Thu, 2011-02-17 16:33
นักปรัชญาชายขอบ
กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางอำนาจรัฐ แต่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอำนาจทุกอย่าง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ โดยที่อำนาจทั้งหมดนั้นมีลักษณะรวมศูนย์อยู่ที่ “เสียง”
ไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯ คือ “เสียงส่วนใหญ่” หรือเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศนะครับ แต่กรุงเทพฯ คือ “เสียงที่ดังกว่า” แต่เสียงที่ดังกว่าก็ไม่ได้หมายความอีกนั่นแหละว่าเป็นเสียงที่มีเหตุผลดี กว่า เที่ยงตรงกว่า ชอบธรรมมากกว่า เพียงแต่ว่าเป็นเสียงที่มีโอกาสส่งผ่านหรือสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ มากกว่า แล้วก็มีวัฒนธรรมของการขยันแข่งกัน “ส่งเสียง” อยู่ตลอดเวลา
เสียงที่ดังกว่าดังกล่าวมันมีฐานอำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจจารีต อำนาจทางศีลธรรม การศึกษา อำนาจในฐานะเจ้าของสื่อ ความได้เปรียบในการเข้าถึงสื่อ ฯลฯ รองรับอยู่อย่างหนาแน่น
แต่ระยะเวลากว่า 5 ปี มานี้ เสียงของคนต่างจังหวัด คนชนบท คนสามจังหวัดภาคใต้ คนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา คนชั้นล่าง คนกลุ่มน้อย คนชายขอบของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ คนชายขอบของคนชั้นกลางในเมืองและของสื่อ เริ่มดังแทรกขึ้นมามากขึ้นๆ ในสื่อทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี สื่อออนไลน์ ฯลฯ
ในขณะที่สื่อฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารยักษ์ใหญ่ในประเทศยังเป็นกระบอกเสียงของ “เสียงที่ดังกว่า” อย่างคงเส้นคงวา!
เสียงที่ดังแทรกขึ้นเรื่อยๆ นั้นกำลังตะโกนบอกว่า เสียงที่ดังกว่าของกรุงเทพฯ คือ “เสียงแห่งความขัดแย้ง” พวกคุณคือ “ศูนย์กลางของความขัดแย้ง” เพราะมันคือเสียงแห่งคำพิพากษาตัดสินทุกเรื่องต่อเพื่อนมนุษย์และบรรทัดฐาน ทางสังคม-การเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น โง่-ฉลาด ถูก-ผิด ดี-ชั่ว รัก-ไม่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เอา-ไม่เอารัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาแล้ว แก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เอา-ไม่เอา “การเลือกตั้ง” กระทั่งเอา-ไม่เอาสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
แต่ “เสียงที่ดังกว่า” หาได้เข้าใจว่าพวกเขาคือศูนย์กลางของความขัดแย้งไม่ พวกเขายังดันทุรังว่า พวกเขาคือผู้ทรงภูมิปัญญา ทรงศีลธรรม ทรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีหน้าที่ช่วยให้เพื่อนร่วมชาติหายโง่ตลอดไป
ประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกรัฐบาลที่มีนโยบายที่พวกเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ ต้องสูญเสียโอกาสที่จะขับเคลื่อนให้รัฐบาลที่พวกเขาเลือกให้ทำประโยชน์แก่ พวกเขามากขึ้นๆ วิถีชีวิตของผู้คนตามแนวชายแดนขาดอิสรภาพที่จะดูแลตนเอง ไม่มีอำนาจที่จะไม่เอาสงคราม
เสียงที่ดังกว่า (แม้ว่าเป็นเสียงส่วนน้อย) บอกไม่เอารัฐบาลที่ประชาชนเลือก หรือบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้ง หรือบอกว่าต้องรบกับเพื่อนบ้าน ดูเหมือนว่ามันง่ายกว่าที่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐหรือกลไกอำนาจรัฐต้องทำตาม แต่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาขอการเลือกตั้ง บอกว่าไม่เอาสงคราม ดูเหมือนว่า “ผู้ใช้อำนาจ” (ไม่ใช่เจ้าของอำนาจ) ไม่เคยได้ยิน
แต่ “ผู้ใช้อำนาจ” ไม่ได้ยินเสียงของคนส่วนใหญ่ ยังพอเข้าใจได้ว่านั่นเป็นอาการ “บ้าอำนาจระยะสุดท้าย” แต่สื่อฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสารยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ได้ยินแถมยังทำตัวเป็นหางเครื่องของพวกบ้าอำนาจระยะสุดท้ายนี่สิ เป็นพฤติกรรมที่ยากจะเข้าใจได้จริงๆ!
