Wed, 2011-01-05 16:58
พสุภา ชินวรโสภาค
http://teenpath.net/content.asp?ID=13172
เมื่อวาน ฉันดูหนังเรื่องAt First Sight เกี่ยวกับชายตาบอดที่ทำงานเป็นหมอนวด และอาศัยอยู่กับพี่สาว ฉันดูไปเรื่อยๆ คิดในใจว่าก็คงคล้ายๆ กับเรื่องคนตาบอดที่ฉันพอรู้ๆ มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการบอกตำแหน่งสิ่งของโดยเฉพาะเรื่องอาหาร ที่ใช้ตำแหน่งตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา หรือการที่พระเอก “ฟัง” ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา แล้วใช้คำว่า “ดู”
ฉันนึกกระหยิ่มใจว่า ฉัน “เข้าใจ” หนังและคนตาบอดดีเลยทีเดียว จากประสบการณ์ทำงานกับนิทรรศการบทเรียนในความมืด Dialogue in the Dark มิฉะนั้นระหว่างดูหนังฉันคงตั้งคำถามว่า ทำไมถึงใช้คำว่า “ดู” ไม่ใช่ “ฟัง” และคงแปลกใจว่าทำไมจึงเทียบตำแหน่งสิ่งของกับหน้าปัดนาฬิกา
ฉันมาสะดุดตรงที่เมื่อพระเอกเข้ารับการผ่าตัดตาและเริ่มมองเห็น เรื่องราวต่อจากนั้น ฉันไม่เคยนึกมาก่อน
ฉันเคยนึกว่า เมื่อเขามองเห็น เขาก็จะรู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนอย่างที่เราเห็นและรู้โดยอัตโนมัติ ฉันไม่เคยนึกถึง “ขั้นตอน” ที่ตารับภาพ แล้วส่งไปยังสมอง สมองรับภาพแล้วบอกว่ามันคืออะไร เพราะขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาเพียงเสี้ยวของเสี้ยววินาที เหมือนเห็นปุ๊บ รู้ปั๊บ แต่เรื่องจริงๆ มันซับซ้อนมากกว่านั้น
เมื่อลืมตา เมื่อเห็นแสง เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างพุ่งเข้ามาใส่ เหมือนอยู่ในโลกใหม่ ฉันอยากจะเปรียบเทียบกับห้วงเวลาที่ทารกออกมาจากท้องแม่ เห็นแสงแรก และไม่รู้จักอะไรเลย ค่อยๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คนตาบอดก็เรียนรู้สิ่งใหม่เช่นกัน แต่เรียนรู้โดยรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยเห็น
เห็นแอปเปิ้ล ก็ไม่รู้ว่าเป็นแอปเปิ้ล ต้องจับ ต้องดม ถึงจะรู้ เมื่อรู้ว่าเป็นแอปเปิ้ลแล้ว ถ้าเห็นภาพแอปเปิ้ลกับผลแอปเปิ้ลก็ไม่รู้ว่า อันไหนเป็นของจริง อันไหนเป็นภาพ ไม่รู้จักระยะใกล้-ไกล มิติของสิ่งของ สีหน้า ท่าทาง สิ่งของรอบข้าง รวมทั้งวัฒนธรรมที่ใช้ตามองเห็น ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด
ฉันเองก็เคยเจอประสบการณ์คล้ายๆ แบบนี้ ฉันเคยทำงานในร้านขายเสื้อ หน้าที่หลักคือพับเสื้อ อยู่มาวันหนึ่ง มีลูกค้าถือเสื้อมา ๑ ตัว แล้วถามหา “เมียร์” (ที่จริงลูกค้าพูดว่า “เมียร์เออะ” แต่เสียง “เออะ” เบามากจนแทบไม่ได้ยิน) ฉันถามกลับว่า อะไรนะ เค้าก็บอกว่า “เมียร์” ฉันหยุดนึก และเป็นครั้งแรกที่รับรู้ถึงกระบวนการ “ประมวลผล” ในสมองเพื่อหาความหมายของคำว่า “เมียร์” ที่เกี่ยวข้องกับเสื้อ กางเกง หมวก ผ้าพันคอ ถุงเท้า แต่ปรากฏว่าฉันไม่มีคำนี้ในสมอง และพบว่าไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน
