คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง เหตุประหลาดในคดีดา ตอร์ปิโด
โดย กาหลิบ
โลก และไทยต่างรู้กันว่า นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด คือผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกถึง ๑๘ ปีในคดีดูหมิ่นและหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือองค์รัชทายาท หรือที่เราเรียกกันจนคล่องปากว่าดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา ๑๑๒ ของรัฐธรรมนูญ คดีความคิดคดีนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย ทำให้รู้กันทั่วไปว่าความผิดฐานนี้จะต้องรับโทษทัณฑ์ชนิดไร้ความเมตตาปราณี ไม่ให้ผุดให้เกิด และตอกย้ำความไม่เป็นนประชาธิปไตยจริงของบ้านนี้เมืองนี้
แต่ แล้วจู่ๆ เมื่อวันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ว่า ให้ยกเลิกโทษจำคุก ๑๘ ปีนั้นให้หมด รวมทั้งให้ย้อนกระบวนการทั้งหมดเสียใหม่โดยให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ว่าการพิจารณาคดีทั้งหมดควรทำเป็นการพิจารณาลับหรือไม่ เรื่องนี้คือคำร้องที่ฝ่าย ดา ตอร์ปิโด ร้องมานานนักหนาแล้ว แต่ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับฟัง
สรุปแล้วในนาทีนี้ ดา ตอร์ปิโด กลายเป็นผู้ที่ไม่มีความผิดใดๆ ติดตัวเลย เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น
ทนายความของคุณดาฯ ประกาศทันทีว่าจะขอประกันตัวลูกความออกมาสู่อิสรภาพ เพราะถูกจำคุกมานานเกือบสามปีโดยไม่มีความผิด
หากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือเธอถูกจำคุกฟรีมาตลอดจนบัดนี้
เรื่อง นี้ฟังแล้วดีใจแทนคุณดาฯ ก็ได้ หรือทำให้ยิ่งมองเห็นความชั่วร้ายของระบอบและระบบที่กุมชะตากรรมของคนไทย ๖๕ ล้านคนยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณก็ได้ แต่ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร คงต้องยอมรับว่างานนี้มีอะไรหลายอย่างที่แปลกประหลาดอยู่หลายประเด็น
ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กขึ้นไปเลย
ข้อ แรก สิทธิ์ในการอุทธรณ์ของผู้ต้องคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นควรเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กรณีนี้คุณดาฯ แกต้องเสียเวลาในความเป็นมนุษย์ไปนานเกือบสามปีกว่าจะได้รับ ลองคิดดูว่าหากศาลเรียกเรื่องนี้มาพิจารณาในวันรุ่งขึ้น ดา ตอร์ปิโด ก็คงได้ออกมาสู่อิสรภาพตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาแล้ว สามปีในชีวิตของคนๆ หนึ่งถือว่ามากมาย ใครหน้าไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียเหล่านี้?
ข้อ สอง เมื่อศาลอุทธรณ์เอ่ยคำว่า ผู้ต้องขังเป็นผู้ไม่มีความผิด สภาพของความเป็นผู้ต้องขังควรหมดไปจากตัวในทันที ทำไมต้องเดือดร้อนให้ยื่นขอประกันตัวอีก เมื่อศาลชั้นต้นเป็นผู้ละเมิดขั้นตอนก็ต้องถือว่าเป็นความผิดของศาลโดยแท้ ไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใดทั้งสิ้น ทำไมเธอจึงไม่ได้รับอิสรภาพโดยอัตโนมัติเล่า?
ข้อ สาม อะไรอยู่เบื้องหลังงานนี้กันแน่ ข้อกฎหมายที่เพิ่งนึกขึ้นมาได้หลังผ่านไปเกือบสามปีหรือหน้าไหนมันเข้ามา แทรกแซงอำนาจตุลาการอย่างที่ทำมาตลอดชีวิตเข้าอีก หากเป็นประเด็นหลัง บางคนอาจจะพร้อมสรุปทันทีว่าบ้านนี้เมืองนี้มีความเมตตากรุณาอยู่ ทั้งที่พฤติกรรมของคนๆ นี้ชี้บอกเราตรงข้ามทั้งนั้นว่าเป็นคนใจอำมหิต ทุกครั้งที่เข้าแทรกแซงเพื่อ “ลดโทษ” ใน คดีหมิ่นฯ ก็เป็นเรื่องของการรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ์ของตนทั้งนั้น ไม่ได้เห็นแก่ความเป็นมนุษย์ของใครทั้งสิ้น แต่ฝ่ายรักษาระบอบ (ทั้งสีแดงและสีเหลือง) อาจนำเรื่องนี้มาโฆษณาชวนเชื่อให้เทิดทูนเหนือหัวกบาลกันต่อไปอีก
ข้อ สี่ การพิจารณาคดีของศาลนั้น ตั้งอยู่บนสองฐานคือ สารบัญญัติ และวิธีบัญญัติ สารบัญญัติคือเนื้อหาและการตีความของกฎหมาย ส่วนวิธีบัญญัติเป็นเรื่องของกระบวนการทำงานของคนที่เป็นศาล เราพูดกันมามากแล้วว่า สาระของกฎหมายไทยมากมายมีปัญหา ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยมากอยู่ แต่กรณี ดา ตอร์ปิโด ทำให้เรารู้ว่า ไม่เฉพาะสาระเท่านั้นที่มีปัญหา วิธีทำงานของศาลก็มีข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ นอกจากจะไม่เคารพในสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยของประชาชนแล้ว ยังมีลักษณะส่งเสริมอำนาจของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างเห็นได้ชัดด้วย แถมเมื่อสังคมจับผิดได้คาหนังคาเขาแล้ว ยังไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงว่าศาลชนิดนั้นต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างไรเลย
กรณี ดา ตอร์ปิโด จึงอยู่ในระดับเดียวกับตัวของคุณดา ตอร์ปิโดเอง คือได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องใส่ใจกับเรื่องอย่างนี้และกำหนดให้เป็นวาระสำคัญที่ต้อง แก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชักช้า เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายประชาชนได้อำนาจรัฐ
หาก สนุกกับเกมเลือกตั้งและสถานภาพ ส.ส. จนคิดว่าประชาธิปไตยแปลว่าตัวกูและพรรคพวกของกูสบาย กินอยู่หรูหรา เงินเต็มท้องพระคลังส่วนตัว และมีเสียงข้างมากในสภา ไม่นานนี้อาจจะได้เห็น ดา ตอร์ปิโด อีกมากมายที่จะถูกบังคับขับไสเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของกระบวนการยุติธรรมไทย นั่นคือเอามาตรา ๑๑๒ หรือกฎหมายคล้ายคลึงกันนี้มาฆ่าฟังหัวเชื้อประชาธิปไตยในแผ่นดินจนราบคาบ อย่างต่ำแกล้งให้ติดคุกสักสามปีโดยไม่มีความผิดเล่นโก้ๆ ก็ยังได้
ถ้าไม่ตั้งสติให้ดี วันหนึ่ง ดา ตอร์ปิโด คนใหม่อาจจะหมายถึงตัวคุณเอง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น