สนับสนุนการทำกิจกรรม ส่งเสริมประชาธิปไตยของชาวเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่

ชื่อบัญชี นปช.แดงเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน เลขที่บัญชี 02 0012142 65 7 ( มีผู้รับผิดชอบบัญชี 3 ท่าน )

ติดต่อเรา deangchiangmai@gmail.com

ราบสวัสดี พี่น้องทุกๆท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยือน บล็อค นปช.แดงเชียงใหม่ ขอเรียนชี้แจงสักนิดว่า เรา ”แดงเจียงใหม่” เป็นกลุ่มคนชาวเจียงใหม่ที่เคารพรัก กติกาประชาธิปไตย ต่อสู้และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ อยากเห็นประเทศชาติภายภาคหน้า มีความเจริญ ประชาชนรุ่นลูกหลานของเราอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขในประเทศของพวกเราเอง ไม่มีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใดมาสูบเลือดเนื้อ แอบอ้างบุญคุณเฉกเช่นในยุคนี้ที่พวกเราเห็น การที่จะได้รับในสิ่งที่มุ่งหวังก็ต้องมีการต่อสู้แสดงกำลังให้สังคมได้รับรู้ และเพื่อที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในปัจจุบันได้เข้าใจในสังคมที่ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจฝืนต่อกระแสการพัฒนาของโลก การต่อสู้ร่วมกับผองชนทั่วประเทศในครั้งนี้ เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้ร่วมต่อสู้ทุกรูปแบบ และในรูปแบบที่ท่านได้เข้ามาร่วมอยู่นี้ คือการเผยแพร่ข่าวสารต่อสังคม เรา “ แดงเจียงใหม่ “ ได้สร้างเวปบล็อคไว้ 2 ที่ คือที่นี่ “ แดงเจียงใหม่” สำหรับการบอกกล่าวในเรื่องทั่วไป และอีกที่หนึ่งคือ “ Daeng ChiangMai “ สำหรับข่าวสารที่เราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารในการร่วมทำกิจกรรมของพี่น้องประชาชน


เชิญร่วมสร้างขวัญ และกำลังใจให้เพื่อนพ้องน้องพี่ร่วมกันครับ
“แดงเจียงใหม่” " Daeng ChiangMai "

รักประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ สร้างขวัญกำลังใจและความสุขเพื่อปวงชน

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ . ไพร่สู้บนเส้นทาง ๗๘ ปี ประชาธิปไตย ( ๒๔๗๕ - ๒๕๕๓ ) จรรยา ยิ้มประเสริฐ Voter's Uprising Thai

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ใบตองแห้งออนไลน์ : เสรีภาพที่จะ(ไม่)รัก


Tue, 2011-02-15 15:39


เพิ่งได้นั่งเขียนถึงวันแห่งความรักใน คืนเสียตัวคงไม่สายเกินไป โดยเฉพาะประเด็นที่จะเขียน

วันวาเลนไทน์กลายเป็น คืนเสียตัวในสายตาของผู้เคร่งศีลธรรมจริยธรรมทั้งหลาย อันที่จริง ถ้าเด็กมันจะเสียตัว ก็เสียได้ทุกคืน จันทร์ถึงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดราชการ แม้แต่วันลอยกระทงตามประเพณีไทย ก็กลายเป็นวันลงกระทอยกันเยอะแยะ ฉะนั้นอย่าไปตื่นตูมกันเฉพาะวันนี้เลย


สมัยผมเป็นวัยรุ่นไม่มีวันวาเลนไทน์ เพราะอยู่ๆ วันที่ 14 กุมภา ก็โผล่มาจากไหนไม่ทราบ แล้วก็บูม! กลายเป็นวันยอดฮิตของคนหนุ่มสาว เข้าใจว่าจะเป็นช่วงทศวรรษ 2520 ในทางสากลสิ้นสุดยุคแสวงหา สิ้นสุดสงครามเวียดนาม เข้าสู่ยุคของโรนัลด์ รีแกน และมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ในเมืองไทยก็หมดยุคขบวนการนักศึกษา เข้าสู่ยุคนิยายรักศุภักษร ซูโม่สำอาง และวัฒนธรรมบริโภค ทุนนิยมขยายตัวอย่างก้าวกระโดด นั่นแหละคือช่วงที่วันดอกกุหลาบบาน


กระแสนิยมในวันต่างๆ ก็เกี่ยวกับยุคสมัยเหมือนกันนะครับ อย่างเช่นวันที่ 5 ธันวา ผมถามหลายคนว่านอกจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาแล้วยังเป็นวันอะไร วันพ่อแล้ววันอะไรอีก นึกไม่ออก อ้าว! ก็วันชาติไง

