Sun, 2010-12-12 00:11
กลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน (กปป.)
หมายเหตุ: 1. เอกสารฉบับนี้เขียนขึ้นจากการศึกษาของกลุ่มศึกษาประชาธิปไตยประชาชน (กปป.) ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน 2553
2. กปป.เป็นกลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักวิชาการที่เข้าร่วมการศึกษาแนวคิดทฤษฎีทางสังคม เพื่อค้นคว้าแลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็นการสร้างขบวนประชาชนที่เป็นอิสระและ เป็นตัวของตัวเอง กปป. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2553 จากการประชุมนักกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤศจิกายน 2553
การเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2549 จนถึงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2553 ได้ทำให้กลุ่มนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักวิชาการ และปัญญาชนรุ่นใหม่ แตกแยกออกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน เราเป็นกลุ่มนักกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ และได้รับบทเรียนสำคัญมาแล้ว เมื่อติดตามการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ ขบวนการเสื้อแดงก็ได้เห็นบทเรียนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน บทเรียนนั้นก็คือ การ เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองโดยขาดความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ดอกผลที่ได้ไม่เกื้อกูลต่อการสร้างความเข้มแข็ง ให้กับขบวนการภาคประชาชนที่เป็นอิสระ และเคลื่อนไหวบนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เราต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักกิจกรรม นักวิชาการ และปัญญาชน ถึงท่าทีทางการเมืองต่อกรณีต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การหวังพึ่งพิงมาตรา 7 กรณีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กรณีการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ กรณีการปราบปรามการชุมนุมของขบวนการเสื้อแดง กรณีการปฏิรูปประเทศ และการปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังนำไปสู่ความขัดแย้งทางแนวความคิดในการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยอีกด้วย ทว่าความเห็นที่แตกต่างกันนี้ยังไม่ได้รับการเรียนรู้ให้ชัดเจนและลึกซึ้ง ทั้งจากการถอดบทเรียนของแต่ละฝักฝ่าย และการเรียนรู้จากกันและกัน
ในการเผชิญกับความแตกต่างทางความคิดนั้น เราพบว่า พวกเราเองยังขาดความชัดเจนในท่าทีทางการเมือง ทำให้เมื่อเผชิญกับคำถามหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จึงตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เช่น กรณีหลังรัฐประหาร 19 กันยายนฯ ในหมู่พวกเราไม่ได้ออกมาวิจารณ์ถึงบทบาททหารกับการเมืองไทยบ้างเลย ในกรณีเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เราเกิดความรู้สึกระคนกันระหว่างด้านการมีผู้บริสุทธิ์ถูกยิงจนบาดเจ็บ ล้มตาย กับอีกด้านหนึ่งก็เกิดเป็นคำถามในใจว่า การชุมนุมที่ถูกแกนนำผลักไปถึงขั้นเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ และมีกลุ่มติดอาวุธแทรกตัวอยู่ด้วย การมีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ชัดเจนจึงกระทบต่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ของพวกเรา และการร่วมสร้างขบวนการภาคประชาชนในอนาคต
