Sun, 2011-02-06 23:49
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
พล.อ.ปฐมพงศ์ เกษรสุข ออกมาเรียกร้องให้สภากลาโหมประชุมเพื่อมีมติเสนอรัฐสภาให้ประกาศสงครามกับ ประเทศกัมพูชา และให้ประกาศว่า "3 วันจะบุกถึงกรุงพนมเปญ"
แน่ละ พล.อ.ปฐมพงศ์ ไม่ใช่ตัวแทนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งหมด แต่นายพลตกสมัยคนนี้ก็พูดเรื่องนี้บนเวทีพันธมิตรฯ ตามด้วยลูกคู่พาเหรดออกมาหนุนมากมาย ในสมัยที่ประเทศในภูมิภาคกำลังจะรวมกันเป็นประชาคมเดียวกัน
เรื่องแบบนี้ไม่ต้องไปให้ค่าก็คงจะได้ แต่การปะทะที่เกิดขึ้นตลอดหลายวัน ก็ทำให้สงครามระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
กระนั้นสงครามที่อาจจะมีขึ้น เกิดขึ้นเพื่ออะไร เพื่อพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรีของชาติ เพื่ออธิปไตยของชาติ หรือเพื่ออะไร
ทำไมชาติของเรา และความหมายทั้งหมดข้างต้น จึงนิยามได้คับแคบขนาดนี้ ชาติของเรา ไม่ได้รวมถึงความมีน้ำใจ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเหตุเป็นผล ความประนีประนอม ความไม่นิยมความรุนแรง จิตสำนึกในสันติภาพ ใจที่กว้างใหญ่กว่าเขตแดนเส้นสมมติ ฯลฯ หรอกหรือ
ทำไมชาติของเรา ไม่สามารถมองนอกกรอบ ไปให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาพื้นที่พิพาทร่วมกัน กระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของการหลอมรวมเป็นอาเซียนประชาคมเดียวกัน
เฉพาะปราสาทพระวิหารที่เป็นมรดกโลกนี้ หากพัฒนาพื้นที่โดยรอบร่วมกัน จะดึงนักท่องเที่ยวได้เท่าไร คนกัมพูชาก็ได้ประโยชน์ คนไทยก็ได้ประโยชน์ คนในพื้นที่ก็ได้ประโยชน์ พิพาทกันเช่นนี้ โดยที่เราพยายามจะยึดมาเป็นของเรา อย่างมากก็เป็นพื้นที่รกร้าง ปลูกได้แต่กับดักระเบิด ซึ่งไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย
พื้นที่กันดาร 4.6 ตารางกิโลเมตรนี้ พูดจริงๆ รวมแล้วก็ช่างน้อยกว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่นายทุนต่างด้าวถือครอง ทำเงินมหาศาลแล้วขนออกนอกประเทศไม่รู้กี่ร้อยกี่พันหมื่นแสนเท่า การอ้างเกียรติและศักดิ์ศรี อธิปไตย ฯลฯ จึงโบราณ น้ำเน่า และขอโทษนะครับ 'ดัดจริต'
แน่ล่ะ เรื่องอธิปไตยเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก แต่เราไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ถูกยึดครอง ถูกรุกราน ถูกกดขี่ และพื้นที่ที่มีปัญหานี้เป็นพื้นที่พิพาทที่มีมานาน มีกระบวนการแก้ไขชัดเจนบนโต๊ะเจรจาอยู่แล้ว เราหมดหนทางที่จะเจรจาแล้ว จนกระทั่งมีเหตุผลใดกันจึงต้องมักง่ายหันไปหาวิถีทางของกระบอกปืน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เจรจาจริงจังแต่อย่างใดเลย
ในสถานการณ์เช่นนี้ เราต่างรู้แก่ใจว่า การปะทะนั้นเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง จากแรงกดดันในประเทศ ซึ่งน่าเชื่อด้วยว่าเป็นแค่คนกลุ่มน้อยคลั่งชาติหัวรุนแรงของทั้งสองประเทศ ซึ่งผลของมันเพื่ออะไร ยังเป็นคำตอบที่ไม่มีใครตอบได้ มีแต่ชีวิตที่ต้องสังเวย คือทหารชั้นผู้น้อย ชาวบ้านที่ทำมาหากินในพื้นที่ของสงครามที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้น
สงครามเพื่อชาติทุกสมัยล้วนแต่มองข้ามความเป็นธรรมเช่นนี้เสมอมาไม่ใช่หรือ
รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จงใจให้เกิดการปะทะนี้หรือไม่ หากใช่ก็นับว่าเป็นนักการเมืองที่เหี้ยมเกรียมภายใต้ท่าทีสุภาพชน หลังจากทำให้เกิดการสังหารหมู่ในใจกลางมหานครมาก่อนหน้านี้แล้ว
แต่หากไม่ใช่ นั่นก็คือสภาพที่กุมและควบคุมกลไกภายในไม่ได้
หรือหากจะโทษกองทัพหรือรัฐบาลกัมพูชาเป็นผู้เริ่มต้นเปิดฉากปะทะ นั่นก็ย่อมหมายความว่า การเมืองของเราได้เปิดจุดอ่อนให้ถูกแทรกแซงได้ด้วยระเบิดไม่กี่ลูก ฉากปะทะไม่กี่ฉาก ซึ่งไม่ว่าจะด้วยที่มาแบบไหน ก็สะท้อนสภาพเงาทะมึนของขุนทัพนายพลหรือ อำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ที่ไม่ว่าจะอย่างไรทั้งรัฐบาลและกองทัพก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบอยู่ดี
ทั้งหมดนี้ อยากจะชวนให้ถอย และปีนขึ้นไปมองมุมสูง ว่านี่คือสังคมที่เราต้องการหรือไม่ พูดให้ชัดอีกครั้งก็คือ นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เชื้อเชิญคณะทหารเข้ามามีบทบาททางการเมือง คือสังคมที่เราต้องการหรือไม่
กรุณาตอบแค่ว่า 'ใช่' หรือ 'ไม่' เพราะอย่างน้อยตัวผมก็ไม่ต้องการถกเถียง คิดเสียว่า ชาติต้องการความสามัคคีในยามที่เรามีศึกรบพุ่ง
สำหรับผม นี่ไม่ใช่สังคมที่เราต้องการ เพราะ 'สันติภาพ' ไม่มีทางเกิดขึ้นภายใต้การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ผู้ใช้อำนาจไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนของตัวเอง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
http://prachatai.com/journal/2011/02/32986
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น