เรื่อง ประชาธิปไตยไฟลามทุ่ง
โดย กาหลิบ
ยอด ผู้เสียชีวิตในอียิปต์คงจะไม่หยุดอยู่ที่ร้อย แต่คงลามไปเป็นหลายร้อยหรือเป็นพัน แต่เมื่อกองทัพบกอียิปต์ประกาศว่าจะไม่ยิงใส่ประชาชน และเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องนั้นมีความชอบธรรม ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองลดลงอย่างฉับพลัน แต่เหตุการณ์นี้จะเป็นการนับถอยหลังสำหรับประธานาธิบดีฮอสนี่ บูมารัคผู้ครองอำนาจมากว่าสามสิบปี ตั้งแต่วันที่อันวาร์ ซาดัตถูกฆ่าที่ปะรำพิธีสวนสนามหรือไม่ ยังจะต้องตามกันต่อไปอย่างลุ้นระทึก
เหตุการณ์ ลุกฮือของประชาชนที่อียิปต์เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน นั่นคือ ตูนิเซีย เยเมน และจอร์แดน แถมด้วยการลุกฮือเพื่อแบ่งแยกประเทศซูดานในทวีปแอฟริกาที่อยู่ไม่ไกลกัน และเกิดหลังจากการไหลท่วมโลกของข้อมูลข่าวสารจากเว็ปวิกิลีกส์ไม่นาน ทำให้เรารู้ดีทีเดียวว่าประโยคหรือวลีเท่ๆ เช่น “โลกแห่งข้อมูลข่าวสาร”
“ข้อมูลคืออำนาจ” และอื่นๆ กำลังแปรเปลี่ยนจากคำขวัญมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง และโลกใบนี้จะไม่กลับมาเหมือนเดิม
โลก ใหม่นี้จะดีหรือเลวอย่างไรในบั้นปลาย เรายังไม่รู้ รู้แต่ว่าขณะนี้จอมเผด็จการทั่วโลกที่คิดสร้างระบบควบคุมทางสังคมที่ช่วยให้ ตนเองและพรรคพวกเสวยสุขอยู่ได้จนบัดนี้ กำลังเหงื่อตกไปตามๆ กัน
รวมทั้งผู้เผด็จการไทยที่คิดว่าตนเองอยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมดาสามัญของโลกใบนี้ด้วย
สิ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาในครั้งนี้ ดูเหมือนจะประกอบด้วยเหตุผล ๓ ประการคือ
๑. ข้อมูลและข่าวสารที่ทำลายบารมีของระบอบการปกครองของประเทศลงอย่างฉับพลัน
๒. เหตุการณ์เล็กๆ ที่กระทุ้งสังคมให้คิดถึงเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการเผาตัวตายของนักศึกษาตูนิเซีย เพื่อประท้วงที่ตำรวจมายึดแผงขายผักผลไม้ของตน เนื่องจากไม่ยอมจ่ายค่ามาเฟียแผงให้
๓. ความกล้าหาญทางจริยธรรมในสังคมและการลงมือทำอย่างฉับพลันของมวลชน
พูด กันตรงๆ ว่า เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของไทยเราไม่ได้สำคัญน้อยหรือมีเหตุผลที่ด้อย ไปกว่าเขาเลย แต่เพราะ ๓ ข้อข้างบนนี่เองที่ทำให้คนของเรายังคงตายเปล่า บาดเจ็บเปล่า จนต้องคิดใคร่ครวญว่าเราจะต่อสู้กันอย่างไรต่อไปและเพื่อสิ่งใด
ซึ่งเราต้องวิเคราะห์กันอย่างเปิดใจกว้างที่สุด
ปัญหาของเราประกอบด้วย ๓ ข้อที่เป็นเรื่องที่ต่างไปจาก ๓ ข้อของเขาค่อนข้างมาก นั่นคือ
๑. เราช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารที่ทำลายบารมีและอำนาจของหัวหน้าระบอบ ปกครองสูงสุดของประเทศมาตลอดหลายปีจนมวลชนเป็นจำนวนมากเกิดอาการ “ตาสว่าง” แต่ คณะผู้นำของฝ่ายประชาธิปไตยกลับส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้น้อยมาก หรือบางครั้งเข้าขัดขวาง เพราะกลัวว่าการเดินตามอุดมการณ์อย่างเด็ดเดี่ยวเกินไปจะทำให้ตัวเสีย ประโยชน์คือมีทางเลือกน้อยลง
๒. เหตุการณ์ที่กระทุ้งความเปลี่ยนแปลงได้ก็ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการขับ เคลื่อนทางการเมือง อย่างการฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ แต่เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น เช่น เหตุการณ์ปะทะนองเลือดที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อปี ๒๕๕๒ กลับไม่นำมาสื่อสารกันเลย พูดก็ยังไม่พูดถึง จนดูประหนึ่งว่าผู้นำและแกนนำฝ่ายประชาธิปไตยเอง อยากให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมไปเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นเหตุการณ์ตอกย้ำความผิดพลาดของตนในการนำ มวลชน
๓. มวลชนตาสว่างและกล้าหาญจริยธรรมมากกว่าผู้นำในฝ่ายประชาธิปไตย จึงเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกัน มวลชนลุกฮือแล้วไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะผู้นำขัดแย้งขาดเอกภาพบ้าง ขัดขวางเพราะไม่เข้มแข็งพอที่จะรับผลของการเคลื่อนขบวนนั้นบ้าง และหวังจะ “สมานฉันท์” กับ เขาอยู่บ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและเจ็บปวดที่สุดคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ มวลชนวิ่งเข้าประจันหน้ากับทหารอย่างปราศจากความเกรงกลัวแล้ว แต่แกนนำกลับเรียกร้องให้ยุติและยอมรับความพ่ายแพ้ จนมวลชนเกิดความเรรวนและเสียพลัง วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เราถึงได้ตายกันมาก เรื่องนี้ควรเดินออกมาจากกลุ่มอย่างลูกผู้ชายและยอมรับความผิดพลาดกันเสียที
ไฟเขาลามทุ่งแล้วในระดับโลก แต่ทุ่งไทยกลับลามได้ไม่มากเพราะคนไทยบางคนในทุ่งยังช่วยศักดินาและอำมาตย์ดับไฟอยู่.
http://www.democracy100percent.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น