ในขณะที่ภาวะภายในความคิดของแต่ละคนของกลุ่มเรายังไม่สรุปให้ถูกต้อง เมื่อถูกเร่งเร้าให้ชัดเจน ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืน และถูกวิจารณ์ ประณามหยามหมิ่น เราก็โต้แย้ง และปะทะคารมกันเป็นรายบุคคล ผลก็คือ ยิ่งไปตอกย้ำความแตกแยกเพิ่มขึ้น ซึ่งบีบคั้นให้พวกเราต้องเลือกข้าง ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะความแตกต่างและแตกแยกได้แทรกซึมลงไปถึงองค์กรชาวบ้าน องค์กรนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ จนทำให้เกิดการเลือกข้างเป็นฝักฝ่าย คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องการความชัดเจนในตนเองเช่นเดียวกับเรา ดัง นั้นการสรุปบทเรียนและแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน จึงมีความสำคัญต่อขบวนการภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็ง โดยก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาบนความเข้าใจบทเรียนร่วมกันอย่างเป็นตัวของตัวเอง
บทเรียนการเข้าร่วมพันธมิตรฯ
เป้าหมายที่เราไปร่วม เพราะคิดว่าปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการนำเสนอต่อสาธารณะ เช่น ปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปัญหา FTA ปัญหาประชาชนในเครือข่ายต่างๆ เป็นต้น โดยเราได้เข้าไปร่วมควบคุมให้เกิดโอกาสการนำเสนอปัญหาชาวบ้านบนเวทีปราศรัย และเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง ASTV ขณะเดียวกันก็เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณด้วย เพราะจะส่งผลให้ปัญหาชาวบ้านได้รับการแก้ไข เช่น กรณีเหมืองแร่โปแตชที่อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2547-2548 กลุ่มทุนของรัฐบาลทักษิณเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้อดีตสหายเข้ามาทำงานมวลชนสัมพันธ์ให้กับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัทอื่นที่อยู่ในฝ่ายทักษิณ ดังนั้นการโค่นรัฐบาลจะช่วยให้โครงการนี้ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆยุติลงไป นอกจากนี้ การที่รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชน ก็ทำให้พวกเราเห็นว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการดำรงอยู่ เช่น กรณีการสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ต่อต้านโครงการท่อก๊าซ หาดใหญ่ ในปี 2545 กรณีกรือเซะ และตากใบ ในปี 2547 เป็นต้น
ที่สำคัญ เราสามารถที่จะกุมความเคลื่อนไหวของพันธมิตรได้ โดยมีบทบาทดูแลความปลอดภัยของมวลชน ต่อรองมิให้กลุ่มการเมืองที่พยายามเข้ามาช่วงชิงการนำและอาจนำมวลชนไปสู่ ความรุนแรงเข้ามามีบทบาทนำการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ และต่อรองมิให้นำการเคลื่อนไหวไปพึ่งพิงพระราชอำนาจ หรือนายกฯพระราชทาน โดยตกลงที่จะไม่นำเรื่องนี้มาเป็นข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่สำคัญก็คือ เมื่อมีความพยายามผลักดันเรื่องมาตรา 7 เราพบว่า แม้จะมีความเห็นที่แตกต่าง ทว่ากลุ่มผู้นำของเราไม่มีอำนาจต่อรองในการนำ และหันไปยอมรับเรื่องนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น นักกิจกรรมบางส่วนได้ถอนตัวออกจากการเคลื่อนไหว บางส่วนอยู่ต่อด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ไม่เห็นด้วยแต่ต้องอยู่รับผิดชอบมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมในเรื่องความ ปลอดภัย ด้วยเกรงว่าจะมีกลุ่มอื่นฉวยโอกาสนำพามวลชนไปกดดันให้เกิดการล้อมปราบจาก รัฐบาลทักษิณ แล้วเป็นเหตุชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหาร ขณะเดียวกันพวกเราหลายคนรู้สึกวางเฉยต่อเป้าหมายการโค่นรัฐบาลทักษิณ สรุปว่าเราพ่ายแพ้การนำร่วมในพันธมิตรฯ แล้วเมื่อเกิดรัฐประหารก็เท่ากับเป้าหมายการโค่นทักษิณโดนช่วงชิงไปโดยการ กระทำแทนของกองทัพ
บทเรียนต่อมาคือ พวกเรายอมรับการกระทำแทนนี้ พวกเราจึงไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร ด้วยเหตุผลว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีลักษณะพิเศษคือ มุ่งโค่นอำนาจของรัฐบาลทักษิณเท่านั้น โดยที่ไม่มุ่งการใช้อำนาจเผด็จการกับประชาชนโดยทั่วไป บางส่วนของพวกเราจึงถูกผู้คัดค้านการรัฐประหารผลักหรือผูกโยงให้เข้ากับการ รัฐประหาร อย่างไรก็ตาม มีพวกเราบางส่วนไม่ยอมรับแต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว
