รุ่น น้องผมที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่เอาใจช่วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (มิกล้าเรียกว่าสองไม่เอา อิอิ) บ่นทันทีที่เจอหน้ากันวันจันทร์ว่า “เสียของ” เพราะมวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมกันล้นหลามถึง 3 หมื่นกว่าคน แต่กลับลงเอยด้วยการโฟนอินของทักษิณ
โอเค ผมเข้าใจดีว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้เจตนาจะมาฟังทักษิณโฟนอิน มีทักษิณหรือไม่มีเขาก็มา ในทางตรงข้าม น่าจะเป็นทักษิณต่างหากที่กลัวตกกระแส จนต้องต่อสายมาโฟนอิน
แต่เรื่องนี้ต้องตำหนิแกนนำ ที่ไม่มีความชัดเจนในแง่เป้าหมายของการเคลื่อนไหว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ และยังไร้ทิศทางเช่นเคย แบบใครใคร่พูดพูด ไม่คิดว่าจะได้อานิสงส์ส่งผลดีผลเสียอย่างไร
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ต้องห้ามยุ่งห้ามเกี่ยว เราไม่อาจปฏิเสธว่าทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ต่างฝ่ายต่างต้องจัดบทบาทที่เหมาะสม ทักษิณควรอยู่ในบทบาทผู้สนับสนุน หรือเดินสายรณรงค์ต่างประเทศ ปล่อยให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ถ้ามัวแต่เลอะเทอะปนเปื้อนกันไปมาก็มีแต่ผลลบ
ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องทักษิณไม่ทักษิณ แต่มันเป็นเรื่องที่ขบวนเสื้อแดงยังไม่รู้ว่ากรูมีเป้าหมายอะไร มาชุมนุมเพื่ออะไร รู้แต่ว่านัดกันมาชุมนุม เดือนละ 2 ครั้ง
แน่นอน เราต้องแยกแยะทีละด้าน ในส่วนของมวลชน เราได้เห็นความเข้มแข็ง พร้อมเพรียง “ใจถึง” แบบกรูไม่กลัวเมริง แสดงพลังว่าพร้อมจะสู้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์ชน” ถึงที่สุด
แต่ในส่วนของแกนนำ เห็นชัดเจนว่ายังไม่รู้เลยว่าจะนำมวลชนไปทางไหน การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องการอะไร และจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไร
การชุมนุมครั้งหน้า 23 ม.ค.เชื่อได้ว่า มวลชนจะมาอีก และมาเยอะกว่านี้ แต่ถ้ามีความก้าวหน้าแค่ทักษิณโฟนอินในระบบ 3D ก็เสียของ เสียแรง และนานไปจะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี
หลังการชุมนุมเสื้อแดง วันถัดมาก็มีสมาคมผู้ค้าราชประสงค์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาพื้นที่ให้ชุมนุม โดยไม่สร้างความเสียหายกับผู้ค้า (ซึ่งมีความ “ก้าวหน้า” อย่างน่าประหลาดใจ รู้จักเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ)
ดูข่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับข่าวชาวสระแก้วออกมาคัดค้าน “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นสาขาพันธมิตรฯ แปลงร่าง จะไปประท้วงเขมรให้ปล่อย 7 คนไทยและยกเลิก MOU ปี 43
เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าอย่ามาม็อบอีกเลย เดี๋ยวคนกรุงคนชั้นกลางเดือดร้อนแล้วจะถูกต่อต้าน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนว่า ระบอบอภิสิทธิ์ชนกำลังขี่กระแสรักสงบแบบไทยๆ โดดเดี่ยวทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกไปอยู่ด้านข้าง
ภายหลังจาก “นวด” กันมา 5 ปีเศษ ระบอบอภิสิทธิ์ชนใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมทั้ง “ลูกเสือชาวบ้านยุคใหม่” เป็นเครื่องมือ ให้ท้ายยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ด้วยอารมณ์จากเสื้อแดง ยึดอนุสาวรีย์ชัย ยึดราชประสงค์ พันธมิตรตายไปสิบกว่าศพ เสื้อแดงตายไปเกือบแปดสิบ