เห็นไหมครับ “เสียงที่ดังกว่า” (เช่น หมอประเวศ วะสี) บอกว่าต้องทำ “แผนที่คน” ต้องยกย่องความรู้ในตัวคนมากกว่าความรู้ในตำรา การยกย่องความรู้ในตัวคนจะทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมและเคารพกันและกัน มากขึ้น
อ้าว! แล้วทำไมคุณมองไม่เห็นว่า “ประชาธิปไตย” ก็มีอยู่ “ในตัวคน” ทีเสื้อเหลืองมาชุมนุมไล่รัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกคุณยกย่องว่านั่น เป็นปรากฏการณ์ “มหาวิทยาลัยมัฆวาน” เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนประชาธิปไตยภาคประชาชนแก่สังคมที่ดีที่สุด
แต่ทีคนเสื้อแดงมาชุมนุมไล่อำมาตย์ ไม่เอาอำนาจเผด็จการจารีต คุณกลับบอกว่ามาเพราะจน ถูกหลอกมา ถูกซื้อ ถูกจ้าง ฯลฯ แล้วคุณก็อาสามาปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้พวกเขา (จะได้ไม่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย?)
แต่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้พวกเขาได้อย่างไรครับ ในเมื่อคุณไม่เคยสนทนาปราศรัยกับพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมเลย คุณมองพวกเขาในฐานะเป็นคนเหมือนคุณไหม เห็นประชาธิปไตยในคนอย่างพวกเขาไหม แล้วเหตุใดจนป่านนี้คุณไม่เคยวิพากษ์ฝ่ายที่ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยมัฆวาน” เลย
พูดก็พูดเถอะ เสียงที่ดังกว่าบางส่วนก็ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เคยยกย่องประชาธิปไตยชุมชน เรียกร้องให้ประชาชนมีอิสระในการปกครองตนเอง แต่ดันบอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ไม่วิจารณ์พวกเดียวกันที่กดดันให้รัฐบาลรบกับเพื่อนบ้าน ไม่เรียกร้องให้รัฐฟังเสียงของชาวบ้านที่เดือดร้อนตามแนวชาวแดนที่ตะโกนจน เสียงแหบแห้งอ่อนระโหยว่า “ไม่เอาสงคราม!!!”
เห็นไหมครับ “เสียงที่ดังกว่า” ของกรุงเทพฯ ไม่ว่าเสียงของราษฎรอาวุโส สื่อกระแสหลัก นักวิชาการดารา ม็อบผูกขาดความรักชาติ ผูกขาดความสูงส่งทางปัญญาและศีลธรรม เอาเข้าจริงพวกเขาก็ได้แต่เทศนา และพิพากษาตัดสินประชาชนส่วนใหญ่ พวกเขาไม่เคยสัมผัสปัญหาจริงๆ ไม่รู้สึกรู้สาต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านจริงๆ ความสามารถจริงๆ ที่พวกเขามีคือ ความสามารถสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งแตกแยกที่ไม่มีวันสิ้นสุด!
ปากก็ว่าประชาธิปไตยต้องมีจริยธรรม ประชาชนต้องมีศักดิ์ศรี ต้องมีอิสระปกครองตนเอง แต่มองไม่เห็น “ประชาธิปไตยในตัวคน” ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งและประชาธิปไตย และไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เดือดร้อนตามแนวชายแดนที่ปฏิเสธ สงคราม
เสียงที่ดังกว่าของกรุงเทพฯ จึงเป็นมาเฟียประชาธิปไตย เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง และสร้างเงื่อนไขความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกภูมิภาค!
http://prachatai.com/journal/2011/02/33166
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น