Wed, 2010-12-29 07:51
สายพิน แก้วงามประเสริฐ
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?
เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้รักใคร นอกจากตัวเอง โดยเฉพาะความรักชาติของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ถูกนำมาใช้รองรับอุดมการณ์ของรัฐ ไม่ว่าในยุคก่อนหรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้วก็ตาม
วิชาประวัติศาสตร์ยังคงเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญกับการรักตนเอง จนแทบไม่เคยสอนให้รู้จักรักผู้อื่น หรือเห็นอกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่าตนเลย
ด้วยเหตุดังนี้เนื้อหาสาระวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน จึงเต็มไปด้วยการสู้รบ การศึกสงครามทุกยุคสมัย โดยมีพล็อตเรื่องที่แสดงความยิ่งใหญ่ กล้าหาญ ของบรรดาวีรบุรุษวีรสตรีทั้งหลาย เมื่อไทยเป็นฝ่ายชนะตำราเรียนประวัติศาสตร์จะแต่งแต้มเติมสีสันให้ยิ่งใหญ่ ขณะที่หากไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือดูเหมือนว่าจะด้อยกว่า ตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนก็จะมีเหตุผลแห่งความพ่ายแพ้นั้น หรือมีสิ่งแสดงความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้พ่ายแพ้
เนื้อหาในตำราเรียน ประวัติศาสตร์ไทย ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำตามอุดมการณ์ชาตินิยมมาเนิ่นนานจนกระทั่งในความรับรู้ ของผู้คนที่ผ่านกระบวนการการเรียนการสอนในโรงเรียนมองพม่าเหมือนเป็นศัตรู มองกัมพูชา และมองลาวอีกรูปแบบหนึ่ง
ตำราเรียนประวัติศาสตร์ใน โรงเรียนจึงถูกวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ เพราะสอนให้รักชาติของตนเองจนไม่สนใจไยดีเพื่อนบ้าน แม้บางประเทศเรามักจะพูดอยู่เสมอว่าเป็น "บ้านพี่เมืองน้อง" แต่เรื่องราวที่ถูกเขียนไว้ในตำราเรียน หรือเรื่องที่บอกเล่าสืบต่อกันมา ผ่านนวัตกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นพี่น้องแต่อย่างใด จนทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นพี่น้องกันประสาอะไร?
เรื่องราวที่บาดหมางเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นกรณีเหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์ ที่ตำราเรียนหรือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะอยู่เสมอ และมักมองด้วยสายตา มุมมองของตนเอง โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏ" ทั้งที่หากมองด้วยสายตาอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการกอบกู้เอกราช
ดังนั้นเจ้าอนุวงศ์ย่อมอยู่ในฐานะที่มิใช่ "กบฏ"
ด้วยความที่เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์มีความชัดเจนว่าไทยเป็นฝ่ายชนะสงคราม อีกทั้งวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่บอกเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่ารบชนะลาว จนกลายเป็นเรื่องราวในตำราเรียน ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำทั้งในตำราเรียน บทเพลง บทละคร และอนุสาวรีย์ ในสมัยรัฐชาตินิยม และยังไม่จืดจางจนสมัยปัจจุบัน
การรับรู้ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้คนรอบบ้าน ยังคงสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ และควรจะเป็นเช่นนี้ต่อไป? ในเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป การอยู่ร่วมกับผู้คนไม่ใช่แค่ในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่ต้องอยู่ร่วมกับนานาชาติ โดยเฉพาะขณะนี้เราไม่ได้เป็นแค่พลเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในฐานะสมาชิกของอาเซียนด้วย แต่เนื้อหาตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ที่ก่อให้เกิดความบาดหมางกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะอยู่ในสังคมแห่งอาเซียนอย่างไร?