สุดท้าย ระบอบอภิสิทธิ์ชนก็ฉวยกระแสความเบื่อหน่าย “อยากให้จบๆ เสียที จะได้ทำมาหากิน” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลาง ถีบหัวส่งทั้ง “การเมืองใหม่ใสสะอาด” ของเสื้อเหลือง และ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ของเสื้อแดง ให้สังคมไทยจำยอมรับการเมืองเก่าเน่าโคตร และประชาธิปไตยพิกลพิการที่พวกเขามอบให้
คนกรุงคนชั้นกลางจึงไม่แยแสสนใจ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะบริหารงานห่วยแตกไร้ประสิทธิภาพเพียงไร ทุจริตคอรัปชั่นเพียงไร หรือเอาเงินภาษีของตัวเอง (คนชั้นกลางคิดว่าตัวเองจ่ายภาษี คนจนไม่ได้จ่าย) ไปถลุง 7 หมื่นล้านเพื่อตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 เพราะพวกเขาคิดเพียงว่าให้บ้านเมืองสงบ แล้วจะได้ทำมาหากิน กรูเอาตัวรอดได้ ไม่ว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ไม่ว่าจะทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างไร กรูก็ทำมาหากินได้ มีความสุขกับการชอปปิ้ง เที่ยวห้าง เที่ยวเมืองปาย กอดเมืองไทย หันไปต่อสู้ดิ้นรนด้วยการส่งลูกกวดวิชา เรียนอินเตอร์ สองภาษา เรียนจบมาถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปทำงานเมืองนอก
อ้อ ลืมไป เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองสามานย์ คนชั้นกลางก็จะท่องคุณธรรมจริยธรรม “รักในหลวง” อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ท่านปยุตต์ ท่าน ว.วชิรเมธี เห่อดอกเตอร์ไฮโซที่เขียนหนังสือขายโดยเอาภาษาท่านพุทธทาสท่านปัญญามาแปลง ใหม่ให้สวยๆ เห่อสำนักสงฆ์ที่ไปสร้างรีสอร์ทอยู่ในป่า แล้วตอนนี้ก็มีศัพท์ใหม่คือ “จิตสาธารณะ” ช่วยกันทำสังคมรอบตัวให้ดีขึ้น แต่ระบบสังคมช่างหัวมัน
ในสภาพเช่นนี้เราคงไม่ต้องพูดถึงพันธมิตร ซึ่งหมดอนาคตโดยสิ้นเชิงแล้ว พันธมิตรจะมีราคาก็ต่อเมื่อออกมาต่อต้านเสื้อแดง ออกมาด่าทักษิณ ถึงจะเป็นหัวข่าว แต่ถ้าพันธมิตรไล่รัฐบาล ลำเลิกบุญคุณ หรือหันไปเล่นเรื่องเขมร เรื่อง MOU ปี 43 ก็กลายเป็นหมาหัวเน่า กระบอกเสียงของคนชั้นกลางทั้งสื่อ นักวิชาการ ไม่เพียงตีจากแต่ยังทุบหัวเอา (เถ้าแก่เปลวก็ทุบไปเปรี้ยงสองเปรี้ยง เลยโดนด่า “ขายชาติ” อิอิ)
พลังที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบ จึงเหลือแต่มวลชนเสื้อแดง กับนักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าคนเสื้อแดงหยุดการเติบโตทางปริมาณ แต่ขยายนิวเคลียสจนเข้มข้น นั่นแปลว่า นปช.พร้อมจะระดมมวลชนเป็นแสนๆ มาปิดราชประสงค์อีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะเอาชนะ “กระแสสังคม” ได้อย่างไรนี่สิ เป็นปัญหา
ผมไม่ใช่ทั้งนักวิชาการนักทฤษฎีหรือนักเคลื่อนไหว มีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่คนอยู่วงในอาจจะ in จนบังตา จึงต้องเสนอความเห็นจากวงนอก เพื่อให้ช่วยกันขบคิด หาลู่ทาง กำหนดแนวทาง
ในแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้อง “รอ” ให้ระบอบอภิสิทธิ์ชนเน่าเฟะ เสื่อมทราม ไร้ประสิทธิภาพจนถึงจุดล่มสลาย ไปไม่รอด หรือสังคมเหลืออด โดยใช้การเคลื่อนไหวระหว่างนี้รักษามวลชน หล่อหลอมมวลชน ขยายมวลชนเท่าที่จะทำได้
ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแปรการเคลื่อนไหวให้ “แสวงจุดร่วม” กับผู้คนส่วนอื่นๆ ในสังคมให้มากขึ้น พร้อมกับไปการเคลื่อนไหวในประเด็นของตน เช่น การเรียกร้องให้ประกันตัวคนเสื้อแดง การวิพากษ์วิจารณ์ความยุติธรรมสองมาตรฐาน
แสวงจุดร่วมอย่างไร ต้องช่วยกันคิด และกำหนดประเด็นการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ให้เชื่อมโยงประโยชน์สาธารณะมากขึ้น