จากบทเรียนนี้ หากพวกเราไม่ยอมรับการกระทำแทนนี้ แม้มีกำลังน้อยและต้องพึ่งพิงอำนาจของกองทัพในการโค่นรัฐบาลทักษิณ เราก็ยังคงเสนอความคิดที่ก้าวหน้าออกไปได้ว่า กองทัพควรสนับสนุนการโค่นรัฐบาลทักษิณโดยอยู่ภายใต้การนำของพันธมิตร และเปิดทางไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนแทนที่รัฐบาลทักษิณ จึงจะทำให้ภารกิจในการแก้ปัญหาการครอบงำการเมืองของกลุ่มทุนทักษิณและพวก บรรลุผลได้อย่างถึงที่สุด ทว่าพวกเราไม่ได้คิดถึงข้อเสนอเช่นนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร พวกเราบางส่วนตระหนักถึงการถูกช่วงชิงการนำ จึงมีความพยายามเก็บเกี่ยวดอกผลของการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ เพื่อจัดตั้งประชาชนให้เข้มแข็งขึ้น และมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยผลักดันให้เกิดกิจกรรมของ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง (สปป.) โดยการดึงแกนนำ และมวลชนที่เข้าร่วมพันธมิตรฯ จากหัวเมืองหลักๆ มาร่วมอยู่ในเวทีเพื่อจัดทำข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง ทว่าในหมู่พวกเรายังให้ความสำคัญกับภารกิจนี้น้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงต่อมาได้หันเหการสร้างองค์กรอย่าง สปป. ให้เป็นอิสระ ไปเป็นองค์กรที่หลอมรวมตัวอยู่กับพันธมิตรฯ ที่เน้นอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดังนั้น การเก็บเกี่ยวดอกผลเพื่อสร้างองค์กรที่เป็นตัวของตัวเองนี้จึงล้มเหลวอย่าง สิ้นเชิง
ต่อมาเมื่อเกิดรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ในปี 2551 โจทย์ทางการเมืองคือ การกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้งของรัฐบาลทักษิณในรูปการณ์ของนอมินี ดังนั้นภารกิจคือการโค่นรัฐบาลนอมินีทักษิณ พวกเรามีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับการเข้าร่วมกับพันธมิตร เหตุผลที่เข้าร่วม มาจากเรื่องภารกิจโค่นรัฐบาลนอมินีทักษิณ และยอมรับการทำงานแนวร่วมว่า เราไม่อาจควบคุมให้เป็นไปตามที่เราคิดได้ทั้งหมด หากต้องร่วมสู้กันไปบนเป้าหมายเดียวกันนี้
ขณะที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ที่ยอมรับมาตรา 7 มีส่วนพัวพันกับการรัฐประหาร ไม่ได้เน้นการเคลื่อนไหวบนปัญหาของชาวบ้านอย่างหลากหลาย และการนำของพันธมิตรฯ ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนธิ ลิ้มทองกุล และ ASTV และเคลื่อนไหวโดยใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อการดึงมวลชนเข้าร่วม ดังนั้นจึงมีการถกเถียงและคัดค้านการเข้าร่วมในที่ประชุมจนเกิดความขัดแย้ง แตกแยกกันในหมู่พวกเรา ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ ในรอบที่สองนี้จึงเป็นไปตามเจตจำนงของแต่ละบุคคล มากกว่าตามความเห็นร่วมขององค์กรหรือเครือข่าย มีบางส่วนเท่านั้นที่เข้าร่วมด้วยมติขององค์กร
การนำเสนอบนเวทีของพันธมิตรฯ และยุทธวิธีต่างๆ ก็ใช้อุดมการณ์เดียวกันนี้เช่นกัน นอกจากนี้มีการห้ามร้องเพลงปฏิวัติบนเวที การห้ามใส่เสื้อมีรูปหน้าเชเกวาร่าหรือมีดาวแดงขึ้นเวทีฯ และมีแต่การเคลื่อนไหวประเด็นเดี่ยว เช่น กรณีเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นการตรวจสอบรัฐบาลและสร้างกระแสชาตินิยมรุนแรง เป็นต้น
ในกรณีพรรคการเมืองใหม่ แม้ว่าจะเป็นความพยายามในการเก็บเกี่ยวดอกผลการเคลื่อนไหวไปสู่การจัดตั้ง ที่มีคุณภาพ แต่ทว่าก็มีการตั้งคำถามถึงวิสัยทัศน์ร่วม ภาวะการนำรวมหมู่และความเป็นตัวของตัวเอง แม้จะพยายามผลักดันให้เกิดหลักนโยบายของพรรคที่เน้นผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ทว่าสิ่งนี้ก็เป็นเพียงตัวอักษรที่อยู่ในกระดาษ เพราะขาดความพร้อมของผู้ปฏิบัติงานในการนำสิ่งเหล่านี้สู่การเคลื่อนไหวของ พรรคอย่างจริงจัง
