Fri, 2011-02-18 14:56
อนุสรณ์ อุณโณ
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทยคือการมักทึกทักว่าตัวเองมีความสูงส่ง กว่าสังคมอื่น และก็มักปฏิบัติต่อสังคมและวัฒนธรรมอื่นอย่างไม่สู้ให้เกียรติหรือถึงขั้นดู แคลน ฉะนั้น แทนที่จะเห็นอกเห็นใจโดเรม่อนที่ตกนรกและได้รับความทุกข์ทรมานในกระทะทองแดง ในจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดแห่งหนึ่งโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สังคมไทยโดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อกระแสหลักจึงสนใจว่าการกระทำดังกล่าวจะสร้าง ความเสื่อมเสียให้กับพุทธศาสนาและประเพณีจิตรกรรมฝาผนังในเขตพุทธาวาสหรือ ไม่อย่างไรเสียมากกว่า
สังคมไทยที่คิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าสังคมอื่นส่วนหนึ่งมีชนชั้นนำอยู่ เบื้องหลัง เพราะในการเผชิญกับความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลง ชนชั้นนำสยามพยายามรักษาสถานะนำของตนไว้ด้วยการอ้างอิงกับแหล่งความชอบธรรม เช่นพุทธศาสนา โดยนอกจากคติธรรมราชา จักรวาลวิทยาเป็นอีกคติทางพุทธศาสนาที่ชนชั้นนำสยามอาศัยในกระบวนการดัง กล่าว เช่น หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดสุทัศน์ฯ ถูกสร้างขึ้นเพื่อหมายความให้กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผู้ปกครองกรุงเทพฯ จึงมีสถานะเป็นผู้ปกครองจักรวาลไปด้วยในตัว ขณะที่วัดสุทัศน์ฯ เองก็เป็นการจำลองจักรวาลซึ่งมีโบสถ์เป็นสัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุในฐานะ ศูนย์กลางของจักรวาลชุดดังกล่าว นอกจากนี้ คติจักรวาลวิทยาในเขตพุทธาวาสยังมักแสดงออกผ่านทางจิตรกรรมฝาผนัง โดยเฉพาะบริเวณหลังองค์พระประธาน ซึ่งองค์ประกอบหลักของภาพเป็นเขาพระสุเมรุเสริมด้วยสวรรค์ชั้นต่างๆ รวมทั้งมหาสมุทรและนรกภูมิที่อยู่เบื้องล่าง โดยมีเทวดา มนุษย์ และสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์กระจายอยู่ตามบริเวณต่างๆ ตามแต่ความละเอียดของจิต
จิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงออกซึ่งคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธ หากแต่ยังชี้ให้เห็นถึงอคติทางพงศ์พันธุ์รวมทั้งศาสนาที่แฝงฝังอยู่ในสังคม ไทยในเวลาเดียวกัน อาทิ บริเวณมหาสมุทรที่มีความโกลาหลและมีคนลอยคอจะจมแหล่ไม่จมแหล่มักแทรกด้วยภาพ ของคนชาติต่างๆ ที่สยามมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตก ชาวจีน หรือ “แขก” ซึ่งดูแล้วชวนสมเพช ไม่สง่างาม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเหล่าเทวดาที่เหาะเหิรอยู่ด้านบน นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณอื่นไม่ว่าจะเป็นผนังโบสถ์หรือคอสองก็วางอยู่บนคติ เดียวกัน โดยในเขตกำแพงเมืองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในเขตพระราชวังมักประกอบด้วยภาพ ชนชั้นปกครองที่วาดขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงและอยู่ในท่วงท่าที่งามสง่า ขณะที่นอกเขตกำแพงเมืองซึ่งมักติดป่าเขานอกจากประกอบด้วยคนสยามยังประกอบ ด้วยคนชาติอื่นๆ อาทิ มอญ กระเหรี่ยง ฯลฯ ซึ่งคนต่างชาติต่างภาษาเหล่านี้หลายกรณีอยู่ในอากัปกริยาที่น่าดูแคลนหรือ ไม่ก็ชวนขบขัน การถ่ายทอดคติจักรวาลวิทยาแบบพุทธในจิตรกรรมฝาผนังจึงเป็นกลวิธีในการเสริม สร้างสถานะนำของชนชั้นปกครองโดยมีการดูแคลนคนชาติ (รวมถึงศาสนา) อื่นเป็นฉากหลัง
ชนชั้นนำสยามกระทำการดังกล่าวโดยชูความเป็นศาสนาแห่งเหตุผลและสัจธรรมของ พุทธศาสนา กระเหรี่ยงเป็นชาวป่าชาวเขา ล้าหลัง งมงาย เพราะนับถือผีและสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่อาจเทียบได้กับพุทธปรัชญาที่ชนชั้นนำสยามนับถืออยู่ได้ การแสดงความดูแคลนหรือขบขันกระเหรี่ยงในจิตรกรรมฝาผนังจึงไม่ใช่เรื่องเสีย หายอะไร ในทำนองเดียวกัน แม้ฝรั่งจะดูล้ำหน้าในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่นั่นก็เป็นเพียงโลกียธรรม ซึ่งเทียบไม่ได้กับโลกุตรธรรมในพุทธศาสนา ในด้านหนึ่งชนชั้นนำสยามจึงชื่นชมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ฝรั่งนำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นกล้องดูดาวหรือยาปฏิชีวนะ แต่ในอีกด้านชนชั้นนำสยามก็คิดว่าตัวเองมีปัญญาเหนือกว่าฝรั่ง (หรือในทางกลับกันคือคิดว่ามีความคิดเป็น “วิทยาศาสตร์” มากกว่าฝรั่ง) เพราะว่าพวกตนไม่เชื่อในพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องงมงายไม่ต่างอะไรกับการนับถือ ผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวป่าชาวเขา ภาพฝรั่งพากันแหวกว่ายตะเกียกตะกายในมหาสมุทรบริเวณฐานเขาพระสุเมรุจึงชี้ ให้เห็นสถานะที่ต่ำกว่าของฝรั่งเหล่านี้ในสายตาของชนชั้นนำสยามที่อาศัยพุทธ ปรัชญาเป็นแหล่งอ้างอิง
