Mon, 2010-12-13 18:50
ประเวศ ประภานุกูล
ชื่อบทความเดิม: ศาลยุติธรรม: ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ตอนที่ 5 ระบบศาลไม่สามารถมีใบสั่งจริงหรือ?
จากโครงสร้างของผู้พิพากษานอกจากจะเกิดเครือข่ายของผู้พิพากษาแล้ว โครงสร้างและการเลื่อนตำแหน่ง ได้ก่อให้เกิด "สายการบังคับบัญชา" ขึ้นในโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย ในโครงสร้างนี้ ได้ทำให้ประธานศาลฎีกา เป็นส่วนยอด ไม่ใช่ส่วนยอดของศาลฎีกาเท่านั้น หากแต่เป็นส่วนยอดของศาลทั่วประเทศ ทุกชั้นศาล
ดังที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ศาลมี 3 ชั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ศาลชั้นต้นแบ่งเป็นศาลจังหวัดและศาลแขวง มีหัวหน้าศาลเป็น "ผู้บริหาร" ผู้พิพากษาอื่นเรียกว่า "ลูกศาล"
ในส่วนของศาลชั้นต้นซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ ได้แบ่งเป็นภาค ดูเหมือนจะมีอยู่ 8 หรือ 9 ภาคกระจายอยู่ทั่วประเทศ อยู่ภายใต้ "อธิบดีภาค" แต่ละภาค ส่วนในกรุงเทพฯ ศาลใหญ่ 6 ศาล ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญาธนบุรี ศาลใหญ่เหล่านั้นไม่มีหัวหน้าศาล ผู้บริหารของศาลเป็น "อธิบดี" เป็นอธิบดีที่ตำแหน่งสูง(ทางศาลเรียก "อาวุโสสูง")กว่าอธิบดีภาค กล่าวกันว่า อธิบดีศาลใหญ่เหล่านั้น มีตำแหน่งเทียบเท่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ การบริหารภายในศาลใหญ่เหล่านั้น แบ่งผู้พิพากษาเป็นคณะ หัวหน้าคณะมีตำแหน่งสูงหรืออาวุโสสูงกว่าหัวหน้าศาลจังหวัด
ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็แบ่งเป็นคณะ มีหัวหน้าคณะเช่นกัน สำหรับศาลฎีกา ได้มีการแบ่งแผนกด้วย เช่น แผนกคดีแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น จึงมีหัวหน้าแผนกเป็นผู้ควบคุม หัวหน้าคณะอีกที
ในการพิจารณาคดี ตลอดจนการทำคำพิพากษา กม.กำหนดให้ต้องมีองค์คณะ เป็นจำนวนผู้พิพากษาที่ประกอบกันขึ้นเป็นศาล หรือจะเรียกอีกอย่างว่า "องค์ประชุม" ก็คงไม่ผิด ในศาลชั้นต้นต้องมีอย่างน้อย 2 คน ส่วนศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต้องมีอย่างน้อย 3 คน ในศาลจังหวัดคณะหนึ่งจึงมีผู้พิพากษา 2 คน แต่ศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ คณะหนึ่งมีผู้พิพากษา 3 คนเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่จะมีไม่ต่ำกว่า 5 คน เพราะมีผู้พิพากษาฝึกงาน(ผู้ช่วยผู้พิพากษา)ด้วย
ในการพิจารณาคดี หัวหน้าศาลจังหวัด จะเป็นผู้แจกสำนวนให้ผู้พิพากษาลูกศาลแต่ละคนเป็นผู้พิจารณาคดีในแต่ละคดี คดีความแต่ละคดีจึงเกิดผู้พิพากษา 2 ประเภทในคดีเดียว คือ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะ แต่หัวหน้าศาลสามารถเป็นองค์คณะของผู้พิพากษาในศาลจังหวัดตนได้ทุกคณะ หรือจะพิจารณาคดีนั้นๆ เองก็ได้โดยถือว่าหัวหน้าศาลเป็นเจ้าของสำนวน
ศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ อธิบดีหรือรองฯ(คนที่อธิบดีมอบหมาย--รองอธิบดีมีได้หลายคน) จะเป็นคนแจกสำนวนส่งไปให้แต่ละคณะ แล้วให้หัวหน้าคณะจัดสรรเอง
เมื่อเกิดปัญหา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนสามารถขอคำปรึกษาได้ ในศาลจังหวัดจะปรึกษาหัวหน้าศาล ในกรุงเทพฯเท่าที่เคยเห็น เป็นการปรึกษาอธิบดี
ในการพิพากษาคดี (เจ้าของสำนวนจะเป็นคนร่างคำพิพากษา แล้วให้องค์คณะดู หากเห็นด้วยก็ลงชื่อในต้นร่าง จากนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ศาลพิมพ์ส่งให้เจ้าของสำนวนตรวจทานอีกที) กม.กำหนดให้ถือเอาเสียงข้างมากของ ผู้พิพากษา แต่ก็ให้สิทธิเสียงข้างน้อยทำความเห็น "แย้ง" ได้ ยกเว้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ห้ามทำความเห็นแย้ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีองค์คณะเพียง 2 คน เสียงข้างมากจึงไม่ต่างจากเสียง เอกฉันท์ จึงมักจะไม่ค่อยเห็นความเห็นแย้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรืออย่างน้อยผมก็ไม่เคยเห็น
ในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา กม.กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลฎีกา ที่จะสั่งให้คดีใดพิพากษาโดยผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทุกคน เต็มทั้งศาลก็ได้ ในกรณีศาลฎีกา เรียกคำพิพากษาแบบนี้ว่า "ฎีกาประชุมใหญ่"
ในอีกด้าน ผู้พิพากษาแต่ละคน (อันนี้ไม่เว้นแม้แต่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา) ต่างก็มีสำนวนคดีของตนเองที่ต้องเขียนคำพิพากษา และต่างก็เป็นองค์คณะของผู้พิพากษาคนอื่น
เช่นนี้ การทำความเห็นแย้งจะ ไม่เสียความสัมพันธ์กับผู้พิพากษาคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เป็น เจ้าของสำนวน และจะมีผลกระทบอะไรต่อสำนวนของตนที่เขาเป็นองค์คณะบ้าง??
การที่หัวหน้าศาลจังหวัดหรือ หัวหน้าคณะของศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นคนแจกจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาคนใดทำในฐานะเจ้าของสำนวน และยังสามารถเป็นองค์คณะของผู้พิพากษาในสำนวนคดีใดก็ได้ ไม่ได้มีส่วนต่อคำพิพากษาของศาล???
ในโครงสร้างของศาลชั้นต้นที่ แบ่งเป็นภาค มีอธิบดีคุมหัวหน้าศาล อธิบดีสามารถเรียกตรวจสำนวนคดีใดก็ได้ที่อยู่ในภาคของตน สั่งให้ผู้พิพากษาส่งร่างคำพิพากษาให้ตรวจก่อนได้ ไม่ใช่สายการบังคับบัญชา??
หัวหน้าศาลจังหวัดหรือหัวหน้าคณะไม่ใช่ ผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาระดับล่างของตน???
เช่นนี้ ผู้พิพากษาแต่ละคนอิสระจริง??
ผู้พิพากษาแต่ละคนมีดุลพินิจอิสระจริง???
หากถือว่าหัวหน้าศาลจังหวัด หัวหน้าคณะของศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ตลอดจนอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาระดับล่าง แล้วผู้พิพากษาระดับสูงกว่า อย่าง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา หัวหน้าแผนกในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา จนถึงประธานศาลฎีกา
ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของผู้พิพากษาระดับล่างในศาลจังหวัดและศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ????
เมื่อย้อนกลับไปดูถึงสายใยเครือข่ายผู้พิพากษาประกอบ ย่อมเกิดคำถามคือ
หากผู้พิพากษาระดับสูงเหล่านี้ มีคำสั่งลงมา ผู้พิพากษาระดับล่างกล้าไม่ปฏิบัติตาม????
ในระบบเช่นนี้ องค์คณะของผู้พิพากษา สามารถถ่วงดุลและตรวจสอบ ดุลพินิจ ของเจ้าของสำนวน????
ในระบบเช่นนี้ หากหัวหน้าศาลจังหวัดหรืออธิบดีศาลใหญ่ในกรุงเทพฯ ต้องการกำหนดผลคดีล่วงหน้า จะไม่สามารถเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะที่อยู่ในเครือข่ายของตน
ไม่สามารถเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ที่สามารถ "สั่งได้"
ผู้พิพากษาระดับล่างที่เป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะ สามารถคัดขืนไม่ปฏิบัติตาม "คำสั่ง"??
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้พิพากษาคนนั้นๆหวังจะได้รับการ "เลื่อนตำแหน่ง"
ระบบเช่นนี้ แตกต่างอะไรกับกระทรวงอื่นที่มีสายการบังคับบัญชาจากยอดที่ ปลัดกระทรวง ลงมาจนถึงเสมียนซี 1
สุดท้ายคงต้องถามว่า
ในระบบเช่นนี้ องค์กรศาลไม่สามารถมี "ใบสั่ง" จริงหรือ???
http://prachatai.com/journal/2010/12/32278
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น