Sun, 2011-02-06 11:30
สุรชาติ บำรุงสุข
ที่มา: มติชนออนไลน์
ยุทธบทความ
.........................................
"ในทุกรูปแบบของรัฐบาล
ประชาชนคือผู้ออกกฎหมายที่แท้จริง"
เอ็ดมันด์ เบิร์ก
นักปรัชญาชาวอังกฤษ
...............................................
ยุคก่อนเอกราช
ตูนิเซีย เป็นประเทศอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ และถือได้ว่าเป็นประเทศเก่าแก่ เนื่องจากเป็นที่ตั้งเดิมของพวกคาเธจ ซึ่งเป็นนักรบในยุคโบราณที่เคยทำสงครามกับจักรวรรดิโรมมาแล้วถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งในที่สุดพ่ายแพ้ และถูกกวาดล้างแบบถอนรากถอนโคน จนอาณาจักรคาเธจต้องสูญสิ้นไป
หลังจากปี ค.ศ.1574 จักรวรรดิออตโตมันได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองพื้นที่ในส่วนนี้ และได้กลายเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของชาวอิสลามมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1881 อิทธิพลของจักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลง พร้อมกับการขยายตัวของจักรวรรดิตะวันตก และฝรั่งเศสได้เข้ามาเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้แทน แต่ก็ยังดำรงการปกครองให้อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดิมที่เรียกว่า "Bey"
จักรวรรดิฝรั่งเศสได้บริหารจัดการ พื้นที่ พร้อมๆ กับการกำหนดเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ และเตรียมจัดตั้งให้ตูนิเซียเป็นประเทศสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชในชื่อของ "ขบวนการรัฐธรรมนูญใหม่"
ยุคหลังเอกราช
ในที่สุด รัฐบาลฝรั่งเศสได้ถอนตัวออกจากการปกครองตูนิเซียในปี ค.ศ.1956 และคืนอำนาจให้แก่ Bey ในการแต่งตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้กลุ่มรัฐธรรมนูญใหม่ก้าวขึ้นสู่อำนาจ โดยมีอดีตทนายความ ฮาบิบ บัวร์กิบา (Habib Bourguiba) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ เขาได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพแรงงานซึ่งเป็นฐานหลักในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง เอกราช ต่อมาได้มีการล้มล้างระบอบการปกครองเก่า พร้อมกับประกาศให้ตูนิเซียเป็นสาธารณรัฐ
กลุ่มผู้นำใหม่เข้ามาบริหาร ประเทศพร้อมกับแนวคิดทางสังคมใหม่ที่ต้องการล้มล้างระบอบของผู้ปกครองอิสลาม แบบเดิม พร้อมกับการนำเอาแนวคิดของการปฏิรูปทางสังคมแบบฝรั่งเศสมาใช้ จนทำให้ตูนิเซียกลายเป็นประเทศก้าวหน้าในโลกอาหรับ
ไม่ว่าจะเป็นการยึดที่ดินจากการ ถือครองของศาสนจักรมาเป็นของรัฐ การยกเลิกโรงเรียนและศาลศาสนา แม้กระทั่งประกาศยกเลิกเทศกาลบางงานของศาสนาอิสลาม ตลอดรวมทั้งการยกสถานะของผู้หญิงในสังคม และยกเลิกประเพณีทางศาสนาบางประการ เป็นต้น
ตูนิเซียมีความ ก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศโลกที่สามอื่นๆ เพราะประเทศมีกองทัพขนาดเล็ก และไม่มีภาระจากงบประมาณทหารเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศโลกที่สามทั้งหลาย ทำให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาทางสังคมได้มากขึ้น
ผลจากสภาพเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า อย่างน้อยประมาณ 25 ปีหลังจากประเทศได้รับเอกราช บทบาทของทหารในการเมืองตูนิเซียอยู่ในระดับต่ำมาก
จนกลายเป็นกรณีแปลกสำหรับประเทศโลกที่สาม ซึ่งยุคหลังเอกราช มักจะเป็นยุคของการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ
ยุคของการปราบปราม
แต่ผลของการครองอำนาจอย่างยาวนานของผู้ปกครองจากยุคหลังเอกราช ทำให้ลักษณะการปกครองเป็นไปในทิศทางแบบอำนาจนิยมมากขึ้น การถอยออกจากนโยบายแบบสังคมนิยม จึงไม่ได้เป็นปัจจัยนำไปสู่การปกครองแบบเสรีนิยมแต่อย่างใด และในช่วงกลางทศวรรษของปี 1970 รัฐบาลได้ขยายบทบาทของกองทัพในการเมือง โดยเฉพาะการใช้กองทัพในการปราบปรามการประท้วงที่ขยายตัวมากขึ้น
แม้การเมืองจะมีความผันผวนอย่างมาก แต่ผลจากการค้นพบแหล่งน้ำมัน ทำให้ทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศมากขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอัตราการว่างงานสูง และแรงงานเป็นจำนวนมากไหลออกไปสู่ตลาดงานในยุโรป ประกอบกับการไหลเข้าพื้นที่เขตเมืองของแรงงานจากชนบท