บทเรียนสำคัญที่พิสูจน์บรรดานักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่คิดว่า การเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ นั้น เป็นยุทธวิธีในการใช้ฐานของ “อำมาตย์” และกองทัพ เพื่อโค่นรัฐบาลทักษิณและพรรคพวก ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างขบวนการภาคประชาชนให้เข้มแข็งนั้น กลับกลายเป็นการคิดเชิงยุทธวิธีที่ขาดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวที่มีความเป็น อิสระและเป็นตัวของตัวเอง จึงทำให้ไม่เกิดภาวะการนำที่เป็นความหวังได้
บทเรียนของขบวนการเสื้อแดง
ขบวนการเสื้อแดงที่เป็นกำลังหลักมีฐานมวลชนคือ แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเกิดขึ้นโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทยของตนที่ใช้ระบบจัดตั้งหัวคะแนนใน ชุมชนและหมู่บ้านต่างๆด้วยเงินทุนมหาศาล กลุ่มนี้เกิดขึ้นและพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และกลุ่ม “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการโค่นรัฐบาลทักษิณ และบั่นทอนอำนาจทางการเมืองของพรรคของทักษิณ ในช่วงที่พันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย กลุ่มนี้แสดงบทบาทเป็นอันธพาลการเมืองก่อกวนการชุมนุม และยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เช่น กรณีการก่อกวนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ถนนราชดำเนิน กรณีการโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อุดรธานี และเชียงใหม่ เป็นต้น
ทว่าหลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาแทนที่ กลุ่มนี้กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการต่อ ต้านผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ และทหารที่แทรกแซงการเมืองและล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งมีการจัดตั้งมวลชนด้วยระบบโรงเรียนการเมือง หรือศูนย์การเรียนรู้ที่มีหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ทั้งวิทยุชุมชน สื่อวิดีทัศน์ต่างๆ ที่เข้าถึงฐานมวลชนโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นทั้งระบบเครือญาติมวลชนคนจนรากหญ้า และชนชั้นกลาง ประสานเข้ากับกลุ่มทุนท้องถิ่น เช่น เจ้าของกิจการขายวัสดุก่อสร้าง กิจการขายหวยบนดิน ผู้รับเหมาก่อสร้าง และหัวคะแนนของพรรค
กลุ่มนิยมเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร และบรรดานักวิชาการ ต่างเคลื่อนไหวจากจุดยืนของประชาธิปไตยเสรีนิยม โดยต่อต้าน “อำมาตย์” และทหารที่แทรกแซงการเมือง ซึ่งในที่สุดได้นำพากลุ่มตนไปอิงฐานมวลชนจัดตั้งของพรรคของทักษิณ และไม่สามารถมีบทบาทนำหรือร่วมกำหนดการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงได้เลย เพราะการนำหลักมาจากทักษิณ และแกนนำใกล้ชิดทักษิณ สิ่งนี้สะท้อนถึงบทเรียนเช่นเดียวกับที่พวกเราประสบเมื่อเข้าร่วมกับ พันธมิตรฯ กล่าวคือ เป็นการเข้าร่วมโดยขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ที่สุดก็ยอมรับการนำของทักษิณและแกนนำไปโดยปริยาย
ในกรณีการชุมนุมของขบวนการเสื้อแดงล่าสุด ที่นำไปสู่ความรุนแรงและการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บทเรียนที่ชัดเจนคือ แกนนำการชุมนุมนำพาผู้ชุมนุมไปเผชิญกับความรุนแรง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตน ยกตัวอย่าง การตั้งข้อเรียกร้องยุบสภาภายใน 7 วันหรือ 10 วัน แล้วยืนยันโดยไม่ยอมรับการต่อรองใดๆ ในที่สุด แม้ว่าข้อเสนอจากรัฐบาลจะยอมรับให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว การปลุกระดมชาวบ้านให้เข้าร่วมต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวและใช้อาวุธ ดังเช่นการปลุกระดมของขวัญชัย ไพรพนา ที่อุดรธานี การปล่อยให้มวลชนเผชิญกับการล้อมปราบเพื่อปลุกให้เกิดความเคียดแค้น การหวังให้เกิดการใช้กำลังกับผู้ชุมนุมเพื่อเป็นเหตุทำลายความชอบธรรมของ รัฐบาล โดยอาศัยกองกำลังติดอาวุธจู่โจมทำร้ายทหาร สิ่งเหล่านี้สมควรได้รับการประณามที่ใช้ประชาชนเป็นเบี้ยทางการเมือง