นอกจากในปริมณฑลศาสนา ความสำคัญตัวว่าสูงส่งกว่าสังคมหรือคนชาติอื่นยังแสดงออกในจินตนาการทางการ เมืองของชนชั้นนำสยามอย่างสำคัญ อาทิ ในการนำพาสยามไปสู่ความทันสมัยหรือ “ความศิวิไลซ์” เทียบเท่า “นานาอารยะประเทศ” ชนชั้นนำวาดภาพตัวเองเป็นผู้ชักรอกชาวสยามให้พ้นขึ้นมาจากหุบเหวผ่านทางความ ปรีชาสามารถและความวิริยะอุตสาหะของตนในการทำนุบำรุงการทหาร การศึกษา กสิกรรม และหัตถกรรมของประเทศ โดยมีประเทศเพื่อนบ้านเช่น เขมร ญวน พม่า แขก ชะเง้อดูอยู่ข้างล่างและแสดงความปรารถนาจะขึ้นพ้นหุบเหวขึ้นมาบ้าง ในทำนองเดียวกัน ในการสร้าง “มหาอาณาจักรไทย” ชนชั้นปกครองประดิษฐ์และชู “ความเป็นไทย” ที่แยกไม่ออกจากพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับการเบียดขับหรือกลืนกลายคนชาติ ภาษา และศาสนาอื่นในประเทศ อาทิ นอกจากภาษามลายูถิ่น มลายูมุสลิมถูกห้ามไม่ให้สวมโสร่งและหมวกกะปิเยาะเมื่อไปสถานที่ราชการ ไม่นับรวมการที่พวกเขาต้องแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปที่ถูกนำมาประดิษฐานใน สถานที่ราชการและโรงเรียน ซึ่งขัดแย้งกับหลักการของศาสนาอิสลามอย่างยิ่ง
กุศโลบายทางการเมืองเหล่านี้ส่งผลกระทบในวงกว้างและได้หยั่งรากลึกลงใน สังคมไทยโดยรวมและสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ดี การมองชนกลุ่มน้อยต่างๆ ว่ามีความงมงายก็ดี หรือแม้กระทั่งความไม่สามารถเข้าใจมลายูมุสลิมในเขตชายแดนภาคใต้ของคนไทย จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของกุศโลบายเหล่านี้ที่มักจัดวางชนชาติ ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างให้อยู่ในสถานภาพที่ต่ำกว่า ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้หากจิตรกรจะชี้แจงว่าการแทรกภาพโดเรม่อนเข้ามาใน จิตรกรรมฝาผนังจะไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับพุทธศาสนาหรือประเพณีการเขียน ภาพพุทธประวัติในอุโบสถ เพราะเป็นการอาศัยตัวการ์ตูนในการดึงดูดเด็กให้มีความสนใจในพุทธศาสนาและ เข้าใจในกฎแห่งกรรมเพิ่มมากขึ้น เขาหมายความจิตรกรรมฝาผนังเป็นพุทธบูชา และการที่โดเรม่อนตกนรกหมกไหม้และถูกได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ในกระทะทองแดง ก็สืบเนื่องมาจากบาปกรรมที่โดเรม่อนก่อไว้ ส่วนบาปกรรมที่ว่าจะเป็นอะไรดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญ
แต่พุทธบูชาในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องทบทวน เพราะวางอยู่บนอคติทางพงศ์พันธุ์รวมทั้งศาสนาอย่างมาก โลกใบนี้ประกอบด้วยสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย มีความเชื่อและความเคารพศรัทธาไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถอวดอ้างว่าสังคมวัฒนธรรมใดเหนือกว่าสังคมวัฒนธรรมอื่นได้ การแทรกภาพโดเรม่อนในนรกและกระทะทองแดงจึงไม่เพียงแต่ทำลายจินตนาการของเด็ก หากแต่ยังเป็นการละเมิดกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนโลกใบนี้ที่วางอยู่ บนการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย หากพุทธศาสนาจะเสื่อมก็คงไม่ใช่เพราะแปดเปื้อนด้วยความบริสุทธิ์ของโดเรม่อน หากแต่เป็นเพราะพุทธศาสนามักถูกหยิบใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการสำคัญตนว่า เหนือกว่าสังคมและวัฒนธรรมอื่นของสังคมไทยไม่ว่าจะโดยชนชั้นปกครองหรือคน ทั่วไป
ที่มา:
ตีพิมพ์ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน (ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2554)
http://prachatai.com/journal/2011/02/33179
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น