คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง กษัตริย์ชิงออสการ์
โดย กาหลิบ
คน ที่ชอบดูหนังทั่วโลกคงจะรู้จักรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า รางวัลออสการ์ เป็นอย่างดี เมื่อวานนี้สถาบันผู้จัดได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์และบุคคลที่ได้เข้ารอบสุด ท้ายประจำปีล่าสุดนี้อย่างระทึกใจ ปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่อง “The King’s Speech” ซึ่งเป็นผลงานจากอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ ๑๒ รางวัล และผู้แสดงนำฝ่ายชายคือ โคลิน เฟิร์ธ ก็ได้รับการคาดหมายว่าน่าจะคว้ารางวัลผู้แสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมมาครอง วันประกาศรางวัลคือ ๒๗ กุมภาพันธ์ปีนี้
ใครจะได้หรือไม่ได้อย่างไร เราคงไม่ได้นำมาพูดกันตรงนี้เพราะไม่ใช่เรื่อง แต่สิ่งที่น่าสะดุดใจเป็นที่สุดเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อมาก ที่สุดเรื่องนี้ คือความที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษโดยตรง และเป็นเสี้ยวหนึ่งจากประวัติศาสตร์จริงของ “พระราชบิดา” คือพระเจ้าจอร์ชที่ ๖ ผู้เป็นพระราชบิดาและเป็นกษัตริย์องค์ก่อนสมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ ๒ ผู้ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน
เรื่องที่นำมาสร้างมีพื้นฐานจากความจริง และเรื่องที่นำมาเสนอนั้นก็มิใช่เรื่องบวก ถึงจะลงท้ายดีแบบที่เรียกว่า happy ending ก็ตาม
หนัง เรื่องนี้เล่าถึงกษัตริย์องค์หนึ่งของอังกฤษ ผู้เกือบจะไม่ได้ขึ้นครองราชย์และเกือบถูกปลดจากกษัตริย์ เพราะปัญหาความทุพพลภาพทางร่างกายอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นคนพูดติดอ่าง
ผู้ กำกับภาพยนตร์คือ ทอม ฮูเปอร์ เล่าเรื่องที่ออกจะประหลาดนี้อย่างน่าทึ่ง เรื่องง่ายๆ แต่ชวนให้เราติดตามได้อย่างระทึกใจ และร่วมลุ้นไปกับ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” ตลอดเรื่อง เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ใส่เข้ามาอย่างพอเหมาะพอดีจนออกมาเป็นหนังประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์ที่ น่าติดตาม อารมณ์ขันก็ไม่ล้ำเส้น และความนับถือในโบราณราชประเพณีก็ยังดำรงอยู่ท่ามกลางอารมณ์ขันและรอยยิ้ม นั้น
รายละเอียดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ขอไม่เล่า แต่แนะนำให้ท่านที่สนใจไปหาชมกันเอาเอง
ดู หนังเรื่อง “The King’s Speech” แล้ว สิ่งที่วิ่งตรงเข้ามาสู่ความรู้สึกนึกคิดคือ ประเทศอารยะที่เขายังคงรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้เป็นศรีแก่บ้านเมืองนั้น เขานำเรื่องของสถาบันนี้มาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ตลอดและอย่างกว้างขวาง
ผล การวิจารณ์ดังกล่าวแทนที่จะเป็นการ “หมิ่น” หรือทำให้เกิด “ระคายเคือง” กลับทำให้คนทั่วไปมองเห็นความงามของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ควรเป็น
นั่นคือเป็นความธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
พระ เจ้าจอร์ชที่ ๖ เป็นคนธรรมดาที่ต้องทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ เมื่อติดอ่าง ก็รู้สึกทุกข์ร้อนและต้องแสวงหาทางที่จะพูดได้อย่างปกติ เพื่อทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ เหมือนคนธรรมดาๆ ที่ต้องหาทางดับทุกข์ของตนเองไม่ว่าจะทุกข์เล็กหรือใหญ่
การต่อสู้ กับตัวเองด้วยหัวใจที่ถูกสั่งสอนให้อดทนมากเป็นพิเศษ ซึ่งบางคนอาจเรียกให้สวยหรูว่า “ขัตติยะมานะ” ก็เป็นบทเรียนสำหรับคนธรรมดาเดินดินผู้มิใช่เทพ มิใช่พรหม ไม่มีอำนาจจะไปไล่ล่าฆ่าฟันราษฎรที่ไหน
แต่เป็นผู้ใช้ความพยายามอย่างสูงส่ง ให้ได้รับความรักใคร่นับถือ และความยอมรับอย่างแท้จริงจากประชาชนของตนเอง
บทบาท ที่แสดงออกต่อสังคมก็เป็นการรักษาไว้ซึ่งครรลองทางวัฒนธรรมและสังคมของชาติ โดยเอาตัวเองและครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนทั้งชาติเขาอยากประพฤติ ปฏิบัติตาม บทบาทใดๆ ที่คนเขาลงความเห็นทั่วกันว่าชั่วว่าเลวก็อย่าเฉียดกรายเข้าไปใกล้
สิ่ง ที่ได้เห็นจากภาพยนตร์เรื่อง “The King’s Speech” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของทุกสังคมที่กำลังดูสถาบันพระมหากษัตริย์ของตน เองอย่างพินิจพิเคราะห์และประเมินค่า ในข้อที่ว่า จะรักษาเอาไว้ให้งามอย่างไรในพุทธศักราชนี้
อย่ามาพูดกันง่ายๆ ว่าของฉันเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ไม่อย่างนั้นจะยื่นหน้าไปรับอินเตอร์เน็ต 3G เทคโนโลยีดิจิตอล และความก้าวหน้าอื่นๆ ของโลกหาพระแสงอันใด
ดูหนังเรื่องนี้ แล้วลองคิดใคร่ครวญให้ดีว่า ระหว่างการไล่ฆ่า-จับติดคุก และการเปิดรับความรู้สึกของสังคมอย่างคนใจสูง วิธีใดจะรักษาสถาบันไว้ได้ดีกว่ากัน
แต่ก็อย่างว่า... คนที่ “หลง” ขนาดเห็นว่าราษฎรมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าสัตว์เลี้ยงของตน ดูสิบรอบก็คงดักดานเท่าเดิม.
http://www.democracy100percent.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น