เรื่องเช่นนี้แม้แต่นักวิชาการผู้สนับสนุนเสื้อแดงได้เขียนระบุในเว็บ บอร์ดว่า เขารับรู้จากผู้นำการชุมนุมที่ใกล้ชิดกับแกนนำ ทราบว่าจะมีการนำการเคลื่อนไหวไปสู่ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในหมู่แกนนำและผู้นำอื่นๆ บทเรียนสำคัญคือ เมื่อรู้แล้วว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ใช้มวลชนเป็นเบี้ยทางการเมืองสังเวยชีวิตกับความ รุนแรงทางทหารของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องศีลธรรมที่สำคัญยิ่ง ผู้นำการชุมนุมบางส่วนจึงถอนตัวออกจากการชุมนุม นักวิชาการผู้สนับสนุนเสื้อแดงได้พยายามเขียนวิจารณ์ในเว็บบอร์ด เครือข่ายสันติประชาธรรมของนักวิชาการที่เห็นใจในกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ออกแถลงการณ์วิจารณ์แกนนำด้วย
น่าเสียดายที่การกระทำเหล่านี้แม้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาทำได้ ทว่ามันยังไม่ดีเพียงพอกับความทุกข์ยาก บาดเจ็บ ล้มตายของผู้ร่วมชุมนุม พวกเขาไม่มีการกล่าวประณามภายในหมู่แกนนำด้วยกันเองภายหลังรับทราบผลที่เกิด กับผู้ชุมนุม เพื่อให้มวลชนเกิดการเรียนรู้บทเรียนที่สำคัญนี้ว่า การที่แกนนำเสื้อแดงผลักดันมวลชนไปสู่ความรุนแรงซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ รัฐบาลลงมือเข่นฆ่าประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่อาจรับได้ และจะได้นำไปสู่การแยกตัวออกมาสู้โดยจัดตั้งองค์กรของตน ด้วยหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมบนผลประโยชน์ของประชาชน
ตรงกันข้าม พวกเขายังคงกลับมาร่วมคิดร่วมขับเคลื่อนบนฐานขบวนการคนเสื้อแดงของทักษิณและ พวกต่อไปอีก ที่มุ่งแต่โจมตีรัฐบาลว่าเป็นผู้สร้างความรุนแรงแต่เพียงฝ่ายเดียว นับเป็นเรื่องน่าละอายแก่ใจอย่างยิ่ง ในกรณีการเคลื่อนไหวของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการ ชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 ก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน โดยไม่เคยประณามนักการเมืองและหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย ที่ไม่รับผิดชอบติดตามดูแลทุกข์สุขของคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนที่พวกตนนำพามาร่วมชุมนุม รวมไปถึงแกนนำที่ควรรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้เข้าร่วมชุมนุม
ในกรณีการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นั้น ยังมีบทเรียนที่พวกเราได้เรียนรู้คือ การใช้การลอบสังหาร เสธ.แดง ซึ่งที่ผ่านมาพวกเรามีท่าทีวางเฉยต่อเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะเราคิดอยู่ในใจว่า มันเป็นเรื่องสมควรด้วยความเข้าใจไปเองว่า เสธ.แดงเป็นส่วนหนึ่งการผู้ก่อตั้งและร่วมฝึกกองกำลังต่างๆ ทั้งที่เป็นการ์ด และอาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มกองกำลังที่ใช้อาวุธ M79 เป็นเหตุให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต อย่างไรก็ตามความเข้าใจไปเองเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้ กระจ่างชัด ยิ่งในทางการเมืองแล้ว การใช้วิธีการต่อสู้ด้วยความรุนแรง เช่น การลอบสังหาร นับเป็นวิธีการที่สมควรได้รับการประณาม แม้เราไม่ทราบว่าใครกระทำ แต่เราควรเรียกร้องและตรวจสอบรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลความสงบสุขของประชาชน ให้มีการสืบสวนสอบสวนทำความจริงให้ปรากฏ