คุณแหม่มคนนั้นคงเห็นว่า ฉันคงไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยเดินไปหาเอง และเธอไปหยุดอยู่ที่หน้ากระจก ฉันรู้ในทันใดนั่นเองว่า “เมียร์” ของคุณแหม่มก็คือ “มิร์เรอร์” ที่ฉันรู้จัก
ในชีวิตฉันก่อนถึงวันนั้น ไม่เคยมีคำว่า “เมียร์” (mirror) อยู่ในสมอง ที่มีคือ “มิร์เรอร์” คำสองพยางค์ออกเสียงชัดถ้อยชัดคำ
หนังเรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงการประชิดและพื้นที่ทับซ้อน ถ้าคุณเคยเรียนเลข ฉันก็อยากจะเปรียบเทียบกับเรื่องเซท ว่าเป็นส่วนของ intersection คือพื้นที่ส่วนของวงกลมที่ซ้อนกัน เอาง่ายๆ เปรียบเทียบกับโลโก้ของช่อง ๗ สีทีวีเพื่อคุณ วงกลม ๓ วง ซ้อนกัน ส่วนตรงกลางที่ซ้อนกัน คือพื้นที่ทับซ้อน ฉันรู้เรื่องเซท คุณก็รู้เรื่องเซท เรารู้เรื่องเซทเหมือนกัน
กลับมาเรื่องคนตาบอด ก่อนหน้าที่ฉันจะได้ทำงานกับนิทรรศการบทเรียนในความมืด ฉันคิดว่าขอบเขตที่ฉันรู้จักคนตาบอดเป็นเพียงแค่จุด ๑ จุดที่เส้นรอบวงของฉันกับวงกลมของคนตาบอดแตะกัน หรืออยู่ใกล้ๆ กันเท่านั้น ฉันเคยเห็นคนตาบอด คนตาบอดถือไม้เท้า คนตาบอดร้องเพลงขอเงิน คนตาบอดขายลอตเตอรี่ จะว่าไปก็ไม่น่าจะใกล้กันมาก คงห่างไกลกันพอสมควร ถ้ารู้เพียงแค่นี้
ส่วนเรื่องในหนังที่ฉันกระหยิ่มใจว่า “เข้าใจ” ดีก็เป็นเพียงพื้นที่ทับซ้อนเสี้ยวหนึ่งของ ๒ วงกลมใน ๓ มิติเท่านั้น ที่เผอิญฉายเรื่องราวทับซ้อนกับส่วนที่ฉันมีประสบการณ์ แต่ยังมีอีกหลายด้านหลายมุมนักที่ฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่กลับคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่าง และตัดสินตัวเองว่าเป็น “ผู้รู้”
ขอโยงเรื่องนี้กับเรื่องท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น
ข่าวชิ้นส่วนทารก ๒,๐๐๒ ร่างเป็นโอกาสให้นักวิชาการ หรือ“ผู้รู้” หลายท่านออกมาแสดงวิสัยทัศน์ กว้างบ้าง แคบบ้าง มีบ้าง ไม่มีบ้าง ตามแต่ระดับกระบวนการประมวลผลทางสมองและสติปัญญา ประเด็นที่น่าสนใจ คือการทำแท้งเสรีเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ส่งเสริมให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ท้องขึ้นมาก็ไปทำแท้งได้สบายๆ
รายการ “เจาะข่าวตื้น” ของจอห์น วิญญู ก็พูดประเด็นเดียวกัน เล่าอย่างสนุกสนานแต่น่าคิดมากกว่าว่า การทำแท้งไม่ใช่เรื่องสนุก ไม่ใช่การไปเที่ยว ที่ท้องแล้วดีใจจะได้ไปทำแท้ง แค่ไปหาหมอตรวจริดสีดวงยังเจ็บ แต่นี่ไปทำแท้ง ไปขูดผนังมดลูก ใครมันอยากจะท้องเพื่อที่จะได้หาโอกาสได้ไปทำแท้ง วิสัยทัศน์ของ “ผู้รู้” ที่พูดเรื่องนี้เป็นการแสดงความสูงส่งทางภูมิปัญญาโดยไร้สติเป็นอย่างยิ่ง
ฉันจึงอยากโยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน
๑. เรา “คิดว่า” เรา “รู้” ซึ่งอาจจะรู้จริง แต่ “รู้” นิด(ส์)เดียว เหมือนอย่างที่ฉันรู้เรื่องคนตาบอด แล้วคิดเองว่า ฉัน “รู้จัก” คนตาบอดดี เพราะเผอิญหนังเอาแง่มุมที่ฉันรู้มาฉาย แต่หนังก็สอนฉันในคราวเดียวกันว่า เธอ“รู้” นิด(ส์)เดียวเท่านั้น มีอะไรอีกเยอะแยะที่เธอไม่รู้ อย่าได้ทะนงตัวไป
เรื่องนี้สอนว่า อย่าคิดเหมารวมว่ารู้แค่นิดเดียวคือรู้ทั้งหมด ใครรู้เข้าจะอายเค้า ทำตัวเล็กๆ เข้าไว้ ในโลกนี้มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ คนเราจริงๆ ตัวเล็กไม่ต่างจากมดหรอก เราเห็นมดตัวเล็กแค่ไหน เราก็แค่นั้นแหละ และจะเล็กยิ่งกว่าผงธุลี เมื่อมองจากนอกโลกจากอวกาศ
๒. สิ่งเดียวกัน เราและคนอื่นรู้ไม่เหมือนกัน “เมียร์” กับ “มิร์เรอร์” คือกระจกเหมือนกัน คุณแหม่มเรียกอย่างหนึ่ง ฉันเรียกอีกอย่าง อันนี้คือการรับรู้ไม่เหมือนกัน เธอและโลกของเธอเรียกว่า “เมียร์” คุณครูของฉันสอนว่า “มิร์เรอร์” และสังคมของฉันก็เรียกกันว่า “มิร์เรอร์” หาใช่ “เมียร์” ไม่
อันนี้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่รู้ไม่เหมือนกัน เพราะประสบการณ์ไม่เหมือนกัน คุณแหม่มไม่ผิด ฉันก็ไม่ผิด เพียงแต่เราออกเสียงไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง
๓. กระจกเงาในข้อ ๒. สะท้อนการมองเรื่องการทำแท้งของสังคมไทย ฉันไม่รู้ว่าวงกลมของนักวิชาการ หรือ “ผู้รู้” กับวงกลมของคนทำแท้งมีพื้นที่ทับซ้อนกันแค่ไหน เป็นวงกลม ๒ วงที่อยู่ไกลกันคนละซีกโลก หรืออยู่ใกล้ๆ กัน แตะกัน ๑ จุด หรือทับซ้อนกันบางส่วน หรือซ้อนกันอย่างสมบูรณ์ไม่มีช่องว่าง ราวกับไปนั่งในใจของคนทำแท้ง
“ผู้รู้” จึงพูดราวกับว่า “รู้” จริงๆ ถึงออกมาบอกว่า การทำแท้งเสรีจะทำให้วัยรุ่นท้องมากขึ้น และไปทำแท้งมากขึ้น ราวกับว่าการทำแท้งคือการเล่นเกมฟาร์มวิลล์ ทำแท้ง ๑ ครั้งเท่ากับปลูกสตรอเบอร์รี่ ๑ แปลง ได้คะแนนเพิ่มขึ้น ๑ คะแนน ทำแท้งหลายครั้งคะแนนก็เพิ่มขึ้นหลายคะแนน ยิ่งเล่น ยิ่งทำแท้ง ยิ่งสนุก ได้เลื่อนระดับสูงขึ้น ชนะเพื่อน
