งชัด หากประธาน กกต. ซึ่งแน่นอนต้องมีใจเดียวกันกับนายทะเบียน (เว้นแต่ท่านอภิชาตเป็นคนหลายใจ) ลงมติในที่ประชุม กกต. ด้วยตนเองว่า ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ จะถือว่า นายทะเบียนให้ความเห็นชอบแล้วโดยปริยาย ได้หรือไม่ครับ
หมาย เหตุ Literal Rule / Golden Rule ที่ว่ามาข้างต้น เป็นหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรของอังกฤษเค้า ไม่ค่อยแน่ใจสักเท่าไหร่ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยจะถือหลักการนี้ด้วยหรือไม่ เพราะมือท่านถือพจนานุกรมเล่มเบ้อเร่ออยู่ครับ
(คดี ทำกับข้าวออกทีวี ที่ 12-13/2551 ลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 122ก 19 พย. 2551 ในหน้า 14 – 15) “เบ้อเร่อ” อยู่ในพจนานุกรมหน้า 637 แปลว่า ใหญ่โตกว่าปกติครับ
คำถามทั้ง 6 ข้อนี้ ช่วยกรุณาตอบหน่อยเถอะครับ
เขียนโดย JJ_Sathon
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น