ท่าทีเช่นนี้ควรใช้อย่างยิ่งกับกรณีการสลายการชุมนุม ทั้งกรณีวันที่ 10 เม.ย. และวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยเราควรประณามวิธีการที่รัฐบาลใช้การเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธที่แฝงตัว อยู่ในที่ชุมนุมมาทำลายความชอบธรรมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง และเหมารวมเป็นพวกที่ต้องได้รับการสลายการชุมนุมในคราวเดียวกัน ทั้งที่ควรแยกแยะผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมทางการเมืองโดยสันติออกจากกลุ่มติด อาวุธ และใช้เวลาโน้มน้าว ต่อรอง และช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่มาชุมนุมเหล่านั้นให้เป็นที่เข้าใจ นอกจากนี้เรายังควรเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนการดำเนินการของเจ้า หน้าที่ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในการใช้อำนาจและทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อป้องกันมิให้มีการกลบเกลื่อนการกระทำที่ลุแก่อำนาจใดๆ
การที่เราวางเฉยไม่แสดงท่าทีเหล่านี้ออกไป ในทางการเมืองแล้ว นอกจากอาจถูกเข้าใจผิดจากนักกิจกรรมและปัญญาชนว่า เรายังคงเป็นพวกนิยมเสื้อเหลือง ที่สำคัญ เรายังขาดความรับผิดชอบต่อการร่วมสร้างหลักการที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่มวลชน และจัดตั้งพวกเขาให้เข้มแข็ง พวกเราได้แต่ยืนนิ่งเฉยขณะที่นักกิจกรรม และคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวเลือกข้างกันเป็นฝักฝ่ายอย่างน่าเป็นห่วง
เช่นเดียวกับในกรณีที่มีการต่อสู้ทางการเมือง ด้วยวิธีการก่อวินาศกรรม และส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เราไม่ทราบชัดเจนในท้ายสุดว่า คนเสื้อแดงมีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยหรือไม่อย่างไร ทว่าผลของการกระทำสิ่งนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการโจมตีรัฐบาลว่า ไม่มีความสามารถในการควบคุมให้บ้านเมืองเข้าสู่ความสงบ และพยายามคง พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้เพื่อใช้เป็นอำนาจเผด็จการของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน รัฐบาลและหรือกลุ่มพวกอำมาตย์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความรุนแรง ในการกวาดล้างปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดง
อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า การนิ่งเฉยของบรรดานักวิชาการ นักกิจกรรม ปัญญาชน และคนรุ่นใหม่ที่นิยมเสื้อแดง สะท้อนให้เห็นแนวโน้มทางการเมืองชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อสติปัญญาของทุก คนนั่นคือ ลัทธินิยมพรรคพวก (Sectarianism) กล่าวคือ ตราบใดที่พวกเขายังคงหวังพึ่งขบวนการเสื้อแดงเป็นฐานการเคลื่อนไหว ตราบนั้นพวกเขาจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งประณามพวกเดียวกันเองได้อย่างถึงที่สุด ด้วยกลัวสูญเสียแนวร่วมนี้ไป ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายอย่างหนักหน่วงก็คือ หลักการที่ถูกต้องชอบธรรมของการต่อสู้ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนที่ แท้จริง
อันที่จริงพวกเขาส่วนใหญ่ก็เคยเป็นฝ่ายซ้ายที่นิยมมาร์กซมาก่อน พวกเขาควรระลึกถึงคำเตือนของมาร์กซที่เขียนไว้อย่างชัดเจน ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ถึงปัญญาชนว่า ให้ยึดถือผลประโยชน์ของมวลชนเป็นที่ตั้ง และกระทำตนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของมวลชน ยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวก ยิ่งกว่าการยึดมั่นถือมั่นในหลักการของพรรคพวก ข้อเตือนใจนี้ใช้ได้เสมอ เมื่อปัญญาชนเผชิญและตีความความเป็นจริงตรงหน้าอย่างไม่ครบถ้วน เป็นเสี้ยวส่วน และยึดถือเพียงด้านเดียว โดยเพียงเพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของพรรคพวก หาใช่ผลประโยชน์ของประชาชนไม่
บทเรียนต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง
ขบวนการเสื้อแดงนั้น ไปไม่พ้นประชาธิปไตยตัวแทนของระบบเสรีนิยม ซึ่งยืนยันสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง “หนึ่งเสียงของประชาชน” โดยไม่สนใจฐานเงินทุนของกลุ่มทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการได้มาซึ่งอำนาจทาง การเมือง ไม่สนใจถึงการขยายประชาธิปไตยให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง เช่น การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการ ผู้พิพากษา หรือประชาธิปไตยทางตรงของคนงาน ชาวนาชาวไร่ต่อการควบคุมการผลิตเป็นต้น สิ่งนี้นับเป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้ของเราอย่างยิ่ง
