Sat, 2011-01-08 23:02
วันรัก สุวรรณวัฒนา
ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติได้ เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น “เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ” งานวันเด็กแห่งชาติจึงได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปีนั้นภายใต้รัฐบาลของจอม พล ป. พิบูลสงคราม
นับแต่นั้นมา “วันเด็กเพื่อเด็ก” ได้ผ่านการดัดแปลงและปรุงรสเสียใหม่ ทั้งกรอบคิดและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างตามอุดมการณ์ความเชื่อของรัฐในแต่ละยุค สมัย จวบจนปัจจุบัน งานวันเด็กถูกทำให้เป็นหนึ่งใน “ภารกิจ” หลักของภาครัฐ โดยดึงและผนวกเด็กและเยาวชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้เล่น” ทางการเมืองอย่างเต็มตัว
วันเด็กแห่งชาติคือวันที่รัฐไทยประกอบพิธีศีลจุ่มรับเด็กๆเข้าเป็นสาวก ลัทธิ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสถาบันหรือสื่อกลางใดๆ
แต่ละปี หน่วยงานต่างๆต้องระดมทั้งกำลังพลและกำลังสมองในการจัดกิจกรรมหลากหลาย รวมถึงการผลิตประดิษฐกรรมทางความคิดที่แยบยล ไม่ว่าจะเป็น เพลงเพื่อเด็ก คำขวัญวันเด็ก รวมถึง หนังสือวันเด็กแห่งชาติ
“หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นหนังสือที่ระลึกในวันเด็กแห่งชาติของทุกปี และจัดจำหน่ายผ่านช่องทางของกระทรวงศึกษาธิการไปยังโรงเรียนในกำกับทุก โรงเรียน
“เด็กของเรา” เป็น “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” ฉบับแรกซึ่งพิมพ์ขึ้นในปีพ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ “เผยแพร่ความรู้แก่ผู้ใหญ่ในการอบรมเด็ก มีเจตนาให้ผู้ใหญ่เข้าถึงธรรมชาติของเด็ก มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์และผู้มีหน้าที่ดูแลเด็ก” เนื้อหาในเล่มนี้จึงมีลักษณะทางการแพทย์ค่อนข้างสูงและมีกลุ่มเป้าหมายคือ “ผู้ใหญ่” ไม่ใช่ “เด็ก”
ในปีต่อๆมา ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมจุดมุ่งหมายในการจัดทำหนังสือฯ “เพื่อให้เด็กได้รับสาระความรู้และความเพลิดเพลินจากการอ่าน มีความภาคภูมิใจต่อตนเอง เห็นความสำคัญของวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งสังคมและประเทศชาติให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมเด็กและเยาวชนของ ไทย โดยการอบรมบ่มเพาะขัดเกลาเด็กไทยให้มีนิสัยและคุณลักษณะที่ดีงามประจำตน ได้แก่ มีวินัย ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ และปลูกฝังให้รักและยึดมั่นในชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขจุดมุ่ง หมายโดยให้ความสำคัญกับ “เด็ก” มากขึ้น หากพิจารณาอย่างแท้จริงแล้ว เราจะมองเห็นว่า สำหรับรัฐไทย กรอบคิดว่าด้วยเรื่อง “เด็ก” ที่เป็นฐานรองรับกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติทั้งหลาย รวมถึง “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” ด้วยนั้น มิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด หากแต่มีความคงเส้นคงวาไม่ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยเกือบ 50 ปี และไม่ว่าเราจะเปลี่ยนระบอบการปกครองจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยแบบขาดๆเกินๆ ก็ตาม
ตรงข้ามกับความเชื่อและการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆว่าวันเด็กคือ “วันเพื่อเด็ก” เราไม่ได้จัดงานวันเด็กให้กับ “เด็ก” ในฐานะที่พวกเขาเป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่งในสังคมที่มีความต้องการของตนเองที่ ซับซ้อนและหลากหลาย หรือในฐานะที่พวกเขาเป็น “เด็ก” ณ เวลา “ปัจจุบัน”
แต่เราจัดงานวันเด็กให้กับ “เด็ก” ในฐานะที่พวกเขา “จะ” กลายเป็น “ผู้ใหญ่” ใน “อนาคต”, เราไม่ได้สนใจเด็กในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในสภาพที่เป็น “เด็ก” แต่เราสนใจพวกเขาในฐานะที่พวกเขา “จะ” เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อนทางการเมืองที่เรียกว่า “ราษฎรไทย” ในอนาคต
และเมื่อเราเริ่มต้นจากกรอบคิดเช่นนี้ เราก็จะไม่สนใจอย่างแท้จริงที่จะรับรู้ความต้องการหรือข้อเรียกร้องใดๆของ พวกเขา แต่เราจะยัดเยียดความต้องการและข้อเรียกร้องของ “ผู้ใหญ่” ให้กับพวกเขา