สมัยผมเด็กๆ วันที่ 5 ธันวา เขาเฉลิมฉลองในฐานะที่เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา กับวันชาติ แต่ไม่ค่อยมีใครพาพ่อไปเที่ยวพาพ่อไปกินข้าวนอกบ้านอย่างสมัยนี้ น่าจะเป็นเพราะค่านิยมของสังคม ที่การต่อสู้แข่งขันในชีวิตประจำวันมันตึงเครียดขึ้น คนชั้นกลางก็หวนหาให้คุณค่ากับครอบครัวมากขึ้น รวมทั้งหวนหาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รกรากทางวัฒนธรรม ท่ามกลางโลกยุคไซเบอร์ เราจึงมีจิตรา ก่อนันทเกียรติ มาช่วยอัพเกรดวันตรุษจีน อัพเกรดวัฒนธรรมจีน จากที่เคยถูกมองว่าเผากระดาษไร้สาระ ให้ดูมีคุณค่าประทับใจคนรุ่นใหม่


ความรักมีชนชั้น


ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล แต่ความลึกล้ำซับซ้อนของอารมณ์ ทำให้ความรักมีมนต์ขลัง


ความรักดูเหมือนไม่มีกฎเกณฑ์ แต่ความจริงมี เพียงแต่มันซับซ้อนเสียจนกำหนดเป็นกฎตายตัวไม่ได้ กระนั้นมันก็มีหลักใหญ่ๆ เช่น ลูกผู้หญิงที่รักพ่อมาก มักจะรักผู้ชายที่มีบางอย่างเหมือนพ่อ คนจะรักกัน ต้องมีด้านที่เหมือนกันและต่างกัน ด้านที่เหมือนทำให้สื่อสารเข้าใจซึ่งกันและกัน แบบตามองตาก็รู้ใจ ด้านที่ต่างทำให้เกิดความประทับใจและเป็นแรงผลักดัน


ถ้าไม่มีด้านที่ต่าง ถ้าไม่มีด้านที่ขัดแย้ง มันก็ไม่ทำให้ชีวิตคู่พัฒนา แรงดึงดูดของความรักจึงเป็นเรื่องสำคัญ ผมเคยยกประสบการณ์ส่วนตัวเป็นอุทาหรณ์สอนน้องๆ ผู้หญิง ก่อนจะมาเจอภรรยา ผมเคยมีแฟน ที่เขาคล้อยตามผมทุกเรื่อง ไม่เคยขัดใจ นัดไปดูหนังรอบเที่ยง ผมไปถึงบ่ายโมง ก็ยังยืนรออยู่ ทรหดอดทน ไม่บ่นไม่ว่า แต่พอมาเจอภรรยา นัดดูหนังรอบเที่ยง ไปเที่ยงสิบห้า เธอกลับบ้านไปแล้ว ต้องตามไปง้องอน ยืนเคาะประตูบ้าน ยืนเฝ้าป้ายรถเมล์ปากซอย ฯลฯ ฉะนั้นอย่าแปลกใจว่าทำไมผู้ชายต้องเกรงใจภรรยา (ฮา)

คนจะรักกัน ไม่ใช่เรื่องของบุพเพสันนิวาส แต่เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สังคม การที่เราจะรักใครสักคนหนึ่ง มีที่มาจากพื้นเพ จากพ่อแม่ การศึกษา เลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต รสนิยม ความคิด ความชอบ ไม่ชอบ สั่งสมอยู่ในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก พอพบหน้าคนที่ใช่ เราจึงรู้สึก ปิ๊งราวกับเจอกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน (ซึ่งไม่มีหรอก ถ้าผมตาย ผมก็ประกาศได้ว่าจะไม่กลับมาเกิดอีก ตลอดอนันตกาล เพราะกลายเป็นปุ๋ยไปเรียบร้อย)

ความรักจึงมีชนชั้น แม้มีข้อยกเว้น ก็เป็นเพียงส่วนน้อย แต่คนเราชอบอะไรที่เป็นข้อยกเว้น จึงเอามาแต่งเพลง รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนา (ความจริงมี เพราะถ้าคุณไปชอบสาวมุสลิมก็ต้องเข้าศาสนา)