ระยะเวลา 37 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบันที่สังคมไทยมีประสบการณ์กับประชาธิปไตยตัวแทนแบบเสรีนิยมนั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่า การยอมรับว่าประชาธิปไตยคือ สิทธิเสรีภาพของการเลือกตั้งของประชาชนเพียงอย่างเดียว นับเป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้อีกต่อไป เมื่อเราพบว่า รัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตยนั้น สามารถครอบงำอำนาจทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยทุนเป็นใหญ่ โดยทุนสามารถทำให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งของประชาชน กลายเป็นสินค้าที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ด้วยการอาศัยการอุปถัมภ์ค้ำชู และการโปรยหว่านผลประโยชน์กับประชาชน ดังนั้นสิทธิเสรีภาพนี้มิอาจแก้ปัญหารัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมได้ เพราะในเกมการเลือกตั้ง กลุ่มทุนใหญ่มีโอกาสกลับเข้ามาผูกขาดอำนาจได้เสมอ
การจำกัดบทบาทของประชาชนเป็นเพียงผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น หรือเป็นเพียงกลุ่มกดดันทางการเมือง เท่ากับเป็นการผลักให้อำนาจการเมืองอยู่ในอุ้งมือของกลุ่มทุนตลอดไป เพราะในสถานการณ์ปกติ ประชาชนมักอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไร้พลัง ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับการทำงาน และเป็นไปตามอารมณ์ และความคิดที่ตกอยู่ใต้การครอบงำโดยอุดมการณ์ของรัฐ ดังนั้นการที่ผู้นิยมเสื้อแดงระบุแต่เพียงว่า หากเห็นว่ารัฐบาลไร้ความชอบธรรม ก็อย่าเลือกในสมัยหน้า เป็นการจำกัดอำนาจของประชาชนเพียงด้านเดียว
การใช้อำนาจของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยนั้น ยังมีการแสดงออกในอีกด้านหนึ่ง คือ สิทธิในการปฏิวัติ (Right of revolution) อีกด้วย ประชาชนที่เข้าร่วมใช้สิทธิในการปฏิวัติ จะแสดงออกซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างมีจิตสำนึกที่มีคุณภาพสูงกว่ามาก มายมหาศาล เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากข้อจำกัดของชีวิตการทำงาน และการครอบงำทางอุดมการณ์ของรัฐ แล้วรวมตัวจัดตั้งตนเองอย่างเป็นประชาธิปไตยที่มีตัวแทนทางตรงเข้าร่วมใช้ อำนาจ
สิทธิการปฏิวัติหรือสิทธิของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ที่สะท้อนถึงการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในการโค่นอำนาจรัฐที่กดขี่ขูดรีด และปราบปรามทำร้ายประชาชน สิทธินี้ได้รับการรับรองจากประสบการณ์การปฏิวัติอเมริกาปี ค.ศ.1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ.1789 ในแถลงการณ์ประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริการะบุว่า
“มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียม และได้รับสิทธิที่แน่นอนที่ไม่อาจแย่งชิงเอาไปได้ สิทธิเหล่านี้มีสิทธิการมีชีวิต มีเสรีภาพ และสิทธิในการใฝ่หาความสุขดำรงอยู่ด้วย เพื่อที่จะรับประกันสิทธิเหล่านี้ ผู้คนจึงได้ตั้งรัฐบาลขึ้นมา อำนาจอันชอบธรรมของรัฐบาลเหล่านี้มาจากความเห็นชอบด้วยของผู้อยู่ใต้การ ปกครอง ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลประเภทใด หากรัฐบาลสูญเสียเป้าหมายข้างต้นนี้ไปแล้ว การที่จะยกเลิกรัฐบาลเหล่านั้นเมื่อไรก็ได้ แล้วทำการสถาปนารัฐบาลใหม่ ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ให้ความสุข ความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นอย่างดีที่สุด การจัดตั้งอำนาจของรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงเป็นสิทธิของประชาชน ในกรณีที่รัฐบาลใดได้แสดงเจตนา บีบบังคับให้ประชาชนจำนนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ที่มีจุดหมาย กดขี่ ขูดรีด และทำร้ายประชาชนอย่างยาวนาน จึงย่อมเป็นหน้าที่ และสิทธิของประชาชนในการที่จะโค่นรัฐบาลนั้น และสถาปนาองค์กรใหม่ที่จะปกป้องและรับใช้ประชาชนเพื่อความปลอดภัยแก่อนาคต ของพวกเขาเอง”