เอ้า สมมติเช่นเวลามาม็อบ คุณก็เพิ่มเนื้อหาโจมตีรัฐบาลเรื่องสินค้าแพง ให้แม่ค้ากล้วยแขก แม่ค้าลูกชิ้นที่เป็นเสื้อแดง สลับกันขึ้นเวทีมาด่าเรื่องราคาน้ำมันปาล์มมั่ง ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นมาวิพากษ์นโยบายประชาวิวัฒน์ มันจะเป็นจริงได้ไงในเมื่อตำรวจตั้งด่านรีดไถมอเตอร์ไซค์แทบทุกหัวถนน ยุคทักษิณที่ว่าตำรวจมีอำนาจ ยังไม่เก็บส่วยกันมากขนาดนี้
หรือไม่ก็รู้จักด่า ปตท.มั่ง เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น ไม่ใช่ไม่แตะเรื่องนี้เลย จนถูกกล่าวหาอยู่ซ้ำซากว่าทักษิณแอบถือหุ้น ปตท. (ตอนนี้โอกาสดี รสนาหมดมุขแล้ว ไม่ยักออกมาโวย ปตท.อีก) บางครั้งบางโอกาส ก็สามารถเอามาเป็นประเด็นเรียกร้องได้ด้วย
หรือถ้าจะมาม็อบวันที่ 23 คุณก็อาจจะกำหนดประเด็น ทวงคำมั่นรัฐบาลที่ว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภา เพราะตอนนี้เริ่มมีทีท่าว่า พวก สว.ลากตั้งกำลังจะลาออกก่อนครบวาระ เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิ์ได้รับการสรรหาอีก จนอาจทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นเรื่องน่าเกลียดที่ต้องประณาม เพราะเสวยอำนาจจนอยากงอกราก ทอดทิ้งหน้าที่ เพียงเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิลากตั้งอีกครั้ง
อันที่จริงควรจะฉวยโอกาสนี้ เคลื่อนไหวต่อต้าน สว.จากการลากตั้ง ถ้าทำได้ก็ไปให้ถึงการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไปไม่ถึงอย่างน้อยก็ทำให้การสรรหาโดยตุลาการอำมาตย์ กลายเป็นเรื่องเน่าเหม็นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ถามว่าเรื่องนี้มีจุดร่วมกับคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงไหม มีสิ เพราะถ้าเลือกตั้ง ก็ได้ สว.เพิ่มทั้งคนกรุงเทพฯ คนอีสาน คนเหนือ คนใต้ และเป็นชัยชนะของ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ในขั้นหนึ่ง
การคิดประเด็นเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะไปพร้อมๆ กัน เป็นภารกิจที่ผู้นำการเคลื่อนไหวต้องใช้สติปัญญามากกว่าการนำเย้วๆ แล้วก็ต้องระดมสมอง มีฐานข้อมูล มีนโยบาย มีแนวคิดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่เอาคนมาให้มากๆ เพราะแม้คนมากจะสามารถ “คุกคาม” หรือ “เขย่า” อภิสิทธิ์ชน แต่ในเชิงคุณภาพยังไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะ
เว้นแต่จะคิดเอาม็อบมาสู้แตกหักแบบครั้งที่แล้วอีก
ผมชื่นชมข้อเขียนล่าสุดของ อ.ใจ “ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ในขบวนการเสื้อแดง” คือถึงเวลาที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อกำหนดแนวทางอย่างมีวุฒิภาวะ กำหนดเป้าหมายอุดมการณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยว่าจะทำอย่างไร เสนอให้ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างไร ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ อย่างไร เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่านี่คืออุดมการณ์ที่จะปฏิรูปสังคมไทยไปสู่คุณภาพ ใหม่ และไม่ “เลยธง” อย่างที่คนบางส่วนเกรงกลัว
เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ซึ่งถ้ามองว่า “ชัยชนะ” คือการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยดึงหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ชัยชนะของเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย ยุทธศาสตร์ก็จะไม่ใช่การแตกหัก แต่ก็ไม่ใช่การประนีประนอม หากเป็นการใช้พล้งมวลชน พลังสาธารณชน ปิดล้อมกดดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง
มันอาจจะไม่สะใจเสื้อแดงบางส่วน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและความเป็นไปได้
ใบตองแห้ง
15 ม.ค.54
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น