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 รัฐบาลประเทศลาวได้ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว ซึ่งรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์หล่อด้วยทองแดงมีน้ำหนักถึง 8 ตัน อนุสาวรีย์นี้มีความสูงถึง 15 เมตร ตั้งอยู่บนแท่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 5.5 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ที่ทั้งสูงและใหญ่มาก
อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หันพระพักตร์มาทางไทย สิ่งที่น่าสนใจมากคือพระหัตถ์ขวายื่นออกไปด้านหน้า ลักษณะผายออกผ่านแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทย ซึ่งรัฐมนตรีลาวกล่าวถึงรูปลักษณ์ของรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์ว่า พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาเป็นการแสดงถึงการให้อภัยแก่ "ผู้รุกราน" และผู้ที่เคยกระทำต่อพระองค์แล้ว
นอกจากนั้นยังมีข้อมูลรายละเอียด ที่แสดงถึงการรับรู้ของฝ่ายลาว ถึงการศึกษาสงครามครั้งนี้ ไปจนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งการรับรู้เรื่องนี้สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารของไทยที่บันทึกไว้ในฐานะ ผู้ชนะสงคราม จึงเขียนด้วยความสะใจ โดยหลงลืมนึกถึงจิตใจของผู้อื่น รวมทั้งการสร้างความรับรู้เรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารี ที่ไปเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย เป็นสิ่งที่แสดงว่าการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไม่เคยสอนให้เด็กรู้จัก เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
แม้พระหัตถ์ที่ยื่นออกมาของเจ้าอนุวงศ์จะได้รับ การให้ความหมายโดยฝ่ายลาวว่า เป็นการยื่นออกมาเพื่อแสดงถึงการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำกับพระองค์ แต่อีกนัยหนึ่งคือการตอกย้ำความมีอยู่จริงของโศกนาฏกรรมของความเป็นพี่เป็น น้องในครั้งนั้น
เป็นการใช้ประวัติศาสตร์ต่อสู้กันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่ามีอยู่จริง
ความ น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เหตุการณ์ศึกเจ้าอนุวงศ์หากนับถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบ 200 ปี แต่เพราะเหตุใดอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์จึงพึ่งปรากฏตัว ณ พ.ศ.นี้ แสดงนัยยะอะไรหรือไม่ ทั้งที่ประเทศลาวไม่ได้มีอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นแห่งแรก
อนุสาวรีย์ เจ้าอนุวงศ์แสดงความสัมพันธ์ หรือเป็นสัญญาอะไรบางอย่างหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อลาวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มีการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดนาม และตั้งชื่อสนามกีฬาแห่งนี้ว่า "สนามกีฬาเจ้าอนุวงศ์"
ทั้งอนุสาวรีย์และสนามกีฬาล้วนแสดงทัศนคติ และนัยยะที่มีต่อไทย อย่างน้อยก็แสดงความรับรู้ต่อเรื่องราวที่ปรากฏแก่เจ้าอนุวงศ์ วีรกษัตริย์ของลาว
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ย่อมมิอาจ เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเป็นความจริงที่รับรู้กันทั้งสองฝ่ายแต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้ปัจจุบัน และอนาคตสามารถอยู่ร่วมกันฉันมิตรที่ดีได้อย่างจริงใจ
ถึงที่สุดแล้ว ลาวเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิต และภาษาพูด หรืออาจหมายถึงที่มาของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ที่ทำให้คำกล่าวที่ว่า ไทยกับลาวเป็นบ้านพี่เมืองน้องไม่ไกลไปจากความจริงเท่าไร แล้วไยเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ไม่เคยแสดงความรู้สึกห่วงใยพี่น้องของตนเองเลย โดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่ควรมีความเอื้ออาทรต่อคนเป็นน้อง
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยืนตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แล้วยื่นพระหัตถ์มาฝั่งไทย แสดงนัยยะของการให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำต่อพระองค์แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำจะไม่รู้สึกอย่างไรบ้างเชียว? เมื่อรู้สึกแล้ว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ได้หล่อหลอมกล่อมเกลาให้เกิดความบาดหมางกับประเทศ เพื่อนบ้าน จะไม่ยอมปรับเปลี่ยนบ้างเลย?
อย่างน้อยๆ การเหลือพี่น้องไว้คบค้าสมาคมบ้างก็ยังดี ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เหินห่างกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันมาเนิ่นนาน เพราะอย่างน้อยการมีพี่น้องย่อมดีกว่าการไม่มีใครคบ
เมื่อเป็นดังนี้ จึงควรหวนกลับมาพิจารณาตนเอง สร้างนิสัยการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการชำระสะสางตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความล้าหลังคลั่งชาติ และประวัติศาสตร์บาดหมางกันเสียที
ที่มา:มติชนออนไลน์
http://prachatai.com/journal/2010/12/32478
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น