สิทธิในการปฏิวัติเกิดขึ้นในสถานการณ์ปฏิวัติที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการได้แก่
1. รัฐสูญเสียความชอบธรรมในด้านอุดมการณ์และการเมืองถึงขั้นวิกฤต ในสายตาของมวลชน
2. กลไกปราบปรามของอำนาจรัฐเกิดความแตกแยก ทำให้ชนชั้นปกครองไม่อาจใช้กลไกนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และบางส่วนเห็นอกเห็นใจประชาชนที่ทำการต่อสู้อย่างเสียสละ
3. เกิดการเคลื่อนไหวของประชาชนเรือนแสนเรือนล้านอย่างเข้มแข็ง โดยรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรของตนเอง (Self organization) เกิดเป็นอำนาจคู่ (Dual power) ที่ท้าทายกับอำนาจรัฐเดิม
ในกรณีสังคมไทย ได้เกิดสถานการณ์ปฏิวัติของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้งแล้วในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์โค่นรัฐบาลทักษิณปี 2549 บทเรียนของทุกครั้งคือ ปัญญาชนล้มเหลวที่จะนำพาประชาชนจัดตั้งองค์กรของตนเองในรูปแบบของสภาประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง และขาดการตระเตรียมข้อเสนอหรือเค้าโครงการเพื่อเข้าแทนที่อำนาจรัฐเดิม ตรงกันข้ามกลับหวังพึ่งพิงอำนาจอื่นๆ เรื่อยมา ซึ่งที่สุดก็กลายเป็นการกระทำแทนประชาชน โดยอำนาจหลุดมือไปจากประชาชนไปสู่กลุ่มทุนครั้งแล้วครั้งเล่า
สภาประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ และเค้าโครงการ คือ การใช้ประชาธิปไตยทางตรงที่เปิดโอกาสให้ประชาชนจัดตั้งตนเองเป็นกลุ่ม อย่างกว้างขวาง และเลือกตั้งผู้แทนของกลุ่มตนมาร่วมใช้อำนาจ และสามารถถอดถอนได้ทุกเมื่อหากผู้แทนนั้นไม่อาจทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูก ต้องเหมาะสม การใช้อำนาจในการพัฒนาสังคมย่อมเป็นการร่วมกันพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของ การใช้ทรัพยากรในการผลิต และการบริโภคโดยพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นธรรม
หากนี่คือยุทธศาสตร์การต่อสู้ ในหนทางระยะผ่านที่ไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว ขบวนการภาคประชาชนจำเป็นที่จะต้องสะสมชัยชนะจากการต่อสู้ในกรณีต่างๆ และในหลายกรณีที่การเคลื่อนไหวต่อสู้นั้นย่อมมีโอกาสที่จะต้องพึ่งพาอาศัย แนวร่วม มาช่วยให้เกิดชัยชนะ บทเรียนสำคัญคือ เราควรกระทำสิ่งนี้โดยสามารถรักษาความเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองของเราไว้ให้ได้ โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน และยุทธศาสตร์การต่อสู้ไว้ให้มั่นคง เพื่ออาศัยสิ่งเหล่านี้มายกระดับและจัดตั้งมวลชนให้เข้มแข็ง กล่าวคือ ให้มวลชนได้เห็นข้อจำกัดของแนวร่วมเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยแตกหักกับมายาคติที่หวังพึ่งพิงนักการ เมือง การเลือกตั้ง กองทัพ การปฏิรูปประเทศ หรือการประนีประนอมทางชนชั้น เพื่อตัดตรงไปสู่การต่อสู้เพื่อสะสมชัยชนะและยกระดับจิตสำนึกของมวลชนที่แตก ต่างหลากหลายให้เป็นเอกภาพ และทำการต่อสู้เพื่ออำนาจของพวกเขาอย่างแท้จริง
การถอดบทเรียนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อความคิดตกผลึกอย่างชัดเจนและหนักแน่น พวกเราจะสามารถเชิดหน้ายืดอก ก้าวเดินสู่สนามการต่อสู้ได้อย่างองอาจ เชื่อมโยงการทำงานเคลื่อนไหว งานจัดตั้ง และงานกลุ่มศึกษาได้อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสร้างขบวนการภาคประชาชนที่เป็น อิสระ ที่สำคัญยิ่งคือ เราจะได้ไม่ทำผิดซ้ำสองอีกในภายภาคหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น