ความรักมีชนชั้น เพราะชนชั้นกำหนดรูปการจิตสำนึก รสนิยม ความชอบ แม้อาจมีช่องยกเว้น ยกตัวอย่าง สาวฉันทนากับลูกอาเสี่ย ถ้าเป็นสมัยก่อน เรียนโรงเรียนประชาบาลด้วยกัน อาจรักกันได้ ไอ้คล้าวกับสาวทองกวาว ฐานะแตกต่างกันแต่อยู่ในวิถีชีวิตชาวทุ่งเหมือนกันก็รักกันได้ แต่ถ้าสมัยนี้ สาวฉันทนาจบ ป.6 โรงเรียนบ้านหนองอีแหนบ กับลูกอาเสี่ยเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไม่มีทางรักกันได้ เพราะความคิด จิตใจ ความชอบ ไม่ชอบ การแสดงออก การสื่อภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษากาย ดวงตา ภาษาใจ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจนไม่สามารถสื่อกันได้


ผมเข้าใจเรื่องนี้ตอนที่ใช้ชีวิตอยู่กับมวลชน ชาวนา ชาวเขา หนุ่มสาวชาวนาแต่ละคู่พอเจอกันเขาปิ๊งกันง่ายๆ ใสซื่อ ไม่มีจริต ชาวเขายิ่งง่ายกว่า เพราะม้งไม่ถือสาเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ไอ้พวกเราคนชั้นกลางนี่สิ ซับซ้อน อ่อนไหว แปรปรวน เอาใจยาก เข้าใจยาก ยิ่งพวกอารมณ์ศิลปินยิ่งสลับซับซ้อนเข้าไปใหญ่ ตามองตา มองกันอยู่นั่นแหละ ไม่พูดซักที เห็นแต่ขี้ตา (ฮา)


ความรักจึงเกี่ยวกับวิถีชีวิต และเกี่ยวกับยุคสมัย ที่กำหนดรูปการจิตสำนึก เวลาที่เราดูหนังดรามาย้อนยุค แล้วบอกว่าคนสมัยสองพันปีก่อนมีความรักดูดดื่มลึกซึ้งเหมือนคนรุ่นเรา ก็ต้องเข้าใจว่าหนังจับเอาความคิดคนยุคเราใส่เข้าไป เพราะมันไม่จริง ไม่ใช่ว่าคนโบราณไม่มีความรัก แต่ความรักของคนรุ่นสองพันปีก่อนเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และความรักก็ถูกจำกัดไว้ด้วยวิถีชีวิต ในสังคมทาส ในสังคมเกษตร ในสังคมศักดินาหรือยุคฟิวดัล คนมีพันธะหน้าที่ต่อมูลนาย ต่อครอบครัว ต่อการทำมาหากิน ตลอดจนต่อศาสนา ต่อขนบธรรมเนียมประเพณี คนยุคนั้นจึงถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชน ซึ่งเขาก็ยอมรับได้ ไม่เลือกมาก เพราะรูปการจิตสำนึกไม่ได้ซับซ้อนอ่อนไหวอย่างคนรุ่นเรา


หรือถ้าเป็นประชาชนชาวไพร่ วิถีชีวิตของพวกเขาก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญกับการพลัดพราก ถูกเรียกไปทำศึกสงคราม ถูกกวาดต้อน หรือถูกเกณฑ์แรงงาน อย่างไอ้มากที่ต้องพลัดพรากจากแม่นาค พระโขนง ไปตลอดกาล


ความรักคือประชาธิปไตย


ความรักเริ่มมีบทบาทความสำคัญก็เมื่อสังคมเปลี่ยน เกิดชนชั้นกระฎุมพี ในปลายยุคกลาง ที่เรียกร้องต้องการสิทธิเสรีภาพ ทั้งในด้านการเมือง การทำมาค้าขาย ไปจนวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา และความรัก โลกจึงเกิดวิลเลียม เช็กสเปียร์ กับโรมีโอ & จูเลียต เช่นเดียวกับโลกตะวันออกที่เกิดวรรณกรรมอมตะ ความฝันในหอแดง ซึ่งมีความหมายท้าทายม่านประเพณี เรียกหาสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเหมือนๆ กัน

วรรณกรรมเหล่านี้ จิตสำนึกเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มันมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ที่ก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยทุนนิยม การพัฒนาทางการผลิตทำให้เกิดอิสระชน ปัจเจกชน ที่อยากจะมีวิถีชีวิตของตัวเอง และมีอารมณ์ความรู้สึกที่โรแมนติกกว่าคนรุ่นก่อนๆ


การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่จะรัก กล่าวได้ว่าเป็นอาวุธชิ้นแรกๆ ที่ทรงพลังที่สุดของวัฒนธรรมประชาธิปไตย ในการเอาชนะวัฒนธรรมประเพณีศักดินา ให้พังทลายลงก่อนที่ระบอบราชาธิปไตยจะพ่ายแพ้ด้วยซ้ำ เสรีภาพที่จะรัก ยังเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเผด็จการและความคิดเก่าซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เช่นในยุคแสวงหา ยุคต่อต้านสงครามเวียดนาม ก็ชูความรักเป็นอาวุธ กระทั่งพังทลายความคิดความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมลงอีกครั้งหนึ่ง (ฟรังโก เชฟฟิเรลลี ก็ทำหนัง Romeo & Juliet ออกมาตอนนั้นพอดี)