ดังนั้น ในโอกาสวันเด็กของทุกปี เราก็จะได้ยิน ได้เห็นและได้อ่านข้อเรียกร้องจากผู้ใหญ่ว่า เด็กควรจะเป็นอย่างไร ควรจะยึดมั่นในสิ่งใด ควรเชื่อสิ่งใด ควรถูก “ปลูกฝัง” อะไร
แท้จริงแล้วนั้น เราไม่เคยเคารพในสิทธิความเป็นเด็ก ราวกับว่าไม่เคยมี “เด็ก” อยู่ในกิจกรรมใดๆทั้งสิ้นใน “วันเด็ก”
ดังนั้น เช่นเดียวกับกิจกรรมต่างๆในวันเด็ก เนื้อหาที่ปรากฎอยู่ใน “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรื่องสั้น สารคดี การ์ตูนและบทกลอนต่างๆ จึงสะท้อนกรอบคิดนี้อย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากนี้ ยังผนวกรวมแนวคิดเรื่องการ “ปลูกฝัง” ให้เชื่อและยึดมั่นในชุดความคิดทางการเมือง จารีตและศีลธรรมชุดหนึ่งเพียงชุดเดียว
มโนทัศน์ทางสังคมและศีลธรรมที่ถูกถ่ายทอดไปสู่เด็กเป็นมโนทัศน์ที่แน่ นิ่งอยู่กับที่ ขาดความเข้าใจในสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนและตัดขาดจากบริบทร่วมสมัย เป็นภาพอุดมคติโรแมนติกแนวโหยหาอดีตที่สวยหรู แต่ละเลยข้อเท็จจริงทางประสบการณ์ของตัวเด็กเองที่หลากหลายและซับซ้อน
เด็กไทยในวันนี้เติบโตขึ้นท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองที่เต็มไป ด้วยความขัดแย้งและเหลื่อมล้ำ พ่อแม่เลี้ยงดูพวกเขาภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ความยุติธรรมไม่ได้มีให้กับ ทุกคนเท่าๆกัน การทำสังคมสงเคราะห์หรือการทำความดีอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาเชิง โครงสร้างที่ยิ่งใหญ่เหนือปัจเจกชนธรรมดา
ในแง่นี้ “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มแรกๆในประสบการณ์การอ่านของพวกเขาควรจะมีหน้าที่ ในการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาอย่างรู้เท่าทันสภาพสังคมที่วุ่นวายและไม่สวยหรู ให้พวกเขามีทักษะในการรับมือกับความไม่สมบูรณ์แบบของสังคมการเมือง และสร้างทัศนคติที่เปิดกว้างอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง
หาก “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” นี้ไม่สามารถปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับประสบการณ์จริงของเด็กไทยในปีพ.ศ. 2554 ได้ หนังสือชุดนี้ก็จะเป็นได้เพียง แค่ “หนังสือเทศนาสั่งสอนคติธรรม” อันคับแคบและไร้จินตนาการ เพื่อนำขึ้นประดับหิ้งให้เป็น “มรดก” ทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า หรือเป็นได้เพียงแค่ตำราอาขยานเพื่อท่องจำ เฉกเช่น “คำขวัญวันเด็ก” ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเด็กทุกคนจำได้ขึ้นใจ (เพื่อเป็นประโยชน์ในการสอบปลายภาค) แต่ไม่มีใครเข้าใจและรับรู้ความหมายอย่างแท้จริง ทั้งยังไม่สามารถปฎิบัติได้ในความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เพราะกรอบทางความคิดและกลไกทางกฎหมายที่คับแคบของสังคมไทยบีบรัดให้ผู้ใหญ่ เหล่านี้ต้องคงสภาพความเป็นเด็กที่จำต้องเชื่อฟังผู้ปกครอง เป็นลูกแกะที่เดินตามก้นกันไปภายในคอกใหญ่คอกเดียวกัน
ในความเป็นจริงนั้น “หนังสือวันเด็กแห่งชาติ” นี้ นอกเหนือจากการเป็นผลงานชั้นยอดของหน่วยงานภาครัฐในการสร้างความชอบธรรมให้ กับการของบประมาณในแต่ละปีแล้ว ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญใน “กระบวนการสร้างวาทกรรม” ชุดหนึ่งเพื่อใช้ในการโอบอุ้มโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เป็นอยู่ (status quo)
การพยายามปลูกฝังอุดมการณ์ด้วยการผูกขาดพื้นที่ทางความคิด ผ่านช่องทางและกลไกต่างๆของรัฐ เป็นสิ่งที่ไม่แปลกประหลาดใดๆ เพราะดูเหมือนว่ารัฐไทยไม่สามารถทำสิ่งที่สร้างสรรค์และก้าวหน้าได้ แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ในโอกาสวันเด็กนี้ วันที่ควรจะมีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง (empower) ให้กับจินตนาการและความสร้างสรรค์ของเด็ก “การอ่านในวัยเยาว์” ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญทางปัญญา เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ควรจะต้องนำไปสู่การตั้งคำถาม การสั่นสะเทือนความเชื่อและการวิพากษ์วิจารณ์นั้น อาจจะกลายเป็นเครื่องมือทำลายล้างทั้งตัว “การอ่าน” เองและตัว “เด็กไทย” เอง โดยที่ผู้กระทำ ซึ่งคือพ่อแม่และรัฐ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น