แต่เมื่อการลง ทุนจากต่างชาติลดลง พร้อมกับการตกต่ำของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้เศรษฐกิจของตูนิเซียอยู่ในภาวะวิกฤต และอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนไอเอ็มเอฟ (IMF) ได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซง และบังคับให้รัฐบาลต้องขึ้นราคาอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและแป้งที่ใช้ทำอาหาร อันนำไปสู่การประท้วงและขยายตัวเป็นการจลาจลจากชนบทไปสู่เมือง และขยายตัวไปสู่เมืองใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการปราบปราม เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบ จับกุม ปิดหนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็น "หุ่นของอิหร่าน" ที่ถูกส่งเข้ามาก่อความวุ่นวายในตูนิเซีย
ผลจากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้นายพล ซินี เอล-อบิดีน เบน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าหน่วยความมั่นคงทางทหาร ได้รับคำสั่งให้ขยายการปราบปรามให้มากขึ้น
ซึ่่งก็เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลได้หันมาพึ่งพากองทัพในการปราบปรามประชาชน ต่างจากเดิมที่มักจะพึ่งกลไกของตำรวจ
ยุคหลังรัฐประหาร
แต่แล้วในที่สุด ผู้รับคำสั่งปราบก็ตัดสินใจทำรัฐประหารเสียเองในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1987 พร้อมกับสั่งปลดประธานาธิบดีบัวร์กิบาออกจากตำแหน่ง
ซึ่งผลของการ เปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การเมืองเปลี่ยนทิศทางแต่อย่างใด ส่วนที่แตกต่างจากเดิมได้แก่ รัฐบาลใหม่ใช้กลไกทางทหารในการควบคุมและการปราบปรามทางการเมืองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล เบน อาลี พยายามสร้างภาพลักษณ์ของ "ความปรองดอง" ด้วยการเปิดระบบการเมืองมากขึ้น การประกาศนิรโทษกรรม การเชื้อเชิญให้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับประเทศ การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และการหาทางเจรจากับกลุ่มผู้นำอิสลาม
พร้อมทั้งแสดงท่าทีใหม่ของ รัฐบาลด้วยการสร้างมัสยิด การประกาศการสวดมนต์ผ่านสถานีวิทยุของรัฐ ความพยายามจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลาม เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของจุดจบ
แต่ในที่สุด สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายปี ค.ศ.1989 ก็เริ่มถอยกลับสู่ที่เดิม ด้วยการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านและห้ามการแข่งขันทางการเมือง (กับพรรครัฐบาล) และปี ค.ศ.1990 จึงเป็นการเริ่มต้นการปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดการขยายตัวของการต่อต้านรัฐบาล พร้อมๆ กับเศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำลงอย่างมาก...สังคมการเมืองตูนิเซียตกอยู่ภาย ใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองตูนิเซียกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมอย่างเต็มรูปอีกครั้งนับจากปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา
ในสังคมเผด็จการของตูนิเซียนั้น เศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำอย่างมาก ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเศรษฐกิจที่ประสบปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งไอเอ็มเอ ฟต้องเข้าแทรกแซงนั้น ไม่สามารถฟื้นตัวได้แต่อย่างใด
ยิ่งประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ประชาชนไม่สนับสนุนรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับอยู่ในอำนาจได้ด้วยการค้ำประกันของกองทัพ และการใช้กลไกการปราบปรามเป็นเครื่องมือ
ก็ยิ่งทำให้การเมืองตูนิเซียอยู่ในลักษณะของการรอให้วิกฤตการณ์เกิดระเบิดขึ้นเพื่อให้การเมืองคลายตัวออกได้
จุดจบ
ดังนั้นเมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจ "เผาตัวเอง" เพื่อประท้วงรัฐบาล อันเป็นผลจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ห้ามไม่ให้เขาขายผักบนถนน เพราะเขาไม่มีใบอนุญาต...ผลของการ "เผาตัว" ในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.2010 (2553) ได้กลายเป็นดังการจุดประกายไฟให้เกิดการประท้วงและนำไปสู่การจลาจลในหลาย พื้นที่ของประเทศ