สิ่งที่คนไม่พร้อมจะท้องเจอเมื่อรู้ว่าตัวเองท้อง ใครไม่เจอคงไม่รู้ และไม่มีวันเข้าใจ ถ้า “ผู้รู้” ไม่เคยมีประสบการณ์ด้วยตัวเองก็ไม่น่าจะ “รู้” จริง เมื่อ “ไม่รู้” แต่อยากเป็น “ผู้รู้” อยากพูด อยากแสดงวิสัยทัศน์ภูมิปัญญาก็เลยได้แต่กล่าวโทษคนทำแท้งจากแง่มุมอื่น เช่น สังคมเสื่อมโทรม วัยรุ่นรับวัฒนธรรมตะวันตก สื่อชักนำ หรือเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ การทำแท้งคือการทำลายชีวิต คือการฆ่าเด็กบริสุทธิ์ที่กำลังจะมาเกิด เป็นบาปใหญ่หลวงนัก ไม่สามารถชดใช้ด้วยการทำบุญใดๆ วิญญาณเด็กจะเกาะกิน ทำอะไรก็ไม่เจริญ ปวดไหล่ ปวดหลังตลอดเวลาโดยหาสาเหตุไม่ได้ ฯลฯ อันนี้คือวงกลมอยู่ไกลกันคนละซีกโลก ไม่เกี่ยวกัน ไม่ช่วยแก้ปัญหา และเข้าข่าย “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ”
วงกลมอยู่ใกล้ๆ กัน หรือแตะกัน ๑ จุด ก็ไม่รู้หรอกว่าปัญหาที่แท้จริงที่คนท้องไม่พร้อมเจอคืออะไร แต่พร้อมเข้าใจ ช่วยแนะนำทางเลือกต่างๆ ให้ ไม่ซ้ำเติม เพราะการซ้ำเติมคือการผลักวงกลมน้อยให้ออกไปไกล หลุดวงโคจร อยู่ไกลกันคนละซีกโลก วงกลมอยู่ใกล้ๆ กัน หรือแตะกัน ๑ จุด ให้ความอุ่นใจ ให้ความรู้ ชี้ให้เห็นทางเลือก และสิ่งที่จะตามมาจากทางเลือกนั้นๆ แล้วให้วงกลมน้อยตัดสินใจเอง
ส่วนพื้นที่ทับซ้อนกัน ก็ปล่อยให้คนท้องไม่พร้อมกับคนทำให้ท้อง ตัดสินใจกันเองว่าจะเลือกทางใด การทำแท้งก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่วงกลมน้อยเลือกแล้ว เลือกโดยรู้ว่าอะไรจะตามมา เลือกเพราะรู้ว่าสถานการณ์ที่ตัวเองเจอ และกำลังจะเจอไม่มีทางเลือกอื่นให้เลือก การตัดสินใจที่ดีที่สุด คือการตัดสินใจด้วยเจ้าตัวเอง โดยที่มีข้อมูลครบถ้วน คนไม่เกี่ยวก็ควรออกไปอยู่ห่างๆ และไม่ควร... จริงๆ แล้ว... ไม่มีแม้สิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่า สิ่งที่เขาเลือกนั้นผิดหรือไม่
เพราะเรื่องจริง ชีวิตจริง มันซับซ้อนนัก เราไม่ “รู้” เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกของเขา และเราก็ไม่รู้ว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวอย่างเขา เราจะตัดสินใจอย่างไร เราจะยืนยันเป็น “คนดี” ในสังคมเมืองพุทธ หรือเราจะตัดสินใจอย่างเขา
เราทุกคนต่างก็มีวงกลมของตัวเองก็ต้องเลือกบทบาทกันเองว่า จะเป็นวงกลมที่ประชิด หรือมีพื้นที่ทับซ้อน กับวงกลมอื่น แค่ไหน อย่างไร
ฉันคงเลือกเป็นวงกลมอยู่ใกล้ๆ หรือแตะกัน ๑ จุด ยอมรับว่า เรารู้บางเรื่องเท่านั้น ไม่ได้รู้ดีไปหมดทุกเรื่อง ยอมลดขนาดตัวเราลง ตัวเล็กกว่า สบายกว่า ไม่อึดอัดเมื่อเข้าไปในที่ต่างๆ สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งที่รู้แล้วในแง่มุมอื่นและที่ยังไม่รู้ ไม่ต้องกลายเป็นเป้าเหมือนคนตัวใหญ่ เดี๋ยวคนจะหาว่ารู้ก็รู้ไม่จริง แล้วยังจะอยากเป็นผู้รู้ หรือใหญ่แต่ตัว สมองไม่ได้ใหญ่ไปด้วยเลย
กระจกเงา คนท้อง และเรื่องของคนตาบอดที่ไม่เกี่ยวกัน แต่สามารถสร้างบทเรียนให้ฉันได้อีก ๑ บทเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น