เสรีภาพที่จะรัก-หรือไม่รัก จึงเป็นสิทธิสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับเสรีภาพในความเชื่อ ในการที่จะเคารพ ศรัทธา ยกย่องใคร ในการนับถือศาสนา รักไม่ใช่ความผิด ไม่รักก็ไม่ใช่ความผิด เพราะเป็นสิทธิที่เลือกได้หลากหลาย


แต่ในสังคมไทยที่แม้ดูเหมือนจะเปิดกว้าง มีเสรีภาพทางวัฒนธรรม มีเสรีภาพในวิถีการดำรงชีวิต ก็ยังมีหลายอย่างปิดกั้นด้วยความคิดจารีต สังคมไทยปล่อยให้มีเสรีในการรับเอาวัฒนธรรมบริโภค จะสนุกสนานร่าเริงเถิดเทิงกันอย่างไรก็แล้วแต่ ตรุษจีนตรุษไทยตรุษฝรั่ง วันไหนๆ พี่ไทยก็เมา แต่เรื่องบางเรื่องเรามีขีดจำกัด ห้ามไม่ให้มีเสรี โดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อถือศรัทธา


ยกตัวอย่างตลกๆ เช่น ประเทศไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา เราอยู่ร่วมกันได้ทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์ แต่ใครลองบอกว่า ไม่มีศาสนาดูสิ จะกลายเป็นตัวประหลาด ถึงตำรวจไม่จับ แต่ไปทางไหนก็ถูกซุบซิบกังขา


ทั้งที่การไม่นับถือศาสนาก็เป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างหนึ่ง

เช่นเดียวกับเสรีภาพที่จะไม่รัก ก็เป็นเสรีภาพในความรักอย่างหนึ่ง


แต่สังคมไทยชอบตีกรอบให้คนทำข้อสอบช้อยซ์ (ความล้มเหลวของระบอบการศึกษา ไม่รู้จักทำข้อสอบอัตนัย) มีให้เลือกสองข้อ รัก/ไม่รัก ถ้าไม่รัก=เกลียด จ้องทำลาย ฯลฯ อะไรไปโน่น ทั้งที่ความจริง มันมีตั้งแต่รักมาก รักน้อย รักมั่งไม่รักมั่ง ชอบมั่งไม่ชอบมั่ง หรือไม่รักแต่เฉยๆ ต่างคนต่างอยู่ก็แล้วกัน

เหล่านี้คือเสรีภาพที่มีหลากเฉดสี แต่คนที่ไม่ยอมรับเสรีภาพ กลับบังคับว่าต้องรัก รักอย่างเดียวไม่พอต้องรักมากด้วย ที่เหลือเท่ากับเกลียด คิดแบบนี้ก็จะมองเห็นแต่คนเกลียด ถ้าเชื่อในหลักธรรม คิดเสียว่าเป็นธรรมดาที่ต้องมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ ไม่บังคับคน ความกดดันนั้นก็จะคลายไปเอง

ถ้าเราอยู่ร่วมกันอย่างมีเสรี คนที่รักก็ต้องยอมรับเสรีภาพของคนที่ไม่รัก คนที่ไม่รักก็ต้องยอมรับเสรีภาพของคนที่รัก และให้ความเคารพสิทธิของกันและกัน ไม่บีบคั้นหรือลบหลู่ นั่นคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุผล เปิดพื้นที่ให้อารมณ์ความรู้สึก เพราะรักไม่รักเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ เหมือนสิทธิในการเลือกตั้ง บางคนเขาบอกว่าชอบคนนี้เพราะหล่อดี ก็เป็นสิทธิของเขา จะทำไม แต่เหตุผลก็จะมาจากเสียงส่วนใหญ่เอง

เหมือนผมขับรถผ่านถนนราชพฤกษ์มีวันหนึ่งเห็นรถติดสติกเกอร์เรารักกุ้งหลวงไคโตซาน” (ก็ปูแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแชร์ลูกโซ่นั่นแหละ เขาไปตั้งบริษัทใหม่ ไม่เห็นจะเอาผิดได้) เห็นแล้วก็ขำดี แต่เป็นสิทธิเสรีของเขา และคงไม่มีใครเอาตามอย่างหรอก จริงไหม

ใบตองแห้ง
15 ก.พ.54

http://prachatai.com/journal/2011/02/33128

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น