จุดเริ่มต้นจากการเริ่มต้นของชายหนุ่มยากจนบนถนน ที่ห่างไกลอำนาจรัฐ ได้นำพาให้คนจนอีกเป็นจำนวนมากในประเทศตระหนักว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขา พร้อมๆ กับคนในเมืองที่ต้องประสบกับภาวะตกงาน พวกเขาก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่า รัฐบาลเผด็จการไม่ใช่เครื่องมือของการแก้ปัญหาปากท้อง พวกเขาเชื่อมากขึ้นว่า ปัญหาของประเทศต้องแก้ไขด้วยการให้เสรีภาพแก่ประชาชน
แต่รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการกล่าวว่า ผู้ประท้วงถูกจ้างโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงการกล่าวหาว่า คนเหล่านั้นเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และตามมาด้วยการสั่งให้ตำรวจปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง
ผลจากการ ตัดสินใจที่กองกำลังของรัฐใช้อาวุธยิงผู้ประท้วง แทนที่จะทำให้เกิดความกลัว กลับทำให้เกิดความโกรธ และยิ่งทำให้การประท้วงขยายตัวมากขึ้น การปะทะระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับกองกำลังของรัฐบาลในวันที่ 8-9 มกราคมที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 23 คน แต่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าต่ำกว่า 60 คน และผลของการใช้มาตรการเด็ดขาดและรุนแรงก็ยิ่งกลายเป็นการ "เติมเชื้อไฟ" ให้การต่อต้านรัฐบาลขยายตัวจนกลายเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ในเมืองหลวง
รัฐบาล แก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้คนหนุ่มสาวอยู่กับบ้านและไม่ออกไปร่วมการประท้วง และประกาศจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น พร้อมๆ กับประกาศนโยบายประชานิยมด้วยการขยายงานอีกมากกว่า 3 แสนตำแหน่ง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสัญญาว่าจะควบคุมราคาอาหาร ให้เสรีภาพแก่สื่อและอินเตอร์เน็ต และสัญญาอย่างสำคัญว่าจะสร้างประชาธิปไตยในตูนิเซีย
แต่ดูเหมือนว่าข้อเสนอและคำสัญญาดังกล่าวจะไม่มีใครเชื่อ หลังจากการถูกควบคุมเสรีภาพมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการใช้กำลังปราบปราม การควบคุมข่าวสารในสื่อ และการควบคุมอินเตอร์เน็ต ทำให้ประชาชนไม่เชื่อรัฐบาล และการต่อต้านยังดำเนินต่อไป
ไพ่ใบสุดท้าย!
ผู้นำรัฐบาล "ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย" ด้วยการประกาศลาออกและเตรียมเปิดการเลือกตั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ก็ตามมาด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมๆ กับการประกาศห้ามออกนอกบ้านทั่วประเทศ ห้ามชุมนุมเกินกว่า 3 คน และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่สามารถยิงผู้ใดก็ได้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนี้
ผลก็คือประชาชนยิ่งไม่เอารัฐบาลมากขึ้น จนในที่สุด ผู้นำรัฐบาลและครอบครัวต้องหนีออกนอกประเทศ จุดจบของเผด็จการไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร มีอำนาจมากเท่าใด หรือยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม คำสัญญาและคำหลอกลวงลมๆ แล้งๆ ไม่เคยช่วยอะไรได้จริง!
การประท้วงในขอบเขตทั่วประเทศใช้ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการที่มีอายุถึง 23 ปีภายใต้การสนับสนุนของทหารลงได้ และคงไม่ผิดนักที่จะสรุปดังคำกล่าวของชายหนุ่มที่ชื่อ อลาดีน เดอร์บารา (Alaedine Derbala) ว่า "พวกเราได้สร้างประวัติศาสตร์แล้ว...14 มกราคมจะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับตูนิเซีย และเป็นวันที่เราเปลี่ยนแปลงประเทศของเราตลอดไป"
บทเรียนการล้มลงของรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย เป็นข้อคิดทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างดี ส่วน "ท่านผู้นำ" คนไหนจะคิดได้หรือคิดไม่ได้ ก็คงขึ้นอยู่กับ "สติ" และ "สมอง" ที่ยังหลงเหลืออยู่ เท่านั้นเอง!
http://prachatai.com/journal/2011/02/32975
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น